“And that depends on skills fostered by the liberal arts, such as creativity, aesthetic sensibility and social, political and psychological insight.” – Fareed Zakaria
ในโลกการศึกษา การเลือกเรียนของเด็กๆ ดูเป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองอยู่บ้าง ด้านหนึ่งเราก็บอกว่าจงเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในขณะเดียวกันการศึกษามันก็คือการลงทุน ลงทั้งเวลา ลงทั้งเงิน และเป็นการเลือกไปสู่อนาคตของตัวเอง คำถามที่คนอื่น ตัวเราเอง ไปจนถึงคนในสาขาวิชาการก็ถามอยู่เสมอว่า เรียนแล้วไปไหน? จบไปทำอะไรได้บ้าง?
สายศิลป์-สาขาวิชาทางมนุษยศาสตร์-อักษรศาสตร์ (Humanities- Liberal Arts) เป็นสาขาที่ถูกตั้งคำถามบ่อยๆ ด้วยความที่ว่าสาขาดังกล่าวเป็นสาขาที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อผลิตหรือฝึกฝนเพื่อไปเป็นอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นสาขาที่ ‘เรียนเพื่อรู้’ เพื่อเข้าใจโลก เพื่อให้มีความลุ่มลึกสมกับการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้เราก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยม สาขาที่เป็นเรื่องการแสวงหาความรู้เพียงอย่างเดียวเลยมักถูกสงสัยถึง ‘ประโยชน์’ ต่อโลกทุนนิยม
นอกจากความเข้าใจพื้นฐานว่า ถ้าเรารับการศึกษาในระดับสูง พวกวิชาความรู้ในสาขามนุษยศาสตร์ทั้งหลาย อย่างปรัชญา ภาษา การเขียน การอ่าน ประวัติศาสตร์ และการใช้เหตุผล ก็เป็นทักษะที่จำเป็นกับการเป็น ‘ผู้มีการศึกษา’ แต่ดูเหมือนว่าในโลกที่เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกเทคโนโลยี โลกแห่งหุ่นยนต์ ‘คน’ ที่ได้รับการศึกษาจึงไม่ใช่คนที่จะเข้าไปพัฒนาและจัดการกับเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ หรือโลกธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่โลกและภาคธุรกิจเองก็ต้องการคนที่มีความเข้าใจแบบรอบด้านเพิ่มขึ้นด้วย
เรียนไปทำอะไร- มนุษยศาสตร์ในโลกเทคโนโลยี
กลับไปที่ข้อความด้านบน จากที่เราอาจคิดว่าพอโลกก้าวไป สิ่งที่ตลาดงานต้องการคือทักษะเฉพาะทางต่างๆ เพื่อไปป้อนและขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าในความเปลี่ยนแปลงนี้มีหลายภาคส่วนบอกว่า คนเรียนมาในสายที่ไม่ได้ป้อนตลาดแรงงานโดยเฉพาะ อย่างสาขาศิลปศาสตร์กำลังเป็นทักษะสำคัญของคนในยุคศตวรรษที่ 21
Fareed Zakaria นักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการและพิธีกร เจ้าของหนังสือ ‘In Defense of a Liberal Education’ บอกว่าสาขาวิชาทางศิลปศาสตร์ถือเป็นอีกด้าน-ไม่ใช่แค่วิชาทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานให้อเมริกาประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างทุกวันนี้ และในระบบเศรษฐกิจร่วมสมัย ศิลปศาสตร์ในฐานะวิชาที่สอนผู้คนให้คิด ให้เขียน ให้สื่อสารกำลังกลายเป็นทักษะสำคัญในโลกดิจิทัล อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับทักษะ อย่างเช่น ความคิดสร้างสรรค์ รสนิยมทางสุนทรียศาสตร์ และความเข้าใจจิตใจของทักษะที่จะฟูมฟักได้โดยวิชาศิลป์ๆ ดังนั้นการที่เราไปให้ความสำคัญแต่วิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ (science, technology, engineering and math) และแยกออกจากวิชาทางมนุษยศาสตร์จึงถือเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง Zakaria บอกว่า ไม่ใช่ด้านหนึ่งสำคัญกว่าอีกด้าน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การก้าวข้ามระหว่างองค์ความรู้ทั้งสองด้าน
บทความจาก Huffpost อ้างอิงคำพูดของสองเจ้าพ่อแห่งซิลิคอน วัลเลย์ ที่แสดงว่า ผู้คนในโลกเทคโนโลยี บริษัทแห่งธุรกิจล้ำยุคต่างเห็นความสำคัญของส่วนผสมของวิทย์และศิลป์ Mark Zuckerberg บอกว่าเฟซบุ๊กเองก็เป็นเรื่องจิตวิทยาและสังคมวิทยาพอๆ กับเทคโนโลยี Steve Jobs บอกว่าใน DNA ของแอปเปิ้ลเอง เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่คือเทคโนโลยีที่ผสานกับศิลปศาสตร์ ผสานกับมนุษยศาสตร์อย่างเหมาะสม ซึ่งตัวจอบส์เองก็ให้ความสนใจกับปรัชญาและศิลปะของลายมือ พอๆ กับให้ความสนใจเทคโนโลยีและคณิตศาสตร์
