ถ้าพูดถึงการจุดเทียนหอม ก็มักมาพร้อมกับกิจกรรมที่ทำอยู่บ้าน หากแต่อีกมุมหนึ่งการจุดเทียนหอมอาจเป็นการพาเราเข้าสู่ช่วงการพักผ่อนจากความเหนื่อยล้า เพื่อออกเดินทางผ่อนคลายหาความสบายกายและใจในที่ต่างๆ ก็ได้ เหมือนที่ Wax Valley แบรนด์เครื่องหอมเทียนหอมสัญชาติไทย ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘กลิ่น’ ผูกโยงกับสถานที่และสิ่งที่ต้องการบอกเล่า ทำให้เราได้ออกเดินทางไปในที่ต่างๆ แม้จะนอนจุดเทียนหอมอยู่ที่บ้านก็ตาม
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ หนึ่ง–อภิชาติ คชพัฒน์ทรัพย์ เจ้าของและผู้ปลุกปั้นแบรนด์ Wax Valley เครื่องหอมเทียนหอมที่มีชื่อกลิ่นชวนสะดุดหูอย่างกลิ่น Bangkok, Bang Rak, Pattaya, Stay at Home, Siam Disc, SEB’s BAR และอีกมากมาย ไหนจะมีเพลย์ลิสต์ประจำกลิ่นที่กลายมาเป็นจุดขาย
ที่สำคัญ ยังตั้งต้นแบรนด์ด้วยการแฝงแนวคิดความสุข Hygge ไว้อย่างแยบยล จึงไม่แปลกเลยหากจะบอกว่า Wax Valley คือแบรนด์เครื่องหอมของคนที่รัก storytelling มาดูกันว่า เบื้องหลังเรื่องราว ‘กลิ่น’ ต่างๆ นั้น มีที่มาและการสรรค์สร้างอย่างไรบ้าง
Art Market จุดเริ่มต้น Wax Valley
เดิมทีหนึ่งชื่นชอบและสนใจเรื่องเครื่องหอมเทียนหอมอยู่แล้ว โดยตนมักชอบใช้เครื่องพ่นของมูจิ เคยลองซื้อหลายกลิ่นมาผสมกันตามไกด์ไลน์บ้าง รวมทั้งใช้ก้านหวายด้วย แต่ไม่ค่อยได้ใช้เทียนหอมสักเท่าไหร่ หากแต่การจับพลัดจับผลูมาทำเทียนหอมสำหรับขายในตอนแรกนั้น เพราะบังเอิญได้พบแรงบันดาลใน Art Market ตอนไปใช้ชีวิตที่ออสเตรเลีย
“ตอนแรกผมทำงานเกี่ยวกับนำเข้า-ส่งออกอยู่ที่ไทยครับ แล้วได้มีโอกาสไปออสเตรเลีย โดยใช้วีซ่า working holiday ช่วงครึ่งปีหลังก็ไปเมืองทางเหนือของออสเตรเลีย ชื่อว่าเมืองแคนส์ (Cairns) พอถึงวันหยุดได้ไปเดิน art market ของที่นั่นซึ่งจัดขึ้นทุกเดือน เราสะดุดตากับร้านหนึ่ง เป็นร้านขายเครื่องหอมที่เน้นเทียนหอม ตรงนั้นเปิดมุมมองเรามาก แต่ก่อนจะรู้สึกว่าเทียนหอมเป็นสินค้าที่ดูหรูหรา อยู่ในหมวดสินค้าสำหรับสปาไปเลย แต่ร้านเครื่องหอมที่นี่มีการปรับปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ นำมาบรรจุในกระป๋องเหล็กหรือกระป๋องอลูมิเนียม ทำให้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ได้
“ตอนนั้นยังไม่ได้คิดจะทำเทียนหอมขึ้นมาเอง แค่คิดว่าจะนำความรู้เกี่ยวกับการทำงานไปนำเข้าของมาขาย เพราะเรารู้สึกว่าอยากเอาตัวเองไปยืนขายของแบบนี้ตามอีเวนต์ต่างๆ ดูบ้าง น่าจะมีความสุขดีนะ จากนั้นเราก็ไปถามเขา แต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้ทำสำหรับส่งออก แค่เน้นขายในโซนนั้นเท่านั้น เราเลยเริ่มมาศึกษาเองตามเว็บไซต์ต่างๆ สั่งชุดทำเทียนออนไลน์มาเริ่มหัดทำเอง เพื่อให้รู้ขั้นตอนเบื้องต้นว่าทำอย่างไรบ้าง
“เทียนล็อตแรกก็หน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ครับ (หัวเราะ) ทำไว้เพื่อเรียนรู้เป็นประสบการณ์ จากนั้นช่วงก่อนกลับไทย ก็เริ่มทำแบรนดิ้ง คิดชื่อแบรนด์ เปิดเพจในโซเชียล ทั้งอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก”
Wax Valley นิยามความสบายฉบับ Hygge
หากพูดถึง Hygge หลายคนคงคุ้นหูกันไม่น้อย โดย Hygge เป็นคำในกลุ่มภาษาเดนมาร์กและนอร์เวย์ ว่าด้วยภาวะเปี่ยมความสุข ไร้ความกังวลใดๆ ซึ่งคำนี้เกือบได้กลายเป็นชื่อแบรนด์แล้ว และแม้ว่าจะไม่ได้ใช้เป็นชื่อแบรนด์ แบรนด์เทียนหอมนี้ก็แฝงนิยามความสุขกายสบายใจตามแบบ Hygge ไว้อยู่ดี
“ถ้าถามถึงคำว่า Hygge ตัวคำสื่อถึงเทียนอยู่แล้ว เพราะฝั่งสแกนดิเนเวียตีความคำนี้ว่า ‘ความสบาย’ ซึ่งผมว่าความสบายที่ว่าไม่ได้หมายถึงแค่นั่งโซฟาสบายๆ แต่มันคือความสบายกายและสบายใจ อีกอย่างตัวแทน Hygge ของที่นั่นก็สื่อถึงเทียนหอมที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้เรารู้สึกปลอดภัย สื่อถึงหนังสือดีๆ ที่เราชอบสักเล่ม สื่อถึงโกโก้สักแก้ว ที่ทำให้เราได้ใช้เวลาดื่มไปอ่านหนังสือไป พร้อมกับการจุดเทียนสร้างบรรยากาศดีๆ
“จริงๆ ตอนแรกก็ตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า Hygge เหมือนกัน เพราะสื่อถึงเทียนหอมและ comfort space แต่ว่าก็ไม่ได้ใช้ชื่อนี้ ถึงอย่างนั้น เราต้องการให้เครื่องหอมของเราช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะอยู่ในพื้นที่ของเขา ซึ่งเป็นความหมายที่นำมามาประยุกต์ใช้กับตัวแบรนด์”
ที่มาชื่อ Wax Valley
เมื่อว่ากันถึงชื่อและโลโก้แบรนด์แล้วนั้น ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ ตั้งแต่การคิดจนออกแบบทำออกมาเป็นตัวจริง
“จริงๆ ตอนแรกคิดชื่อแบรนด์ไว้หลายชื่อ พยายามไม่เอาชื่อที่ไทยจ๋า เพราะคิดเผื่อไว้ว่าถ้าสินค้าเราขายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาจะได้เรียกชื่อแบรนด์เราง่ายๆ ก่อนหน้านั้นจะใช้ชื่อแบรนด์ว่า Hygge แต่เรากลัวว่าคำนี้มันจะเป็นแค่เทรนด์ หากนำมาใช้เป็นชื่อแบรนด์แล้วพอผ่านช่วงเวลาไป ก็อาจตกเทรนด์ได้
“ส่วนที่มาของ Wax Valley มาจากความหมายตรงตัวเลย Wax ก็แปลว่าไขถั่วเหลือง จากนั้นก็เอามาต่อท้ายด้วย Valley (หุบเขา) ที่ต้องการสื่อให้เหมือนอยู่บ้าน สื่อว่าเป็นดินแดนของไข ความตั้งใจของเราคืออยากให้แบรนด์เราอยู่ในใจลูกค้า ถ้าเขาจะซื้อเทียนหอม ก็อยากให้นึกถึงเราด้วย
“พอได้ชื่อแบรนด์แล้ว ก็มาต่อที่โลโก้ โดยโลโก้แบรนด์เลือกใช้ฟอนต์ Garamond ทำให้ได้สัญลักษณ์เหมือนตัววีสองตัวรวมกันเป็นตัวดับเบิ้ลยู แล้วใช้โลโก้ที่เป็นครั่งแบบที่ใช้เป็นตราปั๊มส่งจดหมายสมัยก่อน เอามาใส่เพิ่มเข้าไป”
เปรียบแบรนด์เป็นคนแบบไหน
เมื่อถามว่าหากเปรียบแบรนด์เป็นคนสักคนนึง อยากให้เป็นคนที่มีคาแร็กเตอร์อย่างไร หนึ่งได้อธิบายลักษณะมนุษย์ที่ชื่อว่า Wax Valley ไว้ชัดเจนตั้งแต่ภายนอก (ดีไซน์ผลิตภัณฑ์) ตลอดจนภายใน (ตัวตนแบรนด์)
“เราพยายามทำให้ดูเรียบง่ายที่สุด ดูคลีน เหมือนว่าถ้าผ่านระยะเวลาไปแล้ว ดีไซน์พวกนี้ไม่ได้เชยลง ถ้าย้อนไปดูล็อตแรกที่เราผลิต จะเห็นว่า label ออกคลีนๆ ขาวๆ ดำๆ เพราะอยากให้เข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างและทำให้สินค้าประเภทนี้เป็นกลุ่มไลฟ์สไตล์โปรดักท์ให้ได้ ตอนนั้นก็หา references จากพินเทอร์เรส ดูว่ามีไอเดียแบบไหนบ้าง แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับแบรนด์
“ส่วนสิ่งที่คอยคัดกรองว่าคนซื้อจะเลือกหรือชื่นชอบกลิ่นไหนนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากกว่า ซึ่งเราเน้นฟีลเรียบง่าย มีความเป็นไลฟ์สไตล์ และเข้าถึงง่าย ตอนแรกจึงวางแพลนเล็กๆ โดยออกมา 6 กลิ่น 3 ขนาด อย่างแรกกลิ่นที่ทำจะเกาะแต่ละโทนของกลิ่น ไม่ได้ออกไปในโทนเดียวกันหมด เพราะต้องการให้แบรนด์ดูเฟรนด์ลี่กับทุกคน ส่วนที่ต้องมีหลายขนาดนั้นก็เพราะอยากให้เข้าถึงกลุ่มคนได้ง่าย
“ส่วนคาแร็กเตอร์ของแบรนด์นั้นพยายามเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าด้วย เพราะตัวเราเองเป็นคนชอบพวก storytelling อยู่แล้ว เลยเอากลิ่นแต่ละกลิ่นมาจับใส่เรื่องราวเข้าไป เพื่อจะได้แมตช์กับลูกค้าด้วย
“สุดท้ายเรื่องราคา ก็ตั้งราคาให้เหมาะสม สมเหตุสมผล ไม่ได้สูงมาก เน้นการซื้อซ้ำและบอกต่อมากกว่า เราเลยลือกตั้งราคาสินค้าเริ่มต้นที่ 280 บาท”
สถานที่ + เรื่องเล่า…สูตรการออกแบบกลิ่น
