พูดถึงวัฒนธรรมเพลงแร็ป ฮิปฮอป หลายคนคงนึกถึงเพลงที่มีจังหวะเร็ว รัว เนื้อเพลงดุเดือด มีศัพท์แสลงเยอะๆ ปนความหยาบคายหน่อยๆ หรือภาพแร็ปเปอร์ที่ต้องแต่งตัวเท่ๆ เสื้อผ้าหลวมๆ ตัวใหญ่ๆ พร้อมเครื่องประดับอย่างหมวก สร้อย โซ่ทอง สนีกเกอร์คู่ใหญ่ๆ ที่มีสไตล์เฉพาะตัว
แต่วัฒนธรรมเพลงแร็ป และฮิปฮอป ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของแฟชั่น การแต่งตัว ที่มีเพื่อเสพอย่างบันเทิงเท่านั้น เพราะในประวัติศาสตร์ เรื่องราวทางการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ล้วนแต่มีเพลงแร็ป ฮิปฮอป ที่เข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม หรือแม้แต่การเมืองมาแล้วนักต่อนัก ซึ่งเรียกได้ว่า แนวเพลงแร็ป/ฮิปฮอปนี่แหละ เป็นหนึ่งในเครื่องมือหนึ่งในการแสดงออกทางการเมืองเลยก็ว่าได้
ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังดุเดือด กับประเด็นเพลงแร็ปและ MV ‘ประเทศกูมี’ ของโปรเจ็กต์รวมกลุ่มแร็ปเปอร์ Rap Against Dictatorship ที่ออกมารัวแร็ป วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ ทางการออกมาขู่ว่าจะเอาผิดคนทำเพลงและ MV จึงน่าสนใจว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองในที่ต่างๆ มีการใช้แร็ปเป็นเครื่องมือกันแบบไหน และในประเทศต่างๆ มีการเอาผิดศิลปิน อย่างที่บ้านเราขู่จะทำหรือไม่
ประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของต้นกำเนิดของการเมืองฮิปฮอป
แร็ป และฮิปฮอป มีต้นกำเนิดในประเทศสหรัฐฯ ในช่วงยุค 1970s ซึ่งพัฒนาขึ้นมากลายเป็นแนวเพลงแนวหนึ่งที่เป็นที่นิยมทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ ในหน่วยย่อยของแนวเพลงฮิปฮอปเอง เมื่อเราแบ่งลึกลงไปก็จะพบว่า มีแนวเพลงฮิปฮอปการเมือง ที่เรียกกันว่า ‘Political hip hop’ หรือ ‘Conscious hip hop’ อยู่ด้วย ส่วนใหญ่แล้วเป็นการแร็ปเสียดสีการเมือง ท้าทายประเด็นต่างๆ ในสังคม ซึ่งต่างก็พัฒนาควบคู่มากับการกำเนิดเพลงฮิปฮอปมาโดยตลอด
โดยกลุ่มฮิปฮอปที่ออกมาพูดถึงเรื่องการเมืองกลุ่มแรกๆ คือ The Last Poets ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Political hip hop กับเพลง ‘When The Revolution Comes’ ในปี 1970 ที่พูดถึงความสูญเสีย และการรุนแรงเมื่อเกิดการปฏิวัติ ที่ต้นทุนการสูญเสียมีอยู่รอบทิศทาง ปืนและไรเฟิลจะมาแทนที่บทกวี และบทความ
แม้จะเป็นเพลงที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ยุคนั้น แต่เนื้อเพลงก็ยังเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ เพลงนี้ไม่ใช่การร้องด้วยการแร็ปอย่างในปัจจุบัน แต่เป็นเหมือนการอ่านกลอนประกอบเพลงมากกว่า รวมถึงบีทที่เป็นเสียงกลองทอม ไม่ใช่แนวอิเล็กโทรนิกส์หนักๆ แต่ก็เรียกได้ว่า เพลงและอัลบั้มนี้ ได้ทำให้เพลงแร็ปกลายเป็นอาวุธของคนผิวดำ ในการเรียกร้องสิทธิในอเมริกา และยังเป็นเครื่องมือแสดงออกทางสังคมของผู้ที่ถูกกดขี่ ใต้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมด้วย
ต่อมาในยุค 1980s หลังอดีต ปธน.โรนัลด์ เรแกน เข้ามาดำรงตำแหน่ง สถานการณ์ของชาวผิวดำ หรือแอฟริกัน-อเมริกันกลับแย่ลง คนผิวดำถูกกดขี่ ว่างงาน ถูกตำรวจทำร้าย มีโรงเรียนไม่เพียงพอ สังคมและการเมืองไม่สนใจคนกลุ่มนี้ ทำให้แร็ปแนววิพากษ์สังคมเกิดมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ‘How We Gonna Make The Black Nation Rise?’ (เราจำทำให้ชนชาติของคนผิวดำผงาดยังไง?) ของ Brother D ฟีทเจอร์ริ่งกับ Collective Effort
และอีกเพลงที่ประสบความสำเร็จมากในวงการฮิปฮอป อย่าง ‘The Message’ ของ Grandmaster Flash and the Furious Five ที่ใส่เต็มมาทั้งเรื่องสภาพความยากจน ความรุนแรง การตายในสังคมเมือง เด็กที่เกิดและเติบโตในสลัม พร้อม MV ที่ตอนจบกลุ่มของคนผิวดำถูกตำรวจจับกุม เพียงแค่ออกมายืนกันเป็นกลุ่ม ซึ่งประเด็นการเมืองและปัญหาในสังคมช่วงนี้ ยิ่งทำให้เพลงฮิปฮอปมีอิทธิพล และมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น
แร็ปดุเดือดสไตล์ GANSTA RAP
ถ้าพูดถึงแร็ป ฮิปฮอปการเมืองแล้ว ยังไงเราก็ต้องพูดถึงการแร็ปแบบ GANSTA RAP ลีลานักเลง ที่เรามักเห็นความคาบเกี่ยวกับแร็ป Political /Conscious hip hop ซึ่งผู้บุกเบิกการแร็ปแนวนี้ ได้ผสมผสานเนื้อเพลงแร็ปด้วยเรื่องราวอย่างอาชญากรรม ภาพความรุนแรง โดยใช้ภาพเหล่านี้สะท้อนสถานะ แสดงความเห็นต่อการเมือง เปิดเผยประเด็นในชุมชนแออัดยากจนต่อสังคมโดยรวม
หนึ่งในงานที่โดดเด่นของ Gansta Rap คือผลงานของกลุ่ม ‘NWA’ กับอัลบั้มเดบิวต์ Straight Outta Comptonในปี 1988 ที่ทำให้แร็ปแบบ Gansta กลายเป็นกระแสหลัก และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมอเมริกา กับเนื้อเพลงรุนแรง เกรี้ยวกราดอย่างประเด็นยาเสพติด ปืน อิทธิพลของพ่อค้ายา การตายของวัยรุ่นผิวดำที่ไปพัวพันกับแก๊ง จนทำให้ชาวอเมริกันสนใจประเด็นนี้ เกิดความเห็นหลากหลาย โดยเฉพาะเพลง ‘Fuck tha Police’
และผลของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมผ่านเสียงเพลงของ NWA ก็ทำให้เพลงนั้นโด่งดัง ได้รางวัลแผ่นเสียงทองคำในเวลาเพียงแค่ 6 อาทิตย์หลังโปรโมท และแม้สมาชิก NWA จะแยกตัวไปทำงานส่วนตัวแล้ว แต่ผลงานของพวกเขายังถูกยกย่องว่าส่งผลต่อการปฏิวัติทางสังคมมาถึงทุกวันนี้ ทั้งเรื่องราวของ NWA ยังถูกเอาไปทำหนังสารคดี Straight Outta Compton ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับอัลบั้มเดบิวต์
แร็ปวิพากษ์การเมืองในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ เพลงฮิปฮอปกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก โดยเฉพาะในทางการเมือง ขนาดที่หนังสือพิมพ์ The Washington Post เขียนบทความ ‘The politician’s guide to how to be down with hip hop’ ซึ่งอ้างอิงการใช้วัฒนธรรมฮิปฮอปในทางการเมือง ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ฮิปฮอปของนักการเมืองในยุคก่อน อาจทำให้นักการเมืองในปัจจุบันไม่อาจเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้
รวมถึงเรายังเห็นภาพของนักการเมืองอย่าง บารัก โอบามา อ้างถึงเพลงแร็ป Dirt Off Your Shoulder ของ Jay Z ในสมัยการหาเสียงแข่งเป็นตัวแทนพรรคกับฮิลลารี คลินตัน หรือวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน มาร์โค รูบิโอ ที่เป็นแฟนเพลงของ Tupac และ Gangsta rap กล่าวว่า”ในบางครั้งแร็ปเปอร์ก็เป็นเหมือนผู้รายงานข่าว คุณมีสงครามระหว่างแก๊ง ความตึงเครียดทางเชื้อชาติและพวกเขาก็รายงานพวกมันออกมา”
ในยุคนี้ ของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ค่อนไปทางกีดกันผู้อพยพ ยิ่งทำให้เพลงแร็ปแนวนี้กลับมานิยม และมีผู้คนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ในสังคมพร้อมเปิดรับฟังมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ชื่อของทรัมป์เคยปรากฏอยู่ในเนื้อแร็ปของศิลปินมาแล้วมากมาย หลาย 10 ปี แต่มักจะเป็นไอคอนของเศรษฐี และความร่ำรวย แต่หลังทรัมป์ลงเล่นการเมือง ชื่อของเขาในเพลงแร็ปก็เปลี่ยนไป เป็นการถูกวิพากษ์วิจารณ์แทน
ซึ่งเมื่อต้นปี CNN ได้จัดอันดับ 7 แร็ปเปอร์ที่ทำให้ชาวอเมริกัน ตื่นขึ้น หรือกระตุ้นให้สงสัย มีส่วนร่วมในระบบการเมือง ผ่านการเคลื่อนไหวด้วยเพลงแร็ปที่ดีเบตถึงสังคม การเมือง ให้เกิดพลังทางสังคม ซึ่งมีทั้งแร็ปเปอร์ชื่อดัง Jay-Z, Eminem, Kendrick Lamar, J. Cole, Vic Mensa, แร็ปเปอร์สาว Rapsody และแร็ปเปอร์รุ่นใหม่วัย 22 ปี Joey Bada$$
ทั้ง 7 แร็ปเปอร์ มีจุดร่วมที่สำคัญคือถ่ายทอดผลงานออกมา ด้วยประเด็นทางสังคม เช่น เรื่องโรคซึมเศร้า, การเหยียดเชื้อชาติ สีผิว, คนผิวขาวเป็นใหญ่, วิจารณ์การแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ของรัสเซีย ไปถึงการแร็ปฟรีสไตล์ของ Eminem ความยาว 4.5นาที ที่ออกมาโจมตีทรัมป์อย่างดุเดือดในวิดีโอการประกวด Batch Hip Hop Awards ปี 2017 ที่แร็ปวิจารณ์ว่าทรัมป์เหยียดเชื้อชาติ นโยบายเหมือนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ต้องการลดภาษี แต่นำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พร้อมจบการแร็ปด้วยการกระตุ้นชาวอเมริกันว่า “The rest of America stand up, We love our military, and we love our country, But we fuc*ing hate Trump.”
ในปีนี้เอง ก็ยังมีผลงานเพลงแร็ปที่สั่นสะเทือน เป็นไวรัลไปทั่วอเมริกามาแล้ว กับ ‘This Is America’ ของดารา-ศิลปินฮิพฮอพ Childish Gambino หรือชื่อจริง Donald Glover ด้วย MV และเนื้อเพลงเสียดสีสังคม มีภาพชายผิวสีหยิบปืนยิงใส่ชาวผิวสี การกราดยิงในโบสถ์ และเด็กๆ มัธยมที่เต้นสนุกสนานท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายเบื้องหลัง พร้อมท่อนฮุคที่เสียดสีประเทศอเมริกาว่า ‘This is America’ ซึ่งเพลงนี้ ก็ถูกยกว่าเป็นเพลงที่ทรงพลัง ที่สะท้อนสังคมอเมริกันที่มีปัญหามากมายได้เป็นอย่างดี
K-Hiphop กับการเมืองในเอเชีย
พูดถึงแร็ปในฝั่งสหรัฐฯ กันแล้ว เราก็อยากยกตัวอย่างประเทศในเอเชีย อย่างเกาหลีใต้บ้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลฮิปฮอป และวงการเพลงแนวนี้ก็เติบโตมาก ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกาหลีใต้เองก็ใช้เพลงแร็ปเป็นเครื่องมือแสดงออกทางเมืองมาตลอด
ยุคที่ฮิปฮอปเริ่มเข้ามาในเกาหลีใต้ วงบอยกรุ๊ป Seo Taeji & Boys ถือว่าเป็นวงที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลง และถือเป็นผู้บุกเบิกการแร็ปในเกาหลี ด้วยการใช้เพลงวิพากษ์วิจารณ์สังคมเกาหลี แม้ในยุคนั้นสังคมเกาหลีจะมีแรงกดดันเรื่องจริยธรรม และการเซ็นเซอร์
เพลงของ Seo Taeji & Boys มีเนื้อเพลงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล ความหวังว่าเกาหลีเหนือ-ใต้จะรวมประเทศ รวมไปถึงเรื่องการศึกษา กับเพลง ‘Kyoshil Idea’ ในปี 1994 ที่วิจารณ์ระบบการศึกษาของเกาหลีที่มีแรงกดดันต่อวัยรุ่นในการเรียน และสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่างในเนื้อเพลงที่ร้องว่า ‘ทุกๆเช้าคุณจะพาเราเข้าไปในห้องเรียนเล็กๆ ในเวลา 7:30 น. และบังคับให้เด็กทั่วประเทศ 7 ล้านคนทำสิ่งเดียวกัน ห้องเรียนที่ปิดสนิทเหล่านั้นกลืนกินเรา ชีวิตของฉันแพงเกินไปกว่าจะถูกทิ้งไว้ที่นี่’
ผลจากเนื้อเพลงแร็ป ฮิปฮอปแหวกแนว กล้าวิพากษ์สังคมอย่างกล้าหาญ ทำให้ Seo Taeji & Boys ถูกจับตาจากภาครัฐ เคยถูกแบนจากช่องทีวีของเกาหลีเพราะสวมต่างหู ใส่กางเกงยีนส์ ทำผม dreadlocks ซึ่งคณะกรรมการจริยธรรมมองว่า Seo Taeji & Boys เคลื่อนไหวต่อต้านและการปฏิเสธบรรทัดฐานทางสังคม ถูกกล่าวหาว่าเป็นวงที่ส่งข้อความจากซาตาน แต่สุดท้ายผลงานที่วงนี้ทิ้งไว้ก็ได้บุกเบิก และสร้างวัฒนธรรมการแร็ปให้กับเกาหลีจนถึงทุกวันนี้ ทั้งแร็ปเปอร์หลายคนก็ยังคงได้แรงบันดาลใจในการทำเพลงจาก Seo Taeji & Boys
ในทุกวันนี้ แร็ปและฮิปฮอปกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้นในเกาหลี ซึ่งการแร็ปวิจารณ์การเมืองก็ยังคงเป็นที่นิยมทั้งในวงการบนดิน และใต้ดิน ยิ่งในช่วงปัญหาการเมืองในเกาหลี ของข่าวฉาวการฉ้อโกง ติดสินบน ของอดีตปธน.พัค กึนฮเย ก็มีแร็ปเปอร์ออกมาทำเพลงขับไล่เธอออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องการเรียกตั้งใหม่ด้วย เช่น Jerry.K กับเพลง ‘HA-YA-HEY’ ที่แปลออกมาว่า ‘ลาออก’ หรือ ‘hypocrite’ ของ Owen Ovadoz ที่วิจารณ์ว่าอดีตปธน. พัคเป็นคนเสแสร้ง ด้วยเนื้อ ‘o here I am as a rapper talking politics who’s the real hypocrite that only talks the talk can’t you tell?’
นอกจากประเทศที่ยกขึ้นมาเล่าให้ฟังแล้ว ในประเทศอื่นๆ เช่นในลาตินอเมริกา อังกฤษ หรือออสเตรเลียเอง ก็มีวัฒนธรรมการแร็ปวิจารณ์สังคม ที่ใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง และยังมีแนวโน้มว่าการแร็ปแบบนี้ จะยังคงอยู่คู่กับการเมืองในแต่ประเทศไปด้วยกัน
น่าสนใจว่าวัฒนธรรมการแร็ปในไทย จากรายการทีวีต่างๆ ไปจนถึง MV เพลง ‘ประเทศกูมี’ ที่เพิ่งออกมา จะทำให้การแร็ปกลายเป็นเครื่องมือกระแสหลัก ในการแสดงออกทางการเมืองของบ้านเราได้แค่ไหน
อ้างอิงจาก