ทุกวันนี้ เวลาเราพูดถึงทักษะสำคัญ นอกจากทักษะทางวิชาชีพเพื่อการประกอบอาชีพในทางใดทางหนึ่งแล้ว เรายังมักมองไปที่ทักษะที่เราเรียกรวมๆ ว่าซอฟต์สกิล (soft skill) อันที่จริงทักษะซอฟต์สกิล ไม่เชิงว่าเป็นเรื่องใหม่ เพียงแค่ทักษะเช่นการคิด การปรับตัว ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่เราคาดหวังกับการศึกษา กระทั่งการเป็นมนุษย์ที่ได้รับการขัดเกลาที่สมบูรณ์ขึ้น
หนึ่งในทักษะสำคัญที่เราคาดหวังว่าจะมี ก็คือความเห็นอกเห็นใจ (empathy) หรือความเข้าอกเข้าใจ (compassion) เจ้าความเห็นอกเห็นใจนี้ดูจะเป็นทักษะที่เราฝากความหวังไว้ว่า เราเองจะเป็นมนุษย์ที่ดีได้ เราก็ต้องรู้จักคิดออกจากมุมของตนเอง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเราเองก็ใช้ความเห็นอกเห็นใจนี้ในการจรรโลงสังคม ซึ่งสุดท้ายแล้วความเห็นอกเห็นใจและความเข้าอกเข้าใจ อาจจะย้อนกลับมาสู่การเห็นอกเห็นใจตัวเองและเข้าอกเข้าใจตัวเอง ทำให้สังคมและตัวเราเองเป็นธรรมและเป็นสุขมากขึ้น
ทีนี้ ความยากของทักษะเหล่านี้ เจ้าความเห็นอกเห็นใจ มันมีความเป็นนามธรรมสูง กระทั่งมีคำกล่าวว่า เราไม่อาจสอนให้คนรู้จักความเห็นอกเห็นใจได้ เราสอนทักษะเหล่านี้โดยตรงไม่ได้ ฟังดูก็อาจจะจริงที่เราจะวัดผลและสอนความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องๆ ได้ยาก แต่ด้านหนึ่งถ้าความเห็นอกเห็นใจเป็นส่วนหนึ่งของทักษะ เมื่อมันเป็นทักษะ เราเองก็จะฝึกฝนทักษะต่างๆ นั้นได้
ในความสนใจเรื่องซอฟต์สกิล รวมถึงทักษะอื่นๆ ที่เราน่าจะได้จากระบบการศึกษาหรือการเติบโตขึ้นเพื่อการใช้ชีวิตอย่างแข็งแรง เป็นกระแสความสนใจราวทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่านอกจากความสำคัญของทักษะที่มองเห็นได้ยากแล้ว นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ก็พยายามหาทางในการฝึกฝนทักษะต่างๆ นั้น สำหรับความเห็นอกเห็นใจ มีข้อเสนอสำคัญจากงานศึกษาคือ การอ่านงานประเภทวรรณกรรมนั้น อาจจะช่วยเพิ่มทักษะของความเห็นอกเห็นใจให้เราได้ แต่การฝึกทักษะทางอารมณ์นั้นก็อาจจะมีเงื่อนไขในการอ่านและขบคิดต่อวรรณกรรมต่างๆ ด้วย
มิติและการเจริญเติบโตทางอารมณ์
ประเด็นเรื่องวรรณกรรม คือเราอ่านวรรณกรรม อ่านเรื่องแต่งไปทำไม ทำไมเราไม่ไปอ่านเรื่องจริง หรือไปเผชิญเรื่องราวต่างๆ เอง คุณค่าของการอ่านและตัววรรณกรรมเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ อริสโตเติล เป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่ชี้ให้เห็นมิติทางอารมณ์ที่ค่อนข้างสัมพันธ์กับประเด็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจ
ข้อเสนอสำคัญของอริสโตเติล พูดถึงบทละครประเภทโศกนาฏกรรม แนวละครหลักของกรีกโบราณ อริสโตเติลบอกว่าการดูละครโศกนาฏกรรมมีอิทธิพลพิเศษต่อมนุษย์เราด้วยการกระตุ้นความรู้สึกสามอย่าง คือความสงสาร (pity) ความกลัว (fear) และความโล่งจรรโลงใจ (catharsis- คำนี้ยากนิดนึง) คือเมื่อเราดูชะตากรรมของตัวละครโศกนาฏกรรม เรามักจะสงสารตัวละครนั้นๆ รู้สึกเกรงกลัวต่อชะตากรรม และรู้สึกปลดปล่อยอารมณ์เมื่อเรื่องจบ ทำนองว่าเราได้เรียนรู้บทเรียนของโลกและนั่นคือเรื่องแต่งนะ ทั้งหมดนี้อริสโตเติลมองว่าเป็นกระบวนการยกระดับจิตใจของเราผ่านการเสพเรื่องแต่งซึ่งก็คือละคร
ความน่าสนใจในความคิดของอริสโตเติลคือการมองมิติทางอารมณ์ที่เข้ามามีบทบาทในการจรรโลงหรือกระทั่งยกระดับมุมมองทางศีลธรรมของผู้คนผ่านพลังของวรรณกรรม ความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ ไปจนถึงการกลับมาคิดถึงความเป็นไปได้ที่เราจะเผชิญชะตากรรมในทำนองเดียวกัน เงื่อนไขทางความรู้สึกนี้เองก็น่าจะพออธิบายได้ว่า การที่เรามองเห็นและรู้สึกสิ่งต่างๆ ในมุมของคนอื่น การมีความรู้สึกรู้สามากขึ้น ก็อาจจะสัมพันธ์กับการมีความเห็นอกเห็นใจในฐานะทักษะที่เพิ่มขึ้นได้ก็ได้
พลังของวรรณกรรม และการฝึกความเห็นใจในความรู้สมัยใหม่
ความสนใจเรื่องพลังของวรรณกรรมและความสำคัญของความเห็นอกเห็นใจมีหมุดหมายสำคัญเมื่อสิบปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นของวงการศึกษา ว่าการศึกษาในสาขาการอ่านการเขียนมีความสลักสำคัญอย่างไร ในปี 2013 มีงานศึกษาในแขนงวิทยาศาสตร์จาก The New School for Social Research สถาบันวิจัยทางสังคมศึกษาตีพิมพ์งานศึกษาในวารสาร Science ว่าด้วยผลกระทบของการอ่านวรรณกรรมว่าสามารถส่งผลต่อกลุ่มทักษะทางสังคมที่มีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมอันเป็นรากฐานของสังคมต่อไป
ในตัวทักษะทางสังคม นักวิจัยได้ใช้กรอบคิดที่เรียกว่าทฤษฎีของจิตใจ (theory of mind) คือเป็นการศึกษาประเมินทักษะที่เรียกว่า mind reading คือความสามารถในการกะประมาณหรืออ่านใจของคนอื่นๆ ได้ การอ่านใจในที่นี้ส่วนหนึ่งคือการสังเกตและรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นๆ ซึ่งนักวิจัยระบุว่าจะมีการวัดผลในหลายมิติ บางส่วนเป็นการอ่านท่าทีของกลุ่มตัวอย่างจากการทดสอบซ้อน เช่นให้ลองดูภาพและอ่านสายตาของบุคคลหรือตัวละครในภาพ
กระบวนการงานศึกษา นักวิจัยจะให้กลุ่มตัวอย่างอ่านงานเขียนสามประเภท คือวรรณกรรม (literary fiction) งานบันเทิงคดีขายดี (popular fiction) และงานสารคดี (non- fiction) แล้วค่อยมาทำแบบทดสอบเพื่อดูว่าการอ่านงานประเภทไหนส่งผลต่อการทดสอบมากที่สุด ผลการทดสอบระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่อ่านวรรณกรรมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ คือทำแบบทดสอบในการอ่านรับรู้ความรู้สึกได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ
อ่านอะไรและอ่านอย่างไร พลังของเรื่องเล่าและความเข้าใจต่อมา
