วันหนึ่งๆ คุณอ่านบทความกี่ชิ้น ดูอินโฟกราฟิกกี่ภาพ และเลื่อนผ่านกี่วิดีโอ คุณคงยอมรับว่าบางเรื่องที่คุณอ่านก็เป็นเรื่องสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต เป็นเรื่องที่ ‘มีสาระ’ และ ‘จำเป็น’ แต่ก็มีเรื่องอีกส่วนหนึ่งที่คุณอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ซึ่งคุณอาจปะป้ายมันว่า ‘ไร้สาระ’ ด้วยซ้ำ ‘ขำๆ น่า’
The MATTER มีโอกาสคุยกับทีม iLaw ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน และ ณัชปกร นามเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ที่นอกจากมีหน้าที่ผลักดันกฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้แล้ว ยังมีหน้าที่สื่อสารในเรื่องเหล่านี้ด้วย ซึ่งนี่นับเป็นโจทย์การสื่อสารที่ยาก (ยากแมะ)
ในโลกทุกวันนี้ที่หูเราก็อื้อไปด้วยเสียงโฆษณาซ้ายขวา แต่ iLaw ก็สื่อสารประเด็นที่นับว่า ‘ยาก’ ออกมาได้ประสบความสำเร็จมากในหลายๆ ครั้ง เช่นในครั้งล่าสุด การ์ตูนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ iLaw ก็ได้รับการแชร์มากถึง 2,800 ครั้งในเวลา 12 ชั่วโมง! (ซึ่งขนาดเอเจนซี่ดังๆ บางเจ้า ใช้งบเยอะกว่านี้ยังทำได้บ้างไม่ได้บ้างเลย!)
มาคุยกับพวกเขากันว่าพวกเขามีแนวคิดและวิธีการอย่างไร
The MATTER : เราทำกับ iLaw มากี่ปีแล้วนะครับ
7 ปีครับ
The MATTER : ในช่วง 7 ปี เราได้ขยายเป้าหมายคนที่เราสื่อสารไปถึงมากขึ้นไหม
เราขยายกลุ่มเป้าหมายได้ต่อเมื่อเราเลือกประเด็นใหม่ ถ้ายังคุยเรื่องประเด็นรัฐธรรมนูญ เราก็จะคุยอยู่กับแต่คนเดิมๆ แต่ถ้าหากวันหนึ่งเราพูดเรื่องชะลอน้ำ เราก็ไปอีกคนนึง วันนึงเราพูดเรื่องน้ำ, GMO, พรบ. เกณฑ์ทหาร, พรบ.ไซเบอร์, single gateway คนที่สนใจประเด็นเฉพาะบางประเด็น ก็อาจจะหาจุดร่วมกันได้บ้าง
The MATTER : ในวันๆ หนึ่งที่มีเรื่องเกิดขึ้นหลายอย่าง ถึงจะนับแค่เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นกฎหมาย ก็ยังถือว่ามีเรื่องนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะมาก iLaw เลือกประเด็นที่จะชูขึ้นมายังไง
ยากมากเลยครับ คิดว่ามีสองปัจจัยหลักๆ คือเราทำไม่ได้ทุกเรื่อง ต้องทิ้งไปเยอะมาก ปัจจัยที่เราใช้เลือกเรื่องคือ เราคิดว่าเรื่องนี้คนสนใจ เช่น สมมติว่ามีการจัดระเบียบการบริหารสำนักนายกรัฐมนตรีใหม่ ทั้งที่อาจจะแย่ก็ได้ เรื่องนี้จุดกระแสอะไรไม่ติด เราก็อาจจะไม่ทำ แต่ถ้าเป็นเรื่อง single gateway หรือบล็อกเว็บอินเทอร์เน็ต เราก็จะเลือกทำเพราะคนสนใจ สองคือองค์ความรู้ ทรัพยากรที่เรามีอยู่ พอทำได้ไม่ยากเกินไป เช่น มีออกประกาศแก้ไขกฎหมายยาเสพติด แต่เราไม่ค่อยรู้ ซึ่งถ้าเราจะรู้ได้ เราต้องใช้เวลาสองสามอาทิตย์ในการไปศึกษา เรื่องแบบนี้อาจเป็น priority รอง แต่เรื่องพรบ. คอมฯ เป็นเรื่องที่เราตามมานาน เราอาจจะใช้เวลาสองสามวันเขียน เราก็สามารถทำได้เลย แต่จริงๆ เรื่องแก้ไขกฎหมายยาเสพติดอาจจะมีผลกระทบกับคนมากกว่าพรบ. คอมฯ ก็ได้ เราก็เลือกทำเท่าที่ทรัพยากรเรามีและเราคิดว่าเราทำได้
The MATTER : ช่วยเล่าขั้นตอนการทำประเด็นหน่อย เช่นว่า ประเด็นหนึ่งๆ เรามีเวลาทำกี่วัน
แล้วแต่เรื่อง ตอนประชุมกัน ใครที่ตามประเด็นอะไรอยู่ก็เอามากางกันดูว่ามีประเด็นอะไรบ้าง มีกฎหมายอะไรกำลังจะเข้าสภา อันไหนกำลังจะออก มีอะไรที่คนควรจะรู้ในช่วงนี้ แล้วก็ดูทรัพยากรเรามีเท่าไหร่ มีคนเท่าไหร่ แล้วก็เลือกเรื่องให้คนนั้นไปศึกษา ก็ศึกษาโดยดูจากร่าง ร่างมันว่ายังไงก็ว่าอย่างนั้น อย่าไปดำน้ำในทะเลลึก มันหาอะไรไม่เจอหรอก อันดับแรกคือสรุปก่อนว่าร่างนี้ว่ายังไง ประเด็นอะไรที่น่าสนใจ ต้องการจะบอกอะไร ความคิดเห็นก็ได้เท่าที่ได้ ถ้ามีนักวิชาการให้ความเห็นไว้แล้ว เราก็ไปเรียนรู้ ไม่ยากครับ หรือไปอ่านบทความแล้วก็สรุปมาอีกที ถ้าไม่มีก็ต้องคิดเองบ้าง ทำการบ้านเองบ้าง ถามหาผู้รู้มาช่วยอธิบาย อันไหนที่มีข้อมูลอยู่แล้วก็ 2 วันต้องเสร็จ อันไหนที่ไม่มีก็อาทิตย์นึง ถ้ามีชิ้นไหนที่ใช้เวลามากกว่าอาทิตย์ต่อนึงคนก็ไม่ต้อง ก็ไปหยิบเรื่องที่มันเล็ก ที่มีโอกาสเสร็จก่อน เพราะเรื่องมันเยอะ
The MATTER : แล้วหลังจากนั้นมีขั้นตอนของการตีความเป็นภาพหรือการสื่อสารอื่นๆ อีก
พอเขียนสรุปกฎหมายเสร็จ วัตถุประสงค์คือให้คนรู้ว่ากฎหมายมีผลกระทบกับคนยังไง เสร็จแล้วส่งมาดูกัน ต้องมีการตรวจ ว่าเขียนรู้เรื่องไหม พอจะเอาไปใช้ ต้องคิดว่าจะนำเสนอยังไง จริงๆ ก็แล้วแต่เรื่อง ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายด้วยภาพก็ต้องอธิบายด้วยภาพ ถ้ามันอธิบายด้วยภาพไม่ได้จริงๆ ก็เป็นเท็กซ์ทำรูปประกอบนิดหน่อย ทำโควตประกอบ คนที่ตรวจต้องย้อนกลับไปถามคนที่เขียนว่าจะบอกอะไร แล้วก็ร่างมาว่าจะบอกอะไร คนที่เขียนเป็นคนร่าง วิธีคิดคือต้องถอยหลัง 1 สเต็ปไปหาคนที่เค้าไม่ได้รู้เท่าเรา เค้าจะอยากรู้อะไรในเรื่องนี้ เลือกหยิบเรื่องที่คนจะสนใจมาเล่า ร่างมือในกระดาษ จะเติมอะไร ย้ายอะไร เน้นอะไร แล้วก็ส่งให้คนทำรูป
The MATTER : คนทำรูปหรือกราฟิกดีไซเนอร์ในทีมต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเยอะไหม
ถ้ารู้ก็ง่าย ถ้ารู้จะอธิบายเร็ว แต่ต้องรู้ว่าเราคุยกับใคร แล้วก็ช่วยกันคิดว่าจะใช้ฟอนต์อะไร ใช้สียังไง บางทีคนทำรูปก็ทักเราว่า อย่างนี้ไม่ได้ เท็กซ์เยอะไป ถ้าไม่รู้เรื่องก็เอาใหม่ เข้าใจว่าหลักของอินโฟฯ คือทำให้ภาพมันอธิบาย อธิบายขั้นตอนจะง่าย แต่เรื่องที่ไม่มีขั้นตอน ก็จะเป็นบุลเลต แล้วพาดหัวให้รู้เรื่องเลย ต้องคิดว่าดูแวบแรกต้องเข้าใจ ถ้าเรื่องมันยากมาก เขียนพาดหัวมันให้ตอบเลย เวลาคิดอินโฟฯ คิดว่าจะคุยกับใครแล้วคิดธีม เคร่งครึม ซีเรียส แบ๊ว น่ารัก คัลเลอร์ฟูล อะไรก็แล้วแต่ให้เข้ากับเรื่องและเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย
The MATTER : แล้วเรื่องยังไงที่จะใช้ธีมแบ๊ว ธีมน่ารัก เรื่องยังไง
ถ้าเป็น พรบ. คอมฯ หรือกฎหมายใกล้ตัวๆ ส่วนใหญ่จะใช้ธีมสีชมพูๆ สีพาสเทลๆ หน่อย อยากจะให้คนที่เห็นด้วยกับเรานิดหน่อย ไม่ได้อินกับเรามาก รู้สึกสบายใจถ้าจะแชร์ คือไม่ได้ดูโหดร้าย ดำแดง เค้าอาจจะไม่ comfortable ที่จะแชร์ก็ได้
แต่ถ้ามันเป็นเรื่องเครียดแล้วเราคุยกับพวกฮาร์ดคอร์ครับ เรากลุ่มลูกค้าชัดว่าเราคุยกับคนที่อินระดับหนึ่ง เพราะงั้นก็ต้องทำให้มันดูรุนแรง ดูก้าวร้าว ดูปะทะกับคน แล้วยังต้องใช้ธีมนิ่ง น่าเชื่อถือด้วย เพราะมันเป็นเรื่องที่ยาก
จริงๆ หลักๆ ก็มีธีมหดหู่ ธีมหวานแบ๊ว แล้วก็ธีมน่าเชื่อถือ มีประมาณแค่นี้แหละ จริงๆ เหมือนธีมมันจะไปโฟกัสกับคำด้วยอ่ะครับ เหมือนอย่างศาลรัฐธรรมนูญ พาดหัวคือศาลคนดี คือตั้งใจจะแขวะ คนอ่านที่เป็นฮาร์ดคอร์ก็จะรู้เลยว่าแม่ง…นี่เอง ไม่ได้เป็นคนดีอย่างที่เราเห็น ในขณะที่แบบพ.ร.บ.คอมฯ ก็จะเล่าเรื่องกลางๆ ไม่มีตัวตนหรือจุดยืนของผู้เขียนบางอย่างที่พยายามจะแทรกเข้าไปในนั้นด้วย ให้กลางที่สุด บางข้อมูลก็คือ fact ล้วน แต่พวกรัฐธรรมนูญทั้งหมดเนี่ย จะมีลักษณะของการรณรงค์ด้วย มีจุดประสงค์แฝง อันนี้ก็จะเป็นตัวกำหนดธีมว่าเราจะเอาให้ fact หรือจะบอกอะไรบางอย่าง แต่ส่วนใหญ่ถ้าบอกก็จะไม่ได้บอกกันไปตรงๆ จะบอกแอบๆ อยู่
The MATTER : ในการทำอินโฟกราฟิกมีการใช้คำเปรียบเทียบต่างๆ หรือว่าเอารูปสัญลักษณ์ต่างๆ มาเปรียบเทียบประเด็นที่เราจะเสนอไหม หรือว่าส่วนใหญ่จะทำตรงๆ
ส่วนใหญ่ตอนเราร่างเท็กซ์หรือพวกรูปเล่มเนี่ย คนทำกราฟฟิกเขาจะเป็นคนคิด ยกเว้นว่าบางทีที่เรารู้สึกว่า เออ เราต้องการอะไรบางอย่าง มันจะมีอย่างพ.ร.บ.วัฒนธรรมที่ทำเป็นน้ำแข็งแล้วก็ใส่เท็กซ์ลงไปในน้ำแข็ง อันนั้นคนทำคิด
สมมติว่าประเด็นที่มันจะขายได้อยู่แล้วเนี่ย รูปสวยอาจจะทำให้ต่างกันที่ 500 หรือ 550 แชร์ แต่ว่าถ้าประเด็นขายไม่ได้เนี่ย ต่อให้ทำรูปให้สวยแทบตาย มันก็ขายไม่ได้
The MATTER : คิดว่าประเด็นที่เราสื่อสารแล้วประสบความสำเร็จ กับสื่อสารแล้วไม่ค่อยมีคนแชร์เนี่ย มันต่างกันเพราะอะไร ปัจจัยคืออะไร
ผมยืนยันมาตลอดครับว่ามันอยู่ที่ประเด็น มันไม่ได้อยู่ที่รูปสวย สมมติว่าประเด็นที่มันจะขายได้อยู่แล้วเนี่ย รูปสวยอาจจะทำให้ต่างกันที่ 500 หรือ 550 แชร์ แต่ว่าถ้าประเด็นขายไม่ได้เนี่ย ต่อให้ทำรูปให้สวยแทบตาย มันก็ขายไม่ได้ ส่วนใหญ่เราจะไม่รู้นะว่าอะไรจะขายได้หรือไม่ได้ หลายเรื่องเลยที่คิดว่าทำแล้วไม่ได้อะไรหรอกแต่ว่าคนชอบมาก แชร์กันใหญ่เลย บางเรื่องคิดว่าตู้มแน่นอน แล้วแม่งก็ดับ คือบางทีก็รู้ บางทีก็ไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้ เอ่อ เมื่อกี้ถามว่าอะไรนะ (หัวเราะ)
The MATTER : ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จครับ
หนึ่งคือเรื่องนั้นมันโดนใจกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า สองคือเราหยิบยอดน้ำแข็งที่เป็นพอยนท์ขึ้นมาได้หรือเปล่าเช่น กฎหมายอินเทอร์เน็ตเนี่ย ผมสังเกตว่ามันจะโดน อาจจะเพราะว่ากลุ่มผู้อ่านเราเป็นคนใช้อินเทอร์เน็ตเลยจะโดน ทีนี้พอเราจะหยิบอะไรขึ้นมาในร่างพ.ร.บ.ที่มันพูดถึงการปิดกั้นเน็ตเต็มไปหมด ถ้าเราจะหยิบเรื่องที่มันซับซ้อนเกินไป มันอธิบายหลายชั้น มันงงละ แต่ถ้าเราหยิบขึ้นมาแค่ว่า เราจะบล็อคเว็บได้เพียงเพราะว่าศีลธรรมอันดีอย่างเดียว มันก็อาจจะง่ายกว่า แล้วส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ไปแอบไว้ข้างในเอา คือรูปมันเป็นแค่ presentation อ่ะ มันก็เหมือนกระจก เป็นกระจกหน้าร้านแล้วค่อยให้เดินเข้ามา ซึ่งถ้ากระจก 500 แชร์มันก็มีคนเดินเข้ามาบ้าง แต่ถ้ากระจก 3 แชร์ก็คงไม่มีใครเดินเข้ามาเลย ถ้าเกิดไม่มีกระจกเลยก็ไม่ได้ คนก็ไม่รู้จะเดินเข้ามายังไง แต่ถ้าคนเห็นแต่กระจก แล้วได้กระจกไปหมดแล้ว แล้วไม่เดินเข้ามาเลยก็ไม่ได้อีก
The MATTER : สรุปก็คือเราต้องบิลด์กระจกให้มันดึงดูดพอสมควร เพื่อที่จะให้คนบางส่วนที่พร้อมจะเดินเข้ามาเดินเข้ามา
ใช่
The MATTER : แล้วมีประเด็นอะไรที่เราสื่อสารแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการทิ้งรายละเอียดที่เรารู้สึกว่ามันสำคัญไปหมดเลย เพื่อที่จะสร้างกระจกที่มันสวยงามไหม
มีอยู่แล้วล่ะ จำได้ ผมว่าคดีกองทัพเรือฟ้องภูเก็ตหวานนะ ซึ่งจริงๆ คดีนี้มีอะไรเยอะมากเลย แต่ว่าหยิบปลายทางมาอย่างเดียว ซึ่งประเด็นอย่างนี้ไม่โดนคนมากอยู่แล้ว คือไม่ได้คาดหวังมากอยู่แล้วตอนทำ แต่ว่าอยากจะเล่าเรื่องคดีนี้ คือถ้าคนไม่ได้รู้จักคดีนี้เนี่ย มันก็จะรู้แค่ว่าอยู่ดีๆ กองทัพเรือมาฟ้องสำนักข่าวเล็กๆ ได้ไหม มันจะถูกต้องไหม เรื่องโรฮิงญาอีก เพราะว่าเขารายงานข่าวเกี่ยวกับโรฮิงญา มันก็จะมีประเด็นข่าวโรฮิงญาอยู่ข้างใน แต่ถ้าอยู่ดีๆ เราเอาเรื่องกองทัพเรือ แล้วก็เอารูปอะไรอย่างงี้ มันก็จะโหดไป จะไม่เป็นมิตร เราเลยหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อพูดเรื่องข้างใน
The MATTER : เวลาที่เราศึกษาข้อมูลแล้วเราจมดิ่งลงในประเด็น เราจะรู้ได้ไงว่า อันนี้คือสิ่งที่คนทั่วไปเค้ารู้ เค้าสามารถรีแอคได้ อ่านแล้วรู้เรื่อง ไม่ยากเกินไป ความรู้พวกนี้มันเป็นเซนส์ หรือใช้เดาเอา หรือมันคือประสบการณ์ หรือมันคืออะไร
ผมว่าด้วยความที่มันเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราก็จะซึมซับความรู้สึกคนอื่นอยู่บ้าง เราก็จะคาดคะเนจากคนรอบตัวเราก่อนได้ครับว่า เอ้ย อันเนี้ยะ เราอยากบอกเพื่อนเราจังเลย มันคงอินแน่ๆ ถ้าบอกมัน ก็คือเดาอ่ะครับ เรียนรู้วันต่อวันนี่เอง พูดให้เท่ขึ้นก็เรียนรู้จากความผิดพลาด มันมีตลอดจนถึงวันนี้ก็มี หลายอย่างที่เรากะให้เปรี้ยง ไม่เปรี้ยง เรากะอันนี้ดับ เอ้า มันเปรี้ยงเว้ย ก็ค่อยๆ ศึกษาว่าคนในสังคมสนใจอะไร ก็เดาไป บางอันก็เดาถูกบางอันก็เดาผิด
The MATTER : เราวัดความสำเร็จยังไง เท่าไหร่ที่คิดว่าสังคมซื้อ มีการกำหนดตัวเลขไหม เช่น 100 แชร์
แล้วแต่เรื่องดีกว่าครับ แล้วแต่ว่าเรื่องนั้นเราตั้งเป้าขนาดไหน เช่น บางเรื่อง 130 แชร์ผมว่าโอเคแล้ว ประเด็นนี้ขายได้แค่นี้ก็โอเคแล้ว บางเรื่อง เช่น นิวเคลียร์ กฎหมายจะออกอีกไม่กี่วันเนี่ย ผมก็คิดว่าถ้า 500 มันเฉยๆ อ่ะ ผมว่ามันต้องเกิดกระแสอ่ะ (แล้วนิวเคลียร์ได้เท่าไหร่) ก็ได้อยู่นะได้เยอะอยู่
เรื่องรัฐธรรมนูญยากมาก ก็คุยกัน เราเล็งกันนิดนึง เช่น อย่างวันนี้เราพร้อมจะปล่อย เราคาดหมายนะ อันนี้จริงจัง บางทีก็จริงจังแต่ก็น้อยก็มี บางเรื่องก็ดีเพราะมันเป็นเรื่องที่คนพร้อมจะรับข้อมูลแล้ว บางทีเราเสนอข้อมูลแบบ fact เขาก็รับแล้ว
อย่างเรื่องพรบ.คอมฯ นี่ก็ถือว่าโอเคอยู่นะ เราอ่านพรบ.คอมฯ ทั้งร่าง แล้วเราก็เลือกบางเรื่อง เช่นผมจะเอาเรื่องบล็อกเนื้อหา สมมติเราทำเป็น ‘เรามารู้จักพรบ.คอมพ์ใหม่กันเถอะ บุลเลตๆๆ ว่ามีอะไรบ้าง’ ก็จะน่าเบื่อแบบนี้มันเป็นราชการ เป็นเราเราก็จะหยิบว่าเราจะเล่นเรื่องอะไร เราหยิบเรื่องบล็อกเนื้อหามาเรื่องเดียวแต่จริงๆ ข้างในมีมากกว่าสิบกว่าเรื่อง แต่ถ้าคนกรุณาคลิกลิงก์ก็จะเห็น ซึ่งเฉลี่ยเนี่ย ผมคิดว่าอย่างทวีต ถ้ามีคนรีสัก 5-6 คน โดยเฉลี่ยก็จะทำให้คนคลิกอ่านก็เกือบๆ ร้อย ถ้าคนแชร์สัก 200 คน คนก็จะคลิกอ่านสัก 600 คน ก็ทำได้แค่นี้แหละครับที่ผ่านมา
The MATTER : เท่าที่ทำมา เรื่องแบบไหนบ้างที่คนในเน็ตไม่อ่านชัวร์
พวกกฎหมายนี่ก็รับยาก หรือว่าองค์กร การจัดตั้งศาล จัดตั้งองค์กรใหม่ ถ้าเป็นแก้กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง คนจะแชร์เยอะ แต่จะเป็นนักกฎหมายและเพจกฎหมายที่แชร์เยอะ แต่มีตอนนั้นที่ทำอินโฟกราฟิกชุดนึง เรื่องตั้งศาลอะไรสักอย่างอะดับมากเลย โพสต์กี่รอบๆ ก็ไม่ไป ผมว่ามันสำคัญ แต่มันก็ไม่เกิด ต่อให้เป็นเรื่องสำคัญ เราก็ต้องยอมปล่อย
คือมันมีเรื่องสำคัญเยอะเกินไป ก็ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง ต้องปล่อยบ้าง แต่มันจะมีบางเรื่องเท่านั้นเองที่เรารู้สึกว่ายังไงก็ปล่อยไม่ได้เลย คนแม่งไม่ซื้อแต่ก็ต้องไปต่อแล้วแหละ เช่น รัฐธรรมนูญ มีคนที่อยู่ในคุก เราก็ถอยไม่ได้อ่ะ ก็ทำไป เราก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ เนอะ แต่ว่าแก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ สมมติว่ารัฐธรรมนูญทำแทบตายยังไงก็ได้แค่ 50 แชร์ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอ่ะ มีคนคลิก 500 คน ยังดีกว่าไม่มีคนพูดเรื่องนี้ในสังคม จริงๆ เราก็เป็น NGOs ไง คือเราก็ไม่ได้ผูกพันรายได้กับยอดคลิก น้อยก็ยังดีกว่าไม่มีอ่ะ ก็ทำๆ ไป ถ้าจำเป็นก็ทำ
ในแง่ที่ว่าเขาแชร์ไป เค้าเห็น ไอ้พวกด่านี่แสดงว่าเขาอ่านไปแล้ว ก็โอเค
The MATTER : เราวัดผลยังไงว่าคนตรงที่ไม่เห็นด้วยกับเราเริ่มมาอ่านทางฝั่งเราแล้ว
โดนด่าครับ (The MATTER : คือถ้าโดนด่านี่โอเค?) ในแง่ที่ว่าเขาแชร์ไป เค้าเห็น ไอ้พวกด่านี่แสดงว่าเขาอ่านไปแล้ว ก็โอเค มันจะมีพวกด่าสุภาพด้วย มีพวก ‘ขอโทษนะครับ ผมไม่เห็นด้วยตรงนี้จริงๆ’ บางทีเราก็ตอบบางทีเราก็ไม่ตอบ บางทีก็คุยกันรู้เรื่องนะ อย่างที่ผมทำว่า ประชามติต้องรณรงค์ได้ ก็มีคนเมนชั่นทวีตมา ‘ผมเชียร์คสช.นะ แต่เรื่องนี้ผมเห็นด้วย’ ก็จะมีบ้างนะครับ เราก็ให้ความร่วมมือด้วย
The MATTER : ในเมืองไทยเวลาเราสื่อสารแบบนี้ คิดว่าตรงไหนยากที่สุด อะไรคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด บ้านเรามีสิ่งเร้าความสนใจในอินเทอร์เน็ตมากเกินไปหรือเปล่า
ไม่ค่อยเชื่อเรื่องคนไทยอ่านหนังสือน้อยเลย ส่วนวัฒนธรรมสื่อก็เป็นปัญหานะแต่ก็ไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยหรอก คือวัฒนธรรมคนเล่นอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยเข้าไปไล่อ่านหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ กันแล้วอะเนอะ เราก็จะอ่านเฉพาะเท่าที่โลกในเฟซบุ๊กมันบอกเราอย่างนี้ ด้วยความที่มันเป็นโลกออนไลน์ มันก็ไม่แมตช์กับประเด็นการสื่อสารบางอย่าง
แต่จริงๆ ก็เกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านด้วยนิดนึง ผมว่าวัฒนธรรมการอ่านของเราไม่ใช่การอ่านแบบเอสเซ (Essay) ครับ แต่ของเราเป็นแบบเม้าท์ทูเม้าท์ ปากต่อปาก เพราะเราจะชอบอ่านข่าวกอซซิป ผาดหัวแรงๆอะไรอย่างเงี้ย ทางแก้ก็คือเขียนหัวให้ตรงประเด็นน่ะครับผมว่า ไม่ต้องเสียเวลากับมันนาน
The MATTER : ตอนนี้เรามีช่องทางสื่อสารทั้งทางเว็บ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อะไรคือสิ่งที่คิกว่าไปได้ไกลที่สุดครับ
คงจะเป็นเฟซบุ๊กแหละ แต่ผมยังเชื่อในทวิตเตอร์นะ แต่ยังไปได้ไม่เต็มที่เพราะเจ้าหน้าที่หลายคนยังไม่ถนัดน่ะครับ แต่คือเราทวิตปุ๊บ ห้าสิบรีทวิตจะต้องมาอะ มาไวมาก บางเรื่องก็มีคำอธิบายได้ดีกว่าเฟซบุ๊กนะ ตอบได้ดีกว่า เพราะมันถูกบีบให้มันสั้นมั้ง คนจะคาดหวังว่า เวลาพิมพ์อะไรในทวิตเตอร์มันจะตอบจบเลย เพราะมันจำกัดตัวอักษร วัฒนธรรมโซเชียลเปลี่ยนเร็วมากนะครับ เราก็ต้องปรับ ทันบ้างไม่ทันบ้าง
The MATTER : ปรับทันนี่เช่นอะไรบ้างครับ
ตามที่เค้าอยู่นี่ตามไม่ทันนะ แต่ว่าปรับทันก็เช่น มียุคนึงที่นิยมโพสอะไรที่เป็นรูป ประมาณ 4 ก่อน แต่ไอ้รูปแบบนี้มันมาซัก 3-4 ปีแล้วนะครับ จะมียุคนึงที่โพสเป็นลิงก์แล้วมีพาดหัวใส่ไปในรูป กระแสนี้ตกเร็วมากเลย พอเราจะตามทันเงี้ย มันก็เปลี่ยนแล้ว เราก็ต้องถอย
The MATTER : แล้วอย่างตอนนี้ที่นิยมใช้ภาพเคลื่อนไหวหรืออนิเมชั่นสั้นๆ เช่น GIF ล่ะครับ
GIF เรายังทำไม่สำเร็จนะ จริงๆ คือพวกเราเนี่ย… บอกแล้วว่า เราโง่ครับ (หัวเราะ) คนที่สมัครงานที่เนี่ยมันต้องเป็นคอการเมือง ต้องอินสังคม ซ้ายจัด มันจะมาทำ GIF วาดแมวไรเงี้ย ทำไม่ได๊ เพราะแม่งจะไม่มีคนแชร์ไง เราก็จะแบบ เอาแมวมาผสมยังไง
The MATTER : แล้วไม่คิดจะหาคนมาทำหน้าที่สื่อสารโดยตรงเหรอครับ
จริงๆ เราก็อยาก แต่ไม่มีใครอยู่กับเราได้ (หัวเราะ) เราก็อยากจะได้คนแบบนั้นครับ แต่เค้าไม่เคยเดินเข้ามาหาเราเลยครับ เราอาจจะจำเป็นต้องมีคนนึงที่ไว้ทำหน้าที่สื่อสารอย่างเดียว แต่ที่ผ่านมาเราต้องทำหลายอย่าง คือคุณต้องไปศาล ไปดูจำเลย ไปสังเกตการณ์ อ่านกฎหมาย สรุปกฎหมายให้เข้าใจได้ ซึ่งคนที่เค้าทำได้เนี่ยเค้าก็อาจจะไม่อดทนที่จะไปนั่งอยู่ในศาล เพื่อดูทหารสืบพยาน จะเป็นคนละเซ้นต์กัน
The MATTER : แล้วการที่เราอยู่บนเฟซบุ๊ก เราจะต้องไปแข่งขันเรียกลูกค้า เรียกความสนใจจากคนจำนวนมาก คนส่วนหนึ่งก็ไปสนใจโฆษณา เค้ามีงบ มีคนโปรโมตมากมาย แล้วเราอยู่ได้หรอ
อยู่ยาก ผมคิดว่าส่วนใหญ่เราอยู่ทรงๆ นะ แบบอยู่ไปวันๆ อะ แบบ 200 แชร์ก็ดีใจละ คือแต่ก่อนเนี่ยผมจำได้ ผมเพิ่งตระหนักได้ตอนที่ทักษิณด่าประยุทธ์อ่ะ มันได้สามแสนแชร์อ่ะ คือสังคมไทยมันสามารถไปถึงสามแสนแชร์ได้กับตัวเลขสิบกว่าล้านเฟซบุ๊กยูสเซอร์ เพราะฉะนั้นไอ้ห้าร้อยเนี่ย ดีใจแทบตายเนี่ย มันไม่ได้อะไรเลย มันไม่เป็นกระแส เราคิดไปเองว่ามันเป็นกระแส ผมคิดว่าเราอยู่กันแบบกุศลส่ง เราพอใจกับสองร้อยแชร์สามร้อยแชร์อย่างเดียวโอเคละ ห้าร้อยแชร์โอเคมีคนเห็นเยอะและ พอไปดูยอดคลิกในเว็บก็สามพันคลิก โอเคแล้วกูดีใจแล้วอะไรเงี้ย ซึ่งมันอยู่ได้แค่กุศลส่ง นานๆ ทีถึงจะแบบ ทำอะไรที่เป็นกระแสได้จริงๆ
ผมคิดว่า กว่าเราจะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ไม่ใช่แค่อ่านสองวันแล้วทำกราฟิกสวย แต่เราต้องอยู่กับเรื่องนั้นนานมากๆ จนเข้าใจมันมากจริงๆ เราถึงจะมองเห็นว่ามุมไหนในเรื่องนั้นที่สังคมจะซื้อ และจังหวะไหน เวลาไหนที่สังคมจะซื้อ แล้วคาดการณ์ล่วงหน้าได้นิดหน่อย พอมันถึงจังหวะนั้นเราหยิบประเด็นได้ถูกจังหวะ ถูกประเด็น ถูกทั้งประเด็นที่คนสนใจ ถูกทั้งจังหวะ มาประกอบกันมันึงจะสร้างอะไรได้ซึ่งเราจะทำอย่างนั้นเราต้องอยู่กับเรื่องนั้นมาแบบหนักมาก นานน๊าน ทำได้ที
The MATTER : ปลอบใจกันเองยังไงเวลาส่งคอนเทนต์ออกไปแล้วมี เชี่ย สามไลค์ หกแชร์
เราจะรู้อยู่แล้วว่ามันจะดังหรือเปล่า เราจะปลอบใจตัวเองกันอยู่แล้ว (หัวเราะ) (The MATTER: ปลอบใจตัวเองล่วงหน้านิดนึงก่อนโพสต์?) คือเราจะรู้ว่ามันจะยิ่งดังกว่านี้เพราะเราไม่ได้ลงทุนกับมันด้วย เช่นบางเรื่องเขียนมารู้สึกว่ามันมีประเด็น พรบ. โอนเงิน งบประมาณเงี้ย รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตคน แต่ยังหามุมให้คนทั่วไปดึงไปหามันไม่ได้ ก็รู้ว่าปล่อยไปก็ได้แค่ ห้า สิบแชร์
The MATTER : แล้วจะยิงซ้ำมั้ย แบบว่ารู้ว่าอันนี้ไม่ดี แต่ว่า โอเคเราคิดออกละ ยิงซ้ำ
เคย เคยแบบพอจังหวะใหม่ก็เอาของเดิมมาใช้ใหม่ อย่างตอนที่น้องทำเรื่องสถิติศาลรัฐธรรมนูญอะไรงี้ พอน้องทำก็บอกไว้ก่อนว่าทำใจนะ ปล่อยมันไปงี้ ชิ้นนี้ไม่เกิดหรอก คนไม่ซื้อ ไรงี้ แต่มันก็ต้องทำ มันเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทำ แต่เตือนๆ ไว้ก่อน แต่บางทีก็มี กะเปรี้ยงไม่เปรี้ยง ปลอบใจตัวเองว่า น่ะๆ สังคมมันเป็นแบบนี้ (หัวเราะ)
The MATTER : มันง่ายไม่พอหรือเขายากไม่พอจะเข้าถึงเรา
บางเรื่องของเราไม่ซื้อจริง ๆ คือมันก็ง่ายได้แค่นี้แหละ ตัวเราเองก็รู้ข้อจำกัดตัวเราเองดีครับว่าเราหาอะไรให้มันคลิกกับเค้าไม่ได้ อย่างไอ้กราฟที่ว่า เรารู้แล้วว่ามันไปถึงคนกลุ่มไหน ประเมินแล้วว่า แชร์ประมาณนี้ แฟนคลับเราประมาณนี้ มันยังได้อยู่นะ เราก็จะโอเค พอใจกับมัน
The MATTER : สื่อสารกลุ่มไหนสื่อสารยากที่สุด
จะเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ สาวกสมศักดิ์ไรงี้ สมมติวันนี้เราโพส 112 ศาลตัดสินงี้ เราใส่รายละเอียดคำพิพากษาเต็มเลย เขาก็คอมเมนต์แรงมาเลย ซึ่งต้องถามก่อนว่าได้อ่านหรืออ่านยังวะ? คอมเมนต์ข้างบนก่อนสิ คอมเมนต์เนื้อหาสิ คำพิพากษาแบบนี้ไม่ถูกต้องเพราะอะไร ไม่ เขามาๆๆ ใส่เลย “เศร้าชิบหาย ประเทศชาติไม่มีอนาคต ลูกหลานจะอยู่ยังไง” เขาคิดว่าเขารู้แล้ว ว่าปัญหาคืออะไร ดังนั้นเขาเลยมาใส่เลย พอเขามาใส่แล้วปุ๊บเนี่ย มันทำให้คนไม่เข้าเพจเรา เพราะจะคิดว่าพวกนี้เพจนี้ ‘แดงสัส แดงโคตรๆ’ ก็อันตรายเหมือนกัน แล้วจริงๆ เราก็อยากจะคุยกับพวกนี้ อยากจะคุยว่าคุณเข้าไปดูข้อมูลสิ ตอนนี้คนถูกตั้งข้อหาเนี่ย มีเท่านี้ บางคนก็เข้าใจว่าติดคุกกันเป็นร้อยซึ่งบางทีมันก็ไม่ถึง จริงๆ มันก็ติดคุกอยู่สี่สิบกว่า ก็เขียนให้ดูนะ ดูสิ ดูๆๆ ก็ไม่ดู ก็ด่ากันแล้ว
The MATTER : มีพวกนี้เยอะมั้ย
อู้ย เยอะๆ เพจเรามีเต็มเลย (หัวเราะ) เอาจริงผมก็ไม่ค่อยชอบนะ เวลาแบบ เอ้อ โพสคำพิพากษา 112 แล้ว หูว เข้ามาลงเต็ม บางทีก็ดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ด้วยความที่โพสต์คำพิพากษาคดี ต้องมีมอนิเตอร์คอยดูว่าใครมาโพสท์ผิดกฎหมายหรือเปล่า (The MATTER : ต้องคอยลบ?) ใช่ ต้องคอยลบ ถึงจะไม่ผิดกฎหมายแต่ก็หมิ่นเหม่ เฉี่ยวๆ อารมณ์มาเต็ม เอาจริงเขาก็ไม่ค่อยฟังเรา ก็ไม่ได้ฟังว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้ ค่อยๆ ฟัง
The MATTER : อย่างตอนที่ทำเรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่ายเนี่ย เคยท้อบ้างไหม ว่าเคยคิดบ้างไหมว่าจริงๆ มันควรจะยากไปเลยวะ
(ถอนหายใจ) มันมีสองสเต็ปอ่ะครับ คือสเต็ปที่ยากมากคือสเต็ปที่เป็น documentation center ก็คือแข็ง ไม่สื่อสาร ยอม ต้องยอม กับส่วนที่เป็นเนื้อหาแบบนี้ก็เลยย่อยให้ง่าย ถ้าอย่างฝ่าย iLaw หลัก ก็จะทำเป็นรายงานมากกว่า พยายามย่อยให้มันง่ายที่สุด คือเราจะพยายามสรุปให้ได้หน้าเดียวแล้วส่งสื่อครับ คาดหวังว่ามันจะไปในทางนั้นได้มากกว่า ให้สื่อไปขยายต่อให้เรามากกว่าจะมาคาดหวังกับการให้มันรันอยู่บนโซเชี่ยล
The MATTER : แล้วในยุคนี้สื่อเขาเลือกเรื่องของเราไปขยายผลบ้างมั้ย
(หัวเราะ) แล้วแต่เรื่อง บางเรื่องส่งไปก็ไม่ลงให้เรา บางทีก็ให้แก้ เรื่องที่ตายหมดเลยก็มี (หัวเราะ)
ติดตาม iLaw ที่ facebook.com/iLawclub และ ilaw.or.th