“เรียนหมอหนักมาก” เรามักได้ยินคำนี้อยู่เสมอๆ จนกลายเป็นเรื่องเคยชินกันไปแล้ว
หลายคนทุ่มเทอ่านหนังสือติวข้อสอบเพื่อได้เข้าเรียนในคณะแพทย์ตามมหาวิทยาลัยในฝันของตัวเองให้ได้ แต่ถึงอย่างนั้น แม้ว่าก่อนเข้ามาจะพบกับช่วงเวลาหนักๆ มาก่อน การได้มาฝึกเรียนในฐานะ ‘นักศึกษาแพทย์’ จริงๆ กลับพบว่ามันคือภารกิจที่ยากลำบากที่มากกกว่าเดิมหลายเท่าตัว บางคนให้ความเห็นว่า ตั้งแต่เกิดมานี่คือช่วงชีวิตที่หนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยเจอมา
แน่นอนว่าเรียนหมอหนักมาก คำถามคือแล้วมันหนักขนาดไหน?
The MATTER คุยกับเหล่านักเรียนหมอเพื่อสำรวจเรื่องราว จากปากคนที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมอันกดดัน อันเป็นบททดสอบชิ้นใหญ่ที่พวกเขากำลังต้องผ่านพ้นมันไปให้ได้
เรียน สอบ เข้าเวร ดูแลคนไข้ ภารกิจรัดแน่นนักเรียนหมอ
โดยปกติแล้ว การเป็นนักศึกษาแพทย์ จะเริ่มต้นการเรียนจากภาคทฤษฏีในห้องเป็นพื้นฐานให้หนักแน่นเสียก่อน เมื่อถึงช่วงเวลาที่พวกเขาพร้อมแล้วจะได้รับโอกาสได้เข้าไปทำหน้าที่ในโรงพยาบาลต่างๆ ต่อไป
ในสภาพแวดล้อมที่มีภารกิจหลากหลาย ทั้งเรียนทฤษฏีในห้อง การศึกษาผ่านเคสที่เกิดขึ้นจริงพร้อมกับ ‘อาจารย์หมอ’ ตลอดจนความรับผิดชอบในเรื่องการเข้าเวร หลายคนบอกกับเราว่า มันคือเส้นทางที่ไม่ง่าย และยังต้องเจอกับเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ
นักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง เล่าให้กับ The MATTER ฟังถึงชีวิตที่ต้องเรียนควบคู่ไปกับการปฏิบัติภารกิจเข้าเวร
“เราเป็นนักศึกษาแพทย์ มันไม่ได้เครียดเรื่องเคสมาก แต่มันเครียดเรื่องอ่านหนังสือสอบมากกว่า เพราะจิตใจของเรามันไม่สงบสุขกับการอ่านหนังสือที่หอ บางครั้งเข้าเวรแต่ไม่มีไรทําก็เอาหนังสือไป แต่ตอนอ่านมันก็ไม่โฟกัสเพราะคนมันก็เดินไปเดินมา หรือบางทีที่เครียด ยิ่งช่วงที่มีภาระเยอะๆ กับช่วงสอบ เพราะเนื้อหามันเยอะมาก เราจะต้อง รีบอ่านหนังสือเพื่อไปสอบ กลัวอ่านไม่ทัน”
ขณะเดียวกัน ภาระหน้าที่ตามวอร์ดต่างๆ ที่มีลักษณะงานแตกต่างกันไป ก็ดูเหมือนจะส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน
“ถ้าพูดถึงวอร์ดที่รู้สึกเหนื่อยมากๆ ก็คือวอร์ดเด็กกับอายุรกรรม เพราะต้องเดินต้องตรวจตลอดและใช้เวลาเยอะมาก บางทีกลับมาก็ไม่มีแรงอ่านหนังสือต่อ แต่ความหนักเบาของการอยู่เวรมันก็ขึ้นอยู่กับการจัดเวรของเขาด้วยว่าจะเป็นยังไง อยู่กับใคร ใครดูแล แต่ถ้าทั่วไปแล้วก็มีตื่นมาตอนเช้าทุกวันเพื่อราวด์คนไข้ตอน 7 โมงเช้า วันธรรมดาก็มีเวร 1 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม วันอาทิตย์ก็ตั้งแต่ 7 โมงถึง 5 ทุ่ม ได้นอนเฉลี่ย 5-6 ชั่วโมง ก็ไม่เคยรู้สึกว่าพอ”
นักศึกษาที่ประจำวอร์ดวิสัญญีคนหนึ่งอธิบายถึงสภาพความกดดันในรูปแบบคล้ายๆ กัน
“ในหนึ่งวันต้องเข้าเรียน ฟังเลคเชอร์ เข้าเวรดูคนไข้ เขียนรายงานคนไข้ และอ่านหนังสือเตรียมสอบ วนเวียนไปแบบนี้ ทําให้ได้นอนประมาณ 5-6 ชั่วโมง ส่วนสถานการณ์หนักที่สุดน่าจะช่วงปีใหม่ที่มีคนหัวใจวายเข้ามา 5 คนติด แล้วต้องปั๊มหัวใจในระยะห่างกันไม่เกิน 15 นาที เหนื่อยมาก
“เคยมีวันหนึ่งที่ได้นอนแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น มันก็เบลอไปทั้งวัน ทําให้ตอบอาจารย์ผิดบ้าง หลับในห้องเรียนคาหน้าอาจารย์บ้าง ทําให้ต้อง มานั่งฟังเสียงที่อัดในห้องซ้ำอีก ถ้าพูดอีกอย่างก็คือ คนที่จะเข้าแพทย์ มันก็อ่านหนังสือเตรียมสอบจนไม่ได้นอนมาอยู่แล้ว พอมาเรียนแพทย์มันก็ไม่ได้นอนกว่าเดิม มันเลยรู้สึกชินไปแล้ว”
ผลกระทบจากตารางชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
การพักผ่อนน้อย อันผลกระทบจากการทำงานในโรงพยาบาลอย่างหนัก ควบคู่ไปกับการกลับมาเข้าห้องเรียนในวันรุ่งขึ้น เป็นสิ่งที่นักศึกษาศัลยแพทย์คนหนึ่งยอมรับว่า มันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตพอสมควร โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการประมวลผลของสมอง
“นั่งเรียนเลคเชอร์ก็เบลอๆ เพราะตอนที่โดนเรียกไปผ่าตัด มันไม่ได้นั่งเฉยๆ วิ่งวุ่นทั้งคืนเลยก็มี เช้ามาก็ต้องอัดกาแฟ บางคนก็อัดกาแฟสามแก้วไปเลย เรารู้สึกว่าการอดนอนเป็นเรื่องที่ไม่ดีที่สุดของแพทย์ เพราะเราต้องซักประวัติแล้วเราก็ต้องคิดตลอดเวลา การอดนอนทําให้ กระบวนการคิดมันแย่ลง ซึ่งมันก็เสียต่อคนไข้ด้วย
“แต่ถ้าช่วงไหนอยู่เวรวันเว้นวันก็ จะแบบกลับมานอนอย่างเดียวเพราะไม่ไหว มันต้องนอน แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่ว่าเราจัดเวลาของเรายังไง ใครจัดได้ดีก็สบายไป ใครจะไม่ได้ก็หนักไปเลย”
การเข้าเวรดูเหมือนจะเป็นภารกิจสำคัญที่ทั้งกดดันและทำให้หลายคนต้องหาทางพยายามจัดการตารางชีวิตให้ได้ นักศึกษาแพทย์สูตินรีเวชเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่หนักหน่วงที่สุดที่เคยเจอมา
“เคยนอนน้อยสุดคือสามชั่วโมง ส่วนมากเครียดเวลาตอบคําถามอาจารย์ไม่ได้ หรือว่าลืมในสิ่งที่ตัวเองเรียน ไหนจนะมีกําหนดส่งรายงานอีก เพราะอาจารย์กำหนดว่าต้องการรายงานภายใน 72 ชั่วโมง เราก็ต้องรีบเขียนส่ง วันหยุดต้องอยู่ตั้งแต่ประมาณ 7 โมง ถึง 4 ทุ่ม รวมเสาร์อาทิตย์แล้ววันหยุดพิเศษเช่นวันสิ้นปีก็ต้องอยู่เวร
“เราเครียดแล้วประจําเดือนมาไม่ปกติ บางทีท้องเสีย อ้วก ถึงแม้เราจะบอกว่าไม่เครียด แต่ร่างกายมันฟ้อง ความเครียดมากที่สุดจริงๆ ก็คือการเปลี่ยนวอร์ด เหมือนว่าเรากําลังจะปรับตัวได้แล้วแต่ก็โดนเปลี่ยนไปอยู่วอร์ดอื่น ซึ่งมันเปลี่ยนไปทุกเดือนๆ แต่สุดท้ายเราก็จะคิดว่าเราเป็นคนเลือกมาเรียนเอง เราต้องแก้เอง ช่างแม่งสิ เราเคยเครียดจนอ้วกออกมาตอนก่อนปีสี่ ตอนนี้เลยรู้จักที่จะปล่อยวางบ้าง” เธออธิบาย
ด้วยตารางการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ยังส่งต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของนักศึกษาแพทย์อีกหลายคน หนึ่งในนักศึกษาแพทย์ที่ The MATTER ได้พูดคุยด้วยบอกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดคือวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบมากยิ่งขึ้น
“บางคนก็ไม่ได้กินข้าวเช้าเลย หรือมากินข้าวเช้าตอนบ่ายสาม ที่เห็นชัดคือเราหันไปกินพวกอาหารในเซเว่นกันเยอะมาก เอะอะก็กินไส้กรอก เพราะมันไม่มีเวลา ต้องกินน้ําหวานด้วยเพราะร่างกายมันเหนื่อย เราก็อัดๆเข้าไป คือเวลาของเรามันเปลี่ยนไปให้เราอ่านหนังสือมากขึ้น แบ่งเวลาให้อย่างอื่นน้อยลง พอเป็นแบบนี้ Time management จึงสําคัญมาก เวลาของเรามันเปลี่ยนไปให้เราอ่านหนังสือมากขึ้น และแบ่งเวลาให้อย่างอื่นน้อยลง”
ย้อนดูงานวิจัย สุขภาพจิตใจคนเรียนหมอ
มาถึงตรงนี้เราจึงแทบปฏิเสธได้ยากว่า ภารกิจหน้าที่อันรัดตัวของนักศึกษาแพทย์กำลังส่งผลให้พวกเขาได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพร่างกายรวมไปถึงภาวะจิตใจ
ที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าจะตอกย้ำสถานการณ์ที่ว่านี้ได้
การศึกษาว่าด้วยความเครียดและการจัดการความเครียดของนักศึกษาแพทย์ชั้นคลีนิก ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2550 พบสถิติว่า นักศึกษาหลายคนก็มีวิธีจัดการกับปัญหาของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป
บางคนหาเวลาพักผ่อนด้วยการฟังเพลง ปรับทุกข์กับเพื่อนและครอบครัว มองโลกในแง่ดีว่าเดี๋ยวปัญหาก็จะผ่านไป รวมไปถึง ปลีกตัวอยู่คนเดียวเพื่อกลับเข้ามาอยู่ในโลกส่วนตัวเพื่อเยียวยาจิตใจ
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่สำรวจเรื่องภาวะจิตใจของคนเรียนหมอ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยจัดจัดทำงานวิจัยที่เข้าไปศึกษา ปัญหาทางสุขภาพจิตใจของนักศึกษาแพทย์ (ศิริราช) ที่ไม่สำเร็จการศึกษา โดยค้นลงไปลึกเป็นเวลา 25 ปี คือตั้งแต่ปี 2525 ถึง 2550
ประเด็นใหญ่มากๆ ที่งานวิจัยค้นพบคือ ในบรรดานักศึกษาแพทย์ที่ไม่จบการศึกษาทั้งหมด 32 รายนั้น ส่วนใหญ่เป็นโรคทางจิตเวชเนื่องจากการปรับตัว (adjustment disorders) ถึง 41.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรคที่พบบ่อยรองลงมาคือโรคซึมเศร้า (depressive episode) โดยพบในจำนวน 26.4 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่ไม่จบการศึกษาจำนวน 3.1 เปอร์เซ็นต์ เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) โดยลักษณะอาการคือ มีความวิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ขาดสมาธิจดจ่อกับการเรียน และรู้สึกเครียดได้ง่าย
ความน่าสนใจของข้อมูลชุดนี้คือการฉายให้เราเห็นภาพว่า ในบรรดานักศึกษาแพทย์นั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นสะสม ทั้งจากการเรียนหนังสือ รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายนั้น อาจมีความเสี่ยงที่นำไปสู่โรคภาวะสุขภาพจิตได้ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีกลไกในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างดีพอ
“ควรมีการพัฒนาระบบการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตใจในทุกระดับตั้งแต่เริ่มแรก โดยการประเมินเบื้องต้นให้การรักษาทันที ตลอดจนการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช และการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ” นี่คือข้อเสนอแนะที่ปรากฎในงานวิจัย
ข้อเสนอในทิศทางเดียวกันนี้ ยังปรากฎในงานวิจัยในปี 2016 เรื่อง ‘Prevalence of depression amongst medical students: a meta-analysis’ ที่พบข้อมูลว่า 1 ใน 3 ของนักศึกษาแพทย์ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคซึมเศร้า หากแต่กลไกการดูแลภาวะจิตใจยังอยู่ในขั้นที่ไม่เพียงพอ กระบวนการให้คำปรึกษาตั้งแต่แรกเริ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ค่านิยมและปัญหาเชิงโครงสร้าง : ปัจจัยที่ถูกซุกไว้ใต้พรม
ภาวะความเครียดของนักศึกษาแพทย์ ในแง่หนึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมที่กดดัน ทั้งเรื่องเรียนและหน้าที่ต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาใส่พวกเขาอย่างดุเดือด ส่งผลให้ทั้งเวลาพักผ่อนและตารางนาฬิกาชีวิตผกผันไปจากเดิม
แต่ในขณะเดียวกัน เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่า ในเชิงโครงสร้างการบริหารหลักสูตรแพทย์ รวมถึงแนวทางที่สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลต่างๆ จัดสรรบุคลากรและทรัพยากรในการจัดการความเครียดให้กับนักศึกษาอย่างเพียงพอ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ในมุมที่ลึกไปกว่านั้น สารคดี Do No Harm ที่ว่าด้วยภาวะความเครียดของคนเป็นหมอ ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้หลายข้อ เกี่ยวกับต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรมและค่านิยม ที่สังคมมักมองว่าหมอต้องเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบสามารถทำทุกสิ่งได้เป็นอย่างดี หากแต่ความเชื่อเช่นนี้ กลับทำให้พวกเขาต้องซุกซ้อนความรู้สึกของตัวเอง ตลอดจนปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ระบบบริการสาธารณสุขถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน และเน้นผลลัพธ์ที่ปลายทางเท่านั้น ที่สุดแล้ว ปัญหาจึงซับซ้อนมากกว่าแค่หลักสูตรการเรียนการสอน
นี่อาจเป็นเรื่องที่สังคมเราต้องหันกลับมามองกันอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ภาวะร่างกายและจิตใจของนักศึกษาแพทย์ต้องบอบช้ำมากไปกว่านี้