ความพิเศษที่ทำให้ Wax Valley กลายเป็นแบรนด์เครื่องหอมเทียนหอมที่น่าลองนั้น ก็เพราะ ‘กลิ่น’ ที่เป็นเอกลักษณ์ เบื้องหลังการเลือกสรรเบลนด์กลิ่นให้กลมกลืนและลงตัวนั้นแฝงความเป็น storytelling ที่แบรนด์ได้ใส่ลงไปในทุกๆ กลิ่น โดยเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับสถานที่ที่ทุกคนต่างต้องนึกถึง จนชื่อสถานที่เหล่านั้นกลายมาเป็นชื่อกลิ่นของเทียน โดยหนึ่งได้เล่าถึงที่มาของชื่อกลิ่นเด่นๆ ให้ฟัง
“สำหรับกลิ่น Bangkok อยากนำเสนอว่าเป็นสินค้าของประเทศไทย มาจากเมืองไทย โดยนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวว่า Bangkok คือเมืองหลวง เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เมื่อนำมาทำเป็นกลิ่นเทียนหอม เลยอยากสื่อว่าลองมาค้นหาความสงบในความวุ่นวายกัน กลิ่นที่เบลนด์ตอนแรกคือลาเวนเดอร์กับซินนาม่อน โดยซินนาม่อนหรืออบเชยจะเป็นกลิ่นที่ออกสนุกๆ หน่อย ในขณะที่ลาเวนเดอร์จะให้ความรู้สึกสงบ จากนั้นจึงนำสองกลิ่นนี้มาผสมให้เกิดความคอนทราสต์ กลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ของกลิ่น Bangkok
“ส่วนดิฟฟิวเซอร์กลิ่น Bang Rak ต้องการสื่อว่าเขตบางรักเป็นเขตแห่งความรัก คนมักไปจดทะเบียนสมรสกันเยอะ โดยเฉพาะช่วงวันวาเลนไทน์ ทีนี้พอพูดถึงวาเลนไทน์ ดอกไม้ที่นึกถึงก็คือกุหลาบ แต่เรากลัวว่ากุหลาบจะดูมากไป เลยเอาเจอราเนียมมาช่วยขับความเปรี้ยวของดอกไม้ให้ออกมามากขึ้น
“หรืออย่างกลิ่น New Wave ก็เป็นกลิ่นที่ทำช่วงซัมเมอร์ ซึ่งอากาศร้อนมาก ก่อนหน้านี้คนนิยมไปเล่นเซิร์ฟกัน แต่พอโควิดมาก็เดินทางยาก เราเลยจับเอากลิ่นนี้กับกระแสของการเดินทางท่องเที่ยวมารวมกัน เพื่อสื่อว่าชีวิตก็ประมาณนี้แหละ เหมือนกับการโต้คลื่น จะมีคลื่นเข้ามาในชีวิต บางทีเราห้ามคลื่นไม่ได้ เราก็เรียนรู้ที่จะโต้ไปกับมันมากกว่า ส่วนผสมก็จะมีกลิ่นหลักเป็นเกลือทะเล ตามมาด้วยกลิ่นเลม่อน ซิตรัส ดอกปีบ ฟรีเซีย มัสก์ ให้ความรู้สึกและกลิ่นเหมือนทาครีมกันแดดนั่งอยู่ริมทะเล”
นอกจากนี้ หนึ่งยังได้เล่าถึงที่มาที่ไปของคอลเล็กชันที่เกิดขึ้นในช่วงเกิดโควิดที่ทำให้คนต้องอยู่บ้านนานๆ อีกด้วย นั่นก็คือ Stay at Home และ Healing
“จริงๆ Stay at Home เป็นคอลเล็กชันที่ออกตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับช่วงเกิดโควิดรอบแรกเลยครับ เราคิดว่าช่วงนี้คนอยู่บ้านมากขึ้น เลยอยากทำเทียนหอมที่เหมาะกับช่วงที่คนอยู่บ้านบ้างดีกว่า เริ่มแรกก็ลองดูส่วนผสมที่มีอยู่ พยายามเบลนด์ให้ได้กลิ่นสบายๆ เข้าถึงได้ทุกคน เพราะเวลาอยู่บ้าน เขาจะอยู่ด้วยกันหลายคน หากจะจุดเทียนก็ควรเป็นกลิ่นที่เข้าถึงได้ง่ายทุกคน ซึ่งมาจบที่กลิ่นโทนดอกไม้
“ทีนี้พอพูดถึงโทนดอกไม้ก็มีหลายแบบอีก บางคนไม่ชอบดอกไม้ไทย บางคนไม่ถูกกับกลิ่นกุหลาบ เราเลยเลือกเป็นกลิ่นเจอเรเนียม ซึ่งเป็นดอกไม้กลิ่นโทนเปรี้ยวและเข้าถึงได้ง่าย ผสมด้วยใบพิมเสน ลาเวนเดอร์ ส้ม เบอร์กามอต ซีดาร์ ซึ่งให้ความรู้สึกสบายๆ
“ส่วนชื่อ Stay at Home เชื่อมโยงกับอัลบั้มแรกของวง Plastic Plastic ที่ชื่อว่า stay at home ซึ่งมีโอกาสส่งไปให้เขาใช้เหมือนกันครับ
“นอกจากนี้ ก็มีอีกกลิ่นที่เราทำคือ Healing ซึ่งเราทำกลิ่นนี้เพื่อให้กำลังใจคนครับ เลยตั้งชื่อตรงๆ ไปเลย แล้วจากที่หาข้อมูลมา ยูคาลิปตัสและกานพลูจะช่วยลดการเติบโตของแบคทีเรียในอากาศด้วย เราจึงใช้ส่วนผสมของสองอย่างนี้เป็นน้ำมันหอมระเหย”
‘กลิ่น’ ความมหัศจรรย์ในการเล่าเรื่อง
ในฐานะคนที่คลุกคลีกับการสร้าง ‘กลิ่น’ และ ‘เรื่องราว’ ของกลิ่นนั้น หนึ่งได้เผยเคล็ดลับของการจับ ‘กลิ่น’ มาสื่อสารสิ่งทีต้องการบอกเล่าเอาไว้ ทำให้ได้เห็นมุมมองและขั้นตอนการทำงานของแบรนด์ว่ากว่าจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาชิ้นหนึ่งต้องใส่ใจรายละเอียดไม่น้อย
“จริงๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำอันไหนมาก่อน บางครั้งผมอาจนำเรื่องราวหรือเทรนด์ช่วงนี้มาตั้งเป็นหลัก หรืออาจนำกลิ่นที่อยากจะทำมาวางไว้ก่อน แล้วค่อยค้นหาเรื่องราวที่จะนำไปผูกกับมันได้ ส่วนประเภทหรือโทนของกลิ่นจะตามมาหลังจากนี้ โดยลองเอาส่วนผสมมาค่อยๆ เบลนด์กัน ช่วงที่เบลนด์ก็ใช้เวลาพักหนึ่งดูว่าเอากลิ่นไหนผสมกลิ่นไหน ให้ความรู้สึกอย่างไร ควรใส่กลิ่นไหนในอัตราส่วนเท่าไหร่
“จะมีบางกลิ่นที่ทำแล้วยังรู้สึกไม่ใช่ อย่างตอนจะออกกลิ่นใหม่ พอมาเทสต์และจุดใช้ดูแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยโอเคก็จะยังไม่ได้ออกกลิ่นนั้นมา
“ถ้าถามว่าการดมกลิ่นมีเสน่ห์ที่ต่างจากสัมผัสประเภทอื่นยังไง อย่างแรกคือมีมิติและความซับซ้อนกว่า เหมือนเป็นศาสตร์หนึ่งที่มีความเฉพาะตัวมาก เพราะตัวกลิ่นที่ผสมเข้าไปจะแบ่งเป็น base notes, top notes, middle notes แต่ละกลิ่น แต่ละ notes จะช่วยสร้างประสบการ์ณที่แตกต่างกันไป
