เป็นเพลงแร็ปแนววิพากษ์สังคมสุดร้อนแรง และกลายเป็นกระแสที่ใครๆ ก็ต้องพูดคำว่า ‘ประเทศกูมี’ โดยล่าสุด ยอดวิวของ MV เพลงเพิ่งทะลุยอด 30 ล้านวิวไปได้ ในช่วงประมาณเพียง 3 สัปดาห์
และในช่วงที่การเมืองบ้านเราดูกำลังเข้มข้น มีแนวโน้มว่าเราจะได้เลือกตั้งกันเร็วๆ นี้ The MATTER คุยกับ 3 แร็ปเปอร์ Liberate P, Jacoboi และ Hockhacker จากโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship ถึงมุมมองทางการเมือง และปัญหาที่ประเทศของเรามีในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไปถึงเรื่องความใกล้ตัวของการเมือง และคนรุ่นใหม่ในบ้านเรา
จากเนื้อเพลงแร็ป ดูจะพูดถึงปัญหาการเมือง สังคมที่เกิดขึ้นในช่วง 10-12 ปีที่ผ่านมา (นับจากรัฐประหารปี49) มองว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศเรามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง
Jacoboi: ผมว่าเรามีรอยปริแยกที่ชัดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว จริงๆ ในโลกประชาธิปไตย เราไม่เคยเห็นตรงกันอยู่แล้ว เราทะเลาะกันมากี่ร้อยปีก็เป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้มันมีความแตกแยกที่หนัก แล้วรัฐประหารปีล่าสุด ปี 57 มันก็คือจุดนึงที่เกิดจากสิ่งเหล่านี้ ผมไม่ได้โลกสวยขนาดที่คิดว่า คนเราจะต้องสามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือ เราต้องรักษาอำนาจประชาชนไว้ทะเลาะกันเอง ทว่าปัญหาคือ ตอนนี้ที่ประชาชนแยกเป็นฝักฝ่ายแล้วมีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงในการทะเลาะเบาะแว้งของประชาชน ซึ่งตรงนี้มันไม่โอเค
Hockhacker: ผมรู้สึกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา มีช่องทางใหม่ๆ มันมีอะไรที่ไปข้างหน้าเยอะมากเลย แต่มันก็มีความพยายามขึ้นมาขวางตลอดเวลาเหมือนกัน ยิ่งข้างหน้าไปไกลเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีสิ่งที่พยายามขวางมากขึ้นเท่านั้น
Liberate P: ผมว่า 10 ปีที่ผ่านมา การเมืองไปถึงจุดสูงที่สุด แล้วมันก็ดิ่งลงสุดเหมือนกัน ผมคิดว่าตอนนี้มันกำลังเป็นช่วงที่ดิ่งลงสุดมาแล้ว แต่กำลังกลับขึ้นมานิดนึง ผมว่าการที่เราจะพูดถึงเรื่องการเมือง ตอนนี้เหมาะที่จะพูดเพื่อให้มันเกิดปรากฎการณ์อะไรบางอย่างขึ้นมาได้
แล้วในมุมกลับกัน พวกคุณคิดว่ามีอะไรหายไปจากประเทศของเราในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาบ้าง
Liberate P: มีคนหาย
Jacoboi: สิ่งหนึ่งที่หายไปก็คือ ‘Freedom Expression’ ที่มันหายไปเยอะ เราสังเกตได้ว่าในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จริงๆ แล้ว Freedom Expression มันก็ไม่ได้มีเต็มร้อยหรอก สมมติว่าในรัฐบาลเลือกตั้งอาจจะมีซัก 70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้มันก็หดเหลือไป 30-40 เปอร์เซ็นต์แล้ว ผมว่าเคสของเราเป็นเคสที่ยกตัวอย่างได้มากที่สุด ผมว่ามีใครมีดำเนินคดีกับเราไหม ตอนนี้ก็ไม่มีหรอก แต่ว่าการที่เขาออกมาพูดจนมันกลายเป็นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ มันก็แสดงออกได้แล้วว่า Freedom Expression เป็นเรื่องที่ไม่โอเคในอำนาจรัฐนี้
Liberate P: จริงๆ เรื่องสิทธิเสรีภาพมันก็หายไป แต่ว่าในบางแง่บางอย่างมันก็พูดได้มากขึ้นนะ บางอย่างก็กลับพูดได้น้อยลง ทั้งๆ ที่ดูเป็นเรื่องที่ควรพูดได้มากขึ้น อย่างเช่นการวิพากษ์อำนาจรัฐ มันพูดน้อยลง ทั้งๆ ที่ผมเชื่อว่าคนไม่ได้กลัวที่จะพูดด้วยนะ แต่เหมือนว่าเบื่อมากกว่า เหมือนคนที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ว่าการที่ออกมาวิจารณ์ หรือตำหนิรัฐบาลนี้จะเป็นการเปิดทางให้ขั้วอำนาจอื่นเข้ามาหรือเปล่า ผมว่าปัญหานี้มันทำให้คนเลือกที่จะไม่พูด ทั้งๆ ที่รู้แหละว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา อะไรเป็นปัญหาหนักสุดที่ประเทศเราได้พบเจอ
Liberate P: ผมว่าเรื่องความแตกแยก
Jacoboi: ความแตกแยก แล้วก็ความแตกแยกที่บวกกับการแทรกแซงโดยอำนาจนอกระบบ ซึ่งก็คือกองทัพ
Liberate P: ช่วงปี 49 เราจะเห็นแล้วว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของ การแตกแยกทางความคิด ถ้าตอนนั้น ตามการเมืองดีๆ ก็จะเห็นว่ามันมีกลุ่มพันธมิตร ซึ่งมีจำนวนมาก แล้วก็จะเริ่มมี นปก.ก่อนที่จะมาเป็นนปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) พอหลังปี 50 เราก็ยิ่งเห็นรอยแตกแยกที่ชัดเจนว่ามันเริ่มมีกลุ่มที่แบ่งแยกความเป็นเหลืองเป็นแดง แต่ว่านี่มันเป็นเรื่องที่ผ่านมาเป็น 10 ปีแล้ว
ผมว่าเราต้องก้าวข้ามให้ได้แล้ว ว่ามันไม่ใช่แค่การแบ่งคน 2 กลุ่มแล้ว แต่ตอนนี้มันก็มีคนที่ตาสว่างกับพรรคการเมือง หรือตาสว่างกับม็อบมากขึ้นแล้ว ที่เขาไม่เชื่อกระบวนการเหล่านั้นแล้ว
Jacoboi: สำหรับผม กิจกรรมทางการเมืองในบ้านเราที่เริ่มกันเมื่อปี 49 ผมไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ ถ้าอีก 20-30 ปี บ้านเราจะมีม็อบ มีการเดินขบวนทุกวัน ทุกที่ ผมไม่มีปัญหาเลย ผมโอเคกับสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ เราเห็นว่า มันมีคนที่มีอำนาจในรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้ แล้วสุดท้ายมันก็มาจบลงที่รัฐประหาร แล้วพอมันจบที่รัฐประหาร ไม่ว่าคุณจะใส่เสื้อสีอะไร อำนาจถูกเอาไปจากคุณหมด
Hockhacker: ผมว่าม็อบปกติไม่เท่าไหร่ แต่มันมีม็อบที่เกิดจากการยุยง ปลุกปลั่นความแรงแรงโดยรัฐเข้ามามีส่วนตลอด ไม่ว่าจะปลุกระดมทางด้านสื่อว่าอีกฝ่ายนึงเป็นอย่างนี้ ส่วนอีกฝ่ายเป็นแบบนี้ จนทำให้เกิดความเกลียดชัง มันถึงเป็นความแตกแยกอย่างที่บอก
Jacoboi: คือคุณต้องเข้าใจว่า คุณอาจจะสะใจว่าเค้าเอาฝ่ายที่คุณไม่ชอบไปจากรัฐบาลได้ แต่คุณต้องรู้ว่า เค้าไม่ได้แค่เอาอำนาจจากรัฐบาลไป แต่เขาเอาอำนาจจากคุณไปด้วย
อะไรทำให้ประเทศเราเดินมาถึงจุดนี้ ตามเนื้อหาที่อยู่ในเพลงประเทศกูมี
Hockhacker: ผมว่าเป็นเรื่องของเวลา สมมติว่าเราไปทำเพลงแร็ปแบบนี้ในสมัย 2 ปีก่อนหน้านี้ หรือสมัยที่เร็กเก้ฮิตอย่างนี้ อยู่ดีๆ ถ้าเราแร็ปขึ้นมา มันก็ไม่เป็นแบบนี้นะ เนื้อเพลงก็คงไม่เป็นแบบนี้ แม้ว่าข้อความมันจะคล้ายๆ กัน มันเป็นเรื่องของเวลา ทั้งกระแสเพลง การเปิดของคน อินเทอร์เน็ตที่เข้ามา รวมถึงรัฐบาลนี้เอง อยู่ในจุดที่ลงตัวพอดี มันเลยเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น
Liberate P: ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ได้คิดเป็นแผนขนาดนั้น ไม่ได้คิดกันมาว่าตอนนี้ ต้องปล่อยอย่างนี้ ตอนนี้ จริงๆ มันจะปล่อยก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ ซึ่งเราไม่ได้วางแผนเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลเลย เป้าหมายเราดีลกับแค่ประชาชนด้วยกันแค่นั้นเอง
Jacoboi: พอดีมาปล่อยช่วงที่รัฐบาลชุดนี้สะสมความรู้สึกไม่ดีกับประชาชนไว้เยอะ อย่างในเนื้อเพลงเหมือนกับว่าเราเล่าให้ประชาชนฟัง เหมือนเราคุยแบบเรามีไมโครโฟนตัวนึง เราก็คุยกันเอง ยังไม่ได้ดีลกับอำนาจรัฐเลย
คิดอย่างไรที่ถูกมองว่าออกมาเพลงแร็ปที่ปล่อยออกมา เป็นการให้ร้ายประเทศชาติ
Hockhacker : ผมขอหยิบคำนึงจากสไลด์เสวนาศิลปะ อำนาจ และการขัดขืนว่า “ประเทศกูมีไม่เท่ากับประเทศกูไม่ดี” มันคนละอย่างกัน
Liberate P: คือเขาพยายามเอาคำว่าชาติ มารวมกับอำนาจรัฐ และรัฐบาล แต่ว่ารัฐบาลไม่ใช่ชาติ สิ่งที่เราพูดชาติไม่ได้เป็นคนทำ ชาติไม่ได้เป็นคน ไม่ได้เกิดจากฝีมือชาติ มันเกิดจากฝีมือมนุษย์ ถ้าบอกว่าเราทำลายชาติ แปลว่าคนที่ทำผิดตรงนั้น ตามสิ่งที่เราพูด เค้าผูกตัวเองไว้กับชาติ ว่าถ้าเราด่าเขา = เราด่าชาติ
Jacoboi: ชาติไม่ได้เป็นคน ชาติทำอะไรไม่ได้ ชาติไม่มีตัวตนครับ
ปัญหาของประเทศเราอยู่ที่การเงียบหรือเปล่า ถ้าเงียบต่อไปจะเป็นยังไง
Jacoboi: ผมว่าก็มีส่วนสูงนะ โดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามกระบวนการปกติ และมีกฎหมายพิเศษที่เขาทำอะไรก็ได้ ต่อให้ประชาชนพูด ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ทำ ถ้ามันมีกระแสการตรวจสอบ หรือกระแสการต่อต้านที่สูง มันก็มีความเป็นไปได้ที่เค้าจะต้องระมัดระวังตัว แต่ว่าอย่างที่ Liberate P บอกว่าคนก็มีความเบื่อหน่ายด้วยส่วนหนึ่ง รัฐบาลเองก็มีทั้งขู่และปลอบ เขาไม่ได้มานั่งจับคนทุกคนเข้าคุก แต่เขาก็จับบางคนไปขังโชว์ให้ดู ถามว่าความกลัวมันมีไหม ผมว่ามันก็มีอยู่บ้าง
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างตอนที่พวกผมปล่อยเพลงออกมา ก็มีเพื่อนผมหลายคนก็ออกมาแสดงความห่วงใย ทั้งๆ ที่เอาจริงๆ ผมพูดตรงๆ เลยนะ เนื้อเพลงประเทศกูมี ไม่ใช่ในเชิงศิลปะเนื้อหามันอ่อนมากๆ เลย มันไม่ได้มีอะไรที่รุนแรงเลย แต่คนก็ยังออกมาเป็นห่วงผม เพราะเรากำลังอยู่ในสภาวะที่มายเซ็ตของคนไม่ปกติ
ตอนนี้มีกลุ่ม RAD ที่กล้าออกมาพูด ถ้าไม่มีคนออกมาพูด เงียบกันต่อไป คิดว่าประเทศจะเป็นยังไง
Hockhacker : ผมว่าถ้าคนไม่ออกมาพูดตอนนี้ เดี๋ยวพอรัฐบาลเขาถอยลงไปแล้ว แล้วมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งใหม่ๆ ขึ้นมา ทุกคนก็จะระเบิดออกมา อาจจะเป็นสื่อมวลชน หรืออาจจะเป็นคนทั่วไปที่อัดอั้น การที่เราออกมาพูดตอนนี้ก็เป็นการจุดประเด็นนั้นให้ออกมาก่อนเท่านั้นเอง
หลายคนก็มองว่า ประเทศเราก็มีดี ทำไมไม่ออกมาพูดด้านดีบ้าง
Liberate P: เรื่องอื่นมันก็มีคนพูดแล้ว เราพูดด้านเดียวเพราะว่ามันเป็นในมุมมองของเรา ด้านอื่นๆ มันไม่จำเป็นว่าเราต้องมาพูดคนเดียวหรือเปล่า เพราะเราพยายามพูดในอีกมุมมองนึง ซึ่งเป็นมุมมองที่ 2 แต่เรากลับโดนถามว่า ทำไมเราไม่พูดในมุมมองนึงอีกทีนึง
Jacoboi: มันเป็นคอนเซ็ปต์ของเพลงด้วย มันไม่มีงานศิลปะชิ้นไหนที่เสนอความหมายออกมาทุกด้านครบหมดหรอก
Hockhacker: ประเด็นของเราคือ เราต้องการแก้ไขปัญหา โดยการแก้ไขปัญหาเราก็ต้องเอาปัญหาขึ้นมาพูด ถามว่าเราพูดด้านดี มันไม่รู้จะพูดทำไม มันไม่ได้นำสู่การแก้ปัญหา จริงๆ มันก็มีคนออกมาพูดหลายแบบแล้ว ในด้านดีก็มีคนพูดไปแล้ว
สำหรับผม เราทำงานอยู่ในวงการเพลงแร็ป เราก็ไม่รู้นะ ด้านดีที่เขาบอกมันคืออะไร ผมมองว่าสิ่งที่แร็ปเปอร์กำลังทำ หรือฮิปฮอปรุ่นใหม่กำลังทำ ไม่ว่าจะโชว์รวย อวดเงิน ผมก็มองว่านั่นเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเขาสร้างเงินจากตรงนั้นได้จริงๆ แต่บางคนก็กลับยังมองว่ามันไม่ดี มันอยู่ที่คนจะตัดสินว่าอะไรดีไม่ดี แต่สิ่งที่เราทำในประเทศกูมี ก็คือสิ่งที่เราอยากจะเล่าจริงๆ คนบางคนก็มองว่าดี บางคนก็มองว่าไม่ดี
Jacoboi: ลองคิดดูว่า ถ้าอยู่ดีๆ เราตะโกนว่า “ตอนนี้ประเทศมีปัญหา” มันก็ดูโอเคใช่ไหม แต่กลับกันถ้าเราไปตะโกนว่า “ที่นี่ดีจังเลย ทุกคนมาดูสิ ที่นี่ดีมากๆ เลย” ผมว่ามันเหมือนคนบ้านะ
ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ คนมองว่า ชอบเพลง แชร์เพลงก็ถือเป็นการแสดงออก เป็น social movement แล้ว จริงๆ แค่การแชร์พอไหม อยากชวนให้คนทำอะไรมากกว่านี้รึเปล่า
Liberate P: จริงๆ ถ้าถามว่าพอไหม ก็พอนะ คือมันเป็นสิทธิของเขา ที่เขาจะพอแค่นี้ แต่ว่าถ้าถามเพิ่มว่าอยากฝากอะไรถึงคนที่แชร์ ผมอยากให้ต่อยอดไปถึงโครงสร้างมันด้วยว่า คนชอบสิ่งที่พวกผมพูด แล้วยังไงต่อ
สมมติว่า เอาท่อนเปิดผมเลยว่า “ประเทศที่เสือดำหน้าขะมำเพราะไรเฟิล”อยากให้คิดต่อว่า เพราะอะไร ทำไมมันถึงหน้าขะมำได้ เรายังไม่ต้องไปพูดหลังมันโดนยิงด้วยซ้ำ ก่อนมันโดนยิง มันเกิดอะไร ทำไมถึงมีคนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติได้ ทำไมถึงมีคนทำอะไรอย่างนี้ทุกปี และมันไม่ใช่คนเดียวแน่นอน ทำไมสัตว์ที่ไม่ใช่แค่เสือดำถึงโดนล่าได้ หลังจากนี้ คนที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะรอด หรือจะโดนจับ มันก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาอีก
Jacoboi: ผมว่าบ้านเรา มันเห็นใจประเด็นสังคมด้วยความสะเทือนใจ และมีความรู้สึกเยอะเกินไป อย่างเคสเสือดำ มันมีทั้งเก้งไก่ฟ้าหลังเทา แต่มันไม่น่าสะหยดสยองเท่าซากเสือดำที่มากองตรงหน้า มันก็เลยไม่อีโมชั่นไง คนก็เลยไปอีโมชั่นกับเสือดำแทน เรามองว่ามันเลยไม่แตะในส่วนโครงสร้างที่เป็นปัญหา
แต่ถ้าถามว่าแชร์แล้วพอไหม ถามผม ผมว่ามันก็อาจจะยังไม่มีความหมายเท่าไหร่ ก็ถือว่าโอเค แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง ผมเห็นว่าคนแชร์แล้วเกิดการถกเถียง มันไม่ใช่แค่การแชร์เฉยๆ และนั่นเป็นเป้าหมายของเราที่อยากให้เกิดการถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้
ที่อยากให้แตะไปถึงโครงสร้าง อยากให้มันจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ด้วยการถกเถียงหรือเปล่า
Jacoboi: ผมว่าการถกเถียงมันเป็นเรื่องพื้นฐานเบื้องต้น การที่เราจะไปถึงตรงไหนได้ โลกเราในระบบประชาธิปไตยไม่ว่าแบบไหนมันถึงต้องมีสภาไง เราจึงต้องมีสภาที่เถียงกันข้ามวันข้ามคืน ไม่ใช่แค่การยกมือโหวตไปก็จบๆ
Liberate P: มันต้องเกิดจากการคุยกันอยู่แล้ว อย่างพวกเราจะมาทำตรงนี้ก็ต้องคุยกันก่อน จนเกิดเป็นโปรดักซ์ออกมา
พูดถึงวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่เติบโตกับสภาพการเมืองที่มีปัญหาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา คิดว่ามันบีบให้เค้าเป็นคนอย่างไร
Jacoboi: ผมไม่ได้รู้จักเด็กรุ่นใหม่เยอะเท่าไหร่ แต่ผมค่อนข้างมีความหวังกับคนรุ่นนี้เยอะ อย่างพวกผมโตมากับการเมืองที่น้ำขึ้นน้ำลง แต่คนรุ่นใหม่ เค้าเติบโตในสภาพที่เค้าเห็นการเมืองชิบหายวายป่วงอยู่ตลอดเวลา และผมคิดว่าถ้าเค้าเห็น เค้าต้องไม่รู้สึกโอเคกับมัน เค้าต้องคิดอะไรแน่นอน คือคิดอะไรไม่รู้แหละ แค่เค้าคิดอะไรบางอย่างก็น่าสนใจแล้ว ในขณะที่คนที่โตมาในยุคที่การเมืองนิ่งๆ แล้วมาเจอการเมืองน้ำขึ้นน้ำลง ก็อาจจะคิดว่าเราทำตัวนิ่งๆ ทำมาหากินของเราต่อไปดีกว่า
Hockhacker: สมมุติว่า ผมคิดว่าตัวเองเป็นเด็กมัธยม เราจะเห็นข่าวมาตลอด 4 ปี ว่าถ้าพูดอย่างนี้แล้วจะโดนอย่างนี้ จะโดนจับบ้าง แล้วถ้าเค้าเกิดไปพูดเล่นกับเพื่อนว่า เห้ย จะโดนจับนะ ผมว่ามันไปฝังความกลัวอยู่ในจิตใจของเด็ก ในอนาคตถ้าเค้าโตขึ้นไป เขาก็อาจจะสอนลูกหลานด้วย ซึ่งมันเป็นการส่งต่อ มอบความกลัวไปเรื่อยๆ ให้รุ่นสู่รุ่น ผมว่าการลุกขึ้นมาคุยกันให้เร็วที่สุดมันเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้ว่าพวกเขาพูดได้ ไม่ใช่ว่าแค่พูดและจะโดนจับ
Jacoboi: ถ้าไปดูรีแอคชั่นต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตที่พูดถึงงานของเรา ก็มีเด็กๆ มัธยมที่ไม่ว่าจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยมีรีแอคชั่นมาเยอะมาก มันก็เหมือนตอนเราเด็กๆ อะ เราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง แต่พอเราเห็นว่ามันมีช่องทางที่เราไปร่วมด้วยได้ มันก็เป็นการปลดปล่อยความคิดของเขาเหมือนกัน
คิดว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับปัญหาแบบนี้ จะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ได้ไหม
Jacoboi: ผมแค่เชื่อว่า เค้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เขามีพลังได้ดี แต่ว่ามันออกว่าจะเป็นอย่างไรไม่รู้หรอก
Liberate P: ผมว่าถ้าเราพูดว่าคนรุ่นใหม่สามารถทำอะไรได้ไหม ผมว่ามันเป็นการผลักภาระ ผมว่าเรื่องพูดนี้ใครๆ ก็พูดได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่ ผมเห็นที่คนพูดว่า คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง ผมว่าเขาก็สนใจนะ แต่แค่เขาสนใจในแบบของเขา อาจจะไม่ใช่เรื่องการเมือง การปกครอง หรือเกี่ยวกับรัฐ มันอาจจะเป็นการเมืองอีกแบบ
อย่างตอนเสือดำถูกยิง เค้าก็ตื่นตัวกับเรื่องพวกนี้นะ หรืออย่างเรื่องนักเรียนโดนไถผม ผมว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นการเมืองหมด แล้วการที่เราบอกว่าวัยรุ่นไม่ค่อยพูดถึงเหมือนผลักเค้าให้ออกจากการเมืองไปอีก ผมว่าจริงๆ แล้วคนที่สนใจการเมืองมันเป็นโดยธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ผมว่ามันไม่มีหรอกที่วันๆ นึง คนจะไม่ออกมาบ่นอะไรเลย
Hockhacker: ผมไม่ค่อยอยากแยกคำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ เพราะมันแปลว่าต้องมี ‘คนรุ่นเก่า’ แต่จริงๆ แล้วเราพูดถึงคนรุ่นปัจจุบันที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ ไม่ว่าถ้าอายุ 60 ปี ก็อาจจะยังต้องใช้ชีวิตในประเทศนี้ไปอีก 10 กว่าปี เราทำงานร่วมกันได้ เราคิดร่วมกันได้ คือเราสามารถมาคุยกันได้ ในที่ประชุมเดียวกัน แล้วก็หาความเห็นร่วมกัน มันก็เป็นงานของคนรุ่นปัจจุบันได้เช่นกัน
Liberate P: อย่างเช่นผู้กับกับ MV เราก็อายุ 55 ปี Jacoboi 33 ปี พวกผม 20 กว่าๆ เราก็ทำงานร่วมกันได้
คาดหวังว่าคนทุกกลุ่มที่พูดมาจะผลักดันการเมืองด้วยกันยังไง
Hockhacker: อันนี้ใช้ภาษาแร็ป ผมว่าเราต้อง Respect กันและกัน
Liberate P: ผมว่ามันเป็นเรื่องของการหาจุดร่วมก่อนมากกว่า ว่าจุดร่วมคืออะไร ก็กลับมายกตัวอย่างที่ RAD ที่เรามองว่าปัญหาจริงๆ มันไม่ใช่แค่การคอร์รัปชั่น หรือว่าเรื่องอะไรที่เราถูกโหมมาก่อนหน้านี้ ปัญหาหลักๆ ที่เราพูดขึ้นมาคือความขัดแย้ง และถ้าเราทำให้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งกลายเป็นจุดร่วมของทุกคนได้ ผมว่ามันจะนำไปสู่การปรองดองอย่างที่รัฐชอบพูดแบบแท้จริง แต่มันไม่ใช่แค่การปรองดอง ที่เลิกทะเลาะกันแล้วมาเชื่อรัฐ แต่เป็นการปรองดองเพื่อหาทางออกให้ประเทศมากกว่า เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยที่เราไม่ต้องให้ใครมาสั่งให้เราปรองดอง
จะต้องเริ่มยังไง ถ้าไม่อยากให้ประเทศเป็นอย่างในเนื้อเพลงประเทศกูมี
Liberate P: มันไม่มีทาง เพราะต่อให้เรามีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว มันก็ยังมีเรื่องที่ประเทศกูมีอยู่ดี มันไม่มีทางที่จะมีเรื่องที่ประเทศนี้ไม่มีไม่ได้
Hockhacker : มันไม่มีโลกที่สมบูรณ์แบบ อย่างยูโทเปีย ที่จะสมบูรณ์ไปซะทุกอย่าง แต่ทุกอย่างจะถูกปรับเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาของมันอยู่แล้ว
Jacoboi: ประชาธิปไตยมันเป็น unfinished project มันถึงจะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ
เป้าหมายของประเทศกูมี หรือกลุ่ม RAD คือประเด็น Freedom Expression หรือเปล่า หรือวางเป้าหมายของกลุ่ม RAD ไว้ว่าอะไร
Jacoboi: อาจจะมองว่า Freedom Expression ก็ได้ แต่ถ้ามองให้จับต้องได้ก็คือ เราอยากสร้างบทสนทนาในสังคม ให้คนออกมาพูดถึง ออกมาตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ มันเลยผนวกมากับ Freedom Expression คุณจะพูดไม่ได้ถ้าไม่มี Freedom Expression
Liberate P: อย่างคนที่ออกมาด่าเรา ประเทศกูมีในด้านอื่นๆ และแซะเราว่าทำไมด้านนู้น ด้านนี้ไม่พูดบ้าง หรือทำเพลงประเทศกูมีในเนื้อหาอื่นๆ เราไม่ได้โกรธ เราชอบนะว่าจริงๆ นี่คือสิ่งที่คุณควรออกมาพูดด้วยตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องถามว่าทำไมเราไม่พูด เราไม่ใช่ตัวแทน เราก็เป็นแค่คนที่ออกมาพูดคนนึง
Jacoboi: คุณคิดว่าอะไรขาด คุณก็ใส่เข้ามา
Hockhacker: เราก็เลยเกิด 8bars Challenge ขึ้นมา ให้คนที่อยากแร็ป หรือแต่งกลอนได้ออกมาพูด
Liberate P: ซึ่งคุณก็ไม่จำเป็นที่ต้องออกมาด่ารัฐบาลทหารอย่างเดียว คุณอาจจะออกมาด่าทักษิณก็ได้ ยิ่งลักษณ์ ด่าย้อนหลังก็ได้
Jacoboi: มันก็มีคนนึงที่เอาบีทของเราไปต่อยาวๆ แล้วพูดในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเพลงของเราหมดเลย แต่ด่ารัฐบาลในยุคที่แล้ว ผมนั่งฟังผมก็ไม่รู้สึกเครียดนะ ผมกลับชอบที่เขาทำออกมา
Hockhacker: หน้าที่เราทำในการโยนข้อความลงไปต่อสังคม ให้เขาได้คุยกัน ซึ่งตอนนี้มันขยับได้แล้ว เขาจะพิมพ์ด่าออกมาในเฟซบุ๊กยาวๆ ผมก็ถือว่าเขากลั่นกรองแล้ว ในการตัดสินใจจะโพสต์แบบนี้
Liberate P: หรือต่อให้เขาไม่กลั่นกรอง ด้วยอารมณ์โมโห ด่าทอ คำหยาบคายต่างๆ จริงๆ พวกนี้มันเป็นเรื่องปกติหมดเลย
Jacoboi: หรืออย่างน้อยๆ ถ้าคุณแสดงความเห็นอย่างไม่มีเหตุผลเลย สุดท้ายแล้วมันก็จะมีคนที่มีเหตุผลมาโต้ตอบคุณ แค่นี้ก็ถือว่าสร้างเป็น conversation แล้ว
แสดงว่าก่อนหน้านี้การถกเถียงกันมันหายไปจากสังคมเลยหรือเปล่า
Jacoboi: มันก็ไม่ถึงกลับหาย มันมีแต่ว่ากระจาย ซึ่งเราอยากให้กลายเป็นกระแส
Liberate P: มันไม่หายไป แต่มันเหมือนถูกผูกขาดแค่คนตามการเมืองเท่านั้น แต่ตอนนี้เหมือนพอเพลงปล่อยออกมา มันไม่ใช่แค่คนที่ตามการเมืองที่พูด แต่ว่าคนที่เบื่อหน่ายการเมืองการออกมาพูดกัน
Jacoboi: ตอนที่เราเริ่มทำเพลงนี้ ผมเป็นคนดูแลด้านการทำดนตรีตั้งแต่แรก ซึ่งความตั้งใจของผมนอกจากเนื้อเพลงที่เราต้องการพูดแล้ว ผมอยากให้มันเป็นเพลงที่ฟังเมื่อไหร่ก็ได้ ฟังตอนขับรถ กินข้าวในบ้าน เป็นเพลงเพลงนึง ที่ไม่ใช่แค่มาเปิดเพื่อให้เกิดการปลุกระดมทางการเมือง แต่มันต้องเป็นเพลงที่ฟังเพื่อสุนทรียะได้ด้วย
จากที่คุยกันมา กลุ่ม RAD มองว่าปัญหาของสังคมคือการแตกแยก คิดยังไงกับคนที่บอกว่าเพลงนี้ยิ่งทำให้เกิดการแตกแยก
Jacoboi: ผมไม่ได้มีปัญหากับการแตกแยก แต่ผมมีปัญหากับการแตกแยกที่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง ดังนั้นการแตกแยกของประชาชนเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าทุกคนคิดเหมือนกัน เราก็คงไม่ต้องมีประชาธิปไตย แต่เราแตกแยกแล้วอยู่ที่เราจัดการยังไง แล้วเรารักษาอำนาจของทุกคนไว้ได้หรือเปล่า หรือเรายกอำนาจไปให้คนอื่น
Hockhacker: มันอยู่ที่ว่าคนเราสวมอะไรไว้ในหัวด้วยนะ สมมติถ้าเขาฟังแล้วบอกว่า เพลงนี้ทำให้แตกแยก แสดงว่าเขาตั้งหมุดว่ามันทำให้แตกแยก ต่างจากอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่าเป็นเรื่องจริง เราต้องไปคุยกันเรื่องในเนื้อเพลงสิ เท่ากับว่าเขาปักหมุดคนละอันแล้ว มันอยู่ที่มุมมองที่หลากหลาย อยู่ที่มุมมอง
มีคนที่เชื่อว่าเนื้อหาในเพลงเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ชอบเนื้อหาที่หยาบคาย รุนแรง พวกคุณคิดยังไง
Jacoboi: มันเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราจะจัดการยังไง เพราะว่าเราพูดจากในแนวทางที่เราถนัดเท่านั้นเอง
Liberate P: จริงๆ แค่นี้ก็เป็นการเมืองแล้วนะ ว่าเราต้องใช้ภาษาแบบไหน ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาสุภาพ แล้วปรากฏในพื้นที่สาธารณะนั้นถูกต้องหรือเปล่า มันก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ว่าคนที่เขาฟังแล้วเขาพูดประเด็นนี้ ก็เป็นประเด็นได้เหมือนกัน
Jacoboi: ผมว่าเราต้องแยกระหว่างคำด่า กับคำหยาบ คำด่าไม่จำเป็นต้องหยาบก็ได้ และคำหยาบก็ไม่จำเป็นเพื่อด่าอย่างเดียวก็ได้ คำด่าบางครั้งเราก็ใช้เพื่อแสดงความเป็นกันเองในการพูด
ตอนนี้มีหลายๆ คนที่เบื่อการเมือง และไม่ค่อยอยากพูดถึงมัน คิดว่าการเมืองมันใกล้ตัวเรายังไง
Hockhacker: พอมันมีคำว่าการเมือง มันทำให้รู้สึกเครียดมั้ง เออการเมือง แต่ลองเปลี่ยนไปว่า ถ้าอยากให้อะไรรอบตัวมันดีขึ้น นี่ก็ใกล้ตัวมากขึ้นแล้ว
Jacoboi: ง่ายๆ เลย ตื่นเช้ามาคุณต้องแปรงฟัน ล้างหน้า ถามว่าน้ำมากจากไหน ก็มาจากการประปา การประปาขึ้นอยู่กับใคร ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล มันการเมืองตั้งแต่คุณเปิดก๊อกน้ำแล้ว
Liberate P: เปิดน้ำมา น้ำเหลือง น้ำไม่ไหล ใครผิด โทษไม่ได้อีก บ่นการประปาว่าห่วย แค่นี้ก็เป็นการเมืองแล้ว
Jacoboi: มันก็ต่อยอดไป สุดท้ายมันก็ไปจบที่รัฐบาล คือมันจบที่หน่วยงานที่มีอำนาจ ขึ้นกับผู้มีอำนาจหมดเลย
ตอนนี้กลุ่ม RAD ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว มีแผนจะทำโปรเจ็กต์อะไรต่อไป
Jacoboi: ชัวร์ๆ ก็ทำเพลงต่อ
Hockhacker: มีงาน อยากจัดงานเอง จริงๆ มีคำถามเข้ามาเยอะว่าจะมีการเคลื่อนไหวอะไรไหม เราก็คุยกันว่าเราอยากจัดงานที่เป็นงานที่เกิดจากกลุ่มเรา แต่ก็ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดอะไรได้ เพราะก็ยังไม่ได้เริ่มวางแผนชัดเจนจริงๆ เรายังมีอีกหลายๆ เมสเซจที่อยากคุย มีออกมาอีกแน่นอน
Jacoboi: ที่เราใช้คำว่า RAP AGAINST DICTATORSHIP เราไม่ได้ใช้คำว่า JANTA, COUP’D TA, หรือว่า Government
แต่คำว่า DICTATORSHIP มันมีความหมายที่นามอธรรม และกว้างมาก มันมีอีกหลายอย่างไม่เฉพาะแค่นั้นที่เราอยากพูด