จากผลสำรวจของ The MATTER Poll พบว่า ประชาชน 98.78% มีความสุขกับสภาพสังคมอันสงบเงียบไร้ความวุ่นวาย ส่วนประชาชน 84.49% ระบุว่า พึงพอใจกับเศรษฐกิจประเทศเราที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
อย่าเพิ่งเห็นคล้อยตามกับข้อมูลนี้นะ เพราะมันเป็นเพียงเรื่องสมมติเท่านั้น
ที่โปรยเข้าเรื่องมาแบบนี้ก็เพื่อที่จะชวนตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้เราเชื่อใจในผลโพลต่างๆ ได้มากแค่ไหน เคยสงสัยกันรึเปล่าว่า ที่เค้าทำโพลเรื่องโน่นนี่นั่นกันเนี่ย ทำไมไม่เห็นมาสอบถามเราบ้างเลย แล้วแบบนี้จะเหมารวมเอาไปเป็นความเห็นร่วมของคนทั้งประเทศได้จริงเหรอ มิหนำซ้ำ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็มักจะเอาผลโพลเหล่านี้ไปเคลมเป็นความชอบธรรมให้กับนโยบายต่างๆ ของตัวเองอีก ฟังไปก็อยากจะกลอกตาบนใส่ไปให้รัวๆ เนอะ
ถ้าพูดกันตามหลักการแล้ว การทำโพลมันก็ควรจะเป็นการสำรวจ ‘มติมหาชน’ (Public Opinion) จริงๆ นั่นแหละ แต่ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่าวิธีการทำต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ด้วย แค่นั้นไม่พอ ยังต้องเป็นโพลที่โปร่งใส และให้คนทั่วไปอย่างเราๆ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน
ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้สนใจศึกษาเรื่องพฤติกรรมการเมืองและความเห็นสาธารณะ บอกกับ The MATTER ว่า ปัญหาของการทำโพลในสังคมไทยวันนี้คือ หลายสำนักยังไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อสาธารณะเท่าที่ควร ทำให้วัฒนธรรมการอ่านโพลในบ้านเรายังไม่ค่อยเข้มแข็ง และตรวจสอบได้ยากว่าโพลเหล่านั้นได้มาตรฐานแค่ไหน
“ความไม่น่าเชื่อถือของโพลก็คือการไม่เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในการจัดทำโพลว่าเอามาจากไหนหรือได้มาอย่างไร การทำโพลคือการสะท้อนความเห็นของคนในสังคม ถ้าทำด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์มันก็จะเชื่อถือได้ เช่น เปิดเผยว่ากลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกมานั้นเอามาจากไหน ได้สัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ และตั้งคำถามกันอย่างไร” อ.อรรถสิทธิ์ บอกกับเรา
เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ The MATTER จึงอยากแนะนำว่า เวลาเราอ่านโพลก็ควรจะมีต่อม ‘เอ๊ะ’ ในใจกันพอสมควร เอาเป็นว่าโพลที่ดีและน่าเชื่อถือต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูลดังต่อไปนี้ให้กับเราได้
ใครคือกลุ่มตัวอย่าง
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้โพลน่าเชื่อถือ คือกลุ่มตัวอย่างหรือคนที่มาตอบคำถามควรสอดคล้องกับเป้าหมายของโพลด้วย เช่น การสำรวจแนวโน้มการลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็อาจจะต้องโฟกัสที่คน กทม. เป็นพิเศษ หรือถ้าอยากจะสำรวจคะแนนนิยมของรัฐบาลจากคนทั้งประเทศ ก็ควรรวบรวมความเห็นจากคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ว่าไปแอบมุบมิบถามกันแบบลับๆ เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ความอันตรายของการไม่เปิดเผยข้อมูลนี้คือ เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผลสำรวจที่ออกมานั้นสามารถสะท้อนความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นจริงๆ
สำรวจกลุ่มตัวอย่างกี่คน
จริงอยู่ที่มันเป็นไปได้ยากที่จะใช้โพลสำรวจความเห็นของคนทั้งประเทศนับล้านคนได้ ในทางสถิติจึงมีการออกแบบ ‘จำนวนที่เหมาะสม’ สำหรับการทำโพลมาใช้กัน ยกตัวอย่างในทางสถิติจะมีหลักเกณฑ์ที่ยอมรับกันได้คือ ถ้าเรื่องนั้นๆ มีประชากรเกิน 1 ล้านคน ก็อนุโลมให้ใช้จำนวน 1,250 คนแทนได้ ไม่ใช่ว่าสำรวจความเห็นจากคนในหมู่บ้านมา 10-20 คนแล้วเคลมว่าเป็นตัวแทนของคนทั้งจังหวัดไปเฉยๆ
อย่างไรก็ตาม โพลที่ดียังต้องระบุให้เราเห็นด้วยว่า จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่นำมามีค่าความคลาดเคลื่อนเท่าไหร่ด้วยก็จะยิ่งดี
ใช้กลุ่มตัวอย่างซ้ำๆ รึเปล่า
โพลหลายสำนัก มักมีกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเจ้าประจำที่พร้อมตอบคำถามให้อยู่แล้ว ในแง่หนึ่งมันช่วยให้การทำโพลสะดวกขึ้น เพราะไม่ต้องไปตามล่าหาคนมาตอบแบบสอบถามใหม่ให้เสียเวลา อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรระวังด้วยว่า การทำแบบนี้ซ้ำๆ กับกลุ่มตัวอย่างเดิมๆ คนที่ตอบคำถามก็จะคาดเดา และจับทางได้ว่า สัปดาห์นี้จะมีคนเอาโพลมาให้เค้าตอบแน่ๆ และพวกเค้าก็อาจจะเตรียมเลือกตอบตามความคาดหวังของสังคม มากกว่าความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง (ในเชิงวิชาการเรียกภาวะแบบนี้ว่า Social Desirability Bias)
เพราะฉะนั้น โพลที่ดีควรจะเปิดเผยถึงรายละเอียดของการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน หากใช้วิธีสุ่มกลุ่มตัวอย่างก็ควรระบุว่า สุ่มจากใคร สุ่มด้วยวิธีไหน สุ่มคนกลุ่มใหม่ทุกสัปดาห์ไหม แน่นอนว่าวิธีการเหล่านี้อาจดูยุ่งยาก หากแต่มันก็ช่วยยกระดับให้โพลมีความน่าเชื่อถือขึ้นได้
ตั้งคำถามว่าอะไร ชี้นำหรือไม่
ขึ้นชื่อว่าเป็นการสำรวจความคิดเห็น การตั้งคำถามจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าคำตอบ ดังนั้นโพลที่ดีควรเปิดเผยให้เราเห็นว่า เค้าตั้งคำถามอย่างไรบ้าง เพราะหลายต่อหลายครั้ง คำถามในโพลมักเข้าข่ายชี้นำ โดยที่คนตอบก็ไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังถูกโพลตีกรอบเอาไว้อยู่ แนวคำถามที่ไม่เหมาะสมในการทำโพล เช่น เห็นด้วยหรือไม่กับลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ เห็นด้วยหรือไม่กับการสร้างรถไฟที่ใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งคำถามเช่นนี้มีธงไว้ในใจอยู่แล้ว และคนตอบก็ไม่ค่อยมีตัวเลือกในการปฏิเสธมากนัก
เรียงคำถามอย่างไร เรียงได้เหมาะสมรึเปล่า
เปิดเผยคำถามอย่างเดียวไม่พอ ที่สำคัญต้องบอกด้วยว่าเรียงลำดับคำถามอย่างไร เพราะในโลกแห่งการทำโพลนี้ก็มีการวางค่ายกลเพื่อหลอกล่อคนตอบคำถามด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การเรียงลำดับคำถามโดยเริ่มต้นจากคำถามว่า “คุณพอใจกับสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้แค่ไหน” ก่อนที่จะเริ่มขยายความในข้อต่อๆ มาว่า “คุณพอใจกับนโยบายเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังหรือไม่” แล้วค่อยมาจบที่ “คุณพอใจกับรัฐบาลชุดนี้หรือไม่” จะเห็นได้ว่า คำถามเหล่านี้จะค่อยๆ ตะล่อมตีกรอบคำตอบจากเราทีละเล็กทีละน้อย เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปบางอย่าง
วัฒนธรรมการอ่านโพลที่เข้มแข็ง จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการจับผิดโพลเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังช่วยป้องกันไม่ให้เสียงสะท้อนเหล่านั้นถูกใครก็ไม่รู้เอาไปใช้ในทางที่ผิดๆ ด้วยเช่นกัน