ในนวนิยายสี่แผ่นดินผลงานหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชนั้น ตัวละครหนึ่งที่ผมรู้สึกสนอกสนใจตั้งแต่แรกอ่านเห็นจะไม่พ้น ‘ตาอั้น’ ลูกชายคนโตของคุณเปรมกับแม่พลอย เหตุผลคือเขาเป็นนักเรียนกฎหมายจากฝรั่งเศส มิหนำซ้ำ ยังควงเมียสาวชาวปารีเซียงพากลับเมืองไทยมาด้วย ก็เพราะเรื่องเมียแหม่มนี่แหละครับ ผมจึงต้องเล่าอะไรต่อมิอะไรให้ทุกท่านได้รับฟัง
สี่แผ่นดิน ไม่แคล้วงานเขียนอันคุ้นเคยกันดีสำหรับใครๆ หลายคน แม้มิได้ดื่มด่ำแบบนวนิยายก็ย่อมผ่านตาละครโทรทัศน์หรือละครเวทีบ้างแหละนา การที่ผมเอ่ยอ้างถึงตัวละครตาอั้นและลูซิลล์เมียสาวฝรั่งเศสของเขา น่าจะแว่วยินเสียงร้อง อ๋อ ! มิใช่น้อย
ตามนวนิยาย แหม่มสาวปรากฏรูปโฉมครั้งแรกสุดตอนที่คุณเปรมและแม่พลอยพร้อมทั้งญาติคนอื่นๆ ทราบข่าวตาอั้นกลับคืนเมืองไทยแล้วไปรอรับ เมื่อทอดมองยังดาดฟ้าเรือ “พลอยสังเกตเห็นทุกคนพูดจาทักทายกับตาอั้นเป็นอันดี แหม่มคนหนึ่ง มายืนเกาะลูกกรงเรือเคียงกับตาอั้น พลอยเห็นตาอั้นเหลียวไปพูดด้วยอย่างตื่นเต้น แล้วก็ชี้มาทางที่พลอยและคุณเปรมยืนอยู่ พลอยเห็นแหม่มคนนั้นมองมาทางตน แล้วก็หัวเราะและโบกมือด้วย ทำให้พลอยสงสัยอยู่ครันๆ ว่า ตาอั้นจะบอกกับแหม่มคนนั้นว่าอย่างไร…” ยานนาวาจอดเทียบท่าเรียบร้อยจนกระทั่งครอบครัวพบหน้าค่าตา ทักทายยืนกอดกันให้หายคิดถึง ตาอั้นเลยแนะนำให้ทุกๆ คนรู้จักแหม่มสาว แม่พลอยมองเห็นก็ชัดเจนว่าคนเดียวกับที่ยืนเคียงคู่ตาอั้นแล้วโบกมือมาแต่ไกล จนตาอั้นพาแหม่มสาวคนนั้นมาแนะนำเธอต่อพ่อของเขา คุณเปรมเอามือเช็ดผ้านุ่งแล้วจับมือเธอ ฝ่ายแม่พลอยพอจะยื่นมือออกไปจะจับมือสาวฝรั่ง ฉับพลันทันใด “แหม่มก็ตรงเข้ามาจับหัวไหล่พลอย ดึงตัวเข้าไปชิด เอาแก้มทาบเข้ากับแก้มของพลอย แล้วก็ดูดปากที่อยู่ชิดข้างหูของพลอยดังจ๊วบใหญ่” แม่ของตาอั้นสะดุ้งสุดตัว ยืนหน้าชาด้วยความอาย
ผมเองโปรดปรานภาพยนตร์อิหร่านรวมถึงเข้าข่ายแฟนภาพยนตร์ของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ซึ่งผู้กำกับหนังจะชอบโผล่มาเข้าฉากด้วยเหลือเกิน งั้นผมขออนุญาตปล่อยให้ประสบการณ์ส่วนตัวแพลมๆ มาเข้าฉากในบทความบ้างนะ ตอนอายุสิบเจ็ดและสบโอกาสไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศสก็เคยสัมผัสอรรถรสอารมณ์คล้ายๆ แม่พลอย มาดามท่านหนึ่งแสดงกิริยาต่อผมไม่ผิดแผกลูซิลล์ หนแรกเล่นเอาหนุ่มไทยวัยรุ่นใสๆ ผงะหลายครู่ แต่หลังจากนั้นได้แนบแก้มจุ๊บๆ เข้าบ่อยหนกับหลายคน โอ้โฮ! เพลินดีแฮะ มีอยู่คราวหนึ่ง เผลอแนบแก้มจุ๊บๆ แม่สาวฝรั่งวัยรุ่นไปสี่จุ๊บแบบงงๆ จนเธอทักท้วง เฮ้ย ปกติควรแค่สองจุ๊บมิใช่รึ
วกกลับมาว่าถึงแม่พลอยกันต่อเถอะ อยู่ดีๆ เธอแทบล้มทั้งยืนเพราะเสียงของตาอั้น “คุณพ่อคุณแม่ครับ นี่คือลูซิลล์ เมียผมเอง เรารักกันมาก และแต่งงานกันเมื่อผมสอบเสร็จแล้ว ผมไม่ได้บอกคุณพ่อคุณแม่มาก่อน เพราะเกรงว่าจะตกใจ ผมรู้ว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้พบลูซิลล์ ก็คงจะรักเท่าผมรัก จึงพาตัวมาให้พบเลย”
ก็ในเมื่อลูซิลล์สวยเหมือนตุ๊กตาเรือนผมเป็นคลื่นสีทองแดง ผิวพรรณขาวแกมชมพู นัยน์ตาสีน้ำเงิน คุณเปรมกับแม่พลอยได้ลูกสะใภ้สวยทั้งที อ้าว! ไฉนตกใจสุดขีดล่ะเนี่ย? ด้วยสายตาปัจจุบัน การมีสามีภรรยาชาวต่างชาติหาใช่เรื่องผิดแปลกอะไรแล้ว ตรงกันข้ามนับเป็นค่านิยมดูดี
แต่เราจะเอามุมมองทุกวันนี้ไปตัดสินมุมมองของคนในประวัติศาสตร์มิได้เชียว เพราะค่านิยมชาวสยามยุคหนึ่งร้อยปีก่อน การแต่งงานกับชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องใหญ่โตและมักจะไม่ค่อยได้รับเสียงสนับสนุนเท่าไหร่
จดหมายตาอ๊อด (น้องชายตาอั้น) เขียนมาถึงแม่พลอยเปิดเผยเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตาอั้นกับลูซิลล์ อ้างเหตุที่เขาไม่เคยแพร่งพรายให้ทางบ้านทราบเนื่องจากตาอั้นสั่งให้ปิดบังไว้ ถ้าขืนบอกใครจะถูกเตะ
“พี่อั้นกับลูซิลล์เขาได้เสียกันลับๆ แล้ว ก่อนพี่อั้นสอบได้ เขามาแต่งงานกันเปิดเผยตอนพี่อั้นสอบได้แล้ว เมื่อรู้จักกันลูซิลล์เขาหากินเป็นช่างตัดเสื้อ ทำงานอยู่ที่ร้านใหญ่ๆ ในปารีส บ้านเขาอยู่ใกล้ๆ กับพี่อั้น เช้าเย็นเขาก็เดินผ่านเห็นหน้ากันทุกวัน ในที่สุดเขาก็รู้จักกันและไปไหนมาไหนด้วยกันได้ พ่อแม่ผู้หญิงเขาไม่ห้าม เพราะแกไม่ใช่คนร่ำรวย มีลูกหลายคน แกนึกว่าพี่อั้นเป็นเศรษฐีมาจากเมืองไทย ดูเหมือนญาติผู้หญิงเขาจะเที่ยวคุยว่าพี่อั้นเป็นเจ้าเมืองไทยด้วยซ้ำไป แต่พี่อั้นปิดบังไม่ยอมบอก เพราะมาเรียนหนังสือ ลูกไปฝรั่งเศสเลยพลอยเขื่องไปด้วยเพราะข่าวลือนี้”
ตาอ๊อดยังแสดงความเห็นผ่านเนื้อความจดหมายในเชิงพวกผู้หญิงฝรั่งที่หลงรักหนุ่มชาวสยามนั้นก็เพราะเข้าใจผิดว่าทางฝ่ายชายน่าจะมั่งคั่ง และเมืองไทยน่าจะเป็นไปอย่างที่หนังสืออ่านเล่นพรรณนาโกหกไว้วิจิตรพิสดาร ฉะนั้น พอพวกเธอได้เสียกับชายไทยเลยปรารถนาติดตามกลับเมืองไทยมาด้วย แต่แล้วต้องผิดหวังที่มาเห็นกับตาแล้วเมืองไทยเล็กนิดเดียว ไม่หรูหราสักนิด เจอยุงเจอแมลงเจอสัตว์เลื้อยคลานยั้วเยี้ย แวดล้อมไปด้วยกลิ่นต่างๆ ที่ฝรั่งรู้สึกเหม็น“ใจนั้นก็ยิ่งนึกว่าตัวถูกพามาทรมานและนึกคิดถึงบ้าน คิดถึงเมืองหนาวอากาศหนาว และอยากกลับบ้าน ไม่อยากอยู่อีกต่อไป” ทางด้านหนุ่มไทย แรกๆ หลงเห่อความสวยของเมียแหม่ม หลังๆ เจอหญิงไทยมากเข้ายิ่งมองสวยกว่าเมียฝรั่งของตน นานๆ ไปเกิดเป็นความรำคาญ “..เบื่อเมียแหม่ม เหม็นนมเนย อยากไล่ไปเสียให้พ้นๆ…”
ลูซิลล์ติดตามตาอั้นมาพำนักประเทศสยามได้จนกระทั่งราวๆ ต้นเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2475 แล้วเธอจึงเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส แหม่มสาวปารีเซียงอาลัยอาวรณ์สามีชาวไทยครามครัน กาลเวลาล่วงผ่านทำให้เธอปรับตัวมากขึ้น หัดพูดภาษาไทย ฝึกใช้ชีวิตเยี่ยงคนไทย ทว่ากลับน่าน้อยใจที่ตาอั้นค่อยๆ ห่างเหินความสัมพันธ์ มัวแต่ไปสังสรรค์สโมสร ทอดทิ้งเมียอยู่เดียวดาย และก็ตาอั้นนั่นแหละออกปากสั่งลูซิลล์เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนของเธอไปก่อนอย่างน้อยสักหกเดือน
ต้องไม่ลืมนะครับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์กำหนดให้ตาอั้นเข้าร่วมกับคณะราษฎรเช่นกัน ถ้าเชื่อแนวคิดทำนองตัวละครในนวนิยายอาจเกิดขึ้นได้จากการถอดแบบบุคคลจริงๆ ผมคงมิอาจหักห้ามความฉงนได้หรอกว่าคุณชายนำเอาเรื่องราวของสมาชิกคณะราษฎรหรือนักเรียนฝรั่งเศสคนใดมาสร้าง ‘ตาอั้น’ เพื่อขจัดข้อเคลือบแคลงจุดนี้ ผมหมั่นเพียรค้นคว้าเนิ่นนานหลายปี หากยังไม่กระจ่างว่าตัวละครนี้พ้องพานใครในประวัติศาสตร์กันแน่ แต่เท่าที่สืบเสาะข้อมูลมาแล้วก็อาจจะบ่งชี้ร่องรอยของนักเรียนฝรั่งเศสผู้เป็นสมาชิกคณะราษฎรสานสัมพันธ์กับแหม่มสาวชาวฝรั่งเศสในลักษณะคลับคล้ายคลับคลากรณีของตาอั้น โดยเฉพาะกรณีของนายควง อภัยวงศ์
ณ ห้องพิเศษบนขบวนรถไฟสายปารีส–ริเวียร่า นายควง อภัยวงศ์เล่าเรื่องวันวานอย่างเปี่ยมล้นอารมณ์ขันให้ลมูล อติพยัคฆ์และคนอื่นๆ ที่ห้อมล้อมฟัง อ้อ ควรบอกด้วยว่าในปีพุทธศักราช 2499 สายการบินแอร์ฟรองซ์ (Air France) ได้เชิญทั้งนายควงทั้งลมูลพร้อมคณะเดินทางอีกหลายคนไปทัศนาจรประเทศฝรั่งเศส ตอนนั้น ขณะนายควงทอดมองทัศนียภาพผ่านทางหน้าต่างรถไฟ เขาเปรยขึ้นทำนอง “นึกถึงเรื่องเก่า ๆ แล้วมันน่าขันจังเลย” นั่นเพราะ “คือเมื่อผมสําเร็จการศึกษาและเตรียมตัวจะกลับเมืองไทย มีผู้หญิงคนหนึ่งขอตามไปอยู่กะผมด้วย” ช่วงทศวรรษ 2460 นายควงมีสถานะนักเรียนวิศวกรรมโยธาในฝรั่งเศส ไม่น่าแปลกเลยหากหญิงสาวที่ขอติดตามเขามาเมืองไทยจะเป็นแหม่มชาวฝรั่งเศส
ลมูลซักต่อถึงความสวยของเจ้าหล่อน นายควงตอบแล้วหัวเราะลงคอ “เอ๊ะ…ไม่น่าถามเลย สวยซีน่า” แหม่มคนดังกล่าว “…ยังสาวพริ้งอยู่เชียวนะ ตอนนั้นอายุสักสิบแปดเห็นจะได้ละมั้ง แต่ว่า…แต่ว่าเมื่อแกจะตามผมไป ผมก็ไม่ยอม” นายควงเสริมอีกว่า “…ผมบอกกะแกว่าอย่าตามผมไปเลย ไม่ดีหรอก จะลําบากเพราะเมืองไทยไม่เหมือนเมืองฝรั่ง แกจะต้องเบื่อและคิดถึงบ้านขึ้นมา อีกอย่างหนึ่งก็คือแกจะต้องไปคนเดียว ไม่มีพี่น้องหรือเพื่อนฝูงเลยสักคน แต่แกก็อ้อนวอนจนผมใจอ่อน ยอมให้แกตามไปเมืองไทยด้วย”
ใครบางคนไม่หายสงสัยจึงถามถึงบุตรนายควงอันเกิดขึ้นกับแหม่มสาว ทว่าคำปฏิเสธเสียงหลงเล็ดรอดริมฝีปากอดีตนักเรียนสถาบันวิศวกรรมแห่งลียง “ก็ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันนะ ผมไม่ได้ยุ่งกะแกเลย พับผ่าซี…ไม่ใช่มาเป็นผัวเมียกันหรอกนะ ผมให้แกมาอยู่เฉย ๆ ยังงั้นเอง เป็นการทดลองดูว่า เมื่อแกมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของแกแล้ว นาน ๆ เข้าแกจะรู้สึก ยังไง แล้วก็อย่างที่ผมคิดไว้ไม่ผิดเชียว ทําอะไรกะผมแกก็ไม่ได้ทําสักที อยู่ได้หกเดือนเท่านั้นแกก็ลากลับฝรั่งเศสเลย”
นอกเหนือจากดวงหน้าสวยสมคมสัน บิดาแหม่มฝรั่งเศสยังเป็นผู้ดีแห่งตระกูลฐานะมั่งคั่ง บ้านของเธอหันทางไหนแลเห็นคนรับใช้คอยปรนนิบัติ ขณะเดียวกัน ที่บ้านนายควงในเมืองไทย“… เหลียวหาใครก็ไม่เจอหรือเจอก็พูดกันไม่รู้เรื่อง หัดพูดไทยได้นิดหน่อยก็พูดได้ลําบากมาก ทีนี้ไอ้โรคโฮมซิคมันก็เลยกําเริบ คิดถึงบ้านจนทนไม่ไหว” บันดาลความเหงาหงอยจู่จับหัวใจเธอ กระนั้น ยังโชคดีที่เธอพบเพื่อนเก่าชาวประเทศเดียวกันเข้าคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่เมืองไทยนานแล้ว เลยนัดหมายพบปะพูดคุยถูกคอเนืองๆ แหม่มคนนั้นคือใครเล่า? ลองฟังคำเฉลยจากปากคำนายควง “ก็มาดามบริภัณฑ์น่ะซี นั่นก็เป็นผู้หญิงฝรั่งเศสเหมือนกันนะ ทีนี้ก็เลยมาพบกันบ่อย ๆ แต่ก็นั่นแหละไอ้โรคโฮมซิคคิดถึงบ้านมันกําเริบจัดยิ่งขึ้น”
อาจเป็นไปได้ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จะหยิบยกกรณีแหม่มสาวชาวฝรั่งเศสติดตามนายควงมาสร้างเรื่องราวของตาอั้นกับลูซิลล์ในนวนิยายเพียงบางส่วน
สังเกตได้จากจุดเหมือนจุดต่างดังผมสาธยายไปแล้ว (จุดต่างเด่นๆ ข้อหนึ่งก็เช่นตาอั้นเรียนกฎหมาย ส่วนนายควงเรียนวิศวกรรม) และอาจหยิบยืมกรณีของสมาชิกคณะราษฎรหรือนักเรียนฝรั่งเศสคนอื่นๆ มาผสมผสานเข้าอีกส่วนหนึ่ง ตามข้อเท็จจริง สมัยนายควงร่ำเรียนที่ฝรั่งเศส เขาเคยหมายตาหญิงสาวจากเมืองไทยคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องสาวของเพื่อน เธอชื่อเลขา คุณะดิลก ต่อมาเธอคือคู่ชีวิตของนายควง การที่นายควงอ้างความไม่ได้สนใจแหม่มจะว่าไปก็พอจะฟังขึ้นบ้าง
ส่วนมาดามบริภัณฑ์ที่นายควงพาดพิงคือภรรยาแหม่มของพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ทั้งสองพบรักกันช่วงต้นทศวรรษ 2460 ท่ามกลางบรรยากาศประเทศฝรั่งเศส เดิมทีเธอมีนามว่ามาดมัวแซลมาร์เกอริต กูเอต์ (Mademoiselle Margueritte Gouet) แต่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระบริภัณฑ์ยุทธกิจเขียนชื่อเธอ ‘มาเกอริต คว๊อต’ อย่างไรก็ดี กว่านักเรียนทหารหนุ่มชาวสยามกับสาวฝรั่งจะได้เข้าพิธีแต่งงานกันต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานา เนื่องจากตามข้อบังคับระเบียบการวิวาหะมงคลในกรมทหารบก ลงวันที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2456 “ห้ามมิให้ผู้ใดทำการวิวาหะมงคลในระหว่างเวลาที่เป็นนักเรียนหรือเวลาที่อยู่ในราชการพิเศษอยู่ ต่อเมื่อการเล่าเรียนหรือราชการพิเศษเสร็จแล้วก็ให้ขออนุญาตตามลำดับชั้นต่อเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเพื่อทำการวิวาหะมงคลได้” ร้อยเอกเภาเขียนรายงานถึงท่านเสนาบดีพยายามชี้แจงว่าตนเกือบจะเรียนสำเร็จแล้ว บรรยายความดีงามของมาดมัวแซลกูเอต์ที่เคยอุปการะดูแลเรื่อยมา ทั้งช่วยเหลือในทางภาษา พยาบาลยามที่เขาเข้าผ่าตัดต้นขา ฝ่ายหญิงเล่าก็กำพร้าบิดามารดาตายหมด เธอตั้งใจจะติดตามเขากลับสู่ประเทศสยามโดยจะขอทำงานเกี่ยวกับพยาบาลหรือเลี้ยงเด็ก ร้อยเอกเภาสัญญาแม่นมั่นจะไม่ยอมทิ้งขว้างแหม่มสาวเด็ดขาด ท้ายสุดชายหญิงทั้งคู่ได้เข้าพิธีวิวาห์เมื่อ 8 ธันวาคมพุทธศักราช 2467 ครองความรักตราบตายจากกัน
ดูเหมือนพวกนักเรียนฝรั่งเศสในกลุ่มคณะราษฎรหลายคนเลยที่ได้ผูกสัมพันธ์กับแหม่มสาวในต่างแดน
ขนาดร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ (ภายหลังคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ซึ่งแต่งงานมีเมียมีลูกก่อนหน้าจะไปเรียนวิชาทหารที่ฝรั่งเศส ทว่าพอหวนกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนราวปีพุทธศักราช 2470 จดหมายจากฝรั่งเศสสอดแนบผมถักเปียผูกริบบิ้นยังร่อนส่งไปรษณีย์ตามมาด้วย แม่ละเอียด (คนเดียวกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม) ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส เธอจึงเปิดค้นหาคำในดิกชันนารี คำไหนไม่พบก็ถามสามี ร้อยโทแปลกนึกว่าเมียช่างสนใจใฝ่เรียนรู้ยิ่งสอนให้กระจ่าง ครั้นแม่ละเอียดล่วงรู้เนื้อความจดหมายอย่างละเอียดแจ่มแจ้งความโกรธก็บังเกิดขึ้น ร้อยโทแปลกเลยเผาจดหมายทิ้งหมด
หลวงวิจิตรวาทการหาได้เข้าร่วมกลุ่มคณะราษฎรก็จริง แต่เคยสนิทสนมผู้ก่อการหลายคนเมื่อครั้งรับราชการเป็นเลขานุการสถานทูตไทยที่กรุงปารีส เขาได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวฝรั่งเศสเพื่อนร่วมงาน (น่าจะตำแหน่งเสมียนพิมพ์ประจำสถานทูต) เธอชื่อมาดมัวแซลลาฟฟิตต์ (Mlle Laffite) เพื่อนเจ้าบ่าวมีนายควง อภัยวงศ์อยู่ด้วยคนหนึ่ง เมียแหม่มติดตามหลวงวิจิตรวาทการมาเมืองไทยเช่นกัน เธอยังกลายเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสให้ภรรยาของสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ซึ่งเริ่มนิยมเรียนภาษานี้ อย่างเช่นท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ สมัครเรียนภาษาฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศสตรงถนนสาธร เป็นต้น
ความรักระหว่างหนุ่มชาวสยามนักเรียนกฎหมายจากฝรั่งเศสกับแหม่มสาวชาวฝรั่งเศสหาใช่เพียงเรื่องราวโลดแล่นในหน้านวนิยายสี่แผ่นดินเท่านั้น แต่ยังสำแดงชีวิตชีวาอยู่จริงๆ ในอดีตเมื่อราวๆ หนึ่งร้อยปีก่อนด้วย มิหนำซ้ำ ยิ่งทวีความน่าตื่นเต้นเข้าไปอีกเมื่อชีวประวัติของนักเรียนฝรั่งเศสผู้เป็นสมาชิกคณะราษฎรบางส่วนเผอิญพ้องพานกับท่วงทำนองตัวอักษรจากปลายปากกาหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และนั่นยิ่งยืนยันว่าวรรณกรรมยังคงเป็นกุญแจมหัศจรรย์ไขไปสู่แง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเผลอไผลมองข้ามผ่านอยู่ซ้ำบ่อย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- หจช. กต.43.11/36 นายร้อยเอกเภาขออนุญาตแต่งงานกับนางสาวกูเอต์ (พ.ศ. 2463-2464)
- คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. สี่แผ่นดิน แผ่นดินที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:สยามรัฐ, 2531
- คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. สี่แผ่นดิน แผ่นดินที่ 3. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:สยามรัฐ, 2531
- จีรวัสส์ ปันยารชุน. ชีวประวัติและผลงานของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ด่านสุทธา,2540
- นรุตม์ (ลำดับเรื่อง). หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. กรุงเทพฯ:แพรวสำนักพิมพ์, 2535
- พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพพลเอกเภาบริภัณฑ์ยุทธกิจ (พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2513. พระนคร:ม.ป.ท., 2513
- ลมูล อติพยัคฆ์. “อารมณ์ขันของ…นายควง อภัยวงศ์,” ใน หนอนหนังสือ 1, ฉ.7 (ตุลาคม 2531). หน้า 22-29
- ลมูล อติพยัคฆ์. ร่อนไปปารีสกับนายควง อภัยวงศ์. พระนคร:คลังวิทยา, 2499
- วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ (บรรณาธิการ). ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุขพนมยงค์.กรุงเทพฯ : บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด,2551
- วิจิตรา (วิจิตรวาทการ) รังสิยานนท์. รำลึก ๑๐๐ ปี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ บทคัดสรรว่าด้วยชีวประวัติและผลงาน. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด,2541
- อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2526. กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ ป. สัมพันธ์พาณิชย์, 2526
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีควง อภัยวงศ์ ป.จ.,ม.ป.ช. , ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 มิถุนายน 2511. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์, 2511