เป็นเวลา 1 เดือนแล้วที่ แตงโม – นิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงสาวเสียชีวิตหลังตกจากเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยังปิดคดีไม่ลง และมีการยื่นคดีต่อให้ DSI แล้ว ขณะที่โลกโซเชียลมีแฮชแท็กทวงความยุติธรรมให้กับเธอไม่เว้นแต่ละวัน
ในแง่หนึ่ง แฮชแท็กของชาวโซเชียลเป็นทั้งการกดดันเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้ทำการสืบสวนอย่างแข็งขัน รอบคอบ ห้ามเรื่อยเปื่อยตัดจบโดยทิ้งข้อสงสัยแม้แต่ข้อเดียว แต่ต้องยอมรับว่าอีกแง่หนึ่ง ความพยายามกดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดปรากฎการณ์ “นักสืบโซเชียล” ส่งผลต่อแนวทางการสืบสวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคนในวงการก็เป็นพลเมืองที่เสพโซเชียลเช่นกัน
แต่จะบอกว่าชาวโซเชียลรบกวนกระบวนการสืบและสอบก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะถ้าหากตั้งหลักให้ดี ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีว่า สังคมไทยกำลังเสื่อมศรัทธาต่อวงการสีกากี และคอยจับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยสายตาที่ระแวง ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ
ผ่านมา 1 เดือน เรามองเห็นอะไรจากคดีนี้บ้าง ทำไมโลกโซเชียล มีเดียยังติดแฮชแทกเพื่อถามหาความยุติธรรมให้นักแสดงสาวอย่างน้อย 100k+ ไม่เว้นแต่ละวัน หรือคำตอบอาจกลับมาที่ “การปฏิรูปตำรวจ” อีกครั้ง
เกิดอะไรขึ้นกับนักแสดงสาว
ย้อนคดีความกันเล็กน้อย เวลาประมาณ 22.40 น. ของวันที่ 24 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้รับแจ้งว่ามีหญิงสาวพลัดตกลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับสะพานพระราม 7 พิกัดท่าเรือพิบูลสงคราม จังหวัดนนทบุรี เมื่อเข้าไปตรวจสอบหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า หญิงสาวที่พลัดตกเรือคือ แตงโม-นิดา นักแสดงชื่อดัง
การค้นหาดำเนินไปตลอดวันที่ 25 – 26 ก.พ. กระทั่งเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ก็พบศพของนักแสดงสาวก่อนจะกู้ร่างขึ้นมา แล้วส่งศพไปให้แผนกนิติเวชวินิจฉัยต่อไปถึงสาเหตุการเสียชีวิต
ตลอดระยะเวลาหลังจากนั้น ทุกการขยับเขยื้อนในคดีนี้ได้รับความสนใจอย่างสูงจากสื่อสังคม ไม่ว่ากรณีที่แม่ของนักแสดงสาวพูดผ่านรายการโหนกระแสว่าในเชิงว่า ถ้าให้ประเมินค่าเสียหายอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท กรณีที่ 2 จาก 5 ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ลาอุปสมบทที่วัดท่าไม้ จนถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม
แต่ถ้าสังเกตให้ดี จากประเด็นวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แกนกลางของมันอยู่ที่ความกังขาต่อระบบยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทย ที่มีส่วนทำให้ชาวโซเชียลมีเดียต้องวางเมาส์มาจับแว่นขยาย ช่วยกันเป็นนักสืบเพื่อทวงหาความจริงให้นักแสดงสาว
เหรียญสองด้านของปรากฎการณ์นักสืบโซเชียล
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าปรากฎการณ์นักสืบโซเชียลเป็นเหรียญสองด้าน ทั้งกดดันกระบวนการสอบสวน และสะท้อนความสิ้นไร้ศรัทธาต่อตำรวจ คนหนึ่งที่เห็นอย่างแรกคือ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมที่มองว่าปรากฎการณ์นักสืบโซเชียลทำให้ “เจ้าหน้าที่สืบ/สอบสวนหมุนติ้วเป็นลูกข่าง” จนส่งผลต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวน
แต่อีกมุมหนึ่ง นี่คือภาพภาพสะท้อนเมื่อสังคมขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสืบหาความจริง สิ้นศรัทธาต่อวงการตำรวจ จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว เพื่อกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกรณีหนึ่งที่เห็นชัดที่สุดคือ การเรียกร้องให้ผ่าศพซ้ำ
ย้อนกรณีนี้นิดหนึ่ง ในช่วงแรกเมื่อพบศพนักแสดงสาวมีการรายงานว่า ศพจะถูกพาไปตรวจที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่ก็ถูกเปลี่ยนและพาไปที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ แทน ซึ่งตอนนั้นสังคมก็เริ่มมีความ “เอ๊ะ” บ้างแล้ว
เมื่อผลชันสูตรครั้งแรกออกมาแล้ว ด้านแม่ของดาราสาวก็ร้องเรียนไปยังกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าสังคมยังกังขากับข้อสงสัย 11 จุดขอให้มีการพิสูจน์ศพซ้ำ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับ โดยในการผ่าชันสูตรรอบสอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยเชิญทีมแพทย์จาก รพ.ที่น่าเชื่อถือหลายแห่งเข้าร่วม รวมถึงมีเชิญตัวแทนญาติของผู้เสียชีวิต ทนายความ และ พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่มารดาของแตงโมเคยติดต่อไว้ ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งผลการชันสูตรรอบสองก็ออกมาเช่นเดียวกับรอบแรก
และเมื่อสำรวจแฮชแท็กต่างๆ ที่ออกมาจากคดีนี้ อาทิ #ทวงความยุติธรรมให้แตงโม หรือ #แตงโมต้องไม่ตายฟรี ก็มีเนื้อหาส่วนใหญ่ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิ
“เจ้าพระคุณ เส้นผมก็ไม่เอามาตรวจบอกเค้าหวงผม ตั้งแต่ข่าวออกใหม่ๆ แล้วว่าจะเอาเข้าเครื่องจับเท็จ ล่าสุดออกมาอ้างเหตุผลที่ไม่ใช้เครื่องจับเท็จเพราะงี้ โอ้ยยคดีใหญ่ต่างประเทศเค้าใช้กันทั้งนั้น สุดแล้วคร้าบวงการนี้ #ทวงคืนความยุติธรรมให้แตงโม”
พี่ชายของแตงโม ดายศ เดชจบ ที่ออกมาโพสต์เมื่อคืนว่า “สุดท้ายแล้วถ้าความยุติธรรมที่เราหวังไว้ มันจะไม่เกิดขึ้นจริง ก็ขอให้เขาได้ตายๆตามกันไปกับความยุติธรรมเรา ที่หวังไว้ทั้งหมดกับทุกๆคนที่เกี่ยวข้องนะครับ สาธุ”
ตลอดจนบางคนที่ตั้งคำถามว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อายัดเรือ? เหตุใดไม่อายัดตัวผู้อยู่ในเหตุการณ์ เหตุใดไม่ตรวจแอลกอฮอล์พยานทั้ง 5 คนที่อยู่บนเรือ? เหตุใดทำสำนวนคดีล่าช้า? ตลอดจนมีการเรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำสำนวนคดี รวมถึงแพทย์ที่ทำการชันสูตรศพในครั้งแรกด้วย
นอกจาก กรณีเหล่านี้ยังมีกรณีที่ผู้ใช้โซเชียลออกมาแสดงความเห็นหรือหลักฐาน เพื่อช่วยในการทำคดี เช่น ใน Tiktok ที่ผู้ใช้บางรายออกมายืนยันหลักฐานว่าพบแตงโมนั่งเรือผ่านไปก่อนเสียชีวิต การออกมาถอดรหัสข้อความบนกระดาษที่แม่นักแสดงสาวได้รับ ตลอดจนทนายความและ ส.ส. บางท่านที่ออกมาแสดงทัศนะวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ความพยายามเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของความไม่ไว้เนื้อเชื่อมือตำรวจ ที่ฝังรากลึกลงมากกว่าแค่คดีของนักแสดงสาว
สิ้นไร้ศรัทธาวงการกากี
ในงานวิจัย “การศึกษาภาพลักษณ์ของข้าราชการตำรวจ ในเขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งออกมาเมื่อปี 2561 พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมีความภูมิใจต่อตำรวจค่อนข้างน้อย และภาพลักษณ์ของตำรวจนั้นยังมีทั้งแง่มุมที่ประชาชนมองว่ามีการติดสินบนตำรวจชั้นผู้น้อย มีการใช้เวลาราชการเพื่อหาความสุขส่วนตัว มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ตลอดจนการใช้อภิสิทธิ์จากตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ยืนยันถึงความเห็น และศรัทธาของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถ้าหากจะท้าวความถึงที่มาวิกฤตศรัทธาต่อวงการตำรวจไทยที่เกิดขึ้นในช่วงหลังมานี้ คงต้องขออธิบายโครงสร้างคร่าวๆ ของวงการตำรวจ และคดีความที่สังคมให้ความสนใจ
อนึ่ง สำหรับวงการตำรวจไทยนั้นถูกวิจารณ์มานานว่าเป็น “ลูกไล่การเมือง” ด้วยโครงสร้างที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ทำให้เป็นที่มาของคำวิจารณ์ว่า วงการตำรวจไม่อิสระเท่าที่ควร จึงเกิดการเรียกร้องอย่างสม่ำเสมอให้แยกตำรวจออกจากภาคการเมือง โดยเฉพาะโมงยามที่การเมืองกำลังแหลมคม และทำให้นักเคลื่อนไหว ประชาชน คนรุ่นใหม่ที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองถูกคดีความยัดใส่มือกันเป็นทิวแถว
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดถึงความอิสระของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ (18 ก.ค. 2563 – 28 ก.พ. 2565) มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,787 คน จากทั้งหมด 1,027 คดี
ยังไม่นับ “การคุกคาม” จากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีข่าวให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ เช่นล่าสุดกรณีของ ตะวัน – ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์ตามจนถึงทางยกกระดับ (โดยไม่สวมหมวกกันน็อคอีกด้วย)
นอกจากกรณีที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ยังมีคดีใหญ่ที่ส่งผลต่อศรัทธาต่อวงการตำรวจ เช่น (อดีต) ผู้กำกับโจ้ – พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่คลุมหัวซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต ซึ่งถูกมองว่าสะท้อนความไม่ปกติของกระบวนการสืบสวน และความป่วยของบุคลากรในแวดวงตำรวจ
คดีอาญาของ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา หลานของผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังดัง ที่ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิต แต่ไม่เคยต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหลบหนีไปต่างประเทศเข้าปีที่ 10 แล้ว และคงเงียบต่อไป ถ้าสื่อมวลชนไม่ล้วงลึกจนพบว่ามีการฮั้วะในคดีนี้ ตั้งแต่ชั้นสืบสวน เรื่อยไปจนถึงอัยการ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้เล่นสำคัญทั้งสร้างพยานหลักฐานเท็จ, จงใจเชื่อพยานหลักฐานเท็จ ตลอดจนส่งสำนวนคดีล่าช้า (อ่านข้อสังเกตว่า “ตำรวจช่วยบอสอย่างไร” ทั้ง 7 ข้อ)
หรือคดีหมอกระต่าย ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างชัดเจน เพราะกลาเป็นผู้รักษากฎหมายที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรเสียเอง ไม่ชะลอให้คนข้ามบริเวณทางม้าลาย จนสุดท้ายชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เสียชีวิต
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีที่ถูกพูดถึงในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่มันก็เพียงพอที่จะปลุกเสียงเรียกร้องให้ “ปฏิรูปวงการตำรวจ” ขึ้นมาอีกครั้ง
ปฏิรูปตำรวจอีกครั้งและอีกครั้ง
“ปฏิรูประบบสืบสวนสอบสวน, ปฏิรูประบบนิติเวชศาสตร์ และปฏิรูประบบสิทธิรับรู้ของสาธารณะ โดยเฉพาะเหยื่อ ที่จะรับรู้ความเป็นไปของคดี”
ข้างต้นคือคำกล่าวของ พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และแพทย์ที่ปรึกษาชันสูตรคดีแตงโม ที่กล่าวไว้ในช่วงท้ายของรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา
อันที่จริงข้อเสนอของ พญ.พรทิพย์ ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่เลย (ย.ยักษ์ อีกล้านตัว) เพราะมีการพูดคุยกันประเด็นนี้มาโดยตลอด แต่ไม่สำเร็จเสียที ซึ่งถ้าหากนำข้อเสนอมาขยายความจะเป็น ดังนี้
ทำไมต้องปฏิรูประบบสอบสวน? คำตอบคือเพื่อความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการตรวจหาความจริง ในประเด็นนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และเลขาฯ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ. เคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางปฏิรูปงานสอบสวนไว้ทั้งหมด 4 ประการ
- ประการแรก แยกงานสอบสวนออกมาจากตำรวจ เพื่อความเป็นอิสระ ซึ่งก่อนการรัฐประหารปี 2557 เคยมีการเริ่มทำแล้ว แต่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มองว่า “ยากต่อการควบคุม” ต่อมา คสช. จึงออกคำสั่ง 7/59 ทำให้งานสอบสวนกลับมาอยู่ในมือตำรวจ
- ประการสอง เพิ่มหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวน โดยเฉพาะอัยการ เพื่อป้องกันการเขียนสำนวนคดีส่งอัยการแบบ “นิยายสอบสวน”
- ประการสาม ยกเลิกระบบชั้นยศ เพราะหน้าที่ของตำรวจสอบสวนไม่ใช่การรับฟังคำสั่ง แต่เป็นหน้าที่ในการรักษากฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรม
- ประการสี่ ดึงตำรวจกลับมาสู่กระทรวงมหาดไทยและให้ขึ้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด นี่เป็นข้อเสนออีกมุมหนึ่งในการทวงคืนตำรวจจากฝ่ายการเมือง เพื่อสร้างความอิสระให้ตำรวจ
ทำไมต้องปฏิรูประบบนิติเวช? ในประเด็นนี้มีข้อเสนอจาก พ.ต.อ.วิรุตม์ เช่นกัน โดยเขาเสนอให้ โอนสำนักงานพิสูจน์หลักฐานไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม และสถาบันนิติเวชไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้อำนาจในการทำคดีทั้งหมดอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจจนง่ายต่อการฮั๊วะคดี
ประเด็นนี้ ทางด้าน พญ.พรทิพย์ เห็นด้วยว่า ควรย้ายแผนกนิติเวชไปขึ้นตรงต่อกระทรวงสาธารณะสุขแทน อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบการชันสูตรศพในโลกมีทั้งหมด 3 ระบบคือ ระบบศาล, ระบบนิติเวช และระบบตำรวจ ซึ่งสำหรับประเทศไทยเป็นกรนีอย่างหลัง ซึ่งทำให้การชันสูตรไม่แยกขาดจากตำรวจ และมีโอกาสถูกแทรกแซงได้
เธอเสนอว่า ระบบนิติเวชไทยควรหันมาใช้ระบบ “ศาลชันสูตรศพ” ซึ่งศาลจะเป็นเจ้าภาพเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องมาระบุว่าอะไรบ้างที่ต้องผ่าพิสูจน์ หลักฐานชิ้นไหนควรเทียบกับศพและที่เกิดเหตุ ก่อนประสานต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ทำไมต้องปฏิรูปการเข้าถึงความเป็นไปของคดี? จากข้ออ้างบ่อยครั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “กลัวส่งผลต่อรูปคดี” ซึ่งประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการระบุไว้ในกฎหมายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปกปิดพยานและหลักฐานที่ได้รับ ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าตรงนี้เป็นค่านิยมของวงการสีกากีบ้านเราเอง ที่เกรงกลัวการเปิดเผยอย่างโปร่งใส
ผ่านมา 1 เดือนคดีเสียชีวิตของนักแสดงสาวก็ยังไม่คลี่คลาย ก็ได้แต่หวังว่าคดีจะดำเนินไปอย่างตงฉิน รวดเร็ว และยุติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาเพิ่มเติม และคืนความเชื่อถือให้คนทำงานจริงได้บ้าง
และหลังจากนี้ หวังว่าผู้มีอำนาจจะสังเกต และเริ่มปฏิรูปวงการสีกากีที่ถกเถียงกันมานานเสียที เพื่อคืนเกียรติยศให้ตำรวจสมดาวบนบ่า และคืนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการความยุติธรรมให้สังคมไทย.. สักที
อ้างอิง:
https://thematter.co/brief/168756/168756
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6956428
https://news.thaipbs.or.th/content/307287
https://mgronline.com/specialscoop/detail/9650000028310
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/119386
http://www3.rbac.ac.th/rbacjournal/papersubmission/paperjournal/CT61070198.pdf
Illusttrator By Waragorn Keeranan