พ่อชาวปาเลสไตน์อุ้มลูกที่ตัวเต็มไปด้วยคราบฝุ่นส่งโรงพยาบาล
หญิงสาวลูกครึ่งเยอรมัน-อิสราเอล นอนฟุบแน่นิ่งอยู่ท้ายกระบะของกลุ่มฮามาส
แรงงานไทยรอดตายจากแคมป์ที่ถูกจุดไฟเผา
ภาพถ่าย วิดีโอ และคำบอกเล่าจากผู้รอดชีวิต ผู้ที่ต้องอพยพหลบซ่อน สื่อต่างชาติในพื้นที่ ไปจนถึงคลิปจากโฆษกกลุ่มฮามาสเอง ถือเป็นหนึ่งคำยืนยันที่ชัดเจน ว่าเหตุโจมตีที่ยังไม่มีทีท่าจะสงบอยู่ขณะนี้ นำมาซึ่งความสูญเสียของ ‘พลเรือน’ อย่างประเมินค่าไม่ได้เสียแล้ว
นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จนเกิดปฏิบัติการโต้กลับในพื้นที่ฉนวนกาซา จนถึงวานนี้ (17 ตุลาคม) มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งสองฝั่งพุ่งแตะ 4,400 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก
นั่นจึงนำมาซึ่งขอสงสัยว่า การโจมตีที่กำลังทวีความรุนแรงจากทั้ง 2 ฝ่ายอยู่นี้ มีเหตุที่กำลังเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม (war crimes) แล้วหรือไม่
อาชญากรรมสงครามคืออะไร
วินาทีที่ผู้นำทางทหารของกลุ่มฮามาส ยืนยันว่า เป็นผู้โจมตีพื้นที่ของอิสราเอลด้วยมิสไซล์มากกว่า 5,000 ลูก พร้องกองกำลังที่ข้ามเขตแดนเข้าไป ก่อนที่กองทัพอิสราเอลจะประกาศภาวะสงคราม และเปิดปฏิบัติการณ์โต้กลับ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องเฝ้าระวัง ‘การกระทำผิดอาชญกรรมสงคราม’
เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่มีการใช้อาวุธปะทะกันจากทั้งสองฝ่าย มีการทิ้งระเบิดทางอากาศ ตลอดจนถึงรุกล้ำพรมแดนอีกประเทศหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต
องค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวถึงอาชญากรรมสงครามว่า เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (กฎหมายสนธิสัญญา หรือ กฎหมายจารีตประเพณี) ซึ่งก่อให้เกิดความรับผิดชอบทางอาญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ใต้บริบทของความขัดแย้งทางอาวุธ
ทั้งนี้ อาชญากรรมสงครามไม่ได้หมายรวมเพียงเหตุขัดแย้ง ที่ประเทศหนึ่งที่มีต่ออีกประเทศเท่านั้น แต่กรณีกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลในประเทศตนเอง ซึ่งมีการปะทะกันด้วยอาวุธก็เข้าข่ายอาชญากรรมสงครามได้เช่นกัน
ด้านพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ระบุความหมายของอาชญากรรมสงครามไว้เช่นกัน ว่าเป็นการกระทำอาชญากรรมต่อผู้ที่เป็นศัตรู เชลยสงคราม หรือบุคคลใดๆ ในเวลาสงคราม ซึ่งขัดต่อข้อตกลงสากล เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นมนุษย์
อะไรบ้างเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม
ต้องย้ำกันก่อนว่า ไม่ใช่ทุกความสูญเสียที่เกิดในสงคราม จะถูกเหมารวมว่าอาชญากรรมสงครามเสียได้หมด เพราะมีข้อปฏิบัติยามสงครามที่คอยเป็นหลังพิง โดยเฉพาะกรณีที่มีการใช้กำลังหรือการใช้อาวุธ อย่างที่รู้จักกันในชื่อ กฎหมายว่าด้วยการขัดกันทางอาวุธ (The law of armed conflict)
เช่นเดียวกับอนุสัญญากรุงเฮก (The Hague Conventions) ที่ถูกนำมาใช้ในปี 1899 และ 1907 ก็มุ่งเน้นไปที่การห้ามผู้กระทำสงครามด้วยวิธีการบางอย่าง สอดคล้องกับอนุสัญญาเจนีวา ทั้ง 4 ฉบับ (The Geneva Convention) ที่คุ้มครองบุคคลที่ไม่มีส่วนร่วมในการสู้รบ
อย่างไรก็ดี ข้อกฎหลายที่มีอยู่ในสนธิสัญญาเหล่านี้ ได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณี จึงมีผลผูกพันกับรัฐ ไม่ว่ารัฐนั้นๆ จะให้สัตยาบันด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม
การกระทำที่ต้องห้าม ดังนี้
- ฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ทรมาน และจับตัวประกัน
- จงใจโจมตีพลเรือน ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ รวมถึงวัตถุที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางทหาร
- จงใจโจมตีพื้นที่ทหาร ทั้งที่รู้ว่าการโจมตีดังกล่าวจะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต หรือการบาดเจ็บต่อพลเรือนอย่างกว้างขวางเกินสัดส่วนอย่างเห็นได้ชัด
- ตั้งใจโจมตีทหารผู้ไม่พร้อมรบ ทั้งด้วยเหตุว่าบาดเจ็บ ตกเป็นเชลย หรือส่งสัญญาณขอสงบศึกแล้ว
- โจมตี หรือทิ้งระเบิดไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ในเมือง หมู่บ้าน ที่อยู่อาศัย หรืออาคารที่อุทิศให้กับศาสนา การศึกษา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ โรงพยาบาล และสถานที่รวบรวมผู้ป่วย เป็นต้น
- จงใจใช้วิธีการโจมตีที่ขัดต่อธรรมเนียมสงคราม เช่น การใช้พิษ อาวุธอาบยาพิษ ก๊าซพิษ เป็นต้น
- กระทำการที่น่ารังเกียจต่อศักดิ์ศรีส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำที่น่าอับอายและเสื่อมเสีย อย่างการข่มขืน บังคับตั้งครรภ์ บังคับทำหมัน เป็นต้น
เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง
ด้วยชื่อชั้นของกองทัพอิสราเอล ซึ่งมีเทคโนโลยีการต่อสู้ที่ล้ำสมัย ทั้งยังไม่เคยห่างหายจากสงคราม ในขณะที่กลุ่มฮามาสเองก็มีอาวุธ และทุนสนับสนุนจากชาติพันธมิตร จึงไม่น่าแปลกใจที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) จะอยู่ไม่ติด
โดยเริ่มส่งสัญญาณแสดงความกังวลนับแต่วันแรก ว่าสงครามรอบนี้อาจเข้าองค์ประกอบของการทำโทษแบบเหมารวม (collective punishment) ที่ไม่แบ่งแยกคู่ขัดแย้ง หรือพลเรือนออกจากกัน
พลเรือนตกเป็นเป้าหมาย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
แล้วความกังวลของ UNHRC ก็ไม่เกินจริง เมื่อมีการเปิดเผยภาพของหลายกรณีที่ประชาชนกลายเป็นเป้าหมายของเหตุการณ์
อย่างหน่วยงานกู้ภัยฉุกเฉินของอิสราเอล ที่เล่าถึงการโจมตีของกองกำลังทหารติดอาวุธฮามาส ที่เปิดฉากในพื้นที่ทะเลทรายทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งเป็นสถานที่จัดเทศกาลซูเปอร์โนวา (Supernova) จนพบผู้เสียชีวิตกว่า 260 คน
ก่อนจะขยายการโจมตีไปยังชุมชนต่างๆ จนมีการประเมินตัวเลขชาวอิสราเอลที่เสียชีวิตในตอนนั้น ว่าอาจมากกว่า 1,200 คน และยังไม่นับผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันอีกหลักร้อย
ทำให้อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศโต้กลับอย่างต่อเนื่องทันที โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ฐานของกองกำลังฮามาส ซึ่งตั้งอยู่ในฉนวนกาซา จึงเป็นไปแทบไม่ได้เลยที่ผลลัพธ์จะอยู่ในวงจำกัด เพราะเพียง 24 ชม. แรกพวกเขาสามารถโจมตีทางอากาศได้กว่า 450 จุด ส่งผลให้พลเรือนในกาซาเสียชีวิตนับพันคน
ในเวลาต่อมา คณะกรรมการไต่สวนอิสระนานาชาติแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบสอบสวนเหตุล่วงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ถึงได้ให้ข้อมูลว่า มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการกระทำผิดร้ายแรงจากทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นไปได้ที่จะมีการก่ออาชญากรรมสงคราม
สงสัยว่าอิสราเอลใช้ ‘ระเบิดฟอสฟอรัสขาว’
“มีกลุ่มควันระเบิดหลายกลุ่ม จากการยิงปืนใหญ่ระเบิดฟอสฟอรัสขาว เหนือท่าเรือที่กาซา และเขตชนบทตามเเนวชายเเดนอิสราเอล-เลบานอน” เป็นคำกล่าวอ้างของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ที่ออกมาเปิดวิดีโอซึ่งถูกบันทึกในเลบานอน วันที่ 10 ตุลาคม และในกาซา วันที่ 11 ตุลาคม
โดยวิดีโอดังกล่าว ชี้ให้เห็นการยิงระเบิดฟอสฟอรัสขาวด้วยปืนใหญ่ 155 มม. โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ ที่อาจใช้เพื่อเป็นการปิดกั้นการมองเห็น ระบุตำแหน่ง หรือส่งสัญญาณ
อย่างไรก็ตาม กองทัพอิสราเอลออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ด้านรอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า ไม่ชัดเจนว่าแถลงการณ์ฉบับนี้ ปฏิเสธข้อกล่าวหาการใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวในเลบานอนด้วยหรือไม่
สำหรับ การใช้ระเบิดฟอสฟอรัสไม่ถือว่าผิดกฎที่จะใช้ในสงคราม และไม่ได้ถูกห้ามใช้ในฐานะอาวุธเคมีภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่สารชนิดนี้สามารถทำให้เกิดแผลไฟไหม้รุนเเรง และก่อให้เกิดเพลิงไหม้ จึงมีระเบียบห้ามการใช้ต่อเป้าโจมตีที่ใกล้กับพลเรือน ตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธสงครามบางชนิด (Convention on the Prohibition of Use of Certain Conventional Weapons) ซึ่งอิสราเอลไม่ได้ลงนาม
ปิดล้อมฉนวนกาซา กระทบพลเรือน และผู้ป่วยในโรงพยาบาล
นอกเหนือจากผลกระทบโดยตรงจากการโจมตีแล้ว ผลลัพธ์ทางอ้อมต่างหากที่กำลังน่าเป็นห่วงหลังอิสราเอลระดมกำลังพลและรถถังไปประชิดฉนวนกาซา พร้อมขีดเส้นตายให้ชาวปาเลสไตน์ 1.1 ล้านคนอพยพลงใต้ให้เร็วที่สุด นั่นจึงเป็นจุดวิกฤตของโรงพยาบาลในฉนวนกาซา ที่ปริมาณเชื้อเพลิงเหลือน้อยเต็มที ทำให้ผู้ป่วยหลายพันคนตกอยู่ในความเสี่ยง
ด้าน WHO ประณามคำสั่งของอิสราเอลที่ให้อพยพผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล 22 แห่งทางตอนเหนือของฉนวนกาซาว่า “ไม่ต่างได้กับคำสั่งประหารชีวิต”
นอกจากนี้ ยังปรากฏถ้อยแถลงของกระทรวงความมั่นคงภายในแห่งชาติของปาเลสไตน์ ที่อ้างว่า บุคลากรทางการแพทย์และหน่วยป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของอิสราเอลในระหว่างกำลังช่วยเหลือผู้บาดเจ็บออกจากซากปรักหักพัง
ระเบิดโรงพยาบาล
และแล้วสิ่งที่ทุกคนกังวลใจมาตลอดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อโรงพยาบาลอัล-อะห์ลี อัล-อาระบี แบปทิสต์ (al-Ahli al-Arabi Baptist Hospital) ในฉนวนกาซา ถูกโจมตีทางอากาศเมื่อค่ำวานนี้ (17 ตุลาคม) และคาดการณ์ ว่าอาจมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 300-500 คน
โดยตามหลักมนุษยธรรมแล้ว การโจมตีสถานพยาบาลในระหว่างสงครามนั้นถือเป็นเรื่องต้องห้าม และไม่อาจจะยอมรับได้
เหตุผลที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงจนน่าตกใจ เพราะสถานพยาบาลแห่งนี้ไม่เพียงรักษาผู้ป่วย แต่ยังมีชาวกาซาจำนวนมากใช้เป็นที่หลบภัยในช่วงเวลาวิกฤต
จนถึงตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นฝีมือของฝั่งใด ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในฉนวนกาซา ชี้ว่านี่เป็นฝีมือการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ในขณะที่กองทัพอิสราเอลเอง ก็แย้งว่าเหตุระเบิดดังกล่าวเกิดจากการปล่อยจรวดของกลุ่มติดอาวุธที่ล้มเหลว
ตามที่ทราบกันดี ว่าในพื้นที่สงครามนั้น สถานที่อย่างโรงพยาบาล จัดเป็นพื้นที่ซึ่งจะได้รับการละเว้นและคุ้มครอง แต่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) วันที่ 17 ตุลาคม กล่าวว่า มีการโจมตีสถานพยาบาลแล้วถึง 115 ครั้ง
การกระทำความผิดอาชญากรรมสงคราม
อาชญากรรมสงคราม (war crimes) เป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศ ที่ลงโทษคนที่กระทำการขัดต่อกฎแห่งการใช้กำลัง กฎแห่งการทำสงคราม โดยไม่ได้สนใจมูลเหตุของสงคราม ตามคำอธิบายของ ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
“อาชญากรรมสงคราม ไม่ได้พูดถึงว่าใครทำสงครามโดยชอบ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย มูลเหตุการทำสงครามถูกหรือไม่ถูก เขาไม่ได้ว่ากันเรื่องนั้น แต่เมื่อมีการปะทะกันแล้วระหว่างกองกำลังสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการปะทะกันระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง หรือเป็นการปะทะกันภายในประเทศ”
“การปะทะกันของทหารทั้งสองฝ่ายไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ถ้าไปยิงพลเรือน ไปจับตัวประกัน ไปข่มขืนเขา อย่างนี้นับว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม (war crimes) ทันที ซึ่งผู้กระทำ ผู้สั่งการจะมีความผิด”
อ.ปกป้อง อธิบายต่อว่า ความผิดฐานอาชญากรสงคราม ถูกบัญญัติขึ้นเป็น 1 ใน 4 ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศทีจะดำเนินคดีได้ มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2002 โดยมีเงื่อนไข คือจะดำเนินคดีได้ในดินแดนที่เป็นรัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ปัจจุบันมีเพียง 123 ประเทศที่เป็นรัฐภาคี ซึ่งอิสราเอลไม่ได้เป็นภาคีของธรรมนูญดังกล่าว
นำไปสู่ขั้นตอนถัดมา ที่หากจะดำเนินคดีนอกรัฐภาคี ต้องอาศัยคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) ที่ต้องมีมติว่า เหตุการณ์ใดต้องไปศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมามีเพียงเหตุการณ์ในซูดาน และะลิเบียเท่านั้นที่ผ่านได้สำเร็จ
“ความยากลำบาก คือ UNSC เขาไม่มีมติให้ทำง่ายๆ หรอก เช่นเหตุการณ์ในรัสเซียยูเครน ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีเหตุอาชญากรรมสงคราม เขาก็ไม่มีมติ เพราะมีคณะกรรมการความมั่นคงที่เป็นสมาชิกถาวรอยู่ 5 ชาติ ก็คงพอทราบว่าใครเป็นหนึ่งในนั้น”
ดังนั้น ยังเป็นเรื่องยากลำบากและท้าทายไม่ต่างกัน ที่สงครามอิสราเอล-ฮามาส จะถูกพิสูจน์และไปถึงบทลงโทษตามความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม
คงไม่มีใครคาดเดาได้อีกแล้ว ว่าสงครามที่ยังคงทวีความรุนแรงอยู่นี้จะคลี่คลายได้อย่างไร แต่สิ่งที่ชัดเจนแน่แท้ คือ สงครามไม่เคยมีผู้ชนะ โดยเฉพาะเมื่อมีชีวิตของพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นเดิมพัน