อ้างอิงจากงานศึกษาสำคัญ ผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าการอ่านวรรณกรรม ประเภทของวรรณกรรมก็มีผลต่อการเรียนรู้ คืองานเขียนแม้จะเป็นบันเทิงคดีเหมือนกัน แต่งานประเภทวรรณกรรมนั้นมีศักยภาพในการเพิ่มทักษะทางสังคมสูงกว่า
นักวิจัยอธิบายว่า งานแนวยอดฮิต ในที่นี้หมายถึงงานประเภทขายดีอันหมายถึงงานอ่านสนุก งานรักพาฝันหรืองานสืบสวน อาจจะให้ผลต่อการเรียนรู้น้อยกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากว่างานแนวขายดีนั้นมักจะมีสูตรสำเร็จ คือเราอ่านเอาเรื่องและสนุกสนานไปกับเรื่องราว
ในขณะที่งานวรรณกรรมนั้นมักจะนำเสนอมิติของเรื่อง ของตัวละครที่มีความซับซ้อน หลายครั้งมีการตั้งคำถามถึงความเป็นไป ทำให้ผู้อ่านต้องขบคิด ใคร่ครวญถึงสิ่งต่างๆ ซึ่งก็อาจจะกลับมาท้าทายความคิดและการมองโลกที่มีอยู่อีกชั้นหนึ่ง ทำให้การอ่านงานประเภทวรรณกรรมนั้น ส่งผลให้ผู้อ่านอาจจะได้ฝึกทักษะของการคิดออกนอกมุมมองของตัวเองและเห็นความซับซ้อนของโลกและของผู้คนได้มากกว่าการอ่านงานประเภทอื่นๆ
จากปี 2013 นับเป็นจุดเริ่มสำคัญของการศึกษาในช่วงต่อๆ มา แน่นอนว่าเราเองอยากจะหาทางพัฒนาและพิสูจน์ถึงกิจกรรมการอ่านและพลังของวรรณกรรม ในชั้นหลังเราก็จะมีการศึกษาในหลายแขนงเพื่อทดลองว่า ในระดับจิตใจเช่นงานศึกษาทางประสาทวิทยาที่สัมพันธ์กับสังคมจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน การศึกษาในทางประสาทวิทยาทดลองโดยใช้การแสกนสมองและการทดลองเชิงพฤติกรรมว่าการอ่านนวนิยายทำให้เราเข้าใจอารมณ์คนอื่นได้ดีขึ้นไหม และการอ่านอารมณ์คนอื่นดีขึ้นทำให้เราดีขึ้นไหม
จากการศึกษาสมองและการอ่าน มีการทดลองเช่นว่าการอ่านเรื่องสั้นหรือนวนิยายแล้ว กลุ่มตัวอย่างจะช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นไหม ผลการศึกษาค่อนข้างเป็นไปในทางบวก คือกลุ่มตัวอย่างที่คล้อยตามไปกับเรื่อง คืออ่านแล้วอินและรู้สึกไปกับเรื่อง มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและแสดงความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น พลังของเรื่องเล่ามีการศึกษาต่อเนื่อง เช่น งานศึกษาในกลุ่มนักเรียนพบว่านักเรียนที่อ่านเรื่องนั้นมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพิ่มขึ้นในทันที
งานศึกษาส่วนใหญ่ในยุคหลังค่อนข้างระบุถึงการที่เราได้รับอิทธิพลทางความรู้สึกจากการอ่านบันเทิงคดีในประเภททั่วไป ส่วนใหญ่ค่อนข้างสนับสนุนการอ่านวรรณกรรมและบันเทิงคดีในทุกประเภท บางส่วนพูดถึงวิธีการอ่านและขบคิดใคร่ครวญซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวรรณกรรมที่อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการศึกษา ที่เราเองจะสอนให้เด็กๆ อ่านและคิดจากงานวรรณกรรมต่างๆ หลายงานศึกษาพูดถึงการอ่านวรรณกรรมเยาวชนที่เป็นเหมือนการให้เด็กหรือเยาวชนได้ทดลองมองโลกในมุมมองของคนอื่นๆ
วรรณกรรมศึกษาในโรงเรียนบริหารขั้นสูง
ความน่าสนใจของกระแสความสำคัญของการศึกษาและการอ่านวรรณกรรม ที่วงการการศึกษาเชื่อมโยงวิชาการอ่านการเขียนเข้ากับทักษะที่กำลังเป็นทักษะจำเป็นในการเติบโตต่อไปในโลกการทำงานและการใช้ชีวิต ในทศวรรษที่ผ่านมามีงานศึกษาที่ยืนยันพลังและความสำคัญของการอ่านและบทบาทของวรรณกรรมบันเทิงคดีที่มีผลอย่างซับซ้อนต่อตัวเรา ในบางพื้นที่คือสาขาทางการบริหารธุรกิจ ก็มีการทดลองใช้วรรณกรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับสูง
ตัวอย่างสำคัญคือรายงานจากวิทยาลัยบริหารธุรกิจของฮาร์วาร์ด ในช่วงปี 2020 ที่มีอาจารย์หลายท่านทำการทดลองและรายงานการศึกษาวรรณกรรมร่วมกันในวิชาที่ดูไม่เกี่ยวข้องเช่นในสาขาบริหารธุรกิจ (MBA) หรือสาขาทางการสื่อสาร (MSC) หรือในวิทยาลัยที่เกี่ยวกับธุรกิจก็เริ่มนำเอาวรรณกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน
ในการเรียนในระดับที่สูงขึ้นนี้ การถกเถียงภายในห้องเรียนที่แม้จะเป็นวิชาทางการบริหาร แต่สิ่งที่ตัวบทวรรณกรรมถูกหยิบเข้าไปอ่านและถกเถียงกัน นำไปสู่ประเด็นทักษะที่ละเอียดซับซ้อน แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือความเห็นอกเห็นใจ และถกเถียงไปจนถึงประเด็นยากๆ อื่นๆ เช่น ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นผู้นำ
ผลที่น่าสนใจคือ คณาจารย์ในสาขาที่ว่าด้วยธุรกิจรายงานว่าการนำการอ่านวรรณกรรมเข้าไปศึกษาในคลาสได้ผลเกินที่คาดไว้หลายประการ เช่น การถกเถียงในมุมที่สลับซับซ้อนของความรู้สึกก็ทำให้ผู้เรียนบางคนเปิดเผยบางแง่มุมที่ซับซ้อนออกมา เช่นมีการสำรวจแง่มุมทางความรู้สึกที่เชื่อมโยงผู้เรียนเองเข้ากับตัวละคร เช่นการแบบรับความรับผิดชอบที่มากเกินไป อะไรคือความเป็นผู้นำที่เหมาะสม
การใช้เคสจากวรรณกรรม การเปิดเผยและขุดลึกลงไปในความรู้สึกของตัวผู้เรียนหรือรับฟังแลกเปลี่ยนความซับซ้อนต่างๆ ในคลาสนั้น แน่นอนว่าทำให้การศึกษาภาคธุรกิจที่เคยเกี่ยวกับตัวเลข สถิติ ก้าวไปสู่การมองเห็นผู้คนและประเด็นปัญหาที่สลับซับซ้อนอันล้วนเกี่ยวข้องกับการทำงานและประสิทธิภาพในการทำงานที่จะต้องไปรับรู้และแก้ปัญหากับเหล่ามนุษย์ด้วยกันต่อไป
สุดท้าย แม้ว่าโลกจะมีงานศึกษาหรือกระทั่งเราเองก็เข้าใจความสำคัญของการอ่านที่หลากหลายมากแค่ไหน เราเองก็ยังพบเจอข่าวการลดความสำคัญของวิชาการอ่านการเขียน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รัฐและเมืองจึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและการอ่านการเขียน
การการส่งเสริมระบบนิเวศของการอ่านที่รวมตั้งแต่แขนงวิชาในวงวิชาการ ไปจนถึงระบบนิเวศของการอ่านการเขียนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ กับวิชาชีพและวิชาการไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือไปจนถึงกิจกรรมอื่นๆ เช่น การวิจารณ์ การมีระบบนิเวศการอ่านการเขียนที่ดีก็อาจจะเป็นรากฐานของทักษะที่สลับซับซ้อนของผู้คนและของสังคมที่แข็งแรงต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก