วงการอาหารไม่ว่าจะคาวหรือหวาน มักจะมีของที่บูมขึ้นมาจนเป็นปรากฏการณ์ที่ใครๆ ก็ต้องพูดถึง ตั้งแต่ ชาเขียวที่มีตั้งแต่อาหาร จนไปถึงผ้าอนามัย ชาโคล ที่ไม่ว่าจะใส่อะไรมันก็ดูชิคๆ คูลๆ ไปเสียหมด หรือจะชานมไข่มุกที่พอบูมขึ้นมา ก็มีหลากร้านหลากราคาให้เราได้เลือกดื่ม และสำหรับช่วงนี้ ไม่มีขนมชนิดไหนจะดีดตัวขึ้นมาได้เกินหน้าเกินตา ‘ครัวซองต์’ ได้เลย แม้จะไม่ใช่ของใหม่ที่คนไทยเพิ่งรู้จัก แต่ก็สร้างฟีเวอร์ขึ้นมาได้เช่นกัน และใครจะรู้ว่าขนมที่ฮิตอยู่นั้น ไม่ได้กำเนิดมาจากฝรั่งเศสอย่างที่ชื่อมันชวนให้เข้าใจไปแบบนั้น
กรอบแต่ยังนุ่ม กลิ่นเนยหอมกรุ่น และเป็นชั้นสวยงาม คงจะเป็นคำบรรยายถึงเจ้าขนมที่ใครๆ ก็หลงรักในช่วงนี้อย่างครัวซองต์ได้ดีที่สุด แม้จะเป็นรส plain ไม่มีสอดไส้ ไม่มีโรยหน้าด้วย topping อะไร มันก็ยังคงความอร่อยในตัวเองได้อย่างแข็งแรง และในตอนนี้ นอกจากรส plain ที่มีเสน่ห์ในตัวอย่างเหลือล้นแล้ว ยังมีรสอื่นๆ ให้เราได้เลือกอีกมากมาย ทั้งรสของหวานและของคาว จนใครๆ ก็อยากต่อคิวรอชิมรสชาติของขนมรูปพระจันทร์เสี้ยวนี้
จนหลายร้านเบเกอรี่ คาเฟ่หลายร้าน เริ่มนำครัวซองต์มาเพิ่มในเมนูของร้านเพื่อดึงดูดผู้บริโภค หรือร้านที่มีครัวซองต์อยู่ในเมนูแล้ว ก็ไม่ลืมที่จะหยิบมันขึ้นมาเป็นเมนูแนะนำ จนตอนนี้เราสามารถเจอครัวซองต์ได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน (ที่เดิมก็ไม่ได้หายากเท่าไหร่นัก) ซึ่งก็มีหลากหลายราคา หลากหลายคุณภาพ ให้เราได้เลือกกินตามความสะดวก ตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย และก็น่าจับตาดูเหมือนกันว่าครัวซองต์นั้นจะมีใครเพิ่มลูกเล่นอะไรให้มันอีกไหม เหมือนกับที่เราต้องเกาหัวกับหลากเมนูชาเขียว ไข่เค็ม และไข่มุก
หากอยากจะชิมครัวซองต์สักคำ หลายคนคงตรงดิ่งไปยังร้านขนมฝรั่งเศส เพื่อลิ้มชิมรสแบบต้นตำรับ แต่ถ้าเราบอกว่าครัวซองต์ไม่ได้กำเนิดที่ฝรั่งเศสล่ะ จะเชื่อไหม?
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อครัวซองต์ ขนมที่ชื่อชี้ชวนให้เข้าใจว่าเดินทางมาไกลจากเมืองน้ำหอม กลับไม่ได้เริ่มต้นความหอมกรุ่นจากก้นครัวฝรั่งเศส แต่เป็นที่ครัวของช่างทำขนมปังที่กรุงเวียนนา ที่สร้างขนมอัดแน่นไปด้วยเนยรูปพระจันทร์เสี้ยว และรูปทรงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ
ในปี ค.ศ.1683 ณ กรุงเวียนนา สงครามยังคงคุกรุ่นอยู่อย่างนั้น เมื่อเมืองถูกล้อมไปด้วยทหารชาวเติร์กและเริ่มรุกคืบเข้ามาอย่างหนักโดยที่ชาวเมืองไม่รู้ตัว แต่คนที่รู้ตัวคือช่างทำขนมปัง (ที่ไม่แน่ใจว่าทำงานจนดึกดื่นหรือตื่นเช้าก่อนใครๆ) เขาได้ยินเสียงทหารชาวเติร์กขุดอุโมงค์ และนำข่าวไปแจ้งกับชาวเมืองจนรอดพ้นความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นมาได้
ช่างทำขนมปังได้ทำขนมรูปพระจันทร์เสี้ยวที่เป็นสัญลักษณ์จากธงอ็อตโตมันเพื่อเฉลิมฉลองให้กับชัยชนะครั้งนี้ และรู้จักกันในชื่อ ‘kipfel’ ที่แปลว่าพระจันทร์เสี้ยวในภาษาเยอรมัน ถือเป็นการฉลองชัยชนะเหนือศัตรูที่ได้ความอร่อยไปด้วย
แล้วอย่างนี้ครัวซองต์มันกลายไปเป็นของขึ้นชื่อของฝรั่งเศสที่ใครๆ ก็ต้องนึกถึงได้อย่างไร?
มีเรื่องเล่าปากต่อปาก ที่ไม่มีหลักฐานอีกด้วยนั่นแหละ ว่าครัวซองต์ในฝรั่งเศส มันกำเนิดขึ้นมาจากอาการ homesick ของพระนางมารี อองตัวเนต (Marie Antoinette) ที่เกิดอยากจะกินขนมจากบ้านเกิดอย่าง kipfel ขึ้นมา แต่ขนมที่ว่านั้นดันถูกทำขึ้นมาไม่เหมือนบ้านเกิดสักเท่าไหร่ กลายเป็นครัวซองต์ขึ้นมาแทน แม้เรื่องเล่าว่ามาอย่างนั้น แต่หลักฐานที่ปรากฏบอกว่าชาวออสเตรีย นามว่า August Zang ต่างหากที่เป็นผู้นำเอาครัวซองต์เข้ามาในฝรั่งเศส
จากหนังสือ ‘August Zang and the French Croissant: How Viennoiserie Came to France’ ของ จิม เชวาเลียร์ (Jim Chevallier) ที่กล่าวถึงที่มาของครัวซองต์ไว้ว่า ครัวซองต์กำเนิดขึ้นที่เวียนนาจริงๆ แต่ก็ยังไม่ใช่ครัวซองต์หน้าตาแบบที่เราคุ้นเคยนัก เหมือนที่ถ้าเราไปถามหา kipfel ในออสเตรียหรือเยอรมนีในตอนนี้ เราอาจจะได้คุกกี้รูปพระจันทร์เสี้ยวมาแทน
เพราะเมื่อครัวซองต์เดินทางไปถึงฝรั่งเศสแล้ว มันได้ผันตัวเองไปเป็น puffed pastry ที่ก่อร่างสร้างตัวจาก laminated dough แป้งสลับชั้นกับเนยอันบางเฉียบ จนเราสามารถมองเห็นชั้นเหล่านั้นได้ในตัวขนมที่ถูกอบเรียบร้อยแล้ว โดยฝีมือของ August Zang ในช่วงต้น ค.ศ.1800
ครัวซองต์ในตอนนั้น ได้ต้นแบบมาจากขนมในร้านเบเกอรี่สไตล์เวียนนาบ้านเกิดของ August Zang ที่เปิดเป็นแห่งแรกในปารีส ในชื่อ Boulangerie Viennoise และก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย ชาวปารีเซียงชื่นชอบในขนมปังแบบเวียนนาของเขา จนต่อมาเบเกอรี่สไตล์เวียนนานั้นก็ได้มาเป็นต้นแบบให้กับครัวซองต์ที่เราได้กินกันจริงๆ ให้กับช่างทำขนมปังชาวฝรั่งเศส Sylvain Claudius Goy ที่เพิ่งปลุกปั้นครัวซองต์ที่เราได้กินกันอย่างในปัจจุบันเมื่อ ค.ศ.1915 นี้เอง
ไม่ได้เก่าแก่ ไม่ได้ยาวนาน และไม่ได้ก่อกำเนิดมาจากฝรั่งเศสตั้งแต่ต้นอย่างที่เราเข้าใจ แต่มาพัฒนาในฝรั่งเศสอย่างเต็มตัวในตอนหลัง เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่แรกนั้น ก็ยังคงชื่นชอบไอเดียชัยชนะที่กินได้นี้อยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก