โลกของลูกๆ เต็มไปด้วยอันตรายเสมอในมุมมองของพ่อแม่ ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร หรือการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทุกอย่างล้วนน่าเป็นห่วงทั้งนั้น
แต่พ่อแม่ที่เป็นห่วงหรือปกป้องลูกมากเกินไป (overprotective parents) วิธีการเลี้ยงลูกของพวกเขาจะถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและความกังวล กลัวว่าลูกจะได้รับอันตราย กังวลว่าลูกจะไม่ประสบความสำเร็จ หากปราศจากคำแนะนำหรือคำสั่งของพ่อแม่ จนเกิดเป็นความไม่ไว้วางใจ หากลูกจะทำหรือตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง และอยากที่เข้าไปควบคุมทุกอย่างที่พวกเขาทำ
ซึ่งการเลี้ยงลูกแบบนี้ทำให้คนเป็นพ่อแม่สบายใจก็จริง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกๆ นั้นกลับไปในทิศทางตรงกันข้ามเลย
กอดแน่นไปก็อึดอัด
เมื่อโลกเต็มไปด้วยอันตรายและความไม่แน่นอน ในฐานะผู้ปกครองก็ควรเป็น ‘ไกด์’ ชี้นำทางให้กับลูกๆ ที่เพิ่งจะเผชิญโลกได้เพียงไม่กี่ปี แต่หลายครั้งการชี้นำก็กลายเป็นการบังคับ เพราะมันง่ายกว่าที่จะควบคุมให้ลูกๆ เดินตามทางที่ตัวเองกำหนดไว้ ซึ่งเป็นทางมองแล้วคิดว่าดี เหมาะสม ถูกต้อง เช่น เช็กพฤติกรรมลูกตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน กำหนดว่าควรคบเพื่อนคนไหน ลงเรียนพิเศษให้โดยไม่ได้ถาม หรือคิดแทนว่าลูกๆ จะต้องเรียนอะไร ทำกิจกรรมอะไร โดยต่างประเทศมีศัพท์แสลงที่เรียกว่า Helicoptering (helicopter + parenting) หมายถึงพ่อแม่ที่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดจนเกินไป ทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม เหมือนเฮลิคอปเตอร์ที่บินโฉบอยู่เหนือหัวลูกๆ เพื่อคอยดูแลควบคุมอยู่ตลอดเวลา
และไม่เพียงแต่อยากจะให้ลูกปลอดภัยตามลู่ทางที่ตัวเองกำหนดไว้ ในฐานะคนที่ผ่านโลกมาก่อน พ่อแม่บางคนก็ไม่อยากลูกเผชิญกับความล้มเหลว เพราะรู้ดีว่าความล้มเหลวนำมาสู่ความรู้สึกที่เจ็บปวด จนทำยังไงก็ได้เพื่อให้พวกเขาประสบความสำเร็จมากที่สุด แม้ว่านั่นจะหมายถึงการตั้งกฎระเบียบที่เข้มงวด หรือบทลงโทษที่หนักก็ตาม
ในขณะที่พ่อแม่มองว่านี่คือ ‘ความหวังดี’ หรือสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรมอบให้แก่ลูกๆ แต่พวกเขากลับรู้สึกอึดอัด เพราะถูกความคาดหวังมัดรอบชีวิตอยู่ตลอดเวลา และทุกก้าวที่เดินในเส้นทางของชีวิตก็เต็มไปความกังวลว่าจะทำอะไรผิดพลาดหรือเปล่า จนเริ่มมีพฤติกรรมการโกหกหรือปกปิด หากรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ตรงตามความพึงพอใจของพ่อแม่ แต่ตรงตามความพึงพอใจของตัวเองมากกว่า
และการที่พ่อแม่กังวลว่าลูกจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง จนก้าวก่ายทุกการกระทำหรือการตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง พวกเขาอาจเติบโตมาด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลที่จะยืดหยัดบางอย่างเพื่อความต้องการของตัวเอง กลัวการทำอะไรใหม่ๆ หรือไม่กล้าเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งพวกเขาก็จะไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะด้านการปรับตัวจากความผิดพลาด หรือไม่มีทักษาะการแก้ไขปัญหา แม้แต่กับเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันเองก็ตาม และเมื่อวันหนึ่งที่พวกเขาไม่มีพ่อแม่อยู่เคียงข้างแล้ว พวกเขาอาจต้านทานต่อความล้มเหลว ความผิดพลาด หรือความผิดหวังได้ยาก เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เรียนรู้หรือคุ้นชินกับความรู้สึกเหล่านี้เท่าที่ควร
ห่วงอย่างไรให้พอดี
หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่กำลังอ่านอยู่ เกิดรู้สึกผิดหรือคิดว่าที่ผ่านมาตัวเองเข้มงวดกับลูกเกินไป อยากให้รู้ไว้ว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เราจะเป็นห่วงคนที่เรารัก และอยากให้พวกเขาพบเจอแต่สิ่งดีๆ บนโลกที่ไม่แน่นอนนี้ แต่ถึงแม้โลกใบนี้จะยังใหม่สำหรับพวกเขา โลกที่มีลูกๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ก็นับว่าเป็นโลกที่ใหม่สำหรับคนเป็นพ่อแม่เช่นกัน ไม่แปลกเลยหากเราจะเผลอทุ่มความเป็นห่วงหรือความใส่ใจทั้งหมดไปให้ โดยที่ประเมินไม่ถูกว่านั่นมากเกินไปหรือกำลังทำให้ใครอึดอัดอยู่หรือเปล่า
ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เราสื่อสารความเป็นห่วงออกมาได้ชัดเจน และช่วยประเมินความพอดีของความเป็นห่วงนั้นได้ มีเพียงแค่วิธีง่ายๆ อย่าง ‘การพูดคุย’ และ ‘การรับฟัง’ เท่านั้นเอง แต่จะพูดคุยยังไงให้เข้าใจกันหรือไม่เกิดความขัดแย้งมากกว่าเดิม?
บางคนอาจรู้จักหรือเคยได้ยินคำว่า I-Message กันมาบ้าง ซึ่งก็คือการสื่อสารเชิงบวกรูปแบบหนึ่งที่เน้นความรู้สึกหรือความต้องการของผู้พูดเป็นหลัก เช่น แม่รู้สึกเป็นห่วงที่ลูกกลับบ้านดึก หรือพ่ออยากให้ลูกโฟกัสกับการเรียนมากขึ้น แทนที่จะจู่โจมอีกฝ่ายด้วยการบอกว่าเขาเป็นแบบไหน ทำอะไรผิดมา เช่น ทำไมถึงชอบกลับบ้านดึก หรือลูกไม่ตั้งใจเรียนเลย ซึ่งคนฟังจะรู้สึกว่าตัวเองถูกตำหนิ และปิดกั้นการสนทนามากกว่าเดิม แม้ว่าจุดประสงค์ของการสื่อสารจะเหมือนกันก็ตาม แต่การเปลี่ยนไปพูดอีกแบบ จะสามารถเปลี่ยนความรู้สึกของผู้ฟังได้
นอกเหนือจากนั้นคือการรับฟังที่ถูกวิธี ซึ่งก็คือการรับฟังแบบ ‘ไม่ตัดสิน’ ความคิดหรือความเชื่อของลูกๆ ว่าไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง หากเราเปิดใจที่จะรับฟังแบบไม่ตั้งแง่หรือมีท่าทีปิดกั้น เราจะรู้ว่าความรู้สึกหรือความต้องการจริงๆ ของพวกเขาคืออะไร โดยที่บางทีอาจไม่ต้องถามจี้จุดเลยก็ได้
มะเฟือง–เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดและเจ้าของเพจ Beautiful Madness by Mafuang แนะนำว่า “ลองคุยเรื่องขอบเขตความสบายใจกับลูกๆ และอย่าลืมถามตัวเองว่าเราอยากเข้มงวดกับพวกเขาเพราะอะไร เพราะเป็นห่วงใช่มั้ย แล้วมีวิธีอื่นมั้ยที่จะแสดงออกความเป็นห่วงโดยที่ไม่ก้าวก่ายความสบายใจของเขา อาจจะคุยกันว่าพ่อแม่เป็นห่วงเรื่องนี้ ทำยังไงกันดี ลองคุยกันไปเรื่อยๆ เพื่อหาตรงกลางร่วมกัน แทนที่จะไปก้าวก่ายความสบายใจของพวกเขา การทำแบบนั้นจะทำให้ลูกๆ สูญเสียความเชื่อมั่นใจตัวพ่อแม่ไป และพวกเขาจะต้องแบกความรู้สึกนี้ไปใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วย
ไม่ว่าจะเด็กขนาดไหน
คุณก็ต้องเคารพความรู้สึกของเขาด้วย
คุณไม่มีสิทธิ์ที่ใช้ความเป็นพ่อแม่
ลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ความสบายใจของลูก
“ถ้าสมมติว่า คุณรู้สึกเครียดหรือบอกว่าตัวเองเป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ชนิดที่ว่า ลูกต้องอาบน้ำตอนนี้เท่านั้น ต้องออกจากบ้านตอนนี้เท่านั้น ถ้าไม่ได้จำเป็นจริงๆ ความคาดหวังนี้คือสิ่งที่คุณต้องจัดการกับมันด้วยตัวเอง ลูกไม่ควรจะต้องมาแบกรับ เพราะมันไม่แฟร์มากๆ ลูกก็มีสิทธิ์ที่จะมีความคิด และความคิดของเขาก็มีค่าเหมือนกัน
และถ้าหากบ้านที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลายเป็นพื้นที่อึดอัดใจสำหรับลูก วันหนึ่งพวกเขาอาจจะเลือกหันไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นแทน ซึ่งเราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า คนนั้นจะให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำที่เหมาะสมกับพวกเขาหรือเปล่า และอะไรๆ อาจจะแย่ไปกว่าเดิม โดยที่เราไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย
โลกใบนี้ยังใหม่สำหรับลูกๆ และก็ยังใหม่สำหรับพ่อแม่ที่เพิ่งจะมีลูกเช่นกัน ทำไมเราไม่ลองเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับพวกเขา ให้พวกเขาได้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยที่มีเราคอยอยู่เคียงข้าง ให้คำแนะนำบ้าง ตักเตือนบ้าง สนับสนุนบ้าง เพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางความคิดและพฤติกรรมให้กับพวกเขา โดยที่ยังมีความเป็นห่วงเป็นใยของเราโอบอุ้มไปด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก