นับนิ้วรอมาหลายวัน..ในที่สุดสิ้นเดือนก็มาถึงแล้ว!
เพิ่งจะเริ่มต้นปีได้แค่เดือนเดียวทำไมเรากลับรู้สึกว่า แต่ละวันมันช่างนานแสนนาน โดยเฉพาะกับเดือนมกราคมที่ลองกางปฏิทินนับดูแล้วก็มี 31 วันเหมือนกับเดือนอื่นๆ ความรู้สึกแบบนี้เกิดจากอะไรกันแน่นะ หรือเราจะคิดไปเองคนเดียวรึเปล่า..
จริงๆ แล้วอาการที่รู้สึกว่าเดือนมกรายาวนานไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะมีงานวิจัยและบทวิเคราะห์มากมายที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า เดือนมกราคมเป็นเดือนที่ยาวนานในความรู้สึกมากกว่าอีก 11 เดือนที่เหลือจริงๆ
บทความจาก New Statesman ให้คำอธิบายไว้ว่า ความรู้สึกที่ยาวนานและผ่านไปอย่างช้าๆ ในเดือนมกราคมเกิดจากการรับรู้เวลาจริงและเวลาในความรู้สึกของมนุษย์ที่ต่างกัน เวลาในห้วงความรู้สึกนี้ชี้วัดได้จาก ‘dopamine clock’ หรือการหลั่งสารโดปามีนในร่างกายมนุษย์
โดปามีนคืออะไร ทำงานแบบไหน แล้วเกี่ยวข้องกับความรู้สึกได้ยังไงกัน? สารโดปามีน คือ สารเคมีในสมองที่จะช่วยให้กระบวนการทำงานของสมองและการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปอย่างราบรื่น ช่วยในการเรียนรู้ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก และที่สำคัญโดปามีนยังมีผลทำให้คนคนนั้นกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากขึ้น ถ้าร่างกายมีสารโดปามีนเพียงพอก็จะไปช่วยตัดความคิดด้านลบออก ทำให้เรามีความสดชื่น กระฉับกระเฉงเพิ่มขึ้นด้วย
แล้ว ‘dopamine clock’ เกี่ยวข้องกับความรู้สึกยาวนานของเดือนมกราได้ยังไง? จากผลการวิจัยระบุว่า เดือนมกราคมเป็นช่วงเวลาที่มีการหลั่งโดปามีนออกมาน้อยกว่า 2 เดือนก่อนหน้า คือเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม
ในขณะที่ทั้ง 2 เดือนที่ว่าอัดแน่นไปด้วยวันหยุดและกิจกรรมสนุกสนานตลอดเดือน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาตลอดทั้งปีที่ผ่านมาก็จะพบว่า ทั้งพฤศจิกายนและธันวาคมเป็นเดือนที่มีการหลั่งสารโดปามีนโดยรวมมากที่สุด
หลังจากวันหยุดยาวและตารางที่อัดแน่นไปด้วยการเฉลิมฉลองเมื่อเข้าสู่เดือนมกราคมที่ต้องกลับสู่สภาวะปกติ นักเรียนต้องกลับมาเรียน คนทำงานต้องกลับมาทำงานด้วยจิตใจที่อาจจะยังติดอยู่กับความรู้สึกในเทศกาลปีใหม่จึงทำให้ ‘dopamine clock’ เดินช้าลง
ในปี ค.ศ.1992 ศาสตราจารย์แดน ซาเคย์ (Dan Zakay) เคยเสนอไว้ว่า เวลาในความรู้สึกจะเดินช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ โดยเฉพาะเวลาที่เราเจอกับเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเร็ว-ช้าของเวลามากๆ รวมถึงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งแดนได้ให้คำนิยามเหตุการณ์ลักษณะนี้ไว้ว่า “มันเหมือนกับคุณกำลังติดอยู่ในการจราจรที่ต้องเดินทางไปสนามบินให้ทันเวลา”
บทความจาก The Content Wolf ได้อธิบายเหตุผลในเชิงจิตวิทยาว่า สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเดือนมกราคมแย่และยาวนานมากมีหลายข้อด้วยกัน
หลักๆ คือเดือนมกราเป็นเดือนที่มีจำนวนวันทำงานมากที่สุดพอๆ กับเดือนสิงหาคม แต่มกราคมเป็นเดือนที่ถัดจากธันวาคมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราใช้จ่ายไปกับการกินเที่ยวมากพอสมควร
บางบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในเดือนธันวาคมเร็วขึ้นเนื่องจากวันหยุดยาวในช่วงสิ้นปี ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นข้อดีในช่วงเวลานั้น แต่พอผ่านมาถึงเดือนมกราก็ทำให้หลายคนเกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลังจนแทบจะรอเวลาสิ้นเดือนกันไม่ไหวแล้ว
อีกหนึ่งเหตุผลคือ ความเชื่อที่ว่าปีใหม่ต้องมาพร้อมกับอะไรใหม่ๆ อย่างการเซ็ต ‘New Year’s Resolution’ หลายคนจึงรู้สึกกดดันกับการตั้งเป้าหมายในปีใหม่ ในขณะที่ช่วงสิ้นปีที่เพิ่งผ่านมาไม่นานเป็นความรู้สึกในการละทิ้งสิ่งเก่าๆ และคาดหวังว่าจะมีสิ่งดีๆ รอเราอยู่ในปีหน้า
แต่เมื่อปีใหม่มาถึงจริงๆ ก็ทำให้เราวิตกกังวลไปก่อนแล้วว่า ปีนี้จะเป็นยังไงต่อ จะดีเหมือนที่คิดไว้ไหม หรือที่ทำอยู่ดีพอแล้วหรือยัง ทำให้จากเดิมที่เป็นเพียงการ set goal ไว้คร่าวๆ กลับกลายเป็นการสร้างความกดดันให้ตัวเองไปอีก
และส่วนสุดท้าย คือ ต้นปีเป็นช่วงเวลาที่ต้องจัดการกับภาระส่วนตัวมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการยื่นภาษีประจำปี บางคนรอโบนัสที่บริษัทจะจ่ายในช่วงต้นปี หรือบางคนก็คาดหวังโบนัส-ผลประกอบการของบริษัท ก่อนเตรียมตัวสมัครงานใหม่ที่มักจะเปิดรับในช่วงต้นปีด้วย