ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) กลายเป็นคำฮิตติดปากในหลายๆ ปีมานี้ ทั้งการออกแบบ การตลาด การเมือง การเลี้ยงลูก หากทุกคนบนโลกมีความเห็นอกใจกัน โลกคงสดใส อบอุ่น งดงาม สันติภาพจะมาถึง ไม่มีสงคราม หากเราสงสารเพื่อนมนุษย์อย่างจับใจ อยากแก้ไข ดูแล บรรเทาทุกข์กันและกัน
empathy คือความรู้สึกร่วมในความรู้สึกคนอื่น ไม่ใช่เพียงรับรู้ แต่เป็นการพาตัวเราไปสวมร่างเขาว่ารู้สึกอย่างไร ผลการทดลองทางประสาทวิทยาพบว่า การได้เห็นคนอื่นเจ็บปวด สมองของคนเราจะรู้สึกเจ็บปวดใน pathway เดียวกันกับยามที่เจ็บปวดเอง คำพูดที่บอกว่า “I feel your pain” ไม่ใช่เพียงคำอุปมาแต่เป็นความรู้สึกเดียวกันจริงๆ เมื่อเราเห็นคนเจ็บปวด
“empathy เป็นสิ่งดีเสมอรึเปล่า?” มีชายคนหนึ่งตอบหนักแน่นชัดเจนว่า “ไม่”
เขาคือ Paul Bloom นักจิตวิทยาและนักวิทยศาสตร์ด้านประสาทจาก Yale เขานำเสนอว่าความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) นั้น ในหลายๆ ครั้งก็นำพาปัญหาและโทษมาให้ เราไม่สามารถใช้ความสงสารและความรู้สึกดีนำทางเป็น Moral Guide ได้เสมอไป โดยเขาได้เขียนหนังสือ Against Empathy: The Case for Rational Compassion ในปี 2016
เมื่อความเห็นอกเห็นใจกลายเป็นความเห็นแก่ตัว
ปี 2012 มีคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนประถมศึกษา Sandy Hook ในเมือง New Town รัฐ Connecticut วัยรุ่นชายผู้เก็บตัวนามว่า Adam Lanza บุกยิงกราดนักเรียน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 26 คน ซึ่งเหยื่อส่วนมากเป็นเด็กประถม กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ทุกคนติดตามคดีอย่างใกล้ชิด มีความทุกข์ร่วมกันท่วมท้นคนทั้งโลก ต้องเหี้ยมโหดขนาดไหนถึงสามารถฆ่าเด็กประถมที่ไร้เดียงสาได้
คนจากทั่วประเทศส่งของเล่น ของขวัญ และเงินบริจาคมาสู่เมืองนี้อย่างล้มหลาม จนทางการของเมือง New Town ต้องขอร้องให้หยุดส่งของเล่นมาได้แล้ว เพราะพวกเขาต้องวุ่นวายหาอาสาสมัครจำนวนมากมาช่วยจัดการของเล่นที่ส่งให้เด็กประถมอันไร้เดียงสาน่าสงสาร (ที่ตายไปแล้ว) แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดความหวังดีที่ล้นจิตใจได้
ความสูญเสียที่รู้สึกร่วมกันได้นั้นทำให้เราได้รู้สึก ความขำขันอันน่าขมขื่น คือผู้คนจากชุมชนยากจนส่งเงินบริจาคให้กับคนในชุมชนที่ฐานะดีกว่าเพราะสงสารพวกเขาจับใจ แต่หลายคนอาจลืมมองไปว่า การแก้ปัญหาระยะยาวอาจไม่ใช่การส่งของเล่น แต่เป็นการเรียกร้องให้เข้มงวดกวดขันการครอบครองและซื้อขายอาวุธปืนหรือเปล่า
หากการสนับสนุน empathy คือการชวนให้คนได้ลองสวมตัวเองเป็นคนอื่นเพื่อเข้าใจและรู้สึกถึงความเจ็บปวดของเขาอย่างลึกซึ้ง ‘หากเหยื่อเป็นลูกเรา เป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้องเราล่ะ จะรู้สึกยังไง’ แต่การสงสารผู้เคราะห์ร้ายอาจผลักดันให้คนทำสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่ก่อประโยชน์ จนเกิดภาระและปัญหาที่ไม่ควรต้องเกิดเพียงเพราะหวังดี
อย่าให้ความสงสารกลายเป็นการทำเพื่อบำบัดทุกข์ส่วนตัวชั่วคราว แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะเราแค่อยากทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองหายเจ็บปวดจากความทุกข์ที่มีร่วมกับผู้เคราะห์ร้ายในทีวี
ไม่เห็นใจ = ไม่ใช่คน : เมื่อความสงสารสร้างอคติและความโกรธ
ความอันตรายของความเห็นอกเห็นใจคือ หลายๆ ครั้ง มันขึ้นอยู่กับว่าเราสงสารใคร เราอยู่ทีมไหน หลายครั้งเราสงสารคนกลุ่มหนึ่ง และกลับเฉยๆ กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ความสงสารทำให้เราลำเอียงและมีอคติ เรามีแนวโน้มจะเห็นใจคนที่ใกล้ชิดหรือคนที่เราชอบมากกว่า
ในการทดลองหนึ่ง ให้กลุ่มตัวอย่างดูภาพวีดีโอคนเจ็บปวดทรมานจากโรคเอดส์ เมื่ออธิบายว่าพวกเขาติดเชื้อจากการใช้ยา กลุ่มตัวอย่างเห็นใจพวกเขาน้อยลงกว่าหากเล่าว่าติดเชื้อจากการถ่ายเลือด
ในอีกการทดลอง ให้กลุ่มตัวอย่างดูภาพชายแปลกหน้าที่โดนช็อตไฟฟ้าเบาๆ เมื่อกลุ่มตัวอย่างรับทราบว่าคนที่โดนช็อต ชอบทีมฟุตบอลคนละทีมกับเขา ความเจ็บปวดที่มีร่วมกันหายไป ความทุกข์ของคนที่ไม่ใช่พวกของเรากลายเป็นความสุขเบาๆ เมื่อคนที่เราไม่ชอบพบความโชคร้าย เรากลับรู้สึกสมนํ้าหน้า กรรมตามทัน
สิ่งที่ควรระลึกคือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ อาจส่องไฟ spotlight ให้เราสงสารแค่คนบางคนที่เราเห็นได้ชัด หรือที่อยู่ในความสนใจ ให้เราได้รู้สึกร่วม แต่มันอาจบิดเบือน ทำให้เราไม่เห็นภาพรวม ไม่พยายามเข้าใจ เมื่อคนโชคร้ายที่เป็น ‘คนอื่น’
อคติของความสงสารอาจเกิดจาก Identifiable Victim Effect คือการที่เราเห็นใจเหยื่อที่มีชื่อและมีหน้าชัดเจนมากกว่า เราสงสารเขาได้อย่างจับใจและรุนแรง ความโชคร้ายของเขารบกวนจิตใจ ทำให้เรารู้สึกแย่ อยากช่วยเหลือเพื่อบรรเทา แต่เรากลับเพิกเฉยต่อโศกนาฏกรรมอันเป็นคนแปลกหน้าที่มาเป็นตัวเลขทางสถิติ ดังเช่น บางคนเลือกที่จะให้เงินกับขอทานเพื่อได้ส่งต่อความสุขแบบที่เห็นได้ตรงหน้า มากกว่าใส่เลขบัตรเครดิตโอนเงินให้มูลนิธิเพื่อบรรเทาทุกข์คนแปลกหน้าที่ไม่เคยพบผ่านประสาทสัมผัส
ในแคมเปญหาเสียง ทรัมป์พูดถึงชื่อ Kate บ่อยครั้ง เธอคือ Kate Steinle เหยื่อฆ่าข่มขืนโดยผู้อพยพผิดกฏหมาย เพื่อโน้มน้าวสร้างแคมเปญทางการเมืองเพื่อส่งตัวคนอพยพกลับ โดยเหมารวมเรียกว่า ’นักข่มขืน’ (rapist) สร้างภาพฆาตกรชาวเม็กซิกันได้ชัดเจนกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่โกรธแค้น มีบทความต่อต้านผู้อพยพ เช่น ‘เสียเพื่อนเพราะยาเสพติดหรอ ขอบคุณคนเม็กซิกันสิ’
คนต่อต้านทรัมป์อาจมองเห็นว่าเพราะแนวคิดนี้ไม่มี empathy ต่อผู้อพยพที่ไม่ได้ทำผิดแต่โดนเหมารวมไปหมดว่าอันตรายและน่ารังเกียจ แต่หากมองในอีกมุม แคมเปญของทรัมป์ประสบความสำเร็จจากการใช้ empathy ของคนอเมริกันกลุ่มที่โกรธและหวาดกลัว มากระตุ้นเร้าความเกลียด
ความเห็นใจสงสารอย่างเข้มข้นได้ก่อความเปลี่ยนแปลง ทำให้มวลชนรู้สึกแย่ จนทนไม่ได้ต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ความสงสารสามารถถูกใช้เพื่อเร้าอารมณ์ สร้างความโกรธ ความเกลียด ความแค้น และนำพาความรุนแรงได้ ไม่ว่าครั้งไหนในสงคราม แต่ละฝั่งไม่เคยแบ่งเป็นฝั่งคนดีกับฝั่งคนร้าย ไม่มีใครมองกลับไปแล้วบอกว่าตัวเองอยู่ฝั่งที่ต้องการให้โลกล่มสลายอย่างไร้เหตุผล แต่สงครามนั้นคือคนดีทั้งสองฝั่งที่ต่อสู้กันว่าฉันดีกว่า ถูกกว่า เราต่างคิดว่าเราอยู่ในฝั่งคนดี ฝั่งที่ถูกต้อง มีมนุษยธรรมทั้งนั้น
หากไม่ระวัง ‘ความสงสาร’ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ’ความหวังดี’ หรือ ‘ความอยากเป็นคนดี’ ของเรา อาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับผู้หาผลประโยชน์จากสถานการณ์ ‘ความหวังดีของเรา’ อาจถูกใช้โน้มน้าวให้เราทำและสนับสนุนบางอย่างที่มองกลับไปแล้วน่าอาย คนใจดีขี้สงสารถูกปลุกเร้าอารมณ์โกรธเกลียดและตกเป็นเหยื่อ ซึ่งสุดท้ายคนที่น่าสงสารอาจเป็นเราเอง
Effective Altruism เมตตาอย่างมีสติ ทำดีอย่างมีประสิทธิภาพ
Peter Singer เสนอการเคลื่อนไหว Effective Altrusim Movement โน้มน้าวให้คนเลือกทำดีและมีเมตตาผ่านการคิดคำนวณด้วยหลักฐานและเหตุผลมากกว่าทำดีเพื่อรู้สึกดีส่วนตัวแล้วจบไป ไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมา เป็นการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมให้เรารู้สึกเราเป็นคนจิตใจดีแต่ไม่มีประโยชน์ในระยะยาว Paul Bloom เรียกว่า Rational Compassion เกิดความเมตตาอย่างมีสติและผ่านการคิดไตร่ตรองแบบที่
บทความ The Voluntourist’s Dilemma ใน New York Times ตั้งคำถามกับปรากฏกาณณ์ Voluntourism การท่องเที่ยวเชิงอาสา ผู้จัดโปรแกรมได้ชักชวนจูงใจคนหนุ่มสาวและนักศึกษาให้เดินทางข้ามนํ้าข้ามทะเลเพื่อทำความดีกับประเทศกำลังพัฒนา ช่วยเหลือคนยากไร้ ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะสอนหนังสือ ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาหรือโรคเอดส์ สร้างโรงเรียน สร้างที่พักอาศัย บางโปรแกรมอาสาสมัครมาเข้าร่วมเพียงเวลาสั้นๆ 1-2 สัปดาห์ หากนำเงินค่าเครื่องบินที่พาอาสาสมัครนำไปจัดสรรเพื่อจ้างงานคนท้องถิ่นที่มีทักษะ อาจจะสร้างโรงเรียนได้เร็วกว่าและดีกว่า การสร้างงานให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนนอก
แพทย์คนหนึ่งเล่าถึงการไปเป็นอาสาสมัครในโครงการหนึ่งที่ประเทศ Tanzania แต่เขากลับรู้สึกว่ามันไม่สร้างประโยชน์อะไรมากนัก เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรีย หากเทียบกับค่าเครื่องบินและค่าดำเนินการ การส่งเงินไปช่วยอาจเป็นประโยชน์กับทุกคนมากกว่า บทความ Poverty as a Tourist Attraction วิจารณ์ปรากฏการณ์เมื่อ ‘ความยากจน’ กลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวว่า เราสามารถช่วยได้โดยแบกกายหยาบของเราไปอยู่ตรงนั้นเพื่อซึมซับความรู้สึกเจ็บปวดและความรู้สึกดีของการได้เยียวยา
บทความ One-for-None โดยเว็บไซต์ Harvard Politics วิจารณ์โมเดลธุรกิจรองเท้า Toms ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องแคมเปญ One-to-One คือเมื่อเราซื้อรองเท้า 1 คู่ บริษัทจะบริจาค 1 คู่ให้เด็กยากจนขาดรองเท้าในละตินอเมริกา
แต่ผลการวิจัยพบว่าไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นได้จริง เพราะรองเท้านั้นกินไม่ได้ อย่างไรก็ดีเราคิดว่ายังดีที่ Toms มีจิตใจจะสงสัยและตรวจสอบความดีของตัวเอง ด้วยการลงทุนจ้างนักวิจัยเพื่อหาว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นสร้าง impact ได้มากแค่ไหน เมื่อพบว่าไม่มีผลชัดเจนก็ประกาศว่าจะปรับปรุงโมเดลธุรกิจให้ดีกว่าเดิมเพื่อให้เป็นความดีที่มีประสิทธิภาพ
แค่ทำเพราะหวังดีและรู้สึกดีก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ?
สำหรับ Paul Bloom แค่รู้สึกดีอาจจะไม่พอ คนเราน่าจะทำได้มากกว่านั้น แม้ Empathy มีประโยชน์ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่การบริจาคเพื่อการกุศล และการวางแผนนโยบายระดับประเทศ ควรคิดคำนวณถ้วนถี่ให้มากกว่าความหวังดีและรู้สึกดี
ความเมตตากรุณานั้นสวยงามแต่การตรวจสอบว่าองค์กรหรือธุรกิจเพื่อสังคมที่สัญญาว่าจะสร้างประโยชน์ให้สังคมนั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหนก็สำคัญ อารมณ์สงสารสะเทือนใจช่วยสร้างแรงจูงใจ ลงมือทำได้เลย!
คิดมากทำไมให้ปวดหัว? แต่ถ้าหากเราไม่คิดเลย เราอาจเลือกทางที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองโดยไม่คิดถึง Cost-Benefit ของการตัดสินใจของเราว่ามีประสิทธิภาพและมีประโยชน์กับโลกจริงรึเปล่า หากไม่มีประโยชน์ก็ชวนให้สงสัยว่า แล้วเราทำไปทำไมนะ?
บทความโจมตี empathy ในหลายๆ สำนักโดนโจมตีกลับอย่างรุนแรงว่า ช่างเป็นบทความที่ไม่มีหัวใจ ไร้มนุษยธรรม และสนับสนุน psychopath (psychopath คนที่ไม่มี empathy ไม่สามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดของคนอื่นได้)
แต่มีแพทย์ฉุกเฉินเขียนจดหมายมาขอบคุณที่หยิบยกประเด็นนี้มาพูด เธอพบว่าการมีความเห็นอกเห็นใจในอาชีพทำให้เธอรู้สึกบั่นทอนจิตใจอย่างมาก การตัดความรู้สึกได้มีประโยชน์กับคนไข้ของเธอมากกว่า การที่เธอต้องเข้าไปในไซต์ World Trade Center หลังโศกนาฏกรรม 911 ทำให้จิตใจของเธอสั่นคลอนรุนแรง เธอรู้สึกผิดอย่างมาก แต่ต้องตัดขาดความรู้สึกของตัวเองที่มีกับผู้ป่วยได้ แต่ลองนึกว่า หากศัลยแพทย์คนไหนต้องผ่าตัดคนไข้ โดยให้รู้สึกเหมือนกำลงผ่าตัดลูกของตัวเอง น่าจะเป็นงานที่ดูดกินวิญญาณอย่างมาก
ในอาชีพที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนป่วย คนทุกข์ คนเศร้า คนโกรธ ตลอดวันอาจทำให้เสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะ Empathy Burnout รู้สึกหมดพลังงานชีวิตจากความเห็นอกเห็นใจและความรู้สึก ซึ่งเพื่อให้ทำงานได้ในระยะยาว การพาความรู้สึกตัวเองออกห่างอาจไม่ใช่การกลายเป็นคนเลือดเย็น แต่เป็นการป้องกันไม่ให้รู้สึกท่วมท้นจมปลักไปกับความเศร้าและความเจ็บปวด
เราไม่ต้องตัดความสงสาร กลายเป็นมนุษย์อันแข็งกระด้าง
หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับ Bloom เขาไม่ได้ต่อต้านความเมตตาและการทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ แต่จากตัวอย่างที่ยกมา ทำให้เห็นว่า จุดอันตรายคือ empathy ทำให้เกิดความเจ็บปวด เราผูกกับทุกข์ของเขา ทำให้ยอมทำยังไงก็ได้ให้รู้สึกดีขึ้นโดยไม่สนผลที่ตามมา เพราะเราเป็นคนดีใช่ไหม?
empathy คือส่วนประกอบความเป็นมนุษย์ที่สำคัญ
empathy ทำให้เราเห็นใจเพื่อมนุษย์ที่ไม่ใช่ตัวเราและไม่ใช่เพื่อนพ้องหรือญาติ
empathy ทำให้เราดูหนังหรืออ่านหนังสือแล้วร้องไห้เพราะเชื่อมต่อเข้าใจและรู้สึกไปกับในตัวละคร
empathy ก่อความรู้สึกอันรุนแรงทำให้เราลงมือทำ take action หาทางออก ยอมเหนื่อย ยอมสละเวลาและร่างกาย ออกไปทำอะไรสักอย่างด้วยความรู้สึกท่วมท้นหัวใจด้วยความหวังและความเชื่อมั่น
ในตอนจบของหนังสือ Against Empathy หยิบคำพูดของ Steven Pinker ที่กล่าวไว้ว่า “แทนที่จะเราจะต้องรักเพื่อนบ้านและศัตรูให้เท่าที่รักตัวเอง ไม่ต้องรักเพื่อนบ้านก็ได้ แต่เราเลือกได้ที่จะไม่ฆ่าและทำร้ายเขา”
เราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการเป็นคนมีเหตุผลแต่เลือดเย็นไร้หัวใจกับการคนหวังดีที่มีหัวใจแต่ไร้สติ เราไม่ต้องสละสมองเพื่อแลกกับความเห็นใจในเพื่อนร่วมโลก เพราะเราสามารถมีทั้งสองสิ่งพร้อมกันได้
อย่าสงสารอย่างไร้สติ นอกจากไม่ช่วยอะไรดีขึ้น แล้วเราอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Against Empathy: The Case for Rational Compassion
amazon.com/Against-Empathy-Case-Rational-Compassion - Behave: The Biology of Humans at Our Best and Worst
amazon.com/Behave-Biology-Humans-Best-Worst - The Voluntourist’s Dilemma
nytimes.com - Explaining the “Identifiable Victim Effect”
andrew.cmu.edu - One-for-None: Aid Dependency and the “TOMS Model”:
harvardpolitics.com - Shoeing the Children: The Impact of the TOMS Shoe Donation Program in Rural El Salvador
academic.oup.com
Illustration by Yanin Jomwong