แล้วโศกนาฏกรรมกลางท้องทะเลก็เกิดขึ้นอีกครั้ง
ข่าวคราวที่แว่วมาต้นเดือนกรกฎาคมชวนรู้สึกสะทกสะเทือนใจ อุบัติเหตุเรือนักท่องเที่ยวอับปางกลางทะเลอันดามันในเขตจังหวัดภูเก็ตส่งผลร้ายแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย ครั้นพอมองย้อนเข้าไปในโฉมหน้าประวัติศาสตร์แล้ว เคยปรากฏเรือล่มในท้องทะเลไทยนับแต่อดีตจวบปัจจุบันอยู่หลายต่อหลายหนและสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง ในข้อเขียนนี้ใคร่จะหยิบยกกรณีการประสบภัยทางน้ำที่โด่งดังแห่งวันวานมาสาธยายแก่คุณผู้อ่าน โดยเฉพาะเรือลำหนึ่งที่จมลงสู่ก้นอ่าวไทยช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยินเสียงเรียกขานเปรียบเปรยประหนึ่ง ‘ไททานิกของเมืองไทย’ ยานนาวาลำนั้นได้แก่ เรือ ‘นิภา’
เท่าที่ผมค้นคว้าหลักฐานเกี่ยวกับการอับปางของเรือในท้องทะเลไทยย้อนไปเกินกว่า 100 ปีก่อน ส่วนใหญ่มักพบบันทึกถึงเรือล่มทางฝั่งอ่าวไทยเสียมากกว่าฝั่งอันดามัน สำหรับเรือลำแรกที่จะขออนุญาตเล่าถึงคือ เรือกลไฟโดยสาร ‘บางเบิด’
พฤษภาคม ปีพุทธศักราช 2456 ‘บางเบิด’ ถอนสมอออกจากกรุงเทพมหานครแล่นลำสู่ท้องทะเล หัวเรือบ่ายหน้าไปยังอ่าวบ้านดอน ไม่มีใครบนเรือคาดนึกหรอกว่ายานนาวาจะอับปางลงกลางท้องทะเล แน่นอนมีผู้เสียชีวิตหลายราย แต่ก็มีผู้รอดชีวิตด้วย ‘ฝ้าย’ ลูกเสือโทหนุ่มวัยสิบสี่แห่งกองร้อยที่ 1 มณฑลชุมพรเป็นคนหนึ่งที่มัจจุราชมิอาจเกี้ยวพาราสีลมหายใจไปสำเร็จ เขากำลังเดินทางหวนคืนบ้านเกิดเมืองนอนพร้อมกับยาย เอาล่ะ ลองฟังน้ำเสียงจากคำให้การของฝ้ายสักหน่อย
“ด้วยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2456 ข้าพเจ้ามีกิจธุระเข้าไปในกรุงเทพฯ กับยาย เวลาขากลับได้โดยสารเรือกลไฟชื่อ ‘บางเบิด’ ออกมา เผอิญเรือ ‘บางเบิด’ เกิดอันตรายล่มลงกลางทะเล ก่อนเมื่อเรือบางเบิดจะจมนั้น ข้าพเจ้านอนหลับอยู่ ยายปลุกตื่นขึ้นเห็นเรือเอียงไปทางแคมขวา ข้าพเจ้าจะไปทางแคมซ้าย คนแน่นไปไม่ได้ ในทันใดนั้น เรือ ‘บางเบิด’ คว่ำลงกลับคืนตัวไม่ได้ ข้าพเจ้าก็ดำน้ำออกจากดาดฟ้า แต่ดำไปติดรั้วเหล็กที่แคมเรือ ได้พยายามดิ้นรนจนกางเกงหลุดจึงออกไปได้ เมื่อข้าพเจ้าโผล่ขึ้นจากน้ำเห็นยายและคนอื่นๆ เกาะอยู่ที่สายระยาง จึงว่ายน้ำไปเกาะสายระยางบ้าง เรือ ‘บางเบิด’ ได้จมน้ำลงไปทุกที จนเกาะสายระยางอยู่ไม่ได้อีกแล้ว ก็พากันไปเกาะที่เสากระโดง ถ้าว่ายน้ำไม่เป็นก็เลยจมน้ำหายไป เป็นดังนี้อยู่บ่อยๆ จนคนที่เกาะเสากระโดงเบาบางลงมาก ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ถ้าขืนเกาะเสากระโดงอยู่อย่างนี้ ชีวิตข้าพเจ้าและยายคงไม่รอด จึงได้คอยมองดูสิ่งที่ลอยน้ำมา พอแลเห็นไม้ท่อนหนึ่งลอยมาก็ดีใจ จึงว่ายออกไปจะเก็บไม้ท่อนนั้นมาให้ยาย ว่ายไปยังไม่ทันถึง ยายก็เรียกกลับมาเสีย เพราะกลัวว่าข้าพเจ้าจะจมน้ำตาย คลื่นใหญ่ชัดมาอีก ข้าพเจ้ากับยายก็หลุดจากเสากระโดงจมน้ำไป เมื่อข้าพเจ้าทะลึ่งโผล่ขึ้นมาเกาะเสากระโดงอีก มองหายายไม่เห็น ก็นึกว่ายายจมน้ำตายเสียแล้ว มีความสงสารยายเป็นที่สุด แล้วมาคิดหักใจเสียว่า ถึงวาระแล้วจำต้องตายทุกรูปทุกนาม แต่ถึงอย่างไรก็ดี เมื่อยังมีชีวิตอยู่จำต้องพยายามไปจนสุดกำลัง เมื่อข้าพเจ้าคิดดังนี้แล้วก็คลายความทุกข์โทมนัส และตัดความอาลัยในชีวิตของตน พอมีคลื่นใหญ่ซัดมาอีก ต่างคนต่างก็หลุดจากเสากระโดงไป ข้าพเจ้าก็หลุดจากเสากระโดงไปอีก ได้พยายามจะว่ายเข้าไปเกาะเสากระโดงอีกก็เกาะไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่เกาะเต็มไปหมด จึงเกาะสายระยางที่ปลายเสาไว้พอประทังไม่ให้จมน้ำ ขณะนั้นเผอิญเท้าไปเหยียบถูกกางเกงซึ่งพันติดอยู่กับสายระยางตัวหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ดำลงไปแก้เอาขึ้นมาทำโป่งให้พยุงตัวลอยน้ำ แล้วก็ออกจากเสากระโดงว่ายน้ำไปในกลางทะเล เพราะคิดเสียว่าถึงจะขืนเกาะอยู่ที่เสากระโดงก็คงตาย แต่ถ้าว่ายไปบางทีอาจจะรอดอันตรายได้บ้าง ขณะที่ว่ายไปกลางทะเลไกลจากเรือมากแล้ว ผ้ากางเกงที่ทำโป่งขาด อาศัยต่อไปไม่ได้ก็ทิ้งเสีย แล้วพยายามจะว่ายไปที่เสากระโดงอีก แต่เป็นเวลากลางคืนไม่ทราบว่าเสากระโดงอยู่ที่ไหน เป็นอันหมดปัญญาต้องว่ายไปสุดแต่บุญกรรม เมื่อข้าพเจ้าว่ายไปได้พักหนึ่ง แลเห็นผ้าทุ่นลอยมา 2 ผืน ห่างกันมาก ได้พยายามว่ายไปเก็บได้ทั้งสองผืน แล้วซ้อนกันเข้า อาศัยเกาะบ้างขี่บ้าง ในเวลานั้นกำลังอ่อนเพลียลงไปมาก ข้าพเจ้าเอาศีรษะคาดกับผ้าทุ่นเผลอตัวไปพักหนึ่ง…”
แม้จะต้องพยายามเอาชีวิตตนให้รอด หาก ‘ฝ้าย’ ก็ได้ก่อวีรกรรมสำคัญ เขาช่วยชีวิตชายชราและเด็กหญิงให้รอดพ้นอันตรายจากเรืออับปางกลางทะเลถึง 2 คน ดังลูกเสือหนุ่มเล่าว่า “ครั้นรู้สึกขึ้นได้ยินเสียงเจ๊กร้องให้ช่วย จึงรู้ว่าว่ายเข้ามาใกล้เรืออีก และนึกสงสัยว่ายายยังไม่ตาย ได้พยายามว่ายเข้าไปที่เรือเพื่อจะไปรับยาย เห็นมีคนเกาะอยู่ที่เสากระโดง 4-5คน เมื่อไม่เห็นยายก็ว่ายต่อไป ขณะนั้นมีเด็กหญิงคนหนึ่งอายุราว 13 ปี บ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ว่ายน้ำออกมากอดคอจะขออาศัยเกาะไปด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงมีจิตกรุณาสงสาร ก็แบ่งผ้าทุ่นให้เด็กหญิงคนนั้นผืนหนึ่ง และมีตาแก่คนหนึ่งว่ายน้ำออกมาขออาศัยเกาะไปด้วย ข้าพเจ้าก็ยอมให้ตาแก่นั้นเกาะไปด้วย แล้วว่ายน้ำไปด้วยกัน 3 คน ครั้นรุ่งสว่างมีเรือกำปั่นไฟผ่านมาลำหนึ่ง ได้รับไปขึ้นเกาะสีชัง แล้วเดินทางเข้าไปในกรุงเทพฯ”
ทั้งหมดคือถ้อยคำที่ลูกเสือโทฝ้ายได้รายงานเสนอต่อราชบุรุษ นายพัฒน์ ผู้กำกับลูกเสือไชยาในวันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2456 อาจจะยืดยาวไป แต่ผมเล็งเห็นคุณประโยชน์จากอุทาหรณ์ข้างต้น อีกทั้งปัจจุบันหาอ่านเรื่องนี้ได้ยากยิ่งแล้ว จึงตั้งใจคัดลอกมาจัดวางให้คุณผู้อ่านเลาะสายตา
ผลแห่งวีรกรรมในการช่วยเหลือคนอื่นจนพ้นภัยของลูกเสือหนุ่ม เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญ ‘ราชนิยม’ แก่ฝ้ายเพื่อเป็นเกียรติยศ ต่อมาเขาได้เข้ารับราชการเป็นครูและมีบรรดาศักดิ์ขุนวรศาสนดรุณกิจ มิหนำซ้ำ ท่านขุนยังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีคนแรกในการเลือกตั้งครั้งแรกสุดของไทยในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476
คราวนี้มาว่ากันถึงเรือ ‘นิภา’ ซึ่งใช้พระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อเรือ
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 แล้ว เจ้าฟ้านิภานภดลได้ตัดสินพระทัยเสด็จออกไปประทับ ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียพร้อมกับครอบครัวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสิ้นพระชนม์ที่นั่นในปีพุทธศักราช 2478 อย่างไรก็ดี เรือ ‘นิภา’ ยังคงแล่นลำคู่ท้องทะเลอ่าวไทยในฐานะเรือกลไฟเดินเมล์ฝั่งตะวันออกของบริษัทเรือไฟไทยจำกัด ตราบจนอับปางลงปลายทศวรรษ 2480 โฆษณาในหนังสือพิมพ์ประชาชาติช่วงเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2477 กล่าวถึงเรือ ‘นิภา’ ว่า “ออกทุกวันพุธเวลาเที่ยงไปศรีราชา, เกาะสีชัง, ระยอง, ประแสร์, จันทบุรี, เกาะช้าง,ตราษ, วันยาว และท่าอื่นๆ” ทั้งยัง “เปนเรือสายที่เหมาะที่สุดสำหรับการเที่ยวตากอากาศทางทะเลเพื่ออนามัยของท่าน จะเที่ยวไปในเรือหรือจะพักบนฝั่งขึ้นเที่ยวบนบกด้วยก็ได้ทั้งสองประการ”
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทย (พุทธศักราช 2484-2488) เรือ ‘นิภา’ ซึ่งปกติแล่นสัญจรไปมากรุงเทพ-ท่าแฉลบ ก็ได้ถูกดัดแปลงเป็นเรือโดยสารแล่นไปกลับกรุงเทพฯ-สิงค์โปร์ ช่วงปลายภาวะสงคราม ทางฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาโปรยทุ่นระเบิดลงท้องทะเลอ่าวไทยเพื่อทำลายเรือสินค้าญี่ปุ่น แต่แล้ววันหนึ่ง เรือ ‘นิภา’ ที่แล่นลำมาพร้อมผู้โดยสารมาจากสิงค์โปร์ประมาณ 90 กว่าคน พอเข้าเขตอ่าวไทยพลันโดนทุ่นระเบิดตรงกลางลำค่อนไปทางปล่องไฟจนเรือพินาศอับปางลงกลางทะเลลึก ผู้โดยสารทั้งหมดไม่หลงเหลือใครมีชีวิต
