กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในหมู่คนเล่นคริปโตช่วงนี้ไม่น้อย ก็คือ การเก็บภาษีคริปโต 15% จากกำไรที่ขายได้ ที่มาที่ไปของการยกเรื่องนี้กลับมาพูดอีกครั้งเกี่ยวเนื่องมาจากการกรณี SCBS เข้าถือหุ้น Bitkub นั่นเอง ทั้งนี้ ทาง Bitkub ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า การหักภาษีนั้นจะหักเมื่อได้กำไร คิดเป็น 15% แต่เพราะยังระบุไม่ได้ว่าเป็นกำไรหรือขาดทุน จึงยังไม่มีการหักภาษี โดยสามารถดาวน์โหลดประวัติส่งให้สรรพากร เพื่อป้องกันการเรียกเก็บย้อนหลัง
ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีความคิดเห็นหลายเสียงถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งตั้งข้อสงสัยหลายประเด็นเกี่ยวกับการเก็บภาษีคริปโตว่าเป็นอย่างไร แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง iTAX และอาจารย์กฎหมายภาษีอากร มาอธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีคริปโตว่าเป็นอย่างไร ใครต้องเสียบ้าง ต้องเตรียมตัวหรือพิจารณาเรื่องไหนในเบื้องต้น ตลอดจนแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าว
ช่วยอธิบายเกี่ยวกับ พรก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลว่าคืออะไร แล้วเกี่ยวข้องกับการเสียภาษีคริปโต 15% ได้อย่างไร
พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปี พ.ศ. 2561 ออกมาตั้งแต่ปี 61 แล้วตามชื่อกฎหมาย โดยกฎหมายนี้ออกมาเป็นพระราชกำหนด เพราะตอนนั้นมีเรื่องคริปโตเคอเรนซี่เข้ามา คนไทยเริ่มเข้าไปถือเหรียญ ลงทุน และเทรดเดอร์ก็เยอะขึ้น นอกจากนี้ ก็มีเรื่องความไม่แน่นอนทางสถานะว่าคริปโตเคอเรนซี่คืออะไรกันแน่ แล้วการทำธุรกิจพวกนี้ต้องมี regulator เจ้าหน้าที่รัฐ หรือรัฐควรเข้ามาควบคุมด้วยหรือเปล่า ตอนนั้นไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียน และของโลกเลยที่ออกกฎหมายรับรองว่าเทรดคริปโตได้ โดยทำตามเงื่อนไขต่อไปนี้ และมี กลต. เป็นคนดูแลความเรียบร้อย จะทำ ICO หรือกระดานเทรดก็ต้องมาขออนุญาตจากส่วนนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายไทย
จากนั้นมีประเด็นต่อมาว่า ตอนนี้เราเรียก ‘สิ่งนี้’ ว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลนะ เช่น โทเคนดิจิทัล คริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งมีคนถามต่อว่า “แต่คนที่ซื้อไปนั้น เขาถือไปได้กำไรก็ขายต่อ แล้วรายได้ที่เกิดขึ้นกับคริปโตเคอเรนซี่หรือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้เป็นรายได้ประเภทไหน แล้วการจัดการเรื่องภาษีควรจะเป็นอย่างไรบ้าง” เลยมีกฎหมายอีกตัวหนึ่งออกมาเรียกว่า ประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกฎหมายของทางสรรพากร ขอแก้ไขเรื่องภาษี ด้วยการขอเพิ่มรายได้อีกสองประเภทคือ รายได้จากโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอเรนซี่ และกำไรจากการขายโทเคนและคริปโตเคอเรนซี่ แล้วบอกว่า “เวลาได้เงินไป คนจ่ายเงินอย่าลืมหักภาษี 15% ณ ที่จ่าย ด้วยนะ”
ในส่วนของภาษีคริปโตฯ คนที่ดูแลคือใคร กลต. หรือ สรรพากร
แยกกันครับ ถ้าเรื่องกำกับดูแลธุรกิจ การออก ICO หรือสิ่งที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจะเป็นการดูแลของ กลต. ส่วนเรื่องการมีรายได้และต้องเสียภาษีจะเป็นความรับผิดชอบในภาคของสรรพากร
ทำไมถึงเก็บ 15%
ตอนกฎหมายออกมาว่าจะเก็บภาษีจากรายได้หรือคริปโตนั้น ก็บอกว่ามีหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% อัตราดังกล่าวจัดอยู่ในหมวดลงทุน ซึ่งคริปโตเคอเรนซี่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดนี้ไป
โดยปกติแล้ว มาตรฐานเงินได้หมวดนี้จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายขั้นพื้นฐานเป็น 15% อย่างดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ เวลาขึ้นจ่ายจะมีแค่ 15% แต่จะมีบางตัวที่หัก 10% แต่เป็นข้อยกเว้น เช่น เงินปันผลจากหุ้น เงินปันผลจากกองทุนรวม นอกเหนือจากนั้นจะเป็น 15% ทั้งหมด เขาเลยใช้เกณฑ์ 15% กับรายได้ประเภทนี้ด้วย
ใครต้องเสียภาษีคริปโตบ้าง
ถ้าอิงตามประมวลรัษฎากรที่เขาแก้ไขมาแล้วจะมี 2 กรณี กรณีแรกคือเราถือโทเคนไว้ แล้วโทเคนจ่ายเงินปันผลกลับมาให้ ได้ผลประโยชน์อะไรบางอย่างกลับมา หรือได้รายได้เข้ามาจากการที่นำโทเคนนั้นไปวางตรงไหนสักที่ พวกนี้จะเป็นรายได้กลุ่มแรกที่ต้องไปเสียภาษี ผมว่าอันนี้ไม่ค่อยมีประเด็นมาก เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้มีเรื่องกำไร แต่เป็นเงินที่งอกขึ้นมาทั้งก้อน กรณีนี้จะหักภาษี 15% จากที่ได้มาทั้งก้อน
กรณีที่สองคือกรณีที่ได้กำไรจากการขายโทเคน โดยตัวกำไรที่ได้นั้นเป็นประเด็นยิ่งกว่า เพราะเขาบอกว่ากำไรคือส่วนเกินทุน แสดงว่าเราต้องรู้ว่าทุนของเราคือเท่าไหร่ ราคาขายคือเท่าไหร่ ส่วนต่างนั้นต่างหากคือกำไร ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องเอาไปเสียภาษี
คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มตั้งต้นในการคำนวณภาษีดังกล่าวได้อย่างไร
จริงๆ มันมีวิธีครับ เพียงแต่ว่าข้อจำกัดนึงที่เราเจอมาตั้งแต่หลังมีการแก้ไขกฎหมายปี 61 นั้น คือทางสรรพากรยังไม่เคยออกไกด์ไลน์หรือแนวทางปฏิบัติของคริปโตเคอเรนซี่เลยเมื่อเทียบกับสรรพากรประเทศอื่น โดยประเทศอื่นเริ่มมีไกด์ไลน์มาบ้างแล้ว ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น แต่ไทยไม่มีตรงนี้ พอไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว เราก็ตั้งคำถามว่า “แล้วฉันจะคำนวณภาษีอย่างไรดี”
สมมติว่า เมื่อจะคำนวณภาษีในส่วนของต้นทุนหรือกำไร บางประเทศจะบอกเกณฑ์ให้เลยว่าเป็นอย่างไร ซื้อมาเท่านี้เป็นฐาน ซื้อมาเท่านี้เพิ่มขี้น เขาจะมีวิธีนับหน่วยค่อนข้างชัดเจนแน่นอน เหมือนเวลาเราซื้อของเข้าคลังสินค้าแล้วขายของออก
แต่บ้านเราไม่เคยมีการกำหนดเรื่องนี้ สรุปว่าใช้เกณฑ์ไหนในการคิด เราเลยมองหน้ากันว่าควรใช้เกณฑ์ไหนดี พอไปถามเจ้าหน้าที่สรรพากรระดับพื้นที่ หลายท่านก็ไม่เข้าใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทางสรรพากรต้องพยายามปรับตัวและหาไกด์ไลน์ส่วนนี้มาเพิ่มด้วย แล้วข่าวร้ายก็คือเรายังไม่มีสิ่งที่ว่า ความชัดเจนในเรื่องนี้ก็เลยยังตอบไม่ได้สักที
ในมุมมองอาจารย์ เห็นว่าระบบภาษีที่ไม่ชัดเจนก็คือไม่มีไกด์ไลน์ที่กำหนดหน่วยพื้นฐานในการคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย
มันเป็นหนึ่งในเรื่องที่ควรจะมีนะ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เรื่องที่ควรมียังมีหลายเรื่องมาก ยกตัวอย่าง เรานำเหรียญแลกเหรียญ สรุปว่านับไหม หรือว่าเอาเหรียญไปแลกของนับไหม เอาของไปแลกเหรียญนับไหม ซึ่งมีอีกหลายธุรกรรมมากครับที่ต้องระบุว่าควรนับรวมด้วยหรือเปล่า เขาเรียกว่า taxable event คือกิจกรรมที่เราต้องเสียภาษีหรือไม่
พอจะยกตัวอย่างโมเดลที่มีระบบจัดเก็บภาษีคริปโตฯ ชัดเจนมาสักประเทศได้ไหม
ผมยกตัวอย่างของสหรัฐอเมริกาละกันครับ อเมริกาเป็นประเทศที่ออกไกด์ไลน์มาเรื่อยๆ เหมือนกัน รู้สึกว่าจะเป็นเวอร์ชั่นสองแล้วด้วย สิ่งที่เขาทำคือกำหนดมาตรฐานบางอย่างชัดเจนมาก ยกตัวอย่างสิ่งที่บ้านเขามีแต่บ้านเราไม่มีอย่างเรื่องสายขุด (mining) ที่มีการเสียบปลั๊กเครื่องแล้วเสกบิตคอยน์ขึ้นมา กฎหมายระบุว่าหากขุดเป็นเหมืองแบบนี้ ถือว่าเป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจ ดังนั้นค่าไฟ ค่าเครื่อง ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่คุณใช้ สามารถเอาไปหักลบกับรายได้ที่ได้มาจากคริปโต
ในขณะที่บ้านเรายังมีแต่ความเห็น แต่ไม่มีไกด์ไลน์ที่สรุปว่าควรมองว่าเป็นเงินได้ประเภทใด ฝั่งนึงเถียงว่าก็คือรายได้จากการลงทุนปกติทั่วไป ได้มากี่บาทก็เสียภาษีเท่านั้น จากนั้นคนถามต่อว่าแล้วค่าไฟหรือค่าเครื่องนับด้วยไหม เอาไปหักเป็นรายจ่ายทำธุรกิจได้ไหม ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนตรงนี้
หรือเรื่องคำนวณต้นทุน ซึ่งจะมีหลายทฤษฎี ผมขอยกแบบเข้าใจง่ายๆ ก็จะมีทั้ง FIFO (First In First Out) LIFO (Last In Last Out) และ HIFO (Highest In First Out)
FIFO คือ เมื่อซื้อบิตคอยน์มา 1 btc ในราคาหนึ่งล้านบาท แสดงว่าต้นทุนคือหนึ่งล้านบาท จากนั้นขายบิทคอยน์นี้ได้ในราคา 1 ล้าน 5 แสนบาท แสดงว่าเราได้กำไรห้าแสนบาท นี่ถือเป็นวิธีคิดแบบตรงไปตรงมาเลย แต่ทีนี้มีประเด็นใหม่ขึ้นมาว่า ถ้าซื้อเหรียญแรกในราคาหนึ่งล้าน และซื้อบิตคอยน์เหรียญที่สองในราคาสองล้าน ปรากฏว่าขายบิทคอยน์หนึ่งเหรียญได้ในราคา 1.5 ล้านบาท คำถามคือ ต้นทุนควรจะเป็น 1 ล้าน หรือ 2 ล้านกันแน่
หากเราคำนวณตามหลัก FIFO ก็จะนำเหรียญแรกที่ซื้อมาเป็นหน่วยในการนับฐานก่อน ซึ่งหมายความว่างานนี้ได้กำไร แต่ถ้าคำนวณตามหลัก LIFO ก็จะยึดเหรียญล่าสุดที่ซื้อมาเป็นฐานในการคำนวณก่อน ซึ่งหมายความว่าขาดทุนห้าแสน จึงไม่ต้องเสียภาษี แล้วค่อยไปคำนวณต่อว่าห้าแสนนั้นเอาไปทำอะไรต่อได้บ้าง
ส่วนทฤษฎี HIFO จะดูว่าอันไหนต้นทุนแพงสุด ให้เอาอันนั้นออกก่อน ข้อดีคือทำให้ผู้เสียภาษีบริหารจัดการได้ว่ายังไม่ต้องรีบเสียภาษี เพราะเราจะนำของที่แพงที่สุดไปขายก่อน เพื่อดูโอกาสที่จะได้กำไรน้อยกว่า แล้วค่อยขายของที่มีต้นทุนต่ำแล้วเอามาเสียภาษีทีหลังแทนได้
เมื่อจะเสียภาษี ทางสรรพากรของอเมริกาจะให้เราเลือกเลยว่าอยากเสียภาษีแบบไหน แค่บอกเขาไปว่าคำนวณแบบใดแล้วเอามาดูกัน
หากวันนี้ต้องเสียภาษีคริปโตฯ แล้ว จะมีวิธีคำนวณหรือไม่ อย่างไร
ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า ถ้าเกิดเป็นของไทยในตอนนี้ เรายังไม่ทราบมาตรฐานที่ชัดเจน ผมเลยไม่กล้าฟังธงว่าควรใช้มาตรฐานไหน สิ่งที่เราทำได้จริงๆ คือมาขุดกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี เรามีกำไรจริงๆ ไหม ถ้าได้กำไรจริงเป็นกำไรเท่าไหร่ เอาหลักฐานมายันกัน
ทำไมภาษีคริปโตฯ ถึงนำมารวมกับรายได้ในการยื่นภาษีประจำปี ทำไมปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจบไปเลยเหมือนดอกเบี้ยหรือเงินปันผลไม่ได้
อย่างแรก ทำไมการโดนหัก 15% ไม่เป็น Final Tax เหมือนพวกดอกเบี้ยหรือเงินปันผล เพราะว่าทางฟากดอกเบี้ยกับเงินปันผลมีกฎหมายเขียนไว้ว่า ถ้ายอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย จะนับเป็น Final Tax ได้ แต่ในส่วนของคริปโตฯ ยังไม่มีกฎหมายข้อนี้เขียนเอาไว้ ดังนั้นจึงพิจารณาให้เป็นเหมือนรายได้แบบเงินเดือน การทำงานฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจขายของทั่วไป แม้คริปโตจะอยู่ในหมวดลงทุนก็จริง แต่เขามองว่ารายได้จากคริปโตก็ไม่ต่างจากเงินเดือนเมื่อต้องยื่นภาษี ดังนั้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เลยไม่จบเท่านั้น
แต่การหักภาษี 15% อาจเกิดผลลัพธ์ได้อีกแบบหนึ่ง สมมติว่าเราโดนหักไปแล้ว 15% แต่รายได้ปีนี้น้อยมาก การโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ก็จัดว่าเยอะมาก ในมุมนี้เรามีสิทธิ์ขอ 15% นั้นคืนได้ ยกตัวอย่าง ผมต้องเสียภาษีเงินได้ฯ อัตราอยู่ที่ 5% ปรากฏว่าผมโดนหักภาษีคริปโต 15% ผมอาจขอ 10% ที่จ่ายเกินไปนั้นคืนกลับมาได้เหมือนกัน
ในทางตรงกันข้าม ถ้าผมเสียภาษีเงินได้ฯ อัตราสูงมาก ประมาณ 30-35% การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ก็ไม่พอ ต้องจ่ายภาษีเพิ่มอยู่แล้ว แต่คำว่าจ่ายภาษีเพิ่มไม่ได้หมายความว่า อยู่ๆ จะควักจ่ายออกมาอย่างเดียวนะ เพราะต้องดูก่อนว่าภาษี 15% ที่หักไปนั้นเป็นจำนวนเงินกี่บาท ยกตัวอย่าง ผมโดนหักภาษีคริปโต 15% ไปเป็นเงินจำนวน 15,000 บาท แต่ปีนี้ค่าภาษีผมควรเป็นประมาณ 50,000 บาท ในจำนวนเงิน 50,000 บาทที่ว่านั้น เราไม่จำเป็นต้องควักเงินจ่าย 50,000 บาทนะ แต่เราตัดเงินจำนวน 15,000 บาท นั้นออกไปก่อน แล้วค่อยเอาส่วนต่าง 35,000 บาท มาจ่ายเพิ่ม ซึ่งจะกลายเป็นแบบนี้แทน
ดังนั้น จะนำมาใช้เป็นเครดิตในการคำนวณว่าภาษีปีนี้ทั้งปีเป็นเงินกี่บาท โดยภาษี 15% ที่ถูกหักไปจริงก็นำมาหักกลบกับค่าภาษีประจำปีที่เราจะชำระได้ หรือหากเราจ่ายเกินก็ขอคืนได้เหมือนกัน นี่จึงไม่ได้เป็นลักษณะเสียภาษีคริปโตซ้ำซ้อนหรือหักลดหย่อนไม่ได้
คิดว่าการเก็บภาษีตรงนี้เป็นการกีดกันนักลงทุนหรือเปล่า
อาจจะมองภาพนี้ก็ได้ว่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้มองว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดนั้น ไม่เหมือนตลาดทุนที่ค่อนข้างชัดเจน แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธถึงขั้นห้ามเทรดห้ามเล่น ส่วนตัวผมคิดว่าไม่กีดกัน แต่ก็ไม่ได้ผลักดัน ส่งเสริม หรือสนับสนุน
อีกอย่างนึง เมื่อพูดถึงคำว่าการเก็บภาษี ไม่มีใครรู้สึกดีกับคำนี้อยู่แล้ว แล้วต้องบอกว่ากฎหมายภาษีค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจยากหากไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งผมมองว่าเป็นความบกพร่องของส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายนี้ที่ทำให้เรื่องที่ควรเข้าใจง่ายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายไม่ได้ ทำให้เรื่องที่คนควรจะเข้าใจยังเกิดความไม่เข้าใจกันอยู่ พอมันซับซ้อน เข้าใจยาก และไม่มีคนมาอธิบายให้เราเข้าใจด้วยแล้ว เลยนำไปสู่ความไม่แน่นอน จนเราต้องมานั่งคิดว่าจะจัดการอย่างไรดี จะยื่นภาษีแล้ว สรุปว่าต้องคำนวณต้นทุนอย่างไร
ณ ตอนนี้ สิ่งที่ควรรู้หรือศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียภาษีคริปโตฯ คืออะไร
ผมให้เป็นแนวทางเบื้องต้นก่อนละกัน อาจเริ่มจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับสรรพากรเกี่ยวกับเรื่องรายได้ต่างๆ ที่ได้รับ และวิธีจัดการภาษีให้ถูกต้อง โดยอาจถามคนที่น่าจะประเมินภาษีเราในปีนั้นว่าควรทำอย่างไร เพราะว่าหน้าที่เขาคือตอบคำถามและช่วยเหลือผู้เสียภาษี ถ้าเขาตอบไม่ได้จริงๆ ก็โยนให้เป็นการบ้านเขาให้ช่วยหาคำตอบเรื่องนี้ อย่าให้เป็นปัญหาเรา เพราะเราอยากเสียภาษีให้ถูกต้อง
อีกแบบหนึ่ง บางคนใช้วิธีไปเทรดที่กระดานเทรดต่างประเทศเลย เพราะเวลาไปเทรดที่กระดานเทรดต่างประเทศก็จะหลุดจากวงโคจร (การเสียภาษีคริปโต) ไปเลย เงินที่ได้มานั้นจะเป็นรายได้จากต่างประเทศ ยกตัวอย่าง เราอยู่ในไทยตลอดทั้งปี หากเราได้เงินกำไรมาในปีนี้ แล้วอดทนรอขนเงินเข้ามาปีหน้า มันจะกลายเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและเป็นคนละปีภาษีกัน กลายเป็นเงินได้ที่ไม่เสียภาษี เพราะว่ากำไรนี้เป็นกำไรของปีที่แล้ว
แต่จริงๆ แล้วมันมีแนวทางที่ผมอยากให้เกิดขึ้นนะ แต่ค่อนข้างยากเหมือนกัน ก็คือการยกเว้นภาษีพวกกำไรหรืออะไรทำนองนี้สำหรับบุคคลทั่วไป หากเรายกเลิกภาษีคริปโตฯ สำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ข้อดีอย่างนึงคือ ตัดเรื่องปวดหัวที่เราต้องมานั่งคุยกันตอนนี้ได้เลย
สิ่งที่จะได้หากเขายกเว้นภาษีจริงๆ ประเทศไทยจะประกาศชัดเจนว่าไม่เก็บภาษี พอไม่เก็บภาษีแล้ว ก็มีโอกาสดึงเงินจากต่างประเทศให้กลับมาเทรด เพิ่มวอลุ่มเทรดที่ไทย ผมเชื่ออย่างนึงว่าทุกๆ กระดานได้ค่าธรรมเนียมเทรด ซึ่งเป็นเงินได้ที่เข้ากิจการเขา ยิ่งดึงวอลุ่มไทยกลับมาได้มาก ก็จะยิ่งทำให้กิจการเหล่านี้ที่เป็นนิติบุคคลมีกำไรมาก นั่นหมายความว่าเขาจะมีเงินมาเสียภาษีให้เราได้มาก กล่าวคือเก็บจากรายย่อยไม่ได้ แต่เอารายย่อยมาเป็นวอลุ่ม เพื่อทำให้กระดานเทรดมีวอลุ่ม มีรายได้ อันนี้เป็นผลลัพธ์ที่มันจะดียิ่งกว่า นอกจากดึงเงินคนไทยมาเทรดได้ ผมว่าเราไปชวนต่างประเทศมาเทรดได้ด้วย
เมื่อทำการซื้อขายกันที่กระดานเทรด คนซื้อต้องจ่ายภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ระบบไม่ได้ออกแบบให้หัก ณ ที่จ่าย 15% แบบนั้น เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายได้กำไรเป็นเงินจำนวนกี่บาท แล้วกระดานไม่มีหน้าที่รับรู้ว่าต้องหักเท่าไหร่ ดังนั้น การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง จะเกิดขึ้นจริงในกรณีที่เราได้เงินจากการถือเหรียญนั้นชัดเจนจริงๆ
ยกตัวอย่าง เราถือคอยน์นึงที่ออกโดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นคอยน์ดังกล่าวก็จ่ายเงินปันผลให้เป็นเหรียญสักเหรียญนึง โดยมูลค่า ณ วันที่ได้รับคอยน์นั้นคือ 100 บาท กรณีนี้จะมีการหัก ณ ที่จ่าย 15% เพราะว่ามันค่อนข้างชัดเจนว่าตอนที่เราได้เงินก้อนนี้ มันมาจากอากาศจริงๆ รวมทั้งบริษัทที่ออกเหรียญก็อยู่ในการกำกับดูแล มาตรฐานของบัญชีและภาษีจะแม่นยำ ต่างจากกรณีกระดานเทรดที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องต้นทุน ทำให้ยังเกิดประเด็นเรื่องความยากและความซับซ้อนต่างๆ อยู่
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นบทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเก็บภาษีคริปโตที่กำลังเป็นที่พูดถึงในตอนนี้ หากใครต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมายของภาษีเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ทางช่องทางโซเชียลของ iTax รวมหรือพูดคุยปรึกษาเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวางแผนภาษีโดยตรงได้ในงาน iTAX 2021 เทศกาลลดหย่อนภาษีประจำปี ณ ลาน Fashion Galleria ชั้น 1 เมกา บางนา ตั้งแต่วันนี้ – 14 พ.ย. นี้