เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสมัยนี้ บางทีก็มีความสนใจหลากหลาย อยากออกจากกรอบหลักสูตรเดิมๆ ที่ถูกบังคับเรียน เป็นเด็กวิทย์บางทีก็มีอารมณ์สุนทรีย์อยากไปเรียนวิชาคณะของเด็กศิลป์ หรือเด็กศิลป์เองบางที ก็อยากข้ามสายไปเรียนกับเด็กวิทย์บ้างเหมือนกัน
แต่แล้วก็มี คณะรัฐศาสตร์และสถาปัตย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้จับมือกันสร้างหลักสูตรเรียนข้ามสายที่แรกของประเทศ เปิดโอกาสให้นักศึกษาของทั้งสองคณะแลกเปลี่ยนนักศึกษาวิชาโทของกันและกัน
แล้วคณะสายสังคมอย่างรัฐศาสตร์ และคณะทางสายวิทย์อย่างสถาปัตย์ฯ จะมาเรียนร่วมกันได้ยังไง จบแล้วจะไปทำอาชีพอะไรได้ หรือหลักสูตรนี้จะออกมาหน้าตาแบบไหน
The MATTER จึงชวนรศ. เฉลิมวัฒน์ ตันตสวัสดิ์ คณบดีคณะสถาปัตย์ฯ และรศ.ดร. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พูดคุยถึงที่มาของหลักสูตรการเรียนข้ามสาย แนวโน้มของความรู้ใหม่ๆ ที่จะเกิดในอนาคต และการปรับตัวของมหาวิทยาลัยให้เข้าสมัยกัน
ที่มาของหลักสูตรเรียนร่วมกันของสองคณะนี้มีที่มาอย่างไร
อ.เฉลิมวัฒน์ : สำหรับคณะสถาปัตย์ฯ เป็นนโยบายของคณะทางฝั่งวิชาการที่เราอยากให้มีการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ข้ามสาขากันมากขึ้น เดิมทีการเรียนทางด้านสถาปัตย์ฯ ทั้งหลาย จะเกี่ยวข้องกับทางกายภาพ และเป็นวิชาชีพ แต่สาขาผังเมือง ไม่ใช่วิชาชีพ แต่ก็กำลังมีโน้มจะปรับไป ซึ่งการเรียนร่วมครั้งนี้ คือการปรับตัวเข้ากับทิศทางวิชาการของทั่วโลก รวมถึงมหาวิทยาลัยเอง ที่อยากให้มีการเรียนรู้ข้ามศาสตร์มากขึ้น ทั้งคนรุ่นใหม่อยากจะเรียนรู้มากขึ้น
อ.ศุภสวัสดิ์ : เราอยากสร้างบัณฑิตรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์สังคมและโลก เรามองว่าหลักสูตรการเรียนแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือบัญชี คือศาสตร์ที่เป็นแขนงเดียว มันอาจจะไม่ตอบโจทย์ ไม่ทันสมัยกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งคนเจเนเรชั่นใหม่ที่มีบุคลิก ลักษณะเป็น multi-tasking มากขึ้น มีศักยภาพเยอะ พัฒนาสกิลได้หลากหลาย ผมเลยมองว่าการเรียนข้ามสายหรือสาขาวิชาที่เรามีมาแบบเดิม มันน่าจะตอบโจทย์หลายอย่าง ทั้งผลิตบัณฑิตแบบใหม่ ตอบสนองคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะที่เปลี่ยนไป ทั้งอาจจะทำให้ผลผลิตมีความรอบรู้กว้างขึ้นจากในอดีต
ทำไมเริ่มแรกหลักสูตรนี้ มันถึงเป็นรัฐศาสตร์ และสถาปัตย์ฯ ทำไมถึงเป็น 2 คณะนี้
อ.เฉลิมวัฒน์ : อย่าไปมองว่ามันคือสถาปัตย์ฯ มองว่าเป็นการผังเมือง เพราะหลักสูตรสถาปัตย์ฯ มันมีหลากหลายทั้งการออกแบบอาคาร สถานที่ ที่เป็นหลักสูตรวิชาชีพ แต่ผังเมืองเรามองว่ามันมีความคล้ายคลึงรัฐศาสตร์อยู่มาก เพราะเป็นเรื่องของการบริหารภาครัฐ ฉะนั้นผู้ที่จะรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับการบริหารภาครัฐ การเมืองการปกครองก็คือทางด้านรัฐศาสตร์ จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมถึงเป็นรัฐศาสตร์
อ.ศุภสวัสดิ์ : ฝั่งรัฐศาสตร์ อย่างที่ทราบกันดีก็มีพวกเราหลายคนที่ไปทำงานส่วนราชการ ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค มีคนที่ต้องไปในท้องที่ และในอนาคตปัญหาเรื่องของเมืองก็จะกลายเป็นปัญหาชุดใหญ่ ซึ่งคนที่เรียนรัฐศาสตร์ถ้ามีโอกาสได้เป็นนักปกครอง หรือนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมืองที่ดีขึ้น ผมว่ามันจะเป็นประโยชน์ และต้นทุนที่ดีมาก เช่นการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ การวางผัง มันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมือง และทำให้เขามีมุมและมิติ ที่ดีกว่าแบบเก่าที่เราเน้นแต่เรื่องระเบียบ หรือกฎหมาย
หลักสูตรนี้แตกต่างจากเดิมที่ธรรมศาสตร์ให้นักเรียนเลือกเรียนวิชาโทได้เสรีอย่างไร
อ.ศุภสวัสดิ์ : เดิมอย่างที่เราทราบกันคือธรรมศาสตร์มีข้อดีตรงที่ เรียนวิชาอะไรก็ได้ในมหาวิทยาลัย แต่การที่เราดีไซน์อันนี้ให้เป็นวิชาโทโดยเฉพาะ คือให้นักศึกษาเรียนเฉพาะชุดที่กำหนด เพราะเรามองว่าวิชาโท 8 วิชา 24 หน่วยกิตตรงนี้ มันจะช่วยทำให้นักศึกษาที่จบไป เป็นบัณฑิตที่มีโฟกัสชัดเจน คือเป็นรัฐศาสตร์ที่เรียนการเมืองการปกครองเป็นวิชาเอก แต่ก็มีวิชาผังเมืองเป็นวิชาโท ซึ่งเป็นวิชาที่ทางสถาปัตย์ฯ เลือกมาแล้วว่ากลุ่มวิชานี้จะทำให้นักเรียนมีความรู้ที่เหมาะสม เช่น เรื่องของระบบจัดการคมนาคมขนส่ง หรือแนวคิดในการวางผังเมือง ซึ่งผมว่าอันนี้เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับนักเรียนการเมืองการปกครอง และรัฐศาสตร์
อ.เฉลิมวัฒน์ : เช่นเดียวกัน สำหรับคณะสถาปัตย์ฯ เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนวิชาโท ซึ่งก็จะแตกต่างจากฝั่งสายสังคม เพราะฉะนั้นนี่เป็นชุดวิชาโดยเฉพาะที่นักเรียนการผังเมืองจะได้เซ็ทความรู้รัฐศาสตร์ เฉพาะติดตัวเขาไปด้วย และจะไปปรากฏบนทรานสคริปต์เขา
เป็นการเรียนร่วมกันเฉยๆ หรือมีวิชาที่รวมองค์ความรู้ทั้งสองคณะเข้าด้วยกัน
อ.ศุภสวัสดิ์ : จะบอกว่ามันคือการเรียนร่วมกันก็ใช่ แต่ถ้ามองโดยรวม สุดท้ายมันคือการรวมองค์ความรู้ ถ้าเรามองทั้งหลักสูตรทั้งหมด การเรียนวิชาทางด้านรัฐศาสตร์ บวกด้วยวิชาโทที่เป็นผังเมืองท้ายที่สุดมันคือการควบรวมกันองค์ความรู้
อ.เฉลิมวัฒน์ : และสุดท้ายผู้ที่รวมความรู้ก็จะเป็นตัวนักศึกษา ที่ได้วิชาของทั้งสองคณะนี้หลอมรวมกัน
เด็กที่จบหลักสูตรนี้มาจะนำองค์ความรู้ระหว่างรัฐศาสตร์และการผังเมืองไปใช้ยังไง
อ.ศุภสวัสดิ์ : ผมคิดว่ามันจะมีบริษัทเอกชนที่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทำสาธารณูปโภค สาธารณูปการ หรือ logistic ที่เขาต้องการเด็กแบบรัฐศาสตร์ที่มี multi-skill และมันเป็น multi-skill ที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเมือง การบริหารจัดการเมือง ระบบคมนาคมขนส่ง ผมว่านี่เป็นประโยชน์มาก และหลักสูตรนี้มันจะตอบโจทย์ตรงนั้น ยิ่งตอนนี้รัฐบาลให้โจทย์ว่า เด็กจบมาต้องมีงานทำ ไม่ใช่จบแล้วทำอะไรไม่ได้ ผมจึงมองว่ามันจะตอบโจทย์เอกชน เพราะงานฝั่งภาครัฐมันเป็นตลาดดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ตรงนี้มันจะขยายไปเอกชนบางกลุ่ม และอาจจะรวมไปถึงบางคนที่คิดอยากทำ Start-up ใหม่ๆ เพราะการเรียนสถาปัตย์มันจะเปิดมุมมองหลายเรื่อง ทำให้เขาเห็นว่าเมืองเป็นยังไง คนอยู่ในเมืองอย่างไร และมันจะทำให้เขามีพื้นที่ที่สร้าง Creativity บางอย่าง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง แต่มันไปได้ในอนาคต
อ.เฉลิมวัฒน์ : สำหรับฝังเมือง เดิมทีความรู้ของมันจะเป็นเรื่องกายภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ความรู้เกี่ยวกับรัฐ นโยบายภาครัฐ มันจะเป็นผลบวกของตัวนักศึกษาเอง ไม่ว่าเขาจะเข้าไปทำงานซึ่งมีทั้งสองฝั่ง คือ ภาครัฐซึ่งไปอยู่กับสำนักผังเมือง หรืออื่นๆ ยิ่งถ้ามีความรู้เกี่ยวกับบริหารและปกครอง เขาน่าจะเข้าใจการทำงานของเขาได้ดีขึ้น ส่วนภาคเอกชนก็มีส่วนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในบริษัทที่ปรึกษา การมีความรู้แบบนี้ ผมว่าจะทำให้เขาพัฒนาบริษัทและองค์กรได้ดีขึ้นเช่นกัน
อาจารย์มองว่าด้านรัฐศาสตร์ยังขาดองค์ความรู้อะไรที่ให้สถาปัตย์ฯ มาเสริม และด้านสถาปัตย์ฯขาดอะไรที่ต้องการให้รัฐศาสตร์มาเสริม
อ.ศุภสวัสดิ์ : พวกเราที่เรียนรัฐศาสตร์ มักคิดอะไรเป็นนามธรรม เป็น abstract มาก มาฐานจากทฤษฎีเยอะ แต่ผมมองว่าถ้าเรามาเรียนวิชากับผังเมือง มันจะพาเราไปสู่ชุมชน สู่เมือง เป็นโอกาสที่จะทำให้เด็กรัฐศาสตร์ได้เห็นข้อเท็จจริงของชุมชุน และเมือง ความเป็นมาเป็นไป วิถีชีวิต ซึ่งมันจะช่วยเติมมุมมองที่เป็นรูปธรรม เราจะเห็นเคสต่างๆ ของปัญหา การเขียนผังที่ดี ไม่ดีเป็นอย่างไร จะทำให้นักรัฐศาสตร์เข้าใจปัญหาของชุมชนและเมืองดีขึ้น ยิ่งเราคิดถึงอนาคตข้างหน้า ยิ่งสังคมเราเป็น 4.0 หรือมีเทคโนโลยี ดิจิทัลมากขึ้น มันจะยิ่งเปิดมุม และมิติให้เราเห็นสภาพของพื้นที่ทั้งหลายมากขึ้น มันจะเปลี่ยนไปจากเดิม
อ.เฉลิมวัฒน์ : อย่างที่บอกว่าเรารู้ด้านกายภาพเป็นหลัก เรารู้ว่าสิ่งแวดล้อมที่ดี การจัดการต่างๆ เป็นอย่างไร แต่เรื่องของวิธีการ การจะทำเป็นนโยบายให้เกิดขึ้น ต้องคุยกับภาครัฐส่วนไหน ต้องลงไปชุมชน เข้าไปคุยกับชาวบ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน ก่อนอื่นเรายังไม่รู้เลยว่าเราต้องไปคุยกับใคร หรือแม้แต่กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งผมเชื่อว่าทางรัฐศาสตร์คุ้นเคยกับตรงนี้อยู่แล้ว เมื่อกายภาพมาบวกกับเรื่องของสังคมมันน่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดี
อนาคตมีแนวโน้มที่จะเปิดหลักสูตรเรียนข้ามสายกับคณะอื่นๆ อีกไหม
อ.เฉลิมวัฒน์ : สถาปัตย์ฯ เดิมที ก่อนที่จะมีโครงการนี้ เราเคยมีหลักสูตรที่มีบัณฑิตจบไปแล้ว คือการจัดการการออกแบบที่เราทำร่วมกับคณะพาณิชย์ เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้องค์ความรู้เรื่องการออกแบบผสมผสานกับเรื่องบริหารจัดการ เป็นหลักสูตรร่วม หรือจริงๆ นอกจากนี้หลักสูตรที่เป็นวิชาชีพของคณะ เราก็คิดเหมือนกันว่าจะไปจับมือร่วมกับทางพาณิชย์หรือคณะอื่นๆ เพิ่มเติม
ข้อดีของทางธรรมศาสตร์คือ เรามีคณะทางสายสังคมซึ่งเรียกว่ามีชื่อเสียงมายาวนาน และหลากหลายมาก ทั้งรัฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ที่โดดเด่นมาก ซึ่งนี่คือโอกาสที่สายทางวิทยาศาสตร์จะมาจับมือร่วมกับสายสังคม เรายังไม่ได้มีแผนการว่าจะร่วมกับคณะไหน แต่มองว่ามีโอกาสแน่นอน และองค์ความรู้ใหม่ๆ มันจะเกิดขึ้นจากผสมผสานข้ามไปมา เกิดความรู้และพื้นที่ใหม่ๆ
อ.ศุภสวัสดิ์ : เรายังไม่มีแผนเป็นรูปธรรม และนี่คือหลักสูตรนำร่อง แต่แนวโน้มในอนาคต ถ้าถามผมแบบเร็วๆ ว่าอะไรน่าจะไปกับรัฐศาสตร์ได้ในอนาคต ผมมองว่าเราอาจจะไปจับมือกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพราะในวงรัฐศาสตร์ก็มีคนไปทำงานกับส่วนนี้ และในอนาคตเรื่อง climate change มันจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งถ้าเรามีความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้เราเป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีวิสัยทัศน์ เป็นนักกำหนดนโยบายที่มองอนาคตแบบไกล นอกจากนี้ ผมยังมองไปถึงการร่วมมือกับพวกบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรม เพราะในอนาคตเราต้องคิดว่ามันจะใช้คนน้อยลงแน่ๆ หรือแม้แต่ด้านสุขศาสตร์ อย่างเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเราเป็นผู้กำหนดนโยบายเราต้องเข้าใจตรงนี้
ผมว่ารัฐศาสตร์มันต้องมองไปไกลแบบนั้น เราไม่สามารถอยู่แบบรัฐศาสตร์แบบเดิมๆ ได้ อย่างเดิมเรียนรัฐศาสตร์ โทเศรษฐศาสตร์มันเป็นอะไรที่ธรรมดามากๆ แล้ว มันต้องข้ามไปไกลกว่าถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ผมคิดว่า กำแพงของคำว่า ‘คณะ’ มันจะถูกสลาย และจะเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะศาสตร์อะไรก็ตาม ที่บอกว่า ตัวเองมีสาขาวิชาของตัวเอง และอยู่ลำพังเดี่ยวๆ มันเริ่มจะไม่เหมาะกับยุคสมัยในปัจจุบัน
เป็นไปได้ไหมว่าในอนาคตจะมีหลักสูตรที่เด็กเลือกเรียนได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องอิงกับหลักสูตรของคณะเลย คือเรียนข้ามทุกๆ คณะได้ตามใจนักศึกษา
อ.ศุภสวัสดิ์ : ต้องบอกว่าที่ประชุมมหาวิทยาลัยเริ่มพูดแล้วว่า คำว่า ‘คณะ’ มันยังจำเป็นไหม แต่กับแค่บางคณะ มันอาจจะกลายเป็นการเข้ามหาวิทยาลัยมา แล้วช้อปปิ้งเลือกวิชาที่เราอยากเรียนแบบนั้นก็ได้
อ.เฉลิมวัฒน์ : ผมมองว่ามันเป็นไปได้ โดยเฉพาะทางสายสังคม คือที่พูดแบบนี้เพราะว่าในสายวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพมันมีข้อบังคับของ ‘วิชาชีพ’ อยู่ ซึ่งเมื่อมีข้อจำกัดตรงนี้มันก็จะมีสภาวิชาชีพมากำหนดว่าคุณควรจะเรียนอะไร บางทีเกือบทั้งหลักสูตรเลยถูกกำหนดโดยสภาวิชาชีพ มันทำให้คณะเหล่านี้ปรับตัวลำบาก
อ.ศุภสวัสดิ์ : ในเรื่องของการปรับตัว ผมมองว่าปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่มหาวิทยาลัยแล้ว ถ้ามองในเชิงองค์ความรู้ มหาวิทยาลัยยอมปรับตัวมากขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่เป็นกำแพงคือหน่วยงานที่กำกับเรื่องการศึกษา และรับรองวุฒิ ผมว่าถ้าเราโน้มน้าวหน่วยงานตรงนี้ได้ มันก็จะทลายกำแพง และจะทำให้พรหมแดนความรู้ตรงนี้กว้างมาก และจะมันขึ้นอยู่กับความสนใจของคนเรียน ที่จะเป็นประโยชน์
ถ้าเรียนข้ามสายกันได้เสรีมากขึ้น คำว่า ‘คณะ’ จะยังจำเป็นไหม
อ.ศุภสวัสดิ์ : ผมคิดว่า กำแพงของคำว่า ‘คณะ’ มันจะถูกสลาย และจะเบลอมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะศาสตร์อะไรก็ตาม ที่บอกว่า ตัวเองมีสาขาวิชาของตัวเอง และอยู่ลำพังเดี่ยวๆ มันเริ่มจะไม่เหมาะกับยุคสมัยในปัจจุบัน ในบางวิชาที่มันเป็นวิชาชีพจริงๆ มันจะยังจำเป็น อย่างหมอ ถ้าเราจะบอกว่าไม่ให้มี medical school มันคงยาก หรือแม้กระทั่งคณะวิศวะ หรือสถาปัตย์ฯ มันก็ยาก แต่คณะที่มันไม่ได้ถึงกับเป็นวิชาชีพ มันจะปรับตัวแบบนั้น
ช่วงนี้มีข่าวว่ารัฐบาล จะลดเงินสนับสนุนกับคณะด้านสังคมศาสตร์ และสนับสนุนคณะที่เด็กจบมามีงานทำ อาจารย์มองว่าเป้าหมายของการศึกษาคือเพื่อให้เด็กเรียนจบและมีงานทำอย่างเดียวไหม
อ.ศุภสวัสดิ์ : ผมคิดว่าต้องจบมาดูแลตัวเองได้ แต่ว่าการทำงานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราต้องไม่จำกัดคำว่ามีงานทำ คืออยู่แค่ในองค์กร แต่มันคืออะไรก็ตามที่ให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ อันนั้นคือสิ่งที่สำคัญมากกว่า คือถ้าเขาจบแล้ว สามารถรับผิดชอบตัวเขาเองได้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใด อาจจะไปทำ start-up ธุรกิจใหม่ก็ได้
อ.เฉลิมวัฒน์ : เป้าหมายของทั้งผู้เรียน และผู้ปกครองของผู้เรียนก็คือจบแล้วก็ต้องมีงาน ดูแลตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งเริ่มธุรกิจของตัวเองได้ จริงๆ ไม่ใช่เป้าของแค่รัฐบาล แต่มันยังเป็นเป้าของผู้ที่เข้ามาเรียน จริงๆ ผมมองว่าเป้าของการศึกษา หรือผู้ให้การศึกษาตั้งใจผลิตคนเป็นผู้นำของสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และเป้าสำคัญของผู้ให้การศึกษา ซึ่งการที่จะไปเป็นผู้นำสังคมอาจจะไม่ตรงกับตลาดแรงงานก็ได้ เพราะผู้นำสังคมคือคนที่จะไปชี้ต่างหากว่าตลาดแรงงานขาดอะไร การที่เราเรียนอะไรล้ำมากๆ ในมหาวิทยาลัย ตลาดแรงงานข้างนอกอาจจะตามเราไม่ทันเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าเป้าของการศึกษาจริงๆ คือผลิตคนที่ไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติ
แน่นอนว่ามันอาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งตลาดแรงงานมันอาจจะยังไม่มีก็ได้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่ไม่เคยมี มันก็มีในระยะเวลาอันใกล้ หน้าที่ของเราคือ คาดการณ์ไปข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็สร้างความรู้ที่เหมือนกับเหตุการณ์ข้างหน้า
กระแสว่า อนาคต ‘วุฒิปริญญาถูกลดคุณค่าลง’ อาจารย์เห็นด้วยไหม มองว่าการเรียนในระดับอุดมศึกษายังจำเป็นไหม
อ.ศุภสวัสดิ์ : ผมเชื่อว่าเรื่องคุณวุฒิ เทรนด์จะเป็นแบบนั้น คือถูกลดความสำคัญลง แต่สำหรับสังคมไทยก็ยังต้องการเวลาพิสูจน์ว่าค่านิยมนี้ถูก ผมยังคิดว่าระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสังคมไทยยังจำเป็น ค่านิยมนี้มันจะไม่ได้เปลี่ยนทันที แต่มันจะค่อยๆ เปลี่ยน มันจะมีกรณีตัวอย่างของคนที่ไม่ได้เรียนจนจบปริญญา แต่สามารถทำธุรกิจใหม่ หรืออะไรใหม่ๆ และประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว คนจึงค่อยๆ สร้างค่านิยมขึ้นได้ว่าปริญญานั้นไม่สำคัญ แต่ต้องใช้เวลาอีกพักนึง ผมว่าในสมัยนี้การเรียนให้จบปริญญาตรี โท หรือโดยเฉพาะเอกยังสำคัญ
อ.เฉลิมวัฒน์ : มันมีจริงที่คนไม่จบปริญญา แต่ประสบความสำเร็จขึ้นมา ซึ่งมันเป็นกรณีเฉพาะน้อยและคนจะชอบยกขึ้นมา เรื่องนี้เราอาจมองก่อนว่าเทรนด์ที่วุฒิการศึกษาไม่สำคัญ มันมาจากอะไร แต่ถ้ายังอยู่ในองค์กร หรือทำงานร่วมกับคนที่ยังเชื่อถือในสิ่งเหล่านี้ ผมว่ามันก็ยังมีความจำเป็นอยู่
อ.ศุภสวัสดิ์ : คือวุฒิการศึกษา มันอาจจะไม่สำคัญว่าคนที่ทำงานต้องทำตรงกับวุฒิของตัวเอง บางคนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอาจจะไม่ได้จบบัญชี หรือพาณิชย์ แต่จบกฎหมายหรือรัฐศาสตร์ก็ได้ มันไม่จำเป็นต้องทำงานตรงศาสตร์ที่จบ
อ.เฉลิมวัฒน์ : สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมมองอีกแบบนึงเรื่องการเรียน แนวโน้มคือเขาอยากจะออกไปทำงานเร็วขึ้น เดิมทีอย่างน้อยสมัยของอาจารย์เองต้องเรียนจบปริญญาตรี หรือโท แต่สมัยนี้เหมือนกับว่าจบตรีให้เร็วที่สุดแล้วก็ไปทำงานอย่างอื่นแล้ว ค่านิยมเริ่มจะเปลี่ยนไปจากที่เราสังเกตมา
มีแนวโน้มว่าเด็กรุ่นใหม่จะเลือกเรียนตามสาขาที่ตลาดแรงงานรองรับ ปัจจุบันคณะได้รับผลกระทบว่าเด็กเลือกเรียนตามตลาดแรงงานเท่านั้นไหม และคิดว่าจะกระทบต่อการตัดสินใจเลือกเรียนหลักสูตรใหม่นี้ไหม
ศุภสวัสดิ์ : สำหรับรัฐศาสตร์ ถ้าคนที่อยู่ในแวดวง hr ก็จะรู้ว่ามันไปทำไรได้บ้าง ส่วนใหญ่เด็กก็จะมีงานทำ เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้ไปทำแบบกระทรวงต่างๆ หรือจำเป็นว่าต้องเข้าไปทำในหน่วยงานของรัฐ ทุกวันนี้มันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในภาคธุรกิจ ภาคเอกชน หรือสื่อสารมวลชน เพราะรัฐศาสตร์ไม่ได้เป็นวิชาชีพ แต่เป็นการเรียนแบบทั่วๆ ไป ที่ทำให้เรามีสกิลหรือความเข้าใจในบางเรื่องดีกว่าคนอื่น
เฉลิมวัฒน์ : สำหรับผม ผมก็ไม่ห่วงอะไร ยิ่งมีวิชาโทแบบรัฐศาสตร์ ยิ่งมีทางไปอยู่แล้ว เพราะผังเมืองมีตลาด เช่น ท้องถิ่น 77 จังหวัด ก็ต้องการนักผังเมืองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการที่เป็นนักผังเมืองแล้วมีความรู้เกี่ยวกับการปกครอง ยิ่งมีคนต้องการมากขึ้นไปอีก การสร้างความรู้อะไรใหม่ๆ ระหว่าง 2 สาขาเข้าด้วยกัน แน่นอนว่ามันอาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งตลาดแรงงานมันอาจจะยังไม่มีก็ได้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่ไม่เคยมี มันก็มีในระยะเวลาอันใกล้ หน้าที่ของเราคือ คาดการณ์ไปข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็สร้างความรู้ที่เหมือนกับเหตุการณ์ข้างหน้า บางทีองค์ความรู้ใหม่ๆ คนที่จบไปอาจกลัวว่าไม่มีอะไรทำ ผมว่าคุณอาจจะต้องไปเขียน job description ให้กับตลาดเหล่านี้ด้วยซ้ำ ว่านี่คือสิ่งที่บริษัทคุณต้องการ แต่ว่ายังไม่มี
ในอนาคตมีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยจะหดตัว บางแห่งปิดสาขา ปิดคณะ ทั้งยังมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดหลักสูตรนี้ อาจารย์มองว่าอนาคต มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวมากกว่านี้อย่างไร
อ.ศุภสวัสดิ์ : เรื่องนี้ก็มีคนพูดว่า ในอนาคตพรมแดนความรู้มันไม่สามารถบอกได้ว่านี่เป็นของธรรมศาสตร์ จุฬาฯ หรือ Harvard ได้แล้ว เพราะทุกอย่างมันถูกเทคโนโลยีปลดล็อกออกมาหมด เราไม่สามารถปกปิดความลับทางวิชาการอะไรได้อีกต่อไป
แต่สิ่งเดียวที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งยังคงความแตกต่างคือการ customize ทำตามความต้องการเด็ก หรือกลุ่มนักศึกษา หมายความว่าความเก่งของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ที่ไหนจะดีกว่าที่ไหน อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยนั้นดูแลนักศึกษาได้ดีแค่ไหน ดูแลคือมองว่าคุณมีบุคลิกภาพแบบนี้ มีศักยภาพแบบนี้ นี่คือชุดความรู้ที่เหมาะและเลือกให้กับคุณ จะพัฒนาศักยภาพนักศึกษาแต่ละคนอย่างไรให้ออกมาดีที่สุดที่สามารถทำได้ ซึ่งแต่ละแห่งไม่สามารถทำให้ดีได้เท่ากัน และมันจะไปแข่งกันแบบนี้ และจะเป็นเทรนด์การศึกษา
อ.เฉลิมวัฒน์ : มหาวิทยาลัยปรับตัว มันต้องกลับไปดูว่าในอดีต มีมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนน้อย การเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยมีแค่คนเฉพาะกลุ่ม แต่เมื่อประเทศเราพัฒนามากมากขึ้น สถานบันการศึกษาเพิ่มขึ้น ประกอบประชากรลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น มันเป็นการแข่งขัน เป็นตลาดเสรีมากขึ้น แต่ละที่ก็ต้องแข่งกันเองเพื่อให้มีนักศึกษา ถ้าไม่มีก็ต้องปิดตัวไป เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยก็ต้องมีการปรับตัว ต้องตามวิชาการและคนรุ่นใหม่ให้ทัน เพราะแต่ละสถานที่ที่ผลิตบัณฑิตแต่ละรุ่น เราผลิตวันนี้ แต่กว่าที่เค้าจะจบหลักสูตร หรือสร้างเค้ามาได้ คุณต้องคาดการณ์ไปข้างหน้าอีก 10 ปี มหาวิทยาลัยและคณะที่ปรับตัวได้ดีผมว่าก็สามารถรับนักศึกษาได้ตามเป้าหมาย
พูดถึงเรื่องเรียนออนไลน์ผมว่าก็ทำได้ แต่อาจจะไม่สามารถทำได้ทุกวิชาความรู้ โดยเฉพาะวิชาที่มันเป็นเชิงปฎิบัติต้องลงมือทำ มีการพูดคุย แต่ผมมองว่ามันเป็นโอกาสที่เรียนร่วมกับต่างประเทศ โอกาสที่จะทำหลักสูตรคอร์สพิเศษให้คนที่อยู่ในที่อื่นๆ สามารถร่วมเรียนกันได้ ถ้าเราขยับตรงนี้ และมองว่ามันเป็นโอกาสก็น่าจะเป็นจุดที่มันเสริมให้กับมหาวิทยาลัยที่ทำ
Illustration by Yanin Jomwong
Photo by Asadawut Boonlitsak