ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมาต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยดูไม่สดใสเอาเสียเลย
โควิด-19 ก็จบลงไปนานแล้ว การเลือกตั้งก็มีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังดูไม่เข้าที่เข้าทาง ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนเดินหน้าฉิว อย่างปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์รั้งเกือบท้ายตารางโดยเป็นรองทั้งฟิลิปปินส์ (5.6 เปอร์เซ็นต์) อินโดนีเซีย (5.1 เปอร์เซ็นต์) เวียดนาม (5.0 เปอร์เซ็นต์) และมาเลเซีย (3.7 เปอร์เซ็นต์) เฉือนชนะเพียงสิงคโปร์ที่ปีที่แล้วทำผลงานได้ไม่ดีนักโดยเศรษฐกิจเติบโต 1.1 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หากดูสถิติค่าเฉลี่ย 3 ปีนับตั้งแต่สิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 จะพบว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินโดยที่ไม่มีปีไหนเติบโตร้อนแรงเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ พ่ายแพ้แม้กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ที่เติบโต 9.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 และ 3.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565 ยังไม่นับเรื่องเม็ดเงินลงทุนไหลออกต่อเนื่องจนตลาดหุ้นตกฮวบ ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเศรษฐกิจไทยไม่เนื้อหอมเหมือนเพื่อนบ้าน
สำหรับการแกะกล่องปัญหา ก่อนอื่นคงต้องเริ่มจากความหมายของคำว่า ‘เศรษฐกิจ’ ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งเหล่านักเศรษฐศาสตร์มักจะเชื่อมโยงคำนี้กับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ยิ่งจีดีพีเติบโตสูงก็จะเท่ากับเศรษฐกิจดีนั่นเอง จีดีพีจะเดินหน้าด้วยเครื่องยนต์ 4 ตัวคือการบริโภค (Consumption) การลงทุน (Investment) การใช้จ่ายภาครัฐ (Government Spending) และการค้าระหว่างประเทศ (Export & Import)
บทความนี้จึงจะขอชวนผู้อ่านมาดูเครื่องยนต์แต่ละตัวของไทยว่า ‘ติดขัด’ ตรงไหน เพื่อตอบคำถามว่าทำไมเศรษฐกิจของเราไม่ปัง?
การบริโภคที่ใกล้ชนเพดาน
สองสามปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เพราะการบริโภคของคนภายในประเทศ พร้อมกับเส้นรายได้ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นจนเรียกได้ว่าฟื้นกลับมาเหนือกว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 ผนวกกับมาตรการของภาครัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพทำให้ครัวเรือนมีกำลังซื้อในระดับที่พอไปได้ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง การจับจ่ายใช้สอยจึงไม่คึกคักเท่าที่ควรแม้ว่ารัฐบาลจะดันนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายอย่าง easy e-receipt จนยอดการจับจ่ายใช้สอยดูดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญคือความกังวลอนาคตทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใส หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงธนาคารเองก็ชะลอการปล่อยสินเชื่อเนื่องจากเกรงกว่าจะเกิดหนี้เสีย ส่วนในระยะยาวยิ่งน่ากังวลเพราะโครงสร้างประชากรที่ขยับเคลื่อนสู่วัยชราอาจทำให้การกำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอลงอีกในอนาคต
การลงทุนที่ชะลอตัว
ฝั่งการลงทุนภาคเอกชนเองก็ไม่สดใสนัก ตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร เริ่มชะลอตัว เช่นเดียวกับสินค้าทุนในหมวดก่อสร้างอย่างปูนซีเมนต์ และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ตกฮวบ สถานการณ์ข้างต้นสอดคล้องกับปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในภาคการผลิตของไทยที่เรียกได้ว่ากำลังเผชิญภาวะวิกฤต
อุตสาหกรรมการผลิตของไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีเต็ม ตัวเลขการปิดโรงงานในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้คนตกงานกว่าห้าหมื่นชีวิต ในขณะที่ตัวเลขโรงงานเปิดใหม่ก็ชะลอตัวเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใสและต้นทุนพลังงานของไทยที่นับว่าสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ยังไม่นับว่าโรงงานที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่นั้นมีขนาดเล็กกว่าโรงงานที่ปิดตัวไปอีกด้วย
ประเทศไทยเคยครองใจนักลงทุนต่างชาติหากพิจารณาจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ส่วนหนึ่งเพราะภูมิศาสตร์ของเราที่เป็นใจกลางภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามความ ‘เนื้อหอม’ ของไทยก็หล่นฮวบจากที่เคยเป็นที่สองเมื่อทศวรรษก่อน ตอนนี้กลับเป็นรองทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ภาพดังกล่าวสะท้อนว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องหาทางปรับตัวให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมและยากที่จะฟื้นตัว
การใช้จ่ายภาครัฐที่ชวนกังขา
เนื่องจากปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ทำให้การอนุมัติงบและเบิกจ่ายงบประมาณนับว่าล่าช้า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดย พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายภาครัฐก็ยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ทุกคนต่างมีความหวังกับโครงการเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทยจากดิจิทัลวอลเล็ตที่คาดว่าจะใช้เงินงบประมาณกว่าห้าแสนล้านบาท แต่การชะลอโครงการครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจ นำไปสู่ความกังขาว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือความปั่นป่วนทางการเมืองระลอกใหญ่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลที่ได้รับความไว้วางใจของประชาชน 14 ล้านคน และการปลดเศรษฐา ทวีสิน ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากขาดคุณสมบัติ ภาพเหล่านี้สะท้อนว่าการเมืองไทยยัง ‘ไม่นิ่ง’ และความขัดแย้งพร้อมจะปะทุขึ้นทุกเมื่อ สถานการณ์เช่นนี้ย่อมกระทบความเชื่อมั่นทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่อาจไม่มั่นใจกับเสถียรภาพทางการเมืองของไทยแล้วหันไปเลือกประเทศเพื่อนบ้านที่การเมือง ‘นิ่ง’ กว่าเรา
การค้าระหว่างประเทศที่น่ากังวล
ย้อนกลับไปหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นมายืนได้อีกครั้งจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ นี่คือสองเครื่องจักรสำคัญที่ผลักให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้ปานกลาง-สูง ได้อย่างสง่างาม อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรทั้งสองมีจุดอ่อนสำคัญคือการผูกโยงเศรษฐกิจไทยให้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจประเทศปลายทางชะลอตัวก็จะฉุดรั้งประเทศไทยตามไปด้วยนั่นเอง
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกพังราบ ไทยซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจึงได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซ้ำเติมด้วยปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย ประกอบกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดในตะวันออกกลางทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัว กระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกหนึ่งปัญหาซึ่งล่าสุดถูกหยิบยกมากล่าวถึงอย่างแพร่หลายคือการขาดดุลการค้ากับประเทศมหาอำนาจด้านการผลิตอย่างจีนที่ปัจจุบันตัวเลขนับว่าน่ากังวลอย่างยิ่งเพราะปี 2566 ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดดุลการค้าถึง 1.3 ล้านล้านบาท โดยนำเข้ามาทั้งสินค้าทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค การขาดดุลเช่นนี้เองที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในอนาคต เพราะถึงแม้ว่าการบริโภคของเราจะเข้มแข็ง แต่ถ้าสินค้าส่วนใหญ่ที่เราบริโภคมาจากการนำเข้า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ย่อมไหลออกไปยังต่างแดน
ปัญหาโครงสร้างที่แก้ไม่ตก
ประเทศไทยกำลังเผชิญโจทย์ยากซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจแก้ไม่ได้ภายในระยะสั้น ทั้งเรื่องโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเตี้ย ทั้งโครงสร้างทางการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจระหว่างขั้วอำนาจเดิมกับคลื่นลูกใหม่ และโครงสร้างภาคการผลิตที่ยังพึ่งพาอุตสาหกรรมเก่าที่รอวันโบกมือลา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านย่อมมีคนจำนวนมากได้รับผลกระทบ โจทย์สำคัญคือจะเปลี่ยนผ่านอย่างไรให้คนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงออกแบบมาตรการเยียวยาคนเหล่านั้นให้ไม่ต้องเจ็บปวดมากนัก แต่หากเรายังเพิกเฉยกับปัญหา เข็นแต่นโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นโดยไม่สนใจแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว
ถึงเราอาจไม่ได้เจอวิกฤตครั้งใหญ่แบบชั่วข้ามคืนเหมือนต้มยำกุ้ง แต่เศรษฐกิจของไทยจะตายลงอย่างช้าๆ และเข้าสู่ภาวะเซื่องซึมยาวนานซึ่งอาจต้องใช้เวลานับทศวรรษเพื่อกลับมาตั้งหลักใหม่อีกครั้ง
อ้างอิงจาก
แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน 2567 และไตรมาสที่ 2 ปี 2567
รายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 2 ปี 2567
แนวโน้มไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทย
Thai economy faces upheaval due to factory closures and cheap Chinese imports
Thailand’s economy stumbles as Philippines, Vietnam, Indonesia race ahead
What’s Really Ailing Thailand’s Economy?
Southeast Asia quarterly economic review: Sustaining the momentum