เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมานายกฯ ลุงตู่ได้ใช้อำนาจ (ที่ปล้นและเขียนขึ้นมาเอง) มาตรา 44 ร่วมกับมาตรา 256 ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 37/2560 โดยมีเนื้อความการเพิ่มอำนาจที่สำคัญคือ
“…เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ ให้สถาบันอุดมศึกษามีอํานาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดํารงตําแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดีคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้…
…ในการดําเนินการเพื่อให้มีสภาคณาจารย์ตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาให้คณาจารย์และบุคลากรอื่นของสถาบันอุดมศึกษานั้นซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์แต่เป็นข้าราชการหรือพนักงานของสถาบันอุดมศึกษานั้นมีสิทธิเลือกและดํารงตําแหน่งในสภาคณาจารย์ได้เช่นเดียวกัน…
…ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้…”[1]
ว่ากันง่ายๆ เลยก็คือ ประกาศนี้ให้อำนาจกับ คสช. อย่างเต็มที่ในการตั้ง ‘คนนอก’ เข้ามาดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด รวมไปถึงควบคุมในส่วน ‘สภาคณาจารย์’ ด้วย ที่บอกว่าเป็นอำนาจเต็มของ คสช. เพราะอำนาจสุดท้ายในการจะแย้งหรือแก้ไขการแต่งตั้งใดๆ อยู่ในมือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือหัวหน้า คสช. ด้วยนั่นเองครับ
หลังจากคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ถูกประกาศออกมา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2560 (1 วันหลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ก็มีปฏิกิริยาโต้กลับแทบจะในทันที โดยเฉพาะจากกลุ่มนักวิชาการที่มีท่าทีต่อต้านการรัฐประหารมาโดยตลอด อย่างการออกแถลงการณ์ค้านคำสั่งดังกล่าวของ 260 นักวิชาการ[2] ที่เรียกร้องให้ยุติการแทรกแซงเสรีภาพของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกัน ก็เป็นไปตามโผ ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ซึ่งชัดเจนและคงเส้นคงวาในการปวารณาตนอยู่ข้างทหาร แถมกำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีของตนแล้ว จะออกมาสนับสนุนการแทรกแซงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย ด้วย ม.44 นี้ อย่างออกหน้าออกตา[3]
การมีอธิการบดีเป็นคนนอก หรือแม้แต่เป็นทหารอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกมากมายอะไรในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง ก็มีทั้ง จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม (ที่มอบที่ดินจำนวนมากให้กับจุฬาฯ จนเอาไปแปรเป็นห้างฯ ร่ำรวยอู่ฟู่ แต่ไม่สนใจด้านการศึกษาหรือเสรีภาพอะไรมากนักอย่างในปัจจุบันนี้) และพลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นอธิการบดีมาก่อน แม้แต่ฝรั่งมังค่า ก็ยังเคยเป็นอธิการบดีจุฬาฯ มาแล้ว อย่าง ศ. เอ จี เอลลิส (พ.ศ. 2478 – 2479)[4] อย่างไรก็ดี ในความ ‘ไม่แปลก’ นี้ ไม่ได้แปลว่ามัน ‘ไม่ผิด’
ผมคิดว่ากรณีคำสั่ง คสช. ที่เกิดขึ้นนี้มันผิดอย่างร้ายแรง อย่างน้อยที่สุด 2 ประการ คือ (1) การไม่เข้าใจอุดมการณ์ตั้งต้นในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยของโลกนี้ (ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะจมปลักอยู่แต่ในกะลาของตนเอง ไม่พอยังภูมิใจในกะลาลวงโลกนี้อย่างเหลือแสน) และ (2) ความไม่เข้าใจความแตกต่างของวัตรปฏิบัติของโลกวิชาการ กับโลกการเรียนการปกครองแบบทหาร ที่มันแสนจะย้อนแย้งกัน และการปกครองด้วยความย้อนแย้งกันนี้เอง จะนำมาซึ่งความล้มเหลวอย่างหนักหน่วงยิ่งขึ้นต่อระบบการศึกษาไทย (แต่นั่นก็มีแนวโน้มจะเป็นสิ่งซึ่งทางคณะ คสช. คาดหวังให้เป็นด้วย)
สำหรับความผิดร้ายแรงประการแรงนั้น ก็อย่างที่คณาจารย์ทั้ง 260 คนว่าไว้นั่นแหละครับ มันคือเรื่องของ ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในโลกนี้กันเลยทีเดียว คืองี้ครับ มหาวิทยาลัยนั้น ตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศอิตาลี ณ เมืองโบโลญญ่า ในปี ค.ศ. 1088 หรือประมาณ 929 ปีมากแล้ว (ใช่ครับ มากกว่าอายุทางประวัติศาสตร์ประเทศไทยแบบอ้างเกินจริง ที่ชอบนับไปยันสุโขทัยอีกครับ) ชื่อมหาวิทยาลัยที่ว่าก็ตามชื่อเมืองเลยครับ University of Bologna
คำว่า University เองนั้น ก็เริ่มใช้ครั้งแรกมันที่นี่เลย โดยมาจากภาษาละตินคือคำว่า universitas ซึ่งย่อมาจากคำเต็มๆ อีกทีหนึ่งว่า Universitas Magistrorum et Scholarium ที่พอจะแปลได้ว่า “ชุมชนของอาจารย์และนักวิชาการ” นั่นเองครับ แม้ว่ามหาวิทยาลัยในยุคแรกโดยเฉพาะในอิตาลีจะพัฒนามาจากวิทยาลัยศาสนา (Cathedral Schools)[5] แต่หลักคิดเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานนั้นก็ ‘ขยับตัว’ ออกมาจากวิธีคิดแบบศาสนาที่ขึ้นตรงต่อคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า และพระคำภีร์มากทีเดียว
ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะในช่วงราวๆ ปี ค.ศ. 1155 – 1158 ณ มหาวิทยาลัยโบโลญญ่านี้เอง ได้ตั้งกฎบัตรของมหาวิทยาลัย (University charter) ขึ้น ที่เรียกกันว่า Constitutio Habita[6] กฎบัตรที่ว่านี้มีขึ้นเพื่อ ‘ประกัน’ เสรีภาพการเดินทางบนเส้นทางอันไร้ซึ่งการกีดขวางของนักวิชาการเพื่อการแสวงหาความรู้ ซึ่งต่อมา Constitutio Habita นี้เอง ก็ถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเสรีภาพทางวิชาการ เพราะ ‘การเดินทาง’ นั้นไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นการเดินทางเฉพาะแต่ในทางกายภาพเท่านั้น แต่การเดินทางในทางความคิดเพื่อความรู้ทางวิชาการก็เช่นเดียวกัน
จุดยืนดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับกันตลอดมา ทั่วโลก ถึงขนาดที่ในปี ค.ศ. 1988 มหาวิทยาลัยทั่วโลกรวม 430 แห่งได้ร่วมกันประกาศ Magna Charta Universitatum ขึ้นมา
เพื่อประกาศยืนยันในจุดยืนร่วมของมหาวิทยาลัยน้อยใหญ่ทั่วโลก ว่ามหาวิทยาลัยทั่วโลกยินที่ที่จะเปิดเสรีทางความรู้ รวมไปถึงตอกย้ำในจุดยืนเรื่องเสรีภาพทางวิชาการด้วย[7]
