การทำสมาธิภาวนาและการเล่นโยคะเป็นศาสตร์ตะวันออกที่กำลังเป็นที่นิยมในโลกตะวันตก แนวปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นแนวทางการปฏิบัติของพุทธศาสนา แนวทางที่เชื่อในการลดทอนตัวตน ลดทอนอัตตาของเราลง แต่นักวิชาการทำการทดลองแล้วพบว่า ผลการปฏิบัติสมาธิและการเล่นโยคะกลับมีแนวโน้มจะทำให้อัตตาของเราใหญ่ขึ้นแทนที่จะเล็กลง
นักวิจัยทางจิตวิทยาเริ่มจับตามองกระแสความนิยมการฝึกจิตที่กำลังเฟื่องฟู และค่อนข้างมองเห็นว่า การฝึกจิตดูจะมีความยอกย้อนในตัวเอง คือตามแนวปฏิบัติดั้งเดิมว่าด้วยการลดทอนตัวตนลง แต่ในทางกลับกันการที่ฝึกอะไรจนเก่งขึ้นเป็นทักษะ เราก็มีแนวโน้มที่ตัวตนของเราจะใหญ่ขึ้น การโตขึ้นของอัตตานี้สอดคล้องกับความคิดของนักจิตวิทยาชื่อ William James ที่มองว่าการฝึกทักษะใดๆ ทำให้ตัวตนเราเข้มข้นขึ้น นักจิตวิทยาเรียกว่า self-enhancement ประมาณว่าเราเห็นตัวเองดีกว่าหรือใหญ่ขึ้น เข้าข้างตัวเองขึ้นกว่าปกติ
อืม ยอกย้อนเนอะ การฝึกจิตบอกให้เราลดทอนอัตตา แต่การฝึกความสามารถไปจนถึงความมั่นใจก็อาจทำให้เราหลงอยู่ในอัตตาอีกที…ซับซ้อน มีงานวิจัยสองชิ้นที่พยายามศึกษาผลของการปฏิบัติสมาธิและการเล่นโยคะ ในงานศึกษาจากมหาวิทยาลัย Southampton ก็ใช้แนวคิดเรื่อง self-enhancement และ self-centrality ไปประเมินอาสาสมัครที่เล่นโยคะและปฏิบัติภาวนาเป็นเวลา 15 สัปดาห์ พบว่าทั้ง self-enhancement และ self-centrality มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เทียบกับช่วงเวลาที่ไม่ได้เล่นโยคะ
อัตตาจริงๆ ค่อนข้างวัดยากแต่ตัวงานศึกษามีวิธีวัด self-enhancement ที่ค่อนข้างหลายชั้น เช่น ให้นักเรียนโยคะเทียบตัวเองกับนักคนคนอื่นๆ ในคลาส ให้ทดลองทำแบบทดสอบที่ดูแนวโน้มการหลงตัวเอง และให้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับความเคารพตนเอง (self-esteem)
อนึ่ง ผลการศึกษาดังกล่าวอาจจะเป็นประเด็นว่ากระแสการฝึกจิตในตะวันตกอาจฝึกไปในทางที่ไม่ถูกต้องและไม่อาจนำผู้ฝึกไปสู่เป้าหมายดั้งเดิมได้ เพราะว่าอาสาสมัครทั้งหมดเป็นคนที่เล่นโยคะและปฏิบัติภาวนาในเยอรมัน
ในประเทศตะวันออกหรือแม้แต่บ้านเราเองที่เป็นเมืองพุทธ การปฏิบัติกรรมฐานและเป้าหมายเพื่อลดอัตตายังเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ นักคิดบางคนก็บอกว่า การหลับตาอยู่กับตัวเองบางครั้งแทนที่จะเป็นการพิจารณาความไม่เที่ยงแท้และลดอัตตาลง กลับกลายเป็นการอยู่กับตัวเองและเห็นตัวเองใหญ่โตขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก