ขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกําลังพัฒนาหลายประเทศกําลังประสบปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทํางานอย่างหนัก ภาพ ‘พีระมิดประชากรกลับหัว’ ที่บ่งบอกถึงจํานวนประชากรสูงอายุมีมากขึ้นแต่ประชากรวัยเด็กกลับมีจํานวนน้อยกว่ามาก ไม่เพียงพอที่จะมาทดแทนประชากรที่ใกล้หมดวัยทํางาน ล่าสุดยังมีภาวะการสวนกระแสโลกาภิวัตน์ คือกระแสต่อต้านแรงงานต่างด้าวไปทั่วโลก หลายองค์กรก็ปวดหัวกันอยู่ ว่าแล้วต่อไปจะหาแรงงานมาทดแทนจากไหนกันดี
แม้ว่าจะมีปัญหาอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ยังมีคนจํานวนหนึ่งเห็นว่าการมีลูกเพื่อสร้างประชากรให้กับสังคมโลกไม่ใช่แนวทางชีวิตของพวกเขา คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง หน้าที่การงานมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ พวกเขานี้คิดอะไรกันอยู่? เหตุผลของการไม่อยากมีลูกของพวกเขาคืออะไร?
ในหนังสือชื่อ ‘Selfish, Shallow and Self-absorbed: Sixteen writers on the decision not to have kids’ [1] เป็นการรวมบทความของสิบหกนักเขียนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เป็นนักเขียนผู้หญิงถึงสิบสามคน และมีนักเขียนชายเพียงสามคน หลายคนเป็นเกย์ (ทั้งชายและหญิง) หลายคนแต่งงานมีคู่ครอง หลายคนเป็นโสดหลังจากอยู่กินกับคนรักเป็นระยะเวลานาน และทุกคนไม่มีลูก
บทนําที่เขียนโดยบรรณาธิการหนังสือจากนักเขียนหญิงที่ชื่อเมแกน ดอม (Meghan Daum) กล่าวว่า จุดร่วมของเรื่องราวจากสิบหกนักเขียนนี้คือการ ‘ไม่มีจุดร่วม’ ถ้าได้อ่านทุกเรื่องราวเราจะพบว่าทุกคนเดินทางมาถึงบทสรุปที่ว่า ‘ฉันจะไม่มีลูก’ ด้วยเส้นทางที่แตกต่างกันไป แม้ว่าทุกคนจะเขียนหนังสือขาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ยึดอาชีพนี้เป็นหลัก บางคนต้องผ่านชีวิตครอบครัวที่ยากลําบาก เช่น ถูกพ่อเลี้ยงทารุณ มีแม่เลี้ยงเดี่ยวโดยไม่มีพ่อ บางคนแม้จะมีชีวิตครอบครัวที่เพียบพร้อม มีสามีที่เข้าอกเข้าใจ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง แต่ก็ตัดสินใจมีลูกช้าเกินไป แม้จะใช้วิทยาการทางการแพทย์เข้าช่วยก็ไม่เป็นผล บางคนตอนคบกับคู่ครองในช่วงแรกตกลงกันว่าจะไม่มีลูก เวลาผ่านไปตัวเองเกิดเปลี่ยนใจอยากจะมีลูกแต่คู่ครองไม่เห็นด้วย เป็นเหตุให้ต้องเลิกรากันไปด้วยเรื่องลูกนี่เอง
มีความเห็นที่น่าสนใจอยู่สี่เรื่องที่น่าพูดถึง เรื่องแรกคือนักเขียนหญิง ลอร่า คิปนิส (Laura Kipnis) เป็น ศาสตราจารย์ด้านวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) ในเมืองชิคาโก เธอพูดถึง ‘สัญชาตญาณความเป็นแม่’ ว่าเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม [2] เป็นนัยว่าเพื่อแบ่งแยกหน้าที่ของแต่ละเพศให้ชัดเจน คือผู้ชายออกไปทํางานนอกบ้าน ผู้หญิงอยู่บ้านดูแลลูกและทํางานบ้าน และแนวคิดนี้ยังอ้างว่าหน้าที่ดูแลลูกของผู้หญิงนั้นถูกกําหนดมาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เธอบอกว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะเครื่องจักรทําหน้าที่ได้ดีกว่าแรงงานคน แต่ละครอบครัวจึงไม่จําเป็นต้องมีลูกหลายๆ คนเพื่อใช้เป็นแรงงานอีกต่อไป เป็นการรักษาสถานะของทารกให้มีคุณค่าทางจิตใจแทน เพราะฉะนั้นจะบอกว่าผู้หญิงทุกคนต้องการจะมีลูกด้วยการ อ้างว่าผู้หญิงมี ‘สัญชาตญาณความเป็นแม่’ จึงไม่น่าจะถูก และที่สําคัญที่สุด การอ้างถึงสัญชาตญาณความเป็นแม่นี้ ทําให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยเธอกล่าวว่าสาเหตุหลักที่เธอไม่อยากมีลูก เนื่องจากธรรมชาติสร้างให้ผู้หญิงต้องตั้งครรภ์นาน เวลาคลอดก็เจ็บปวดแทบสิ้นใจ (สิ้นใจไปจริงๆ ก็ไม่น้อย)
แต่สิ่งที่ผู้หญิงได้ ตอบแทนกลับมาจากสังคมคือ
การถูกกดขี่ให้อยู่กับบ้านเลี้ยงลูก เวลาออกไปทํางานนอกบ้าน
ก็ได้ค่าตอบแทนที่น้อยกว่า มันไม่ยุติธรรมเลยจริงๆ
เรื่องที่สองคือเรื่องการทําแท้ง นักเขียนหญิงหลายคนในเล่มตัดสินใจทําแท้งหลังจากที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ในระหว่างที่หน้าที่การงานกําลังรุ่ง ลอร่าเองก็เป็นหนึ่งในนั้นและเธอไม่ได้ทําแท้งเพียงแค่ครั้งเดียวด้วย นักเขียนหญิงในเล่มหลายคนให้เหตุผลที่น่าสนใจตรงกันว่า การมีลูกเป็นอุปสรรคสําหรับการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หนึ่งในนั้นบอกว่าสําหรับเธอแล้วการมีลูกนั้นทําให้เสียสมาธิในการเขียนงาน เวลาเธอเริ่มเขียนงาน เธอต้องการบรรยากาศที่เงียบสงบไร้การรบกวนเป็นช่วงเวลานานๆ นักเขียนหลายคนอ้างถึงนักเขียนหญิงชื่อดังที่ประสบความสําเร็จหลายคนเช่น สามพี่น้องตระกูลบรอนเต้, เจน ออสเทน, จอร์จ เอลเลียต (หรือชื่อจริงคือแมรี่ แอนน์ อีแวนส์) และเวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนหญิงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่มีลูกทั้งสิ้น เธอบอกว่าถ้าอยากเป็นนักเขียนที่ประสบความสําเร็จก็ไม่ควรมองข้ามจุดร่วมที่สําคัญของนักเขียนหญิงเหล่านี้ไป แต่การทําแท้งก็สร้างแผลในใจให้กับหลายๆ คนเช่นกัน จนบางคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากประสบการณ์การทําแท้ง เมื่อหลุดจากวังวนการป่วยมาก็สายเกินไปที่จะมีลูกเสียแล้ว
เรื่องที่สามนั้นเกี่ยวกับ ‘ความรู้สึกปลอดภัยของเด็ก’ ซิกกริด นิวเนส (Sigrid Nunez) เล่าว่าแม่ของเธอเป็นชาวเยอรมันที่แต่งงานกับทหารอเมริกันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม่ของเธอบ่นกับเธอเสมอเมื่อเห็นเด็กหรือคนท้อง ราวกับว่าเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังเหลือเกิน เธอบอกว่าอาจเป็นเพราะแม่ของเธอมีลูกเร็วเกินไป (เธอเป็นลูกคนที่สาม เกิดตอนแม่ของเธออายุเพียงแค่ 18 ปี) เมื่อเธอกับแม่ย้ายจากเยอรมนีมาอยู่ที่นิวยอร์ค ครั้งหนึ่งเธอกับแม่เดินผ่านถนนในย่านที่ถือว่าค่อนข้างป่าเถื่อนแถวบรูคลิน เธอโดนเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่งปาไม้ไอศกรีมใส่เธอ เมื่อเธอบอกกับแม่ว่ามีคนปาของใส่ แม่เธอตอบกลับมาว่า “แล้วคิดว่าฉันทําอะไรได้งั้นเหรอ?” แล้วก็รีบเดินออกไปจากถนนนั้น
ประสบการณ์วัยเด็กทั้งหลายเหล่านี้
ทําให้เธอไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองนั้น ‘ปลอดภัย’ เลย
เธอรู้สึกว่ามีคนจ้องจะทําร้ายหรือเอาชีวิตเธอตลอดเวลา เมื่อเธอมองย้อนกลับไปถึงประสบการณ์ในอดีตเหล่านี้ เธอจึงไม่คิดว่าเธอจะสามารถทําให้ลูกของเธอรู้สึกปลอดภัยได้เช่นกัน นักเขียนชายคนหนึ่งที่เธอเคยอ่านงานบอกว่า พ่อของเขาทําให้เขารู้สึกหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาตอนเป็นเด็ก ด้วยเหตุนี้เองเมื่อเขามีลูก สิ่งหนึ่งที่เขาบอกกับตัวเองคือ ลูกของเขานั้นไม่ควรจะรู้สึก ‘หวาดกลัวพ่อแม่’ ด้วยเหตุผลเหล่านี้เธอจึงคิดว่าเธอคงไม่เหมาะกับการมีลูก
เรื่องสุดท้ายนั้นเกี่ยวกับปรัชญาของเจตจํานงอิสระ (free will) หนึ่งในนักเขียนชาย ทิม ไครเดอร์ (Tim Kreider) บอกว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ โดยนักปรัชญาที่ชื่ออาเธอร์ โชเปนฮาวเออร์ (Arthur Schopenhauer) ถือว่าเป็นหลักฐานการมีอยู่ของเจตจํานงอิสระของมนุษย์เลยทีเดียว [3] ทิมตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินจะไม่มีลูกก็อาจจะเข้าข่ายนี้เหมือนกัน เพราะเขาคิดว่าการตัดสินใจที่จะไม่สืบเผ่าพันธุ์ของตัวเองเป็นเรื่องที่ขัดกับเป้าหมายที่ถูกกําหนดมาในทุกๆ สิ่งมีชีวิต
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนอาจจะเถียงว่า เจ.เค. โรว์ลิง ผู้แต่งแฮรี่พอตเตอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลกก็มีลูกก่อนจะเริ่มเขียนนิยายด้วยซ้ำ แล้วการตัดสินใจที่เห็นแก่ตัวอย่างการไม่มีลูก นักปรัชญาสายประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ก็ น่าจะถือว่าเป็นการบ่อนทําลายมนุษยชาติแบบหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ทางตรงก็ตาม
แต่เหตุผลที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือถ้าเพียงแค่สังคมให้คุณค่าผู้ชายและผู้หญิงเท่าเทียมกัน มีวันหยุดชดเชยโดยไม่หักเงินเดือนให้สําหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และหลังคลอด (เหมือนในประเทศสแกนดิเนเวียบาง ประเทศ) และสวัสดิการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก ปรากฏการณ์ไม่อยากมีลูกก็อาจจะลดน้อยลงหรือหมดไปก็ได้
คุณล่ะ อยากมีลูกในสังคมแบบที่เราเป็นอยู่หรือเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] M. Daum, Selfish, Shallow, and Self-absorbed: Sixteen writers on the decision not to have kids, New York: Picador, 2015.
[2] E. A. Roth, Culture, Biology, and Anthropological Demography, 1st Edition ed., Cambridge: Cambridge University Press, 2004, p. 134.
[3] A. Schopenhauer, The World as Will and Representation, vol. 1, New York: Dover Publications, 1969.