คณะกรรมการรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) เพิ่งแถลงข่าวผลการคัดเลือกรอบสุดท้าย หรือ Short List ประเภทนวนิยายประจำปีพุทธศักราช 2561 จำนวน 8 เรื่องไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา บรรดาหนังสือที่เข้ารอบมาทั้งหมดนั้น มีอยู่เล่มหนึ่งซึ่งผมรู้สึกสะดุดตาต่อความคิดเห็นจากคำประกาศของกรรมการ และนั่นจึงกลายมาเป็นข้อเขียนว่าด้วยเรื่องราวที่คนเสพสมกับสุนัขในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย
คนในนิทาน ผลงานของ กร ศิริวัฒโณ คือนวนิยายที่ผมเอ่ยถึง ธเนศ เวศร์ภาดา กรรมการผู้หนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า
“คนในนิทาน ของกร ศิริวัฒโณเสนอเรื่องราวการขับเคี่ยวระหว่างเทิ้มทด ผู้เป็นพ่อตา กับกริชผู้เป็นลูกเขย เพราะกริชได้ล่วงรู้ความลับว่าเทิ้มทดเสพสมกับสุนัข ความลับอันน่าอัปยศนี้กลายเป็นอาวุธที่ทิ่มแทงและต่อรองกับเทิ้มทดอย่างเจ็บแสบ และเสนอเรื่องราวของดำกฤษณาระหว่างกริชกับนิ่มน้อย ผู้เป็นแม่ยาย กับดอกแดง ผู้เป็นน้องเมีย ทุกคนตกหลุมพรางของสัญชาตญาณมืด นำไปสู่ความรู้สึกผิดบาป และกรีดริ้วเป็นบาดแผลลึก…”
ขอสารภาพ ผมเองยังไม่เคยอ่านงานเขียนชิ้นนี้ แม้จะผ่านตาปกหนังสือมาแล้วหลายหน เพียงบังเอิญเห็นความลับของตัวละครเทิ้มทดในเรื่องที่ ‘เสพสมกับสุนัข’ ก็เลยนึกปรารถนาใคร่หามาบำเรอสายตาเสียครามครัน อ้อ มิใช่ผมจะหมกมุ่นอะไรกับลักษณะพฤติการณ์ทางเพศทำนองอย่างว่าหรอกครับ แต่ผมสนอกสนใจเหลือเกินถึงประเด็นการนำเสนอความสัมพันธ์เชิงกามารมณ์ระหว่างคนกับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมไทยนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
การที่นักเขียนไทยสร้างเรื่องให้ตัวละครร่วมเพศกับสุนัขเริ่มถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและทศวรรษ 2490
ยุคนั้น งานเขียนเรื่องเพศและกามารมณ์พรั่งพรูอย่างยิ่งยวด อาจเพราะภาวะเก็บกดช่วงบ้านเมืองกลายเป็นสมรภูมินานหลายปีเลยทำให้คนยึดเอาเรื่องเพศเป็นเครื่องระบายความตึงเครียด หลายแนวคิดเช่นกันที่อธิบายว่าสงครามได้ทำลายศีลธรรมของผู้คนเสื่อมสูญไปมากพร้อมๆ กับบังเกิดพฤติกรรมทางเพศแสนชั่วช้า ซึ่งสำแดงออกมาในรูปแบบของเรื่องอ่านเล่นเชิงวาบหวิว หรือที่เรียกว่า ‘เรื่องโป๊ๆ เปลือยๆ’ ทั้งบนดินและใต้ดิน และข่าวสารอาชญากรรมกระทำชำเราดาษดื่นตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์
เพศสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ต่อดูไม่ดีอย่างไรก็พอจะยกข้ออ้างฟังขึ้นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ในช่วงทศวรรษ 2490 กลับมีการนำเสนอเรื่องเพศสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ กลายเป็นลักษณะที่คนในสังคมนิยามว่ามีความวิตถารทางเพศ วรรณกรรมชิ้นเอกที่ถูกกล่าวขวัญจนตกตะลึงไปทั่วแวดวงบรรณพิภพและนำไปสู่ข้อถกเถียงประเด็น ‘ลามกอนาจาร’ เห็นจะมิพ้นเรื่องสั้น สัญชาตญาณมืดที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารสยามสมัย เมื่อปีพุทธศักราช 2493 นำเสนอพฤติกรรมที่ตัวละครหญิงกับสุนัขอัลเซเชียนมีเพศสัมพันธ์กันในตอนท้ายเรื่อง แม้จะไม่ได้แสดงให้เห็นโจ่งแจ้ง เป็นเพียงบอกนัยๆ แต่ก็ถือได้ว่าสร้างความตื่นตะลึงจนต้องมีการนัดกันของ ‘ชมรมนักประพันธ์’ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2493 เพื่อจัดอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องสั้นนี้ในประเด็นเป็นลามกอนาจารหรือไม่
สัญชาตญาณมืดกล่าวถึงสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มีบ้านตั้งอยู่ถนนประชาธิปัตย์ (ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นถนนพหลโยธิน) ดำเกิงผู้เป็นสามีป่วยเป็นวัณโรคจนภรรยาอย่างแดงต้องแยกห้องนอน แน่ล่ะ ทั้งสองย่อมมิได้ประกอบกามกิจกันเลย ต่อมาเพื่อนของดำเกิงได้มาพักที่บ้านพร้อมกับหญิงสาวของเขา ทั้งสองแสดงบทรักเร่าร้อนเปิดเผย ส่งผลให้แดงอดมีความรู้สึกทางเพศขึ้นมามิได้ เมื่อสุดจะทนกลั้น เธอจึงปลดปล่อยสัญชาตญาณมืดของตนออกมา นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ดำเกิงต้องฆ่าเมียของเขาเสีย ในตอนท้ายเรื่องสั้นเฉลยว่าแดงได้ร่วมเพศกับสุนัขอัลเซเชียน
เนื้อหาทั้งหมดที่เล่ามาเกิดจากปลายปากกาของ อ. อุดากร ครั้นเรื่องสั้นนี้ออกเผยแพร่ได้มีนักอ่านเขียนจดหมายมาถึงกองบรรณาธิการนิตยสารสยามสมัยจำนวนมาก หลายฉบับส่งเสียงตำหนิว่าทำไมลงพิมพ์เรื่องลามกอนาจาร
ทางด้านข้อคิดเห็นในที่ประชุมสมาชิกชมรมนักประพันธ์ นักคิดนักเขียนบางส่วนมองว่า อ.อุดากร เขียนงานด้วยความจงใจจะเปิดเผยเรื่องเพศแนวจิตวิทยาเพื่อสะท้อนตัวตนมนุษย์เสียมากกว่ามุ่งบรรยายเรื่องราวหมิ่นเหม่ศีลธรรมอันดี กระนั้น ขณะนักคิดนักเขียนอีกส่วนก็ไม่เห็นพ้องต่อการมีอยู่ของ สัญชาตญาณมืด เฉกเช่นคนหนึ่งคือลิ่วละล่อง บุนนาคได้แสดงความเห็นว่าเรื่องสั้นดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อศีลธรรมของประชาชน อ. อุดากรไม่ควรเขียนและนิตยสารสยามสมัยก็ไม่ควรลงพิมพ์ให้ โดยอ้างว่า “เรื่องนี้เกี่ยวกับศีลธรรมของประชาชนจึงเป็นสิ่งน่าคิด ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นเรื่องไม่ผิดจากความจริงแล้วก็นำลงได้เสมอไปเพราะสยามสมัยไม่ใช่วรรณกรรมพิมพ์ดีด แต่เป็นหนังสือชั้นสูง จึงน่าคิดว่าเหมาะสมแล้วหรือที่ได้ลงเรื่องชนิดนี้”
ใจความข้างต้นบ่งบอกทัศนคติปัญญาชนในทศวรรษ 2490 ที่จัดวางงานเขียนนำเสนอเรื่องเพศและกามารมณ์เป็นหนังสือชั้นต่ำและขัดต่อศีลธรรม
คงไม่เป็นการกล่าวอ้างเสียจนเกินไป ถ้าจะเรียก สัญชาตญาณมืด ของ อ.อุดากรอย่างเต็มปากเต็มคำในฐานะหมุดหมายแรกๆ ของวรรณกรรมที่ให้ตัวละครร่วมเพศกับสุนัข มิหนำซ้ำ ชื่อเรื่องสั้นยังกลายเป็นคำกล่าวที่ใช้สื่อความหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศระหว่างคนกับสัตว์ตราบจนปัจจุบัน ดังความเห็นของ ธเนศ เวศร์ภาดาบางตอนที่ว่า “ทุกคนตกหลุมพรางของสัญชาตญาณมืด…”
หาก สัญชาตญาณมืด จัดเป็นงานเขียนที่เผยแพร่ในโลกบนดินได้ เอ้า! แล้ว ‘วรรณกรรมพิมพ์ดีด’ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ‘หนังสือปกขาว’ที่นำเสนอพฤติกรรมร่วมเพศโจ่งแจ้งหนักหน่วงยิ่งไปกว่าล่ะ มีการสร้างตัวละครให้ร่วมเพศกับสุนัขบ้างรึเปล่า? ก็แน่นอนสิครับ เท่าที่ผมเคยอ่าน ขอยกตัวอย่างมาเย้ายวนสักเรื่องหนึ่งได้แก่ สองหม้ายกระหายโลกีย์ผลงานของผู้ใช้นามแฝงว่า รัมภา บอกเล่าถึงน้อมจิตรและสุจิตราสองหญิงหม้ายวัยกลางคนที่ได้ร่วมเพศกับสุนัขพันธุ์ไทยของชายหนุ่ม โอ้โห!เน้นถ้อยคำสำนวนภาษาตรงไปตรงมาแบบไม่อ้อมค้อม
ภายหลังจากเรื่องสั้นของ อ.อุดากร ในช่วงทศวรรษ 2490 ยุคถัดต่อมา นักเขียนไทยหลายคนยังพยายามหยิบยกพฤติกรรมคนร่วมเพศกับสุนัขมาดำเนินเรื่องอยู่หลายชิ้น เป็นต้นว่า สยุมภู ทศพล นักเขียนแนวสงครามบู๊ล้างผลาญก็เคยเขียนนวนิยายให้ภาพการร่วมเพศอย่างว่าของตัวละครหญิงฝรั่งในเขตสมรภูมิเรื่อง เลือดท่วมปฐพีที่แม่น้ำงึม ส่วนมานพ ถนอมศรี รวมถึงมานพ ถนอมศรี ก็เขียนเรื่องสั้นถึงการแสดงโชว์ของผู้หญิงที่ร่วมเพศกับสุนัขเช่นกันคือเรื่อง เมถุน-สังวาส ตีพิมพ์ราวๆ ปีพุทธศักราช 2526 สำหรับเรื่องสั้นชิ้นหลังถ้าคุณผู้อ่านสนใจใคร่ศึกษา เร็วๆ นี้จะมีหนังสือชื่อ วรรณกรรมวิจารณ์ แนวคิดและปฏิบัติการผลงานของพิเชฐ แสงทอง ออกมา ในเล่มมีบทความวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างงานเขียนของ อ. อุดากร กับงานเขียนของ มานพ ถนอมศรี คือ ‘เซ็กส์กับสัตว์ จากสัญชาตญาณมืดสู่สัญชาตญาณสว่าง’ ก็ลองหาอ่านดูกันเถอะครับ
วกกลับมายังหนังสือนวนิยายเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปีพุทธศักราช 2561 อย่างเรื่อง คนในนิทาน กรรมการผู้ให้ความเห็นยังเสริมอีกว่า “ความคิดสำคัญของเรื่องมุ่งเสนอให้เห็นว่าความปรารถนาทางเพศไม่ได้ดำรงอยู่อย่างอิสระ ไม่ใช่สัญชาตญาณที่ใครใคร่สำแดง โดยตัดขาดจากกรอบค่านิยม ศีลธรรม จรรยา ของสังคมได้…” นี่คงเป็นเหตุผลในข่ายเดียวกันกับที่ทำให้เรื่องสั้นสัญชาตญาณมืด แผ้วพานจากการตีตราว่าลามกอานาจารและสามารถยืนหยัดบนหน้ากระดาษอยู่ได้อย่างมั่นคงเรื่อยมากระมัง
อีกข้อพึงสังเกตคือ วรรณกรรมหลายชิ้นที่ผมพาดพิง ไม่ว่าจะเป็นของ อ. อุดากร, รัมภา, สยุมภู ทศพล และมานพ ถนอมศรี ล้วนกำหนดให้ตัวละครผู้หญิงร่วมเพศกับสุนัข แต่ในงานของกร ศิริวัฒโณกลับให้ตัวละครชายนามเทิ้มทดเป็นฝ่ายร่วมเพศกับสุนัข บางที ตรงจุดนี้อาจจะวิเคราะห์แตกประเด็นอะไรไปได้อีกกว้างขวางทีเดียว
ช่างน่าลุ้นและคอยจับตา นวนิยายเรื่องใดหนอ? จะคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) ประจำปีนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดเพียงแค่ได้อ่านความคิดเห็นของกรรมการต่อเรื่อง คนในนิทานของกร ศิริวัฒโณ ที่มีประเด็น ‘เสพสมกับสัตว์’ ก็ชักนำให้ผมหวนระลึกประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยแล้วสาธยายให้คุณผู้อ่านเพลิดเพลินหลายบรรทัดเลยเชียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- เชฐ แสงทอง. วรรณกรรมวิจารณ์ แนวคิดและปฏิบัติการ. กรุงเทพฯ: คมบาง, 2561
- รัมภา. สองหม้ายกระหายโลกีย์.ม.ป.ท., ม.ป.ป.
- วิลาศ มณีวัต.”ชมรมนักประพันธ์ที่ “วิกสีลม”,ใน โลกหนังสือ 4,7 (เมษายน 2524),หน้า 80-81
- สยุมภู ทศพล. เลือดท่วมปฐพีที่แม่น้ำงึม.กรุงเทพฯ: ผ่านฟ้าพิทยา, 251
- อ.อุดากร.“สัญชาตญาณมืด,” ใน ตึกกรอสส์. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : อ่านไทย,2533.