เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้หญิงสองคน เดินเข้าไปใน ‘ย่านยาเสพติด’ ของเมือง พวกเธอสังเกตเห็นคนทำท่าลับๆ ล่อๆ อยู่แถวๆ ใต้สะพาน รอบตัวดูรกร้าง เปลี่ยว เต็มไปด้วยกราฟิตี้ มันเป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรมร้างๆ ของลิสบอนในโปรตุเกส
เจ้าหน้าที่ทั้งสองคนรู้เลยว่า นั่นคือกลุ่มคนที่กำลังใช้ยาเสพติดอยู่
คำถามก็คือ – พวกเธอจะทำอะไร ระหว่างชักปืนออกมาขู่ หยิบกุญแจมือออกมาใส่ แล้ว ‘จับ’ นักเสพยาเหล่านั้นไปรับโทษทัณฑ์ฐานที่พวกเขาเสพยา
หรือว่า – พวกเธอจะทำสิ่งที่คุณอาจคาดไม่ถึง, นั่นคือการเดินเข้าไปหา หยิบเข็มฉีดยาใหม่ออกมาให้ ไต่ถามถึงวิธีการเสพหรือฉีดยาเข้าร่างกายอย่างเข้าใจ และคอยช่วยดูแลเพื่อให้เกิดการเสพยาที่ถูกต้อง สะอาดปลอดภัย และไม่มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อร่างาย
ใช่แล้วครับ – อย่างหลัง คือภาพที่เกิดขึ้นในสารคดีสั้นเรื่อง What Really Happened When Portugal Decriminalized All Illegal Drugs in July 2010 (เข้าไปดูได้ในยูทูปนี้ www.youtube.com)
หลายคนอาจจะเลิกคิ้วสงสัย – เฮ้ย! ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐถึงไป ‘ช่วย’ ให้คนเสพยาเสพติดล่ะนี่ มันเป็นอย่างนั้นไปได้อย่างไรกัน
ถ้าเราไปดูโทษที่เกี่ยวกับยาเสพติดในกฎหมายไทย เราจะเห็นว่ากฎหมายไทยลงโทษเรื่องนี้เอาไว้หนักหนาสาหัสมาก (เข้าไปดูได้ที่เว็บของกองควบคุมวัตถุเสพติดก็ได้ครับ narcotic.fda.moph.go.th) แม้ The MATTER จะเคยมีรายงานเรื่อง พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่กับความพยายามจะทำให้การลงโทษเรื่องนี้สมเหตุสมผลมากขึ้น (ดูได้ที่นี่ thematter.co) แต่หลายฝ่ายก็ยังวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทยว่า ‘รุนแรง’ เกินไปอยู่ดี
รุนแรงเกินไปหรือ? หลายคนอาจไม่เห็นด้วย เพราะเราคุ้นเคยกับข่าวคนเสพยาบ้าแล้วเอามีดจี้คอคนอื่นจับไปเป็นตัวประกัน หรือแม้กระทั่งเสพยาแล้วลุกขึ้นมาเป็นฆาตกรฆ่าคนโน้นคนนี้ก่อปัญหาสังคมอยู่เป็นประจำ ดังนั้นหลายคนจึงไม่คิดว่ากฎหมายรุนแรงเกินไป หรือถ้าจะให้ดีก็ควรจะ ‘ประหาร’ คนพวกนี้ไปให้หมดๆ สังคมจะได้ดีขึ้น เพราะเรามักคิดง่ายๆ ว่า เมื่อปลอดคนเสพ ก็จะไม่มีคนขาย ไร้ดีมานด์แล้วซัพพลายก็จะหายไป
แต่เป็นไปได้ไหมว่า ความคิดแบบนั้นเป็น ‘มายาคติ’ อย่างหนึ่ง นั่นคือมันอาจไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน หรือแม้กระทั่ง ‘อาจ’ ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากอย่างที่เราเคยคิดก็ได้ เป็นไปได้ไหมว่า ‘ภาพ’ ของ ‘คนติดยา’ แบบกระแสหลักที่เลอะหลอนและทำร้ายคนอื่น – อันเป็นภาพที่รัฐและสื่อสร้างขึ้นมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี อาจกลายเป็นภาพคุ้นชินเสียจนเราไม่เหลือภาพของ ‘ผู้ใช้ยาเสพติด’ แบบอื่นๆ อยู่ในใจ
และเป็นไปได้ไหมว่า – สงครามกับยาเสพติดที่เราคุ้นชิน ทั้งการปราบปรามอย่างหนัก โทษที่รุนแรง หรือแม้กระทั่งการปล่อยให้เกิดภาวะ ‘ฆ่าตัดตอน’ ขนานใหญ่เมื่อหลายปีก่อนจนเรียกได้ว่ามีหลายกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน, อาจไม่ใช่ ‘สงคราม’ เพียงแบบเดียวที่เราสามารถทำได้เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในสังคม
โปรตุเกสเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จกับการทำให้ยาเสพติดไม่ผิดกฎหมาย และผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่า – การใช้ยาเสพติดในโปรตุเกสนั้นลดลงอย่างมาก
การพูดว่า ‘ทำให้ยาเสพติดไม่ผิดกฎหมาย’ นั้น มีความหมายหลายอย่างนะครับ ถ้าเป็นศัพท์ที่เรียกรวมๆ ก็คือ Drug Liberalization หมายถึงกระบวนการ ‘กำจัด’ หรือ ‘ลด’ กฎหมายที่เกี่ยวกับการห้ามเสพยาเสพติด (ไม่รวมถึงการขายนะครับ) ทั้งหลายลง ซึ่งมีสองรูปแบบใหญ่ๆ คือ
1) Drug Decriminalization คือการลดการควบคุมและโทษต่างๆ ลงจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เช่น ใช้การปรับหรือการลงโทษแบบอื่นๆ แทนการจำคุก ซึ่งถ้าเราไปดู พ.ร.บ.ยาเสพติด ปี 2560 ของไทย ก็จะเห็นความพยายามในเรื่องนี้อยู่บ้าง
2) Drug Legalization : อันนี้คือการทำให้ยาเสพติดทั้งหลายถูกกฎหมาย ซึ่งอาจจะถูกกฎหมายทุกชนิดหรือบางชนิดก็ได้ ทว่าถูกกฎหมายแล้วก็ไม่ได้แปลว่ามีการใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อเสรี แต่เปลี่ยนจาก ‘การห้าม’ (Prohibition) ไปเป็น ‘การกำกับดูแล’ (Regulation) แทน เช่นบังคับให้ติดฉลากระบุขนาด วิธีใช้ และคำเตือนทางการแพทย์, มีการจำกัดการโฆษณา, จำกัดอายุผู้บริโภค, จำกัดจำนวนการซื้อในแต่ละครั้ง, ห้ามขายให้แก่ผู้ที่มีอาการมึนเมา หรือในบางประเทศก็มีข้อบังคับพิเศษ เช่นสร้าง ‘ห้องฉีดยา’ (Injection Rooms) ขึ้นมาสำหรับผู้ที่จะใช้ยาเสพติดบางอย่างที่ต้องฉีดเข้าเส้น โดยผู้ฉีดจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ฯลฯ
ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ และทำแบบนี้ได้ผลจริงหรือ?
มีคำตอบที่เป็นรูปธรรมจากหลายแห่งทั่วโลก แต่ที่ชัดเจนและถูกยกมาเป็นตัวอย่างมากที่สุด ก็คือโปรตุเกส
โปรตุเกสเป็นประเทศแรกริเริ่มนโยบายใหม่เกี่ยวกับยาเสพติดในปี 2001 เพราะเห็นว่าการ ‘ปราบ’ ยาเสพติดแบบเข้มข้นจริงจังหรือการทำ ‘สงครามยาเสพติด’ (War on Drugs) อันเป็นแนวคิดแบบอเมริกันที่ริเริ่มในสมัยของริชาร์ด นิกสัน เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผลและล้มเหลว จึงเกิดแนวคิดใหม่ เพื่อทำให้การครอบครองยาเสพติดไม่ใช่เรื่องผิดร้ายแรงเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน (ซึ่งก็คือการ Decrimilalise ยาเสพติด)
หลักการใหญ่ของกฎหมายใหม่ก็คือ ยาเสพติดนั้นยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่ แต่ถ้าครอบครองหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวในปริมาณที่ไม่มากเกินกำหนด ถือว่าเป็นข้อยกเว้น และความผิดก็เปลี่ยนจากความผิดแบบอาชญากรไปเป็นการละเมิดคำสั่งทางปกครองแทน ทำให้โทษที่เคยหนักเบาลงมาก และหากทำผิดกฎหมายก็จะถูกส่งตัวไปเข้าโปรแกรมบำบัดแทนที่จะต้องติดคุกและมีประวัติอาชญากร (คือใช้หลักการ Treatment มาแทน Punishment) นั่นทำให้ชาวโปรตุเกสสามารถใช้ยาเสพติดได้แทบทุกอย่าง จะกัญชา โคเคน เฮโรอีน ใช้ได้หมด แต่ต้องเป็นไปตามการกำกับดูแลของรัฐ
คุณอาจคิดว่า ผลที่เกิดขึ้นต้อง ‘เละ’ แน่ๆ คนคงใช้ยาเสพติดกันเปรมอุรา แต่ปรากฏว่าโดยรวมแล้ว การใช้ยาเสพติดในคนทุกกลุ่มอายุกลับลดลง และเรื่องที่เป็นปัญหาต่อเนื่องจากการใช้ยาเสพติดกลับลดน้อยลงในแทบทุกมิติ เช่น การตายเนื่องจากเสพยาเกินขนาด, อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด, จำนวนผู้ถูกคุมขังในคุกเนื่องจากคดียาเสพติด หรือกระทั่งอัตราการติดเชื้อ HIV และโรคตับอักเสบที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เข็มฉีดยา (ตัวเลขจากบทความนี้ www.theguardian.comบอกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ ลดลงจาก 104.2 รายต่อล้านรายในปี 2000 เหลือเพียง 4.2 รายต่อล้านรายในปี 2015) โดยถ้าไปดูรายงานสรุปของ drugpolicy.org (www.drugpolicy.org/Fact_Sheet) ก็จะพบว่าการใช้ยาเสพติดในโปรตุเกสนั้น ‘ลดลง’ อย่างมาก บทความของนิวยอร์กไทม์ส (www.nytimes.com) บอกว่าจำนวนผู้ติดเฮโรอีนในโปรตุเกสลดลงจาก 100,000 ราย เหลือ 25,000 ราย หลังมีการใช้นโยบายนี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าไปดูงานวิจัยของ ฮันนาห์ ลาเคอร์ (Hannah Laqueur) จากเบิร์คลีย์ (ดูได้ที่นี่ www.law.berkeley.edu) จะพบว่าการลดลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่มีความซับซ้อนในหลายมิติ (คือบางอย่างดีขึ้น แต่บางอย่างก็ทรงๆ และการใช้ยาเสพติดบางอย่างก็เพิ่มขึ้น) แต่ว่าเมื่อนำมาเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบาย ‘ห้าม’ (Prohibitionism) อย่างเข้มข้นรุนแรงอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากสมัยนิกสันแล้ว ก็ต้องบอกว่าโปรตุเกสอยู่ในภาวะที่ดีกว่ามาก
กว่าโปรตุเกสจะมีนโยบายนี้ออกมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีประวัติการต่อสู้ยาวนานมากทั้งในและนอกประเทศ
ในระยะแรก คนในประเทศส่วนใหญ่ต่อต้านเพราะเห็นว่าน่าจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพราะทุกคนคิดว่าจะก่อให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้น ทว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นตรงข้าม ส่วนในระดับนานาชาติ ทุกๆ สิบปี จะมีการประชุมของสหประชาชาติที่เรียกว่า General Assembly Special Session on the Global Drug Problem (UNgass) ซึ่งจะมากำหนดนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดโลกกัน ทั้งในเรื่องการเสพติด การติดเชื้อ การฟอกเงิน การลักลอบขนส่ง รวมไปถึงแก๊งค้ายาที่มีการใช้ความรุนแรงต่างๆ ซึ่งก็พบว่าประเทศอื่นๆ ในที่ประชุมไม่ค่อยจะ ‘เอาด้วย’ กับโปรตุเกสสักเท่าไหร่
แต่เมื่อผ่านไปสิบกว่าปี และผลลัพธ์ที่ได้ออกมาในแง่บวก หลายประเทศจึงเริ่มอยากทำตาม หลายคนอาจได้ยินข่าวเรื่องการทำให้กัญชาเป็นเรื่องถูกกฎหมายในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกสนี่แหละครับ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่เริ่มใช้ ‘วิธีใหม่’ ในการต่อกรกับยาเสพติด เช่น ชิลีกับออสเตรเลียเปิด ‘คลับกัญชา’ (Canabis Club) เพื่อใช้ในทางการแพทย์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เดนมาร์กกับฝรั่งเศสก็เปิดศูนย์ที่เรียกว่า Drug Consumption Facility ของเดนมาร์กนั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แอฟริกาใต้ก็เสนอให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้โดยถูกกฎหมาย และแคนาดากับกานาก็มีแผนจะ Decriminalise การใช้ยาเสพติดส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน ไม่นับรวมประเทศที่มีนโยบายในเรื่องนี้แบบผ่อนปรนอยู่แล้ว อย่างเช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ หรือไอร์แลนด์
แต่ประเทศหนึ่งที่น่าสนใจเอามากๆ ก็คืออาร์เจนตินา เพราะในปี 2009 ศาลสูงของอาร์เจนตินาประกาศคำตัดสินว่า การไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหามียาเสพติดในครอบครองเพื่อใช้งานส่วนตัว (Personal Use) นั้น เป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ เพราะ “Adults should be free to make lifestyle decisions without the intervention of the state” หรือ “คนที่เป็นผู้ใหญ่ควรมีเสรีภาพในการเลือกวิถีชีวิตของตัวเองได้โดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง”
แนวคิดของศาลสูงอาร์เจนตินานั้นมีปรัชญาสำคัญรองรับอยู่นะครับ เป็นปรัชญาที่เรียกว่า Cognitive Liberty หรือเสรีภาพในทางการรับรู้หรือทางความคิดจิตใจ
คำว่า Cognitive Liberty เป็นคำที่ Wrye Sententia ซึ่งเป็นนักจริยศาสตร์ประสาทวิทยา (Neuroethicist) กับนักกฎหมายชื่อ Richard Glen Boire คิดขึ้น ทั้งคู่เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ Center for Cognitive Liberty and Ethics ซึ่งเห็นว่า ‘มนุษย์’ ควรจะมีสิทธิในทางการควบคุมดูแลจิตใจตัวเองหลายเรื่องซึ่งรัฐจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ นั่นคือคนเราควรมีเสรีภาพที่จะไม่ถูกแทรกแซง (Freedom from Interference) จากรัฐ และควรมีเสรีภาพที่จะกำหนดสภาวะต่างๆ ของตัวเอง (Freedom to Self – Determine) ซึ่งจะนำไปสู่ ‘สิทธิที่จะกำหนดสภาพทางจิตของตัวเอง’ (Right to Mental Self-Determination) ด้วย ได้แก่การควบคุมกระบวนการทางจิต (Mental Process) การรับรู้ (Cognition) หรือทางสำนึก (Consciousness) ของตัวเอง อันเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพสำคัญของมนุษย์ นั่นคือเสรีภาพในการคิด (Freedom of Thought)
การใช้ยาเสพติดเพื่อให้ตัวเองเกิดภาวะทางจิตต่างๆ นานา เช่นมีความสุข หัวเราะ เกิดภาพหลอน หรือพาตัวเองเข้าสู่สภาวะที่โดยปกติแล้วทำไม่ได้ ถือเป็นหนึ่งในสิทธิแบบนี้ ซึ่งในหลายกรณีก็ก่อให้เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติได้ด้วย เช่น นักเขียนหรือศิลปินบางคนเลือกใช้ยาเสพติดบางชนิดเพื่อให้ตัวเข้าสู่ภาวะบางอย่างที่ชีวิตปกติธรรมดาเข้าถึงไม่ได้ ทำให้เกิดงานศิลปะชั้นยอดของโลกขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนี้มีข้อแม้นะครับ ว่ามันจะต้องถูกจำกัดโดยหลักการที่ว่า – พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางจิต จะต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายไม่ว่าในด้านไหนกับผู้อื่น และต้องไม่ไปบังคับคนอื่นให้มาใช้ยาเสพติดแบบตัวเองด้วย ซึ่งเรื่องที่ว่ามานี้ไม่นับรวมการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการใช้ความรุนแรงในขบวนการค้ายาเสพติด เพราะเรื่องพวกนั้นไม่ใช่ทั้งสิทธิและเสรีภาพที่คนเราควรจะทำได้อยู่แล้ว
ที่จริง เรื่อง Cognitive Liberty มีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก เพราะมันหมายถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อ ‘ขุด’ ลงไปในสมองของเราเพื่อดูว่าลึกๆ แล้วในจิตใต้สำนึกของเราเป็นอย่างไร สมองส่วนไหนของเราทำงานอย่างไรเวลาถูกกระตุ้นต่างๆ บ้าง เช่น กองทัพสหรัฐฯ เคยใช้วิธีกระตุ้นสมองบางส่วนเพื่อเพิ่มความรู้สึกอยากสู้รบ (Fight) ให้คน หรือในปี 2008 ศาลอินเดียเคยตัดสินให้ผู้หญิงคนหนึ่งผิดฐานฆาตกรรมโดยใช้หลักฐานเป็นการสแกนสมอง ซึ่งผลการสแกนดันบ่งชี้ว่าผู้หญิงคนนี้วางแผนฆาตกรรมเอาไว้ล่วงหน้า เธอจึงโดนโทษหนัก ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่ารัฐหรือศาลสามารถใช้วิธีแบบนี้เพื่อ ‘ขุด’ เข้าไปภายในความคิดของเราได้หรือเปล่า
แม้ปัจจุบันนี้ Cognitive Liberty ยังไม่ถูกจัดเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน แต่ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ และมีหลายภาคส่วนที่เสนอให้เป็นสิทธิที่ควรได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเกี่ยวกับสำนึกรู้ของมนุษย์และประสาทวิทยาก้าวหน้าขึ้นทุกที จนสามารถขุดลึกลงไปภายในสมองของเราในแบบที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน
จะเห็นว่า ข้อถกเถียงเรื่องการใช้ยาเสพติด และวิธีที่จะ ‘หยุดยั้ง’ ปัญหาของยาเสพติดในระดับโลกนั้นก้าวไกลไปพ้นการทำสงครามยาเสพติดด้วยความรุนแรงตามแบบฉบับของริชาร์ด นิกสัน (อันเป็นแนวคิดโบราณในยุคเจ็ดศูนย์) มากนัก
แน่นอน ในสังคมไทยของเรายังมีคนที่เจ็บปวดสาหัสกับยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ลูกติดยา คนที่ถูกคนติดยาทำร้าย คนที่ถูกหลอกให้ติดยา คนที่ต้องตกอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์เพราะยาเสพติ ฯลฯ สำหรับหลายคน การมองวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่เหล่านี้อาจฟังดูห่างไกลเกินไป นอกกรอบมากเกินไป ไม่เหมือนวิธีแก้ปัญหาแบบทำสงครามกับยาเสพติดด้วยวิธีที่เด็ดขาดรุนแรง ซึ่งถ้าคิดแบบตรงไปตรงมาก็น่าจะให้ผลที่รวดเร็วและเฉียบขาดมากกว่า
แต่ตัวอย่างจากโปรตุเกส และแนวคิดใหม่ๆ จากที่ต่างๆ ทั่วโลก กลับแสดงให้เราเห็นว่าอาจมีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากวิธีแก้ปัญหายาเสพติดแบบเดิมอยู่ ซึ่งเอาเข้าจริง จะแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ เหล่านั้นได้ ก็ต้องย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างสังคม ความคิด ความเชื่อ และวิธีคิดทางวัฒนธรรมของเราด้วย – ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
คำถามก็คือ – เราจะกล้าเปิดใจให้กว้าง มองปัญหานี้ด้วยสายตาแบบใหม่ เพื่อนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ, หรือเปล่า