ถ้าเป็นปัญหาด้านการเรียน ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามช่วงวัย พ่อแม่อาจจะพอรู้ว่าช่วงเวลาไหนจะมานั่งจับเข่าคุยกับลูกได้ แต่พอเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ในครอบครัว เราควรมีบทสนทนาเหล่านี้กับลูกด้วยหรือเปล่า?
ไมเคิล เลียร์ช (Michael Liersch) หัวหน้าฝ่ายวางแผนและให้คำแนะนำด้านความมั่งคั่งของ J.P. Morgan Private Bank ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่าเราไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาด้านการเงินในครอบครัวจะเกิดขึ้นตอนไหน แถมไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นตามช่วงวัยของลูกๆ แต่การพูดคุยกันเป็นระยะก็อาจจะทำให้พวกเขาวิตกกังวลน้อยกว่าการเปิดเผยทุกอย่างออกมาแบบไม่ทันตั้งตัว นอกจากนี้ วิลเลียม ที. ลาฟองด์ (William T. LaFond) หัวหน้าฝ่ายความมั่งคั่งของครอบครัวที่ Wilmington Trust ยังมองว่าครอบครัวที่สามารถรักษาและส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นไว้ได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการพูดคุยและให้ความรู้เรื่องเงินกับลูกหลานของพวกเขา
แต่ถ้าต้องเริ่มคุยเรื่องนี้ในบ้าน เด็กและผู้ปกครองควรจะสื่อสารกันแบบไหน และเราควรรับมืออย่างไร เมื่อรู้ว่าที่บ้านกำลังมีปัญหาด้านการเงิน? The MATTER ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกันกับบทสัมภาษณ์ พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่องการเงินภายในบ้าน เป็นเรื่องที่ควรจะพูดคุยกันในครอบครัวหรือเปล่า?
ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะต้องปิดบังกันนะ ถ้าพ่อแม่หรือครอบครัวมีปัญหาเรื่องการเงิน ในที่สุดก็อาจจะมีผลกระทบต่อลูกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เด็กน่าจะร่วมรับรู้ได้ในขอบเขตที่เหมาะกับวัยเขา
ในเด็กเล็กๆ ต่ำกว่าวัยประถม เราอาจจะอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ยาก แต่พอโตขึ้นมา ช่วยวัยประถมแล้ว เด็กก็พอจะรับรู้ได้บ้างว่าเกิดอะไรในครอบครัว แต่ก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจมากนัก ส่วนวัยรุ่นอาจจะรับรู้และมีส่วนร่วมได้มากขึ้น บางคนก็มีส่วนร่วมในการเข้าใจ บางคนก็อาจจะช่วยเหลือทางบ้านได้ ขึ้นอยู่กับว่าลูกเรามีอายุขนาดไหน ตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสดีที่ทำให้ครอบครัวได้มานั่งคุย สื่อสารกัน ร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกตินะครับ ดีกว่าจะปิดบังแล้วเด็กอาจจะงงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมพ่อแม่ถึงรู้สึกเครียดกัน
แล้วบางทีปัญหาก็ไม่ได้มาจากพ่อแม่ แต่อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ครอบครัวไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างช่วง COVID-19 ที่รายได้ลดลง ยิ่งเด็กวัยรุ่นก็น่าจะรู้ว่าลดลงเพราะอะไร เขาเองมีส่วนช่วยครอบครัวได้ยังไง แบบนี้เด็กก็จะเต็มใจช่วยเหลือครอบครัวมากกว่าถูกบังคับให้ลดค่าใช้จ่าย
แต่ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่มีงานทำแล้ว เขาอาจจะมีส่วนร่วม ช่วยเหลือได้ แต่ก็ต้องให้เขามีส่วนร่วมเสนอด้วยตัวเองมากกว่าจะไปบังคับ ไปสั่งเขา เพราะลูกโตแล้ว เขาก็มีชีวิต มีแผนการของเขาเอง พ่อแม่ก็ควรจะต้องให้อิสระเขาในการวางแผนชีวิตของตัวเอง
ในมุมพ่อแม่ ควรสื่อสารยังไงให้ลูกเข้าใจ แต่ไม่รู้สึกเครียดจนเกินไป
ผมคิดว่ามันจะมีสองส่วนที่เราน่าจะสื่อสารกับลูก หนึ่งคือสถานการณ์ตอนนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร สาเหตุคืออะไร อันที่สองคือการหาทางคลี่คลาย ในเด็กชั้นประถม นอกจากพ่อแม่จะเล่าให้เขาฟังว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว ก็น่าจะถ่ายทอดด้วยว่าพ่อแม่มีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง เราก็คงมีแผนอยู่ว่าเราจะทำอย่างนี้ ทีนี้พอลูกเป็นวัยรุ่นก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาอีกได้ในระดับหนึ่ง ก็ชวนเขาคิดไปด้วยว่าเขาจะมีส่วนร่วมได้ยังไง เช่น บางคนเขาก็อาจจะยอมตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของตัวเองเลยนะ แต่การลดแบบที่วางแผนด้วยกัน เหตุผลตรงนี้เป็นเหตุผลที่ทุกคนยอมรับได้ มันก็จะมีความรู้สึกดีและเต็มใจที่จะทำมากกว่าที่จะไปลด ไปห้ามเขาทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล
ผมคิดว่าในช่วงวัยรุ่น ถ้าชวนเขามาร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาด้วย แบบนี้ก็เป็นการฝึกให้เขามีทักษะการแก้ปัญหา เพราะเด็กจะได้เรียนรู้จากพ่อแม่ด้วยว่าเรามีวิธีการแก้ปัญหากันยังไง บางครั้งวัยรุ่นก็อาจจะมีข้อคิด มีข้อเสนอที่ช่วยเสริมกับพ่อแม่ด้วยนะ แล้วถ้าแก้ไขได้สำเร็จ เด็กก็จะเรียนรู้ไปเลยว่าวิธีการแก้ไขเป็นแบบนี้ ได้ทัศนคติด้านบวกต่อการเผชิญปัญหา คือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เขาพร้อมที่จะแก้ไข มีทางออก มีการวางแผนร่วมกัน แบบนี้ถึงจะเครียด ก็เครียดไม่มาก เพราะเป็นความเครียดแบบมีความหวัง
ถ้าลูกเริ่มรับรู้ว่าที่บ้านอาจจะมีปัญหาด้านการเงิน แต่ผู้ปกครองไม่เคยพูดถึงปัญหานี้เลย ในฐานะลูกสามารถถามพ่อแม่ได้ไหม
ถ้าเรามีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้ว มีเรื่องอะไรก็คุย ปรึกษากันเรื่อยๆ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้ก็จะทำให้มันง่ายขึ้นเวลาเริ่มต้นคุยเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าเราสังเกตว่าคนในบ้านเราไม่สบายใจ การถามความคิด ความรู้สึก หรือเหตุการณ์เหล่านี้ บางครั้งก็ช่วยให้เกิดการเปิดเผยได้นะ คือบางทีไม่ถามก็ไม่บอก พอถามก็อาจจะเล่าก็ได้
ส่วนครอบครัวที่ไม่ค่อยพูดคุยกัน อาจจะเริ่มจากสื่อสารเรื่องทั่วไปให้ได้ก่อน คุยเรื่องปกติ ถามสารทุกข์สุขดิบกันจนกระทั่งเรารู้สึกคุ้นเคยแล้ว ต่อไปเรื่องยากๆ มันจะง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่คุยกันเลย อยู่ๆ จะไปถามเลย อาจจะยากเกินไป ต้องค่อยๆ ฝึกก่อน
พอรับรู้ปัญหาแล้วรู้สึกเครียด เราจะสามารถรับมือกับความเครียดเหล่านี้ได้ยังไงบ้าง
ถ้าปัญหานั้นเราแก้ไขได้ เราก็จัดการที่สาเหตุเลย แต่ถ้าเราแก้ที่ตัวปัญหาไม่ได้ เราอาจจะคุยกัน แบ่งปันกันในครอบครัว ปัญหาบางเรื่องมันแก้ตรงต้นเหตุไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่การรับฟังก็ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ถ้าพ่อแม่ได้เล่าเรื่อง ลูกได้ฟังแบบตั้งใจ พ่อแม่ก็จะรู้สึกว่าส่วนหนึ่งก็ดีแล้วที่มีคนรับฟัง ลูกก็จะเข้าใจปัญหามากขึ้น ตรงนี้ระดับอารมณ์ ความเครียด ความกังวลมันก็จะลดลงไป แต่ถ้าคุยกับที่บ้านไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะเป็นคนอื่นๆ ที่ตั้งใจฟังเราจริงๆ ก็อาจจะช่วยให้เราผ่อนคลายไปได้ระดับหนึ่ง
หรือเราอาจจะมาดูว่าเรามีวิธีจัดการกับความเครียด จัดการกับอารมณ์ตัวเองยังไงได้บ้าง บางครั้งเราก็ผ่อนคลายได้นะ ทั้งๆ ที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ อาจจะมีกิจกรรมเบนความสนใจไปชั่วคราวก่อน ไม่ใช่หนีปัญหานะครับ เพราะผ่อนคลายเสร็จแล้ว เราก็กลับมาแก้ปัญหาต่อ บางทีอาจจะมีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นกว่าตอนที่เครียดก็ได้
ผมคิดว่าถ้าเราใช้ไปตามลำดับ เริ่มจากการรับฟังกันก่อน เสร็จแล้วมาจัดการกับอารมณ์ของเรา เริ่มคิดหาทางแก้ปัญหาภายในของเราได้ก่อน เสร็จแล้วก็ไปหาตัวช่วยข้างนอก พอเป็นขั้นตอนแบบนี้ ผมเชื่อว่าปัญหาส่วนใหญ่ก็น่าจะคลี่คลายได้นะ
บทสนทนาแบบไหนที่จะช่วยให้คนที่กำลังเผชิญปัญหารู้สึกดีขึ้นได้
ผมคิดว่าทักษะในการรับฟังสำหรับคนที่มีความทุกข์สำคัญนะ อย่างแรกคือรับฟังอย่างเข้าใจ ตั้งใจฟังแบบไม่ต้องไปตัดสินเขา ไม่ไปสอนเขาก่อน แม้ว่าเราจะคิด จะรู้สึกไม่เหมือนเขา เพราะเขาได้ระบายก็จะรู้สึกดีขึ้นแล้วล่ะ คำพูดของเราก็อาจจะแค่สะท้อนความรู้สึกของเขา เช่น คุณคงรู้สึกกังวลเรื่องนี้มากนะ คุณคงรู้สึกเบื่อ รู้สึกเศร้า รู้สึกเสียใจ หรือสะท้อนความคิดของเขานะ เช่น คุณรู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบเลยรู้สึกโกรธ รู้สึกเสียใจ แบบนี้ก็เป็นเทคนิคในการตอบสนองตอนรับฟัง
คนที่พยายามจะไปสอนเขาว่า เธอต้องทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ ยิ่งไปเพิ่มความกดดัน เพราะส่วนใหญ่คนที่กำลังมีความทุกข์อยู่ เขาไม่อยากฟังหรอก ยิ่งคนแนะนำแต่ทำไม่ได้ ยิ่งเหมือนเราไม่เข้าใจเขา ไม่ได้ฟังเราจริงๆ เขาเลยไม่อยากเล่า หรือบางคนพอแนะนำ แต่ไม่ทำตามแล้วรู้สึกโกรธ ซึ่งเราเจอในหลายๆ ครอบครัว พ่อแม่เวลาที่ลูกมาเล่าให้ฟัง แล้วรีบสอน รีบว่า เด็กก็เลยรู้สึกว่าวันหลังไม่อยากพูดแล้ว เพราะพูดไปก็รู้สึกโดนเขาดุ พอไม่คุยกัน ทักษะในการพูด การรับฟังกันก็เลยหายไปด้วย
คนเราพอมีคนสะท้อนความรู้สึกได้ตรง ก็จะรู้สึกดีแล้วว่ามีคนเข้าใจฉัน แต่ถ้าไม่แน่ใจอาจจะถามว่า คุณรู้สึกยังไงบ้างเวลาพูดถึงเรื่องนี้ เขาก็จะบอกว่ารู้สึกเครียด เสียใจ เศร้า อันนี้ก็เป็นการระบายแล้ว สรุปก็คือ ฟัง สะท้อนความคิดความรู้สึกเขา ถามความคิดความรู้สึกเขา เท่านี้ครึ่งหนึ่งของปัญหาก็ดีขึ้นแล้ว
Illustration by Krittaporn Tochan