27 จาก 36 เสียงคือคะแนนที่ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” ได้รับจากการเลือกตั้งประธานสภานิสิตจุฬาฯคนใหม่ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชื่อของเขาปรากฏบนเนื้อหาข่าวหลายสำนัก ถ้ายังจำกันได้ เขาเคยออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา ตลอดจนประเด็นใหญ่ๆ ของสังคม เช่น เรื่องเกณฑ์ทหารและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ในจังหวะที่เนติวิทย์กำลังเดินเข้ามาสู่บทบาทใหม่ เราชวนว่าที่ประธานสภานิสิตฯคนนี้มาคุยกันถึงเหตุผลของการเข้าไปเล่นการเมืองในมหาวิทยาลัย จุดยืนต่อกิจกรรมรับน้อง (ที่เปลี่ยนไป) และคำถามที่ว่าอะไรคือความหวังของเขาต่อสังคมที่คนรุ่นใหม่หลายคนถอดใจไปแล้ว
THE MATTER : ทำไมถึงลงสมัครเป็นประธานสภานิสิต
เนติวิทย์ : ผมเห็นว่าประเทศเราอยู่ในช่วงที่เกลียดชังนักการเมืองมายาวมาก ถึงแม้อยู่ในคณะรัฐศาสตร์ก็เห็นนิสิตจำนวนมากไม่ชอบการเมือง ไม่ชอบการล็อบบี้ เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรกของคนเลว เลยไม่แปลกใจที่การเมืองถึงเอาทหารเข้ามา เมื่อก่อนผมก็ไม่ชอบการเมือง แต่พอประเทศเป็นแบบนี้ก็เลยคิดได้ว่า ทำไมเราไม่ไปสมัครเพื่อทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่ดีล่ะ ทำให้การเมืองที่มีคุณภาพมันกลับมา มันก็คือการลงไปเล่นการเมืองนั่นแหล่ะ
THE MATTER : อาการเบื่อการเมืองของคนในมหาวิทยาลัยมันมาจากไหน
เนติวิทย์ : เพราะส่วนหนึ่งไม่เข้าใจว่าการเมืองมันเชื่อมโยงกับชีวิตพวกเขาไง เอาจริงๆ ศาสตร์ทุกศาสตร์มันก็เกี่ยวกับการเมืองหมดนะ เราสอบเข้ามาที่จุฬาฯก็เป็นเรื่องการเมือง เพราะมันมีเส้นสาย จบจุฬาฯไปก็ได้ไปทำงานที่นั่นที่นี่ และถ้าหากย้อนกลับไปดูที่ประวัติศาสตร์เราก็จะพบว่า คนในจุฬาฯก็มีความเชื่อมโยงกับการเมืองเหมือนกัน แต่โรงเรียนไม่สอนให้คนเข้าใจการเมือง ครูอาจารย์เกลียดชังการเมือง เวลาคุยกับครูก็ไม่อยากคุยเรื่องการเมือง เพราะมันกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีมารยาทหรือไม่ก็ซีเรียสเกินเหตุ
THE MATTER : ก่อนลงสมัครประธานสภานิสิตได้ปรึกษากับใครบ้าง
เนติวิทย์ : ไม่มีนะ อาจคุยกับเพื่อนที่ร่วมอุดมการณ์บ้าง แต่คนที่นี่ไม่ชอบการเมือง คือเขาไม่เข้าใจ ไม่ประสีประสาทางการเมือง
THE MATTER : ได้รับตำแหน่งแล้วจะทำอะไรต่อไปบ้าง
เนติวิทย์ : ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพราะถ้าย้อนกลับไปดูที่สภานิสิตฯแล้วเนี่ยปัญหาคือคนไม่รู้จัก รู้จักกันแต่ อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ) เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือกู้ภาพลักษณ์ที่ดีของสภากลับมาก่อน ผมอยากให้สภานิสิตที่อยู่ในคณะต่างๆ ต้องลงไปดูปัญหาของเพื่อนในคณะให้ได้ว่าเขาขาดอะไร ครูอาจารย์เป็นยังไง แล้วระบบประเมินของจุฬาฯก็ห่วยใช่ไหม เราก็จะสร้างเว็บไซต์ที่ทำให้ระบบการประเมินมันโปร่งใสขึ้น นี่ก็เป็นโปรเจกต์ที่เราสามารถทำได้
THE MATTER : บรรยากาศตอนเลือกตั้งสภานิสิตเป็นยังไงบ้าง
เนติวิทย์ : ผมรู้สึกว่าครึกครื้นนะ แต่จุฬาฯก็ไม่ให้ความสำคัญกับนิสิตเท่าไหร่ อย่างตอนแรกต้องเลือกตั้งกันวันที่ 4 พฤษภาคม แต่อยู่ดีๆ ก็ถูกมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 5 เขาบอกว่ารองอธิการบดีไม่ว่างเลยขอย้ายวัน ผมเดินไปตำหนิที่ห้องเลยว่ามันไม่ถูกต้อง เป็นผู้ใหญ่เนี่ยไม่ว่าคุณจะติดนัดอะไรแต่ถ้าคุณนัดเด็กเอาไว้แล้วคุณต้องมีมารยาทหน่อย สุดท้ายเขาก็เลื่อนกลับมาวันที่ 4 เหมือนเดิม
THE MATTER : เล่าเรื่องการเมืองในสภานิสิตให้ฟังหน่อย
ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกที่มีการเมืองหมดนะครับ ส่วนการเมืองจะดีหรือเลวก็อีกเรื่อง สำหรับการเมืองในสภานิสิตที่ผ่านมามันไม่ค่อยดี เป็นเรื่องของพวกใครพวกมัน ที่ผ่านมาคนที่เขาลงมัครแข่งกับผมเคยทำงานในสภานิสิตมานาน แล้วเขาก็อยู่ปีสามขึ้นปีสี่เลยได้ลงประธาน ภายในสภามันก็มีแบ่งพรรคแบ่งพวกเหมือนกัน แล้วพวกนี้ก็ลงตามตำแหน่งอาวุโสไง ใครอายุน้อยกว่าก็ไปเป็นรองประธาน แล้วดูครั้งนี้สิ ผมทำลายประเพณีในกรอบนี้ออกมา มีปีหนึ่งที่ได้เป็นรองประธานสองคน ถือว่าชนะคนที่อยู่ในสภานิสิตมาอย่างยาวนาน หลายคนในสภาก็ไม่ชอบผม อย่าง ส.ส.ในคณะศิลปกรรมก็อาจจะไม่ชอบผมก็ได้ เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการรับน้องรุนแรงในคณะเขา
THE MATTER : ทำไมถึงเลือกสภานิสิตมากกว่า อบจ.ที่ดูยิ่งใหญ่กว่า
เนติวิทย์ : ถ้าเป็น อบจ.ผมคงเข้าไปไม่ได้ คือผมไม่ได้มีใจที่จะไปรบกวนเขา หรือคิดว่าสภานิสิตดีกว่านะ ผมเคยเรียกร้องไปทาง อบจ.หลายครั้งแต่เขาไม่เคยตอบรับผมเลย เช่นตอนที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผมคิดว่า อบจ.ควรออกแถลงการณ์ซักฉบับนะ แต่เขาไม่เคยออกเลย มาให้เหตุผลว่าไม่สะดวกและออกในนามปัจเจกได้เท่านั้น คือกลัวครูกลัวอาจารย์ แล้วทุกคนก็ยอมรับอะไรแบบนี้นะ นี่ก็คือการเมืองที่อาจารย์ควบคุมนิสิตอยู่แบบหนึ่ง และนิสิตก็ไม่เข้าใจว่ามันคือการเมือง
THE MATTER : กำลังจะบอกว่าการเมืองในจุฬาฯคือการเมืองที่ระบบอาวุโสเป็นใหญ่
เนติวิทย์ : ใช่ และพยายามทำให้ทุกอย่างไม่เป็นการเมือง คือพยายามทำให้ความเป็นการเมืองมันไม่มี บอกว่านี่คือสภาวะธรรมชาติ แบบนี้แหล่ะคือปกติ ซึ่งมันทำให้คนไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องต่อสู้ ทำไมเราต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แต่ระบบอาวุโสไม่ใช่เรื่องปกติ มันเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมา
THE MATTER : บางคนอาจจะบอกว่าอยู่ในสภาวะแบบนี้มันก็สบายใจดีอยู่แล้วนะ เรียบร้อยดี ไม่ต้องมีอะไรวุ่นวาย
เนติวิทย์ : มันก็จริงส่วนหนึ่งนะแต่ในระยะยาวมันไม่ใช่อย่างนั้น มนุษย์เราไม่ใช่หุ่นยนต์หรือว่าไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คิดเหมือนกันหมด ดังนั้นเราจะเห็นว่าจะมีคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งจุฬาฯเองเนี่ยอย่ามาบอกเลยว่าเป็นแบบนี้มาร้อยปี เพราะถ้าไปดูประวัติศาสตร์จุฬาจริงๆ มันมีประวัติศาสตร์ทางความคิดการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา หรือของครูอาจารย์ตลอดเวลาเพื่อแย่งชิงกันว่าความคิดของฝ่ายไหนที่จะได้เป็นฝ่ายนำในมหาวิทยาลัย
THE MATTER : จุดยืนต่อการรับน้องในมหาวิทยาลัยเป็นยังไงบ้าง
เนติวิทย์ : ผมไม่ได้ปฏิเสธการรับน้องทั้งหมดนะ ก่อนหน้านี้ผมยอมรับว่ายังไม่ค่อยรู้เรื่องเคยคิดว่ามันไม่ดีอย่างโน้นอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ เด็กปีหนึ่งเรียกร้องให้มีการรับน้องด้วยซ้ำ แต่เราก็ต้องดูว่าอะไรที่สามารถตัดทอนได้บ้าง เราสามารถเริ่มวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้ไหม ไม่เช่นนั้นถ้าเลิกรับน้องไปปีนี้ปีหน้าก็กลับมาอีก เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างกรอบวัฒนธรรมเข้ามากำกับ ควรมีปฏิญญาร่วมกันว่าแต่ละคณะจะไม่ทำเกินขอบเขต อย่างน้อยๆ ควรให้รุ่นน้องเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ใช่ให้คำสัญญาปากเปล่า
THE MATTER : เส้นแบ่งระหว่างการรับน้องที่เรารับได้กับรับไม่ได้อยู่ตรงไหน
เนติวิทย์ : สิ่งที่รับไม่ได้คือการบังคับ อย่างน้อยที่สุดคือต้องสมัครใจ ต้องไม่บังคับในทุกทางด้วยนะครับ ไม่ใช่มาขู่ว่าจะตัดรุ่นหรือว่ามาพูดจาเชิงสงสารอะไรอย่างนี้ไม่ได้ ต้องแยกแยะให้ดี ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่าการรับน้อง ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบอาวุโสเนี่ยมันมีเส้นบางๆกั้นอยู่ระหว่างกันด้วย
ผมคิดว่าหลายคณะก็ตระหนักในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน มีเพื่อนผมคนนึงอยู่คณะจิตวิทยาทำรายงานอยู่กับกลุ่มเด็กคณะนิเทศฯ เพื่อนผมทำรายงานเรื่องรับน้อง เด็กนิเทศฯก็จะทำเรื่องรับน้องเหมือนกันเพราะเขาชอบห้องเชียร์มาก พอเขาไปสัมภาษณ์รุ่นน้องปรากฏว่าน้องไม่เอาห้องเชียร์กันหมดเลย สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนหัวข้อทันที
ผมคิดว่าจุฬาฯก็ไม่ได้รับน้องอะไรรุนแรงกันแบบที่คนคิดกัน การรับน้องมันยังจำเป็นนะ แต่ต้องทำให้มันถูกต้องเหมาะสมกับยุคสมัยและเคารพสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น
ผมไม่ต้องการให้ยกเลิกทุกอย่าง แต่อยากให้เปลี่ยนมันใหม่และต้องถูกตรวจสอบได้ สังคมมันอยู่ร่วมกันไม่ได้ถ้าคุณไม่มองคนอื่นว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน
THE MATTER : ยังหงุดหงิดอยู่รึเปล่าเวลาเห็นเพื่อนถูกรับน้องในแบบที่เรารับไม่ได้
เนติวิทย์ : ผมหงุดหงิดที่สุดเลยครับ วันก่อนมีแข่งสันโต้กันระหว่างคณะรัฐศาสตร์กับอีกคณะ ซึ่งของคณะผมเนี่ยสบายมากเลยครับ ใครจะเข้าก็เข้าไม่เข้าก็ไม่ต้องเข้า สบาย ช่วยกันตบมือ แต่อีกคณะมาจัดชุดเต็มเลยครับ ทำกับน้องเป็นสัตว์เลี้ยง ให้น้องทำอะไรตลกๆ พิสดาร เดินมาน่ากลัวมาก ว๊ากใส่น้อง รุ่นพี่เสื้อผ้าหลุดลุ่ย มีหนวดเคราตะโกนใส่ แล้วน้องก็ยอม บางคนผมรู้จักด้วยนะ ผมเห็นคนพวกนี้เขาเป็นคนตลกมีชีวิตชีวาแต่เจอแบบนี้ผมรับไม่ได้หรอก
ผมเห็นว่ามันทำลายความเป็นตัวตนของมนุษย์ ถ้าผมเห็นอีกคงต้องเข้าไปคุยให้เลิกซะ ผมไม่ต้องการให้ยกเลิกทุกอย่างนะ แต่อยากให้เปลี่ยนมันใหม่และต้องถูกตรวจสอบได้ สังคมมันอยู่ร่วมกันไม่ได้หรอกถ้าคุณไม่มองคนอื่นว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน คุณต้องมองทุกคนว่าเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ถ้าจุฬาฯเราเป็นแบบอย่างที่ดีได้ มหาวิทยาลัยอื่นเขาก็จะทำตาม เพราะสังคมไทยเรามีอคติและเป็นสถาบันนิยมรุนแรงอยู่แล้ว คนมันแบ่งชั้นกัน ถึงไม่พูดมันก็เป็นความจริง ซึ่งเราสามารถทำให้สังคมมันยกระดับขึ้นได้
THE MATTER : คิดว่าการรับน้องกับประชาธิปไตยมันไปด้วยกันได้แค่ไหน
เนติวิทย์ : ไปด้วยกันได้ถ้าไม่บังคับน้อง วันนี้การรับน้องมันมีหลายรูปแบบ บางทีเราไปจำภาพว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันไม่ใช่ มันมีหลายแบบ คณะรัฐศาสตร์กับอักษรศาสตร์ก็มีรับน้องนะ แต่ปีนี้เลิกห้องเชียร์ อย่างนี้มันก็ไปกับประชาธิปไตยได้ แต่บางอันมันไปด้วยไม่ได้เลย
THE MATTER : เสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยตอนนี้เป็นอย่างไร
เนติวิทย์ : ผมรู้สึกเลยว่าตกต่ำจริงๆ ส่วนหนึ่งที่ผมไปสมัครเป็นประธานสภาฯเพราะเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ถ้าเราไม่สู้เราก็ไม่มีเสรีภาพ เราไม่มีเสรีภาพการพูดขนาดไหน ถึงขั้นแทบไม่มีเลยนะ ทำอะไรเดี๋ยวก็โดนเบรก ไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพจริงๆ จังๆ อย่างคณะวิศวะที่ออกมาล่า 800 รายชื่อ (กรณีเรียกร้องให้ยกเลิกกฏแต่งชุดนิสิตนอกห้องเรียน) แต่ก็ถูกมหาวิทยาลัยปัดตกไป เสรีภาพในวันนี้มันกลายเป็นเสรีภาพที่ท่านจะมอบให้ เป็นเสรีภาพที่พูดกันปากเปล่า หรืออย่างการที่คนในมหาวิทยาลัยไปทำงานให้กับทหารก็ไม่มีใครไปตรวจสอบเลย
เสรีภาพในมหาวิทยาลัยเป็นแค่วาทกรรมที่พูดให้ดูดีเท่านั้นเอง แต่มันไม่ได้มีอยู่จริง เสรีภาพจะมีก็ต่อเมื่อเราทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้น อย่างตอนโจชัวหว่องมาก็มีตำรวจเต็มไปหมด คนภายในก็ยังกลัวที่จะให้เด็กมีเสรีภาพ
THE MATTER : ชินไหมกับการถูกใครก็ไม่รู้มาสอดส่องความเคลื่อนไหวของเราบ่อยๆ
เนติวิทย์ : ผมก็ไม่ชินอะไรมากนะ ผมไม่ได้เป็นคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมากเท่ากับหลายคน เช่นไผ่ ดาวดินที่สู้หลายเรื่อง ผมไม่ได้ทำอะไรมากมาย ทำแค่เท่าที่สามารถ ก็เลยแปลกใจว่า ทำไมเรื่องของผมถึงถูกนายกฯพาดพิงได้
THE MATTER : คิดยังไงกับการโดนลุงตู่เมนชั่นถึงโดยตรง
เนติวิทย์ : ผมรู้สึกแปลกใจว่ามันขนาดนั้นเลยเหรอ นายกรัฐมนตรีให้เกียรติเราขนาดนั้นเลยเหรอ แต่น่าเสียดายที่ท่านพูดไม่ค่อยมีเหตุมีผลเท่าไหร่ ผมก็เลยรู้สึกผิดหวังที่นายกฯบอกว่าผมจะทำเสียชื่อเสียงสถาบัน แต่จริงๆวันนั้นไม่ควรโทษลุงตู่นะ ควรโทษมหาวิทยาลัยที่รับเชิญท่านไปพูดเรื่องการศึกษา 4.0 ได้ยังไง นี่ไงเสรีภาพวิชาการที่คุณเชิญนายกฯไปพูดให้เด็กฟังว่าควรมีชีวิตอย่างไร
THE MATTER : อยู่จุฬาฯมาจะครบปีแล้ว คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เนติวิทย์ : ผมมีเพื่อนเยอะขึ้นกว่าเดิมนะ แล้วก็หลากหลายคณะ หลากหลายความคิดมาก ผมก็ได้รับฟังมากขึ้นกว่าเดิม ก่อนหน้าที่อยู่ในโรงเรียนไม่มีใครสนใจ เขา treat เราเป็นแค่เด็กบอกว่าให้เราโตๆ ไปก่อนทั้งที่ผมพูดมาตลอดห้าปี แต่มาอยู่มหาวิทยาลัยผมมีเสรีภาพมากขึ้น เด็กจุฬาฯก็ผิดคาดไปจากที่ผมเคยคิดเอาไว้เยอะนะ ตอนแรกผมคิดว่าคงอนุรักษ์นิยมแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก เขาเรียกร้องความก้าวหน้าและสิ่งที่ดีขึ้น โลกมันเป็นแบบนี้แล้ว ผมก็เลยแปลกใจว่าทำไมภาพจุฬาฯยังเป็นอนุรักษ์นิยม
THE MATTER : ระหว่งเนติวิทย์จะเปลี่ยนแปลงจุฬาฯ กับ จุฬาฯจะเปลี่ยนแปลงเนติวิทย์ อันไหนเป็นไปได้มากกว่ากัน
เนติวิทย์ : คำถามนี้ตอบยากมากเลย ผมไม่ค่อยแน่ใจเพราะเป็นคนแบบนี้มาหลายปีมากแล้ว จุดยืนผมค่อนข้างชัดเจนนะ แต่ผมไม่ได้เป็นคนที่ไม่ประนีประนอม ผมเข้าใจว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เราไม่สามารถทำมันได้ในทันที
THE MATTER : ชีวิตยากขึ้นไหมกับการถูกแปะป้ายว่าเป็นคนที่คิดต่าง
เนติวิทย์ : ค่อนข้างยากเหมือนกัน มีคนไม่เข้าใจเยอะแม้กระทั่งคนในคณะก็มีหลายคนเชื่อว่า คุณคิดต่างได้ แต่คิดต่างแล้วอย่าแสดงออก คิดต่างแล้วอย่าเด่น คิดต่างแล้วอย่าไปเข้าเน็ตไปมีบทบาท จงคิดต่างและจงแขวะคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ จงคิดต่างแล้วอยู่ในกลุ่มเล็กๆ พูดคุยกันไปเรื่อยๆ หลายคนมองแบบนั้นเพราะไม่คิดว่าบ้านเมืองนี้มันจะดีขึ้นได้ ดังนั้นไอ้คนที่เข้าไป take action เนี่ย มันล้ำเส้นการเป็นคนคิดต่างแล้ว นี่ขนาดคนคิดต่างหลายคนก็คิดแบบนี้นะ ผมถูกโจมตีเยอะแยะเหมือนกันจากคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นลิเบอรัล
THE MATTER : ปัญหาของนิสิตฝั่งลิเบอรัลตอนนี้มีอะไรบ้าง
เนติวิทย์ : คือการไม่รวมตัวกัน การเป็นลิเบอรัลเป็นเรื่องดีนะ แต่บางทีก็เชื่อว่าเรามีเหตุมีผลแล้วมันชนะทุกอย่าง คือชนะเลยไม่ต้องทำอะไรแค่พูดธรรมะใส่เขาก็จบ ถ้าเขาไม่เข้าใจก็เป็นพวกตายังไม่สว่าง ซึ่งถ้าหากเราจะเป็นลิเบอรัลจริงๆ เรามองแบบนั้นไม่ได้ เราต้องมองคนให้เท่ากัน และต้องเห็นว่าโครงสร้างสังคมตอนนี้มันคือปัญหาที่ทำให้คนไม่เท่ากัน ต้องยอมรับกันก่อนว่าตอนนี้ประชาธิปไตยมันไม่มีจริง ดังนั้นเราต้องรวมตัวกันเข้าไปเรียกร้องและสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง
นิสิตที่เป็นลิเบอรัลบางส่วนเห็นว่าอยู่ในสังคมอย่างนี้มันไม่มีความหวัง ซึ่งผมไม่สามารถรับประกันอะไรได้ แค่พยายามจะเป็นหนึ่งใน role model ที่อยากทำให้บ้านเมืองนี้มันยังมีความหวัง และผมก็อยากทำให้ลิเบอรัลทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่าให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขายึดครองพื้นที่
THE MATTER : เวลาเราพูดถึงการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง รูปแบบที่คนรุ่นใหม่สามารถจะทำในตอนนี้ได้มันมีอะไรบ้าง
เนติวิทย์ : ก็เข้าไปมี action ทั้งในระดับคณะตัวเองและมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ต้องมียุทธศาสตร์และยุทธวิธี การมีส่วนร่วมต้องดูด้วยนะว่าสภาพสังคมวันนี้มันเป็นยังไง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เดินเข้าไปเลยเดี๋ยวก็จะถูกไล่ออกมา ถ้าไม่รู้จักคนอื่น ไม่มีพรรคพวกเลยมันก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก เมื่อก่อนผมเคยคิดว่าผมแค่ประกาศสัจธรรมก็พอ แต่มันไม่พอ เราควรเปิดใจกันให้กว้าง การวิพากษ์วิจารณ์กันมันต้องสร้างความงอกงามขึ้นด้วย บางทีเมืองไทยเราเวลาวิพากษ์วิจารณ์กันแล้วก็ชอบเหยียบอีกฝ่ายให้จมดินเลย โดยเฉพาะตัวเล็กตัวน้อยเนี่ย ผมค่อยไม่เห็นด้วยที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์กันให้พวกเขาจมดิน มันต้องช่วยกันทำอะไรให้มันดีขึ้น
THE MATTER : ดีลกับคนที่คิดต่างจากเรายังไง
เนติวิทย์ : คุยกันได้ปกติขอให้มีเหตุผลก็พอ ผมเคยเจอคนที่ฮ่องกงเข้ามาถามเลยว่ารับเงินมาจากทักษิณรึเปล่า ผมบอกเลยว่าไม่คุยด้วยเพราะเขาตั้งสมมติฐานเอาไว้ก่อนแล้ว แต่บางคนก็คุยด้วยนะถ้าเขาเปิดใจพอนะครับ หรือบางครั้งเราคุยกันได้ในบางประเด็นซึ่งอาจรักกันในเรื่องอื่นก็ได้ อย่างคณะศิลปกรรมที่เห็นด้วยเรื่อง Coronet (ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว) ว่าอยากทำให้โปร่งใส แต่เรื่องรับน้องที่มองไม่เห็นตรงกันซึ่งเอาไว้ทีหลังก็ได้
ผมคิดว่าทุกคนมีจุดร่วมในอะไรบางอย่างกันอยู่แล้ว ทุกคนอยากให้นิสิตมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น นิสิตเองก็อยากให้อาจารย์ให้เกียรติตัวเองมากขึ้น แม้กระทั้งคนที่อยู่ภายใต้อาจารย์ลึกๆ แล้วเขาก็อยากให้อะไรๆ มันดีขึ้น
THE MATTER : คิดว่าการเปลี่ยนแปลงในจุฬาฯจะส่งผลถึงระดับประเทศได้รึเปล่า
เนติวิทย์ : เปลี่ยนจุฬาได้ไหมเนี่ยมันเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมคนเดียวทำอะไรมากไม่ได้ซึ่งผมก็ประเมินตัวเองรู้ตัวเองมาตลอดว่าผมไม่สามารถทำอะได้ ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ที่จะให้ผมคนเดียวมาเปลี่ยนจุฬาฯ มันเป็นลัทธิเชิงวีรบุรุษ ที่เชื่อว่าจะมีคนวิเศษคนนึงโผล่ขึ้นมา ก็คิดกันแบบนี้ไงเราจึงไม่ได้ประชาธิปไตยกันซักที ทุกคนต้องช่วยกัน ผมเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่สามารถ support ได้ เช่น นิสิตมีกิจกรรมอะไรที่อยากทำให้มาคุยกับสภา ผมจะพยายามช่วย การจะทำให้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้มันต้องอาศัยหลายๆ จุดมาช่วยกัน
ผมหวังว่าความหวังของผมมันจะกระจายไปคนอื่นอีกเยอะๆ อยากให้พวกเขามีความหวังในประเทศนี้เหมือนกัน
THE MATTER : มีความหวังกับอนาคตของประเทศนี้ไหม
เนติวิทย์ : ผมมีความหวังกับอนาคตนะ ไม่อย่างนั้นคงไม่ลงสมัครประธานสภานิสิตหรอก ผมหวังว่าความหวังของผมมันจะกระจายไปคนอื่นอีกเยอะๆ อยากให้พวกเขามีความหวังในประเทศนี้เหมือนกัน สิ่งที่ผมสามารถทำได้มากที่สุดในสภานิสิตคือการเป็น role model ที่ดีในฐานะประธาน ที่ผ่านมามีภาพว่าคนในตำแหน่งนี้เข้าไปเลียครู เลียอาจารย์ เข้าไปทำตามคำสั่งกันทั้งนั้น แต่ไม่สนใจทำเพื่อคนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นผมจะไม่เป็นประธานสภานิสิตในขนบแบบนั้น
ทำไมเป็นประธานแล้วต้องทำตัวเหนือจากคนอื่น หรือต้องพูดจาแล้วดูเป็นการรับปากที่ไม่มีความจริงใจ นี่คือสิ่งที่แพร่หลายในสังคมเลยทำให้คนมันสิ้นหวัง ผมจะทำให้เขาเห็นว่า อย่างน้อยก็เป็นผู้นำคนหนึ่งที่กำลังทำให้ว่าเราสามารถทำได้ ถ้าทำได้จริงนี่อาจจะทำให้สังคมภายนอกมันเปลี่ยนแปลงตามไปได้ด้วย ถ้าเยาวชนทั้งหลายเห็นว่าเรามีความหวังและเข้าไป take action และเลิกดัดจริตแบบที่ผู้นำนักศึกษาบางคนเป็นในวันนี้
THE MATTER : ผู้นำที่ดีในนิยามของเนติวิทย์คืออะไร
เนติวิทย์ : ผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่กล้าพูดความจริงกับผู้ที่มีอำนาจ ต้องอยู่ฝ่ายคนที่ไร้อำนาจ หรือคนที่ถูกรังแกจากผลประโยชน์ต่างๆ เป็นผู้นำต้องรับฟังให้มากขึ้น แต่ต้องมีจุดยืนของตัวเองและก็ต้องพร้อมรับผิดชอบด้วยนะ ผมย้ำกับสภาชุดนี้ว่าต้องรับผิดชอบต่อทุกเสียง เราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เราทำ ในฐานะที่เพื่อนๆ เลือกพวกเราเข้ามาแล้ว
THE MATTER : จริงรึเปล่าที่คนรุ่นใหม่ในวันนี้กำลังอึดอัดกับโลกที่เป็นอยู่
เนติวิทย์ : สังคมไทยมันปิดกั้นโอกาสเด็กมานานแล้ว เหมือนในสุภาษิตที่ว่าผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน เด็กเองก็โอเคกับการถูกกดทับด้วย บางทีเราโทษแต่วัฒนธรรม แต่แล้วยังไงล่ะ เราไม่เพิ่มพูนความเป็นมนุษย์ให้กับตัวเองกันเลยหรอ ต้องพึ่งแต่ปัจจัยภายนอกใช่ไหม ผมว่าเด็กก็คิดเป็นและหลายๆ คนก็ไม่พอใจกับครูอาจารย์ หลายคนเอามานินทาลับหลังให้ผมฟังว่า ครูไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งถ้าไม่ดีก็ทำไมไม่ไปเตือนเขาล่ะ พูดความจริงกับเขาให้เป็นกัณยาณมิตรสิ มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราเป็นมนุษย์ที่ได้รับการศึกษามาดีแล้ว ไม่ใช่เอามานินทากันลับหลัง
THE MATTER : คิดยังไงที่ช่วงนี้ถูกเอาไปเปรียบเทียบกับจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ่อยๆ
เนติวิทย์ : ผมว่าเป็นอะไรที่งมงายนะแต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอก อยากจะคิดอะไรก็คิดกันไป ผมว่าจิตร ภูมิศักดิ์เขาเป็นคนที่ฉลาดมากนะครับ แต่ผมไม่ได้มีความฉลาดอะไรขนาดเขาเลย
THE MATTER : ได้อ่านงานอะไรของจิตร ภูมิศักดิ์บ้าง
เนติวิทย์ : ไม่ค่อยได้อ่านเลย แต่นั่นคือในอดีตนะเพราะเคยอ่านตั้งแต่ตอนอยู่มัธยม 2 ซึ่งผมก็ไม่ได้จับงานของเขาอีกเลยนะครับ แต่ผมคิดว่าคงต้องกลับไปอ่านอีกเพราะมันสำคัญ และในปีนี้ผมอยากเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยมีวันจิตร ภูมิศักดิ์เพราะที่ผ่านมาไม่ได้พูดถึงเขาเท่าที่ควร ใครบ้างที่มีคุณูปการมาอย่างยาวนานแม้กระทั่งตายไปนานแล้ว แต่ยังมีคนอ่านงานเขียนของเขาจนวันนี้ ไม่มีใครเลยนอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นปัญญาชนหมายเลขหนึ่งของจุฬาฯอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นในปีนี้สภานิสิตจุฬาจะจัดงานจิตร ภูมิศักดิ์ “วันแห่งความคิดเห็นแตกต่าง” ขึ้นให้ได้ ผมจะเสนอเรื่องนี้ถึงอธิการบดี
THE MATTER : อยู่นอกห้องเรียนใช้เวลาดูหนังฟังเพลงอะไรบ้างรึเปล่า
เนติวิทย์ : ก็ดูหนังบ้างแต่จำไม่ได้แล้วว่าล่าสุดเรื่องอะไร คือชีวิตผมก็อยู่กับการอ่านหนังสือแล้วก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ อย่างวันนี้กำลังจะไปดูหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง คือก็ดูหนังบ้างนั่นแหล่ะครับ