วันสงกรานต์ปีพุทธศักราช 2560 ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณภราดร ศักดา นักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์เจ้าของผลงาน ‘เสน่ห์นางงิ้ว’ เพื่อเก็บข้อมูลมาเขียนวิทยานิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย แต่กลับได้ฟังเรื่องเล่าสนุกๆ อันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเรือ ‘นิภา’ อย่างละเอียดลออด้วย ซึ่งภายหลังคุณภราดรได้นำสิ่งที่เล่าให้ผมฟังมาเขียนไว้ในหนังสือ ‘เมืองสามสมุทร’ แน่นอนว่าคุณภราดรย่อมรู้จักเรือกลไฟลำนี้ดี เพราะสมัยหนุ่มๆ เคยไปร่วมกู้เรือนิภากับเรืออ่างหินที่จมขวางร่องน้ำ รับค่าจ้างวันละ 100 บาท แท้จริง ภายหลังเรือ ‘นิภา’ ถูกทุ่นระเบิดล่มลง เจ้าหน้าที่ทางการได้พยายามกู้เรือขึ้นมาแล้ว แต่พอลากลำเรือมาถึงบริเวณร่องน้ำลึกซึ่งเคยมีเรือ ‘อ่างหิน’ จมอยู่เดิม อยู่ดีๆ ลวดสลิงที่ใช้ลากก็ขาดทำให้เรือนิภาจมลงไปอีกหน มิหนำซ้ำยังลงไปขวางร่องน้ำ
คุณภราดรยังเล่าถึงผู้จัดการเรือ ‘นิภา’ เป็นผู้หญิงและเธอก็เสียชีวิตในเหตุการณ์เรือล่ม จนเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าในยามดึกดื่น วิญญาณของผู้จัดการหญิงจะมาปรากฏให้คนที่ผ่านไปมาเห็นร่างเพียงครึ่งตัวท่อนบน เพราะท่อนล่างถูกระเบิดขาดไป คุณภราดรไม่เคยเจอผี เคยแต่หย่อนเบ็ดแล้วได้ปลาดุกทะเลตัวขนาดเท่าโคนขาตรงจุดที่เรือ ‘นิภา’ ขวางร่องน้ำอยู่ ครั้นพอจะเอามาต้มกับผักกาดดอง กลับได้กลิ่นเหม็นคาวมากๆ จนต้องเททิ้ง
ก็ในเมื่อเรือ ‘นิภา’ และเรือ ‘อ่างหิน’ ขวางร่องน้ำอยู่ พอน้ำลงจึงทำให้เรือสินค้ายากจะเดินทางผ่านเข้ามาส่งของยังท่าเรือคลองเตย ต้องจอดเรือรอน้ำขึ้นเป็นแถวยาว ท้ายสุดทางการเลยมาดหมายแก้ปัญหาด้วยวิธีขุดร่องน้ำให้ลึก โดยเรือที่จะมาขุดนั้นทางสหรัฐอเมริกาจัดส่งมอบมา และเป็นเรือลำสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์กบฏปลายเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2494 ‘แมนฮัตตัน’ คือชื่อเรือลำนั้น
ความเลื่องลือชื่อก้องของเรือ ‘นิภา’ ทำให้ยานนาวาลำนี้ถูกนำไปกล่าวถึงในงานเขียนเชิงวรรณกรรมอยู่หลายชิ้น มนัส จรรยงค์เป็นนักประพันธ์คนหนึ่งที่ใช้ฉากบนเรือนิภาก่อนจะถูกทุ่นระเบิดในการดำเนินเรื่องสั้น ‘นิภาแห่งความหลัง’ ดังเขาเปิดย่อหน้าแรก
เหตุเกิดขึ้นในเรือนิภา เขาได้พบหญิงงามคนหนึ่งในห้องเคบินหมายเลข F และได้พบรักกับหล่อน แต่ปรากฏว่า หล่อนเป็นเมียของพี่ชาย
และยังเสริมความเข้าอีกในสองย่อหน้าถัดมา
ถึงอย่างไร ‘นิภา’ ก็ยังเป็นความหลัง ‘นิภา’ อับปางไปแล้วด้วยการระเบิด ‘นิภา’ สิ้นชีวิตไปแล้วยังใต้ทะเลเหมือนสมเด็จเจ้าฟ้านิภานพดล ซึ่งได้สูญเสียพระชนม์ชีพไปแล้วเช่นเดียวกัน
เคบิ้น เอ๊ฟ, เป็นเคบิ้นที่ให้ความสุขในระหว่างที่เรือได้แล่นแหวกว่ายมาตามคลื่นหัวแตกหัวแหลกคลื่นใหญ่คลื่นน้อยฟากฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย กัปตันเป็นเดนมาร์ค ช่างเครื่องเป็นชาวสวีเด็นกะลาสีแห่งนิภาเป็นมลายู มีต้นหนคนเดียวเท่านั้นที่เป็นนายเรือไทย นิภาจะไปถึงแต่เพียงเกาะเล็กๆ เลยเมืองตราดเท่านั้น
‘นิภาแห่งความหลัง’ เป็นเรื่องราวของวิธาน คนหนุ่มผู้หลงใหลดนตรีวัย 20 ที่พบรักกับเฉิดหญิงสาววัย 29 บนเรือ ‘นิภา’ ที่แล่นลำจากตราดเข้าสู่กรุงเทพฯ ทั้งสองมีสัมพันธ์สวาทลึกซึ้งกันในเคบิน แต่เมื่อขึ้นฝั่งและมาใช้ชีวิตที่พระนครแล้ว การณ์กลายเป็นว่าเฉิดคือภรรยาสุดรักสุดหวงของพี่ชายวิธาน ถ้าพฤติกรรมของแจ๊คกับโรสบนเรือไททานิกเข้าทำนองเรียกติดปากว่า ‘ชู้รักเรือล่ม’ ตัวละครในเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ก็คงจะเรียก ‘ชู้รักก่อนเรือล่ม’ สินะ
ต่อการเรียกขานว่าเรือ ‘นิภา’ เป็น ‘ไททานิกของเมืองไทย’ นั้น ผมไม่ค่อยเห็นพ้องด้วยเท่าไหร่นัก ในฐานะเคยค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรือสองลำที่อับปางกลางมหาสมุทรทางฝั่งโลกตะวันตกมาเขียนหนังสือ ‘ผจญไทยในแดนเทศ’ (แหม แอบขายของนะฮะ ฮ่า ฮ่า) อันได้แก่ เรือไททานิก (Titanic) ซึ่งชนภูเขาน้ำแข็งกลางมหาสมุทรแอตแลนติก และเรือฮิราโนะ มารุ (Hirano Maru) ซึ่งถูกเรือดำน้ำฝ่ายเยอรมนียิงตอร์ปิโดจนระเบิด ผมจึงคิดว่าถ้าจะเปรียบเปรยกันจริงๆ เรือ ‘นิภา’ น่าจะเข้าเค้าเป็น ‘ฮิราโนะ มารุของเมืองไทย’ เสียมากกว่ากระมัง เพราะมีมูลเหตุให้จมสู่ก้นทะเลด้วยถูกอาวุธสงครามแล้วระเบิดเหมือนกัน ขณะไททานิกมิใช่
โศกนาฏกรรมจากอุบัติเหตุย่อมเป็นสิ่งที่ใครต่อใครไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้น แม้หลายต่อหลายหนคนเราได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว แต่พอเหตุมันจะอุบัติก็มักจะมาอย่างไม่ทันคาด แหละนี่คือสุดยอดคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ควรภาวนาเพื่อป้องกันตนเองสม่ำเสมอ
‘จงตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท’
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517).กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517
- ประชาชาติ. (วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2477)
- ภราดร ศักดา. ๑๐๐ ปี หนังสือพิมพ์และนิตยสารเมืองไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2551
- ภราดร ศักดา. เมืองสามสมุทร.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2561
- ภราดร ศักดา. สัมภาษณ์โดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, กรุงเทพฯ, 13 เมษายน 2560.
- มนัส จรรยงค์. “นิภาแห่งความหลัง” ใน มือดอง. กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, 2519
- สักก์ กลิณศักดิ์, พลตรีจัตวา.ขุนวรศาสนดรุณกิจ (ฝ้าย บุญเลี้ยง) ใน หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2505.พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2505