“อีกอย่างคือเรื่องของความสมดุล กลิ่นที่ผสมแต่ละกลิ่นจะมีอัตราส่วนของมัน อย่างเปปเปอร์มินต์เป็นกลิ่นที่หอมเด่นก็ต้องใส่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าตัวอื่น หรือบางกลิ่นออกกลิ่นหอมตอนผสมเป็นแบบนึง แต่พอจุดเทียนได้กลิ่นอีกแบบนึง ซึ่งเราคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของ notes ของแต่ละกลิ่นที่มาไม่พร้อมกัน คล้ายกับเวลาเราไปทดสอบน้ำหอมตามเคาน์เตอร์ พอฉีดไปครั้งนึง ดมครั้งแรกได้กลิ่นแบบนึงที่อาจเป็นกลิ่น top notes แบบซิตรัสหรือกลิ่นเปรี้ยวๆ หลังจากนั้นกลิ่นอื่นจะพุ่งตามมา ซึ่งอาจเป็นกลุ่ม base notes ของกลุ่มโทนหนักหรือกลิ่นไม้
“ทั้งหมดเป็นเรื่องความชื่นชอบส่วนบุคคลด้วยครับ เวลาขายออนไลน์และต้องแนะนำกลิ่นเลยกลายเป็นความท้าทายไปด้วย เพราะสิ่งที่เราทำได้คือตอบคำถามลูกค้าและส่งภาพให้เขาดู แต่ว่าเขาไม่ได้ดมกลิ่นนี้ เราจะทำยังไงให้เขาเห็นว่ากลิ่นที่เลือกถูกใจเขาจริงๆ
ผมเลยรู้สึกว่าการดมกลิ่นเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีเสน่ห์ในทุกๆ มิติครับ”
เพลย์ลิสต์ประจำกลิ่น
อีกหนึ่งความพิเศษของ Wax Valley คงหนีไม่พ้น ‘เพลย์ลิสต์’ ประจำกลิ่นของเทียนหอมแบรนด์นี้ ที่ทำให้กลายเป็นจุดขายและสิ่งที่น่าจดจำของแบรนด์ไปในที่สุด
“ตอนนั้นที่เริ่มคิดเลยนะ ตั้งใจให้เป็นกิมมิกหาเรื่องคุยกับลูกค้าเวลาที่ไปออกบูธมากกว่า เหมือนว่าซื้อกลิ่นนี้สิ เรามีเพลย์ลิสต์เพลงให้ด้วยนะ คืออิงจากที่เราชอบฟังเพลงและค้นพบว่าเราฟังเพลงหลายแนวเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นลองเอามาเชื่อมโยงกันดูสิ ในเมื่อคติของแบรนด์เราคือ ‘make atmosphere yours’ หรือสร้างบรรยากาศให้เป็นของคุณ ถ้าพูดถึง ‘บรรยากาศ’ ก็ต้องเกี่ยวกับประสาทสัมผัส อย่างเทียนก็เชื่อมโยงประสามสัมผัสกับเปลวไฟหรือกลิ่นหอม ส่วนประสาทสัมผัสทางหูก็ช่วยยกระดับความรู้สึกตรงนั้นขึ้นมาเหมือนกัน
“อีกอย่างการสร้างเพลย์ลิสต์ก็เป็นสิ่งที่เราทำให้เหมือนเป็นบริการหลังการขายได้ด้วยครับ เหมือนเป็น value added เข้าไปให้กับลูกค้า ไม่ได้เป็นแค่สินค้าที่เราขายไปแล้วจบ เพราะถ้าเราเจอเพลงใหม่ที่ add เข้าไปได้ ก็จะทยอยเพิ่มเข้าไปในเพลย์ลิส
ต์ที่เราสร้าง ทำให้เพลย์ลิสต์ไม่ได้หยุดนิ่ง โดยจะมีบางกลิ่นที่สร้างเพลย์ลิสต์ขึ้นมาเอง และบางกลิ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินอัลบั้มนั้นๆ”
เทคนิคเลือกกลิ่นเครื่องหอมเทียนหอม
อย่างที่หนึ่งได้บอกไปแล้ว เครื่องหอมเทียนหอมเป็นเรื่องความชอบเฉพาะของแต่ละคน The MATTER เลยลองให้โจทย์สั้นๆ ว่าถ้าต้องแนะนำกลิ่นเครื่องหอมเทียนหอมให้กับลูกค้าที่ไม่เคยใช้ของแนวนี้มาก่อน จะแนะนำอย่างไร ซึ่งหนึ่งก็มีแนวทางในการแนะนำผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่กำลังเริ่มจะเข้าวงการนี้ให้ได้ลองนำไปปรับใช้กัน
“จริงๆ แล้วก็เจอคนที่จะเริ่มใช้เหมือนกันครับ ตอนแรกผมจะถามก่อนว่าชอบกลิ่นโทนไหนเป็นพิเศษไหม เพราะเรื่องของเครื่องหอมไม่ได้มีแค่เทียน แต่จะมีรูปแบบอื่นๆ ด้วย ถ้ามีกลิ่นที่ชอบอยู่แล้วจะแนะนำได้ไม่ยากครับ แต่ถ้าไม่เคยใช้อะไรพวกนี้เลย ผมจะพยายามแนะนำกลิ่นโทนกลางๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายก่อน อย่างกลุ่มพวก Siam Disc ซึ่งเป็นกลิ่นดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยอย่างมะลิ ซิตรัส พิกุล หรือกลิ่น ‘โชคดี’ ที่มีกลิ่นหลักเป็นโรสแมรี่กับส้ม หรือกลุ่ม Stay at Home ที่เป็นโทนดอกไม้เหมือนกัน หรือกลิ่น New Wave ที่มีกลิ่นไม่แรง และให้ความรู้สึกสบายๆ กลมกลืนไปกับบรรยากาศ
“โดยรวมเราจะแนะนำแบบนี้ไปเพื่อให้เขาได้ลองใช้ดู แล้วถ้าเขารู้ว่าชอบกลิ่นโทนไหนแล้วมาซื้อซ้ำจะได้แนะนำต่อได้ครับ ถ้าเราแนะนำกลิ่นโทนไม้ กลิ่นวานิลลา หรือกลิ่นแนว SEB’s BAR (กลิ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากบาร์แจ๊สของตัวละครในเรื่อง LA LA LAND) ไปเลย โอกาสที่เขาจะไม่ซื้อใช้ต่อหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการใช้เทียนก็มีเหมือนกัน เราเลยไม่อยากทำลายประสบการณ์ตรงนั้นครับ”
ก่อนจะจบกันไป ก็ได้มีโอกาสถามถึงแพลนในอนาคต ทางแบรนด์ตั้งใจจัดเวิร์กชอปของตัวเองขึ้นมา โดยก่อนหน้านี้ก็มีทำร่วมกับพาร์ทเนอร์บ้างตามสมควร เช่นเดียวกับการคิดค้นและออกผลิตภัณฑ์กลิ่นใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ หากใครสนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ตามช่องทางโซเชียลต่างๆ ของแบรนด์
“ในอนาคตก็อยากลองจัดเวิร์กชอปขึ้นมาเองดู เพราะลูกค้าก็ถามมาเยอะเหมือนกัน แล้วก็อาจมีออกกลิ่นใหม่ด้วย ขึ้นอยู่กับว่าไอเดียพาไปในทิศทางไหน จริงๆ ก็ขอแค่ให้เราเป็นหนึ่งในลิสต์ที่ลูกค้าจะเลือกใช้เครื่องหอมเทียนหอม ก็ดีใจแล้วครับ” หนึ่งได้กล่าวทิ้งท้าย
ช่องทางติดตามแบรนด์
Facebook : Wax Valley Candle Co.
Instagram : waxvalleycandleco