เรียนไปทำอะไร ทิศทางจากตลาดแรงงาน
ในระดับการทำงาน จริงอยู่ว่าเราต้องการเหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในการคิดเพื่อพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม แต่นักคิดทั้งหลายเองก็บอกว่า ในโลกเทคโนโลยีนอกจากจะต้องการคนที่เข้าใจเครื่องจักรและระบบกลไกต่างๆ แล้ว เรายังต้องการคนที่เข้าใจกลไกของสังคม เข้าใจหัวใจและความต้องการของผู้คนด้วย บทความจาก Washington Post บอกว่าในดินแดนของซิลิคอน วัลเลย์จะมีแต่วิศวกรคงไม่ได้ คนจบสายมนุษยศาสตร์ย่อมสามารถเป็น product managers ที่ดีได้ เพราะบางทีคนในวงเทคโนโลยีและวิศวกรอาจไม่ทันเข้าใจว่า สิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ว่าเจ๋งๆ อาจไม่นำไปสู่ประโยชน์ที่เข้าใจผู้คนจริงๆ
National Association of Colleges and Employers ทำการสำรวจและรายงานในปี 2015 ว่าบัณฑิตในสาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์กำลังไปได้สวยในตลาดงานสหรัฐถ้าเทียบกับปีก่อนหน้า จากการสำรวจบอกว่าเหล่าบัณฑิตมีแนวโน้มที่จะได้งานประจำภายใน 6 เดือนหลังจบการศึกษา แถมยังมีแนวโน้มที่จะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้น จากการสำรวจระหว่างปี 2014 มาที่ปี 2015 บัณฑิตจากสาขาศิลปศาสตร์มนุษยศาสตร์ได้รับเงินเดือนเริ่มต้นโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13%
สาขาวิชาเองก็กำลังปรับตัว
ไม่ใช่แค่เหล่านักศึกษาหรือผู้ปกครองที่กำลังวิตกว่า สาขาวิชาสำคัญและดูเป็นแกนหนึ่งของมหาวิทยาลัยจะเป็นไปในทิศทางไหน จะเข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อไปได้อย่างไร จะปรับตัวแบบไหนเพื่อผลิตบัณฑิตที่เข้ากับโลกปัจจุบันและอยู่รอดได้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเองก็ตระหนักและพยายามปรับตัว มีการปรับหลักสูตร และเน้นการฝึกฝนบัณฑิตให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง
มหาวิทยาลัยเองก็พยายามปรับให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ และเน้นฝึกฝนบัณฑิตที่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเรียนหรือรู้แค่ในแขนงของตัวเอง ในสหรัฐเช่น Barnard College ที่นิวยอร์ก ก็มีการปรับหลักสูตรใหม่ วางพื้นฐานที่ทางมหาวิทยาลัยเสนอ คือ ‘กระบวนการคิดหกด้าน’ โดยฝึกให้คิดและมองโลกในมุมต่างๆ ที่ต่างกัน ทั้งจากมุมทางเทคโนโลยี (technologically) มองในทางดิจิทัล (digitally) มองจากมุมมองหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirically) มองจากความแตกต่างทางสังคม (social difference) มองจากมิติที่เชื่อมกับโลก (global inquiry) หรือมองจากมิติพื้นที่ท้องถิ่น (locally) ในบางมหาวิทยาลัยก็มีการออกโปรแกรมใหม่ๆ ตามโลกเช่น digital studies และ digital creativity ไปจนถึงการเชื่อมโยงกับแขนงอื่นๆ เช่นการจัดการข้อมูลเชิงตัวเลขเชิงปริมาณ ไปจนถึงการออกแบบ (design) สรุปคือมีความพยายามในการข้ามสาขาวิชาเพื่อฝึกฝนคนที่มีความรอบด้านทั้งในเชิงความคิด และในทางทักษะที่เป็นประโยชน์กับการทำงานในโลกทุกวันมากขึ้น
การปรับตัวจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งตัวผู้สอนและตัวผู้เรียนเอง แน่ล่ะว่าสาขาวิชาศิลปศาสตร์มนุษยศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ แต่ความจำเป็นในโลกสมัยใหม่ก็ยังคงท้าทายและไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ภาควิชาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ยังคงเผชิญกับคำถามที่ว่า ตกลงแล้วความรู้เหล่านี้ยังจำเป็นอยู่และคุ้มค่าไหม ผู้เรียนเองก็ยังคงต้องหาคำตอบและพยายามปรับตัว ด้วยการนำเอาความรู้และทักษะจากสาขาวิชาที่สอนให้เราแก้ปัญหา ให้เราสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมเราให้รอบด้านสำหรับงานและความต้องการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก