สายตาผมเพิ่งผ่านการจดจ่อภาพยนตร์คลาสสิกอย่าง Roman Holiday (ค.ศ. 1953) มาแบบสดๆ ร้อนๆ นับเป็นครั้งที่สามที่ได้รับชม ซึ่งสองครั้งก่อนหน้านี้ เคยเอกเขนกดูเพลินๆ โดยมิทันสังเกตสังกาอะไร แต่สำหรับครั้งล่าสุด ผมพลันมองเห็นอดีต ‘เสรีไทย’ ปรากฏกายอยู่ในภาพยนตร์!
ออกจะน่าทึ่งเหมือนกันที่ห้วงเวลาปลิดปลิวไปกว่าสิบปีแล้ว (พ.ศ. 2551-2561) ทว่าผมยังคงคลุกคลีไม่ห่างเหินมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าจะเอื้อนเอ่ยทำนองได้ถูกชะตากรรมจองจำเอาไว้ที่นี่ ก็ประหนึ่งการจองจำอันเปี่ยมล้นสุขสันต์เลยทีเดียว อ้อ และสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งมหาวิทยาลัยมอบให้ย่อมมิพ้นอุปนิสัยตกหลุมรักการดูหนัง
Roman Holiday ประทับความทรงจำของผมด้วยสถานะภาพยนตร์ขาวดำเรื่องแรกๆ ที่ได้สัมผัสสมัยเข้าเรียนธรรมศาสตร์หมาดๆ ใหม่ๆ ใช่เพียงแค่หลงใหลรอยยิ้มออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) นางเอกคนสวยหรอกนะ ผมกลับเผลอไผลนึกวาดภาพตนเองในรูปโฉมพระเอกเกรกอรี่ เป๊ก (Gregory Peck) สวมบทบาทนักข่าวอเมริกันผู้บังเอิญก่อเกิดสัมพันธภาพเชิงเสน่หาต่อเจ้าหญิงสูงศักดิ์ขณะเธอมาเยี่ยมเยือนประเทศอิตาลี ความไม่สมหวังคือบทสรุป แต่ถึงจะอย่างไร ฉากหนุ่มสาวทั้งสองขี่มอเตอร์ไซด์เวสป้า (Vespa) ยังคงโลดแล่นแจ่มชัดในกระแสรู้สึกไม่เสื่อมคลาย
เช่นเดียวกับใครหลายคนที่นิยมชมชอบภาพยนตร์สีมากกว่า หาก Roman Holiday เข้าข่ายข้อยกเว้นของผมแม้จะเป็นหนังขาวดำก็ตามเถอะ ชื่อภาษาไทยอันได้แก่ ‘โรมรำลึก’ อาจชวนกังขาอยู่บ้าง ทำไมหนอจึงไม่แปลชื่อภาษาอังกฤษตรงๆ ครั้นลองทอดสายตาเร็วๆ นี้ ปฏิเสธมิได้ว่าเขย่าอารมณ์ให้รำลึกถึงความกระชุ่มกระชวยแห่งวันวานเมื่อเริ่มมีบัตรนักศึกษาครามครัน
ก่อนผมจะเตลิดเปิดเปิงเพ้อรำพันไปกว่าควร ใคร่เชิญคุณผู้อ่านวกมาสนใจอดีตเสรีไทยคนที่ได้อ้างถึงตั้งแต่ย่อหน้าแรกสุด ชายผู้นั้น-บุญพบ ภมรสิงห์
พ.ศ. 2460 ณ ดินแดนเชียงใหม่ บุญพบได้ถือกำเนิดขึ้น เขาเติบโตในครอบครัวนายตำรวจที่มักจะโยกย้ายบ่อยๆ ทั่วมณฑลภาคเหนือ นั่นทำให้ต้องติดตามบิดาไปด้วยแทบทุกคราวจนผุดพรายอุปนิสัยรักการท่องเที่ยว ทางด้านงานอดิเรกยามว่างก็ชอบวาดเขียนและฟ้อนรำยิ่งนัก ภายหลังสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 เมื่อปีพ.ศ. 2477 ตอนนั้นผู้เป็นบิดารับราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ (เคยปราบปรามโจรจีนที่อำเภอเบตงด้วย) บุญพบจึงขออนุญาตออกเดินทางตระเวนทั่วแหลมมลายูนับแต่เขตมาเลเซียกระทั่งสิงคโปร์รวมถึงทำงานหาเงินสารพัด หัวเลี้ยวสำคัญของชีวิตคนหนุ่มถิ่นล้านนาเกิดขึ้นโดยการพบปะและทำความรู้จักริชาร์ด ฝรั่งหนุ่มซึ่งชวนเขาให้ไปแสวงหาความรู้ในประเทศอังกฤษ ริชาร์ดคนนี้เองแหละที่ตั้งชื่อใหม่ให่หนุ่มไทยว่า ‘คิม’
บุญพบอ่านหนังสือบอกเล่าเรื่องคนไทยในยุโรปมามิน้อย สองเล่มโปรดไม่แคล้วละครแห่งชีวิต และผิวเหลืองผิวขาว ผลงานประพันธ์ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ฉะนั้น ‘เมืองนอก’ จึงเป็นความทะเยอทะยานที่เด็กหนุ่มใฝ่ฝัน ยิ่งกรุงลอนดอนยิ่งเร่งเร้าแรงปรารถนา แล้วที่สุดปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2481 สืบเนื่องด้วยญาติผู้ใหญ่หลายท่านแห่งเมืองเชียงใหม่ส่งเสริมสนับสนุน โดยหม่อมป้าของเขาและเจ้าลดาคำอำนวยความสะดวกขั้นตอนตระเตรียมเดินทาง ส่วนเจ้าแก้วนวรัฐยินดีมอบค่าเดินทางให้จำนวน 10,000 บาทอันมีมูลค่าสูงมากๆ ในยุคนั้น) ชายหนุ่มจากตระกูลภมรสิงห์ขึ้นรถไฟสายใต้มุ่งสู่ปีนัง แล้วต่อเรือรอนแรมไปยังอังกฤษ
บนเรือเดินสมุทร ‘ฮารุนะ มารุ ’ (Haruna Maru) มีนักเรียนทุนรัฐบาลชาวไทยไปศึกษาในยุโรปรวมทั้งสิ้น 24 คน ปลายทางอังกฤษ 6 คน ได้แก่ บุญพบเอง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำราญ วรรณพฤกษ์ ประทาน เปรมกมล ลำพูน ศศิบุตร์ และมาลา บุณยประภัสสร ปลายทางสหรัฐอเมริกา 16 คน สองคนนอนร่วมห้องเคบินเดียวกับเขา ตุ้ย วุฒิกุล ชาวเชียงใหม่เหมือนกัน และเล็ก ทรรทรานนท์
ปล่อยให้ท้องทะเลแทะเล็มกาลเวลานานหลายเดือน บุญพบก็ขึ้นฝั่งมาดื่มด่ำบรรยากาศกรุงลอนดอนช่วงประมาณปี พ.ศ.2482 ที่นั่น เขาพากเพียรเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติมพร้อมๆ สมัครเข้าโรงเรียนวิชาวาดเขียน อาศัยคลุกคลีอยู่กับริชาร์ดเกลอเก่าเมื่อครั้งเตร็ดเตร่สิงคโปร์ พักพิง ‘แฟลต’ เดียวกันย่านถนนดิวอนเชียร์ (Devonshire Street) ชายชาวเชียงใหม่ยังจับพลัดจับผลูไปรู้จักนายทหารและนักประพันธ์เลื่องชื่อ ไปเป็นนายแบบให้จิตรกรลือนามอย่างโอลิเวอร์ แมสเซล (Oliver Messel) เรื่อยไปถึงการได้พบราม โกปาล (Ram Gopal) ศิลปินเอกชาวอินเดียนายโรงคณะละครรำแขกฮินดู
ความที่เป็นคนคลั่งไคล้ศิลปะการฟ้อนรำมาแต่เด็กๆ ประมาณปลายปี พ.ศ. 2482 หลังทำความรู้จักถูกคอกันกับราฟิค อันวาร์ (Rafique Anwar) ศิลปินผู้เคยร่วมแสดงกับราม โกปาล บุญพบตัดสินใจเข้าร่วมฝึกหัดนาฏศิลป์แบบภารตะจากเพื่อนคนนี้ เขาหมั่นซ้อมร่ายรำเสียช่ำชอง แทบจะสามารถนำไปหาเงินเลี้ยงชีพได้ แต่ยังมิทันเป็นศิลปินเฟื่องฟูเต็มตัว สงครามโลกครั้งที่ 2 ฉับพลันอุบัติขึ้น กรุงลอนดอนก็ถูกโจมตีหนักหน่วง พอล่วงถึงกลางปี พ.ศ. 2485 หนุ่มเวียงพิงค์ต้องละทิ้งงานแสดงต่างๆ ไปรับใช้ชาติในฐานะทหารเสรีไทยแห่งกองทัพบกอังกฤษ
บุญพบเริ่มต้นฝึกทหารที่เมืองนอร์ทแธมป์ตัน (Northampton) แล้วย้ายไปประจำค่ายทางตอนเหนือของแคว้นเวลส์ ต้นปีพ.ศ. 2486 เสรีไทยซึ่งผ่านวิชาทหารในอังกฤษถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจในอินเดีย ยานนาวาล่องลอยเข้าสู่เมืองบอมเบย์หนนี้ไม่แตกต่างจากยานนาวาญี่ปุ่นที่หนุ่มเชียงใหม่เคยโดยสารมาอังกฤษ เพราะนักเรียนทุนรัฐบาลที่เคยร่วมลงเรือลำเดียวกันอย่างป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำราญ วรรณ พฤกษ์ และประทาน เปรมกมล ก็เป็นทหารเสรีไทยไปยังอินเดียด้วย ทุกคนพากันจัดงานรื่นเริงบนเรือ การรำไทยของมิสเตอร์ภมรสิงห์แช่มช้อยดึงดูดสายตาเพื่อนทหารต่างชาติถึงขั้นต้องแสดงให้ชมสองรอบ สถานะเสรีไทยสายอังกฤษในอินเดียส่งผลให้บุญพบย้ายฐานไปหลายแห่ง ทั้งบอมเบย์ ปูนา นิว เดลี การาจี และแคนดี้บนเกาะลังกา หน้าที่หลักๆ ของเขาเกี่ยวข้องกับแผนที่ประเทศไทย ปลายปี พ.ศ. 2488 ก่อนสมรภูมิปิดฉาก ทหารหนุ่มถิ่นล้านนาย้ายอีกหนไปอยู่สิงคโปร์จวบจนสงครามโลกเลิกรา
มิถุนายน พ.ศ. 2489 ชายคนหนึ่งผู้เหินห่างบ้านเกิดเมืองนอนราว 8 ปีก็ได้หวนย้อนคืนมา กระนั้น แค่เพียงหนึ่งเดือนที่เขาพำนักกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ก็ได้โบกมืออำลาไปเผชิญโชคต่อในอังกฤษ
ครั้งหลังนี้ บุญพบดิ้นรนรับจ้างทํางานหาเลี้ยงชีพอย่างเหน็ดเหนื่อย ที่สำคัญ เขาตัดสินใจแม่นมั่นแล้วว่าจะเป็นศิลปินอยู่ในยุโรป ยึดถือการแสดงฟ้อนรำและการวาดเขียนเป็นเครื่องมือประคับประคองลมหายใจในแต่ละวัน หนุ่มเวียงพิงค์พยายามเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติตนผ่านการรับฝึกสอนนาฏศิลป์ไทยให้ชาวยุโรป เดี๋ยวๆ จำได้รึเปล่าครับ ชายคนนี้ถูกริชาร์ดเรียกขานว่า ‘คิม’ นั่นเพราะพวกฝรั่งมักจะออกชื่อเขาเพี้ยนเนืองๆ เป็น ‘มิสเตอร์ฟามอราซิงหา’ด้วยเหตุนี้ ช่วงดำเนินชีวิตศิลปินจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘คิม นิตตยา’ แทน
ชะรอยสวรรค์เล็งเห็นความเอาจริงเอาจัง จึงบันดาลให้บุญพบสบโอกาสได้เจอคณะละครรำของราม โกปาล ยอดศิลปินอินเดียระดับโลกอีกหนในต้นปีพ.ศ. 2492 และเมื่อได้สนทนาพาทีกับราม ได้ออกตัวว่าเคยฝึกหัดรำจากราฟิค อันวาร์แล้ว ไม่ยากใจเลยสักนิดที่ชายชาวเชียงใหม่ตกลงกระโจนร่วมติดตามขบวนคณะละครรำฮินดูตระเวนจัดแสดงตลอดทั่วยุโรป ทั้งทางเหนือแถวสแกนดิเนเวีย (สตอกโฮล์ม และ โคเปนเฮเกน) ถอยลงมาปารีสและโรม
ช่างมากมายเหลือเกินว่าด้วยเรื่องราวแสนสนุกในต่างแดนของศิลปินนามบุญพบ ภมรสิงห์ดังได้กล่าวมาและยังมิได้กล่าว คุณผู้อ่านท่านใดไม่อิ่มหนำจุใจ ผมแนะนำให้ตามไปอ่านหนังสือศิลปินไทยในยุโรป ที่เจ้าตัวเขียนบันทึกประสบการณ์ต่างๆ ไว้เองอย่างร่ำรวยรายละเอียด แต่ในพื้นที่จำกัดนี้ ผมขออนุญาตเน้นสาธยายเฉพาะกรณีที่เขาสบโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์ Roman Holiday
ช่วงระหว่าง พ.ศ.2495-2496 เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนที่หนุ่มชาวเชียงใหม่สูดลมปราณในกรุงโรม ประเทศอิตาลี มิหนำซ้ำ เขายังร่วมงานกับบริษัท พาราเมาท์ พิกเจอร์ส (Paramount Pictures) จากฮอลลีวูด (Hollywood) นครหลวงแห่งภาพยนตร์
โดยร่วมแสดงเป็นตัวประกอบซึ่งสวมบทบาทเจ้าชายชาวไทยผู้ได้รับเชิญไปงานบอลล์ของเจ้าหญิงยุโรป เพื่อให้คุณผู้อ่านแว่วยินเสียงเล่าของบุญพบเหมือนผม งั้นขอหยิบยกหลายบรรทัดในหน้าหนังสือศิลปินไทยในยุโรปมาจัดวาง
ข้าพเจ้าพักอยู่ในโรมได้ราว ๗ – ๘ เดือนก็ได้ทํางานที่น่าสนใจและสนุกสนานชิ้นหนึ่ง เป็นเวลา ๕ วันในการแสดงเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์อเมริกัน ซึ่งยกกล้องไปทําการถ่ายที่นั่น ข้าพเจ้าได้ถูกสมมุติให้เป็นเจ้าชายไทยในเรื่อง “โรม รําลึก” (Roman Holiday) ค่าแรงที่ได้รับก็สูงดีคือวันละ ๑๕,๐๐๐ ลีร์หรือราวๆ ๖๑๑ บาท ข้าพเจ้าได้รับเข้าทำงานนี้โดยการบอกแนะนําจากเพื่อนชายชาวมอลต้าผู้หนึ่ง พอได้รับข่าวข้าพเจ้าก็โกยอ้าวขึ้นรถรางไปยัง “ชีเนชิตตา” (Cinecitta) หรือฮอลลีวู้ดของอิตาลีทันที เมื่อถึงแล้วข้าพเจ้าก็ตรงไปยังบริษัทปาราเมานท์ และขอพบกับนายกุยดี (Guidi) ชาวอิตาเลียนตามที่เพื่อนบอก เมื่อพบและรู้ความประสงค์ของข้าพเจ้าแล้วเขาจึงพาข้าพเจ้าไปพบกับวิลเลียม ไวเลอร์ (William Wyler) ผู้กำกับการแสดงอีกทีหนึ่ง
เผชิญหน้าผู้กำกับฮอลลีวูด หนุ่มไทยทำเยี่ยงไรบ้างล่ะ? เริ่มด้วยล้วงเอาภาพถ่ายของตนทั้งแบบธรรมดาและแบบแต่งองค์ทรงเครื่องละครส่งยื่นให้ไวเลอร์พินิจพิจารณา ซึ่งดูเหมือนเขาจะสำแดงความพึงพอใจ ผู้กำกับที่สันทัดการทำหนังคาวบอยเอ่ยถามหนุ่มเชียงใหม่ต่ออีกว่ารู้จักผู้หญิงไทยในกรุงโรมบ้างไหม เพราะจะได้นำมาแสดงประกบคู่กัน บุญพบได้ฟังแล้ว “ข้าพเจ้าจึงตอบแกว่าเท่าที่รู้ก็เห็นจะมีแต่ภรรยาของเจ้าหน้าที่ไทยผู้หนึ่งซึ่งประจำทำงานอยู่กับองค์การอาหาร ฯ (FAO) เท่านั้น แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักเขาทั้งสอง แกพูดยิ้ม ๆ ว่าสมควรแล้วที่ข้าพเจ้าควรจะหาโอกาสพบกับภรรยาข้าราชการไทยผู้นั้น แต่ข้าพเจ้ายังสงสัยว่าจะเป็นไปได้ละหรือ”
ใช่ครับ วิลเลียม ไวเลอร์ตกลงรับบุญพบเป็นนักแสดง บอกด้วยว่ารูปร่างลักษณะของหนุ่มไทยเหมาะสมเป็นเจ้าชายมากกว่าเอกอัครราชทูต ผู้กำกับอเมริกันยังต้องการให้ตัวละครนี้แต่งชุดไทยๆ ซึ่งน่าจะแปลกตาดี ทั้งมอบหมายหน้าที่ให้ชาวเชียงใหม่ออกแบบเครื่องทรงเจ้านายผู้หญิงสมัยโบราณด้วย ซึ่งเขาพยายามเขียนร่างจนเสร็จอย่างฉับไวพร้อมส่งวันรุ่งขึ้น
ก็ในเมื่อวางแผนเสียดิบดีจะให้ตัวละครเจ้าชายต้องสวมชุดไทย แต่ไฉนเล่าชุดที่เห็นจากภาพยนตร์จึงกลายเป็นชุดสากล บุญพบอธิบายว่ากุยดีได้สั่งฟรังโก “..ซึ่งเป็นผู้ดูแลเครื่องแต่งตัวศิลปินให้พาข้าพเจ้าไปหาเช่าเครื่องแต่งตัวสำหรับข้าพเจ้าตามร้านที่มีเครื่องละครทุกชนิดให้เช่า ฟรังโกพาข้าพเจ้าตระเวนกรุงถึง ๒ วัน แต่ก็หาอะไร ๆ ที่เป็นไทยหรือคล้ายของไทยไม่ได้เลยจึงกลับไปบอกไวเลอร์ ๆ ก็เห็นใจ จึงเลยให้ข้าพเจ้าแห่งสากล เชิ้ร์ตอกแข็งเสื้อหางแมงดาและผูกโบว์ขาวที่คอแทนและยังบอกต่อไปอีกว่า เมื่อพิจารณาดูเครื่องในแบบทั้งสองซึ่งข้าพเจ้าเสนอขึ้นไปนั้นแล้วเกรงว่าจะไม่ทันเพราะมีการเย็บปักลวดลายมากมาย…”
ยังไม่หมด ผู้กำกับไวเลอร์ได้ “ ขอให้ข้าพเจ้าออกแบบใหม่สำหรับชุดผู้หญิงซึ่งใช้กันในเวลานี้แทนด้วย ซึ่งข้าพเจ้าก็เขียนแบบคร่าว ๆ ให้ในขณะนั้นด้วยสีม่วงปนทอง พร้อมทั้งสายสะพายแต่คนตัดเย็บของบริษัททำสายสะพายผิด คือตัดชายหนึ่งเป็นรูปแหลมและเย็บอีกชายหนึ่งติดกับชายเสื้อเสียด้านข้างเสีย รุ่งขึ้นเป็นวันที่สามของการเตรียมงาน สุภาพ กาฬสีห์ พาข้าพเจ้าตระเวนเมืองอีกทางหนึ่ง เพื่อหาร้านเช่าจำพวกเหรียญตรา”
Roman Holiday ยังมีเกร็ดเล็กๆ พึงรับทราบ ดาลตัน ทรัมโบ (Dalton Trumbo) ผู้ที่รังสรรค์บทหนังกลับมิได้เครดิต แรกทีเดียววางตัวให้แครี แกรนท์ (Cary Grant) เป็นพระเอกเคียงคู่นางเอกอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) โดยแฟรงค์ คาปรา (Frank Capra) จะนั่งแท่นผู้กำกับ ไปๆ มาๆ ตกถึงมือวิลเลียม ไวเลอร์ รวมถึงพระเอกเกรกอรี่ เป๊กและนางเอกออเดรย์ เฮปเบิร์น ผลงานออกมาดีเยี่ยมอย่างไม่คาดนึก เด่นหราในทำเนียบภาพยนตร์คลาสสิกและชนะรางวัลออสการ์ 3 สาขาคือ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
มาว่าเรื่องอดีตเสรีไทยบุญพบกันต่อ บ่ายวันหนึ่งก่อนจะต้องเข้ากล้องถ่ายหนัง เขาเจอชายคนหนึ่งนามไพรัชควงคู่ภรรยาของเขาชื่อบรรจบ ทั้งสองทำงานที่ FOA และลูกชายตัวน้อยวัย 5-6 ขวบ อันที่จริง ไพรัชคนนี้คือเพื่อนเก่าไม่ได้เจอกันนาน 15 ปี ซึ่งเดิมทีมีนามเก่าว่าเล็ก ทรรทรานนท์ เคยนอนห้องเคบินเดียวกันในเรือ ‘ฮารุนะ มารุ’ บรรจบเล่าให้ฟังว่าทางบริษัทพาราเมาท์ติดต่อเธอเองโดยตรง ก็จะใครกันนอกจากวิลเลียม ไวเลอร์นั่นแหละ จ่ายราคาการแสดงเท่าเทียมกับผู้สวมบทบาทเจ้าชาย ตอนระหว่างเข้าฉากทำการแสดงแล้วไพรัชต้องไปปฏิบัติงานประจำองค์การอาหาร สุภาพ กาฬสีห์จะคอยดูแลเจ้าหนูน้อยแทนคุณแม่
บุญพบเปิดเผยความในใจอย่างภาคภูมิต่อการที่เขาและบรรจบได้สะท้อนท่วงทีคนไทยในภาพยนตร์ระดับโลกว่า
แม้ว่าเราทั้งสองจะปรากฏบนจอเงินเพียง ๒ แวบ คือตอนเจ้าหญิงเสด็จออกสัมผัสพระหัตถ์ต้อนรับทูตไทยรวมกับทูตประเทศอื่นๆในเรื่อง กับตอนที่เรายืนและนั่งขณะเมื่อเจ้าหญิงทรงเต้นรำในพิธีการ แต่ขณะถ่ายทำเป็นงานที่เหนื่อยพอดู เราไปถึงโรงถ่ายที่ “พาลาสโส บรังคาชีโอ” หรือวังบรังคาชีโอ (Palazzo Brancacio) เวลา ๓ โมงเช้าและกลับบ้านเกือบ ๓ ทุ่มทุกวัน เป็นงานที่สนุกสนานหลังฉากมากกว่าปรากฎบนจอเงินอย่างเล่าไม่ถูก สําหรับพวกเราผู้ไม่ได้แสดงนํา ได้เห็นได้ฟังได้รู้อะไรต่อมิอะไรขำ ๆ ขัน ๆ แปลก ๆ ทุกวัน รวมทั้งการเคาะแคะผู้หญิงและอื่น ๆ อีกบ้าง…
ตัดฉากข้ามทวีปมาที่เมืองไทย Roman Holiday เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของกรุงเทพมหานครอย่างน้อยสองหน หลังจากนั้นตราบปัจจุบัน (ค.ศ. 2018) คงมีการฉายซ้ำตามสถานที่ต่างๆ ทั้งสาธารณะและรโหฐานมิอาจนับถ้วน ไม่แน่ใจนักจะมีใครทันสังเกตเห็นอดีตเสรีไทยคนหนึ่งบนจอหนังรึเปล่า ขนาดผมเองเบิ่งหนังเรื่องนี้มาแล้วหลายหนก็เพิ่งจะสะดุดตา
บุญพบ ภมรสิงห์กับความเป็นศิลปินและนักเผชิญโชคท่ามกลางบรรยากาศทวีปยุโรปนั้นน่าตื่นเต้นและใคร่ครวญอย่างยิ่ง คนไทยเราจำนวนมิใช่น้อยรายเลยดั้นด้นไปสร้างวีรกรรมโดดเด่นในแดนเทศ หลายต่อหลายคนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติแต่ดูเหมือนเงียบกริบตามห้วงความรับรู้ของชาวไทยด้วยกัน แน่ล่ะ มองผาดเผิน ใครเล่าจะคิดว่าอดีตเสรีไทยชาวเชียงใหม่คนหนึ่งได้ร่วมแสดงภาพยนตร์อันเป็นตำนานของโลก
ขอป้องปากแอบกระซิบ เรื่องราวของคนไทยเหล่านี้ยังคงโลดแล่นโดยท้าทายคุณผู้อ่านเสมอๆ แหละ เอาเป็นว่า ผมจะพยายามไล่คว้าจับมาเรียบเรียงบำเรอทุกท่านก็แล้วกันนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- จอสยาม (นามแฝง). หนังคลาสสิก. กรุงเทพฯ : สยามอินเตอร์บุ๊คส์,2547
- นรุตม์, เรียบเรียง. ใต้ร่มฉัตร หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์.กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2539
- บุญพบ ภมรสิงห์. ศิลปินไทยในยุโรป. พระนคร: นิพนธ์, 2505
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์. อัตชีวประวัติ : ทหารชั่วคราว.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2559
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The FreeThai legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพ : แสงดาว, 2546
- Wearing, J.P.The London stage 1890-1959 Accumulated Indexes Volume 1. Lanham: Rowman & Littlefield, 2014