วิกฤตไวรัส Covid-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลกตอนนี้น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับไทยเองจากตอนแรกที่มีเพียงบางบริษัทออกมาตรการให้พนักงาน ‘work from home’ ได้ ตอนนี้กลายเป็นว่า ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุเองก็ต้องพยายามกักตัวเองให้อยู่แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการออกไปยังพื้นที่สาธารณะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
อยู่บ้าน นอนดูซีรีส์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนก็คงจะทำตามได้ไม่ยาก แต่ลองนึกสภาพว่า เราต้องทำแบบนี้ติดต่อกันไปอีกหลายสัปดาห์ (หรืออาจจะมากกว่านั้น) ก็ทำเอาหลายคนปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ทันเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มคนมิลเลนเนียลคือ บุคคลอายุตั้งแต่ 18-34 ปี มีงานวิจัยในวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า ‘self-quarantine’ หรือการกักตัวมีความเชื่อมโยงกับอาการ ‘post-traumatic stress disorder’ หรือภาวะความเครียดที่เกิดจากบาดแผลทางใจ ซึ่งอาจรวมไปถึงความกังวล สับสน และตึงเครียด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจอยู่ติดตัวกับคนกลุ่มนี้ไปอีกระยะหนึ่งด้วย
“เราเป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคม เราชอบที่จะเชื่อมต่อ สัมผัส ใกล้ชิดกับผู้คน พฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนเหล่านี้ อาจจะนำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวได้” นักจิตวิทยาเข้าใจดีว่า การกักตัวเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีการบาลานซ์อารมณ์ความรู้สึกเพื่อปกป้องสุขภาพจิตทั้งตัวเราและคนที่เรารักไปพร้อมๆ กันด้วย
1.ยึดตามกิจวัตรเดิมที่เคยทำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้ว่าสถานการณ์ไวรัส Covid-19 จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง-ลดทอนพฤติกรรมและกิจวัตรบางอย่างออกไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องปรับการใช้ชีวิตประจำวันทุกอย่างไปซะหมด
นักจิตวิทยาแนะนำว่า ทางที่ดีที่สุดคือ ให้รักษาเค้าโครงกิจวัตรประจำวันก่อนการกักตัวหรือทำงานที่บ้านแบบหลวมๆ ไว้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น แม้เราจะไม่ต้องรีบไปออฟฟิศในตอนเช้า แต่การตื่นนอนและรับประทานอาหารในช่วงเวลาเดิมก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกความคุ้นเคยกับกิจกรรมเดิมๆ ได้ ซึ่งก็มีงานศึกษาที่พบว่า ร่างกายของเรามีแนวโน้มทำงานได้ดีขึ้นเมื่อมีการกำหนดรูปแบบเวลาการตื่นนอน กินข้าว ออกกำลัง และเข้านอน
2.ออกไปสูดอากาศข้างนอกบ้าง
การอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันอาจทำให้จิตใจห่อเหี่ยวไปบ้าง ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า หากเราอยากรีเฟรชตัวเองในช่วงเวลาสั้นๆ ให้ออกไปเดินเล่นในพื้นที่ใกล้เคียงสักพัก โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่จะช่วยให้เรากระปรี้กระเปร่าได้เป็นอย่างดี อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น หรือสวนสาธารณะภายในหมู่บ้านก็เพียงพอแล้ว
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การสัมผัสกับธรรมชาตินอกจากจะช่วยเยียวยาอารมณ์และจิตใจแล้ว ยังทำให้ร่างกายของเรามีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย บทความจาก CNBC ระบุว่า การพาตัวเองไปสัมผัสกับพื้นที่สีเขียวช่วยลดอาการความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจ และยังช่วยลดการสร้างฮอร์โมนความเครียดได้ด้วย ซึ่งเวลาออกไปข้างนอกก็เตรียมความพร้อมและระวังตัวไปด้วยนะ
3.โฟกัสเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมได้ก็พอ
ต้องยอมรับว่า ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ลำพังตัวเราคงไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ สำคัญที่สุดจึงเป็นการหันกลับมาสำรวจตัวเองและดูว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่เราสามารถควบคุมเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้างได้บ้างนั่นก็คือ ล้างมือให้บ่อยครั้งมากขึ้น ปิดปากเมื่อไอหรือจามด้วยทิชชู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น สงวนหน้ากากอนามัยไว้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงรักษาระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองให้ดีด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับให้เพียงพอ
4.ยอมรับในความไม่แน่นอน พยายามคิดแต่สิ่งดีๆ เข้าไว้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นอาจทำให้หลายคนกลับมานั่งทบทวนถึงช่วงเวลาที่กำลังเกิดขึ้นไปต่างๆ นานา บางคนนั่งคาดเดาอนาคตและคอยถามตัวเองทุกวันๆ ว่า เราต้องเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่
แต่แทนที่จะคิดไปถึงสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้เราอยู่กับช่วงเวลาที่เป็นบวกและคิดแต่สิ่งดีๆ เข้าไว้ดีกว่า อย่างประเทศอิตาลีที่มีอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทุกวันๆ แม้ทุกคนต้องกักตัวภายในบ้านมานานหลายสัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังมีคลิปวิดีโอที่ออกมาสร้างรอยยิ้มให้กับผู้คนทั้งโลกด้วยการส่งเสียงร้องเพลง-เล่นดนตรีของแต่ละบ้านผ่านบานหน้าต่างเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กัน
5.ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนๆ และคนสนิท
ผลกระทบของความเหงาอาจมากพอๆ กับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเลยก็ได้นะ ในสถานการณ์แบบนี้แม้จะต้องอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ เหมือนเดิม แต่เราก็ยังสามารถติดต่อหากันผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้เราใช้การสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นที่ถนัด ติดต่อพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันบ้าง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ถามไถ่ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ หรืออาจจะทำกิจกรรมร่วมกันผ่านฟีเจอร์สนุกๆ ที่ตอนนี้ก็เริ่มมีหลายคนทำกันบ้างแล้ว อย่างเช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นเกม ผ่านการพูดคุยระหว่างทำกิจกรรมเหล่านี้ไปด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยคลายความโดดเดี่ยว และลดสภาวะการแยกตัวจากสังคมไปอย่างสมบูรณ์แบบ
6.รับฟังข่าวเท่าที่จำเป็น
การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสยังเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที แต่การรับข่าวสารที่มากเกินไป หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยันและมีการส่งต่อก็จะยิ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนไปมากเหมือนกัน ฉะนั้นควรรับข่าวจากสำนักข่าวทางการ ดีกว่าการเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อๆ กันโดยยังไม่ได้รับการยืนยัน ที่อาจทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนก ตึงเครียด และความผิดพลาดของข้อมูลก็อาจนำมาซึ่งการปฏิบัติตัวที่ผิดพลาดไปด้วย
7.เข้าใจความวิตกกังวล
แพทริเซีย ธอร์นตัน (Patricia Thornton) นักจิตวิทยาจากนครนิวยอร์กอธิบายเกี่ยวกับความวิตกกังวลว่า สภาวะวิตกกังวลเกิดจากความพยายามคาดเดาหรือครุ่นคิดสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากไวรัสเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เราไม่รู้ว่าใครเป็นพาหะนำโรคบ้าง ดังนั้นเมื่อไปสัมผัสกับคนแปลกหน้าในที่สาธารณะจึงไม่แปลกที่จะเกิดอาการวิตก
“ความกังวลเป็นโรคติดต่อ” ธอร์นตันบอกว่า เมื่อเราเห็นใครบางคนกำลังกังวลและพูดถึงสิ่งนั้นซ้ำๆ ตัวเราเองก็จะรู้สึกแบบนั้นตามไปด้วย และในช่วงเวลาวิกฤตเราก็กำลังมองหาคนอื่นๆ เพื่อนำกลับมาประมวลผลซ้ำอีกครั้งว่า ควรรู้สึกหรือปฏิบัติตัวแบบไหน ธอร์นตันให้คำแนะนำว่า เราต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับกับความไม่มั่นใจหวาดวิตกว่าไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ที่สุดแล้วต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจกับ ‘สภาวะปกติใหม่’ ที่กำลังฟอร์มรูปแบบขึ้นในตอนนี้
8.อนุญาตให้หัวเสียได้วันละ 15 นาที
บางครั้งความท้อแท้สิ้นหวังก็พัฒนาไปสู่ความเครียด โกรธ และไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมธอร์นตันแนะนำว่า เราสามารถอนุญาตให้ตัวเองโกรธกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้วันละ 15 นาที และจากนั้นต้อง ‘move on’
ธอร์นตันบอกว่า เราต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และพูดกับตัวเองว่า อย่าคิดว่าโลกกำลังจะแตกหรือเป็นวันโลกาวินาศไปเลย วิกฤตครั้งนี้เป็นเพียงการเซ็ตความปกติที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่
ลองถามตัวเองดูว่า เราจะใช้ชีวิตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ในเวลาแบบนี้ได้ยังไงบ้าง คอยเตือนตัวเองว่าการระบาดของเชื้อโรคเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และเราจะผ่านสิ่งนี้ไปด้วยกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก