ทำไมเธอไม่ลงรูปคู่เลยอะ สถานะในเฟซฯ ก็ไม่เห็นเปลี่ยน เอ้า คนนั้นเป็นใคร ทำไมไลก์เก่ง ทำไมไปตอบเค้าอย่างนั้น
นับตั้งแต่เรามีตัวตนในโลกออนไลน์ ชีวิตก็ยุ่งขิงมากขึ้น สำหรับเรื่องความสัมพันธ์บางคนก็รู้สึกว่า รักกันไม่เห็นต้องประกาศเลย แต่พอไม่ประกาศ ไม่ได้แสดงออกชัดเจนในโลกออนไลน์ เลยกลายเป็นว่า โสดรึเปล่า แถมพี่ท่านบางคนก็เป็นคนเฟรนด์ลี่ ใจดี พูดคุยสนทนาต่อเนื่อง เมนต์กันไปเมนต์กันมา… ตกลงแล้วแค่เฟรนด์ลี่หรือแทงกั๊กฮึ!
ด้วยความคลุมเครือของพื้นที่ออนไลน์—ตัวตนและความเป็นส่วนตัวนี้เอง—เลยเกิดประเด็นเรื่อง ‘micro-cheating’ ขึ้นมา เป็นประเด็นประมาณว่า เอ๊ะ การกระทำบางอย่างมันคาบอยู่บนเส้นบางๆ ว่า ไอ้พฤติกรรมแบบนี้มันนับเป็นการ ‘นอกใจแบบเล็กๆ น้อยๆ’ เป็นสัญญาณของการหา second choice, second chance รึเปล่า
บางคนก็บอกว่า ถ้าแอบเอาใจไปเถลไถลได้ก็อาจจะนำไปสู่การลงมือนอกใจจริงๆ ได้สิ ในขณะที่อีกเสียงก็บอกว่า ไอ้เรื่อง micro-cheating มันไม่มีจริงหรอก ความสัมพันธ์มันเป็นเรื่องของคนสองคน เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน มีเส้นแบ่งและกฎเกณฑ์เฉพาะของแต่ละคู่ และที่สำคัญคือ การที่คิดเรื่องความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของกันตลอดเวลามันดูไม่น่าจะใช่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนแต่อย่างใด
Micro-cheating นอกใจแต่ไม่นอกกาย
พอเป็นโลกออนไลน์แล้ว เส้นแบ่งอะไรมันก็เบลอๆ ระหว่างความ ‘ขำๆ ไม่มีอะไรน่า’ กับ ‘เห้ย มีซัมติงแล้วว่ะแกร’ เช่นว่า การไม่ประกาศตัวในเฟซบุ๊กว่ามีแฟนแล้ว การทำตัวเจ้าชู้ เรียกเรตติ้ง การแชตคุยที่แบบ เอ๊ะ…ยังไง แค่เพื่อนมั้ยนะ เพื่อนคุยแบบนี้รึเปล่า ทำไมต้องปิดบัง ไปจนถึงการเล่นทินเดอร์แบบสนุกๆ
หนึ่งในคนที่บอกว่าการทำแบบนี้มันถือว่าเป็นการ ‘นอกใจเล็กๆ น้อยๆ’ อยู่เหมือนกันนะ คือมันอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าตัวเองโสด ตอนนี้ว่างนะจ้ะ บางคนก็บอกว่าจากการกระทำเล็กๆ น้อยพวกนี้ก็อาจเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นการนอกใจหรือแอบสานสัมพันธ์ในเชิงกายภาพต่อจริงๆ
ตรงนี้ก็ต้องยอมรับเนอะ ว่าเส้นแบ่งและพฤติกรรมของแต่ละคน แต่จริงๆ ถ้าคนมันจะนอกใจ มันไม่ได้รักกันจริง สุดท้ายมันก็นำไปสู่การหาคนใหม่ๆ ได้ อีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่จะรู้สึก ‘ต้องใจ’ (attracted) กับคนอื่นรอบๆ ตัว เช่นก่อนนี้เราอาจจะเดินไปกับแฟนเรานี่แหละ แล้วก็รู้สึกว่า โหคนนั้นดีว่ะ ชายตามองแป๊บนึง…แล้วก็จบไป ไม่มีอะไรจริงๆ บางคนก็แค่ชอบบริหารเสน่ห์เฉยๆ บางครั้งไอ้การที่แฟนของเราฮอตนิดๆ ดูเจ้าชู้หน่อยๆ แต่หัวใจยังเป็นของกันและกัน ภักดีต่อกัน มันก็ทำให้ความสัมพันธ์ซู่ซ่าเนอะ
แง่หนึ่งของความกังวลเรื่อง micro-cheating ที่อาจจะเป็นปัญหาต่อการจัดการความสัมพันธ์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘ความหึงหวง’ คือ ต้องระวังว่า เรามีความคิดว่าการมีความสัมพันธ์ต่อกัน คนสองคนต้องผูกติด เป็นเจ้าเข้าเจ้าของกันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเลยไหม จะ ‘ออกนอกลู่นอกทาง’ ไปสักนิดเลยก็ไม่ได้?
นี่แหละคือความไว้ใจ—และความสบายใจของคนที่เรารัก
ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เลยเริ่มออกมาโต้ว่า มันไม่มีหรอกมั้งไอ้ประเด็นว่าถ้าทำแบบนี้แล้วถือว่านอกใจเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ทำได้ แบบนี้ไม่ควรทำ เพราะคนรักแต่ละคู่ก็มีสไตล์ มีระดับความสบายใจต่อพฤติกรรมของอีกฝ่ายต่างกัน ยิ่งความสัมพันธ์ดำเนินไปยาวๆ แล้ว ไอ้เรื่องหึงหวงหรือนอกใจมักตั้งอยู่บน ‘ความไว้ใจ’ และการ ‘จัดการความสบายใจ’ ของอีกฝ่าย
แต่ๆ ดังนั้นจึงกลับมาที่อีกธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์ คือถ้าบอกว่าการแอบมองคนอื่นเป็นเรื่องธรรมดา—การ ‘คิด’ ก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นของธรรมดาที่อีกฝ่ายจะแอบคิด แอบหึงอยู่บ้างในใจ คือแม้ว่าเราจะบอกว่า เฮ้ย เราโอเพ่น เราวางใจว่าสุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรจริงๆ แต่บางทีลึกๆ คนเรามันก็มีแอบคิดกันบ้างว่า หรือมันจะมีวะ หรือความสัมพันธ์กับเราไม่โอเคแล้ว ซึ่งบางทีความรู้สึกเล็กๆ เหล่านี้ก็บ่อนเซาะจิตใจและความสัมพันธ์อยู่ลึกๆ ได้เหมือนกัน
ดังนั้น แม้ว่าทุกอย่างในความสัมพันธ์อาจจะโอเค แต่การที่เราจะเปิดใจบ้าง พูดถึงเส้นบางเส้นบ้างว่า เอ้อ เธอจ๋า ทำแบบนี้เราไม่สบายใจเนอะ ขอความชัดเจนหน่อยดีมั้ย การเปิดใจแบบนี้บ้างก็โอเคเนอะ พูดกันด้วยเหตุผลและหาข้อตกลงร่วมบางอย่างเพื่อความสบายใจของเราทั้งสองคน
สุดท้ายก็กลับมาที่ประเด็นเดิมว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อน micro-cheating อาจจะแค่ประเด็นหนึ่งที่ผุดขึ้นมาเพราะโลกออนไลน์ ในดินแดนกึ่งสาธารณะกึ่งส่วนตัว ในโลกที่เรามีตัวตนอีกรูปแบบหนึ่ง เราจะจัดการเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆ อย่างไร ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัว และความสัมพันธ์กับคนอื่น การนอกใจหรือไม่นอกใจจึงเป็นเรื่องของพฤติกรรมส่วนตัว และที่สำคัญคือการบริหารจัดการทั้งความรู้สึกของตัวเราและความรู้สึกของคนที่เรารักในประเด็นยากๆ ทั้งความไว้ใจ ความสบายใจ และการรักษาตัวตนของเราเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก