ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการปรากฏตัวของนักศึกษาทั่วประเทศได้สร้างบรรยากาศใหม่ๆ ให้กับการเมืองไทย การรวมตัวของคนรุ่นใหม่บนพื้นที่ที่เป็นสถาบันทางการศึกษากลายเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นพลังและความอัดอั้นจากโซเชียลมีเดียมาสู่โลกจริง
แต่ในขณะเดียวกัน แม้นิสิต-นักศึกษาจะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่อีกฝากหนึ่ง ‘นักเรียน’ ในระดับมัธยมกลับต้องพบกับแรงกดดันมากกว่า เพราะถูกกีดกันจากคุณครูหรือผู้บริหารที่ไม่ต้องการให้เด็กๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเเมือง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่กลัวเสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงเรียน หรือการบอกว่าเด็กนักเรียนยังไม่โตพอที่จะยุ่งเรื่องการเมืองก็ตาม
The MATTER ไปคุยกับ อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ถึงพื้นที่ของโรงเรียนว่าควรให้เสรีภาพแก่นักเรียนแค่ไหน และคำพูดที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเด็กๆ กำลังสะท้อนอะไรในสังคมไทยในเวลานี้
โรงเรียนควรเป็นที่ให้นักเรียนได้แสดงออกทางการเมืองไหม
โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดที่เด็กจะแสดงออก แล้วก็ได้แสดงซึ่งสิทธิเสรีภาพ รู้บทบาทหน้าที่พลเมืองของตัวเอง ถ้าเด็กคุยเรื่องการเมืองในโรงเรียนไม่ได้ เด็กจะไปคุยเรื่องการเมืองที่ไหน ถ้าเด็กแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่ได้ เด็กจะต้องไปแสดงจุดยืนทางการเมืองบนถนนอย่างนั้นหรือ ถ้าโรงเรียนเองไม่มองว่ามีบทบาทในการต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก เอาแต่กลัวว่าโรงเรียนจะเสียหายจากการถูกผู้ใหญ่ลงโทษ ถูกศิษย์เก่าโจมตี ถูกพ่อแม่โจมตี แต่ปิดกั้นการแสดงออกของเด็ก ทำให้เด็กต้องไปแสดงออกบนถนน นอกโรงเรียน หรือในที่ซึ่งมือของโรงเรียนจะดูแลไม่ถึง ครูจะตามไปดูแลไม่ได้ จะต้องไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มือของใครก็ไม่รู้ เราก็กำลังผลักเด็กไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงของความขัดแย้ง
โรงเรียนควรจะเป็นที่ที่จัดให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ต่อให้ความคิดเห็นมันอาจจะทิ่มแทงหัวใจคุณครู หัวใจผู้บริหาร หรือกระทั่งศิษย์เก่า แต่มันก็ควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดแล้วที่เด็กๆ อายุไม่ถึง 18 ปี เขาจะแสดงความคิดเห็นของเขาได้ ถ้าโรงเรียนปิดประตูนั้นซะแล้ว แล้วผลักให้เด็กต้องไปแสดงออกที่อื่น คุณก็พาให้เด็กไปเสี่ยงอยู่กับฝูงชนข้างนอก ซึ่งอันนี้น่าเป็นห่วงมากว่าใครจะดูแลความปลอดภัยของเด็กๆ เพราะวันที่เขาต้องถอดเครื่องแบบ ใส่ชุดไปรเวทไปอยู่ในม็อบกับพี่ๆ ไม่มีใครแยกออกหรอกว่านี่คือเด็กมัธยม นี่คือนักศึกษามหาวิทยาลัย เพราะด้วยรูปร่างวัยเขาอาจจะใกล้เคียงกันมาก แล้วพอเกิดอะไรขึ้น มีเหตุปะทะ พวกคุณก็ดูแลไม่ได้แล้ว และกลายเป็นการผลักให้เด็กต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเอง พาให้เด็กไปเสี่ยงไง
ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องฝากผู้บริหารในสถานศึกษาไปขบคิดดีๆ เลย คุณอาจจะกลัวถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิ คุณอาจจะกลัวถูกพ่อแม่เด็กโจมตี คุณอาจจะกลัวศิษย์เก่ามาถล่มคุณ แต่ถ้าคุณไม่ทำแบบนี้ เด็กจะมีพื้นที่ปลอดภัยที่ไหนที่แสดงออกซึ่งมุมมองทางการเมืองของตัวเองได้ แล้วถ้าเด็กไม่สามารถแสดงมุมมองทางการเมืองของตัวเองได้ แล้วจะมีการศึกษาไปเพื่ออะไร
เพราะทุกวันนี้การศึกษาก็เขียนไว้ชัดเจนว่าให้เป็นพลเมืองของชาติ ความเป็นพลเมืองก็คือต้องรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ถ้าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เขาเป็นเจ้าของหนึ่งในสังคมไทย เขาก็ต้องแสดงความคิดเห็นได้ เขาก็ต้องบอกได้ว่าเขาคิดกับเรื่องนี้ยังไง แล้วถ้าเกิดโรงเรียนไม่ใช่ที่ปลอดภัยในการพูดแล้ว จะมีที่ไหนที่ปลอดภัยให้เด็กได้พูดอีก จะให้เขาไประบายความโกรธในโลกไซเบอร์อย่างเดียวงั้นเหรอ ซึ่งคุณก็จะไปแคปเจอร์หน้าจอเขามาตามล่าอีกใช่มั้ย เพราะไม่ว่ายังไงคุณปิดช่องทางการแสดงออกของคนไม่ได้หรอก
สุดท้ายเด็กทุกคน มนุษย์ทุกคน ตอนเป็นเด็ก คุณก็ดื้อกับผู้ใหญ่ เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน ทำไมตอนนี้พอเราเป็นผู้ใหญ่ เรากลับลืมไปว่าตอนเป็นเด็กเราก็ตั้งคำถามกับโลกของผู้ใหญ่ อยากให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงเรา อยากให้ผู้ใหญ่เคารพพวกเรา แต่เมื่อตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่ เรากลับลืมเคารพเด็กซะเอง แล้วเด็กเหล่านั้นเขาเป็นลูกศิษย์เราเนอะ ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งเลยที่ผู้บริหารจะละเลยเรื่องพวกนี้
แต่ตอนนี้หลายโรงเรียนผู้บริหารใจกว้าง ยอมเป็นกันชน แม้จะรู้ว่าก็มีศิษย์เก่าจำนวนหนึ่ง ครูอาวุโสจำนวนหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงจำนวนหนึ่ง ที่ต้องกดดันเขา แต่เขาก็รู้บทบาทเขา เขต้องปกป้องคุ้มครองเด็ก การที่ไม่ยอมทำเสียอีกสิที่ไปละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิเด็กนี่ใหญ่กว่าสิทธิพลเมืองอีก ถ้าเด็กฟ้องศาลปกครองขึ้นมาคือเรื่องใหญ่นะ เขามีสิทธิทางการเมือง มันเป็นมนุษยสิทธิเด็กอะ ซึ่งโอเค ถึงมันไม่ใช่กฎหมาย แต่มันเป็นมาตรการสากล มันเป็นกฎหมายสากลเสียด้วยซ้ำ แล้วมีผลกับเมืองไทย พรบ.ปกป้องคุ้มครองเด็กก็บอกว่าเด็กมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ แต่ตอนนี้โรงเรียนเสียอีกจะผลักเด็กออกจากโรงเรียน แถมนำเขาไปแจ้งตำรวจ ให้มาดูแลหรือให้มาจับเด็ก อันนี้มันเลยเส้นของการทำงานการศึกษาไปแล้ว มันกลายเป็นการมองว่าเด็กคือคู่ขัดแย้งตรงข้าม
อะไรคือความสำคัญของการให้เด็กได้เคลื่อนไหวในโรงเรียน
การที่เด็กลุกขึ้นมาส่งเสียงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เด็กส่งเสียงได้ แต่ทีนี้เราต้องนึกถึงว่าลูกโป่งมันกำลังโต ที่ผ่านมาสังคมกดดันกับเด็กไว้เยอะ พอเด็กๆ จะส่งเสียง เด็กๆ มีความโกรธ มันเป็นเรื่องอารมณ์ร่วมของยุคสมัยอะว่าในโลกผู้ใหญ่เกิดอะไรขึ้น
ยิ่งเด็กอยู่ในภาวะแบบนี้ ผู้ใหญ่ยิ่งต้องฟังเขา คุณครูยิ่งต้องฟังเขา เขารู้สึกอะไร เขาคิดอะไร รวมไปถึงพอพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ฟังเขาแล้ว จะให้ใครฟังเขา เพราะเสียงของเขา คนที่ควรจะฟังที่สุดคือคนใกล้ตัว ฟังว่าเด็กมองเรื่องนี้ยังไงโดยไม่รีบตัดสิน เพราะเด็กกำลังเรียนรู้เรื่องโลกภายนอกอยู่ ต่อให้เขาคิดต่างจากคุณมากก็ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมาปิดปาก ห้ามพูด เพราะยิ่งทำแบบนี้ภาวะข้างในเขายิ่งอึดอัด คับข้องใจ ความโกรธก็จะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคำถามคือ เราชอบดูถูกเด็ก เราชอบคิดว่าเด็กคิดไม่เป็น คำถามคือคิดไม่เป็นนี่คิดอะไร คุณไปนิยามว่าคิดเป็นคือคิดเหมือนคุณรึเปล่า ถ้าคุณนิยามว่าคิดเป็นคือคิดเหมือนคุณ มันน่าห่วงแล้วนะ เพราะในระยะสุดท้ายเราไม่ฟังอะไรเขาเลยอะ เพราะเขาก็มีมุมมองของเขาได้ ตอนคุณเป็นเด็ก คุณก็อยากให้พ่อแม่ฟังคุณ แล้วคุณก็ไม่เห็นด้วยที่พ่อแม่มาบังคับคุณ แต่วันนี้คุณเป็นพ่อแม่ คุณบังคับลูกตัวเอง
แต่มุมของเด็กก็ต้องระวัง ต้องไม่มองว่าผู้ใหญ่เป็นคู่ขัดแย้ง คู่ขัดแย้งคือคุณกำลังต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมใช่มั้ย เพราะฉะน้ันหน้าที่คุณคือต้องมองผู้ใหญ่เป็นคนที่คุณจะจูงใจให้ได้ ต้องทำงานด้วย ต้องสื่อสาร ต้องหาทางออกด้วยกันให้ได้ อย่าเพิ่งรีบผลักว่าผู้ใหญ่กับเด็กเป็นคู่ขัดแย้งคนละขั้วกัน คือจริงๆ มันไม่ใช่ ผู้ใหญ่สามารถอยู่ข้างเด็กได้
มองกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโรงเรียนยังไงบ้าง มันกำลังสะท้อนอะไร
มันสะท้อนว่าเขาสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เด็กๆ นักเรียน มัธยมปลาย มหาวิทยาลัยช่วงนี้ ก็คือเด็กประถมที่โตมากับสังคมแบบนี้ คุณลองนึกเล่นๆ ว่าเด็กปี 3 -ปี 4 ตอนนี้คือนักเรียนประถมปลาย-มัธยมต้นที่โตมากับการเมืองตลอดหลายปีมานี้ ทำไมเขาจะไม่เห็น ทำไมเขาจะไม่รู้ว่าสังคมทะเลาะกันเรื่องเสื้อคนละสี ไม่ว่าจะคนในครอบครัวเขา ชุมชนของเขา ดูทีวีก็เห็น ไปโรงเรียนก็เห็น ครูก็เป็นคู่ขัดแย้งกันในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งบรรยากาศในโลกโซเชียลมีเดีย มันจะเห็นความขัดแย้งเรื่อยๆ
แล้วเด็กรุ่นนี้ เขาไม่ได้โตมากับการอ่านแหล่งข่าวเดียว เขาโตมากับการมีทักษะทางดิจิทัลในการเข้าถึงข้อมูล เด็กๆ อ่านมากกว่าที่ผู้ใหญ่รู้จักด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปรีบสรุปว่าเด็กเชื่อคนอื่นง่าย กลัวคนอื่นหลอก บางที่มันเป็นการมองจากมุมเรานะ แล้วถามว่ามีข่าวลวง ใครคือเป้าหมายหลักของข่าวพวกนี้ ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุรึเปล่า เพราะเด็กๆ โตมากับการเรียนรู้เรื่องพวกนี้ เขาผิดพลาดมาเยอะ เขาไวกว่า เขาปกป้องตัวเองเรื่องข่าวได้ไวกว่า แต่ตอนนี้กลายเป็นผู้ใหญ่ตั้งการ์ดกับเด็ก ตั้งท่ากับเด็กว่าเด็กไม่รู้เรื่องอะไร แล้วพอตั้งท่าไว้แล้วว่าเด็กไม่รู้เรื่อง เด็กโดนหลอก ก็หมายความว่าคุณกำลังดูถูกลูกหลานตัวเอง คนที่คุณเลี้ยงมาเองแท้ๆ อะ คุณสอนเขามาเองแต่คุณพูดแบบนั้นแสดงว่าคุณล้มเหลวนะ
คุณอย่าเพิ่งรีบโทษคนอื่น กลับมาดูก่อนว่าคุณเคยฟังเขามั้ย คุณมองเรื่องนี้ยังไง คิดยังไง อ่านอะไรอยู่บ้าง ครูสอนนิสิตที่คณะมาตลอด 20 ปี ครูพูดได้เลยว่าเด็ก4-5ปีหลังไม่เหมือนเด็ก4-5ปีที่แล้วเลย เฉพาะมุมครูที่ครูอยู่มานะ คือเด็กปี 1 ปี 2 ที่ครูเห็นใน 4-5 ปีนี้ เป็นเด็กอีกแบบหนึ่งไปแล้ว ไม่ได้พูดถึงความก้าวร้าวนะ พูดถึงการมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ถามคำถามผู้ใหญ่ได้ การใช้เหตุผลในการถกเถียงกับเรา รวมถึงการอ่านซึ่งมหัศจรรย์มาก เด็กรุ่นหลังๆ อ่านหนังสือกันเยอะมาก ยิ่งสังคมข้างนอกมีปัญหา เด็กเขายิ่งต้องการความรู้ เขาก็อ่าน เพราะโลกการอ่านตอนนี้มันกว้างมาก เขาไปติดตามคนที่เป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ ไปอ่านลิงก์นี้ ไปเว็บนั้น เพราะมันอ่านเจอได้ง่าย แม้แต่เด็กต่างจังหวัดก็เป็นนะ เด็กต่างจังหวัดที่มาสอบเข้าคณะครู เขาอ่านอะไรเหมือนเด็กในกรุงเทพหมดเลย ทุกอย่างตอนนี้มันถูกทำให้ง่ายแล้ว มันไม่ต้องเป็นหนังสือเล่มอย่างเดียว เพราะดาวน์โหลดได้หมด อ่านได้หมด ติดตามนักวิชาการคนนี้ก็ได้อ่าน ดูข่าวช่องนี้ก็ได้ฟังบทสัมภาษณ์ ติดตามเวทีเสวนาอันนี้ก็ได้ยินเรื่องมากมาย
ครูว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องจูนกับโลกของเด็กใหม่หมดเลย เด็กๆ เขารู้อะไรเกี่ยวกับสังคมนี้มากขึ้น แล้วเขาไม่ได้ถูกทำให้มีความเชื่อเดียวด้วย เพราะเขาโตมากับความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายมาก เขาเห็นคนที่คิดไม่เหมือนกันมาตลอด แต่ผู้ใหญ่นี่สิ ที่อยู่ในวงเสียงก้องของตัวเอง ด้วยความขัดแย้งตลอด 16 ปี มันทำให้เราแบ่งขั้วกัน แล้วพอแบ่งขั้วกัน เราก็เปิดพื้นที่ให้คนอื่นสื่อสารกับเราน้อยมาก เราอยู่ในโลกของเราเองเยอะ
กลายเป็นตอนนี้เด็กๆ ไม่ได้ออกมาขับเคลื่อนอคติด้วยซ้ำ เด็กอาจจะมีความอึดอัดกับความยุติธรรมในสังคม ต้องการสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ต้องการผู้นำ หรือรัฐบาลที่ขึ้นตรงกับเขาได้มากขึ้น คำนึงถึงประชาชนมากขึ้น ซึ่งเด็กเขามองไปไกลกว่าเรื่องการเมืองแบ่งขั้วแล้วด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ผู้ใหญ่กำลังดึงเด็กเข้ามาเป็นขั้วใดขั้วหนึ่ง เหมือนแปะป้ายเขาว่าเป็นติ่งพรรคนั้นพรรคนี้ สู้เพื่อคนนั้นคนนี้ คุณต้องลองคุยกับเขา
ครูคิดว่าหลายปีมานี้ ตลอดเวลาที่ได้คุยกับนิสิตนักศึกษา เด็กมัธยม ครูว่าความรู้เรื่องการเมืองของเด็กรุ่นนี้สูงมากๆ ตลอดห้าปี ยิ่งห้าปีเนี่ย ยิ่งชัดเจนมากว่าเด็กมี political literacy สูงมาก เด็กฟังอภิปรายแล้วรู้ว่ากฎหมายนั้นนี้คืออะไร ตอนครูเป็นเด็กปีหนึ่งครูยังคิดไม่ได้เท่าเขาเลย โลกของครูยังเป็นการอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านตำราอยู่ แต่เด็กๆ ตอนนี้ เขาอยู่ ม.5 มาฟังเวทีเสวนาที่ม.มหิดลแล้ว ไปฟังเสวนาที่ม.ขอนแก่นแล้ว โดยที่ตัวเขาไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยซ้ำ โลกการรู้จักนักวิชาการของเขากว้างกว่าเราอีก แล้วพอเขามาอยู่ในมหาลัย มันคือพื้นที่ที่ตอนอยู่โรงเรียนมันถูกกดอยู่ พอมาที่นี่มันรู้สึกว่า เห้ย เขาสามารถพูดได้ มันมีคนเจนเดียวกับเขา
การที่เขาออกมาปรากฏตัวให้เราเห็น ต้องมองว่านี่คือบรรยากาศใหม่ๆ ที่สังคมไทยไม่มีโอกาสสัมผัสมานานแล้ว คือเราไม่ได้เห็นบรรยากาศการลุกขึ้นของนิสิตนักศึกษาในสถานศึกษา ทั้งโรงเรียนแล้วก็มหาวิทยาลัย แล้วชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ในโรงเรียน สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมามากกว่า 30 กว่าปี สมัยพฤษภาทมิฬ เราก็ไม่ได้ชุมนุมกันในมหาลัย เราออกมาอยู่บนถนนข้างนอกกัน อาจจะมีธรรมศาสตร์ แต่ชุมนุมใหญ่แบบนี้ที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งราชภัฎ หรือเอกชน ครูไม่เคยเห็นในชีวิตการเป็นวัยรุ่นของครูนะ มีพี่ๆ เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเหตุกาณณ์ 14 ตุลา เรื่องนี้เคยเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นบรรยากาศสังคมมันกดหนัก นักเรียน นิสิต นักศึกษาคือคนกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมา เพราะคนเหล่านี้อ่านหนังสือ พวกเขารับรู้ความเป็นไปของโลกข้างนอก เขาเลยเป็นคนกลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมาส่งเสียง แต่ ณ วันนี้ ปรากฏการณ์ที่เป็นนักเรียนมัธยมก็ดี นิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน และภูมิภาคก็ดี มันคือสัญญาณว่าคนรุ่นใหม่ของเราเอาใจใส่บ้านเมือง ผู้ใหญ่ต้องดีใจที่เด็กๆ เอาใจใส่บ้านเมือง ยังไม่คิดจะทิ้งประเทศนี้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบผลักเขาเป็นคู่ตรงข้ามกับเรา ถ้าเราไปผลักเขาเป็นคู่ตรงข้าม ไปป้ายสีเขาซะแล้ว เรากำลังตัดโอกาสของคนเจเนอเรชั่นหนึ่งที่เป็นเจ้าของสังคมไปเลยนะ
จริงๆ ถ้าเราช่วยกันประคับประคองสังคมไทยในช่วง 6-7 ปีนี้ไป ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ทุกคนเกื้อกูลกัน เราจะได้กำลังจากเด็กๆ หนุ่มสาวเหล่านี้ มันจะเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมที่สำคัญมาก แต่ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงก็คือผู้ใหญ่ที่มีความเกลียดชัง มีความเชื่อทางการเมืองแบบเดียว และกำลังพยายามจะลากเด็กมาเป็นคู่ขัดแย้งของตัวเอง เราลืมไปรึเปล่าว่าคู่ขัดแย้งของเราคือสังคมที่ไม่พึงปราถนา สังคมซึ่งคนไม่มีสิทธิมีเสียง สังคมซึ่งคนจำนวนมากถูกทิ้งไว้กับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม สังคมซึ่งกลไกรัฐมันเลือกปฏิบัติต่อคนอย่างไม่เท่าเทียมกัน
จริงๆ เป้าหมายร่วมของการต่อสู้ ไม่ว่าขั้วไหนก็พูดเรื่องเดียวกัน แต่ตอนนี้เราไม่ได้คุยกันเลยตลอดหลายปีที่เราเกลียดชัง ตอนนี้คนที่กำลังลุกขึ้นมาส่งเสียงคือคนที่ไม่ได้อยู่ขั้วใดขั้วหนึ่งซะด้วยซ้ำ ถ้าคนที่อยู่ตรงกลางลุกขึ้นมาส่งเสียงแล้วคุณยังไม่ฟังเขา คุณกำลังจะพาสังคมไทยถอยกลับไปหนักว่าเดิมอีก อันนี้คือสิ่งที่อยากฝากผู้ใหญ่ทุกคนเอาไว้
ผู้ใหญ่ๆ ในกระทรวงศึกษาหรือในสถาบันการศึกษา ควรมีท่าทีต่อนักเรียนที่อยากเคลื่อนไหวยังไงบ้าง
ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนที่รู้จักฟัง เป็นคนที่ให้โอกาส เป็นคนที่ปกป้องคุ้มครองเขา ไม่ใช่กลัวการทำผิด กลัวเจ้าหน้าที่รัฐมาเล่นงาน กลัวผู้บังคับบัญชาลงโทษ กลัวพ่อแม่บ่น อันนี้เรียกร้องความกล้าหาญของผู้ใหญ่ในโรงเรียนมากๆ ทั้งครู ทั้งผู้อำนวยการ โรงเรียนไหนที่เปิดพื้นที่ให้เด็กส่งเสียงได้ เราต้องชื่นชมผู้บริหารนะ ต้องชื่นชมคุณครูว่าคุณใจกว้าง คุณมีความเป็นนักประชาธิปไตย คุณส่งเสริมและพัฒนาให้เด็กได้เป็นพลเมือง
แล้วถ้านักเรียนอยากแสดงออก อยากออกมาเคลื่อนไหว แต่โรงเรียนห้าม จะทำอะไรได้บ้าง
จริงๆ พวกเขาทำได้อยู่แล้ว เพราะชีวิตเขาไม่ได้อยู่ในโรงเรียนตลอดเวลา ในฐานะพลเมือง เด็กทุกคนเป็นพลเมือง เด็กสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่ก็ฝากให้ระมัดระวัง อย่าสุ่มเสี่ยง คือการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองก็เป็นช้อยส์ของเรา แต่มันก็เป็นความรับผิดชอบของเราด้วย และอย่าลืมว่าในความเป็นเด็ก ก็ยังต้องอยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของพ่อแม่ ยังไงก็ต้องให้พ่อแม่รู้นะว่าตัวเองอยู่ที่ไหน
ในความวัยรุ่นมันก็มีความห้าวหาญ ไม่อยากบอกให้พ่อแม่รู้ แต่ถ้ามันเกิดเรื่องไม่พึงประสงค์ขึ้นมา เราก็จะเสียใจเนอะที่เราไม่ได้บอกให้พ่อแม่รู้ก่อนว่าเราอยู่ที่ไหน ซึ่งไม่มีใครอยากให้เด็กมาเผชิญความเสี่ยงทางการเมือง ครูถึงเชื่อว่าถ้าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ อย่างน้อยเด็กก็มีพื้นที่ปลอดภัยในการส่งเสียงของเขา เพราะการที่เขาจะใส่เสื้อผ้าเป็นคนทั่วไปไปเดินในม็อบ มันมีความเสี่ยงสูง ต่อให้พ่อแม่เขาไปก็ยังไม่อยากให้ไปเลย เพราะว่าพอเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นมามันจะมีแต่เรื่องน่าเสียใจ หนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาเองก็มีความเสี่ยง แต่เขาอยู่ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว เขารับผิดชอบชีวิตตัวเองได้ เขาถึงกล้าเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ต้องการพื้นที่ความเสี่ยงเลย ทุกคนควรฟังกัน และครูคิดว่าตลอด 5-6 ปีนี้เราฟังกันน้อยมาก จริงๆ มากกว่า 10 กว่าปีที่แล้วอีกนะ 10 กว่าปีที่แล้วคนยังพยายามฟังๆ กันบ้างว่าคิดเห็นยังไง แต่ตอนนี้คนปิดประตูไม่ฟังกันแล้ว ฟังแต่พวกเดียวกัน
เด็กๆ จะไปม็อบก็ได้ หรือจะเขียนลงเฟซบุ๊กก็ได้ แต่ทุกข้อความก็ต้องรับผิดชอบ
อย่าลืมว่าสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยถดถอยที่สุดคือความเกลียดชัง
เพราะความเกลียดชังคือเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง คู่ขัดแย้งของประชาธิปไตยคือความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง ถ้าเรายังใช้แรงขับเคลื่อนจากความโกรธ ใช้คำหยาบ ใช้การด่าทอไปที่ตัวบุคคล เราก็ไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยมันแข็งแรงหรอก เรากำลังใช้กระบวนการทำลายประชาธิปไตยในนามประชาธิปไตย ดังนั้นจะสื่อสารกันยังไงให้มันเกิดการจูงใจกัน ให้รับฟังกัน นั่นคือเป้าหมาย การบอกความคิดตัวเองบอกได้ แต่ความคิดเราทุกเรื่อง เวลาสื่อสารออกไปก็ลองคิดว่าคนฟังจะรู้สึกยังไง เพราะการกระทำในบางเรื่องมันเป็นเรื่องที่อาจจะดูสมควรทำแล้ว แต่มันก็ทำให้คนอื่นรู้สึกถูกเกลียดได้ใช่มั้ย ทำให้เกิดความไม่สบายใจได้ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงเหมือนกัน
สุดท้ายการออกมาต่อสู้บนถนน ทุกคนก็ต้องกลับเข้ามาที่บ้าน แล้วก็ต้องอยู่ด้วยกันต่อ คือคุณจะชนกันกี่รอบก็ได้ แต่สุดท้ายหลังการปะทะกันจะอยู่กันยังไงเป็นเรื่องยาก คือครูคิดว่าตลอด 16 ปีที่ผ่านมา นี่คือเรื่องยากที่สุดแล้วที่จะลงถนน โดยไม่ได้คิดว่าหลังกลับขึ้นมาจากถนนหรือกลับบ้าน แล้วจะอยู่กันยังไง
พอสังคมมันแตกแยกไปแล้ว อย่างม็อบกปปส.ที่เคลื่อนไหวตอน 5-6 ปีที่แล้ว ก็ได้บทเรียนแล้วว่าคุณคิดว่าคุณชนะ แต่สุดท้ายไม่เคยมีคำว่าชนะหรอก เพราะมันกลายเป็นการทำให้เกิดรอยร้าวในสังคมไปเลย แล้วคนก็ผลักการเป็นเขาเป็นเราอยู่ พอเห็นสัญญาณที่เกิดขึ้นอย่างเรื่องซันนี่ เราก็เห็นว่าสังคมไทยมันไม่ได้ไปไหนเลย มันยังอยู่ที่ 5-6 ปีที่แล้ว หนักกว่านั้นคือถอยไป 16 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ ยิ่งกว่าสมัยความขัดแย้งยุคทักษิณอีก ซึ่งน่าห่วงนะ ถ้าเราบอกว่าเราอยู่ในยุคที่ถอยไป 16 ปีแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย และคนที่น่าห่วงคือผู้ใหญ่ คุณอยู่กับเรื่องนี้มา 16 ปีคุณยังไม่พออีกเหรอ คุณจะต้องการแค่ความสงบแบบที่กดปุ่มพอสเอาไว้ เพื่อให้คนส่งเสียงไม่ได้อย่างนั้นจริงๆ เหรอ เพราะตอนนี้คนที่อึดอัดที่สุดคือเด็ก เพราะเขาอยู่กับอนาคตของสังคมนี้
