มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง Game of Thrones
วันที่บทความของผมจะถูกนำลงเผยแพร่นั้น หลักๆ แล้วก็คือวันจันทร์ (ในเวลาประเทศไทย) หรือที่ในช่วงระยะเวลาหลายสัปดาห์นี้ หลายคนทั่วโลกต่างรู้กันดีว่ามันคือ Game of Thrones Day ผมเองในฐานะแฟนของซีรีส์ภาพยนตร์ทีวีเรื่องนี้ก็อยากจะเกาะกระแสดูบ้าง ทั้งด้วยความสนุกตื่นเต้นเร้าใจของมัน รวมไปถึงด้วยกระแสความดังที่ยากจะทัดทานได้
กระแสความดังของ Game of Thrones นี้เอง ทำให้แม้แต่มหาวิทยาลัยดังๆ หลายแห่งก็ได้มีการจัดวิชาที่ว่าด้วย Game of Thrones โดยตรงขึ้นมา อย่างมหาวิทยาลัย British Columbia มีการศึกษา Game of Thrones ในด้านภาพสะท้อนของวัฒนธรรมยุคกลางในสายตาของคนยุคใหม่ หรือในช่วงภาคการศึกษาปี ค.ศ. 2013-2014 ที่มหาวิทยาลัย Rice ก็มีวิชาที่ใช้โคว้ตคำพูดสำคัญของ Cercei ที่ว่า “When you play the game of thrones, you win or you die.” มาเป็นแกนกลางในการศึกษาประวัติศาสตร์เทียบเคียงกับบุคคลและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่พบกับจุดจบดังโคว้ตนี้ เป็นต้น[1] รวมไปถึงมีบทความทั้งในสายป็อปคัลเจอร์ ไปจนถึงบทความวิชาการที่เขียนถึงซีรีส์เรื่องนี้ออกมาอย่างท่วมท้น นับตั้งแต่ได้เริ่มฮิตติดลมบนเมื่อครั้งซีซั่นแรกโน่น
อย่างไรก็ดี การเขียนถึงเรื่อง Game of Thrones ในทางการเมืองนั้น มันมีความยากของมันอยู่ ที่ว่ายากนั่นก็เพราะ โดยเนื้อเรื่องของตัวซีรีส์เองแล้ว มันโคตรจะการเมืองโดยตัวมันเอง คือ เด่นชัด ตระหง่านคาตาอยู่แล้ว การเขียนถึงมันจึงเขียนถึงได้โดยง่ายมาก แต่เพราะว่ามันเขียนถึงหรือเห็นถึงได้โดยง่ายมากนี้เอง มันจึงหมายความพร้อมๆ กันไปว่า “ใครจะเขียนก็ได้ หรือใครๆ ก็เห็นๆ อยู่” ว่าง่ายๆ ก็คือเขียนหรือไม่เขียนก็ดูจะไม่เป็นประโยชน์นัก เพราะมันเห็นคาตาอยู่แล้วในตัวเรื่องนั่นเอง มันไม่ต้องการการตีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรแบบหนังอื่นๆ นัก อย่างหนังซูเปอร์ฮีโร่[2], หนังผี, หนังอสุรกายบุกโลก, หนักรัก, หนังการ์ตูน, หนังอาร์ต หรืออื่นๆ
ความยากในการเขียนเรื่อง Game of Thrones นอกจากในประเด็นเรื่อง ‘ความยากเพราะความง่าย’ ที่ว่าไว้แล้ว ยังมีอีกจุดสำคัญคือ ‘ความเยอะและความทับซ้อน’ ในตัวเรื่อง ตามประสาซีรีส์ที่มีเวลาดำเนินเรื่องยาว มิติของเนื้อเรื่องซับซ้อนเป็นพิเศษ ทำให้เนื้อเรื่องดูจะสะท้อนมุมมองทางการเมืองมากมายเสียเหลือเกิน ตั้งแต่เรื่องของระบบการปกครองของพระราชา, อิทธิพลของลอร์ดกับการเมืองแบบฟิลดัล มันยังรวมไปถึงเรื่องของทฤษฎีดุลกำลัง (Balance of Power), ความได้เปรียบทางกำลังในเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage of Powers) ไปจนถึงการถือครองอาวุธทำลายล้างสูง ที่สะท้อนผ่านมังกรหรือระเบิดเพลิงเขียวนั่น ไล่มาจนถึงการเมืองของอัตลักษณ์ที่สะท้อนผ่าน ‘คาแรคเตอร์เฉพาะตัว’ ของแต่ละตระกูลหรือการที่แม่มังกรให้ชื่อกับทัพไร้จู๋ของตน เป็นต้น คือ มันเยอะมาก นี่ยังไม่นับรวมความเพลียจิตที่จะต้องเจอกับพวกท่าแซะที่จะต้องคอยจิกว่า “มันเป็นแค่หนัง มันเป็นแค่ซีรีส์ มันเป็นแค่นิยาย”…ราวกับอุดมการณ์ ความคิดมันไม่ต้องอาศัยเครื่องมือเหล่านี้ส่งผ่าน (จะพูดแบบนี้ ก็คงแซะกลับได้ว่า “มาร์กซ์มึงก็แค่หนังสือล่ะวะ” อะไรแบบนี้ไป)
ด้วยเหตุของความยากที่ว่านี้เอง ผมเลยได้นั่งอ่านบทความต่างๆ ที่เขียนถึงเรื่อง Game of Thrones ในมุมการเมืองอยู่สักหลายชิ้น ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ก็พบปัญหาตามที่ว่ามาคือ “เขียนก็เหมือนไม่ได้เขียนอะไรนัก” จนกระทั่งได้มาอ่านบทความที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์[3] ซึ่งอาจารย์เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อราวๆ 1 ปีที่แล้ว แต่อีนี่ดีเลย์เอง เพิ่งได้อ่าน อ่านแล้วก็ประทับใจในข้อเขียนและการบรรยายเปรียบเทียบโดยพิศดารของอาจารย์นิธิในหลายจุด โดยเฉพาะความกว้างขวางทางความรู้ของอาจารย์ในการเปรียบเทียบปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นใน Westeros กับอีกสารพัดชุมชนทางการเมืองในประวัติศาสตร์โลก อย่างไรก็ดีมีอยู่จุดหนึ่งที่ผมเห็นไม่ตรงกับอาจารย์นิธินัก นั่นก็คือ การเมืองว่าด้วย ‘มวลชน’ ในเรื่อง
อาจารย์นิธิแบ่งบทความออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกอาจจะไม่ได้พูดถึงมวลชนหรือประชาชนโดยตรงนัก แต่พูดถึงความเชื่อมโยงกับประชาชนในมุมของ ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ ในขณะที่ตอนที่สองพูดถึงเรื่องนี้โดยตรง โดยเฉพาะพลังของมวลชน โดยเฉพาะเมื่อผ่านการจัดตั้ง (Organized) และมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นกลุ่มก้อน ภายใต้แผนการหรืออุดมการณ์บางอย่างแล้ว
คือ หากใครเป็นแฟนภาพยนตร์ทีวีเรื่องนี้อยู่ก็คงทราบกันดีว่า Game of Thrones ไม่ได้ ‘ละทิ้งมวลชน’ ในแง่ที่ว่า ประชาชนไร้ซึ่งบทบาท หรือไม่มีความสำคัญนะครับ ประชาชนมีบทในหลายครั้ง และมีความสำคัญในเชิงกลไกการดำเนินเรื่องไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของทาสที่แม่มังกรปลดปล่อย, ทหารในสงครามแบล็ควอเตอร์, มวลชนของควีนมาจอร์รี, การอ้างประชาชนว่านิยมเรนลี บาร์ราเธียน มากกว่าพี่ชายที่ชื่อสแตนิสของเขา, มวลชนจัดตั้งผู้ศรัทธาในไฮเซ็ปเตอร์ที่ไล่บุกจับชนชั้นนำทั่วคิงส์แลนดิ้ง ไปจนถึงการรวมกลุ่มไวล์ดิ้งสารพัดเผ่านอกเขต The Wall เป็นต้น
บทของ ‘มวลชน’ นั้นมีเยอะจริงๆ ครับ แต่ที่ผมจั่วหัวว่า Game of Thrones มันมีฐานะของภาพสะท้อนการเมืองที่ละทิ้งมวลชนก็เพราะว่าสุดท้ายแล้วบทบาทของมวลชนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ Westeros นั้น ผมกลับเห็นต่างจากอาจารย์นิธิเต็มๆ ว่า มันมีขึ้นเพื่อสะท้อนความไร้พลังของประชาชน โดยเฉพาะในระบอบการเมืองที่มีราชาถือครองอำนาจสูงสุด
การเมืองในอาณาเขตของ Westeros นั้น (ในที่นี้หมายถึง ของดเว้นการพูดถึงการเมืองการปกครองใน Essos ไว้ก่อน เพราะต้องแยกพูดถึงต่างหากเลย) โดยส่วนตัว พลันทำให้ผมนึกถึงงานเขียนชิ้นสำคัญของศาสตราจารย์ Duncan McCargo ที่ชื่อ Network Monarchy มากกว่า แม้งานของดันแคนจะมีเนื้อหาหลักที่การพยายามจะอภิปรายถึงบริบทโครงสร้างการทำงานของอำนาจทางการเมืองของประเทศไทยเป็นสำคัญ และว่ากันตรงๆ ผมไม่เห็นว่าคำอธิบายในงานที่โด่งดังชิ้นนี้ของดันแคนจะอธิบายบริบทการเมืองไทยอะไรได้มากนัก เพราะมัน “ไม่อภิปรายในส่วนที่เป็นลักษณะจำเพาะของรัฐไทยนัก” ตรงกันข้ามผมกลับคิดว่ามันเผยให้เห็นโครงสร้างการทำงานของอำนาจทางการเมืองของพระราชาในเรื่อง Game of Thrones มากทีเดียว (ใช่ครับ แปลว่าผมมองว่าการเมืองไทยกับ Game of Thrones นั้นต่างกันมากอยู่ โดยเฉพาะในแง่ว่า ประเทศไทยนั้น ดูจะมีหลายมิติมากขึ้นไปอีก)
งานของดันแคนนั้นอภิปรายถึงการทำงานของโครงสร้างส่วนบนของอำนาจ ผ่านการพูดคุยเพื่อการแลกเปลี่ยนซึ่งผลประโยชน์และการอำนวยความสะดวกจากตำแหน่งอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำต่างๆ รวมไปถึงการขัดแข้งขัดขากันเองของชนชั้นนำ กล่าวคือ มีโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายในหมู่ชนชั้นนำ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนทิศทางทางการเมืองของประเทศ และประเทศก็ ‘เขยื้อน’ ตาม เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ใน Westeros ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ราชาแห่งบัลลังก์เหล็ก และเครือข่าย Small council กับลอร์ดผู้เป็นพันธมิตรของเขา กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ กษัตริย์แห่ง Westeros ดูจะมีความจำเป็นเพียงแค่ให้ความสนใจไปที่ ‘กลุ่มการเมืองส่วนบน’ (High Politics) ที่อยู่กับอำนาจในเชิงกำลัง การเมืองและเศรษฐกิจก็พอแล้วนั่นเอง เพราะอาณาจักร Westeros ก็จะถูกขับเคลื่อนไปตามอำนาจของคนเหล่านี้อยู่ดี
ที่ผมมองว่าโครงสร้างอำนาจของ Westeros นั้นแทบจะอยู่กับโครงสร้างส่วนบนของชนชั้นนำอย่างเดียวเลย (ซึ่งอาจารย์นิธิเองก็อภิปรายถึงโดยพิสดารเช่นกัน) นั่นเพราะทุกบทบาทของโครงสร้างการเมืองส่วนล่าง อย่างการเมืองเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ รวมไปถึงประชาชนหรือมวลชนนั้น แม้จะฉายออกมาหลายครั้ง โดยเฉพาะการพยายามสร้างความนิยมของมาร์จอรีและกำลังมวลชนจัดตั้งของไฮเซ็ปเตอร์ แต่สำหรับผมแล้วทั้งหมดนั้น มีขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการบอกว่า “อำนาจของประชาชนนั้นไม่สำคัญ” เพราะบทบาทของมวลชนแห่ง Westeros ทุกครั้งล้วนแล้วแต่สิ้นสุดลงที่ความพ่ายแพ้ป่นปี้ต่อ ‘อำนาจในเชิงกำลัง’ (Raw physical power) ของฝั่งโครงสร้างการเมืองส่วนบนแทบทั้งสิ้น
ว่าง่ายๆ คือ บทบาทของมวลชน ถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงถึงความกระจอกงอกง่อยและไร้พลังของมวลชนต่างหาก และเน้นย้ำถึงอำนาจทางการเมืองแท้จริง ที่ดูจะกองอยู่กับเครือข่ายชนชั้นนำแต่เพียงฝ่ายเดียว และนี่คือความหมายของ ‘ภาพสะท้อนการเมืองที่ละทิ้งมวลชน’ ที่ผมจั่วหัวไว้
อย่างไรก็ดี แม้ผมจะบอกว่า Game of Thrones ‘ละทิ้งมวลชน’ แต่ผมไม่ได้หมายความไปด้วยว่านี่คือข้อเสนอหรือบทสรุปที่ผิดนะครับ โดยสัตย์จริงคิดว่าถูกต้องเสียมากกว่าด้วยซ้ำ และเป็นจุดหลักที่ผมค่อนข้างจะเห็นค้านจากอาจารย์นิธิด้วย
คือ เวลาเราพูดถึงพลังของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของม็อบที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ เพื่อข้อเรียกร้องเฉพาะกิจไปจนถึงอารมณ์ร่วมหมู่เป็นครั้งๆ ไป หรือจะเป็นมวลชนจัดตั้งที่มีกลุ่มก้อนที่ชัดเจนและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องยาวนานก็ตามที แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องยอมรับก็คือ ในการต่อรองทางการเมืองอำนาจที่สำคัญที่สุดของประชาชนคือ ‘อำนาจในเชิงปริมาณ’ เพราะฉะนั้นปริมาณจึงเป็นกลไกสำคัญ (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด) ของการทำงานในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนถือครองอำนาจในการปกครอง กล่าวคือ การตัดสินในทางการเมืองการปกครองของระบอบประชาธิปไตยนั้นวางอยู่บนฐานของ ‘การวัดกันในทางปริมาณ’ ที่ชัดที่สุดก็คือการเลือกตั้ง และการออกเสียงโหวตต่างๆ อำนาจในเชิงปริมาณ จึงสัมพันธ์กับพลังของมวลชนมาโดยตลอด
แม้แต่ภาพของกระบวนการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยประชาชนจากผู้ปกครองรัฐ ‘แบบโรแมนติก’ ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส หรือแม้แต่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในอังกฤษที่ไม่ได้จับอาวุธมาฟัดกัน ที่รวมๆ เรียกกันว่า First Wave Democratization นั้น ว่ากันแล้วมันก็คือ การปะทะกันของอำนาจในเชิงคุณภาพ (รัฐ/ราชา) กับอำนาจในเชิงปริมาณ (มวลชน) ซึ่งหากอภิปรายแบบลดทอนรายละเอียดและไม่มีอารมณ์โรแมนติกอะไรมาผูกติด แต่ว่ากันบนฐานของความเป็นไปได้ในเชิงกำลังล้วนๆ แล้ว ก็สามารถอภิปรายในแง่ที่ว่า ในช่วงยุค First Wave Democratization ที่แสนจะโรแมนติกนั้น เป็นยุคที่ ‘อำนาจในเชิงปริมาณ’ ยังสามารถชนะอำนาจในเชิงคุณภาพ (คือ ปริมาณน้อยกว่า แต่ถือครองเทคโนโลยีทางการสงครามที่ดีกว่า ปืน, ปืนใหญ่, ฯลฯ) ได้อยู่ ฉะนั้นแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่ได้ลุกขึ้นสู้กันจริงๆ อย่างกรณีฝรั่งเศสหรือสหรัฐอเมริกา แต่มาจากการเจรจาต่อรองระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนทั่วไป การเจรจานั้นในระดับหนึ่งก็วางอยู่บนฐานของการคำนวณดุลกำลังดังกล่าวนี้อยู่ด้วย
ฉะนั้นในแง่นี้ ‘ปริมาณคืออำนาจของประชาชน’ และในระดับหนึ่งเป็นแกนของข้อเสนอของอาจารย์นิธิด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อเทคโนโลยีทางอาวุธเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สมดุลทางกำลังนี้อาจจะต่างไปจากเดิมแล้ว เมื่อมีการเกิดขึ้นของรถถัง เครื่องบินรบ ระเบิด ปืนกล ฯลฯ ดุลกำลังของอำนาจเชิงคุณภาพกับปริมาณมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปอีกครั้ง ฉะนั้นรัฐที่ยังไม่สามารถนำตัวเองเข้าสู่กติกาของระบอบประชาธิปไตย (ที่อำนาจประชาชนเป็นใหญ่ และถือเอาอำนาจเชิงปริมาณเป็นสำคัญที่สุด) ได้ก่อนที่ดุลกำลังของฝั่งปริมาณ (มวลชน) จะกลายเป็นเสียเปรียบนั้น ย่อมกลายเป็นเรื่องยากขึ้น หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปแบบเดิมอีก
เมื่อเทคโนโลยีในการฆ่าและทำลายในเชิงกายภาพสูงมากขึ้น และผู้ปกครองพร้อมที่จะทำร้ายประชากรของรัฐตน อำนาจในเชิงปริมาณในโลกร่วมสมัยดูจะหมดพลังลง เหมือนอย่างที่เซอร์ซีระเบิดมหาวิหารกลางคิงส์แลนด์ดิ้งไปพร้อมๆ กับความหวังของอำนาจในเชิงปริมาณของมวลชนจัดตั้งในเรื่อง หรือเหมือนกับที่อาวุธปืน แก๊สน้ำตา รวมไปถึงรถถังถูกใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘อำนาจของมวลชน’ ที่ไม่สามารถต้านทาน ‘อำนาจในเชิงคุณภาพของรัฐอำนาจนิยม’ ได้อีกต่อไปโดยเฉพาะบริเวณสี่แยกราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553
สำหรับผม Game of Thrones จึงสะท้อนความจริงของความไร้กำลัง ไร้อำนาจของมวลชนในรัฐที่ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ที่ยากจะต้านทานอำนาจในเชิงคุณภาพของรัฐอำนาจนิยมได้อีกต่อไป George R.R. Martin ดูจะเห็นชัดและตอกย้ำว่าอำนาจเชิงปริมาณที่พยายามโรแมนติไซส์กันนั้นสุดท้ายแล้ว หากมันยังไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยและนับวันฝ่ายโครงสร้างการเมืองส่วนบนยังขยันเพิ่มกำลังเชิงคุณภาพของตนต่อไป ทั้งรถถัง เครื่องบินรบ ปืนกล เรือดำน้ำ อำนาจเชิงปริมาณที่โรแมนติไซส์กันนั้นมันก็เพียงแค่ ‘คำพูดลอยๆ’
บางที เมื่อดู Game of Thrones จบ เราคงต้องลองมามองหาทางเลือกใหม่ในการต่อสู้เรียกร้องกันดูแล้วล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.mtv.com
[2] เคยเขียนถึงแล้ว thematter.co
[3] โปรดอ่าน ตอนที่ 1 www.matichonweekly.com ตอนที่ 2 www.matichonweekly.com/in-depth