เชื่อเถอะครับ คนเราควรมีจุดยืนเสียบ้าง เพราะหากมีจุดนั่งนานๆ ก้อนเนื้อตรงรูทวารหนักอาจงอกขึ้นได้ และบางทีเลือดสีแดงสดๆ หลั่งไหลออกมาด้วยอย่างน่าตกใจ อาการที่ว่าจะอะไรอีกล่ะถ้ามิใช่ ‘ริดสีดวงทวารหนัก’ ใครเคยสัมผัสประสบการณ์แบบนี้แล้วต้องรู้ดีถึงความสุดแสนทรมานในร่องก้นแน่ๆ
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไป ผมคงไม่ทำตัวประหนึ่งผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารหรอกฮะ หมายใจแค่พาคุณผู้อ่านเพลิดเพลินไปกับจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์สำคัญในอดีตอันเกิดจากบาดแผลเจ็บแปลบในซอกหนีบระหว่างบั้นท้ายนี่แหละ สรุปคร่าวๆ สิ่งที่ผมใคร่นำเสนอก็คือ ‘ประวัติศาสตร์โลกผ่านริดสีดวงทวารหนัก’
ครั้งแรกๆ ในชีวิตที่ผมรู้จักคำว่า ‘ริดสีดวงทวารหนัก’ น่าจะราวๆ อายุ 7 ขวบแล้วได้นั่งดูโฆษณายาเม็ดตราปลามังกรทางโทรทัศน์ช่วงคั่นเวลารายการมวยไทยแต่ละยก ซึ่งเป็นโฆษณาแสดงบรรยากาศในสภา ชายคนหนึ่งกำลังยืนอภิปรายด้วยท่าทีขึงขัง ประธานสภาเอ่ยว่า “กรุณานั่งลงก่อน” แต่เขาส่งเสียงหนักแน่นตอบ “ผมยังไม่นั่ง” ท่านประธานถามต่อ “ทำไมคุณถึงไม่นั่ง” คราวนี้แหละชายคนนั้นน้ำเสียงเครือลง “ก็ลมมันเย็น” ผมเองยังไม่แน่ใจนัก ลมมันเย็นคืออะไรกัน? แต่ใครๆ ในสมัยผมยังเด็กได้ยินวลีนี้เข้าเป็นอันขำขัน ก็นั่นล่ะจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มแว่วยินชื่อโรคนี้
ถัดมาตอนที่ผมเรียนชั้น ป.6 นอกจากคุณครูวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) จะสอนเรื่องการมีเลือดประจำเดือนของผู้หญิงแล้ว ท่านยังอธิบายให้ฟังถึงความน่ากลัวของโรคริดสีดวงทวารหนักแบบเห็นภาพพจน์แจ่มแจ้ง ทำเอาผมหลอนอยู่นานหลายปีทีเดียวและไม่เคยคาดนึกเลยว่าโรคนี้จะมาแผ้วพานชีวิต จวบกระทั่งวันหนึ่งสมัยเรียนปริญญาตรีได้พบว่ามีเลือดไหลจากร่างกายตัวเองภายหลังขับถ่าย โอ๊ย หน้าซีดเผือดไปหาคุณหมอเชียว นับแต่นั้นจึงก่อแรงดาลใจให้เริ่มศึกษาค้นคว้าโรคข้างต้นค่อนข้างจริงจัง
ผมยังสืบเสาะจนพบข้อมูลมากมายทำนองว่าพวกนักคิดนักเขียนส่วนใหญ่มักเผชิญโรคริดสีดวงทวารรุมเร้าเช่นกัน สอดคล้องกับที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2539 เขียนไว้ในบันทึกโดยพาดพิงนักเขียนชาวอเมริกันเยี่ยงเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ (Ernest Hemingway)
“การนั่งนานๆ กิน-ถ่ายไม่เป็นเวลา ยังเป็นที่มาของโรคอันน่าวิตกอีกโรคหนึ่ง ริดสีดวงทวาร! เพื่อนนักเขียนหนุ่มของผมคนหนึ่งมักกล่าวอยู่เสมอ- คุณยังไม่ใช่นักเขียนใหญ่ หากคุณยังไม่เป็นริดสีดวงทวาร เขาอ้างว่านั่นนับเป็นคำพูดที่ดีที่สุดของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ผมเพียรอ่านหนังสือทุกเล่มของตะแกเท่าที่จะควานหาได้รวมกระทั่งที่คนอื่นเขียนถึง แต่ไม่เคยเจอประโยคที่ว่านั่นเลย จะมีประจักษ์พยานชวนให้คิดอยู่บ้างว่าเฮมิงเวย์อาจกล่าวถ้อยคำนี้จริงก็ตรงที่ตะแกติดนิสัยยืนเขียน!”
อ่านถ้อยความนี้พลันนึกกระหยิ่มแกมยั่วล้อ อ้อ ผมนี่ก็นั่งแช่หน้าแป้นพิมพ์นานๆ ผิดเวล่ำเวลาจนเคยทักทายริดสีดวงมาแล้วนี่นา
เอาล่ะ เผลอฟุ้งฝอยเรื่องส่วนตัวไปหลายบรรทัด ทีนี้ ว่ากันถึงเรื่องโรคริดสีดวงทวารที่เชื่อมโยงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์เถอะ งั้นขอเปิดฉากด้วยกรณีของนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) หรือตามฝีปากชาวสยามยุคเก่าที่ออกเสียงเรียกขานชื่อชาวฝรั่งไม่ค่อยชัดจนกลายเป็น ‘เจ้าน่ำปาด’
ใครที่สนใจประวัติศาสตร์ทางด้านสงครามย่อมทราบกิตติศัพท์กองทัพเกรียงไกรของนโปเลียนในเชิงยากนักที่จะปราชัยในสมรภูมิใด ยุทธวิธีของบุรุษชาวฝรั่งเศสผู้นี้เป็นที่ครั่นคร้ามทั่วทั้งยุโรปต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทว่าท้ายสุดกองกำลังนักรบแห่งนโปเลียนกลับพ่ายแพ้ย่อยยับ ณ สมรภูมิวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1815 หรือเมื่อ 203 ปีก่อน หลากหลายเหตุผลถูกนำมาอธิบายต่อการที่นโปเลียนไม่สามารถชนะศึกวอเตอร์ลู แม้กองทัพเปี่ยมล้นความแข็งแกร่ง ในบรรดาทั้งหมดมีอยู่ข้อหนึ่งฟังดูน่าทึ่งมาก กล่าวคือมูลเหตุที่แพ้สงครามราบคาบเนื่องจากนโปเลียนไม่สามารถขี่ม้าสำรวจภูมิประเทศสนามรบได้อย่างเคย และที่ขี่ม้าไม่ได้ก็เพราะระหว่างรบนั้นท่านแม่ทัพเผชิญปัญหาโรคภัยในร่องก้น ใช่แล้ว ริดสีดวงทวารหนัก โอ๊ย ลำพังนั่งเฉยๆ ยังเจ็บปวดสาหัส ยิ่งการขึ้นขี่ม้าควบม้าจะทบทวีความทนทุกข์ปานไหน
ใช่เพียงบุคคลสำคัญในอดีตของฝรั่งเศสเยี่ยงนโปเลียน โบนาปาร์ตเท่านั้นที่อาการริดสีดวงทวารหนักกำเริบถึงขั้นนำไปสู่สถานการณ์ทางประวัติศาสตร์อันมิได้คาดไว้ บุคคลสำคัญแห่งวันวานของญี่ปุ่นก็เฉกเช่นเดียวกัน เขาคือฟุมิมะโระ โคะโนะเอะ (Fumimaro Konoe) นายกรัฐมนตรีผู้มีบทบาทก่อนหน้ากองทัพลูกพระอาทิตย์จะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
โคะโนะเอะถูกโรคริดสีดวงทวารหนักรุมเร้ามายาวนานแล้ว อาการช่างหนักหน่วงแทบจะนั่งไม่ค่อยได้ ด้วยเหตุฉะนี้จึงมีผู้ชูประเด็นทำนองว่าการที่ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ขึ้นขี่ม้าไปพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอย่างโยซูเกะ มัตซูโอกะ (Yosuke Matsuoka) เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีวาระสำคัญในเดือนเมษายน ค.ศ. 1939 โคะโนะเอะเลยพลาดโอกาสจะชี้แจงความเข้าใจผิดของมัตซูโอกะเกี่ยวกับข้อเสนอสันติภาพของทางสหรัฐอเมริกา จากจุดนี้แหละกลายเป็นชนวนหนึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2ในฐานะฝ่ายอักษะ แน่นอนท้ายสุดญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม โคะโนะเอะเลือกจะฆ่าตัวตายด้วยการกินไซยาไนด์ อย่างไรก็ดี กรณีโคะโนะเอะปฏิเสธที่จะขี่ม้าไปกับมัตซูโอกะยังปรากฏคำอธิบายสมเหตุสมผลซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคริดสีดวงทวารด้วย
ครับ ดูเผินๆ จากสองกรณีที่อ้างมาแล้ว ชวนให้ฉุกคิดเหมือนกันว่าเรื่องเล็กๆ อย่างการเป็นโรคริดสีดวงทวารนี่น่ะรึจะไปสร้างจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์โลกได้
ทั้งสมรภูมิวอเตอร์ลูและสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กระนั้น เมื่อพบหลักฐานพยายามยืนยันข้อมูลจึงน่าจะมีส่วนบ้างแหละที่เข้าเค้าความจริง อย่างเช่น เรื่องริดสีดวงทวารของนโปเลียน โบนาปาร์ตนั้น ในหนังสือ Napoleon’s Hemorrhoids And Other Small Events That Changed History. ได้เสนอไว้อย่างชวนตื่นตาทีเดียว
คงกระไรอยู่ ถ้าผมไม่กล่าวถึงโรคริดสีดวงทวารหนักในประวัติศาสตร์ไทยเลยสักนิด เอาเป็นว่าเท่าที่ผมเคยสำรวจหลักฐานมาพอสมควร ในความรู้สึกชาวสยามแล้ว ริดสีดวงทวารคือโรคสลักสำคัญที่พึงวิตกกังวลโรคหนึ่ง เมื่อลองไปพลิกอ่านสื่อสิ่งพิมพ์เก่าๆ ดู โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และนิตยสารช่วงทศวรรษ 2470 จะพบประกาศขายยารักษาริดสีดวงทวารดาษดื่นเชียวล่ะ จึงสะท้อนได้ว่าในยุคสมัยนั้นพอใครเป็นโรคนี้เข้าแล้วก็หาใช่เรื่องขำๆ นะ ตรงกันข้ามจัดเป็นอาการเจ็บปวดร้ายแรงไม่บันเบา มิหนำซ้ำ มีอยู่หลายคนที่ต้องถึงแก่ความตาย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างกรณีหมอชาวพม่าคนหนึ่งใน ปี พ.ศ. 2477 ที่การรักษาผู้ป่วยกลับทำให้เขากลายเป็นฆาตกร
นายลำเจียก สมใจรักษ์นั่นแหละชื่อผู้เสียชีวิต เขารับราชการเป็นครูสอนวาดเขียนโรงเรียนสตรีมหาพฤฒารามและมีอาการป่วยด้วยโรคริดสีดวงทวารมานาน ครั้นพอแว่วยินว่าหม่องป่า แพทย์ประกาศนียบัตรแผนปัจจุบันชั้นที่ 2 ชาวพม่า เจ้าของร้านขายยาศิลานุรักษ์ ตำบลเชิงสะพานดำรงสถิตย์ได้รับรักษาโรคนี้ จึงในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2477 เวลาราวๆ 11 น. นายลำเจียกเดินทางไปพบหม่องป่า หมอชาวพม่าฉีดยาบริเวณริมบาดแผลที่เป็นริดสีดวงในร่องก้นหนึ่งเข็ม จากนั้นให้นอนพักรอดูอาการในห้องรักษา ฝ่ายนายลำเจียกก็ไม่ได้มีอาการเจ็บแผลหรือผิดปกติแต่อย่างใด ทว่าพอได้เวลาเกือบ 13 น. นายลำเจียกกลับทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตาย
ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ไปแจ้งความกับจ่านายสิบตำรวจตู่ เกิดพิบูลย์และพลตำรวจเชื้อ ซึ่งกำลังตรวจตราความสงบเรียบร้อยในท้องที่สามยอด ตำรวจทั้งสองเร่งไปยังสถานที่เกิดเหตุ พบหม่องป่ากำลังจะหนีออกจากร้านเลยเข้าจับกุมไว้ ขณะเดียวกันได้เข้าไปพบศพนายลำเจียกนอนในห้องรักษาจึงจัดส่งไปยังโรงพยาบาลกลางเพื่อชันสูตร ส่วนหมอหม่องป่าถูกคุมตัวมารายงานต่อต่อผู้บังคับบัญชา ได้แก่ ร.ต.ต. เจริญ บุณยประภูติ แล้วจึงพาเข้าห้องขัง
หมอชาวพม่าคนนี้ ใช่จะเพิ่งฉีดยารักษาโรคริดสีดวงทวารจนคนไข้ถึงแก่ความตายเป็นรายแรก ประมาณเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 หลวงวิชิตสรการก็เดินทางมาให้หม่องป่ารักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก แต่เมื่อได้ฉีดยาให้ที่แผลแล้ว คุณหลวงก็สิ้นลมหายใจ หม่องป่าได้ถูกฟ้องร้องตกเป็นจำเลยต่อศาลต่างประเทศ คดีความยังคงอยู่ระหว่างพิจารณา คดีเก่ายังไม่หลุดพ้น ในที่สุดก็มาต้องคดีใหม่จากการฉีดยาให้นายลำเจียกอีก
เห็นชัดทีเดียว การเป็นริดสีดวงทวารช่วงทศวรรษ 2470 เป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงและอาจอันตรายต่อชีวิต จริงอยู่ ปัจจุบันนี้ แทบจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องคนตายเพราะโรคนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าโรคเราไม่ควรชะล่าใจ พึงระมัดระวังจะดีกว่า สำหรับใครๆ ที่คุ้นชินกับพฤติกรรมมีจุดนั่งๆ นาน ก็ลองปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวอิริยาบถ ผมเองยังคงพยายามเช่นกัน และอย่างที่บอกไปแต่แรกเริ่ม คนเราควรมีจุดยืนเสียบ้าง!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร.นนทบุรี : บ้านหนังสือ, 2544
- ‘ยาริดสีดวง’ ใน กรุงเทพฯวารศัพท์ (วันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2476)
- วอลเลชินสกี, เดวิด. วอลเลซ,เออร์วิง และ วอลเลซ, เอมี. สถิติพิสดาร เล่ม 3. แปลโดย แววจันทร์ แพรเมฆ. กรุงเทพฯ : ปาปิรัส, 2534
- ‘หมอพะม่าฉีดยาให้คนตาย’ ใน ประชาชาติ (วันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2477)
- Mason, Phil. Napoleon’s Hemorrhoids And Other Small Events That Changed History. New York, NY: Skyhorse Pub., 2010.
- Yagami, Kazuo. Konoe Fumimaro and the failure of peace in Japan, 1937-1941: a critical
appraisal of the three-time prime minister. Jefferson, N.C.: McFarland & Co.,2006