เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนตื่นเต้นไปกับรายวิชา ‘Beautiful Death’ หรือ ‘การตายอย่างมีคุณภาพ’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนเป็นวิชาเลือกในหมวดสหศึกษาของเทอมที่กำลังจะถึงนี้ สอนโดยรศ.ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ ดูเป็นวิชาแปลกใหม่ที่น่าสนใจ ว่าต้องทำยังไงถึงจะตายได้อย่างมีคุณภาพอย่างที่เขาว่า หรืออีกมุมนึง เราจะต้องการตายอย่างมีคุณภาพขนาดนั้นมั้ยนะ หรือการตายมันก็แค่ตายๆ ไปแล้วก็จบกัน
อันที่จริงแล้วการเรียนการสอนเกี่ยวกับความตาย แม้จะไม่ใช่เรื่องเก่าแก่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรขนาดนั้น อย่างที่จุฬาฯ เอง ก็เคยมีวิชา ‘Death Education’ หรือ ‘มรณศึกษา’ ซึ่งสอนโดยอาจารย์คนเดียวกันกับวิชาการตายอย่างมีคุณภาพ เพียงแต่เปิดสอนในนามของคณะครุศาสตร์ ทำให้อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก เช่นเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่มีวิชา “ชีวิตและความตาย” หรือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เปิดสอนในสาขาวิชาชีวิตและความตาย ในระดับปริญญาโท
ชื่อ มรณศึกษา ฟังดูแปลกหู และชวนให้คิดว่ามันเป็นวิชาเกี่ยวกับความตาย ซึ่งมันก็เป็นตามนั้น แต่มันก็ไม่ใช่แค่วิชาที่จะสอนว่าคนเราจะตายได้ยังไง ตายแล้วไปไหน หรือพิธีศพควรทำยังไง เพราะจริงๆ แล้วมันครอบคลุมทั้งความหมายของ ‘การใช้ชีวิต’ และ ‘การเตรียมพร้อมรับมือความตาย’ ด้วย
มันไม่ใช่แค่วิชาที่จะสอนว่าคนเราจะตายได้ยังไง ตายแล้วไปไหน
เพราะจริงๆ แล้วมันครอบคลุมทั้งความหมายของ ‘การใช้ชีวิต’
และ ‘การเตรียมพร้อมรับมือความตาย’ ด้วย
อย่าง ราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้คำนิยามคำว่า มรณศึกษา ว่า “หมายถึง การจัดเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้เรื่องความตายและการสูญเสีย ตลอดจนแนวปฏิบัติต่อผู้ใกล้ตาย เน้นความรู้ความเข้าใจทั้งทางกายภาพ การพัฒนาจิตใจและอารมณ์ การปรับตัว ตลอดจนความสามารถในการเผชิญสถานการณ์อย่างมีสติและมีเหตุผล ช่วยให้บุคคลยอมรับได้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติเกิดขึ้นได้กับทุกคน มีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต และยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ ผู้เรียนได้ฝึกการมีสติ ไม่ประมาท ควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อเกิดการพลัดพราก เข้าใจความสัมพันธ์และคุณค่าของบุคคลที่อยู่แวดล้อม เรียนรู้กฎหมาย ประเพณี พิธีกรรม เพื่อสามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้อง เหมาะสม เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เกี่ยวกับความตาย ส่วนผู้ที่มีภาวะใกล้ตายจะได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ”
อธิบายง่ายๆ ได้ว่า มรณศึกษา คือการเรียนรู้เกี่ยวกับความตาย การปฏิบัติตัวต่อคนใกล้ตาย การเตรียมตัวเตรียมใจต่อความตายของตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงกฎหมาย ประเพณี พิธีกรรม เพื่อให้ยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลง และปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเวลานั้นมาถึง และเรียนรู้การปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม และเคารพความเป็นมนุษย์ต่อคนใกล้ตาย ซึ่งก็รวมทั้งมุมความตายของตัวเอง และความตายของคนรอบข้างนั่นเอง
นับย้อนไปในอดีต การพูดถึงเรื่องความตายก็ถือเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างนึง เหมือนกับที่สมัยเด็กๆ เราอาจต้องตบปากตัวเองเวลาพูดคำว่า ‘ผี’ หรือ ‘ตาย’ เนื้อหาในห้องเรียนที่พาเราเข้าใกล้ความตายมากที่สุด อาจเป็นแค่เรื่องบาปบุญในวิชาศาสนา ที่สอนว่าทำบาปแล้วตายไปต้องตกนรก ทำบุญแล้วตายไปได้ขึ้นสวรรค์
เราได้เรียนรู้ว่าการพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักนั้นเจ็บปวด แต่ทุกอย่างเกี่ยวกับความตายเท่าที่เรารู้กลับดูน้อยนิด ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยมีใครกล้าหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูดอย่างจริงจัง ได้แต่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงเหล่านั้นเอาเองว่าต้องจัดการกับความรู้สึกตัวเองยังไงต่อความตายของคนรอบข้าง ขณะที่ความตายของตัวเองที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ ก็ทำได้แค่เตรียมตัวเตรียมใจ
เราได้เรียนรู้ว่าการพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักนั้นเจ็บปวด
แต่ทุกอย่างเกี่ยวกับความตายเท่าที่เรารู้กลับดูน้อยนิด
ในอดีต ก่อนที่จะมีการศึกษาในแง่วิชาการเกี่ยวกับความตาย แง่คิดเรื่องความตายมันก็ดูจะเป็นไปในแง่ของแดนสนธยา เป็นที่ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถแตะต้องหรือก้าวข้ามไปได้เอง แต่ต้องมีร่างทรงเทพเจ้า นักบวช หรือพ่อมดหมอผี เป็นสื่อกลางระหว่างชีวิตและความตาย ตำนานหรือพิธีกรรมจากหลากหลายภูมิภาคต่างก็แสดงถึงการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างโลกมนุษย์กับยมโลก ไม่ว่าจะเป็นเซเบอร์รัสที่เฝ้าหน้ายมโลกตามตำนานของกรีก เพื่อตรวจตราให้คนตายเท่านั้นที่จะผ่านประตูไปได้ และห้ามไม่ให้ย้อนกลับมา การข้ามสะพานกงเต็กของชาวจีนเพื่อให้ลูกหลานไปส่งดวงวิญญาณยังแดนสวรรค์ โดยมีโคมวิญญาณนำทาง ส่งเสร็จแล้วลูกหลานก็ต้องเดินข้ามสะพานกลับอีกรอบ และห้ามหยิบเอาโคมวิญญาณกลับมาด้วย เป็นนัยว่าไม่ให้วิญญาณตามกลับมายังโลกมนุษย์อีกครั้ง หรือแม้แต่เรื่องเล่าแม่นากของไทยเอง ก็มีตอนจบที่สื่อว่าคนกับผีอยู่ร่วมกันไม่ได้
จุดเริ่มต้นของศาสตร์แห่ง ‘มรณศึกษา’ นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1903 ที่มีนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียคนหนึ่ง ชื่อ Élie Metchnikoff เรียกร้องให้มีศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับความตาย ด้วยความเชื่อว่าถ้าไม่ให้ความสำคัญกับความตาย ชีววิทยาศาสตร์ที่เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตก็ไม่อาจสมบูรณ์ได้ หลังจากนั้นก็ยังมีความเคลื่อนไหวของบุคลากรการศึกษาหลายคนในอเมริกา โดยในปี 1969 Robert Fulton มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ได้ก่อตั้งศูนย์มรณศึกษาขึ้น (ปัจจุบันเป็นศูนย์มรณศึกษาและชีวจริยธรรม มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน) ปี 1970 Prof.Robert Kastenbaum มหาวิทยาลัยคลาร์ก ก่อตั้งวารสารวิชาการ Omega: The Journal of Death and Dying ซึ่งนับเป็นวารสารเล่มแรกในศาสตร์แขนงนี้ และมีการประชุมในเรื่องมรณศึกษาเป็นครั้งแรก โดยจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแฮมไลน์ มินเนโซตา และปี 1977 Prof.Hannelore Wass ได้ก่อตั้งวารสาร Death Education (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Death Studies)
‘Death Education’ หรืออีกชื่อว่า ‘Thanatology’ ได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากนั้น ภายในปี 1973 ไม่กี่ปีหลังการเริ่มเคลื่อนไหว นิตยสาร Times รายงานว่ามีวิทยาลัยและโรงเรียนในอเมริกาประมาณ 70 แห่ง ที่เปิดวิชามรณศึกษา มีการเรียนการสอนในหลายมหาวิทยาลัย และหลายประเทศ ทั้งในแขนงของจิตวิทยา สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์สุขภาพ ปรัชญา และศึกษาศาสตร์ ซึ่งก็ทำให้เนื้อหาในแต่ละแขนงแตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าอยู่ในคณะสังคมวิทยา ก็จะโฟกัสไปที่วัฒนธรรม อิทธิพลทางสังคม และประเพณีต่างๆ คณะจิตวิทยา ก็จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ พลวัต และเจตคติต่อความตาย แต่โดยรวมๆ แล้ววิชามรณศึกษา ก็จะมีเนื้อหาที่รวมแง่ของการวางแนวทางและการปฏิบัติในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม ความสัมพันธ์ทางทัศนคติต่อความตายและวาระสุดท้าย การรับมือกับความสูญเสีย และการเผชิญหน้ากับความตายของปัจเจกบุคคล
พอยิ่งเวลาผ่านไป มรณศึกษาก็ยิ่งได้รับการยอมรับและพัฒนา ในหลายๆ ประเทศก็เริ่มเปิดกว้างกับการถกเถียงพูดคุยในเรื่องความตาย หรือมีการเรียนการสอนในระดับการศึกษาภาคบังคับในบางแห่ง จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งในวรรณกรรมสำหรับเยาวชนสมัยนี้บางเล่ม ก็เริ่มมีการพูดถึงความตายและการสูญเสียด้วยเช่นกัน เรื่องดังๆ ก็เช่น Charlotte’s Web, Bridge to Terabithia หรือ ความสุขของกะทิ แต่ในอีกมุมมันก็มีคนที่กังวลเช่นกันว่าการให้เด็กต้องมารับรู้เรื่องเกี่ยวกับความตาย จะทำให้เด็กเกิดความกลัวและกังวลมากขึ้น
Prof.Daniel Leviton เป็นอีกคนที่มีบทบาทการพัฒนา มรณศึกษา อยู่กว่าสามทศวรรษ ด้วยบทบาทอาจารย์ประจำวิชามรณศึกษา มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ที่เปิดรับนักศึกษากว่าร้อยคนทุกๆ เทอม เรื่องหนึ่งที่เขาสอนในห้องเรียนก็คือ ความกลัวความตาย ว่า “กระบวนการความตายอาจทำให้คุณและคนที่รักคุณต้องเจ็บปวด แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มันก็ ‘เรียบง่ายและเป็นที่ประจักษ์’… ”
ในวาระสุดท้าย เลวิตันที่ต่อสู้กับมะเร็งหลอดอาหารอยู่ 3 ปี ยังนำเอาเนื้อหาที่เขาสอนมาปรับใช้ในชีวิตจริง ด้วยการส่งอีเมลไปหาคนใกล้ชิดของตัวเองเพื่อบอกลาเหมือนอย่างที่เขาบอกให้นักเรียนของเขาทำเมื่อเวลานั้นของตัวเองมาถึง และยังเปิดบ้านทุกๆ หลายเดือน ให้มีการพูดคุยและถกเถียงเกี่ยวกับชีวิตและความตาย ซึ่งก็มีทั้งเพื่อนและนักเรียนเก่าของเขาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ก่อนที่เขาจะลาโลกนี้ไปด้วยวัย 80 ปี เมื่อปี 2011
แม้ว่ามรณศึกษาในบ้านเราอาจจะยังไม่แพร่หลายนักถ้านับเฉพาะการศึกษาในระบบ แต่ในแง่ของการพินิจชีวิตและความตาย มันก็ยังมีกิจกรรมของทางศาสนาอย่างการปลงสังขาร ฟังเทศน์ฟังธรรมอะไรอย่างนี้ ซึ่งแม้จะไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่มันก็เป็นหลักฐานว่าบ้านเราเองก็มีการเตรียมตัวในแบบของเราเนอะ อนาคตการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นมันอาจจะแพร่หลายไปมากกว่านี้ก็เป็นได้
จะว่าไป แม้กระทั่งการศึกษาในมุมที่มืดหม่นและสิ้นหวังที่สุดของชีวิต มันก็ยังให้ความหมาย และตอบคำถามที่สำคัญที่สุดกับเรา ว่าสุดท้ายแล้วเราจะใช้ชีวิตไปยังไงให้มีคุณค่า กลายเป็นว่าคำตอบที่ตอบยากที่สุดก็ต้องไปค้นหาในจุดที่เข้าถึงยากที่สุด เพราะอย่างนั้นมันถึงได้เป็นคำตอบที่คุ้มค่ากับการลงทุนเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก