หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำถามปรัชญา ที่ให้เราเลือกระหว่างการยืนอยู่เฉยๆ ปล่อยให้รถไฟวิ่งต่อไปทับคนห้าคน หรือกดปุ่มเปลี่ยนรางให้รถไฟไปทับคนคนเดียวตายแทน แปลเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือคุณพร้อมฆ่าคนจำนวนน้อยกว่า เพื่อช่วยคนจำนวนมากกว่าหรือไม่?
คำถามนี้สะท้อนอยู่ในเหตุการณ์จริงจำนวนไม่น้อย แต่คงยากจะมีครั้งไหนชัดเจนเท่ากับเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รัฐบาลอังกฤษต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างการปล่อยให้จรวดของนาซีลอยเข้าถล่มศูนย์กลางลอนดอน หรือการปล่อยข่าวลวงเพื่อเปลี่ยนทางจรวด ให้ไปลงใส่หัวคนทางใต้ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าแทน
หากดูจากลำดับเวลา สถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นภาคต่อของ Dunkirk เลยทีเดียว
บริบทของเรื่องก็คือหลังกองทัพอังกฤษพ่ายแพ้ในยุโรปและต้องหนีกลับเกาะตัวเองในช่วงเดือนมิถุนายน 1940 ฝ่ายฮิตเลอร์ที่ยึดฝรั่งเศสได้อย่างเบ็ดเสร็จและกำลังได้ใจสุดๆ ก็สั่งให้กองทัพเยอรมันดำเนินแผนขั้นต่อไป ได้แก่การโจมตีประเทศอังกฤษซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของเสรีประชาธิปไตยในยุโรป โดยใช้กำลังทางอากาศทิ้งระเบิด ยุทธการที่ว่ากินเวลากว่าสี่ห้าปี จำนวนคนตายเฉพาะที่เป็นประชาชนก็รวมแล้วเกือบครึ่งแสน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อการถล่มเกาะอังกฤษดำเนินไปได้สี่ปี
ในปี 1944 ฝ่ายเยอรมันได้เปิดตัวจรวดนำวิถี V1 ที่สามารถสร้างความเสียหายและสังหารสิ่งมีชีวิตได้ในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เครื่องยิงจรวดนี้ยกระดับความตึงเครียดของอังกฤษไปอีกขั้น เพราะฝ่ายเยอรมันสามารถตั้งฐานยิงตามชายฝั่งฝรั่งเศส แล้วสาดจรวดพลังทำลายล้างสูงจำนวนมหาศาล เข้าใส่เมืองสำคัญโดยเฉพาะลอนดอนได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง
ท่ามกลางความหวาดผวา ฝ่ายอังกฤษมีข่าวดีอยู่อย่างหนึ่ง คือจรวดที่ฝ่ายนาซีประดิษฐ์ขึ้น ยังไม่มีระบบนำร่องที่แม่นยำ การจะตรวจสอบว่าจรวดถล่มเป้าหมายสำคัญได้หรือไม่ ต้องอาศัยการส่งสายลับแฝงเข้าไปในพื้นที่ แล้วรายงานจุดตกกลับมา
และความโชคดีกว่านั้น ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าสายลับที่เยอรมันส่งเข้ามารายงานจุดตกนั้น ไม่เห็นด้วยกับระบอบนาซี และแอบติดต่อขอยอมแพ้ต่อรัฐบาลอังกฤษหมดแล้ว!
ทันทีที่การปูพรมจรวด V1 ระลอกแรกจบลง กองทัพเยอรมันซึ่งไม่รู้อะไรเลย ก็ได้ติดต่อสายลับของตนให้รายงานผลอย่างเร่งด่วน สายลับสองหน้าเหล่านี้จึงแอบถามต่อมายังกองทัพอังกฤษ ว่าอยากให้พวกเขารายงานกลับอย่างไร
ตามข้อเท็จจริงแล้ว กองทัพเยอรมันคาดคะเนได้อย่างแม่นยำ จรวดส่วนใหญ่ของพวกเขาตกลงกลางลอนดอน เฉียดจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของประเทศ อันได้แก่สถานี Charring cross ที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ใช้เดินทางไปฮอกวอตส์ ไปทางใต้เพียงสามสี่กิโลเมตรเท่านั้น!
กองทัพอังกฤษ ซึ่งกลัวว่าฝ่ายเยอรมันจะขยับจุดตกขึ้นเหนือไปโดน Charring cross จึงเสนอแผ่นอันชาญฉลาดให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติด่วน
ตามแผนดังกล่าว ฝ่ายอังกฤษจะให้สายลับเยอรมันที่มาสวามิภักดิ์โกหกกลับไปยังประเทศตัวเอง ว่าระเบิดทั้งหมดพลาดเป้า และควรเคลื่อนจุดตกลงไปทางใต้อีกสามสี่กิโล โดยหวังว่าการโกหกนี้จะช่วยเขยิบจรวดซึ่งตกทางใต้ของ charring cross อยู่แล้ว ให้ลงไปทางใต้อีกเรื่อยๆ
กองทัพอังกฤษประเมินว่าด้วยแผนดังกล่าว ยุทธศาสตร์ทางการทหารจะปลอดภัย และเพราะลอนดอนฝั่งใต้มีคนอยู่น้อยกว่า ยอดคนตายจะลดลงประมาณ 25,000 คนต่อปี หากสงครามจำเป็นต้องลากยาวต่อไปอีกซักสองถึงสี่ปี แผนนี้ก็จะช่วยชีวิตคนได้เพิ่มขึ้น 50,000-100,000 คน
จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ คุณจะตัดสินใจอย่างไรหากคุณเป็นรัฐบาลอังกฤษ?
เราควรนิ่งเฉยเหมือนกับการปล่อยให้รถไฟไปทับคนห้าคน หรือควรจะปล่อยข่าวลวงเปลี่ยนทางระเบิดเพื่อช่วยคนจำนวนมากกว่า เหมือนการเปลี่ยนทางรถไฟให้ไปทับคนหนึ่งคนแทน?
ตอนนี้ สายลับสองหน้าฝากบอกผ่านกองทัพอังกฤษ ว่าพวกเขารอไม่ได้แล้ว เพราะฝ่ายเยอรมันชักสงสัย ว่าทำไมจึงรายงานผลช้านัก
หากต้องตัดสินใจเร่งด่วนแบบนี้ เราหลายคนคงเห็นว่าในสงครามระดับสิ้นชาติ เราไม่ควรมาเสียเวลาคิดเล็กคิดน้อยเรื่องหลักการ อะไรทำแล้วดูมีประสิทธิภาพก็ต้องทำ เช่นการเปลี่ยนทางระเบิดเพื่อช่วยคนจำนวนมากและรักษาจุดยุทธศาสตร์ไว้
และนั่นก็ทำให้ข้อสรุปของรัฐบาลอังกฤษน่าตกใจมากสำหรับพวกเรา…
จากการค้นคว้าของ Susanne Burri อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา แห่ง London School of Economics and Political Science พบว่าเมื่อได้รับแผนจากกองทัพ รัฐบาลตอบกลับทันทีว่าแผนดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐบาล พูดให้ชัดก็คือรัฐบาลไม่มีอำนาจในการกำหนดให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตายเป็นการเฉพาะ
Herbert Morrison รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิขณะนั้น ถึงกับทุบโต๊ะยืนยันกับทหารที่เถียงด้วย ว่าผมเป็นรัฐบาล ‘ไม่ได้เป็นพระเจ้า!’
ช็อคมั้ยล่ะครับ น่าตกใจไม่ใช่เล่นที่รัฐบาลอังกฤษกล้าตัดสินใจเชิงหลักการในห้วงเวลาแห่งความเป็นความตายแบบนี้ จะว่าเป็นการเอาใจประชาชนก็ไม่ใช่ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่รู้ว่ารัฐบาลตัดสินใจไม่เสียสละคนส่วนน้อยแบบนี้ ก็คงโกรธไม่ใช่เล่น
พวกเราคงเริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับรัฐบาลอังกฤษกันบ้างแล้ว
แต่ Susanne พยายามทำความเข้าใจผ่านการอ่านเอกสารชั้นต้น แล้ววิเคราะห์ว่าความเห็นของคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้เหลวไหลสักทีเดียว เพราะมันสะท้อนหลักการเรื่อง ‘การพิจารณาอย่างเท่าเทียม (equal consideration)’
โดยทั่วไป หลักที่ว่าเป็นที่มาของความชอบธรรมของรัฐบาลหนึ่งๆ หลักการนี้บอกว่ารัฐบาลต้องปกป้องประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ภายใต้หลักการดังกล่าว การดูแลหรือกระจายความเสี่ยงให้กับประชาชนผ่านนโยบายต่างๆ นั้นชอบธรรม ตราบเมื่อมันเป็นไปอย่างเท่าเทียมเท่านั้น
การเลือกให้ระเบิดไปลงลอนดอนใต้นั้นขัดกับหลักการดังกล่าว เพราะเท่ากับเป็นการเลือกให้คนกลุ่มหนึ่งรับภาระความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น
หลายคนคงไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้ และมองว่าจะเป็นการสมเหตุสมผลกว่าในภาวะวิกฤติ หากรัฐบาลมุ่งเป้าไปที่ประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุด มากกว่าจะมานั่งกังวลเรื่องความเท่าเทียมของคนกลุ่มน้อยที่เสียประโยชน์ แต่ Susanne อธิบายว่าสำหรับคนที่สนับสนุนหลักคิดเรื่องความเท่าเทียมที่ว่า เขาจะยกตัวอย่างชักจูงเราแบบนี้ครับ…
สมมติว่ามีคนร้ายซ่อนระเบิดไว้ที่ใดที่หนึ่งในเมือง ซึ่งระเบิดนี้จะสังหารคนสิบคน หลังจากนั้นคนร้ายก็โทรบอกรัฐบาล ว่าพวกเขาจะปลดระเบิด หากรัฐบาลยอมส่งคนบริสุทธ์คนหนึ่งซึ่งพวกเขาไม่ชอบให้พวกเขาฆ่า พูดง่ายๆ ก็คือเลือกคนคนหนึ่งไปตายแทนคนสิบคน
ผู้สนับสนุนหลักการการพิจารณาอย่างเท่าเทียมจะถามเราว่า หากเป็นสถานการณ์แบบนี้ เราควรยึดหลักประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุดแล้วช่วยคนสิบคนจริงหรือ? เราคงไม่เลือกทำอย่างนั้นกัน ทางที่ถูก รัฐบาลควรมุ่งค้นหาและกู้ระเบิดมากกว่า เพราะปฏิบัติการนี้ไม่ได้เลือกคนคนใดให้ออกไปตายแทนคนอื่น ระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าระเบิดซ่อนอยู่ไหน ทุกคนก็เสี่ยงโดนระเบิดเท่ากันหมด และหากมีการกู้ได้จริง ทุกคนก็จะปลอดภัยอย่างเท่าเทียม
นี่แหละครับ วิธีคิดแบบ ‘พิจารณาอย่างเท่าเทียม’
ณ ตอนจบของวัน รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธแผนของกองทัพ แล้วออกคำสั่งให้สายลับสองหน้ารายงานข้อมูลกลับไปแบบไม่ปะติดปะต่อ เพื่อให้เยอรมันประมวลจุดตกไม่ได้แล้วต้องเริ่มสุ่มจุดยิงใหม่ทั้งหมด Susanne บอกว่าหากมองจากหลักเรื่องการพิจารณาอย่างเท่าเทียม วิธีนี้ก็สมเหตุสมผล เพราะการสุ่มจุดตกใหม่ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงให้ทุกคนเท่ากัน
เอาเข้าจริงหลังจากนี้ รัฐบาลอังกฤษก็เปลี่ยนการตัดสินใจไปเป็นแบบอื่นๆ นอกเหนือจากทางเลือกทั้งหมดที่เรากล่าวมา ด้วยเหตุผลอันส่งผลต่อหลักการบางอย่าง ซึ่งยืดยาวและซับซ้อนเกินกว่าจะเอามาเล่าได้หมด ณ ที่นี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการตัดสินใจวันแรกแล้ว แม้เราหลายคนจะไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่เห็นว่ารัฐบาลอังกฤษไม่ฉลาดนักก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คงพอเห็นตรงกันได้ ก็คือคนพวกนี้น่านับถืออยู่ไม่น้อย ในแง่มุมที่พวกเขากล้ายืนยันเรื่องความเท่าเทียมของประชาชน