สมัยยังเป็นนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น พอสิงหาคมเวียนวนมาถึงทีไรก็ให้รู้สึกตื่นเต้นไม่เบา นั่นเพราะกลางเดือนมีวันสำคัญอย่างวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอันตรงกับ18 สิงหาคมของทุกปี ทางโรงเรียนจะจัดแสดงนิทรรศการและการแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ผมเองเคยเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมคว้าของรางวัลอยู่หลายหน
แน่นอนว่า เนื้อหาที่ย่อมพบได้จากบอร์ดนิทรรศการคือเหตุการณ์วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ณ หว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ พระองค์ทรงคำนวณพยากรณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ล่วงหน้าถึง 2 ปี และผลก็ออกมาแม่นยำ
ความรับรู้เรื่องดังกล่าวบันดาลให้ผมนึกปรารถนาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์เสมอๆ ตราบปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม ในข้อเขียนนี้ผมคงไม่อธิบายย้อนรำลึกไปถึงยุครัชกาลที่ 4 (ถ้าท่านใดสนใจยุคนั้น ขอแนะนำให้ลองหาอ่านหนังสือ พระจอมเกล้าฯ พยากรณ์ ความย้อนแย้งของ “ดาราศาสตร์” กับ “โหราศาสตร์” ในสังคมไทยสมัยใหม่ ดูนะครับ) แต่ใคร่เหลือเกินที่จะแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักการพยายามนำเสนอวิชาดาราศาสตร์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 2480
อันที่จริง ผมตื่นเต้นต่อการดูดวงดาวบนฟ้าตั้งแต่เยาว์วัย เคยฟังนิทานตำนานดาวลูกไก่จากปากคำพ่อแม่และปู่ย่าตายายรวมทั้งเพลงแหล่ของพร ภิรมย์ ก็ชวนสงสารเวทนาชะตากรรมของบรรดาลูกไก่เสียจับจิต ประกอบกับเคยประทับใจคำกลอนตอนที่นางสุวรรณมาลีชี้ให้สินสมุทรและอรุณรัศมีดูดวงดาวบนท้องฟ้าขณะล่องเรือกลางทะเลใน พระอภัยมณี ผลงานของสุนทรภู่
“ดูโน่นแน่ แม่อรุณรัศมี ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย ดาวลูกไก่เคียงอยู่เป็นหมู่กัน
องค์อรุณทูลถามพระเจ้าป้า ที่ตรงหน้าดาวไถชื่อไรนั่น
นางบอกว่าดาวธงอยู่ตรงนั้น ที่เคียงกันเป็นระนาวชื่อดาวโลง
แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง
ดาวดวงลำสำเภามีเสากระโดง สายระโยงระยางหางเสือยาว
นั้นแน่ แม่ดูดาวจระเข้ ศีรษะเร่หกหางขึ้นกลางหาว
ดาวนิดทิศพายัพดูวับวาว เขาเรียกดาวยอดมหาจุฬามณี
โน่นดาวคันชั่งช่วงดวงสว่าง ที่พร่างพร่างพรายงามดาวหามผี
หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี เฝ้าเซ้าซี้ซักถามตามสงกา
พระชนนีชี้แจงให้แจ้งจิต อยู่ตามทิศทั่วไปในเวหา
ครั้นดึกด่วนชวนสองกุมารา เข้าห้องในไสยาในราตรี”
พิจารณาดู สะท้อนชัดว่าสุนทรภู่เป็นผู้สันทัดเรื่องดวงดาวอย่างดี แต่ก็จัดอยู่ในข่ายภูมิปัญญาชาวสยามแบบเก่าที่ยึดโยงการสังเกตดวงดาวเข้ากับหลักวิชาคำนวณทางโหราศาสตร์ ชื่อดาวยังเรียกขานแบบไทยๆโดยดูจากรูปทรงลักษณะหมู่ดาว เช่น เรียกดาวไถ เพราะหมู่ดาววางตัวมีรูปร่างคล้ายๆ คันไถ หากจะลองเทียบเคียงการเรียกชื่อแบบดาราศาสตร์สมัยใหม่ของฝรั่ง ดาวเต่าและดาวไถคือหมู่ดาว Orion
สำหรับองค์ความรู้เรื่องดวงดาวแบบวิทยาศาสตร์แขนงที่เรียก ‘ดาราศาสตร์’ ในสังคมไทยนั้น พบหลักฐานระบุว่าเริ่มรับอิทธิพลแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชช่วงที่บาทหลวงฝรั่งเศสเข้ามา แล้วตื่นตัวกันอีกหนสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะทำให้ดาราศาสตร์ไม่จำกัดอยู่เพียงในราชสำนักหากเผยแพร่สู่ประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น นั่นคือการที่วิชานี้ได้นำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆนับแต่ทศวรรษ 2450
เดิมทีการจัดพิมพ์หนังสือว่าด้วยดาราศาสตร์ดูจะปรากฏในหลักสูตรการเรียนการสอนของทหาร โดยเฉพาะทหารในกรมแผนที่ทหารบกและทหารเรือ ทั้งนี้เพื่อนำเอาหลักวิชาไปใช้ประโยชน์อย่างการทำแผนที่, การเดินเรือ และการกำหนดเวลาต่างๆ
ในปี พ.ศ. 2456 นาวาตรี หลวงประดิยัตินาวายุทธ (ศรี กมลนาวิน) ได้เรียบเรียงตำรา เดินเรือดาราศาสตร์ ขึ้นใช้สอนในโรงเรียนนายเรือ ครั้นปี พ.ศ. 2458 ก็มีหนังสือ ดาราสาตร์ย่อ เรียบเรียงโดย รองอำมาตย์เอกแอบ รักตประจิต แห่งกรมแผนที่ทหารบก ผู้ลงทุนจัดพิมพ์คือกระทรวงกระลาโหม (สะกดคำตามยุคนั้น) โปรยปกว่า “เป็นคำแนะนำเพียงให้รู้หลัก เพื่ออาไศรยดาราสาตร์ทำกิจการบางอย่าง เช่นการสำหรวจแผนที่เป็นต้น” นายแอบเขียนคำนำไว้ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2457 (ถ้านับศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 13 มกราคม พ.ศ. 2458 แล้ว แต่ก่อนต้นทศวรรษ 2480 จะเริ่มต้นนับศักราชใหม่จากวันที่ 1 เมษายน) ความว่า
“สมุดดาราสาตร์ย่อเล่มนี้ได้เรียบเรียงขึ้นไว้ เพื่อจะได้เป็นแบบเรียนสำหรับนายทหารศึกษาวิชาแผนที่ในกรมแผนที่ทหารบก และเป็นสมุดหลักฐานเล่มหนึ่งสำหรับผู้ที่จะใช้วิทยาศาสตร์ชนิดนี้ ความประสงค์ของการเรียบเรียงสมุดเล่มนี้ คือจะได้ให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้ในสนามโดยลำภังอันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สำหรวจ ด้วยโดยมากมักจะต้องไปทำงานอยู่ผู้เดียว วิธีต่างๆ ที่มีอยู่ในตำรานี้ เป็นวิธีซึ่งข้าพเจ้าใช้ได้ผลแล้วด้วยเครื่องมือของกรมแผนที่ทหารบก อนึ่งขอให้ผู้ใช้ตำราเล่มนี้พึงเป็นที่เข้าใจไว้ว่า ความที่มีอยู่ในตำรานี้เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่ง ประเภทหนึ่งของดาราสาตร์ แต่เป็นส่วนที่จำเป็นสำหรับบุคคลที่เป็นผู้สำหรวจอย่างรอบคอบควรจะต้องรู้ไว้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้พยายามเรียบเรียงขึ้น เพื่อจะได้อุดหนุนเพื่อนข้าราชการในกรมแผนที่ทหารบก”
แม้หนังสือเล่มนี้จะมุ่งเน้นการเป็นคู่มือสอนวิชาดาราศาสตร์เพื่อนำไปปฏิบัติการจัดทำแผนที่ รายละเอียดจึงได้แก่จำพวกการวัดมุม การหามุม มุมอาซิมุธ การหักของแสงและการวัดเวลา แต่นายแอบก็ได้นิยามความหมายของดาราศาสตร์เอาไว้ทำนอง
“ดาราสาตร์เป็นวิทยาสาตร์ที่เกี่ยวถึงดาวต่างๆ ในท้องฟ้า เป็นวิทยาสาตร์เก่ามาก ได้มีผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางเลขคนหนึ่งได้เปรียบวิชาอันนี้ ว่าเหมือนกับโซ่ทองคำซึ่งเชื่อมโลกซึ่งมนุษย์เราอาศรัยอยู่นี้ไว้กับท้องฟ้าที่เราแลเห็น ทำให้เราเรียนรู้เรื่องและสามารถแปลความที่เกิดขึ้นต่างๆของโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราผู้ที่เรียนวิชานี้ ก็เรียนวิชาซึ่งเนื่องมาจากของเก่าจนถึงสมัยใหม่นี้ อันมีเครื่องมือใช้รังวัดได้ถูกต้องดีกว่าเมื่อครั้งโบราณ”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 นายแอบ รักตประจิต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายพันเอก ครองบรรดาศักดิ์เป็นพระศัลวิธานนิเทศ ผู้ช่วยเจ้ากรมแผนที่ ได้เรียบเรียงหนังสืออีกเล่มคือ ดาราศาสตร์สนาม โดยอาศัยต้นเค้าเดิมมาจาก ดาราสาตร์ย่อ นั่นเอง
นายแอบถือเป็นบุคคลเปี่ยมล้นความสามารถ เขาเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนแรกที่ไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา เป็นนักศึกษาไทยคนแรกที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สำเร็จปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์ หวนกลับมารับราชการในกรมแผนที่ปลายทศวรรษ 2450
ตลอดทศวรรษ 2460 ทหารกลุ่มที่มีบทบาทในการผลิตผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ด้านดาราศาสตร์ ได้แก่ ทหารเรือ เห็นได้จากเนื้อหาต่างๆ ในวารสาร นาวิกศาสตร์ เฉกเช่น เรือตรีชลิต กุลกำม์ธรแปลและเรียบเรียงเรื่อง ‘สิ่งปลาดอย่างใหม่ในดาวไมรา-ดาวยักษ์ (Mira)’ ลงพิมพ์ใน นาวิกศาสตร์ ปีที่ 9 เล่ม 1 ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2468 เป็นต้น
ทหารเรืออีกนายที่ได้รับยกย่องในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์คือ หลวงชลธารพฤฒิไกร (พงษ์ อาศนะเสน) ซึ่งเขาได้เรียบเรียงหนังสือ สมุดคู่มือต้นหน (เดินเรือดาราศาสตร์ทางใช้การในทะเล) เมื่อปี พ.ศ. 2462 และพอปี พ.ศ. 2464 ก็สร้างสรรค์ผลงานเรื่อง ตำราดาว ครั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการก่อตั้งราชบัณฑิตยสถานขึ้น หลวงชลธารพฤฒิไกรยังเป็นภาคีสมาชิกเริ่มแรกในสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาดาราศาสตร์ ขณะที่พระศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตประจิต) เป็นสมาชิกสาขาคณิตศาสตร์
ปี พ.ศ. 2472 พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) เรียบเรียงหนังสือ ดาราศาสตร์เบื้องต้น จัดพิมพ์ออกจำหน่ายราคาเล่มละ 1 บาท เขาเขียน ‘คำปรารภ’ ไว้ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2471 (ถ้านับศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2472) เพื่อเล่าความเป็นมาของดาราศาสตร์
“ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่เก่าที่สุดแขนงหนึ่ง และเป็นวิชชาที่น่าเรียนน่ารู้เป็นอย่างยิ่ง ดาราจารย์ผู้เสาะแสวงหาความรู้ในทางนี้อย่างมีชื่อเสียงมาในครั้งโบราณกาลก่อนพวกอื่น คือชาวอียิปต์ บาบิโลเนีย อัสสิเรีย และชาวคัลเดีย ท่านพวกเหล่านี้ได้ตรวจค้นท้องฟ้าอากาศด้วยสายตาเปล่าโดยไม่พักต้องอาศัยกำลังกล้องให้ย่นระยะทางแม้แต่อย่างไร ถึงดังนั้นยังได้ตรวจพบกฎเกณฑ์ ตั้งตำรับไว้ให้เป็นสมบัติแก่ผู้ใครจะศึกษามีเป็นหลักอย่างถูกต้องพอควรแก่ฐานะและกาลสมัยอยู่เป็นอันมาก คนชั้นหลังต่อๆ มาคงจะได้สืบเสาะตรวจค้นท้องฟ้ามาเหมือนอย่างนั้นอีกมิรู้วาย แต่ก็หาได้ทราบลักษณะขนาดและธรรมชาติความเป็นไปแห่งโลกทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นเหมือนในระหว่างสามสี่ร้อยปีที่แล้วมานี้ไม่”
ในทัศนคติของพระยาเมธาธิบดี วิชาดาราศาสตร์ยังช่วยให้คนเราตระหนักและเข้าใจสัจธรรมของชีวิต
“วิชชานี้ถ้าจะว่าไปแล้ว เป็นวิทยาศาสตร์ที่จะส่องให้มนุษแลเห็นตัวเองว่าไม่เป็นสิ่งสำคัญใดเลย คือเมื่อมาคำนึงว่าดวงพิภพที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นจุดเล็กนิดเดียวลอยอยู่ในอากาศว่างอันหาที่สุดมิได้อยู่โดยรอบ ซึ่งถ้าแม้เราสามารถออกไปยืนมองดูอยู่นอกโลกได้ในระยะไม่สู้ห่างเหินตั้งหมื่นโยชน์แสนโยชน์เท่าไหร่นัก คงไม่สามารถที่จะเห็นได้แม้แต่เงารางๆ เมื่อดังนี้การที่เรามาทะเลาะวิวาทตีรันฟันแทงทำสงครามกัน เรามาโกรธเกลียดอิจฉาริษยาแย่งอำนาจชิงดีกันอยู่บนกองดินเล็กนิดเดียวประดุจจอมปลวก ซึ่งในอีกสักสองสามล้านปีก็จะอาศัยอยู่ต่อไปมิได้เช่นนี้ พร้อมทั้งเมื่อมาเทียบกับความไม่มีที่สุดแห่งเวลา ความไม่มีที่สุดแห่งอากาศว่างและความมหิมาอันน่าสยดสยองแห่งธรรมดาสภาวะอันเป็นไป ประหนึ่งว่าเรามิได้มีอยู่ที่ไหนเช่นนี้ ความจงล้างจงผลาญแก่งแย่งเบียดเบียฬกันจะมิเป็นการหยุมหยิมก่อเข็ญขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ฤา?”
ฉะนั้น การเรียบเรียงหนังสือขึ้นจึงจำเป็นเพราะ
“เมื่อมาเล็งเห็นวิชชานี้จะให้ประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรมแก่ผู้ศึกษา ดังได้กล่าวมาแล้วโดยสังเขปดังนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยย่อๆ เก็บใจความสำคัญบรรดาที่นักปราชญ์ในทางดาราศาสตร์ได้สืบเสาะค้นพบ ด้วยการสอบสวนทดลองตามหลักวิทยาศาสตร์ คือตามควรแก่เหตุผลอันนับได้ว่าเป็นอย่างใหม่ที่สุด มารวบรวมลงเป็นเล่มสมุด พยายามร้อยกรองด้วยภาษาสามัญที่พอจะเข้าใจได้ง่ายๆทั่วถึงกัน หนังสือเล่มเล็กเท่านี้ จะกล่าวความให้ละเอียดพิสดารจนตลอดเรื่องย่อมไม่ได้อยู่เอง แต่ก็หวังอยู่ว่า คงจะมีข้อความถึงไม่ทั้งหมด คงเป็นบางส่วนบางตอน ที่พอจะทำให้เข้าใจลักษณะอาการและความเป็นไปของโลกทั้งหลายแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย ตามคติวิสัยความรู้ความเรียนของท่านผู้อ่าน”
พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร)ผู้นี้คือนักการศึกษาคนสำคัญของประเทศ ได้แต่งตำราและบทเรียนหลายต่อหลายเล่ม เขายังเป็นคนแรกๆ ที่นำนิทานอีสปเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยในทศวรรษ 2460 และเป็นบิดาของวิตต์ สุทธเสถียร นักเขียนสำนวนสะวิงคนแรกๆ ของไทย
หนังสือ ดาราศาสตร์เบื้องต้น เริ่มด้วยการที่พระยาเมธาธิบดีบ่งชี้ข้อแตกต่างระหว่างดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์
“ผู้ไม่เคยสนใจในเรื่องนี้ คงจะนึกฉงนถามตัวเองขึ้นว่า “ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ สองวิชชานี้ต่างกันอย่างไร?” คำตอบก็คือ ดาราศาสตร์เป็นวิชชาว่าด้วยเรื่องดาวในท้องฟ้าและความดำเนิรของดาว ฯลฯ ตามหลักเกณฑ์วิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด ส่วนโหราศาสตร์นั้นนำเอาหลักเกณฑ์อันนี้ไปใช้ในการทำนายโชคชาตาราศี เช่นว่าคนเกิดในวันเดือนปีและเวลาใดอันเป็นกำหนดที่ดวงดาวต่างๆประจำอยู่ณที่ใดท้องฟ้า ก็ถือเอาว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องดีชั่วมีโชคลาภฤายากไร้เป็นอย่างนั้นๆ เป็นระยะๆไปจนตลอดชีพ โหราศาสตร์ถ้าว่าแต่เพียงส่วนที่ใช้หลักดาราศาสตร์เป็นทางคำนวณก็ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ได้จริงๆตำรับหนึ่ง แต่ถ้าพูดถึงแผนกที่ทำนายชาตาราศีของคน นักปราชญ์หานับเข้าในจำพวกวิทยาศาสตร์ด้วยไม่ เพราะเหตุว่าการพยากรอย่างนี้หลักเกณฑ์ย่อมได้มาจากการกำหนดจดจำจากบรรพบุรุษ คือเป็นตำนานฤาโบราณคดีรับช่วงสืบต่อกันลงมาเป็นทอดๆ แต่อย่างไรก็ดีเห็นจะควรต้องนับว่าเป็นของแปลกที่น่าดูตำราหนึ่ง จำกัดวงอยู่ในจำพวกเช่นเดียวกันนั้นเอง จะเอามารวมเข้าเป็นชั้นเดียวกับดาราศาสตร์มิได้ เพราะดาราจารย์ยังจับเค้าเงื่อนให้รู้เป็นถ่องแท้แน่นอนไม่ได้ว่าพยากรณ์ของโหราศาสตร์ อาศัยหลักวิทยาศาสตร์ที่ตรงไหน”
จากนั้นจึงทยอยอธิบายถึงเขตต์อาทิตย์ (โซลาร์ ซิสเต็ม) หรือที่ปัจจุบันเราคุ้นเคยการใช้คำว่า ‘ระบบสุริยะ’ (Solar System), พระอาทิตย์ (ซัน), ดาวพระพุธ (เมอร์คูรี), ดาวพระศุกร์ (วีนัส), พิภพ (เออร์ถ), ดาวพระอังคาร (มาร์ส), ดาวพระพฤหัสบดี (ชูปีเตอร์),ดาวพระเสาร์ (ซาเติร์น), ดาวพระเกตุ (ยูระนัส), ดาวพระมฤตยู (เน็ปตยูน), ดาวสำคัญและดาวย่อมๆที่เวียนรอบดวงอาทิตย์, พระจันทร์ (มูน),หมู่ดาว, ผีพุ่งไต้,ดาวหาง,ทางช้างเผือก, จำนวนดาว, ฐานที่ตั้งแห่งเขตต์อาทิตย์, ความดำเนิรแห่งเขตต์อาทิตย์, ระยะทางที่ดาวตั้งอยู่, ความร้อนในดาว, ดาวประจำที่ฤาดาวฤกษ์,ดาวคู่,สีของดาว,แสงของดาว,ดาวชั่วคราว, อุปราคาฤาคราส,กล้องดูดาว, กล้องส่องแสงแดดและสีของแดด, การถ่ายรูป,น้ำขึ้นน้ำลง, ความดูดดึง หรือที่ปัจจุบันเราคุ้นเคยการใช้คำว่า ‘แรงโน้มถ่วง’, อีเถ้อร์,ปรมาณูมีลักษณะเช่นเขตต์อาทิตย์, ฟ้าร้องและฟ้าแลบ, ฟ้าผ่า, การวัดเวลา, เส้นตั้งต้นวันระหว่างประเทศ,ความร้อนในที่ว่าง, ความสว่างในที่ว่าง, ชีวิตในที่ว่าง, เหตุไรดาวจึงมีแสงแวบๆ?, เหตุไรบางคราวจึงเห็นพระจันทร์ใหญ่ขึ้น? และ ในดาวนพเคราะห์มีมนุษฤาไม่?
ตามความเห็นของผม อาจกล่าวได้ว่าพระยาเมธาธิบดีเป็นผู้นำเอาวิชาดาราศาสตร์ซึ่งเดิมจำกัดการศึกษาเรียนรู้อยู่ในกลุ่มของนายทหารให้ออกมาเผยแพร่สู่สายตานักอ่านทั่วๆ ไป
พ.ศ. 2472 ยังเป็นปีสำคัญต่อแวดวงดาราศาสตร์เมืองไทย เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมได้เกิดสุริยุปราคาอีกหน และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดปัตตานีเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา มีนักดาราศาสตร์ชาวต่างประเทศเข้ามาเพื่อการณ์นี้จำนวนไม่น้อยราย คงหาใช่เรื่องแปลกเลยหากช่วงต้นทศวรรษ 2470 ชาวไทยตื่นตัวกับดาราศาสตร์อีกครั้ง หรือบางที นี่อาจเป็นบริบทที่ทำให้พระยาเมธาธิบดีเตรียมเรียบเรียงหนังสือ ดาราศาสตร์เบื้องต้น เน้นถ่ายทอดความรู้วิชาดาราศาสตร์ให้ขยับขยายกว้างขวางยิ่งขึ้นไปสู่ชาวไทยจำนวนมาก
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อันทรงพลานุภาพทบทวี วิชาดาราศาสตร์จึงค่อยๆ พัฒนาก้าวไกลไม่หยุดยั้ง ท้องฟ้า ดวงดาว ระบบสุริยะ เนบิวลาร์ และอวกาศย่อมมิใช่เรื่องน่าฉงนอีกต่อไป ทว่ากลับเป็นสิ่งที่นักเรียนทุกคนต้องคุ้นเคยผ่านหูผ่านตามาจวบจนทุกวันนี้
แต่นั่นก็มิได้ทำให้เรื่องราวการเรียนรู้และการนำเสนอวิชาดาราศาสตร์ของคนไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นอะไรที่ควรละเลยความสนใจสืบเสาะค้นคว้ามิใช่ฤา?
เอกสารอ้างอิง
ชลิต กุลกำม์ธร, เรือตรี (แปลและเรียบเรียง). “สิ่งปลาดอย่างใหม่ในดาวไมรา-ดาวยักษ์ (Mira).” นาวิก
ศาสตร์ ปีที่ 9 เล่ม 1 (มกราคม 2468).
เมธาธิบดี, พระยา. ดาราศาสตร์เบื้องต้น. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472
วิษณุ เอื้อชูเกียรติ. จดหมายเหตุดาราศาสตร์สยามประเทศ รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๘. เชียงใหม่ :
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), 2557
ศัลวิธานนิเทศ,พระ. ดาราศาสตร์สนาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร:โรงพิมพ์เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์,
2470
สิกขา สองคำชุม (บรรณาธิการ). พระจอมเกล้าฯ พยากรณ์ ความย้อนแย้งของ “ดาราศาสตร์” กับ
“โหราศาสตร์” ในสังคมไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2562
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก หลวงชลธารพฤฒิไกร ม.ป.ช., ม.ว.ม, ท.จ.ว. (พงษ์
อาศนะเสน) ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พุทธศักราช
- กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เจริญธรรม, 2527
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตประจิต)
ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. สมุหพระราชมณเฑียร ณ เมรุกลางหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทรา
วาส กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 28 มีนาคม 2533. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร,2533
แอบ รักตประจิต, รองอำมาตย์เอก. ดาราสาตร์ย่อ .พระนคร:โรงพิมพ์อักษรนิติ์, 2458