‘คุณแม่วัยใส’ การ์ตูนที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ เล่าเรื่องของฟ้า เด็กหญิงที่เพิ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่กลับตั้งครรภ์เสียก่อน เธอจึงตัดสินใจอาศัยจังหวะที่เดินทางเข้าเมืองกรุงไปคลอดลูกตัวคนเดียว
แค่เนื้อหาขั้นต้นก็เป็นเรื่องราวที่ชวนให้คนในสังคมหันมามองด้วยความสงสัยแล้ว เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินต่อไป ก็มีความเห็นของคนอ่าน คนติดตาม มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นที่มีกระทู้ถกเถียงกันขึ้นมาในเว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่างพันทิป หลายเสียงก็ชื่นชมที่ผู้เขียนกล้านำเรื่องนี้ อีกหลายเสียงก็ต่อว่าเรื่องพล็อตวนเวียนไม่ไปไหน สุดท้ายตัวละครเอกอย่างฟ้าก็ยังไม่เปิดเผยกับคนในครอบครัวว่าเธอท้อง จนกระทั่งมีคำถามว่านี่จะเป็นนำเสนอเพื่อสนับสนุนให้คนมีการท้องก่อนวัยอันควรหรือเปล่า
เพื่อมองปัญหาเรื่องนี้ให้ต่างมุมมากขึ้น The MATTER จึงติดต่อไปยัง ดร.สุกฤตยา จักรปิง อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโทสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา เพื่อขอความเห็นจากมุมมองของผู้ชำนาญการด้านเพศวิถีเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของผู้คนที่มีต่อการ์ตูนเรื่อง ‘คุณแม่วัยใส’ นี้
The MATTER : อาจารย์สอนอะไรบ้างในสาขาวิชาสตรีเพศและสถานะเพศวิถีศึกษา
วิชาสาขานี้ เป็นสาขาที่จะไปกระทุ้งและเปิดมุมมองสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีในสังคมไทย อาจารย์สอนกับลูกศิษย์ของอาจารย์ทุกครั้งว่า คลาสเพศวิถีนี้ไม่ใช่ A B C D แต่พอยท์ของวิชานี้คือการมองคนทุกที่ไม่ว่าเขาจะเป็น ชาย หญิง เกย์ ทอม กะเทย เกย์คิง เกย์ควีน เสือไบ หรือคำพูดทั้งหลาย แล้วมองเข้าไปที่ดวงตาแล้วมองเห็นความที่เขาเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ คุณไม่ยอมให้ใครทำร้ายเพื่อนคุณในการเลือกเพศวิถีของเขา ถือว่าการสอนคลาสนี้สมบูรณ์แล้ว
The MATTER : คนอ่านการ์ตูน ‘คุณแม่วัยใส’ จำนวนหนึ่งเห็นว่าการ์ตูนนี้อาจเป็นปัญหาทางสังคมได้ เพราะเล่าเรื่องราวและสนับสนุนให้เด็กสาวที่ท้องก่อนแต่งออกมาใช้ชีวิตคนเดียวอาจารย์เห็นว่าอย่างไรบ้าง
ประเด็นแรกเกี่ยวกับ คุณแม่วัยใส นี้ อาจารย์จะไม่ใช้คำว่ามันเป็นปัญหา อาจารย์ใช้ว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Pheonomenon)’ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า คุณแม่วัยใส, ท้องก่อนวัยอันควร, คุณแม่วัยรุ่น คำต่างๆ ที่เอามาใช้มันสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์อย่างนึง ที่พยายามอธิบายว่า ผู้หญิงในวัยขนาดนี้ๆ เนี่ย มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน จากนั้นสังคมก็เกิดการวิพากษ์ขึ้นมา อาจารย์ก็ไม่รู้ว่า ผู้เขียนการ์ตูนนี่สังกัดทบวง กระทรวง กรม ส่วนไหนในการนำเสนอเรื่องนี้ เท่าที่เห็นมาถ้าสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ พัฒนาสังคมแบบไทย เราจะเห็นรูปแบบการนำเสนอแบบประเภณีนิยมว่า ที่มองปรากฏการณ์ทางสังคมแบบ คุณแม่วัยใส หรือ แม่ก่อนวัยอันควร ในเชิงของการเป็น คติสอนใจ และห้ามปรามไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ แล้วตีกรอบเรื่องเหล่านี้ภายใต้คำว่าปัญหา
คำแนะนำของอาจารย์คือ ต้องย้อนดูแหล่งกำเนิดคนเขียน หรือว่าจุดประสงค์องค์กร หรือตัวต้นกำเนิดของการสร้างวาทกรรมตรงนี้ขึ้นมา แล้วเราจะเห็นภาพอะไรบางอย่างที่เขาต้องการจะนำเสนอออกไป แต่เขาเขียนการ์ตูนเรื่องนี้เพื่ออะไร หลายๆ สถาบันไม่ว่าสถาบันที่เป็นแนว อนุรักษ์นิยม หรือวาทกรรมกระแสหลักของสังคมไทย มักจะมองประเด็นตรงนี้ว่าเป็นปัญหา ซึ่งคำว่าปัญหา มันก็ผุดขึ้นมาอยู่ในตัวการ์ตูนอย่างคำพูดของ นพ ตัวละครที่เป็นพยาบาล ที่พูดออกมาว่า อันนี้มันเป็นปัญหาทั่วไปแต่ก็ไม่เป็นไรเราแก้ได้ …It’s OK เพราะผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาสู้แบบนี้เธอจะต้องไปรอดแน่นอน
The MATTER : จริงๆ การ์ตูนตัวนี้เป็นสื่อบันเทิงโดยแท้ ที่เผยแพร่อยู่ทางเว็บไซต์ Webtoon ของทาง Line ครับ
อ๋อ งั้นก็เห็นได้ว่า เป็นสื่อสารมวลชนอย่างหนึ่งที่พยายามจะสื่อข้อมูลอะไรบางอย่าง อาจจะต้องการให้ข้อมูลตัวนี้เข้าสู่กลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ Line ใช้เทคโนโลยีพวกนี้กันสูงในปัจจุบัน
แต่อย่าลืมไปว่ามันเหมือนกับเป็นสารที่สื่อมาว่ามันเป็นการให้กำลังใจกับผู้ฟังสารคนนี้ แต่พอยท์ที่มันลึกลงไปกว่านั้น ก็คือว่าการใช้คำหรือวาทกรรม ณ ตรงจุดนั้น มันยังใช้อยู่ใต้กรอบประเพณีนิยมเดิมๆ หรือ ลักษณะแบบกระแสหลัก (Main Stream) ที่มองประเด็นนี้ในเชิงของปัญหา แทนที่จะมองมันเป็นปรากฎการณ์ทางสังคม กลับมองมันว่าเป็นปัญหาทางสังคม (Social Problem)
คราวนี้สิ่งที่น่าวิเคราะห์ลงไปในตัวที่สองนั่นก็คือ เมื่อมันเฟรมออกมาอย่างนี้ เราจะเห็นภาพของการปะทะกันหรือภาพที่ผู้เสนอการ์ตูนตรงนี้นำเสนอว่า เหมือนจะเป็นการปรอบประโลม ถ้าเราจะเห็นภาพหนังละครในอดีต อย่างเรื่อง กว่าจะรู้เดียงสา ที่เป็นอะไรที่เคยดังมากในกระแสหลัก นางเอกที่ท้องก่อนวัยอันควร ชีวิตมันจะไม่ค่อยได้ลงท้ายได้ดีเท่าไหร่ จุดจบมักจะไม่ค่อยดีทั้งนั้น แต่ที่คนเขียนการ์ตูนคุณแม่วัยใสบอกว่าเขาได้ดูทีซิสไปแล้ว เขาอาจจะต้องการเขียนภาพใหม่ว่า ถ้าผู้หญิงลุกขึ้นมาสู้ ฉันยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ปัญหาตรงนี้ก็จะลุล่วงไปด้วยดี สังคมก็จะมองเธออย่างดีขึ้นเพราะเธอลุกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้
ปัญหาของการมองตรงนี้ ถึงแม้ว่าสารที่ผู้เขียนต้องการส่งไปให้ อาจจะเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ที่ Twist หรือ Spin อะไรบางอย่างที่เคยเป็นภาพที่ค่อนข้างดำมืดหรือเชิงลบ ให้กลายเป็นภาพที่สลับซับซ้อน หรือสร้างความสามารถปฏิบัติกระทำของผู้หญิง ว่า ‘ฉันกำหนดจิตใจตัวเองได้ ฉันสามารถลุกขึ้นด้วยตัวเองได้’ แต่นัยยะอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจว่า ภาพนี้เป็นภาพที่ชี้ให้เห็น ‘การรับผิดชอบเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว’ คือตัวของ ฟ้า หรือ คุณแม่วัยใส ถ้าพูดไปแล้วการที่มีการท้องก่อนวัยอันควร ถามว่าผู้หญิงคนเดียวเนี่ยจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ท้องนี้ได้ไหม
The MATTER : เป็นไปไม่ได้
ถูกต้อง เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าผู้เขียนการ์ตูนจะมีนัยยะที่ดี ต้องการที่จะให้ภาพอะไรขึ้นมาใหม่ แต่สิ่งที่อยู่ใต้พรม ภาพมันยังนำเสนอว่า เรื่องประเด็นท้องก่อนแต่ง เป็นเรื่องของผู้หญิง เป็นเพศวิถีของผู้หญิงอย่างเดียว ไม่ใช่ปัญหาของผู้ชาย ทั้งๆ ที่คนเราจะท้องขึ้นมาได้มันต้องมากันทั้งสองอย่าง สเปิร์มต้องเจอกับไข่มันถึงจะท้องได้
ฉะนั้นตรงนี้ มันก็เหมือนกับว่าเป็นการกลับไปสู่ประเด็นเดิมๆ หรือวาทกรรมเดิมๆ ของสังคมที่มองตรงนี้เป็นปัญหา แล้วก็มองว่าเป็นปัญหาของผู้หญิง เพราะเธอลุกขึ้นมาที่จะร่วมเพศกับเพื่อนชายของไทย โดยที่ไม่รอให้ผ่านกระบวนการของสถาบันครอบครัว หรือสถาบันการแต่งงาน ซึ่งปัญหาจากวาทกรรมตรงนี้ก็ยังเป็นวาทกรรมเดิมๆ ที่ถูก Spin ขึ้นมาใหม่ด้วยความเห็นที่อยากจะเห็นภาพมันดีขึ้นและมีความหลากหลายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันยังมีภาพใต้น้ำว่า การ์ตูนตัวนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้ยังเป็นปัญหา และเป็นปัญหาของผู้หญิง ไม่ใช่ปัญหาของผู้ชาย หรือปัญหาของคนสองคนร่วมกัน
The MATTER : คือยังเป็นการมองด้วย Mindset ด้วยการที่โยนปัญหานี้ให้ผู้หญิงฝ่ายเดียว?
ถูกต้อง มันยังมองอยู่บนฐานตัวนี้ ประเด็นตรงนี้มันคงยังซ้ำอยู่เดิมๆ ว่าประเด็นปัญหาสังคมนี้เป็นเรื่องของผู้หญิง แล้วก็ชี้นิ้วมาที่ผู้หญิง เรื่องนี้ที่ว่าคือเรื่องเพศวิถี อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเชิงโลกีย์ทั้งหมดที่ยู่ในสมองและถูกถ่ายทอดออกมาในเชิงของพฤติกรรม และในแง่อัตลักษณ์ตัวตนด้วย
ดังนั้นในจุดนี้ Sexuality แบบเพศวิถีที่ถูกเอามาชี้เนี่ย มันสะท้อนให้เห็นการมองเพศวิถี โดยเฉพาะเพศวิถีของกลุ่มคนที่มีอายุวัยรุ่นเนี่ย ซึ่งแต่ละสถาบัน ไม่ว่าสถาบันการแพทย์ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ นิยามอายุของวัยรุ่น ช่วงอายุประมาณ ช่วงนี้เนี่ย ซึ่ง Sexuality มันถูกสร้างขึ้นมา ให้ถูกว่ามันเป็นช่วงที่กำหนดให้ไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงเรื่องเพศหรือไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้องในปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคศรรตวรรษที่ 19-20 มา ตรงนี้เนี่ยถูกทำให้เป็นบรรทัดฐานขึ้นมา
ที่อาจารย์พูดอย่างนี้เพราะถ้าเราดูในแง่ของประวัติศาสตร์โลกทั้งหลาย แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ของภูมิภาคของเราเองจะเห็นได้ว่า เพศวิถีสมัยก่อน ยุคอยุธยาอะไรพวกนี้ การที่คนจะมีเพศสัมพันธ์กัน เด็กอายุ 11-12-13 ก็มีเพศสัมพันธ์แล้ว โดยที่ในแง่สังคมมาควบคุมเนี่ย มันไม่ได้มีเข้มข้นหรือมากขนาดนี้
ส่วนตัวการ์ตูนเรื่องนี้ ถูกผลิตแและวาดด้วยเรื่องเพศของคนในยุคศตวรรษที่ 20-21 แล้วก็มันมีช่วงของคำว่าวัยรุ่นที่ถูก เพนท์ภาพ ออกมาเลยว่า วัยรุ่นไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งจุดนี้ก็มีข้ออ้างมาจากเหตุต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นความงดงาม ศีลธรรมอันดี ทั้งหลายมากมายก่ายกอง แต่ถ้าหากว่าศีลธรรมและประเพณีนั้นมันเกี่ยวโยงกับอดีต แต่ในอดีตนั้น เด็ก 12-13 หลายคนนั้นมีเพศสัมพันธ์แล้ว อย่างเด็กอายุ 16 เนี่ย ถือว่าแก่แล้วในสมัยนั้น
The MATTER : ในวรรณกรรมไทยอย่าง ขุนช้างขุนแผน หรือ พระเพื่อนพระแพง (จากเรื่องพระลอ) ก็มีเพศสัมพันธ์กันเร็ว
ดรถูกต้อง ดูจากข้อมูลทางประวัติศาตร์หลายอย่าง ว่าตัวนางทางวรรณคดีจะเห็นได้ว่า มีเพศสัมพันธ์กันเร็ว ฉะนั้นเรื่อง ‘วัยรุ่น’ เนี่ยมันถูกสร้างขึ้นเพื่อไม่นานมานี้ แล้วมันก็ถูกมาตีตรา ฉะนั้นตัวละคร ฟ้า ที่เป็นนางเอกเนี่ยที่ลุกขึ้นมาว่า ‘ฉันมีเพศสัมพันธ์’ มันดันมาอยู่ในปริบทสังคมและวัฒนธรรมที่ตีความและควบคุมให้ ‘เลือกที่จะไม่มีเพศสัมพันธ์’ แต่ตัวละนั้น ‘เลือกที่จะมี’ แล้วพอเลือกที่จะมีปุ๊ปจะมีปฏิกริยาที่รุนแรงมาจากคนรอบข้าง เพราะการที่ใช้กระบวนการมากำหนดว่า ‘ให้คุณ’ และ ‘ให้โทษ’ กับการที่ผู้หญิงสามารถรักษาความบริสุทธิ์ได้เนี่ย คุณจะได้ ‘คุณ’ คือการได้รับการสรรเสริญเยินยอ ได้รับ Honor การเป็นสาวบริสุทธิ์ ควรเป็นแม่ที่ดี ทุกอย่างที่จะประดังประเดเข้ามา และองค์กรที่รับเกียรติภูมิตรงนี้ คือ ‘ครอบครัว’ ที่เลี้ยงลูกสาวได้ดี ไม่ชิงสุกก่อนห่าม
ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าตัวละครในเรื่องคุณแม่วัยใส มันเล่นอยู่กับปริบทตรงนี้ ดังนั้นเมื่อมาถึงการถกเถียงตามเว็บไซต์ คำพูดจุดนึงที่ว่า เหมาะสมไหมที่บุคลากรทางการแพทย์มาชี้นำ เหมือนจะยอมรับและเห็นใเด็กผู้หญิงคนนี้ ทั้งที่เด็กผู้หญิงคนนี้กำลังทำผิดต่อข้อห้ามประเพณี
ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตนั้นคือการโต้เถียงหรือวาทกรรมที่เกิดขึ้นของความขัดแย้ง แต่ถ้าหากมองไปอีกที่การ์ตูนไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าข้อที่เห็นเป็นข้อจำกัดพวกนี้ เป็นข้อที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมา และแยกผู้หญิงดีออกจากผู้หญิงเลว โดยลืมประเด็นที่สามที่สำคัญ ที่เรียกว่า “ส่วนตัวและของสาธารณะ”
ถามว่าผู้หญิงคนหนึ่งกับผู้ชายอีกคนหนึ่งจะมีอะไรกัน มันเป็นเรื่องอะไรที่รัฐกับสาธารณะควรไปเกี่ยวข้องไหม ?
The MATTER : ก็คงไม่ครับ เพราะสุดท้ายก็เป็นตัดสินยินยอมพร้อมใจกันของคนสองคนอยู่ดี
ถูกต้อง แต่เราจะเห็นได้ว่า การโต้เถียงในโลกโซเชียลกันนั้น มันมีการก้าวล่วงเข้าไปที่ตัวละครในการ์ตูน เสมือนว่าพวกเขามีส่วน ‘สาธารณะ’ เข้าไปชี้นำ แต่หลายคนอาจจะโต้เถียงกับอาจารย์ว่า ก็อยู่ในสังคมเดียวกันถ้าไม่ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้จะเรียกว่าอยู่ในสังคมเดียวกันหรือเปล่า
แต่อาจารย์อยากจะชี้ให้เห็นว่า ตราบใดก็ตาม เรื่องนี้มันเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคุล ซึ่ง สิทธิส่วนบุคคลที่ได้รับการยอมรับโดยกฎหมายนั้นก็คือสิทธิ์ที่มันไม่ไปก้าวก่ายหรือทำให้สังคมได้รับการกระทำกระเทือน เหมือนกับรัฐธรรมนูญของอเมริกาที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่สิทธิ์ของคนที่จะพูด ที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศที่จะเลือก มันไม่ได้ก้าวก่ายหรือทำให้สังคมล่มสลาย หรือทำร้ายคนอื่นข้างๆ ตัว ถามว่าสังคมมีส่วนขนาดไหนในการที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวกับการที่คนสองคนจะมีเพศสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ตรงนี้เราจะเห็นได้ว่า รัฐไทยจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสิทธิเหนือเรือนร่างของเพศวิถีของผู้หญิงมาตลอด ในขณะที่รัฐไทยค่อนข้างจะละเว้นสิทธิเพศวิถีของผู้ชาย ตราบใดที่มันไม่ใช่เรื่องการฟ้องร้อง พรากลูกพรากเมีย หรือผิดศีล 5 คนจะมองข้ามตลอดเวลา ดูจากวาทกรรมต่างๆ เช่น เมียน้อย สังคมไทยให้ผู้ชายมีเมียน้อยได้ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงคุณจะถูกตั้งคำถามทันที และเราไม่ค่อยเห็นมีผัวน้อยเพราะสังคมเราประณามฟากผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
บางอย่างเราเข้าไปก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคล แล้วเมื่อใดก็ตามที่ประเด็นของ ‘เด็ก’ เข้ามาเกี่ยวข้อง มี ‘มนุษย์ที่ยังไม่ถือกำเนิด’ มาเกี่ยวข้อง ตามกฏหมายสภาพการเป็นบุคคลของการเป็นคนไทยที่จะได้รับการยอมรับ จะเกิดขึ้นเมื่อคุณถือกำเนิดและอยู่รอดออกมาจากครรภ์มารดา ซึ่งถ้าว่ากันแล้ว ทารกที่อยู่ในท้องยังไม่ได้รับการยอมรับตามกฏหมาย ดังนั้นมันเป็นเรื่องแปลกมาที่หลายคนจะเข้ามา ก้าวเข้ามาในชีวิตของตัวการ์ตูน ตัวละครตรงนี้ อย่างเข้ามาในสิทธิส่วนบุคคลของเขามาก ทั้งนี้ยังไม่ใช่เรื่องของรัฐด้วยซ้ำที่คนสองคนจะมีเพศสัมพันธ์กัน แล้วคนนึงจะตัดสินใจเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ผ่านกระบวนการแต่งงาน
จุดนี้เราเห็นได้ว่าการโต้เถียงกันในเว็บไซต์สะท้อนให้เห็นได้ว่า การที่สาธารณะเลือกที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในส่วนที่เป็นปัจเจก โดยเฉพาะสิทธิปัจเจกของผู้หญิงเมื่อผู้หญิงคนนั้นตั้งท้องขึ้นมา ณ หลายๆ ครั้ง เราจะเห็นวาทกรรมของการบอกว่าต้องมาปกป้องของสิ่งมีชิวตที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นได้ว่า องค์กรของรัฐ ไม่ว่าจะสวัสดิการสังคม หรือ การแพทย์ จะเข้ามาปกป้องให้ความสำคัญกับเด็กที่กำลังจะเกิด คืออาจารย์เองก็เห็นความสำคัญนะ แต่เราลืมไปอย่างว่าแล้วคนที่เป็นแม่ล่ะ ? คุณก้าวก่ายเพศวิถี วิถีชีวิตของคนที่เป็นแม่ คนที่เป็นผู้หญิงที่เลือกวิถีชีวิตของตัวเองหรือเปล่า โดยคุณอ้างสิทธิที่มาปกป้อง ‘มนุษย์ที่ยังไม่ถือกำเนิด’ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิการเป็นประชากรตามประมวลกฎหมายไทยว่าด้วยการเป็นปัจเจกหรือตัวบุคคลเลย อันนี้มันมีความลักลั่นที่เกิดขึ้น
The MATTER : ส่วนหนึ่งที่เป็นคำถามเกิดขึ้นในการโต้เถียง หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงไม่ให้บทตัวละครผู้ชายมารับผิดชอบกับ ฟ้า ที่เป็นนางเอกของเรื่อง รวมถึงวิธีการในการเล่าเรื่องหลายอันเป็นมโนคติของทางฝ่ายชาย อาจารย์คิดเห็นอย่างไรบ้าง
ใช่ค่ะ ซึ่งอาจารย์พูดประเด็นนี้ไปแล้วในข้างต้น ประเด็นตรงนี้มันมาจากการละทิ้ง ไอ้เจ้าของสเปิร์มไปทันที ว่าประเด็นตรงๆ นี้ มันเป็นเรื่องของอีกคนด้วย แล้วไม่ใช่โยนเรื่องความรับผิดชอบอย่างเดียวนะ รุนแรงที่สุดคือ อคติ มายาคติ และถือว่าฟ้าจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ ถ้าถามว่าทำไมผู้ชายต้องเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า เด็กเนี่ยจะเกิดขึ้นมาได้มันก็ต้องมีสเปิร์มมาจากคุณ(ผู้ชาย) ถูกไหม คุณเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในภาพรวม แต่เราจะเห็นเลยว่าแม้แต่ผู้เขียนการ์ตูนก็ละตัวผู้ชายไว้ ตัวผู้ชายที่อยู่ในเรื่องก็ถูกปลดออกไปอยู่ในสภาพลอยตัว ไม่โดนประณาม ไม่อะไรเลย เพราะมันชี้ให้เห็นว่า Sexuality ในสังคมของผู้ชายไม่ถูกควบคุม คุณสามารถไปเปิดกระโปรงผู้หญิงไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงได้ตามใจปรารถนา และที่สำคัญสังคมไทยให้การยกย่องด้วย
ดังนั้นเราก็ต้องมาตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า เรามีการหน้าไหว้หลังหลอกขนาดไหน เพราะในขณะที่น้องฟ้าถูกควบคุมให้อยู่ในเรื่อง แต่แฟนของฟ้ายังไม่ถูกควบคุม แล้วถ้าแฟนของฟ้าสามารถไปนอนกับผู้หญิงอื่นได้เรื่อยๆ เนี่ย มันมีวาทกรรมชื่นชมบูชาผู้ชายให้เกียรติแบบนี้ด้วย อย่างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ให้สมญาว่า ขุนแผนแสนสะท้าน คำว่าแสนสะท้านสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าขุนแผนขึ้นบ้านไหนก็ได้สาวบ้านนั้น คุณแสนสะท้านซึ่งมันสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของคุณ ซึ่งมันเป็นสัญญะอย่างหนึ่งที่ถ่ายทอดจากวรรณกรรมมาถึงสังคม
ถึงการ์ตูนคุณแม่วัยใสจะพยายามจะสะท้อนให้เห็นภาพบางอย่างจากอีกมุม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันยังละเว้นเพศชายออกจากภาพมุมนี้ไปเลย แล้วยังเฟรมภาพว่ายังเป็นปัญหาสังคมไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางสังคม แล้วเราจะเห็นได้เลยว่าสาธารณะมาเกี่ยวยุ่งกับเรื่องปัจเจกของตัวละครหญิง
The MATTER : ถ้าเช่นนั้นก็ถือว่ามีอคติจากผู้เขียนที่เป็นเพศชายได้ใช่ไหมครับ
ถูกต้อง พอยท์สำคัญที่สุดนั่นก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นมันคือการกล่อมเกลาทางสังคมที่ทำให้เกิดมายาคติกับคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกับผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุวัยรุ่น และจะให้การยอมรับ ให้รางวัลกับพวกเธอโดยการรักษาความบริสุทธิ์เอาไว้
แต่ถามว่า ความบริสุทธิ์นั้นคืออะไร ? ถ้าหมายถึงเยื่อพรหมจารีที่ไม่ฉีกไม่ขาด ถามว่าถ้านับตัวนั้นจะมีเด็กผู้หญิงกี่คนกันที่เยื่อนั้นไม่ฉีกไม่ขาด เพราะการที่เด็กผู้หญิงขี่จักรยาน วิ่งแรงๆ หรือมีประจำเดือน เยื่อตรงนั้นมันก็ขาดได้นานแล้ว ถ้าเราเรียนสุขศึกษาเบื้องต้นจะพูดเรื่องนี้ไว้ตลอดว่ามันขาดได้ง่ายมาก
เพราะงั้นซึ่งที่ผู้ชาย หรือ สังคมต้องการ มันเป็นสิ่งที่คนมโนกันขึ้นมา
ในขณะผู้ชายที่เป็นอีกฟากหนึ่งมีการปล่อยมาตลอด อย่างวาทกรรมคำหนึ่งที่ว่า เสียตัว ใครเป็นผู้ที่ถูกใช้มาก
The MATTER : ผู้หญิงถูกใช้กับคำนี้มากกว่าครับ
ถูกต้อง สมมติว่าผู้ชายผู้หญิงเป็นคนแรกของกันและกัน มันก็เสียตัวกันทั้งคู่ถูกไหม แต่ทำไมถึงเรียกผู้หญิงเสีย แล้วผู้ชายถึงได้ ? วาทกรรมอันนี้มันชี้ให้เราเห็นอคติกับมายาคติของสังคมเราที่ถูกสร้างเอาไว้ แล้วคุณแม่วัยใสก็พยายาม Spin อะไรมันออกมา แต่มันยังหลุดไม่พ้น ก้าวไม่พ้น และสังคมก็ยังถกเถียงอยู่ในบรรทัดฐานของประเพณีศีลธรรม ที่สายอนุรักษ์นิยมที่มันเอียง
มันปลดล็อกให้ผู้ชายลอยตัว แล้วผู้หญิงถูกควบคุมสูงมาก แล้วกลายเป็นว่า มันเป็นเรื่องของ น้องฟ้า เป็นเรื่องของแม่วัยใส มากกว่าที่จะเป็น ‘พ่อแม่วัยใส’ และมันควรจะเป็น ปรากฏการณ์ทางสังคม ไม่ใช่การแจ้งเป็นปัญหา