“แกๆ ไปขอก็อปสไลด์อาจารย์มายัง” “ค้างหน้านี้แป๊บนึงครับขอจดหน่อย”
หลับตานึกถึงห้องเรียน การเลคเชอร์ทุกวันนี้คงเป็นเลคเชอร์ไม่ได้ถ้าไม่มีพาวเวอร์พอยต์ เวลาพรีเซนต์งานก็ต้องทำพาวเวอร์พอยต์ไปเสนอ ดูเหมือนว่าห้องเรียนสมัยใหม่จะขาดพาวเวอร์พอยต์ไม่ได้ นักวิชาการทั้งหลายเลยเริ่มทบทวนว่า วัฒนธรรมพาวเวอร์พอยต์นี่ดีมั้ยนะ บางคนบอกว่าเลิกใช้ดีกว่า
นับตั้งแต่ปี 1990 ที่ไมโครซอร์ฟพาวเวอร์พอยต์ได้แทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรมองค์กรและสถานศึกษา จนเราแทบจินตนาการโลกและห้องเรียนที่ไม่มีพาวเวอร์พอยต์ไม่ออก ไม่มีสไลด์จะสอนยังไง จะจดอะไร จะเอาอะไรอ่านสอบ
สไลด์กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย ฟังก์ชั่นสำคัญๆ คือทำหน้าที่เหมือนกระดานสำเร็จรูป ทำหน้าที่ช่วยอธิบาย ช่วยสรุปรวบยอดประเด็น ไปจนถึงเป็นเครื่องมือนำเสนอภาพและเสียงต่างๆ เป็นเครื่องมือที่ดูมีประสิทธิภาพดีเนอะ ทำเสร็จก็บันทึกไว้ ไม่ต้องมาเขียนกระดานใหม่ สีสันสวยงาม มีเอฟเฟกต์ต่างๆ สนุกสนาน
นักวิชาการศึกษาและอาจารย์หลายคนเริ่มมองเห็นและเริ่มขบคิดว่า เอ๊ะ การเรียนการสอนของเรานี้ได้อิทธิพลของพาวเวอร์พอยต์อย่างมากมาย รูปแบบการสอนในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่มีเทคโนโลยีและอิทธิพลของพาวเวอร์พอยต์ขึ้นมา สมัยก่อนเรามีกระดานดำหรือแผ่นใส แต่ด้วยพลังของพาวเวอร์พอยต์ที่แสนสะดวกสบาย ทำแล้วเซฟไว้ กดทีเดียวก็ฉายได้เลย ด้วยความสวยงาม และด้วยความเคยชินกับเทคโนโลยี ความถี่และความสำคัญของพาวเวอร์พอยต์จึงมีการใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ
ศาสตราจารย์ทางปรัชญาและธุรกิจ Bent Meier Sørensen จาก Copenhagen Business School เขียนลง The Conversation โจมตีวัฒนธรรมสอนด้วยสไลด์ว่าควรจะเลิกๆ ใช้เจ้าพาวเวอร์พอยต์นี่ไปได้แล้ว โจมตีแรงถึงขนาดตั้งชื่อว่า ‘แบนพาวเวอร์พอยต์จากการเลคเชอร์กันเถิดเพราะมันทำให้นักเรียนโง่ลงแถมทำให้อาจารย์น่าเบื่อสุดๆ’ ข้อเสนอนี้เกิดจากปัญหาที่อาจารย์พบว่าตัวเองสอนได้สุดจะน่าเบื่อเพราะยึดติดกับสไลด์มากจนเกินไป (ซึ่งแกก็ยอมรับว่ามีหลายปัจจัยแหละที่ทำให้การสอนห่วย แต่สำหรับแกแล้วเห็นว่าสไลด์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การสอนตายตัว และในฐานะคนสอนก็ยึดติดกับบุลเล็ตพอยท์แต่ละอันมากไป)
ข้อสังเกตของ Sørensen บอกว่าพาวเวอร์พอยต์ถูกออกแบบมาสำหรับงานธุรกิจหรืองานขาย โปรแกรมถึงได้ออกแบบมาให้นำเสนอข้อมูลเป็นบุลเล็ตๆ และเป็นเส้นตรง แต่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของการกระตุ้นให้คิด สิ่งที่ถูกสอนล้วนเป็นประเด็นที่ซับซ้อน การลดทอนองค์ความรู้ทั้งหลายเป็นข้อๆ พูดไปเรื่อยๆ จากสไลด์หนึ่งไปสู่อีกสไลด์หนึ่งมันไม่เวิร์ก คนเรียนก็รอไปเรื่อยๆ ว่าสไลด์หน้าต่อไปมันจะน่าสนใจหรือยัง เมื่อไหร่จะหมดซักทีน้อ
นักวิจัยเองก็สงสัยการเข้ามามีบทบาทของพาวเวอร์พอยต์ในการเรียนการสอน เลยดูบทบาทและความพึงพอใจของพาวเวอร์พอยต์ในการเรียนการสอนวิชาทางสังคมศาสตร์ ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Teaching Sociology ผลก็ตามชื่อบทความคือ ‘ฉันก็เลือกไม่ค่อยได้ : อาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากพาวเวอร์พอยต์ (“I’m Ambivalent about It” : The Dilemmas of PowerPoint)’ อาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้เกิดจากว่าอาจารย์ที่สอนวิชาทางสังคมพบทั้งประโยชน์และโทษของการมีพาวเวอร์พอยต์เป็นศูนย์กลาง
ข้อดีของการมีพาวเวอร์พอยต์คือ นักเรียนบอกว่าดีนะ มีประโยชน์ออก คือสไลด์เป็นแนวทางกว้างๆ ว่าตอนนี้กำลังสอนอะไรและหัวข้อไหนสำคัญ การมีสไลด์ทำให้คลาสนั้นน่าสนใจขึ้นไม่หลับ สไลด์ให้ภาพ (visual) สิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ในขณะที่ทางผู้สอนก็บอกว่าสะดวกนะ แต่บางทีสไลด์ก็เป็นตัวหันเหความสนใจของนักเรียนไปจากประเด็นหรือการสอนที่กำลังสอนอยู่ บางครั้งเด็กๆ เอาแต่ลอกสไลด์ลงกระดาษ ไม่นำไปสู่ความสนใจจริงๆ ในการถกเถียงซักถาม ลดทอนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาลงไป
Maryellen Weimer นักการศึกษาและบรรณาธิการทางการศึกษามองเห็นการโต้เถียงประเด็นก็บอก – อย่างที่เรารู้กันว่า พาวเวอร์พอยต์คือ ‘เครื่องมือ’ อย่างหนึ่งแหละเนอะ พอเราเห็นว่า ‘รูปแบบ’ การสอนที่ความสะดวกของพาวเวอร์พอยต์มอบให้มันมีอันตราย ทำให้เรื่องต่างๆ ลดความซับซ้อนลง พอเราห่วงว่าพาวเวอร์พอยต์จะทำให้นักเรียนไม่กระตืนรือร้น จะไม่กระตุ้นปฏิสัมพันธ์ในชั่วโมงเรียน ไปจนถึงไม่นำไปสู่การคิดเชิงวิพากษ์ไหม ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้สอนก็จะได้ทบทวนและระมัดระวังกันไป
สุดท้ายพาวเวอร์พอยต์มันไม่ได้ดีหรือเลว มันย่อมมีปัญหา มีข้อดีขอเสีย ซึ่งครูผู้สอนเองก็มีหน้าที่ที่จะจัดการแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก