ทำไมคนรุ่นใหม่ คนหน้าใหม่ และคนที่ไร้ประสบการณ์ทางการเมืองจึงกล้ากระโดดเข้ามาในแวดวงการเมืองมากขึ้น นี่อาจเป็นคำถามสำคัญถึงเทรนด์ ‘การเมืองโลก’ ว่าถึงเวลาของพวกเขาแล้วใช่หรือไม่
จากสถานการณ์ทางการเมืองไทยตลอด 8 ปีที่ผ่านมา อาจจะเรียกว่ากติกาใหม่เปิดช่อง หรือสถานการณ์การเมืองบีบคั้น แต่ก็ได้ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด สังคมไทยเกิดปรากฏการณ์ ‘คนหน้าใหม่’ เข้าสภาฯ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ น่าสนใจตรงที่พวกเขาไม่ได้เป็นทายาทนักการเมืองผู้คร่ำหวอด หรือเคยทำงานการเมืองท้องถิ่นเข้มข้นมายาวนานจนมีอิทธิพลอย่างสูง และหากย้อนไปดูแล้วจะพบว่า ชัยชนะของนักการเมืองหน้าใหม่หลายคนเป็นความสำเร็จระดับ ‘แจ็คผู้ฆ่ายักษ์’ ในหลายเขตพื้นที่เลยทีเดียว
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในการเมืองของสหรัฐอเมริกา ผ่านการเลือกตั้งกลางเทอมปีค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ช่วงการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว. กลางเทอมสหรัฐเมื่อปลายปีค.ศ. 2018 นี้เป็นเหมือน ‘จุดเริ่มต้น’ ใหม่ๆ ในการเมืองสหรัฐฯ ที่น่าสนใจ เมื่อมี ส.ส.หน้าใหม่ที่เป็นผู้หญิงเข้ามานั่งในสภาฯ คองเกรสสูงสุดเป็นประวัติการณ์
หลังจากพรรคเดโมแครตเปิดกว้างให้มีการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี่โหวตโดยไม่ยึดติดกับ ส.ส.พรรคคนเดิมที่แม้จะมีฐานคะแนนเสียงอยู่แล้ว แต่เปิดให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคได้ลงแข่งขันชิงตั๋วเป็นตัวแทนของพรรคไปลงชิงเก้าอี้อส.ส.ได้ เรื่องนี้นับเป็นปรากฎการณ์เขย่ากันเองภายในพรรคเดโมแครตมิใช่น้อยที่เปิดโอกาสให้เกิด ‘คนหน้าใหม่’ เข้าสู่การเมือง
เรื่องราวเหล่านี้ถูกสะท้อนผ่านบางแง่มุมในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Knock Down the House’ ซึ่งฉายเปิดตัวครั้งแรกที่ ‘เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์’ เมื่อต้นปีนี้ และเพิ่งเอามาฉายแบบสตรีมมิ่งบนเน็ตฟลิกซ์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา
สารคดีที่พาเราย้อนไปดูเส้นทางก่อนจะเข้าสู่สภาคองเกรสของ ‘คนหน้าใหม่’ พาไปดูว่าพวกเขาแต่ละคนต้องเตรียมตัวต่อสู้ และพยายามกันอย่างไร ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง “ไพรมารี่โหวต” เพื่อได้ตั๋วไปเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต โดยติดตามผู้สมัครหญิง 4 คน คือ พอลล่า จีน สเวรินจิน (Paula Jean Swearengin) ที่ลงแข่งเวทีวุฒิสภา เอมี่ ไวเลล่า (Amy Vilela) ลงแข่งระดับส.ส.ที่รัฐเนวาด้า คอรี่ บุช (Cori Bush) จากรัฐมิสซูรี่ และ อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ้-คอร์เตซ (Alexandria Ocasio-Cortez) สนามเขตบร็องซ์และควีนส์ นครนิวยอร์ก
เรื่องราวสารคดีเล่าตั้งแต่สาเหตุที่ ‘คนหน้าใหม่’
ลุกขึ้นกระโจนเข้าสู่การเมือง เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลง
ระบบที่นักการเมืองเบอร์ใหญ่ในหลายเขตพื้นที่
มองข้ามปัญหาของประชาชน
ถึงจะอยู่ในฐานะที่อ่อนประสบการณ์ทางการเมือง ไม่มีทุนรอน แต่บรรดา ‘มวยรอง’ เหล่านี้ก็ไม่ได้เปิดหน้าสู้อย่างโดดเดี่ยว พวกเขามีกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ช่วยขับเคลื่อนด้วยกัน นั่นก็คือคือกลุ่ม ‘จัสติส เดโมแครต’ และ ‘แบรนด์นิวคองเกรส’ ที่ดำเนินการแบบ ‘กลุ่มรากหญ้า’ ระดับประเทศที่มาร่วมทำงานวางแผนเป็นทีมเล็กๆ มีนักกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่จัดประชุม อบรมตั้งแต่วิธีรับมือการ ‘ถูกเล่นงาน’ ทางการเมืองในระดับต้น อาทิ กฎกติกาของผู้ที่จะสมัครเลือกตั้งไพรมารี่โหวตได้จะต้องได้ลายเซ็นผู้สนับสนุนจากคนในท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 1,250 ชื่อ ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตจะตรวจทุกลายเซ็นนั้นอย่างละเอียด และหากใครพลาดท่า อย่างลายเซ็นอ่านไม่ชัด ลายเซ็นที่พิสูจน์ไม่ได้ ลายเซ็นส่อพิรุธ ก็อาจถูกตัดตอนตั้งแต่ขั้นตอนนี้ หรือถ้ารอดก็อาจต้องเสียเวลาด้านกฎหมายจนดึงเวลาลงพื้นที่หาเสียงไปมากโข
นอกจากนี้ก็มีการแนะนำการพูดปราศรัยในที่สาธารณะ โดยเน้นย้ำถึงการพูดอย่างซื่อตรงและสะท้อนความจริงใจอันแรงกล้าของตัวเองออกไปให้ถึงผู้คนให้ได้ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำไม” ผู้คนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนใจมาเลือกพวกเขาให้เป็นตัวแทนพรรคไปลงแข่งขันระดับพรรคต่อพรรคในอนาคต
และหลักการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญหาเสียงของนักการเมืองหน้าใหม่เหล่านี้คือ วิธีหาเสียงที่รื้อระบบเดิมๆ ที่นิยมทำกันมาในการเมืองสหรัฐฯ คือ ปฏิเสธเงินทุนของกลุ่มบริษัททั้งหมด และใช้เงินบริจาคจากภาคประชาชนคนรากหญ้าล้วนๆ
เหมือนจะสู้ไม่ได้ทางยุทธวิธี แต่กลายเป็นแคมเปญสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหันมามองผู้สมัครมวยรองเหล่านี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บทสรุปสุดท้ายในสารคดีเรื่องนี้ที่ติดตามผู้สมัคร 4 คน มีเพียง อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ หรือที่สื่อเรียกเธอว่า AOC เป็นหนึ่งเดียวที่ได้ตั๋วไปต่อ เธอได้เป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตไปสู้กับพรรครีพลับลิกัน ถึงตรงนี้ ชัยชนะขั้นไพรมารี่โหวตก็แทบจะชนะร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะพื้นที่เขต 14 บร็องซ์และควีนส์ เป็นฐานเสียงที่มั่นของพรรคเดโมแครต ซึ่งในที่สุด AOC ในวัย 29 ปี ก็เข้าสู่คองเกรสได้สำเร็จพร้อมติดสถิติส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ
“เราลงสมัครเพื่อจัดระเบียบ
เราลงสมัครเพื่อให้นิยามใหม่แก่ภูมิทัศน์การเมือง”
AOC กล่าวในสารคดี
เธอบอกด้วยว่า ชาวอเมริกันชนชั้นแรงงานไม่ได้ขออะไรมาก พวกเขาแค่พยายามใช้ชีวิตให้รอด และพวกเขาก็กำลังขอให้นักการเมืองกล้าพอที่จะช่วยให้พวกเขารอดไปได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า AOC ในสารคดี Knock Down the House มีออร่าและเสน่ห์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ผู้คนจะชื่นชอบได้ง่ายมาก หน้าตาดี พูดจาฉะฉาน มีบุคลิกจะเป็นนักการเมืองอาชีพโดยสมบูรณ์ และไม่ใช่ว่าเธอไร้ประสบการณ์ทางการเมือง เพราะความสนใจเรื่องการเมืองของเธอมีตั้งแต่สมัยที่เธอเคยฝึกงานในคองเกรสช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เธอเคยเป็นนักกิจกรรมร่วมแคมเปญเคลื่อนไหวสนับสนุน เบอร์นี แซนเดอร์ (Bernie Sanders) ที่เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
ใน Knock Down the House เราได้เห็นภูมิหลังชีวิตของ AOC ที่เป็นลูกของผู้อพยพ (แม่ของเธอเกิดที่เปอร์โตริโก้และย้ายมาสหรัฐฯ ส่วนพ่อเป็นอเมริกัน-เปอร์โตริโก้ เกิดที่บร๊องซ์) เธอใช้ความเป็นละติน เป็นตัวแทนความหลากหลายทางสัญชาติในการเข้าไปพูดคุยหาเสียงกับบรรดาชาวอเมริกันหลายเชื้อชาติในพื้นที่ควีนส์และบร็องซ์ ซึ่งนิวยอร์กเป็นถิ่นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ผนวกด้วยเธอมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นชนชั้นแรงงาน และตัว AOC ระหว่างเรียนก็ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ หลังเรียนจบทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ ซึ่งช่วงระหว่างก่อนสมัครเลือกตั้งไพรมารี่เธอยังคงเป็นบาร์เทนเดอร์ จากเรื่องราวของ AOC ที่มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน ทำให้การพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมดูมีน้ำหนักเข้าถึงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
หากถามว่าทำไมเธอถึงได้รับชัยชนะ นอกจากสถานการณ์ จังหวะ และตัวเองแล้ว เธอยังมี ‘ความเพียร’ สูงมากด้วย
ในสารคดีเราจะเห็นฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งระหว่างที่ AOC ยังไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้น ยืนแจกใบปลิวแนะนำตัวกับหลานสาวตัวน้อยที่มาช่วย มีทั้งคนหันมารับเอกสาร และคนที่เดินผ่านไปอย่างไม่สนใจ เธอหันไปบอกกับหลานสาวว่า
“ขณะที่เธอถูกปฏิเสธสิบครั้ง
แต่เธอก็จะได้รับการตอบรับหนึ่งครั้ง
และนั่นคือวิธีที่เธอจะเอาชนะทุกสิ่ง”
สหรัฐฯ จึงได้นักการเมืองหน้าใหม่ที่ลงพื้นที่ชนิด ‘เก็บทุกเม็ด’ ไปร่วมอภิปรายทุกเวทีน้อยใหญ่ ไม่ว่าคู่แข่งจะส่งแค่ตัวแทนมาร่วมดีเบตก็ตาม
AOC นั้นรู้ดีว่าการเป็นผู้ท้าชิงอดีตส.ส.หลายสมัย เธอต้องเข้าถึงผู้คนให้มากที่สุด การเดินเคาะทุกรั้วประตูบ้าน พูดคุยกับทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้อพยพ และชนชั้นกลาง คือวิธีการที่สำคัญที่จะทำให้เธอเป็นที่รู้จัก และที่สำคัญ เธอได้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อการหาเสียงด้วย
ไม่แปลกว่ากระบวนการที่ทำมาข้างต้นจะล้มยักษ์ โจเซฟ ครอว์ลีย์ (Joseph Cawley) ส.ส.เก่าหลายสมัยตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 จากพรรคเดียวกันลงได้ ซึ่งโจเซฟนั้นยังเป็นส.ส.สังกัดในกลุ่มของ แนนซี เพโลซี่ (Nancy Pelosi) นักการเมืองหญิงรุ่นเดอะ ขาใหญ่ของพรรคที่เป็นแกนนำกลุ่ม และในอีกฐานะ เธอยังดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ชัยชนะของ AOC และความพ่ายแพ้ของครอว์ลีย์ถูกยกให้เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์และชวนหงุดหงิดอย่างที่สุดของการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐครั้งที่ผ่านมา
กระนั้นความดังของ AOC ทำให้เธอตกเป็นเป้าถูกขุดเรื่องราวในอดีต เป็นสถานการณ์ที่ดูไม่ต่างจากนักการเมืองหน้าใหม่กระแสดีอย่างในประเทศไทยเท่าไหร่ด้วยซ้ำ
ก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ส.ส.เพียง 1 วัน AOC ถูกขุดทางโซเชียลมีเดียจนเป็นไวรัลและข่าวดังระดับชาติ เมื่อมีบัญชีทวิตเตอร์ปริศนาเผยแพร่คลิปวิดีโอที่เธอกำลังเต้นรำสุดเหวี่ยงอยู่บนดาดฟ้ากับเพื่อนๆ ก่อนทราบภายหลังว่าเป็นเหตุการณ์สมัยเรียนปริญญาตรีเมื่อปีค.ศ. 2010 ซึ่งเธอเลียนแบบภาพยนตร์เรื่อง The Breakfast Club
คลิปไวรัลวิดีโอดังกล่าว ไม่ได้ทำให้เธอต้องอับอายอะไร และวิธีที่ ส.ส.หญิง อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ใช้ตอบโต้กลับแบบท้าทาย คือการโพสต์วิดีโอที่เธอทำท่าเต้นเบาๆ พร้อมร้องเพลง War เพลงต้านสงครามเวียดนามของศิลปิน เอ็ดวิน สตาร์ (Edwin Starr) หน้าห้องทำงานในสภาคองเกรสฯ ผลคือผู้สนับสนุนเธอต่างยิ่งชอบคลิปนี้เข้าไปอีก (สารคดีใส่คลิปวิดีโอที่เธอเต้นที่สภาไปในท้ายเรื่องด้วย)
AOC ทวีตว่า “ฉันได้ยินว่า GOP (คำเปรียบเปรยมาจาก Grand Old Party คำเรียกพรรครีพลับลิกัน) คิดว่าผู้หญิงเต้นรำเป็นเรื่องฉาวโฉ่ งั้นเดี๋ยวนะ พวกเขาก็เพิ่งจะรู้ว่า ส.ส.หญิงก็เต้นได้ด้วยนะ!”
แม้วันนี้ AOC จะเป็นส.ส.คนรุ่นใหม่ที่มีชื่อขึ้นพาดหัวข่าวบ่อยๆ ทั้งข่าวสีสัน และข่าวฮาร์ดนิวส์ในฐานะผู้ผลักดันนโยบายแนวสังคมสวัสดิการที่มีทั้งคนเห็นด้วย และคัดค้าน อาทิ กรณีที่เธออยู่ในขบวนการนักกิจกรรมท้องถิ่นเคลื่อนไหวล้มโครงการยักษ์อย่างการสร้างสำนักงานใหญ่แห่งที่สองของ Amazon ในย่านควีนส์ จนถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าสูญเสียโอกาสการพัฒนาและการจ้างงานกว่า 2.5 หมื่นตำแหน่งในพื้นที่
จากโพลในพื้นที่ มีประชาชนที่ระบุว่าตัวเองเป็นฐานเสียงพรรคเดโมแครต และเป็นลิเบอรัล ต่างไม่เห็นด้วยกับ AOC ที่ทำให้ Amazon ถอนการลงทุนออกจากควีนส์ ขณะที่ฝั่ง AOC และกลุ่มคัดค้านมองว่า แผนการลงทุนของ Amazon ด้านหนึ่งได้ผลประโยชน์จากการยกเว้นภาษีหลายพันล้านดอลลาร์ และระยะยาวการจ้างงานจริงๆ อาจเกิดขึ้นจากแรงงานทักษะสูงกว่านอกพื้นที่ควีนส์ ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ ต่อไปย่านที่อยู่อาศัยในแถบควีนส์ และค่าครองชีพจะสูงจนคนท้องถิ่นไม่สามารถรับได้ และต้องย้ายไปที่อื่นในที่สุด
“วันนี้ชาวนิวยอร์กได้เอาชนะความโลภ การถูกเอารัดเอาเปรียบ และเอาชนะพลังของชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้” AOC โพสต์ในโซเชียล
แม้มีการทำโพลในพื้นที่ แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 38% ต่างก็ตำหนิเรื่องนี้ด้วย และระบุว่า ส.ส.หน้าใหม่รายนี้ เป็น ‘ผู้ร้าย’ ของกรณีนี้ไม่ต่างจากกลุ่มนักกิจกรรมท้องถิ่นในควีนส์ ส่วนประชาชน 50 % ที่อาศัยในเขตชานเมืองนิวยอร์ก กล่าวโทษ AOC เช่นกัน ขณะที่กลุ่มที่มองถึงการมาของ Amazon ในเชิงลบมีเพียง 26 %
ไม่ว่าเรื่องนี้จะทำให้คะแนนเสียงของเธอติดลบมากน้อยแค่ไหนกับคนในพื้นที่ แต่อีกหนึ่งแนวคิดที่ AOC ผลักดันจนถูกพูดถึงมากคือ การเสนอแผนนโยบาย Green New Deal ซึ่งเป็นแนวนโยบายและแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ/สิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน AOC ได้อภิปรายผลักดันนโยบายนี้ไว้ในการประชุมคณะกรรมาธิการของรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไว้ได้อย่างดุเดือดจนถูกยกว่าเป็นหนึ่งในการอภิปรายที่ทรงพลัง
ไม่นานมานี้ AOC แถลงสดผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง จับมือกับ เบอร์นี แซนเดอร์ นักการเมืองซ้ายจัดสายสังคมนิยมแห่งพรรคเดโมแครต อดีตคู่ชิง ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) เมื่อครั้งสู้ศึกไพรมารี่โหวตชิงเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดย AOC กับ เบอร์นี เสนอนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดัน และเสนอกฎหมายเพื่อลดดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตลง โดยให้กำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 15% จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 17.71%
การมาของ AOC คือ ภาพแทนคลื่นลูกใหม่ ฝีปากกล้า ที่กล้าแสดงความเห็น ต้องทำงานปะทะ และสังสรรค์กับทั้งสมาชิกรัฐสภาต่างเจนเนอเรชั่น เธอกลายเป็นนักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่ซ้ายจัดคนหนึ่งในยุคนี้ กับการต้านระบบทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ และชูนโยบายด้านสวัสดิการสังคมอย่างระบบประกันสุขภาพ การเรียนหนังสือฟรี การประกันอาชีพในกลุ่มชนชั้นแรงงาน
ด้านหนึ่งก็ทำให้เธอถูกวิจารณ์ และถูกจัดอยู่ในสถานะเป็น ‘ตัวร้าย’ ของการพัฒนา? เมื่อแนวคิดของเธอยืนอยู่คนละฝั่งกับกลุ่มทุนและธุรกิจขนาดใหญ่
หลังจากนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อนักการเมืองคลื่นลูกใหม่เหล่านี้เข้าสู่สภาแล้วจะอยู่บนถนนการเมืองในรูปแบบไหน เพราะอย่างที่พูดกันว่า จะดูใครคนหนึ่งต้องดูกันยาวนานทั้งชีวิต
…นักการเมืองก็เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Netflix Documentary : Knock Down the House