ถึงตอนนี้ ยังมีคนเรียก Sputnik V วัคซีนโควิดจากรัสเซียว่า “สปุตนิก ไฟว์” อยู่บ้าง ทั้งที่จริงๆ มันออกเสียงว่า “สปุตนิก วี” โดยตัวอักษร V หมายถึงชัยชนะ (victory)
ซึ่งการใช้ชื่อของดาวเทียมดวงแรกที่ถูกส่งไปโคจรรอบโลกในปี ค.ศ.1957 มาตั้งเป็นชื่อวัคซีนไว้ต่อสู้กับโรคร้ายที่กำลังคุกคามคนทั้งโลก ด้านหนึ่งเป็นสัญญะแทนความภาคภูมิใจของคนในชาติรัสเซีย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ถูกมองว่าต้องทำการให้ผู้คนหวนนึกถึงเรื่องราวในอดีต สมัยที่ยังใช้ชื่อว่าสหภาพโซเวียต ที่มีวิทยากรล้ำหน้าจนเอาชนะคู่แข่งในศึก space race ได้ในช่วงต้น
แม้ว่าครั้งนี้ จะเป็น vaccine race ก็ตาม
หลายๆ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิดที่ชื่อว่า Sputnik V ที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นหนึ่งในวัคซีนที่รัฐบาลนำมาฉีดให้กับคนไทย
วันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ.2020 ระหว่างการประชุมทางวิดีโอร่วมกับสมาชิกคณะรัฐบาลของรัสเซีย ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน พร้อมด้วย รมว.สาธารณสุข มิคาอิล มูราชโก ได้กล่าวถึงการลงทะเบียนรับรองวัคซีนต้านไวรัสโควิดเป็น ‘รายแรกของโลก’
ทั้งนี้ ปูตินได้กล่าวแสดงความยินดีกับอเล็กซานเดอร์ กินตส์บูร์ก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยา กามาเลยา (Gamaleya) และคณะนักวิจัยของสถาบัน พร้อมกับเปิดเผยว่า หนึ่งในลูกสาวของตนได้ทดลองฉีดวัคซีนชนิดนี้ไปแล้ว ปรากฏว่าได้ผลดีและไม่มีผลข้างเคียงอะไร นอกจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นเล็กน้อย ในวันแรกๆ หลังการฉีดวัคซีนดังกล่าว
วัคซีนดังกล่าว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Gam-COVID-Vac และมีชื่อทางการค้าว่า Sputnik V
ถึงปัจจุบัน (9 พฤษภาคม ค.ศ.2021) กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียได้รับรองวัคซีนโควิดไปแล้วทั้งสิ้น 4 รายการ ดังนี้
- Gam-COVID-Vac (Sputnik V) – adenovirus viral vector vaccine (Ad26 + Ad5) โดยสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยา น.ฟ.กามาเลยา (รับรองเมื่อ 11 สิงหาคม ค.ศ.2020)
- EpiVacCorona – peptide-based subunit vaccine โดยศูนย์วิจัยแห่งรัฐด้านไวรัสวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ “เวคเตอร์” (รับรองเมื่อ 13 ตุลาคม ค.ศ.2020)
- CoviVac – inactivated virus-based vaccine โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านภูมิคุ้มกันและชีววิทยาชูมาคอฟ ในกำกับของสภาวิทยาการรัสเซีย (รับรองเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2021)
- Sputnik-Light – adenovirus viral vector vaccine (Ad26) โดยสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยา น.ฟ.กามาเลยา (รับรองเมื่อ 6 พฤษภาคม ค.ศ.2021)
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีก 2 รายการที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยที่รัสเซียมีส่วนร่วมด้วยได้แก่ 1) Ad5-nCoV (Convidecia) โดย CanSino Biologics Inc. ของจีน ร่วมกับ Petrovax Pharm และ 2) วัคซีน (ยังไม่มีชื่อ) โดยสถาบันค้นคว้าวิจัยด้านวัคซีนและเซรั่มแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
อย่างไรก็ดี วัคซีนรัสเซียที่ถูกกล่าวถึงในสังคมโลกมากที่สุดเป็นอันดับแรกคงหนีไม่พ้น Sputnik V ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ได้แล้วใน 64 ประเทศ ขณะที่ในบรรดาวัคซีนตัวอื่นของรัสเซียนั้น มีเพียง EpiVacCorona ที่นอกจากรัสเซียแล้ว ก็เติร์กเมนิสถานที่รับรองให้ใช้ในประเทศได้
ถือได้ว่า Sputnik V เป็น ‘วัคซีนเรือธง’ ที่รัสเซียหมายมั่นปั้นมือจะใช้ต่อกรกับการระบาดของโควิดในประเทศ และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้าง soft power ในต่างประเทศด้วยนโยบาย ‘การทูตวัคซีน’ โดยมีกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซียเป็นหัวหอกในการประสานความร่วมมือกับต่างชาติ
ชื่อนั้นสำคัญไฉน? เพราะมันเป็นความภูมิใจของชาติ
ชื่อวัคซีน Sputnik V ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาแค่เอาเท่ หากแต่ถูกคิดมาอย่างดี โดยมีที่มาจากความสำเร็จของรัสเซียใน 2 เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัสเซียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยเลวาดา เรื่องความภาคภูมิใจและอัตลักษณ์ กับคำถามที่ว่า “เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ใดในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ทำให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจ” ใน 9 ครั้งที่ทำการสำรวจล่าสุด ระหว่างปี ค.ศ.1999 – 2020 คำตอบของชาวรัสเซีย 2 อันดับแรก ก็คือ
- ชัยชนะของ (โซเวียต) รัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สอง
- บทบาทนำของ (โซเวียต) รัสเซียในการสำรวจอวกาศ
วัคซีน Gam-COVID-Vac จึงได้รับการสถาปนาชื่อใหม่ให้เก๋ไก๋ไฉไลว่า Sputnik V ให้สมกับที่เป็นวัคซีนต้านไวรัสโควิดรายแรกของโลก ที่ผ่านการรับรองให้ใช้กับมนุษย์ เพื่อเอาชนะไวรัสซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่สำหรับมวลมนุษยชาติในปัจจุบัน
เว็บไซต์ทางการของวัคซีน อธิบายที่มาของคำ สปุตนิก (Sputnik) ของชื่อวัคซีน Sputnik V ว่ามีต้นกำเนิดจากชื่อดาวเทียมดวงแรกของโลก เพราะการคิดค้นวัคซีนสำเร็จของรัสเซียทำให้โลกได้พบกับ “Sputnik Moment” อีกครั้ง หลังจากในอดีต ดาวเทียม Sputnik-1 ของโครงการอวกาศสหภาพโซเวียต ที่ถูกปล่อยสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1957 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ อันนำไปสู่การพัฒนาด้านอวกาศอย่างต่อเนื่องของสหภาพโซเวียต ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงของการแข่งขันด้านสำรวจอวกาศกับสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกันว่า space race
และถ้าเทียบเป็นการแข่งวิ่ง น่าจะถือได้ว่าโซเวียตออกตัวแรงนำหน้าสหรัฐฯ ไปก่อนจากการส่งดาวเทียมขึ้นสู่งโคจรได้เป็นชาติแรก
ต่อมาสหภาพโซเวียตได้ส่งยานอวกาศ Sputnik-2 ออกสู่วงโคจรโลก ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1957 โดยคราวนี้ได้พาเอาสิ่งมีชีวิตขึ้นไปด้วย คือสุนัขเพศเมีย ไลก้า เป็นการทดสอบการโคจรรอบโลกของยานอวกาศพร้อมสิ่งมีชีวิตเป็นครั้งแรก แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าเจ้าไลก้าเสียชีวิตจากการท่องอวกาศครั้งนั้น
ยานอวกาศ Sputnik-5 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1960 พร้อมกับสุนัข 2 ตัว เบลก้าและสเตรลก้า ทั้งคู่กลายเป็นสุนัข 2 ตัวแรกของโลกที่ออกท่องอวกาศและกลับสู่พื้นโลกได้อย่างปลอดภัย และหลังจากกลับสู่พื้นโลก เจ้าสเตรลก้าได้ให้กำเนิดลูกหมา 6 ตัว หนึ่งในนั้นคือ ปุชินก้า ซึ่ง นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตขณะนั้น ได้มอบให้เป็นของขวัญแก่แจ็กเกอลีน เคนเนดี อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา
จากความสำเร็จในการนำสิ่งมีชีวิตกลับจากวงโคจรสู่พื้นโลก ก็ถึงคราวที่มนุษย์จะได้เดินทางสู่อวกาศบ้าง ยูริ กาการิน กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศไปพร้อมกับยานอวกาศ Vostok-1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1961
ต่อมา ในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1963 ยานอวกาศ Vostok-6 ได้ขึ้นสู่วงโคจร ทำให้นักบินอวกาศของสหภาพโซเวียตที่ชื่อ วาเลนตินา เทเรชโควา ได้เป็นสุภาพสตรีคนแรกที่เดินทางสู่อวกาศ
ความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในการสำรวจอวกาศดังที่กล่าวมา ยังคงเป็นสิ่งที่ยังความภาคภูมิใจให้กับรัสเซียจนกระทั่งปัจจุบัน และรัสเซียเองก็ได้พยายามตอกย้ำความทรงจำนั้นอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รัสเซียได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ค.ศ.2018 จากการประกาศของฟีฟ่า (ซึ่งประกาศผลในปี ค.ศ.2010)
เพราะฝ่ายจัดการแข่งขันและวงการฟุตบอลรัสเซียก็ได้พยายามสอดแทรกสัญลักษณ์ที่ย้ำเตือนให้ผู้คนไม่ลืมความสำเร็จด้านอวกาศในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวโลโก้การแข่งขันในสถานีอวกาศ ออกแบบชุดแข่งของทีมชาติรัสเซียในฟุตบอลโลก ค.ศ.2014 เป็นลวดลายอวกาศ ไปจนกระทั่งออกแบบสนามแข่งขันในเมืองซามาราเป็นรูปจานบิน
แม้ยุคของ space race สิ้นสุดลงแล้ว แต่ vaccine race ยังคงดำเนินอยู่ และรัสเซียก็ได้ย้ำถึงความสำเร็จด้านอวกาศในอดีตของตนอีกครั้งผ่านทางชื่อของวัคซีน Sputnik V ที่ถูกรับรองให้ใช้ในมนุษย์เป็นชนิดแรกของโลก
สำหรับการแข่งขัน vaccine race ถือได้ว่ารัสเซียออกตัวนำในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิดไปแล้วเรียบร้อย เหมือนกับที่สหภาพโซเวียตออกตัวนำไปก่อนในการแข่งขัน space race
แต่บทสรุปคงยังไม่มีใครสามารถบอกได้
จากชัยชนะในสงครามโลก ถึงชัยชนะต่อโรคร้าย
วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.2020 รัสเซียได้ส่งมอบวัคซีน Sputnik V ให้กับอาร์เจนตินา ซึ่งถือเป็นชาติแรกนอกเหนือจากประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่รัสเซียส่งวัคซีนให้ ในการนี้ คิริล ดมิทริเยฟ ซีอีโอของกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซียได้อธิบายความหมายของตัวอักษร V ในชื่อวัคซีน ว่าหมายถึง ‘ชัยชนะ(victory)’ พร้อมกันนั้นยังได้กล่าวอวยพรให้อาร์เจนตินาประสบชัยชนะเหนือการระบาดครั้งนี้
และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ช่องยูทูปทางการของวัคซีนสปุตนิกก็ได้ปล่อยคลิปโปรโมตสุดซึ้งช่วยย้ำกับประชาคมโลกอีกครั้งว่า V is for Victory ! นะจ๊ะ
ย้อนกลับไปที่ผลสำรวจความภาคภูมิใจของคนรัสเซียต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ชาติตัวเองอีกครั้ง เตือนความจำกันอีกทีว่าคนรัสเซียในปัจจุบันภาคภูมิใจที่สุดกับชัยชนะ (ของโซเวียต) ที่มีเหนือนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือพูดอย่างเคร่งครัดในความหมายแคบของโซเวียตก็คือมหาสงครามปกป้องปิตุภูมิ ระหว่างปี ค.ศ.1941-1945 หรือแนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่สอง ในความเข้าใจของคนทั่วไป
ในสงครามที่กินเวลายาวนานเกือบ 4 ปี สหภาพโซเวียตต้องสูญเสียกำลังพลและประชากรรวมทั้งสิ้นราว 26.6 ล้านคน จากการประเมินของกระทรวงกลาโหมรัสเซียที่เปิดเผยออกมาในปี ค.ศ.2015
สำหรับยุโรปและสหภาพโซเวียต สงครามครั้งนี้สิ้นสุดที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อจอมพล วิลเฮล์ม ไคเทิล ในฐานะผู้บัญชาการของแวร์มัคท์ กองกำลังป้องกันของนาซีเยอรมนี ลงนามในตราสารยอมจำนนของเยอรมนี โดยในยุโรปถือเอาวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1945 เป็นวันสิ้นสุดสงครามในยุโรป ขณะที่สหภาพโซเวียต นับเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม ปีเดียวกัน
แม้กว่าที่สภาเปรซิเดียมสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียตจะประกาศสิ้นสุดสงครามกับเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ก็ต้องรอถึงวันที่ 25 มกราคม 1955 เกือบสิบปี หลังจากเยอรมนียอมจำนน ก็ตาม
หลังสงครามโลกยุติลงใหม่ๆ สหภาพโซเวียตกับ 2 มหาอำนาจตะวันตก คือ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ร่วมกันก่อตั้งองค์การสหประชาชาติเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยความหวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกขึ้นอีกในอนาคต
แต่การณ์กลับไม่เป็นดังนั้น โลกกลับแบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจ ระหว่าง ‘ฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตย’ ที่เชื่อในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และ ‘ฝ่ายเผด็จการคอมมิวนิสต์’ ที่เชื่อในเศรษฐกิจใต้กำกับของรัฐ ความตึงเครียดระหว่าง 2 ฝ่ายก่อให้เกิดสงครามเย็นที่กินเวลานานมากกว่า 30 ปี ที่มีทั้งการแข่งกันสะสมอาวุธ จนเกือบเกิดสงครามนิวเคลียร์จากวิกฤตการคิวบา หรือการทำสงครามตัวแทนในหลายๆ สมรภูมิ ทั้งเกาหลี เวียดนาม และอัฟกานิสถาน
ภาพลักษณ์ของสหภาพโซเวียตถูกมหาอำนาจตะวันตกทำให้เป็น ‘มหาวายร้าย’ ของโลกในช่วงเวลาเหล่านี้เอง
กระทั่งสหภาพโซเวียตสูญสลายไปปี ค.ศ.1991 เหลือเพียงไว้เพียงอดีต กับประเทศชื่อรัสเซีย ที่เผชิญวิกฤตการณ์ภายในหลายครั้ง ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
ก่อนที่ วลาดิมีร์ ปูติน ผอ.หน่วยความมั่นคงกลางรัสเซีย (FSB) อดีตเจ้าหน้าที่ KGB ซึ่งทำงานอยู่ในเมืองเดรสเดน ในเยอรมันตะวันออก สมัยสหภาพโซเวียตยังเกรียงไกรได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ เมื่อปี ค.ศ.2000 รัสเซียจึงค่อยๆ กลับมามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นอย่างช้าๆ
และวัคซีนโควิด ก็อาจเป็นหนึ่งในอาวุธทางการทูตที่รัสเซียใช้แผ่ขยายอิทธิพลทางการเมือง
เพียงแต่อาวุธนี้ใช้เพื่อรักษาชีวิต ไม่ใช่ประหัตประหารกัน
ความท้าทายของ ‘การทูตวัคซีน’
แม้ปัจจุบัน Sputnik V จะถูกนำไปใช้ใน 64 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ด้วยคำอ้างว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึง 91.6% แต่หลายๆ คนก็ยังเคลือบแคลงสงสัยวัคซีนที่ผลิตจากรัสเซียนี้อยู่
และถึงรัสเซียจะสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน กระทั่งผ่านการอนุมัติสำหรับใช้ในประเทศโดยกระทรวงสาธารณสุขรัสเซียแล้ว 4 รายการ
กระนั้น รัสเซียก็ยังล้มเหลวเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ แม้ปูตินจะประกาศเริ่มต้นแผนการฉีดวัคซีนในประเทศตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.2020 และในเดือนมกราคม ค.ศ.2021 ขณะที่ตาเทียนา โกลิโควา รองนายกรัฐมนตรีด้านนโยบายสังคม ตั้งเป้าไว้ว่าภายในไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2021 จะต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรในรัสเซียให้ได้ 20 ล้านคน
แต่จนถึงตอนนี้ (วันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.2021) จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส อยู่ที่ 13,131,672 คน (คิดเป็น 8.98% ของประชากรทั้งหมด) และจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส อยู่ที่ 8,629,469 คน (คิดเป็น 5.90% ของประชากรทั้งหมด) หมายความว่าอัตราการฉีดวัคซีนจริงยังน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้อยู่มาก
และผลการสำรวจความคิดเห็นของศูนย์วิจัยเลวาดา เผยแพร่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.2021 ในคำถามที่ว่า “คุณกลัวติดไวรัสโควิดหรือไม่” ชาวรัสเซีย 56% ตอบว่าไม่กลัว
แต่เมื่อถามว่า “คุณพร้อมหรือไม่ที่จะฉีดวัคซีน Sputnik V ที่ผลิตในรัสเซีย” ชาวรัสเซีย 62% ตอบว่า ยังไม่พร้อม !
บทสรุปท้ายสุดของเรื่องนี้ก็คือ หากรัสเซียต้องการหาพวกผ่าน ‘นโยบายการทูตวัคซีน’ ให้สำเร็จ สิ่งแรกที่ต้องทำ อาจจะเป็นการทำให้ประชาชนในประเทศตัวเองเชื่อมั่นในวัคซีนที่รัสเซียผลิตเองให้ได้เสียก่อน