เพราะฉะนั้นแล้ว การมีประกาศแทรกแซงอำนาจในการบริหารแทบทุกตำแหน่งสำคัญในมหาวิทยาลัยของ คสช. นั้น มันจึงไม่ใช่แค่การผิดหรือบ้าอำนาจ แบบ ‘เฉพาะถิ่น’ ในกะลาแต่เพียงอย่างเดียวอะไรไป แต่การทำแบบนี้ มันเท่ากับเป็นการทำลายรากฐานการ ‘ถือกำเนิดและมีอยู่’ ของตัวมหาวิทยาลัยเองแต่แรกเริ่ม ว่ากันง่ายๆ ก็คือ หากจะมีประกาศแบบนี้ออกมา ก็เหมือนกับการประกาศปิดมหาวิทยาลัยนั่นเอง เพราะเหตุผลในการมีตัวตนอยู่ของมหาวิทยาลัยนั้นเท่ากับหมดสิ้นลง ฉะนั้นแล้วประกาศแบบนี้ มันจึงเป็นเพียงคำสั่งอันอุกอาจของคนที่แสร้งทำตัวหน้าบางลงเล็กน้อย ที่ทำการ “ประกาศยุบมหาวิทยาลัยในไทยในคราบของการไม่ยุบ” เท่านั้นเองครับ และสำหรับผมแล้ว นี่คือความผิดพลาดอันร้ายแรงประการที่หนึ่ง
สำหรับความผิดพลาดหรือความเลวร้ายประการที่สองของประกาศ คสช. ฉบับนี้ก็คือ ความขัดแย้งชนิดคนละฝาละตัวของ ‘วัตรปฏิบัติ’ ของวิธีคิดในด้านการศึกษาของสถาบันการศึกษาอบ่างมหาวิทยาลัย กับการให้การศึกษาแบบทหารนั่นเองครับ (แน่นอนว่าคำว่า ‘ผู้บริหารคนนอก’ นั้น ไม่จำเป็นว่าคนนอกจะต้องเป็นทหาร แต่อย่างน้อยก็คือคนที่ ‘ทหาร’ หรือ คสช. เห็นชอบด้วยอยู่ดี)
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่ามหาวิทยาลัยนั้น แม้แรกเริ่มเดิมทีจะพัฒนามาจากวิทยาลัยศาสนา แต่หลังจากก่อตั้งมาได้ราว 70 ปี ก็ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนของตนเองในฐานะสถาบันที่แยกออกจากโครงสร้างทางวิธีคิดแบบทางศาสนา นั่นคือมหาวิทยาลัยได้กลายเป็นหัวหอกในการขยายพรมแดนความรู้ใหม่ และการตั้งคำถามโดยเฉพาะในดินแดนซึ่งยังไม่มีคำตอบที่พิสูจน์ได้ หรือบ่อยๆ ครั้งในพื้นที่ซึ่งอันตรายเสียยิ่งกว่าอย่างพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ หรือความรู้ที่ห้ามไม่ให้มีการถาม
ระบบโครงสร้างที่เป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย และเป็นรากฐานทางความคิดนี้เองที่ทำให้มหาวิทยาลัยมีที่ยืนที่ชัดเจนของตนเอง เพราะหากมหาวิทยาลัยอิงอยู่กับระบบโครงสร้างของคำสอนที่ไม่ต้องการการพิสูจน์ อาศัยแต่เพียงความศักดิ์สิทธิ์เป็นฐานของความเป็นจริงไปวันๆ โดยไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม เพราะคำสอนของพระผู้เป็นเจ้านั้นย่อมถูกต้องเสมอ ย่อมจริงอย่างเป็นนิรันดร์ เช่นนั้นการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยก็จะไม่มีความหมายเลย คำว่า ‘มหาวิทยาลัย’ ก็จะกลายเป็นเพียงทางเลือกในการตั้งชื่อ ‘ศาสนาสถาน’ แบบใหม่เท่านั้น เพราะหากไม่มีความต่างที่ว่านี้ University of Bologna ก็จะมีค่าเท่ากับ Bologna Cathedral สาขา 2 เท่านั้น
ฉะนั้นแล้วโครงสร้างทางความคิดอันเป็นรากฐานจึงสำคัญมากในการกำหนดตัวตนของสถาบันนั้นๆ
ถึงขนาดที่ว่าหากสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย จะยังคงอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของตัวตึกปูน อาคารเรียน ไปจนถึงการก้มกราบรูปปั้น ประหนึ่งศาสนาสถานแล้ว ก็ไม่สมควรจะสมอ้างเรียกตัวเองว่าเป็นมหาวิทยาลัยอีกต่อไป
แต่ควรทำอย่างที่อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้เคยว่าไว้คือ หากจะบ้าความศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ ก็ควรจะ “เลิกเรียนเสียเถอะ แล้วไปบวชซะ”[8] ทั้งนี้เพราะความสำคัญของโครงสร้างวิธีคิด อันนำมาสู่วัตรปฏิบัติของสถาบันแต่ละที่มันสำคัญขนาดนี้แหละครับ ฉะนั้นโครงสร้างทางความคิดที่มันไม่ลงรอยกัน มันขัดแย้งกันแต่แรก จึงไม่สามารถจะนำมาจับยัดบังคับสวมใส่ แล้วหน้าทนเรียกตัวเองด้วยชื่อนามตามเดิมต่อไปได้
กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับคำสั่งใช้ ม.44 แทรกแซงตำแหน่งบริหารของมหาวิทยาลัยนี้ก็เช่นเดียวกัน เราต้องเข้าใจก่อนว่าโดยเนื้อแท้ โดยแก่นทางความคิดแล้ว โครงสร้างทางความคิดอันเป็นวัตรปฏิบัติหลักของมหาวิทยาลัยคือ การขยายขอบฟ้าทางความคิดของผู้เข้ารับการศึกษา โดยเสรีที่สุด ไร้ซึ่งข้อจำกัด ข้อผูกมัดที่สุด (ส่วนอาจารย์แต่ละคนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ระบบจะส่งเสริมขนาดไหนนั้น ก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป และค่อยๆ พัฒนากันไป) ในขณะที่ระบบคิดเรื่องการศึกษาในทางการทหารนั้น เน้นความเคร่งครัดที่มีต่อสายบังคับบัญชา โดยไม่สนใจเหตุผลและการทำความเข้าใจใดๆ ผู้บังคับบัญชาสั่ง คือ ทำตามไว้ก่อน ไม่ว่าจะเห็นว่าไร้เหตุผล หรือคำสั่งนั้นมันผิดปานใดก็ตาม เพราะหากเค้าสั่งแล้วเราไม่ทำตาม ต่อให้มันเป็นคำสั่งที่ผิด เราก็ผิดอยู่ดี ว่ากันง่ายๆ ก็คือ ระบบโครงสร้างทางการศึกษาและวัตรปฏิบัติของโลกทหารคือ การห้ามคิด ห้ามถาม แต่เน้นสอนให้คนทำตาม เพื่อไปตายแทนผู้ออกคำสั่ง หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าสมควรได้ในท้ายที่สุด
กล่าวอย่างถึงที่สุด การฝึกทหาร คือ ระบบการสร้างหุ่นยนต์ที่คิดไม่เป็นนั่นเอง รอฟังและทำตามคำสั่งของผู้ปกครองต้อยๆ แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างวิธีคิดที่ตรงกันข้ามกับมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง
การพยายามนำการทหารมาครอบงำโลกวิชาการและการศึกษาจึงเป็นความคิดที่ผิดอย่างอุกอาจ และจะนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบการศึกษาอย่างชัดเจน
แต่ก็ไม่แน่คำสั่ง คสช. ดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นจากความพยายามที่จงใจจะเปลี่ยน ‘คน’ ในประเทศนี้ ให้กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ฟังคำสั่งผู้ปกครองอย่างมิปริปากท้วงใดๆ เลยก็เป็นได้ ก็เลือกกันเอาเถอะครับว่าจะอยู่กันอย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู library2.parliament.go.th
[2] โปรดดู www.matichon.co.th
[3] โปรดดู www.thairath.co.th
[4] โปรดดู www.memocent.chula.ac.th
[5] โปรดดู Charles H. Haskins, “The Life of Medieval Students as Illustrated by Their Letters” in The American Historical Review.
[6] โปรดดู W. Ruegg, “Mythologies and Historiography of the Beginnings”, pp 4 – 34 in H. De Ridder-Symoens, ed., A History of the University in Europe.
[7] โปรดดู www.magna-charta.org
[8] โปรดดู prachatai.org