ไม่น่าเชื่อว่า วาทกรรม ‘ชังชาติ’ จะยังไม่หมดไปจากแผ่นดินนี้เสียที
ในชาติปกติ ทุกคนสามารถแสดงอาการ ‘ชังชาติ’ ได้ โดยเฉพาะชังในมิติอัปลักษณ์ของชาติที่ตัวเองต้องพบเจอ เรื่องสำคัญก็คือ การมอง ‘ชาติ’ ให้ ‘เห็น’ อย่างที่ชาติเป็น ซึ่งถ้ามองเห็นได้ด้วยสายตาที่กระจ่าง ไม่เมามัวอคติ หรือใส่แว่นคลั่งลัทธิที่เรียกว่าชาติมากเกินไป จะเห็นได้ว่าชาติก็เหมือนสิ่งอื่นๆ ทั่วไป คือมีทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดี เพราะชาติประกอบขึ้นด้วยมนุษย์ตดเหม็น ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาวหรือมีอำนาจมากมายแค่ไหน สุดท้ายก็ยังเป็นได้แค่มนุษย์ธรรมดาๆ ไม่ใช่เทพเทวาจากสวรรค์ชั้นฟ้า และกระทั่งมนุษย์หนึ่งคนก็ยังเต็มไปด้วยแง่มุมตัวตนที่แตกต่างกันออกไป เมื่อมารวมเป็นชาติที่เต็มไปด้วยผู้คน คนเราจึงอาจ ‘ชอบ’ หรือ ‘ชัง’ แง่มุมบางอย่างในชาติที่แตกต่างกันไปได้ โดยสัดส่วนของความชอบและชังจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนของคนคนนั้นอีกที
แล้วทำไมจึงยังมีคนที่กล่าวหาคนอื่นอย่างพล่อยๆ ด้วยคำว่า ‘ชังชาติ’ หลงเหลือตกค้างอยู่ได้อีกเล่า?
ที่จริงแล้ว การกล่าวหาว่าคนอื่น ‘ชังชาติ’ ในแบบป้ายสีให้เป็นสีดำล้วนนั้น สำแดงให้เห็นถึง ‘อาการ’ อย่างหนึ่งที่ไม่พึงปรารถนา มันคืออาการแห่ง ‘ปมด้อย’ หรือ inferiority complex ชนิดหนึ่ง ที่นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า cultural cringe ซึ่งไม่รู้จะหาคำแปลอย่างไรดี เพราะมันยิ่งกว่าอาการ ‘ชาตินิยม’ เสียอีก เนื่องจากมันเป็น ‘ปม’ ที่ฝังลึกลงไปในหัวจิตหัวใจ ถึงในระดับวัฒนธรรมและสำนึกแต่อ้อนแต่ออกมาเลย – ว่าวัฒนธรรมของชาติตนนั้นดีที่สุด ซึ่งในกรณีนี้อาจจะเรียกว่ามีอาการ national cringe ก็น่าจะได้
ปมด้อยในอาการ cultural หรือ national cringe นั้น เป็นคล้ายๆ เด็กที่ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน ทั้งที่เพื่อนเองก็ไม่ได้อวดโอ่คุยโตอะไร แต่ตัวเด็กกลับเกิดอาการ ‘น้อยเนื้อต่ำใจ’ ไปเอง คิดว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น สุดท้ายก็เลยเกิดพฤติกรรมด้านกลับ นั่นคือทำให้คนที่มีอาการ cultural หรือ national cringe นั้น ไม่ยอมรับว่าวัฒนธรรมของประเทศตัวเอง ก็มีบางส่วนที่ ‘ด้อย’ กว่าวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ได้ด้วย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนแบบนี้จะมองโลกเห็นเป็นขาว-ดำ และป้ายดวงตาตัวเองให้เห็นวัฒนธรรมและประเทศชาติบ้านเมืองของตัวเองดีเลิศที่สุดในโลก จนไม่มีความสามารถทางสมองที่จะมองเห็นเป็นอื่นได้เลย การทำงานของกระบวนการรู้คิด (cognitive functioning) มักเหลืออยู่แค่โหมดเดียว คือโหมดชื่นชมชาติของตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีใคร ‘บังอาจ’ มาวิพากษ์วิจารณ์ชาติของตัวเอง แม้แค่บางแง่มุม ก็จะเกิดอาการ ‘รับไม่ได้’ ขึ้นมาทันที ต้องโยนข้อกล่าวหา ‘ชังชาติ’แบบ 100% ใส่คนอื่น ทำให้คนเหล่านั้นต้องโต้กลับมาว่า “ไม่ได้ชังชาติ แต่ชังมึงนั่นแหละ” บ่อยๆ
ที่จริงแล้ว อาการ cultural cringe นั้น เป็นศัพท์ที่ตั้งขึ้นโดย A.A. Phillips ซึ่งเป็นนักวิพากษ์สังคมชาวเมลเบิร์น เขาใช้คำนี้มาหลายสิบปีแล้วเพื่อพูดถึงความรู้สึก ‘ด้อยค่า’ ที่เกิดขึ้นกับคนออสเตรเลียทั่วๆ ไปในยุคหนึ่ง และต่อมากลายเป็นหมุดหมายให้กับพัฒนาการของทฤษฎีหลังอาณานิคม (post-colonial theory) ในออสเตรเลีย
พูดง่ายๆ ก็คือ ชาวออสเตรเลียโดยทั่วไปในยุคก่อนนี้ เมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับประเทศอย่างอังกฤษหรือประเทศในยุโรป ก็มักรู้สึกว่าอะไรๆ ในวัฒนธรรมและประเทศของตัวเองยิ่งใหญ่สู้อังกฤษหรือยุโรปไม่ได้ เพราะออสเตรเลียเกิดทีหลัง ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ – ที่ต่อมามันจะพัฒนามาเป็นการไม่ยอมรับความด้อยกว่า (ซึ่งจริงๆ เป็นแค่ ‘การรับรู้’ ของมนุษย์เท่านั้น) ของวัฒนธรรมตัวเอง
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ อาการ cultural cringe
มักจะไปเกี่ยวข้องกับอาการ ‘ต่อต้านความฉลาด’ หรือ
‘ต่อต้านปัญญา’ (anti-intellectualism) ด้วย
อาการต่อต้านความฉลาดที่ว่านี้ ถ้ายกตัวอย่างกรณีของออสเตรเลียกับอังกฤษ เราย่อมสันนิษฐานได้ไม่ยากว่า อังกฤษน่าจะเหนือกว่าในทางความรู้อยู่แล้ว เพราะสั่งสมองค์ความรู้ต่างๆ มาเป็นร้อยเป็นพันปี อังกฤษมีนักวิทยาศาสตร์ระดับ ชาลส์ ดาร์วิน นักเขียนอย่าง ชาลส์ ดิกเคนส์ มีราชสมาคม มีกองทัพเรืออันเกรียงไกร เคยเป็นดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน และมีอะไรๆ ยิ่งใหญ่ในอีกไม่รู้จักกี่ด้าน
แต่อารมณ์ cultural cringe ที่พลิกกลับด้าน จากที่รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่ากลายมาเป็นการไม่ยอมรับความต่ำต้อยนั้น ได้ทำให้เกิดอาการ ‘ต่อต้าน’ ความรู้หรือปัญญาความฉลาดพวกนั้นตามไปด้วย
ต้องบอกไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ ว่าเอาเข้าจริง ความรู้ในโลกนี้ถูกจัดแจงให้มีลำดับชั้นทางอำนาจไม่น้อย ความรู้จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องของ ‘คลาส’ หรือสถานะทางสังคมไปด้วย อย่างที่พูดกันว่าความรู้คืออำนาจ หรือในปัจจุบันก็ถึงขั้นมีศัพท์เรียกคนที่หลงใหลในคนฉลาดว่า sapiosexual ซึ่งจักรวาลวิทยาของปัญญาแบบนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ว่าไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นัก เนื่องจากบางครั้งก็กีดกันความรู้แบบพื้นบ้านออกไปจากความรู้บนหอคอยงาช้างในสำนักวิชาการ
อาการ ‘ต่อต้านความฉลาด’ จึงเป็นการ ‘เหวี่ยงกลับ’ ของการชื่นชมความรู้ อย่างน้อยที่สุด ก็คือความรู้ที่มาจากแหล่งที่ถูกมองว่า ‘สูงกว่า’ ในทางอำนาจ เช่น ความรู้ในมหาวิทยาลัย หรือความรู้จากโลกตะวันตก หรือในกรณีของออสเตรเลียก็คือความรู้จากอังกฤษ
แล้วทำไมอาการ cultural cringe หรือการหลงใหลในวัฒนธรรมของตัวเองจนถึงระดับกล่าวหาว่าคนอื่น ‘ชังชาติ’ ได้ปาวๆ ถึงได้เกี่ยวข้องกับอาการต่อต้านความฉลาดได้?
คำตอบอยู่ตรงความเป็นเผด็จการครับ
ถ้าคนที่มีอาการ cultural cringe เป็นคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มีอำนาจเหนือคนอื่นๆ จะกล่าวหาใครว่าชังชาติก็คงทำได้แค่กล่าวหา แต่เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีอำนาจมาก – มากจนมักคิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือความรู้ด้วย เผด็จการส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ ‘รู้ทุกเรื่อง’ ทุกอย่างที่ตัวเองคิดและทำนั้นถูกไปหมด
วิธีคิดแบบนี้แปลว่าเผด็จการย่อมชิงชังการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมันคือการนำอำนาจจาก ‘ความรู้’ มาลดทอนอำนาจของตัวเอง ในขณะที่ฝั่ง ‘ความฉลาด’ จะก่อเกิดปัญญาได้ ต้องผ่านการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงกึ๋นถึงแก่น เช่นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ หากไม่ได้รับการถกเถียงและพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า หักล้างกันครั้งแล้วครั้งเล่า ก็จะไม่มีวันพัฒนามาได้ถึงขนาดนี้ ในขณะที่เผด็จการพูดอะไรออกมา ไม่ว่าจะถูกผิดก็ต้องทำตาม ประมาณว่า ‘รับคำสั่ง ทำทันที ทำดีที่สุด’ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะผิดพลาดหรือต่ำทรามเพียงใดก็ต้องทำโดยโต้แย้งอะไรไม่ได้
กรณีที่เผด็จการชิงชังปัญญาชนให้เห็นเด่นชัดมากๆ กรณีหนึ่งก็คือในปี 1966 ที่อาร์เจนตินา เมื่อนายพลฮวน คาร์ลอส อองกาเนีย (Juan Carlos Ongania) ได้ให้คนเข้าไปทำลายอาคารและข้าวของในมหาวิทยาลัยห้าแห่งซึ่งเชื่อว่าเป็นภัยทางการเมืองต่อตัวเอง เหตุการณ์นั้นอื้อฉาวโด่งดังมาก เรียกว่า Night of the Long Batons ซึ่งถูกมองว่าเกิดจากอาการ ‘ต่อต้านความฉลาด’ ของเผด็จการด้วยเช่นกัน
อาการต่อต้านความฉลาดสามารถเกิดขึ้นได้ในด้านกลับด้วย เช่นในหนังสือ Anti-Intellectualism in American Life ของ ริชาร์ด ฮอฟสตาดเตอร์ (Richard Hofstadter) เล่าถึงการต่อต้านความฉลาดในฐานะการตอบโต้ทางชนชั้น โดยกลุ่ม ‘คนชั้นกลาง’ ในอเมริกา ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง (เรียกว่าเป็น self-made men) ลุกขึ้นมาก่อม็อบต่อต้านความสูงส่งเหนือกว่าของกลุ่มคนชั้นสูงที่มีการศึกษาดีกว่า เป็นต้น
ในปี 2017 มีผลโพลของ Pew Research Center สำรวจพบว่าชาวรีพับลิกัน (ซึ่งมีแนวคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม) ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยที่ก้าวหน้าในอเมริกานั้น ส่งผลกระทบทางด้านลบต่อประเทศ โดยบอกว่า มหาวิทยาลัยควรจะตระเตรียมนักศึกษาให้ออกมาเป็น ‘แรงงาน’ (workforce) มากกว่า เชื่อกันว่า เป็นแนวคิดแบบนี้นี่เองที่ผลักดันให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี
จะเห็นได้ว่า อาการต่อต้านความฉลาดเกิดขึ้นได้หลายแง่มุม หลายระดับ โดยปกติอาจไม่ใช่เรื่องผิดร้ายอะไรนัก เว้นแต่เมื่อเกิดขึ้นกับเผด็จการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือ แล้วเกิดอาการ ‘ชังความฉลาด’ ขึ้นมา เพราะคนที่มีอำนาจย่อมสามารถเผยแพร่แนวคิดทำนองนี้ให้แพร่หลายไปได้มากกว่าคนท่ัวไป รวมทั้งสามารถสร้างมาตรการจัดการกับ ‘ความรู้’ ได้หลายแบบ ตั้งแต่บุกไปทำลายห้องเรียน (อย่างในอาร์เจนตินา) จนถึงการเขียนตำราเรียนสอนเด็กๆ ให้มองว่าเผด็จการกำลังทำประโยชน์ให้ประเทศ
ถ้าถามว่า ทำไมเผด็จการในไทยถึงมีแนวโน้ม ‘ชังฉลาด’
คำตอบน่าจะมีอยู่สองระดับด้วยกัน
ระดับแรกเห็นได้ชัดมาก เพราะความฉลาดต้องการการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เผด็จการที่ไร้วัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบย่อมยอมรับไม่ได้ อาการ ‘ชังฉลาด’ จึงเกิดขึ้นกับเผด็จการได้ง่ายมาก โดยเฉพาะหากเผด็จการนั้นมีอาการ Hubris Syndrome หรือเป็นโรคโอหังหลงอำนาจร่วมด้วย
ส่วนระดับที่สองซับซ้อนขึ้นอีกนิด และเป็นคำตอบที่พาเราย้อนกลับไปสู่อาการ cultrual cringe อีกรอบหนึ่ง นั่นเพราะปัญญาชนในไทยส่วนใหญ่สมาทานองค์ความรู้ตะวันตก ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงส่งข้าราชบริพารไปศึกษาหาความรู้จากดินแดนไกลโพ้นในโลกตะวันตกเพื่อนำวิทยาการใหม่ๆ กลับเข้ามา แต่สิ่งกลับมาไม่ได้มีเฉพาะวิทยาการ ทว่ายังมาพร้อมเอาความรู้และความคิดใหม่ๆ ด้วย ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475
อย่าลืมว่า cultural cringe คือการมองว่าวัฒนธรรมของชาติตัวเองไม่ด้อยกว่าชาติใด โดยเป็นมุมมองที่เกิดจาก ‘ปมด้อย’ ที่มีสำนึกรับรู้อยู่ลึกๆ ถึงความด้อยของวัฒนธรรมตัวเอง ดังนั้น รากของ cultural cringe ของเผด็จการไทยในปัจจุบันจึงหยั่งลึกอยู่ในประวัติศาสตร์อย่างซับซ้อนหลายช้ัน ทำให้เผด็จการไทยไม่ชอบนักวิชาการหรือปัญญาชนที่หยิบยกทฤษฎีหรือองค์ความรู้จากตะวันตกมาใช้เพื่อวิพากษ์วัฒนธรรมไทย โครงสร้างสังคมไทย ชาติไทย หรือกระทั่งความเป็นเผด็จการแบบไทยๆ
หลายคนอาจเถียงว่า มีนักวิชาการที่ทำงานกับเผด็จการตั้งมากมาย จะบอกว่าเผด็จการไม่ชอบหน้านักวิชาการได้อย่างไร แต่เราก็จะเห็นได้เลยว่า มิติแห่งการวิพากษ์ของนักวิชาการที่ทำงานกับเผด็จการนั้นมักจะเป็นไปอย่างบางเบา เกรงอกเกรงใจ เกรงความสั่นไหวของเก้าอี้ หลายคนอาจมีคำนำหน้าชื่อเป็นศาสตราจารย์หรือเป็นด็อกเตอร์ที่เคยร่ำเรียนศาสตร์อันมีที่มาจากโลกตะวันตก แต่สุดท้ายแล้ว – เพื่อทำงานกับเผด็จการ ก็ต้องคืนสำนึกวิพากษ์ให้ครูไป หลงเหลือไว้แต่การไต่เต้าเข้าสู่อำนาจจนยอมเป็นมือเท้าให้เผด็จการอย่างเต็มตัว
ด้วยเหตุนี้ การที่เผด็จการไม่ชอบปัญญาชนจอมวิพากษ์ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะวิธีวิพากษ์ของปัญญาชนเหล่านี้โดยใช้องค์ความรู้ตะวันตก คือการกระแทกลงไปตรงใจกลางของ ‘ปมด้อย’ ที่พยายามปกปิด ไม่ใช่แค่ปมด้อยส่วนบุคคล แต่คือปมด้อยร่วมของสังคมที่รู้ทั้งรู้ว่าสังคมนี้มีข้อบกพร่องอะไรอยู่บ้าง แต่ไม่กล้าและไม่อยากหยิบยกมันขึ้นมาพูดถึงให้กระจ่างชัดเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้
ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่มีฐานมาจากความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ ทว่าไม่ต้องตรงกับจริตหรือภาพที่เผด็จการต้องการให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์ตัวบุคคลหรือวิจารณ์โครงสร้างใหญ่ๆ ของประเทศ จึงต้องพร้อมจะถูกสำนึกเผด็จการแปะป้ายว่าเป็นคน ‘ชังชาติ’ อยู่เสมอ
นี่คืออาการ cultural cringe และ anti-intellectualism ที่เกิดขึ้นคลุกเคล้าผสมผสานกันอยู่ในเบื้องลึก ฝังอยู่ในระดับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศ
แต่กระนั้น – คำถามก็คือ, ระหว่าง ‘ชังชาติ’ กับ ‘ชังฉลาด’ อะไรอันตรายและเป็นผลร้ายต่อชาติมากกว่ากัน