ขณะกำลังอยู่ในความอร่อยของข้าวราดไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์บนโต๊ะอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนหนุ่มของผมก็ชวนสนทนาถึงคำกล่าว “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย… ยายมีขายเหล้า” ซึ่งเป็นไปได้ว่าเขาคงอ่านมาจากสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ดูเหมือนสิ่งที่เขาปรารถนาเค้นคำตอบเอาจากผมเห็นจะมิพ้นเรื่องของยายแฟงเป็นหลัก ครับ แม้ว่าเรื่องของ ‘ยายแฟงขาย…’ คงจะมีใครต่อใครเอ่ยอ้างถึงกันแยะแล้ว แต่ผมใคร่จะลองเสนออีกแง่มุมหนึ่งที่ยังไม่ค่อยถูกนำเสนอมากนัก และเพื่อมิให้การโม้ของผมจบลงเพียงแค่โต๊ะอาหาร ผมจึงขออนุญาตหยิบยกมาปรนเปรอสายตาคุณผู้อ่าน ณ ที่นี้เสียด้วยเลย
วลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย… ยายมีขายเหล้า” ได้ปรากฏขึ้นอีกหนผ่านบทความใน www.silpa-mag.com ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2561 ผมลองตามไปอ่านดูแล้ว เนื้อหาอ้างอิงมาจากหนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี ของวีระยุทธ ปีสาลี ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมโปรดปรานยิ่ง ในบทความนี้ได้ให้รายละเอียดของ ‘คลับ’ (Club) ที่มิได้หมายถึงแค่สโมสร แต่เป็นพื้นที่แสวงหาความบันเทิงของผู้ชายโดยมีหญิงสาวไว้คอยดูแลบริการ รวมถึงจะร่วมหลับนอนกับพวกเธอก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นโรงโสเภณีนั่นล่ะ พร้อมยังระบุชื่อ ‘คลับ’ ที่เลื่องลือในหมู่ชายชาวไทยและชาวจีน อันได้แก่ คลับจางวางหม็อง ที่ถนนวรจักร คลับเบอร์ 10 ที่ถนนเจริญกรุง และคลับยี่สุ่นเหลือง ที่ตรอกยายแพ่ง
แท้แล้ว ผมมีเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับคลับเหล่านี้อยากเล่าเหมือนกัน แต่ถ้าจะเล่าทั้งทีคงต้องแยกไปเขียนเป็นบทความอีกชิ้น เอาเป็นว่า ผมจะลองยกชื่อของชายหนุ่มชาวสยามผู้เคยได้สัมผัสคลับเหล่านี้แล้วเขียนบันทึกถึงไว้มาเย้ายวนความใคร่รู้ของทุกท่านเสียก่อน คลับจางวางหม็อง ถนนวรจักร และ คลับเบอร์ 10 ที่ถนนเจริญกรุงนั้น แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าบุคคลหนึ่งที่เคยไปซึมซาบบรรยากาศในวัยหนุ่มคือ พระยาอนุมานราชธน เจ้าของนามปากกา ‘เสฐียรโกเศศ’ ส่วนคลับยี่สุ่นเหลือง ที่ตรอกยายแพ่ง ถ้าคุณผู้อ่านยังจำโทน บินดีที่ผมเคยเขียนเล่าไปในบทความ ร่วมรักระหว่างร่วมรบ : เรื่องรักของทหารอาสาชาวสยาม กับสาวเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาผู้นี้แหละ เคยไปเที่ยวคลับยี่สุ่นเหลือง
บทความในสโมรศิลปวัฒนธรรมยังได้กล่าวถึงสำนักโสเภณีที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง ‘สำนักยายแฟง’ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในที่มาของวลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย… ยายมีขายเหล้า”
เกี่ยวกับ ‘ยายฟักขายข้าวแกง’ ผมเองก็ยังตามสืบค้นไม่เจอว่า ‘ยายฟัก’เป็นใคร? แต่รู้จักชื่อตาเพ็งและยายพุกที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการขายข้าวแกงละแวกย่านพาหุรัด ตั้งเป็นศาลาหลังใหญ่ตรงถนนบ้านหม้อ ฝีมือปรุงอาหารของยายพุกโจษขานปากต่อปากกันถึงความเอร็ดอร่อย และมีคนแวะเวียนมาลิ้มรสชาติเยอะแยะ ส่วน ‘ยายมี’ ก็ไม่แน่ใจว่า ‘มี’ คนไหนแน่ ขณะที่ ‘ยายแฟง’ น่ะรึ ผมสามารถเล่าโม้เรื่องราวของเธอได้อย่างออกอรรถรสเชียว มิหนำซ้ำ ใคร่จะเสริมเกร็ดพิสดารที่คนส่วนใหญ่มิค่อยล่วงรู้กันเท่าไหร่นัก
ยายแฟงผู้นี้ อันที่จริง เธอมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘โป๊’ ซึ่งฝีปากคนยุคสมัยนั้น บางทีก็เรียก ‘คุณแม่โป๊’ ข้อน่าสนใจและสงสัยอยู่ที่ว่าชื่อ ‘โป๊’ ของ ‘ยายแฟง’ นั้น เป็นชื่อเดิมหรือชื่อที่เปลี่ยนใหม่ เพราะบันทึกที่เขียนถึงเรื่องนี้ไม่ตรงกัน บางชิ้นก็บอกว่า เดิมทีเธอชื่อ ‘แฟง’ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘โป๊’ ขณะที่บางชิ้นระบุว่า เดิมทีเธอชื่อ ‘โป๊’ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘แฟง’ แต่ถึงอย่างไร นับว่าเป็นที่รับรู้กันของชายหนุ่มชาวสยามยุคสมัยหนึ่งว่า ‘คุณแม่แฟง’และ ‘คุณแม่โป๊’ เป็นคนเดียวกัน และจะมีความสุขทางเพศรสรออยู่เมื่อไปถึงสำนักโสเภณีของคุณแม่คนนี้ ก็จากชื่อของยายแฟงนี่แหละ ผมจึงได้หยิบยกมาวิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์คำว่า ‘โป๊’ในสังคมไทยที่ยังคงคลุมเครือไม่สิ้นสุด
อ้อ! เดิมที คำว่า ‘โป๊’ หาได้มีความหมายยึดโยงอยู่กับเรื่องเพศเรื่องวาบหวิวแบบที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจในปัจจุบันนี้หรอก นั่นเพราะ ‘โป๊’ เคยเป็นหนึ่งในชื่อยอดนิยมของคนในประเทศสยามโดยเฉพาะคนที่เกิดก่อนช่วงทศวรรษ 2450 และทศวรรษ 2460 ดังจะยกตัวอย่างเช่น ‘โป๊ โปรคุปต์’ หรือขุนสมาหารหิตะคดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพระนครในการเลือกตั้งครั้งแรกของไทยเมื่อปีพุทธศักราช 2476 เขายังได้เรียบเรียงหนังสือเล่มสำคัญอย่างพจนานุกรมกฎหมายเมื่อปีพุทธศักราช 2474, ‘หม่อมโป๊’มารดาของหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ และ ‘นายโป๊ ศราภัยวาณิช’ บิดาของพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวาณิช) เป็นต้น หรืออย่างในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ประจำวันพุฒที่ 4 เมษายน พระพุทธศักราช 2460 ก็ยังพบข่าวของผู้หญิงชื่อ ‘โป๊’ โดยมีประกาศแจ้งความหาตัวอำแดงโป๊ ภรรยาของนายจีนเพ็ง ซึ่งนายจีนเกี๊ยดแห่งตลาดท่าเรือ อยุธยา น้องชายนายจีนเพ็งเป็นผู้แจ้งความมายังหนังสือพิมพ์ เพราะอำแดงโป๊หายตัวไปภายหลังได้รับมรดกจากสามี
สำหรับคำว่า ‘โป๊’ อันข้องเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้น ยังไม่สามารถระบุได้กระจ่างชัดถึงที่มาและต้นกำเนิด แต่กระนั้น ก็ปรากฏความพยายามศึกษาเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ
ธนาพล ลิ่มอภิชาต นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ในเชิงอรรถที่ 26 ของบทความเรื่อง “โป๊…หมายถึงแค่ไหน?”: การก่อตัวของแนวคิดและการถกเถียงเรื่อง ‘ลามกอนาจาร’ ในสังคมไทย (ปลายทศวรรษ 2460 ถึงต้นทศวรรษ 2490) โดยเสนอว่า ‘โป๊’ เป็นคำค่อนข้างใหม่ น่าจะเริ่มปรากฏขึ้นช่วงทศวรรษ 2460 และเป็นไปได้ว่าอาจจะแผลงมาจาก ‘โปสการ์ด’ (postcard) พร้อมอ้างอิงจากที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองเอ่ยถึงภาพโปสการ์ดลักษณะโป๊เปลือยช่วงปีพุทธศักราช 2466 อย่างไรก็ดี แม้ข้อเสนอนี้จะน่ารับฟัง แต่ผมเองมิค่อยเห็นพ้อง กลับมองว่า ‘โป๊’ กับ ‘โปสการ์ด’ ดูเหมือนจะห่างเหินกันไปสักหน่อย ไม่น่าจะเป็นที่มาอันเกี่ยวเนื่องกัน
อ. สายสุวรรณ นักแปลผู้ถ่ายทอดวรรณกรรมเรื่องเชอร์ล็อค โฮมส์ (Sherlock Holmes) มาสู่ภาษาไทยจำนวนมากที่สุดอธิบายว่า ‘โป๊’ มาจาก ‘โป๊ว์’ ในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ ‘ปู่ว์’ ในสำเนียงจีนกลาง แปลความหมายในแง่ของ ‘ส่งเสริมสิ่งที่บกพร่อง’ หรือ ‘บำรุง’ เฉกเช่น ยาโป๊คือยาบำรุง โป๊สีคือฉาบแต่งสี และ โป๊ค่าจ้างก็คือเพิ่มค่าจ้าง เป็นต้น อ.สายสุวรรณยังพาดพิงเรื่องการ ‘แต่งตัวโป๊’ ในทำนองที่คงมิได้หมายถึงเปลือยกายล่อนจ้อน เป็นเพียงการเปิดโน่นเปิดนี่วับๆแวมๆ เสียมากกว่า แต่พอมาช่วงหลังๆ จึงมักเข้าใจกันว่าหมายถึงเปลือยกาย
นอกจากนี้ เคยมีผู้เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากความหมายในภาษาจีนของคำว่า ‘โป๊’ ด้วย หากย้อนไปช่วงทศวรรษ 2460 สื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ได้รับความนิยมแพร่หลาย ทว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ฉายในโรงหนังมีความยาวไม่เท่ากัน บางเรื่องที่ไม่ยาวนัก เจ้าของโรงหนังซึ่งเป็นชาวจีนจึงนำเอาภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งมาฉายเพิ่มเติมต่อไปจากเรื่องเดิม ภาพยนตร์ที่เอามาเสริมมักมีลักษณะเนื้อหาวาบหวามเย้ายวนอารมณ์ เปิดเผยภาพนักแสดงนุ่งน้อยห่มน้อยหรือมีฉากกิจกรรมทางเพศ จนเกิดเป็นถ้อยคำเรียกขานภาพยนตร์ประเภทนี้กันติดปากว่า ‘หนังโป๊ว’ เพราะหนังที่เอามา ‘โป๊ว์’ หรือฉายเสริมเข้าไปจากหนังเรื่องเดิม ถัดต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น ‘หนังโป๊’ ฟังเผินๆ เข้าทีใช่เล่นฮะ แต่ผมก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าข้อสันนิษฐานนี้จริงเท็จอย่างไร
ว่าด้วยเรื่อง ‘หนังโป๊’ ทำให้นึกขึ้นได้เกี่ยวกับข้อเขียนเชิงล้อเลียนเรื่อง ‘หนังสือพิมพ์อุตริภาพยนตร์’ ลงพิมพ์ในภาพยนตร์สยาม ปีที่ 1 เล่ม 4 ประจำวันที่ 22 เมษายน พุทธศักราช 2465 ซึ่งได้ให้บรรยากาศโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งที่ฉาย ‘หนังโป๊’ อย่างบริษัทโลเลภาพยนตร์ ซึ่งมีคนมาดูหนังโป๊จำนวนมากถึง 200,000 คนเศษ ทั้งยังมีหญิงงามเมืองมาเป็นนางนกต่อ ขณะเดียวกันพฤติกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในโรงภาพยนตร์ ได้แก่ ผู้ชายแอบจูบผู้หญิงสาวในเวลาปิดไฟ 402 ราย ผัวเมียหยอกกันในโรงหนัง 640 ราย หนุ่มสาวลักพากันหนีในโรงภาพยนตร์ 85 ราย และหญิงสาวที่ถูกจูบจับตัวไม่ได้ 63 คู่ เป็นต้น
แม้จะเป็นการล้อเลียนการเติบโตของธุรกิจบันเทิงสมัยใหม่แต่ก็สะท้อนเค้ามูลของบริบทจริงๆแห่งยุคสมัยนั้นที่โรงภาพยนตร์ได้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของชายหญิงและกิจกรรมหวามหวิวระหว่างเพศเนืองๆ
วกกลับมาที่ ‘ยายแฟง’ ในความเห็นของผม การที่เธอมีอีกชื่อว่า ‘โป๊’ ทั้งยังประกอบอาชีพพัวพันกับเรื่องทางเพศอย่างโสเภณีย่อมชวนให้ลองครุ่นคิดว่าบางที ‘โป๊’ อันพอจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศอาจจะมาจาก ‘ยายแฟง’ หรือ ‘คุณแม่โป๊’ คนนี้รึเปล่า นี่ล่ะ! ประเด็นหนึ่งที่คงต้องติดตามแกะรอยต่อไป
จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้‘ยายแฟง’ หรือ ‘คุณแม่โป๊’ กลายเป็นตำนานตราบจนปัจจุบันก็เพราะเธอนำรายได้จากการตั้งโรงคณิกา (หรือโรงโสเภณี) มาสร้างวัดขึ้นตรงถนนพลับพลาไชยด้วยศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ผู้คนเลยพากันเรียกขานว่า ‘วัดใหม่ยายแฟง’ หรือ ‘วัดคณิกาผล’ และถ้าหากเราสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่า ‘โป๊’ ในความหมายเรื่องเพศมีจุดกำเนิดมาจากผู้หญิงธรรมดาๆ คนนี้ที่อาจมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยงดงามนักในสายตาสังคมสยาม แต่ก็ต้องนับว่าเธอเป็นบุคคลสลักสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความรับรู้ของคนไทยทีเดียว
ครับ นั่นคงพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวของผู้หญิงสามัญธรรมดา มิหนำซ้ำ ยังเป็นผู้หญิงที่ถูกตีตราจากสายตาสังคมให้เป็น ‘หญิงคนชั่ว’ เป็น ‘นางคณิกา’ เธอก็มีที่ทางและบทบาทในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยไม่แพ้ใครต่อใครเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- “แจ้งความหาตัวอำแดงโป๊,”กรุงเทพฯเดลิเมล์ 8, ฉ. 2153 (4 เมษายน 2460)
- ธนาพล ลิ่มอภิชาต. ““โป๊”…หมายถึงแค่ไหน?: การก่อตัวของแนวคิดและการถกเถียงเรื่อง“ลามกอนาจาร” ในสังคมไทย (ปลายทศวรรษ 2460 ถึงต้นทศวรรษ 2490).” ใน ถกเถียงเรื่องคุณค่า.กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2559, หน้า 511-564
- นรุตม์ (เรียบเรียง). ใต้ร่มฉัตร หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. กรุงเทพฯ: แพรวสานักพิมพ์, 2539
- ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517).กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง,2517
- “วลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย.. ยายมีขายเหล้า” กับวิวัฒนาการโรงโสเภณีกทม. 100 ปีก่อน” สโมสรศิลปวัฒนธรรม (วันเสาร์ที่ 1ธันวาคม พ.ศ. 2561) สืบค้นจาก www.silpa-mag.com เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561
- วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557
- สมบูรณ์ วิริยศิริ (เรียบเรียง). ชีวิตพิสดารของโทน บินดี จ้าวอากาศคนแรกของเมืองไทย. พระนคร: อุดม,2495
- สมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์),ขุน. พจนานุกรมกฎหมาย : บรรจุคำตั้งแต่โบราณกาลถึงปัจจุบันกาล สำหรับความสะดวกในผู้ใคร่ศึกษาและผู้ต้องการทราบ. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2474
- สีหศักดิ์สนิทวงศ์,พระยา.“โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ,” ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ. พระนคร : คุรุสภา, 2506
- เสฐียรโกเศศ. ฟื้นความหลังเล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2547
- “หนังสือพิมพ์อุตริภาพยนตร์”ภาพยนตร์สยาม1 ล. 4 (22 เมษายน 2465) อ้างถึงใน จิรวัฒน์ แสงทอง. ชีวิตประจำวันของชาวสยามในกรุงเทพ ฯ พ.ศ.2426 – 2475. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546. หน้า 183
- อ.สายสุวรรณ.“อักษรศิลป์กับลามกอนาจาร,” ใน อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 9, ฉ. 1.
- อัมพร หาญนภา. ประกายพรึก. พระนคร: คลังวิทยา,2506
- เอก วีสกุล (เรียบเรียง). การเดินเรือพาณิชย์ในประเทศไทย.พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพนายโป๊ ศราภัยวาณิช บิดา นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวาณิช) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันพุธที่ 27เมษายน พ.ศ. 2492