กลับคำพูดที่บอกว่า ‘เด็กๆ ถูกครอบงำ’ ‘เด็กๆ คิดเองไม่เป็น’ คิดว่ากำลังสะท้อนอะไรในสังคม
นี่เป็นคำพูดที่ผู้ใหญ่ใช้เป็นอาวุธในการตัดสินเด็ก ดูถูกเด็ก ซึ่งคนที่ดูถูกคนอื่น ไม่เคารพคนอื่น เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ที่ดีไม่ทำกัน ผู้ใหญ่ที่ดีจะรับฟัง ผู้ใหญ่ที่ดีจะสังเกต ผู้ใหญ่ที่ดีจะเข้าใจ การรีบบอกว่าเด็กถูกหลอก เด็กถูกชักจูง แสดงว่าคุณไม่เชื่อซะด้วยว่าคุณเป็นผู้ใหญ่ที่ส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น ถ้าคุณใช้คำนี้กับลูกศิษย์ตัวเอง ใช้คำนี้กับเด็กที่บ้านคุณเอง คุณก็เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รับผิดชอบกับเด็ก
แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นเด็กคนอื่น คุณก็กำลังดูถูกคนอื่นเหมือนกันนะ แล้วคนอื่นที่คุณดูถูกคือเด็กนะ คุณรู้จักเขาดีแค่ไหน คุณจะไปดูถูกเขาว่าโดนหลอก ถ้าเด็กทุกคนถูกหลอกง่าย ถูกชักจูงง่าย ที่ทำมาในการเมืองบ้านเราก็มีการหลอก ก็มีการชักจูงกันมาแบบนั้นไม่ใช่เหรอ เพราะตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาเรามีการโฆษณาชวนเชื่อเยอะมากเลย propaganda โดยรัฐเยอะมาก แล้วทำไมมันทำงานกับเด็กไม่ได้ล่ะ ทั้งๆ ที่มันมี propaganda เกิดขึ้นมากมายในบ้านเรา ทำไมเด็กถึงไม่ถูกชักจูงไป ใช่มั้ย คือคุณกำลังใช้ประสบการณ์และอคติของตัวเองมาตัดสินเด็กๆ โดยที่คุณยังไม่ได้ฟังเขาเลยว่าเขาพูดว่าอะไร หรือบางทีก็ตั้งการ์ดกันไปแล้วว่าเขาเป็นคนอื่น
คือพอเขาคิดเรื่องการเมืองไม่เหมือนกับเรา แล้วเราไม่รู้จะโต้แย้งยังไง ไม่มีเหตุผลมากพอจะไปหักล้างเขา เราเลยใช้อาวุธ ใช้ไม้ตายเป็นคำพูดว่าเป็นเด็กคิดไม่เป็น เด็กโดนหลอกง่าย ครูว่านะอันนี้คือไพ่ตายที่ผู้ใหญ่ชอบใช้ เพราะเขาไม่มีเหตุผลจะไปโต้แย้งกับเด็กได้ เขาถึงเอาคำพูดนี้มาใช้ ซึ่งคนที่พูดประโยคนี้คือคนที่ยอมแพ้แล้ว ถ้าคุณคิดว่าคุณมีเหตุผลที่ดีกว่า คุณลองฟังเขาก่อน แล้วคุณลองแลกเปลี่ยนเหตุผลกับเขาสิ เพราะการที่คุณงัดไพ่ตายขึ้นมาเลยว่า เอ้ย แกโดนหลอก แกโดนล้างสมองมา มันหมายความว่าคุณไม่ฟังแล้วอะ คุณไม่เลือกจะฟังด้วยซ้ำ แล้วคุณไม่ใช้เหตุผลไปโต้แย้งกับเขาด้วยซ้ำ หรือผู้ใหญ่ที่ไม่เชื่อแม้กระทั่งรับฟังเสียงเด็กอะ คุณมีปัญหาแล้วนะ คุณกำลังใช้อำนาจนิยม
คุณเป็นเหมือนที่เด็กพยายามจะชี้นิ้วบอกคุณแล้ว คุณปฏิเสธตัวเองไม่ได้หรอกว่าคุณกำลังมองเเด็กเป็นคู่ขัดแย้ง