“เสนอไอเดีย/ลองทำแบบนี้ดีไหม?”
“ไม่เอาดีกว่า มันยังดีไม่พอหรอก”
ตั้งแต่ทำงานมา เราเคยเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นกับตัวเองบ้างหรือเปล่า? คำถามที่คอยฉุดรั้งความมั่นใจของเราไว้ให้หยุดนิ่ง หากเรามักตั้งคำถามแบบนี้กับตัวเองบ่อยๆ เราอาจจะเป็นคนที่มี ‘ความนับถือในตัวเอง (self-esteem)’ ต่ำกว่าคนอื่นก็ได้นะ
ความไม่มั่นใจที่มากกว่าการหมุนตัวหน้ากระจกในชีวิตประจำวัน ความไม่มั่นใจที่ลามมาถึงโต๊ะทำงาน มาดูกันว่า หากเราเป็นคนที่ไม่มั่นใจในการทำงานของตัวเองเอาเสียเลย เราจะแก้ไขมันได้ยังไงบ้าง
การขาด self-esteem ในชีวิตประจำวัน เราอาจจะไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเอง ไม่มั่นใจในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นที่รัก เพราะเราเองยังดีไม่พออยู่เสมอ แต่เมื่อเรามี self-esteem ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในการทำงาน เรามักจะตั้งคำถามถึงความสามารถของเราเองเสมอ “เราทำสิ่งนี้ได้ดีพอไหมนะ?” “เราทำได้ไม่สู้คนอื่นๆ หรอก” จนไม่กล้าที่จะให้ตัวเราเองต้องมีความเสี่ยงในการทำงาน
มันเริ่มต้นจากไม่กล้าเสนอไอเดียใหม่ๆ เพราะกลัวว่ามันยังดีไม่พอ หรือไม่มั่นใจที่จะพูดออกไป จนเลือกที่จะเก็บไว้ก่อนแล้วกัน จนทำให้ในระยะยาว เราไม่กล้าออกจาก comfort zone ของตัวเอง เพราะการก้าวไปมากกว่านี้ มันเกินความมั่นใจของเราเองไปแล้ว หรือแม้แต่ไม่กล้าเรียกร้องผลประโยชน์ ให้สมน้ำสมเนื้อกับความสามารถ “เขาให้แค่ไหนก็รับไว้แล้วกันนะ” “ไม่กล้าขออะไรมากกว่านี้หรอก”
ผลการวิจัยจาก University of Messina ในปี ค.ศ.2008 ว่าด้วยเรื่อง “Self-Esteem and Earnings” พูดถึงความแตกต่างของรายได้สำหรับพนักงานออฟฟิศที่มี self-esteem ในการทำงานที่ต่างกัน สำหรับคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากกว่า พวกเขามักจะมีรายได้ที่มากกว่า $28,000 หรือประมาณ 843,360 บาท/ปี
ราคาที่ต้องจ่ายอาจไม่ชัดเจนกับตัวเลขที่เราชวดมันไป ทั้งที่มันคือผลประโยชน์ในการทำงานของเรา ที่เราเอื้อมมือคว้าไม่ถึง เพราะถูกดึงไว้ด้วยความไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การเป็น self-esteem ต่ำในการทำงาน อาจไม่ได้ส่งผลเสียถึงคนรอบข้างอย่างชัดเจน แต่ผลเสียของมัน มักจะอยู่ที่ตัวเรามากกว่า เราเข้าใจดีว่าคนเราไม่อาจเปลี่ยนกันได้เพียงชั่วข้ามคืน หรือในการอ่านบทความครั้งเดียว ค่อยๆ เติมความมั่นใจให้เราเอง ด้วยวิธีที่ไม่เกินความมั่นใจของเรากันเถอะ
มองหาจุดแข็งและบวกความแกร่งเข้าไป
พอกลับมาในพื้นที่ส่วนตัวของเรา ที่ไม่มีสายตาของใครคอยจับจ้อง ลองถามตัวเองดูว่า “เราทำอะไรได้ดีที่สุด” ไม่ต้องกลัวคำตอบ นึกไว้เสมอว่าแต่ละคนต่างมีข้อดีและข้อเสียของตัวเอง เราเองก็เหมือนกัน เราอาจมีข้อเสียในเรื่องความมั่นใจ แต่เราก็มีข้อดีที่เป็นจุดแข็งของเราอยู่
วิลเลียม อาร์รูด้า (William Arruda) ผู้เขียนหนังสือ ‘Career Distinction’ แนะนำเรื่องนี้ไว้ว่า “หนึ่งในหนทางที่ดีที่สุด ที่จะสร้างความมั่นใจให้เราได้ คือ เราต้องรู้อย่างแน่ชัดว่าเรามีจุดแข็งอะไร และนำจุดแข็งนั้นไปใช้ในการทำงานทุกๆ วันของคุณ”
อย่าลืมพัฒนาจุดแข็งของเรา ให้เก่งขึ้นอยู่เสมอ ลับคมทักษะ หยิบมันออกมาใช้งานบ่อยๆ คนรอบข้างอาจเห็นจุดแข็งของเราเอง โดยที่เราไม่ต้องนำเสนอด้วยซ้ำ และอีกอย่างที่วิลเลียมแนะนำไว้ ถ้าหากเรารู้สึกว่าหน้าที่ที่เราทำอยู่เนี่ย มันทำให้เราไม่ได้แสดงศักยภาพ หรือจุดแข็งของเราออกมาเลย เราอาจจะต้องพิจารณาหาหน้าที่หรือตำแหน่งที่เหมาะกับเราต่อไป เพื่อไม่ให้ความสามารถของเรานั้นสูญเปล่า
รับพลังบวกจากคนรอบข้าง
การเลือกเพื่อนรอบตัวก็สำคัญ ตัวเลขที่น่าสนใจจาก Good&Co แพลตฟอร์มใช้หางานบอกไว้ว่า กว่า 31% ของคนที่มีเพื่อนรู้ใจที่ออฟฟิศ จะช่วยให้รู้สึกเข้มแข็งและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และยิ่งคนในออฟฟิศมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงต่อกันมากเท่าไหร่ บรรยากาศในออฟฟิศก็ยิ่งดีขึ้นตามไปด้วย
สอดคล้องกับ จิม รอห์น (Jim Rohn) นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตนเอง สนับสนุนให้เราอยู่กับผู้คนที่น่าคบหาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานก็ตาม
ดังนั้น พยายามอยู่กับคนที่จะไม่ลดทอนความมั่นใจอันน้อยนิดของเรา ให้เหือดแห้งลงไปกว่าเดิม ให้ความมั่นใจกับตัวเอง เราไม่เก่งสักเท่าไหร่ งั้นลองมารับความมั่นใจจากคนรอบข้างดูบ้าง อยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่คอยสนับสนุนเราอยู่เสมอ อาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจเหมือนกัน จึงเข้าอกเข้าใจ หรือคนที่มีความมั่นใจมากๆ ที่คอยเสริมความมั่นใจให้เราเสมอ
โฟกัสไปที่ความสำเร็จของตัวเอง
ลองตั้งเป้าหมายในการทำงานให้ตัวเอง หากยังไม่มั่นใจ ลองตั้งในระดับที่คิดว่าตัวเองทำได้แน่ๆ มาก่อน แต่ถ้าอยากท้าทายตัวเองขึ้นมาหน่อย ลองเขยิบไปสู่เป้าหมายที่ยากขึ้นอีกนิด ระหว่างทางที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น
ลองแบ่งขั้นตอนเป็นช่วงๆ อาจจะเป็นเป้าหมายระยะยาว เส้นทางการทำงาน หรือเป็นโปรเจ็กต์สั้นๆ ก็ได้ทั้งนั้น แต่ที่สำคัญคือ เราต้องติดตามผลของมันตลอด ว่าเราสำเร็จไปกี่เปอร์เซ็นแล้วนะ เราขึ้นบันไดมาได้กี่ขั้นแล้ว และให้รางวัลตัวเองในทุกครั้งที่เราทำสำเร็จ แม้จะเป็นความสำเร็จระหว่างทางก็ตาม
ลินน์ เทย์เลอร์ (Lynn Taylor) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ในที่ทำงาน และผู้เขียนหนังสือ ‘Tame Your Terrible Office Tyrant’ ได้แนะนำในเรื่องนี้ไว้ว่า “ความมั่นใจจะปรากฏ ต่อเมื่อเรามีความภาคภูมิใจในงานของเรา บวกกับการมีทัศนคติที่ดีด้วย” ในทุกครั้งที่เราทำสำเร็จ อย่าลืมชื่นชมและภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เพื่อเรียกความมั่นใจของเราให้มันออกมาอย่างธรรมชาติ
บทความจาก Forbes บอกว่า คนที่ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง มักไม่กล้าเผชิญกับความเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องงาน เราจึงมักทำอะไรซ้ำๆ อยู่ใน comfort zone ของเรา ในขอบเขตที่เราคิดว่าเราจะไม่ผิดพลาด จะไม่ถูกตำหนิ แต่เราจะไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าเลย ถ้าเรายังทำงานตามมาตรฐานเดิมทุกวัน
การสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง อาจจะต้องเริ่มที่ความภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำเสียก่อน ลองก้าวออกจากพื้นที่แสนสบายใจ ไปสู่ความท้าทายเล็กน้อยให้กับตัวเอง ความสำเร็จเรื่องเล็กน้อยในครั้งที่เราก้าวออกไป อาจจะเป็นประตูบานใหม่ให้เราก้าวขึ้นบันได self-esteem ไปอีกหนึ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก