ยอดผู้สมัครสอบแอดมิดชั่นกลางประจำปี 2560 ลดลงอย่างน่าใจหาย โดยปีนี้ทำสถิติมีคนสมัครน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี จึงกลายเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาไทยกันนะ
มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ ไทยกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่อัตราการเกิดน้อยลง เทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน มีเด็กเกิดเกิน 1,000,000 คน แต่ลดเหลือประมาณ 600,000-700,000 คน จึงส่งผลให้จำนวนเด็กนักเรียนก็ลดลงตามไปด้วย อีกปัจจัยคือ นักเรียนในยุคนี้มีตัวเลือกมากมายนอกเหนือจากระบบแอดมิดชั่นกลาง เช่น โครงการรับตรง โควตาพิเศษตามมหาวิทยาลัยเอกชนต่างๆ ที่ดึงตัวนักเรียนไปอยู่ด้วยตั้งแต่เนิ่นๆ
ที่นั่งล้นแต่ห้องเรียนร้าง ปัจจัยเสี่ยงอวสานมหาวิทยาลัยไทย
ถ้าพูดกันในแง่ตัวเลข ปัจจัยที่เล่าไว้ข้างบนได้นำไปสู่ปัญหา ‘Over Supply’ หรือ ‘อุปทานส่วนเกิน’ เห็นได้จากสถิติของปีการศึกษานี้ที่มียอดผู้สมัครแอดมิดชั่น 81,230 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยมีที่นั่งไว้รอรองรับ 109,129 คน คือเหลือที่นั่งได้หลวมๆ กว่า 27,000 คน
ภาวะแบบนี้ทำให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เพราะจำนวนนักศึกษาที่น้อยลงย่อมเท่ากับรายได้ที่หดหายตามไปด้วย
บางสถาบันที่ปรับตัวไม่ได้ต้องถึงกับปิดบางโครงการ หรือบางภาควิชาลงไปอย่างน่าเสียดาย เพราะจำนวนขั้นต่ำของนักศึกษาไม่เพียงพอต่อหลักสูตร ถ้าสถานการณ์ย่ำแย่ไปกว่านี้ บางมหาวิทยาลัยอาจจะต้องถึงขั้นปิดตัวลงไปเพราะขาดทุนย่อยยับจนอยู่ต่อไม่ไหว
“เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาระยะยาว หากไม่ตระหนักต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะมีบางมหาวิทยาลัยตายลงหรือปิดตัวอีกมาก รวมถึงกระทบกับเรื่องของคุณภาพที่ไม่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ แต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เรียนที่ออกเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศรวมกันประมาณ 38 ล้านคน หากเราไม่พัฒนาด้านคุณภาพก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งหากดูจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก มหาวิทยาลัยไทยก็ยิ่งต้องตระหนักเรื่องนี้” ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุกับ Posttoday
การตลาดนำการศึกษา เส้นทางอยู่รอดของมหาวิทยาลัย
เมื่อ Supply มากกว่า Demand การแข่งขันอันดุเดือดก็เริ่มปะทุตัวขึ้นเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยไทยจึงเอาจริงเอาจังกับการตลาด เพื่อสร้างจุดเด่นและดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาสมัครมากยิ่งขึ้น บางสถาบันถึงกับยอมทุ่มงบประมาณมากกว่า 10 ล้านบาทต่อภาคการศึกษา เพื่อทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างสุดพลัง แม้ว่ามันจะเป็นเม็ดเงินที่มหาศาล แต่ก็เข้าใจกันได้ว่าเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว
หลายมหาวิทยาลัยพยายามสร้าง Brand Positioning ของตัวเองให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ พร้อมกับคำสัญญาว่า หากเข้ามาเรียนที่นี่แล้วจะได้ ‘อะไรบางอย่าง’ กลับไป หลายสถาบันนำคอนเซปต์เชิงนามธรรมมาเป็นตัวชูโรง เช่น การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านความคิดสร้างสรรค์ บางแห่งเลือกเกียรติภูมิ หรือประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของสถาบันเป็นจุดแข็งดึงความสนใจ
ส่วนมหาวิทยาลัยขนาดเล็กลงมาที่เพิ่งก่อตั้งไม่นาน ถึงแม้จะไม่มีต้นทุนเป็นภูมิหลังที่สร้างเป็นเรื่องเล่าได้เหมือนมหาวิทยาลัยรุ่นพี่ๆ แต่ก็เลือกในประโยชน์แบบเรียลๆ ในเชิงปฏิบัติมาสู้ว่า สถาบันแห่งนี้จบไปแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน หรือไม่ก็ติดอาวุธให้เอาสู้กับตลาดแรงงานในอนาคตได้
นอกจากสร้าง Brand Positioning เพื่อดึงดูดใจนักเรียนแล้ว อีกวิธีการที่ถูกนำมาใช้กันเยอะ คือโปรโมชั่นลดแลกแจกทุนการศึกษาต่างๆ เช่น สิทธิพิเศษลดค่าบำรุงการศึกษาให้กับญาติพี่น้องของศิษย์เก่า หรือแคมเปญแจกทุนการศึกษาโดยวัดกันที่ผลงานความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเรียนที่ไม่ได้มีผลการศึกษาที่โดดเด่น
ครูแนะแนว ด่านหน้าเดินเข้าหานักเรียน
เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น การยืนอยู่เฉยๆ อาจจะหมายถึงความพ่ายแพ้
จึงเป็นเหตุผลให้อาชีพ ‘ครูแนะแนว’ กลายเป็นบุคคลสำคัญที่เดินเข้าไปเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย กับ เด็กนักเรียนเข้าไว้ด้วยกัน มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยได้จัดอบรมครูแนะแนวอย่างเข้มข้น ก่อนนำครูเหล่านี้เดินสายไปตามโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อเข้าถึงนักเรียน โมเดลการตลาดแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และมีวิวัฒนาการที่น่าสนใจขึ้นมาเรื่อยๆ จากเดิมที่ขอโรงเรียนเข้าไปแจกใบปลิวประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว ได้กลายปรากฏการณ์ Road Show และ Workshop กับรุ่นพี่และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันตรงๆ
สารพัดหลักสูตรพิเศษ มัดใจเด็กรุ่นใหม่
อีกปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักเรียนได้ คือหลักสูตรพิเศษชนิดต่างๆ มหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน และอาชีวะ ทยอยกันเปิดหลักสูตรใหม่ๆ สารพัดชื่อและรูปแบบ มีตั้งแต่หลักสูตรเรียนภาคค่ำ หลักสูตรปริญญาตรีควบโทจบได้ภายใน 5 ปี หลักสูตรภาคพิเศษภาษาอังกฤษ บางสถาบันเน้นจ่ายครบ เรียนจบ การันตีมีงานทำ ส่วนหลายแห่งก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพของการสอนและเน้นตอบโจทย์ความต้องการของเด็กจริงๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าเทอมที่แพงกว่าปกติ ซึ่งเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักสูตรเหล่านี้ช่วยสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยให้กับสถาบัน
ปลายทางของการแข่งขัน ทุนน้อยก็ต้องพ่ายแพ้?
ในช่วงที่มหาวิทยาลัยไทยต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรง คำถามคือ บทสรุปของสงครามการตลาดครั้งนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน อธิบการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ตอบคำถามนี้กับประชาชาติธุรกิจว่า หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป อาจหมายถึงจุดจบของมหาวิทยาลัยที่ทุนไม่แข็งแรง
“ทุกวันนี้เอกชนเสียเปรียบ เพราะรัฐไม่สนับสนุน เหมือนอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งทุกวันนี้มหาวิทยาลัยรัฐเปิดรับหลายรอบ จำนวนเด็กที่ลดลง ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนเองต้องปรับตัว แข่งขันกันในเชิงคุณภาพให้มากขึ้น หากใครสายป่านไม่ยาวพอ ก็ต้องทยอยปิดตัวไป ทุกวันนี้เด็กที่มาเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเหมือนลูกเมียน้อย”
ม.44 ให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในไทย แก้ไขหรือซ้ำเติมปัญหา?
ไม่นานมานี้ หัวหน้า คสช. ได้ใช้ มาตรา 44 เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในไทยได้ เรื่องนี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เชื่อว่า จะช่วยให้วงการอุดมศึกษาของบ้านเราเน้นการแข่งขันในเชิง ‘คุณภาพ’ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยอุดช่องโหว่ในหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ที่บุคลากรของไทยไม่สามารถทำได้
สิ่งที่น่าคิดกันต่อไปคือ หากต่างชาติเข้ามาร่วมวงในสงครามการศึกษาครั้งนี้แล้ว มหาวิทยาลัยของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
หรือว่าการปล่อยให้แต่ละสถาบันฟาดฟันกันเองต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ระบบการศึกษาในภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลง สุดท้ายแล้ว ผู้เล่นทุกคนอาจจะบาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งหมด จนไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามที่มีอนาคตของคนรุ่นใหม่ในชาติเป็นเดิมพัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
brandbuffet.in.th/2014/11/rsu-instructor-teacher-real-influencer
komchadluek.net/news/edu-health/277811
manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000129178