คำเตือน : บทความนี้เฉลยปริศนาบางส่วนในเกม Gorogoa
ในยุคดิจิทัลที่เกมคอมพิวเตอร์เจ๋งขึ้นเรื่อยๆ ร่ายมนต์สะกดให้เราอุดอู้อยู่หน้าจอ ไม่ว่าจะคอมในบ้านหรือมือถือนอกบ้าน การได้เล่นเกมมหัศจรรย์ที่ไม่เพียงแต่สะกดเราอยู่หมัด แต่ยังมัดใจเราชั่วนิรันดร์ด้วยการผสมผสานอาร์ตแบบศิลปะทำมือหรือ งาน craft อันสุดแสนประณีต เข้ากับความเรียบง่ายแต่สง่างามของนวัตกรรมระบบเกม ร้อยทั้งหมดนี้เข้ากับเรื่องราวอันลึกซึ้งกินใจ – การได้เล่นเกมแบบนี้นับว่าเป็นพรอันประเสริฐในชีวิต
แถมยังเอาไปอวดครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ไม่ชอบเล่นเกมได้ว่า นี่แน่ะ ดูหน่อยเถอะว่า ‘ความเจ๋ง’ ของเกมสมัยนี้น่ะหลากหลายขนาดไหน ไม่ได้มีแต่เกมยิงเลือดสาดท่วมจอที่เน้นความตื่นเต้นเร้าใจอีกแล้ว (ซึ่งหลายเกมแนวนั้นก็เจ๋งอยู่ แต่ความเจ๋งไม่ได้มีแบบเดียว)
Gorogoa เกมจิ๋วแต่แจ๋วจาก เจสัน โรเบิร์ตส์ (Jason Roberts) เป็นเกมที่สั้นที่สุดที่ผู้เขียนได้เล่นในรอบปี คือใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษๆ ก็จบแล้ว
แต่จะบอกว่าเกมสั้นขนาดนี้แปลว่า ‘ไม่ดี’ คงไม่ได้ เหมือนกับคงไม่มีใครบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องโน้นเรื่องนี้ไม่ดีเพราะแค่ชั่วโมงเศษๆ ก็จบแล้ว
เซเนกา ปราชญ์โรมันโบราณ เคยกล่าววาทะอมตะไว้ว่า “ชีวิตก็เหมือนกับนิทาน : ไม่สำคัญว่ามันยาวแค่ไหน หากสำคัญว่ามันดีเพียงใด”
เกมก็เช่นกัน
ในกรณีของ Gorogoa ผู้เขียนคิดว่าความยาวของมันเหมาะสมลงตัวที่สุดแล้ว ถ้ายาวกว่านี้ ความรู้สึกเหมือนต้องมนต์ระหว่างเล่นคงอันตรธานไปไม่น้อย ถ้าไม่หายไปทั้งหมด
เพราะประสบการณ์การเล่น Gorogoa ให้ความรู้สึกเหมือนตกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกแฟนตาซีที่เหนือจริง แต่หลายสิ่งก็คุ้นตาและกระตุกต่อมจิตใต้สำนึก เราแก้ปริศนาต่างๆ ในเกมนี้ด้วยสัญชาติญาณและการลองผิดลองถูก คลิกนี้ย้ายนั่นลากโน่น มากกว่าการครุ่นคิดพิจารณา ค่อยๆ ใช้เหตุผลอุปนัยหรือนิรนัยคลี่คลายอย่างในเกมปริศนาทั่วไป ทำให้เรารู้สึกว่าคำเฉลยของปริศนาทั้งหลายในเกมนี้ล้วนแต่น่าอัศจรรย์ใจพอๆ กับระบบเกม
โลกหลายใบอันสลับซับซ้อนและซ้อนทับกันไปมาของ Gorogoa โอบอุ้มเรื่องเล่าที่เกมบรรจงถ่ายทอดโดยไม่ใช้ตัวหนังสือแม้แต่ตัวเดียว
เรื่องเล่าของ Gorogoa คงมีความหมายที่แตกต่างกันไปตามความรู้สึกนึกคิดของคนเล่น เพราะสัญลักษณ์ต่างๆ ในเกมนี้ประกอบกับความที่ไร้ตัวหนังสือแม้แต่ตัวเดียวก็ทำให้ตีความได้มากมาย แต่สำหรับผู้เขียนเองแล้ว เรื่องราวในเกมนี้เริ่มต้นจากความอยากรู้อยากเห็นของเด็กน้อยในฉากเปิดเกมว่าสัตว์ประหลาดหลากสีที่เขาเห็นทางหน้าต่างนั้นคือตัวอะไร ลงเอยเป็นการฉายภาพเส้นทางชีวิตของเขาในฐานะเด็กหนุ่มนักสำรวจ หนุ่มใหญ่นักค้นคว้า และผู้เฒ่านักจาริก ตลอดชั่วชีวิตของการค้นหาและทำความเข้าใจกับสิ่งที่ดูคลับคล้ายคลับคลาว่าจะอยู่เหนือความเข้าใจ
องค์รวมของ Gorogoa ฉุกให้เราคิดถึง ‘ความหมาย’ ของชีวิต และบทบาทของ ‘ความพิศวง’ และ ‘ศรัทธา’ อันขาดไม่ได้ในการทำให้ชีวิตมีความหมาย
Gorogoa เล่นง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วย เกมแบ่งจอสี่เหลี่ยมของเราออกเป็นสี่ช่องจัตุรัส แต่ละช่องแสดงภาพวาดสองมิติซึ่งก็คือฉากในเนื้อเรื่อง เราสามารถคลิกบางจุดในแต่ละช่องเพื่อซูมเข้าหรือซูมออก คลิกและลาก ‘กรอบ’ หรือ ‘ขอบ’ ของสิ่งต่างๆ ในแต่ละช่อง เช่น บานหน้าต่าง กรอบประตู ขอบนาฬิกา ฯลฯ ออกจากช่องของมันเอง ไปวางไว้อีกช่องเพื่อสร้างฉากใหม่ บางครั้งตำแหน่งของช่องก็สำคัญ เช่น การวางกรอบลงช่องบนซ้ายหรือล่างขวาจะเผยฉากที่แตกต่างกัน
หัวใจของการแก้ปริศนาต่างๆ อยู่ที่การคลิกและลากอย่างเหมาะเหม็งเพื่อแก้ปริศนา ซึ่งแต่ละปริศนาในเกมนี้ล้วนแต่แก้ได้ด้วยวิธีเดียวเท่านั้น เพราะปริศนาทั้งหมดใน Gorogoa ถูกออกแบบมาอย่างประณีต ทุกฉากเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างเหมาะเหม็งราวกับนาฬิกาจักรกลโบราณ ยกตัวอย่างเช่น ช่องแรกเราอาจเห็นต้นไม้ต้นหนึ่ง คลิกแล้วจะซูมออกมาเป็นดาดฟ้าอาคาร บนดาดฟ้ามีกรอบประตูโค้งโล่งๆ ตั้งอยู่ ในช่องติดกันเป็นห้องในบ้านคน มองผ่านประตูเข้าไป ดูเผินๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับฉากในช่องแรกเลย แต่ถ้าเราลากประตูโค้งจากช่องแรกมาทับกรอบประตูในช่องที่สอง มันก็จะกลายเป็นประตูสู่ดาดฟ้า เปิดทางให้เด็กหนุ่ม (ตัวเรา) ในเกมเดินไปดาดฟ้าได้
การแก้ปริศนาแรกๆ ใน Gorogoa อาศัยเพียงการสังเกตและลองผิดลองถูก แต่พอถึงฉากหลังๆ เราไม่เพียงแต่ต้องคลิกและย้ายกรอบให้ถูกที่ แต่ยังต้องย้ายอย่าง ถูกเวลา ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ฉากหนึ่งเด็กหนุ่มอาจกำลังสัญจรบนรถไฟ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยรถไฟจะวนรอบกลับมาจุดเดิม เราต้องเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้กับรถไฟด้วยการคลิกและย้ายส่วนต่างๆ ของแผนที่ ไปยังช่องอื่นๆ อย่างถูกลำดับและกะจังหวะให้พอดีกับการเคลื่อนที่ของรถไฟ
ปริศนาทั้งหมดใน Gorogoa แก้ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความช่างสังเกตหรือคลิกลองผิดลองถูกของคนเล่น ใครอยากได้เบาะแสเพิ่มก็สามารถเลือกในเกมนี้ให้เกมฉาย hotspot ต่างๆ ที่คลิกได้ในแต่ละช่องสว่างวาบออกมา แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่จำเป็นเลย
ความน่าเสียดายอย่างเดียวก็คือ ปริศนาในเกมย่อมทำให้เรา ‘ว้าว’ ครั้งแรกที่แก้สำเร็จเท่านั้น ด้วยความที่มันมีวิธีแก้วีธีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า Gorogoa ควรค่าแก่การเล่นใหม่รอบที่สองและสาม ไม่ใช่เพราะมีโหมดลึกลับหรือแผนที่ใหม่อะไรให้ทำ แต่เพื่อที่เราจะได้ชื่นชมกับความเที่ยงตรงเหมาะเจาะราวนาฬิกาชั้นดีของการออกแบบปริศนา และรื่นรมย์กับอาร์ตที่ดีไซเนอร์วาดมือและลงสีด้วยดินสอเองทุกช่อง
ความมหัศจรรย์ของ Gorogoa ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ภายในปีเดียว หรือแม้แต่สองปี ผู้เขียนได้ลองเล่นเดโมยาวไม่กี่นาทีของเกมนี้ตั้งแต่ปี 2012 และจากนั้นก็เฝ้ารอตัวเต็มตลอดมา
ไม่มีใครคาดคิดว่าจะต้องรอถึงห้าปีก่อนที่ Gorogoa จะเผยโฉม รวมถึงโรเบิร์ตส์ ดีไซเนอร์เกมนี้ด้วย เขาให้สัมภาษณ์สื่อหลายค่ายว่าการพัฒนาเกมนี้ใช้เวลานานกว่าที่เขาคิดไว้มาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากยิ่งฝึกวาด ทักษะการวาดภาพเขาก็ยิ่งดี ทำให้เขาย้อนกลับไปวาดฉากต่างๆ ในเกมใหม่หลายรอบเพื่อให้เกมออกมาดีที่สุด
นอกจากนี้ โรเบิร์ตส์ยังรื้อหลายฉากในเกมที่เสร็จแล้วและทำใหม่หมด ทุกครั้งที่เขารู้สึกว่ามันยังไม่ดีพอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลามากเพราะทุกสิ่งในเกมนี้สัมพันธ์กันอย่างเหมาะเจาะ ชิ้นส่วนของปริศนาทุกชิ้นคือฉากของเรื่องเล่าไปพร้อมกัน ทำให้ระบบเกมและเรื่องเล่าผูกพันกันชนิดแยกไม่ออก แก้จุดหนึ่งทำให้ต้องตามไปแก้อีกหลายจุด
โรเบิร์ตส์บอกว่าเขาวาดทุกอย่างใน Gorogoa ด้วยมือ ลงสีในคอม และโค้ดเกมนี้ด้วยระบบเกมที่เขาสร้างเองในภาษาจาวา ส่วนชื่อ Gorogoa ของเกมนี้มาจากชื่อสัตว์ในจินตนาการที่เขาคิดขึ้นมาเองสมัยเป็นเด็ก เขาเลือกชื่อนี้เพราะมันไม่มีความหมายใดๆ ในภาษาไหนเลยบนโลก เขาบอกว่า อยากให้คนทุกชาติทุกภาษาสามารถเข้าถึง Gorogoa และนั่นก็คือเหตุผลที่เขาเลือกที่จะไม่ใส่ตัวหนังสือใดๆ เข้าไปในเกมนี้เลย
สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมเขาจึงเลือกโค้ด Gorogoa เป็นเกมปริศนา โรเบิร์ตส์บอกว่า “ผมคิดว่าผมชอบปริศนาเพราะชอบความคิดที่ว่า โลกเรานี้มีโครงสร้างหรือความหมายที่ซ่อนอยู่ …ถ้าคุณมองดูอะไรสักอย่างที่ธรรมดาสามัญ ปรับเปลี่ยนย้ายองค์ประกอบต่างๆ ในทางที่ถูกต้องแล้วล่ะก็ คุณก็จะค้นพบโครงสร้างบางอย่างที่ถูกซ่อนเอาไว้ และถ้าหากว่าคุณมองออกไปในโลก แล้วมองไม่เห็นความหมายของมัน นั่นก็แปลว่านี่คือความท้าทายที่คุณต้องค้นหาให้เจอ หาคำอธิบายให้ได้ว่าทำไมคุณจึงยังหาความหมายไม่เจอ”
“ผมคิดว่าแฟนตาซีหรือจินตนาการที่ว่า ‘โลกนี้ทั้งใบคือปริศนา’ เกี่ยวโยงกับการค้นหาความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ของมัน …ผมคิดว่าการค้นหานี้เป็นแรงผลักดันของศาสนาเหมือนกัน นี่คือเหตุผลที่ศาสนาเป็นธีมหนึ่งในเกมนี้ และนั่นก็คือวิธีที่ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกับปริศนาต่างๆ เหล่านี้”
เราสามารถมอง Gorogoa ว่าเป็นอัตชีวประวัติของโรเบิร์ตส์เองได้เช่นกัน เกมนี้นอกจากจะเป็นเกมแรกในชีวิตของเขาแล้ว มันยังเปรียบเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางอันยาวนานของความคิดสร้างสรรค์อันยาวนาน ดังที่โรเบิร์ตส์รำพึงว่า “ถ้าคุณไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางของคุณอยู่ที่ไหน คุณก็ไม่รู้เลยครับว่าจะต้องเดินทางนานเพียงใด”
นานนับทศวรรษแล้วที่โรเบิร์ตส์พยายามค้นหาโครงการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างที่เขาจะมีแรงบันดาลใจทำจนจบ มีหลายความคิดที่เขาคิดแล้วก็พับไป ตั้งแต่พยายามคิดเกมไพ่ วาดการ์ตูนเชิงนวนิยาย (graphic novel) จนมาจบลงตรงการวาดและโค้ดเกม จากนั้นก็คิดในแง่ดีว่า เกมนี้อย่างมากก็คงใช้เวลาแค่ปีเดียว