พบกับอาบังสไตล์ อาบังสไตล์…
ครับ อีกหลายบรรทัดถัดไปจะว่าด้วยเรื่อง ‘อาบัง’ หรือแขกชาวอินเดียที่เราๆ ท่านๆ อาจเคยเห็นบ่อยหน และเมื่อต้องเล่าขานทั้งทีก็อยากเปิดเผยชีวิตอาบังธรรมดาๆ ผู้บังเอิญอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทย งั้นเริ่มสาธยายกันเลยเถอะ
มิถุนายนเป็นเดือนที่โลดแล่นในความรู้สึกของหลายๆ คน นอกจาก 21 มิถุนา ไวพจน์ลาบวช (คอเพลงลูกทุ่งคุ้นชินเพลงนี้แน่ๆ) พอล่วงเข้า 24 มิถุนา ใครต่อใครไม่แคล้วนึกถึงกรณีเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ซึ่งน่าจะเคยท่องจำเรื่อยมานับแต่เรียนวิชาสังคมศึกษา ส่วนใหญ่ก็มักยินเสียงพาดพิงกลุ่มบุคคลสำคัญอย่าง ‘คณะราษฎร’ ทว่าอย่าลืมนะครับ ยังมีคนทั่วไปไม่น้อยรายที่ได้สัมผัสบรรยากาศวันนั้นเช่นกัน
ผมเองสนใจค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับคนสามัญดังกล่าว ยิ่งอ่านอย่างสังเกตสังกาดูดีๆ พบหลายรายเลยรับรู้สถานการณ์ 24 มิถุนายนขณะกำลังปั่นจักรยาน (โอ้โห! ชวนให้ระลึกภาพหนังอิตาเลียนหลายเรื่องที่ตัวละครนิยมขี่จักรยานขึ้นมาเคลิ้มๆ) เฉกเช่นกรณีของนักเรียนชั้นมัธยม 6 (อายุประมาณ16) โรงเรียนสวนกุหลาบคนหนึ่งซึ่งขี่จักรยานออกจากบ้านในตรอกเศรษฐศิริไปสถานศึกษาตอนเช้ามืด สองขาปั่นรถไปริมฝีปากพึมพำท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ 10-20 คำที่จดใส่มือไว้ไปพลางๆ จวบจนจักรยานแล่นผ่านลานพระบรมรูปทรงม้า เด็กหนุ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ มีทหารบกทหารเรือยืนเรียงรายพร้อมอาวุธเต็มไปหมด ปืนกลตั้งวางอยู่หลายจุด นายทหารเรือคนหนึ่งถือปืนพกโบกมือเร่งร้องตะโกน “นักเรียน รีบไปเร็วๆ อย่าอยู่ในบริเวณนี้ เดี๋ยวโดนลูกหลง” ทันใดนั้น นักเรียนมัธยม 6 ไม่รอช้าขยับน่องปั่นจักรยานห้อเหยียดมาถึงโรงเรียนของตน นักเรียนคนที่ว่านี้ชื่อประเก็บ คล่องตรวจโรค และกรณีของคนปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์ผู้ขี่รถผ่านทางในบริเวณเดียวกัน เขาจึงจำหน่ายหนังสือพิมพ์ให้กับชาวบ้านที่กำลังยืนมุงแถวนั้น
เดี๋ยวๆ ผมชักจะลอยล่องออกทะเลแฮะ ขอวกกลับมาว่ากันถึงอาบังผู้หนึ่งดีกว่า ก่อนตีห้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ท้องฟ้ามัวมืด ขณะนายแขกอินเดียกำลังเฝ้ายาม ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรศัพท์กลางวัดเลียบ ตอนนั้น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) พร้อมคณะราวๆ 10 คนได้มาปฏิบัติการตัดสายโทรศัพท์โทรเลข ด้วยหูไวแว่วยินเสียงชะแลงงัดประตู อาบังรีบมาดูแล้วร้องเอะอะโวยวายเสียงดัง “โอ้นี่มาทำอารายน่ะ” ส่งผลให้ตำรวจคอยตรวจตราละแวกใกล้ๆ วิ่งตามมา หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) นายทหารเรือหนึ่งในคณะนายควงจึงเอ่ยขึ้น “นี่ตำรวจจับไอ้แขกยามนี่ทีเถอะ ยุ่งพิลึกเชียวละ เดี๋ยวราชการงานเมืองเสียหมด” ตำรวจมิทันซักถามอะไรเข้าควบคุมตัวอาบังทันที ที่สุด คณะนายควงก็ดำเนินการตัดสายโทรศัพท์โทรเลขสำเร็จเสร็จสิ้น เรื่องนี้นายควงเล่าย้อนไว้ผ่านชีวประวัติของตนภายหลัง
จะว่าไป อาบังนับเป็นชาวบ้านคนแรกๆ ที่ได้พบเจอคณะผู้ก่อการเลยทีเดียว แต่นายแขกอินเดียกลับถูกจับตัวเสียก่อนแบบงงๆ
อาบังอีกคนหนึ่งก็มิอาจละเลยการเล่าถึงได้ ช่วงต้นทศวรรษ 2480เมืองไทยมิได้มีเพียงระบอบประชาธิปไตย หากมีการเลือกตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรากฏด้วยแล้ว (การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกสุดเกิดขึ้นในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476)
ตึกสำนักงานหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษประชามิตรตรงหัวมุมถนนวิสุทธิกษัตริย์จรดกับถนนสามเสน (ที่ตั้งเดียวกับโรงพิมพ์อักษรนิติ ส่วนบรรณาธิการคือกุหลาบ สายประดิษฐ์) ผู้ปรารถนาติดต่อย่อมเผชิญหน้าอาบังไว้ผมหางหนูเหนือท้ายทอยเสมอๆ แขกอินเดียคนนี้ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าประตูชั้นล่างแข็งขัน ยากจะยินยอมให้บุคคลภายนอกล่วงล้ำผ่านเข้าอาคารง่ายๆ จำเป็นต้องเขียนในสมุดเยี่ยมเสียก่อน โดยชี้แจงว่าคือใคร? มาจากไหน? มาพบนักหนังสือพิมพ์คนใด? และมาด้วยธุระอะไร? จากนั้นอาบังจะนำสมุดเดินขึ้นไปชั้นบนเพื่อมอบแก่คนที่ถูกระบุชื่อลองพิจารณา ถ้าเจ้าตัวอนุญาตให้พบได้ อาบังจึงกลับลงมาเชื้อเชิญผู้ปรารถนาติดต่ออย่างเต็มเปี่ยมมิตรภาพ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนามเลียง ไชยกาล (ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี) เป็นคนหนึ่งผู้เคยแวะสำนักงานหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษประชามิตรเขาหมายใจจะมาหาเพื่อน ส.ส. ด้วยกันที่เขียนคอลัมน์ประจำสิ่งพิมพ์นี้ ครั้นเจออาบังขวางหน้าประตู พยายามทัดทานและยืนยันให้สำแดงตัวตนในสมุดเยี่ยม นายเลียงพานโกรธถึงขั้นเอ่ยปากกับเพื่อนร่วมทางทำนองถ้าเขาได้เป็นใหญ่เป็นโตจะไม่ให้คนขอเข้าพบยากเย็นเด็ดขาด ซึ่งตอนนายเลียงรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีในเวลาต่อมา เขาจัดอยู่ในข่ายบุคคลผู้เข้าพบง่ายยิ่งนัก
แท้จริง นักหนังสือพิมพ์ประจำสุภาพบุรุษประชามิตร หาใช่พวกถือตัวเย่อหยิ่งเหลือเกิน เหตุผลหลักๆ ที่มอบหมายให้อาบังเน้นย้ำการลงชื่อในสมุดเยี่ยมก็เพราะตามปกติผู้กรำงานแวดวงน้ำหมึกมักเลี่ยงมิพ้นสะสมหนี้สินมากมาย ถ้าตรวจดูสมุดของอาบังแล้วจดจำลายมือผู้มาติดต่อได้ว่าคือเจ้าหนี้หรือผู้ทวงหนี้ มีหรือจะมัวนั่งนิ่งเฉยอยู่ พลันลุกลี้ลุกลนชิ่งหนีแบบทันท่วงทีออกไปทางอีกฟากตึกน่ะสิ บุคคลแห่งสำนักงานจึงยอมรับอาบังประหนึ่งด่านปราการอันทรงพลัง
อ้อ! เกือบลืมเชียว ในฐานะที่ผมร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะต้องตื่นเต้นต่อ 27 มิถุนายนอันเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยสักหน่อย (ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2477) อุตส่าห์เล่าถึงอาบังธรรมดาสามัญในประวัติศาสตร์ไทยมาแล้วสองคน ก็ใคร่ขยายความต่อถึงอาบังผู้มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับธรรมศาสตร์ยาวนานกว่า 50 ปี อยากรู้ว่าใคร? โปรดเพ่งดูภาพนี้
บรรดาลูกแม่โดมร้อง อ๋อ ถ้วนหน้ากันเลยฮะ จะใครเสียอีกล่ะถ้ามิใช่เบอร์นาร์ด คนขายถั่วในตำนาน หรือที่ผมเรียกขานหยอกเอินว่า ‘หลวงถั่วพาณิชย์’ อันที่จริงได้มีการนำเสนอเรื่องราวของอาบังแห่งรั้วท่าพระจันทร์เสียเยอะแยะหลากหลายรูปแบบ ยิ่งลักษณะบันทึกความทรงจำประทับใจนี่หาอ่านกันได้จนตาแฉะ แต่เนื่องจากผมมุ่งเน้นเสาะแสวงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ มิหนำซ้ำ ไหนๆ มิตรสหายล้อกันจังว่าผมประหนึ่งลูกชายเบอร์นาร์ด ทุกคราวเดินผ่านแล้วถูกเรียกคะยั้นคะยอให้ซื้อถั่วราคาเริ่มต้น 20 บาท ผมจึงฉวยโอกาสสอบถามความรู้สารพัดทั้งเรื่องเมืองไทยและเมืองเทศ (เมืองอินเดียนะจ๊ะนายจ๋า) เสียเลย ตลอดระยะเวลานับทศวรรษที่ผมเดินนับตารางนิ้วในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถตักตวงข้อมูลจากเบอร์นาร์ดมาได้หลายร้อยกระบุง สำหรับครั้งนี้ จะคัดสรรมาเล่าสนุกๆ เพียงหอมปากหอมคอ
เบอร์นาร์ดลืมตาทัศนาโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีคริสต์ศักราช 1945 (พุทธศักราช 2488) บ้านเกิดเมืองนอนคือโกรักปูร์ (Gorakhpur) หรือโคราฆปุระในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) นักขายถั่วเล่าให้ผมฟังว่าสมัยเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มเคยทำนาและเลี้ยงวัว 4 ตัว เติบโตในอินเดียท่ามกลางบรรยากาศการบริหารประเทศของรัฐบาลนายยวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) และนางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) เบอร์นาร์ดเดินทางมาสู่เมืองไทยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2511 บ่อยครั้งครับท่านที่ผมปุจฉาว่าระหว่างอินเดียกับเมืองไทยนักขายถั่วชอบแห่งไหนมากกว่ากัน วิสัชนาที่ได้ฟังมักจะเป็นเมืองไทย เพราะใช้ชีวิตอยู่ยาวนานเกือบ 5 ทศวรรษ เจาะจงเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบอร์นาร์ดได้อยู่ร่วมเป็นประจักษ์พยานต่อหลายเหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับฉากสถานศึกษาแห่งนี้ ว้าว!
บ่ายวันเกิดสุนทรภู่ (26 มิถุนายน) ปีพุทธศักราช 2559 ขณะสายฝนพร่างพรำ ชายชราชาวอินเดียจากโกรักปูร์วัย 71 ถูกผมสัมภาษณ์เรื่องราวต่างๆ นานาให้ไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาไม่แพ้สายฝน เอาล่ะ ผมจะเลือกเฟ้นหยิบยกประเด็นหนึ่งในถ้อยสนทนามาบอกเล่า
ทำไมหนอชาวอินเดียมักจะประกอบอาชีพคนเฝ้ายาม?
คงเห็นชัดว่าอาบังทั้งสองซึ่งผมเอ่ยอ้างถึงไปแล้วล้วนประกอบอาชีพชวนให้ดื่มด่ำบทเพลงหนึ่งของวงดนตรีลาบานูน ฮ้า ฮา ฮ้า ฮา… เบอร์นาร์ดไม่แปลกกว่าอาบังคนอื่นเลย ใครๆ อาจแลเห็นภาพการสวมบทบาทนักขายถั่วตอนกลางวันบริเวณทางประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์และลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ แต่จริงๆ ชายชราจากโกรักปูร์ยังปฏิบัติหน้าที่เฝ้ายามโรงพิมพ์แห่งหนึ่งทางฝั่งธนบุรีตอนกลางคืน
การทำงานเฝ้ายามของชาวอินเดียในเมืองไทยช่างเป็นอะไรน่าตามแกะรอยมิใช่น้อย หากมองผ่านบริบททางประวัติศาสตร์พบว่าชาวอินเดียที่อพยพเข้าสู่ประเทศของเราจะมีกลุ่มของผู้ที่เดินทางมาจากรัฐปัญจาบ (Punjab) ซึ่งยึดอาชีพค้าขายผ้า ส่วนกลุ่มที่ยึดอาชีพเฝ้ายามมักเดินทางมาจากรัฐอุตตรประเทศ โดยเฉพาะโกรักปูร์ (Gorakhpur) ไฟซาบัด (Faizabad) และอซามกาส (Azamgarh) อ้าว! จำได้ไหม ทุกท่านยังจำได้ไหมฮะ บ้านเดิมที่อินเดียของเบอร์นาร์ดก็อยู่เมืองโกรักปูร์นั่นแหละ อีกทั้งแขกอินเดียชาวอุตตรประเทศใช่จะเพิ่งเข้ามาช่วงหลังปีพุทธศักราช 2500 แต่พวกเขาทั้งหลายทยอยเข้าสู่เมืองไทยตั้งแต่ราวทศวรรษ 1930 (พ.ศ. 2473- 2483) นั่นคือช่วงเดียวกับอาบังเฝ้ายามที่ทำการไปรษณีย์โทรศัพท์กลางวัดเลียบและอาบังหน้าประตูสำนักงานหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษประชามิตร
ข้อสงสัยของผมไม่สิ้นสุดง่ายๆ ทำไมเบอร์นาร์ดจึงเลือกจะยึดอาชีพเฝ้ายามอีกงานหนึ่งทั้งๆ ที่ปกติก็ขายถั่วอยู่แล้ว ผมเพียรถามจนรู้ความว่าเนื่องจากที่ผู้เป็นพ่อเคยทำงานนี้มาก่อน กระทั่งปีคริสต์ศักราช 1999 (พุทธศักราช 2542) เมื่อผู้เป็นพ่อเสียชีวิตลง บุตรชายชาวโกรักปูร์เลยรับช่วงสืบทอดหน้าที่แขกยามเรื่อยมา ผมยังอยากทราบอีกว่าพ่อของเบอร์นาร์ดเคยขายถั่วด้วยหรือไม่ บุตรชายพยักหน้า ใช่ เคยขายที่วิทยาลัยนาฏศิลป์
แทบตลอดวันนั่งขายถั่ว ตกกลางคืนนั่งเฝ้ายามให้ยุงตอม ผมอดตั้งคำถามมิได้ว่า“ขายถั่วเสร็จสี่โมงเย็น แล้วไปเฝ้ายามที่โรงพิมพ์ต่อถึงเช้า อย่างนี้จะได้พักผ่อนเหรอ” หลวงถั่วพาณิชย์พูดความจริงอีกเหมือนกัน “นอนวันละสองสามชั่วโมง” ผมมิวายเกิดกังขา ก็ในเมื่อนอนน้อยทุกวันแล้วจะเอาเรี่ยวแรงมาจากไหนกัน ขนาดคนหนุ่มๆ เยี่ยงผมอดนอนแค่คืนสองคืนร่างกายยังอ่อนเปลี้ยเพลียล้า ชะรอยจะมีของดีจริงๆ ผมเลยอ้อนวอนขอเคล็ดลับของเบอร์นาร์ดไปใช้บ้าง เผื่อทีจะได้ปั่นงานระดับ ‘ผู้รู้ราตรีนาน’ ได้ทุกคืน
“กินถั่ว” น้ำเสียงตอบชัดเจน
อยู่ดีๆ ธนบัตรใบละ 20 บาทของผมก็ลิ่วละล่องไปอยู่กับอุ้งมือนักขายถั่วชาวโกรักปูร์ (ฮ่า ฮ่า)
อาบังหรือแขกชาวอินเดียทั้งสามที่ผมแนะนำให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักไปแล้ว มองเผินๆ พวกเขามักถูกจัดวางไว้ในสายตาใครต่อใครด้วยสถานะคนเล็กๆ น้อยๆ ของสังคมที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงมากนักในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ แต่ปฏิเสธได้ล่ะหรือว่าชีวิตชีวาของพวกเขามิได้สร้างสีสันชวนตื่นตาตื่นใจ ครับ ผมเองยังคงเหนียวแน่นต่อปณิธานความพากเพียรสืบค้นเรื่องราวของบุคคลเหล่านี้มาให้ทุกท่านได้ยลยินในวาระที่สบโอกาส และจะชื่นใจเหลือหลายทีเดียวถ้าใครอ่านตัวอักษรในงานของผมแล้วผลิยิ้มหวานขึ้นมาอย่างเปรมปรีดิ์
อ้างอิงข้อมูลจาก
- เบอร์นาร์ด, ลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ สัมภาษณ์, 26 มิถุนายน 2559
- ประเก็บ คล่องตรวจโรค.สารคดีนิยายแห่งชีวิต 50 ปีของข้าพเจ้า. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2513
- ลาวัณย์ โชตามระ.เงาหลังภาพ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์,2530
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช. ,ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13มิถุนายน 2511. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์, 2511
- อินทิรา ซาฮีร์. เครือข่ายพ่อค้าผ้าชาวอินเดียในสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2400-2490. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546