เรามักจะบ่นกันถึงประเด็นปัญหาของ ‘การศึกษา’ และมักพูดกันว่า บ่อยครั้งที่ผลผลิตของเราจำกัดอยู่แค่การท่องจำ จริงๆ แกนหนึ่งของการศึกษาน่าจะเป็นการติดเครื่องมือในการทำให้รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม ตรงนี้เองที่วิชาปรัชญากลายมาเป็นวิชาหนึ่งในการเรียนการสอน อย่างน้อยก็ในระดับปริญญาตรี แต่ในตอนนี้ต่างประเทศเองมีการตื่นตัวกันว่า เอ๊ะ หรือวิชาปรัชญาที่ดูหนักๆ ควรจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา โดยให้เริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียนกันเลยทีเดียว
ประเด็นที่นักปรัชญาและนักการศึกษาเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการคิดของเด็กๆ เริ่มตั้งแต่ในสมัยกลางทศวรรษ 1960s Matthew Lipman นักปรัชญาชาวอเมริกันไม่พึงใจว่าทำไมนักศึกษาปริญญาตรีในสาขาของตัวเองถึงไม่สามารถคิดเชิงวิพากษ์(critical thinking) ไม่สามารถสร้างข้อโต้แย้ง ให้เหตุผลสนับสนุนที่ดีได้ แถมในยุคนั้นกำลังเกิดกรณีสงครามเวียดนาม เขาก็เห็นว่า ขนาดคนที่มีการศึกษาหรือคนทำงานเองก็ดูจะไม่สามารถถกเถียงกันแบบได้เรื่องได้ราวเท่าไหร่ ดังนั้นด้วยความไม่พอใจกับระบบการศึกษานี้ เขาเลยเริ่มเสนอว่า ในโรงเรียนต้องรับเอาวิธีการทางปรัชญาเข้าไปในแผนการเรียนการสอนด้วย โดยเรียกว่า ‘P4C’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘Philosophy for Children’ หรือ ปรัชญาเพื่อเด็ก
โครงการ P4C เป็นโครงการเก่าแก่ ไม่เชิงว่าเป็นการสอนปรัชญาในโรงเรียน แต่เป็นการที่คุณครูจะผนวกวิธีการแบบปรัชญา เช่น การกระตุ้นให้ตั้งคำถาม มีการเปิดโอกาสให้โต้แย้งถกเถียง ไปจนถึงการใช้พวกคำถามเชิงปรัชญาต่างๆ ชวนเด็กๆ ขบคิดถึงความหมายและพยายามทำให้สนอกสนใจโลกใบนี้มากขึ้น เป้าหมายของการเรียนการสอนแบบนี้ไม่ได้เน้นการสอนให้เถียงชนะ แต่เป็นการฝึกฝนให้เด็กๆ รู้จักใช้เหตุผลและประเมินสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงยอมรับการโต้เถียงโดยไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และที่สำคัญคือ ไม่ด่วนสรุปอะไรง่ายเกินไป
ฟังดูแล้วก็เป็นทักษะที่จำเป็นมากๆ และเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนขัดเกลากันตลอดชีวิต ดังนั้นการสอนและฝึกฝนตั้งแต่สมัยเด็กๆ ในโรงเรียนก็เลยดูจะเป็นการวางรากฐานที่จำเป็นอยู่เหมือนกัน
เด็กๆ จะคิดอย่างปรัชญาได้จริงไหม
ในปีค.ศ. 1933 มีทฤษฎีของ Jean Piaget กล่าวว่า เด็กๆ ช่วงอายุก่อน 11-12 ปีไม่สามารถคิดเชิงปรัชญาได้หรอก Jean บอกว่าเด็กอาจจะยังไม่ได้คิดถึงการคิด (thinking about thinking) และมองอีกว่าเด็กน่าจะยังไม่สามารถรับรู้หรือคิดอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนในทางปรัชญาได้
แต่นักปรัชญา Gareth Matthews บอกว่า เฮ้ย คุณอาจจะประเมินเด็กน้อยต่ำไป ในมุมมองของนักปรัชญา Gareth เห็นว่าเด็กๆ กลับเต็มไปด้วยการมองโลกและการคิดแบบปรัชญาอยู่เสมอ ตรงนี้ถ้าเราคุ้นๆ ก็อาจจะเคยสะดุดกับคำพูดบางคำของเด็กที่ถ้าเราคิดอย่างจริงจังก็จะพบว่า นี่ลูกหลานหรือนักปรัชญามาพูดเองเนี่ย
Gareth ยกตัวอย่างความช่างสงสัยและการคิดเชิงเปรียบเปรยของเด็กๆ ไว้ในหนังสือเมื่อปีค.ศ. 1980 เช่นว่า น้องทิมกำลังเลียๆ จานอยู่แล้วถามพ่อว่า “พ่อจ๋า เราจะรู้ได้ยังไงว่าทุกอย่างไม่ใช่ความฝัน” โอ้โห นี่มันคำถามเดียวกับที่นักคิดยุคหลังและหนังแมททริกซ์กำลังชวนให้เราสงสัยเกี่ยวกับ ‘ความเป็นจริง’ ที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่กันเลยทีเดียว หรือเด็กน้อยที่สังเกตว่าเครื่องบินเมื่อพ้นสายตาไปแล้วมันดูเล็กลง พอได้ขึ้นเครื่องบินครั้งแรก ตอนลงจากเครื่อง หนูลูกก็ตั้งข้อสังเกตว่า บนเครื่องบินก็ไม่ได้เล็กลงอย่างที่เห็นเนอะ
จากนั้นนักปรัชญาก็เริ่มเห็นว่า ‘ปรัชญา’ อาจจะเป็นเรื่องใกล้ชิดกับเด็กๆ กว่าที่คิด
นวนิยายเพื่อการคิดของ Matthew Lipman
ในช่วงภาวะสงครามและโลกสมัยใหม่เริ่มทำให้ผู้คนงงงวยว่าอะไรถูกอะไรผิด Matthew Lipman นักปรัชญาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Columbia พบว่านิสิตนักศึกษาไม่ค่อยมีทักษะในการใช้เหตุผลได้ดีเท่าที่ควร Matthew เลยมองว่าสังคมนี้ต้องได้รับการฝึกฝนเรื่องการใช้เหตุผลโดยการสอนวิชาที่ว่าด้วยตรรกะ (logic) ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนเด็กๆ กันไปเลย
ความรับผิดชอบต่อสังคมของ Matthew ก็สูงยิ่ง ถึงขนาดลาออกจากมหาวิทยาลัย Columbia ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำเพื่อไปสอนที่ Montclair State College มหาวิทยาลัยประจำรัฐ (เน้นให้ความรู้กับคนทั่วไปในราคาที่ไม่แพง) และในเมื่อเขาอยากสอนปรัชญาให้เด็กๆ ในปีค.ศ. 1947 Matthew จึงออกนิยายสำหรับเด็กชื่อ Harry Stottlemeier’s Discovery เป็นนวนิยายสำหรับเด็กที่ดำเนินเรื่องโดยสร้างให้กลุ่มเด็กๆ ไปเจอกับเหตุการณ์ทั่วๆ ไปแล้วก็ชวนกันขบคิด ตั้งคำถามต่อเนื่องกันไปยาวๆ
หลังจากนั้น Matthew ก็ยังพยายามผลักดันว่าการคิดเชิงวิพากษ์มันสำคัญและควรผลักดันเข้าหลักสูตร เขาผลักดันจนกระทั่งมีการประชุมวาระใหญ่ในปีค.ศ. 1987 เพื่อพิจารณาประเด็นทางปรัชญาสำหรับวัยก่อนมหาวิทยาลัย(pre-college) ในการประชุมนั้นมีข้อสรุปของคำว่า ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ ไว้คือ การพิจารณาอย่างมีเหตุผลว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร (reasonable reflective thinking that is focused on deciding what to believe or do) ในการประชุมนั้น Matthew เริ่มเสนอให้ทางหลักสูตร K-12 รับเอาวิธีการทางปรัชญาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละวิชาด้วย
จากการผลักดันตั้งแต่ทศวรรษ 1900s ที่มีรากฐานสำคัญคือการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการที่ครูมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ห้องเรียนจึงได้รับการออกแบบโดยใช้วิธีการทางปรัชญาที่ไม่ได้เป็นการสอนทางเดียว แต่ครูมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กๆ คิดและพูดคุย ชวนตั้งคำถามและค่อยๆ คุยกับเด็กๆ ว่าการใช้เหตุผลนั้นเป็นอย่างไร
เจ้าแนวคิด P4C น่าจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและเพิ่มเป้าหมายของการให้การศึกษาเพื่อฝึกฝนกระบวนการการคิดและการให้เหตุผล สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับบรรดาคุณครูว่าเป้าหมายเพิ่มเติมนี้คืออะไร และครูจะนำพาเด็กๆ ไปสู่การถกเถียงและการเปิดใจกว้างได้ยังไง ทาง P4C เองก็มีแนวทางเสนอไว้ค่อนข้างละเอียด เช่น การชวนถกประเด็นต่างๆ จะเลือกถกประเด็นไหนดี มีวิธีการใช้ภาษา วิธีการชวนเด็กคิด หรือวิธีการชวนเด็กคุยอย่างไร ไปจนถึงการเลือกใช้สื่อการสอนต่างๆ ทั้งหนังสือภาพ การ์ตูน หรือเรื่องราวรอบตัวเพื่อนำมาตั้งคำถามในห้องเรียนด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก