เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา หรือ Salaya Doc กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง รอบนี้ก็จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 แล้ว โดยจะมีระหว่างวันที่ 18-26 มีนาคม 2560 ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
The MATTER จะมาแนะนำหนังสารคดีที่เราคิดว่าน่าสนใจที่เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาล ซึ่งเขาแบ่งเป็นโปรแกรม ‘ASEAN Competition’ ‘(Dis) Able’ ‘Panorama’ และ ‘Life, Death and Cinema’ แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด แต่ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดโปรแกรมเพิ่มเติม ตามไปดูได้ที่ https://www.facebook.com/SalayaDoc
1. ดอกฟ้าในมือมาร Mysterious Object at Noon
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล Apichatpong Weerasethakul
สารคดีว่าด้วยหลายชีวิตในเมืองไทยที่ไม่ได้สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน แต่พวกเขาจะเล่าเรื่องต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างอิสระ จะอ้างกลับไปถึงเรื่องที่คนก่อนหน้าเล่ามาแล้ว หรือจะเล่าโดยเปลี่ยนทิศทางของเรื่องใหม่ก็ได้
ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์ได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อบันทึกเรื่องเล่าเหล่านั้น และกลับสู่กรุงเทพฯ เพื่อนำเรื่องเล่าที่ได้มา มาถ่ายทำเป็นหนังที่แสดงโดยนักแสดงสมัครเล่น สารคดีดอกฟ้าในมือมาร จึงมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องจริงและเรื่องแต่งที่ประสานกันอยู่ในภาพยนตร์เรื่องเดียว
2. A World Not Ours
Mahdi Fleifel
สารคดีที่ถ่ายทำนานกว่า 20 ปี โดยสมาชิกหลายรุ่นของครอบครัว รวบรวมเรื่องราว บันทึกเอกสาร และฟุตเทจภาพเก่า ของผู้ลี้ภัยสามรุ่นของครอบครัวที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย Ein el-Helweh ทางตอนใต้ของเลบานอน นำเสนอประเด็นทางความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ มิตรภาพ และครอบครัว
3. หมอนรถไฟ Railway Sleepers
สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ Sompot Chidgasornpongse
ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทำบนรถไฟ บันทึกภาพชีวิตของผู้คนและวิวทิวทัศน์ ตลอดเวลา 2 วัน 2 คืน ไปพร้อมกับพาผู้ชมได้ทบทวนประวัติศาสตร์รถไฟไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
อ่านบทสัมภาษณ์ ‘หมอนรถไฟ : บ้านและชีวิตที่เคลื่อนที่ได้’
4. Zen & Bones
Takayuki Nakamura
เล่าเรื่องของ Henry Mittwer พระนิกายเซนวัย 93 ปี ที่ฝันจะสร้างหนังเป็นของตัวเองโดยมองว่าหนทางที่มุ่งสู่นิพพานไม่เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ เขาได้ไปเสนอโปรเจ็กต์ Red Shoes กับสตูดิโอและนายทุนต่างๆ อยู่หลายปี
Henry เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน เขาเดินทางไปอเมริกาเพื่อตามหาพ่อที่ทิ้งไปตอนอายุ 9 ขวบในปี 1940 และเมื่อเกิดสงครามขึ้นจึงถูกกักตัวในค่ายคนญี่ปุ่น หลังจากนั้นได้ทำงานเป็นวิศวกร และเดินทางกลับญี่ปุ่นในปี 1961 เพื่อบวชเป็นพระในเกียวโต
5. นิรันดร์ราตรี Phantom Of Illumination
วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย Wattanapume Laisuwanchai
สารคดีที่เล่าเรื่องของ ‘ฤทธิ์’ อดีตคนฉายหนังในโรงภาพยนตร์แบบ stand-alone ที่เมื่อโรงหนังลักษณะนี้ปิดตัวลงไปหมด ทักษะความเชี่ยวชาญตลอดอายุงาน 25 ปีก็ไร้ความหมาย เขาไม่มีความสามารถอื่น จึงรับหน้าที่ดูแลรักษาอาคารโรงหนังร้าง ใช้เวลาไปกับการดื่มเหล้าและอ่านหนังสือธรรมะคลายทุกข์ จนกระทั่งเขารู้สึกหมดหวังจึงตัดสินใจกลับไปกรีดยางอยู่กับลูกเมีย เพื่อที่จะพบว่าสุดท้ายก็ไม่มีอาชีพอื่นใดจะให้ความหวังในชีวิตได้
6. Artist in Wonderland
Makoto Sato
เพราะศิลปะไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความคิดของคนในสังคม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตามไปถ่ายทำในสถานที่สำหรับผู้พิการที่มีการสนับสนุนและเวิร์กช้อปให้พวกเขาได้ผลิตงานศิลปะ ผ่านศิลปินเจ็ดคนที่บกพร่องทางสติปัญญา เพื่อนำไปสู่คำถามว่า ‘ศิลปะคืออะไร’
7. Fake
Tatsuya Mori
เรื่องราวของ Mamoru Samuragochi ที่เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Beethoven ของญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน’ ด้วยการเป็นนักแต่งเพลงชั้นนำแม้หูจะไม่ได้ยินก็ตาม แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ได้มีอาจารย์มหาลัยชื่อ Takashi Niigaki ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นคนเขียนบทเพลงเหล่านั้นมานานกว่า 18 ปี และ Mamoru ก็ไม่ได้พิการแม้แต่น้อย
Mamoru และภรรยาต้องอยู่แบบหลบซ่อน จนกระทั่งผู้กำกับของภาพยนตร์เข้าไปเยี่ยมเยือนและไขปริศนาในเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านประเด็นการหลอกหลวง การลอกเลียนแบบผลงาน จรรยาบรรณสื่อ และการฉ้อฉลในสังคมญี่ปุ่น
8. ต้นสะดือ The Navel Tree
เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ Cherdpong Laoyont
ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องของชนกลุ่มน้อย ‘ปกาเกอะญอ’ หรือ ‘ชาวกะเหรี่ยง’ ผ่านเรื่องราวของนักดนตรีหนุ่มประจำเผ่า ‘ชิ’ และปราชญ์ชาวบ้าน ว่าด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ป่าไม้และภูเขา อันเป็นจิตวิญญาณและความผูกพันของพวกเขา ด้วยความเชื่อดั้งเดิมว่า “บ้านคือป่า ป่าคือบ้าน” อันนำไปสู่คำถามว่า แล้วทำไมพวกเขาถึงเผาป่า และความเจริญที่เข้ามาได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร
9. Absent without Leaves
Lau Kek-Huat
เรื่องราวที่เริ่มจากรูปภาพที่ถูกแขวนอยู่ในบ้านของครอบครัวในมาเลเซียของผู้กำกับ บุคคลที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องต้องห้ามของครอบครัว จนในท้ายที่สุดเมื่อเขารู้ว่าคนคนนั้นคือปู่ของเขาเอง ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของมาเลเซีย เขาจึงออกเดินทางเพื่อเปิดเผยอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของปู่ของเขาเอง
เรื่องราวซึ่งเริ่มต้นจากรูปภาพที่แขวนอยู่ที่บ้านของครอบครัวในมาเลเซีย สิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในภาพนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามของครอบครัว จนกระทั่งผู้กำกับภาพยนตร์ได้ค้นพบว่าเขาคือปู่ของตน ตัวตนของปู่ถูกเก็บงำเพราะว่าเขาเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาเลเซีย ผู้กำกับจึงออกเดินทางเพื่อเปิดเผยความลับในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ ผ่านสายตาของปู่ของเขาเอง
10. Sunday Beauty Queen
Baby Ruth Villarama
ชีวิตของหญิงสาวชาวฟิลิปปินส์ที่พากันเข้าไปทำงานเป็นแม่บ้านในฮ่องกง อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ใช้แรงงานเยี่ยงทาสเพื่อแลกกับเงินเดือนอันน้อยนิด แต่เมื่อวันหนึ่งพวกเธอ 5 คนได้รวมตัวกันแปลงโฉมและกอบกู้ศักดิ์ศรีของตัวเองด้วยการจัดการประกวดนางงามที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก หลังฉากที่ดูโหดร้ายก็ดูเหมือนจะมีสีสันขึ้น
Cover Illustration by Namsai Supavong