ช่วงนี้มีดารานักแสดงตบเท้าเข้าสู่ประตูวิวาห์กันหลายคู่ เราเห็นแล้วก็รู้สึกยินดีไปกับชีวิตที่ก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง ไปสู่การสร้างครอบครัวที่แข็งแรงมั่นคงต่อไป
การสร้างครอบครัว หรือการแต่งงานมันก็เป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดหนึ่งของชีวิต และสำหรับบางคนมันก็เป็นเหมือนจุดหมายหรือหมุดหมายสำคัญอยู่เหมือนกัน เรา (ส่วนใหญ่) ต่างก็ฝันที่จะสร้างชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้นด้วยการมีครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาไปด้วยลูกหลานที่น่ารัก
คล้ายๆ กับละครไทยหรือนิทานตอนเด็กๆ ที่ตอนจบของเรื่องมักจบลงด้วยความสมหวังและการแต่งงาน ทั้งชายและหญิง ทั้งสองต่างก็ครองรักกันตราบจนนิรันดร์ happily ever after
ครอบครัวในจินตนาการ
คำว่าครอบครัว…โดยเฉพาะสำหรับในบ้านเราเลยค่อนข้างมีความหมายจำกัด คือถ้าให้เรานึกถึงคำว่าครอบครัวที่เป็นอุดมคติว่าควรจะเป็นอย่างไร ภาพที่ผุดขึ้นมาในความคิดก็มักเป็นครอบครัวที่เกิดจากการแต่งงาน เป็นครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก ถ้าไทยๆ หน่อยก็อาจจะเป็นครอบครัวขยาย มีปู่ย่าตายายอยู่ในบ้านด้วย
ครอบครัวแบบพ่อแม่ลูก พ่อและแม่ฟังก์ชั่นเหมือนเป็นคู่ตรงข้ามกัน สามารถเติมเต็มให้ความรักจนเลี้ยงดูสมาชิกลูกหลานให้เติบโตไปสู่สังคมได้ เลยเป็นภาพของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบที่สังคมวาดไว้ให้เราดำเนินรอยตาม
คำว่าครอบครัวมันก็มักจะเป็นประมาณนี้แหละเนอะ เพราะถ้าเรามองไปรอบๆ ทั้งในละครหลายเรื่อง ไปจนถึงรายการที่พูดถึงเรื่องครอบครัว ชีวิตครอบครัวของคนดัง ภาพและเรื่องราวที่มักจบอย่างสวยงามก็เป็นประมาณนี้แหละ ถ้าเป็นเด็กบ้านแตก ครอบครัวสลาย หรือคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน ในทางความรู้สึก มันก็จะดูเป็นครอบครัวแบบที่ชวนให้คิดว่าจะผลิตและเลี้ยงดูทายาทที่ดีได้ไม่เท่าครอบครัวที่มีพ่อและแม่แบบที่เรานึกออกหรอก
ภาพและเรื่องเล่าของครอบครัวอุดมคติแบบเดิมๆ ที่รายล้อมรอบตัวเรา ส่วนหนึ่งมันทำให้เราไม่สามารถมองเห็น ‘ความเป็นไปได้’ ของครอบครัวรูปแบบอื่นๆ การที่เรานึกไม่ออก จินตนาการไปไม่ถึงนี่ มันก็ทำให้การมีอยู่ของสิ่งนั้นๆ หายไปเหมือนกัน
ครอบครัวเควียร์
เควียร์แฟมิลี่ จะว่าไปก็เหมือนอาดัมแฟมิลี่ คือเป็นครอบครัวที่ดูไม่ได้มาตรฐาน แปลกประหลาด แต่ดูเหมือนก็มีความสุขกลมเกลียวกันดี
คำว่าเควียร์ (queer) เป็นคำที่มีนัยทางการเมืองและการวิพากษ์วิจารณ์แฝงอยู่ โดยความหมายรวมๆ มันก็หมายถึงลักษณะที่ผิดแผกไปจากมาตรฐานต่างๆ ที่สังคมตั้งไว้ว่าเป็น ‘ความปกติ’ ความหมายใหญ่ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสถานะ (gender) คือถ้าค่ามาตรฐานของคนเราถูกกำหนดด้วยเพศว่าชาย/หญิงควรจะเป็นอย่างไร และรสนิยมทางเพศที่ควรจะรักชอบเพศตรงข้าม (hetero) เควียร์ก็คือตัวตนและรสนิยมที่ผิดไปจากมาตรฐานที่สังคมวางไว้ให้
ในเชิงทฤษฎี เควียร์ที่เคยเป็นเหมือนสิ่งผิดปกติ และผิดจากบรรทัดฐานของสังคม เลยกลายเป็นแนวคิดหรือกลยุทธ์ที่กลับมาคิดว่า ที่บอกว่าโลกนี้มีความปกติและความไม่ปกติ (และอย่างหลังก็ถูกเหยียดหยาม กำจัด หรือต้องกดทับเอาไว้) จริงๆ แล้วไอ้ความปกติมันทำไมใหญ่โตจัง ดูเหมือนว่ามาตรฐานของสังคมมันเป็นสิ่งที่ไม่เห็นจะเป็นไปได้เลย
ดังนั้นครอบครัวที่เป็นส่วนหนึ่งของความปกติ (norm) ก็คือครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกที่ว่านั่นแหละ ส่วนครอบครัวเควียร์ ก็คือครอบครัวรูปแบบอื่นๆ อย่างครอบครัวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นที่เราได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่ามีเซเลปเกย์ทั้งชายและหญิงที่มีทายาท (ด้วยเทคโนโลยีหรือด้วยการอุปการะก็ตาม) ส่วนตัวคิดว่าครอบครัวที่หย่าร้าง พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเองก็น่าจะถือเป็นเควียร์แฟมิลี่ด้วยเหมือนกัน คือถูกมองว่าไม่ ‘สมบูรณ์’
Mortician Adam นายหญิงแห่งครอบครัวอาดัมกล่าวไว้ว่า
ความปกติมันเป็นแค่ภาพลวง สิ่งที่ปกติสำหรับแมงมุมคือความวิบัติสำหรับแมลงวัน
‘Normal is an illusion. What is normal for the spider is chaos for the fly.’
เควียร์แฟมิลี่อินแอคชั่น!
ครอบครัวแบบที่มีพ่อหรือแม่สองคน ที่เรารู้สึกว่าไม่มีอยู่จริง หรือถ้ามีอยู่ก็ไม่น่าเยอะ แต่จากการสำรวจเช่นในสหรัฐพบว่า ในบรรดาครัวเรือนทั้งหมดมีเกือบหกแสนครัวเรือนที่เป็นคู่ครองเพศเดียวกัน ซึ่ง 27% ของครอบครัวที่เป็นเกย์นั้นเป็นครอบครัวที่มีเด็กๆ อยู่ในความดูแลอยู่ด้วย
จำนวนของครอบครัวที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับงานศึกษาที่พบว่า เด็กๆ ในครอบครัวที่มีรูปแบบที่แตกต่างออกไป ‘ไม่ได้มีความแตกต่าง’ หรือมีผลเสียใดๆ แม้จะถูกเลี้ยงดูโดยคู่เกย์หรือเลสเบี้ยน ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเด็กจากครอบครัวที่มีพ่อแม่แบบชายหญิงเลย
นักวิจัยจาก University of Colorado Denver และจาก the University of Oregon ทำการสำรวจงานวิจัยและรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับเด็กๆ จากครอบครัวที่แตกต่าง สิ่งที่งานวิจัยทั้งหลายชี้ให้เห็นคือ ผลของครอบครัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่ต่างเพศ เพศเดียวกัน หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้น ก็ไม่พบความแตกต่างอะไรจากปัจจัยดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า เด็กๆ ที่มาจากพ่อแม่เพศเดียวกันมีลักษณะพิเศษบางอย่าง เช่น มีงานศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวดังกล่าวจะมีความรู้สึกเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ มากเป็นพิเศษที่โรงเรียน หรือมีรายงานว่าเด็กๆ จากครอบครัวเกย์หรือเลสเบี้ยนมีแนวโน้มที่จะพูดคุยประเด็นยากๆ ด้วยความละเอียดอ่อนได้ดี โดยมีรายงานว่าเด็กๆ เหล่านั้นมักมีความยืดหยุ่น เข้าอกเข้าใจ และอดทนอดกลั้น
สำหรับเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่ ‘บุบสลาย’ อีกแบบ เช่นครอบครัวที่หย่าร้าง แล้วพ่อหรือแม่ต้องเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง งานศึกษาที่พูดถึงผลกระทบต่อเด็กๆ เช่น ข้อมูลจาก U.S. Census Bureau ในปี 2012 บอกว่า มีปัญหาในแง่ของการที่แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องรับภาระคนเดียวทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น แต่งานวิจัยของ Cornell University ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบต่อเด็กๆ ของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวนั้นขึ้นอยู่กับบุคลิกและเทคนิคการเลี้ยงดูมากกว่า เด็กจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่โอเค ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรจากการขาดพ่อหรือแม่ นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กๆ มีแนวโน้มที่จะมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษ เช่น การช่วยเหลือการงานต่างๆ ในบ้าน แถมยังมีแนวโน้มที่จะผูกพันกับครอบครัวอย่างแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ ซึ่งความความผูกพันที่ลึกซึ้งของเด็กๆ จากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวนี้มีแนวโน้มที่จะขยายไปสู่คนอื่นๆ ที่เกี่ยวในชีวิตของเด็กคนนั้นด้วย
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าครอบครัวอุดมคติที่สมบูรณ์แบบ แบบที่เราเห็นในโฆษณา มันมีจริงรึเปล่า ยิ่งถ้าเรามองกลับมาที่ครอบครัวของเรา ของคนรอบตัว จริงๆ ต่างก็มีความบุบสลายบิดเบี้ยวกันคนละนิดๆ หน่อยๆ
แต่ในแง่ของความรัก ความอบอุ่น ผูกพัน ก็คงมีไม่แตกต่างกันเท่าไหร่
ดังนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบไหน ถ้ามีพื้นฐานของความรัก การดูแลเอาใจใส่ ถึงภาพหรือสมาชิกของครอบครัวนั้นๆ จะต่างจากที่เรานึกฝัน แต่สุดท้าย ครอบครัวที่มีพื้นฐานที่ว่า ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นครอบครัวที่ดี มีคุณภาพ และมีความสุขทั้งนั้นแหละเนอะ
อย่าไปตัดสิน หรือหยันหยามอะไรกันเล้ย
Illustration by Manaporn Srisudthayanon