ใน พ.ศ. นี้ คงป่วยการแล้วที่ใครจะถามว่า ‘เกม’ ให้อะไรๆ กับคนเล่นได้มากกว่าความบันเทิงหรือไม่ เหมือนกับถ้าใครถามว่าสื่ออื่นๆ อย่างหนังสือ หรือภาพยนตร์ เป็นอะไรได้มากกว่าสื่อบันเทิงหรือไม่ คนถามคงถูกคนอ่านหนังสือดูหนังค้อนขวับว่า ไปอยู่ที่ไหนมา
‘Death Stranding’ ผลงานมาสเตอร์พีซล่าสุดของ ฮิเดโอะ โคจิมะ (Hideo Kojima) ดีไซเนอร์อัจฉริยะชาวญี่ปุ่นผู้โด่งดังจาก Metal Gear ซีรีส์เกมยิง ยกระดับ ‘เกม’ ไปอีกขั้นผ่านการออกแบบโลกที่สวยล้ำ ทั้งสมจริงและเหนือจินตนาการ เส้นเรื่องพิสดารที่เวิร์คบ้างไม่เวิร์คบ้าง แต่นักแสดงขั้นเทพก็ร่ายมนต์สะกดคนเล่นจนอยู่หมัด และที่สำคัญที่สุดก็คือ สร้างระบบ ‘สื่อโซเชียล’ ที่จูงใจให้คนแปลกหน้ามาช่วยเหลือเจือจานซึ่งกันและกัน แทนที่จะห้ำหั่นฟาดฟันเหมือนในเกมหลายคนเล่น (multiplayer) ที่เราเห็นจนเจนตา
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยเขียนถึง Metal Gear Solid V: Phantom Pain เกมสุดท้ายในซีรีส์ Metal Gear ว่า นำเสนอวิสัยทัศน์และแนวคิดสันตินิยมของโคจิมะที่พยายามสื่อสารอันตรายของแนวคิดคลั่งชาติ อำนาจนิยม การทำเรื่องน่ากลัวในนามของ ‘ความดี’ แต่ Metal Gear ทั้งซีรีส์สุดท้ายก็ยังคงเป็นเกมยิง ไม่ว่าโคจิมะจะพยายามสอดแทรกแนวคิด หรือปรัชญาที่เชิดชูสันตินิยมไว้มากมายเพียงใด (ผ่านคัทซีนยืดยาวราวกับหนังจอเงินที่กลายเป็น ‘ลายเซ็น’ ของเขาไปแล้ว) สุดท้ายคนเล่น Metal Gear ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจสิ่งเหล่านี้ และหลายคนก็เพลิดเพลินกับซีรีส์นี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมองเห็นเจตนาของผู้สร้างเกม
แต่ Death Stranding ประกาศก้องว่ามันเป็น ‘มากกว่าเกม’ อย่างแน่นอนภายในสิบนาทีแรกของการเล่น โลกในเกมนี้คือ สหรัฐอเมริกาในอนาคตอันไกลโพ้น อนาคตหลังจากที่โลกทั้งใบล่มสลายจากปรากฏการณ์ปริศนาเหนือธรรมชาติที่คนเรียกว่า death stranding (สายใยมรณะ) ซึ่งได้คร่าชีวิตมนุษย์ พืช และสัตว์ตายเกือบหมดโลก ขณะเดียวกันก็เปิดประตูระหว่างโลกของคนเป็น กับโลกหลังความตาย เหล่า ‘ผี’ ที่วิญญาณติดอยู่ในโลกของคนเป็น สิ่งที่ผู้รอดชีวิตขนานนามว่า บีที (BT ย่อมาจาก Beached Things) ล่องลอยคอยหลอกหลอนในพงไพรและหุบเขา คร่าชีวิตคนเป็นที่กล้ำกรายเข้าใกล้ มนุษย์พิเศษที่ถูกขนานนามว่า ‘ผู้คืนถิ่น’ (repatriates) สามารถฟื้นคืนชีพได้จากดินแดนใต้น้ำแสนประหลาดนาม the Seam (ตะเข็บ)
เราเล่นเป็น ‘แซม พอร์เตอร์ บริดเจส’ (นำแสดงโดย นอร์แมน รีดัส (Norman Reedus) นักแสดงมากฝีมือจากซีรีส์ The Walking Dead) หนึ่งในเหล่าผู้คืนถิ่น เขาทำหน้าที่ ‘คนส่งของ’ แบกอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นระหว่างชุมชนต่างๆ แต่ไม่นานแซมจะต้องทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ผ่านคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายจากมารดา ผู้เป็น ‘ประธานาธิบดีคนสุดท้าย’ ของอเมริกา นั่นคือ ก่อร่างสร้างประเทศอเมริกาขึ้นมาใหม่จากเศษซากปรักหักพัง ด้วยการเดินทางข้ามประเทศ สร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหลังโลกแตก เชื่อมชุมชนต่างๆ ที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเข้าหากัน และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องดั้นด้นไปให้ถึงชายฝั่งตะวันตกของประเทศ เพื่อช่วยชีวิตน้องสาวที่ถูกองค์กรก่อการร้ายจับตัวไป
เรื่องราวทั้งหมดนี้เข้าใจยากและเป็นมหากาพย์ตั้งแต่แรกเริ่ม ตัวละครต่างๆ โยนศัพท์ใหม่ๆ อย่าง ดูม สติลมาเธอร์ บีบี บีที ฯลฯ ใส่เราโดยไม่เสียเวลาอธิบายว่ามันคืออะไร เราจะค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวและทำความเข้าใจไปเอง ส่วนหนึ่งผ่านการสนทนากับตัวละคร (ในฉากคัทซีนที่บ่อยครั้งยาวเกินสิบนาที สมกับที่โคจิมะเป็นแฟนภาพยนตร์ตัวยง) และส่วนหนึ่งผ่านการอ่านอีเมลและฟังบันทึกเสียงที่จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างเกมเมื่อทยอยทำภารกิจส่งของสำเร็จ (อุบายการเล่าเรื่องแบบนี้เหมือนกับใน Metal Gear Solid V) แต่โชคดีที่ระบบการเล่นเข้าใจง่ายและตรงไปตรงมากว่าเนื้อเรื่องมาก เรามีเดินอย่างระมัดระวังไม่ให้ของพะรุงพะรัง (ทั้งของที่ต้องส่งชุมชนตามภารกิจ กับอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้สร้างโดยปริ๊นต์ 3D) ตกหล่นเสียหาย ต้องระวังเป็นพิเศษเวลาที่เดินข้ามห้วย ฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวและปีนป่ายโขดหิน เมื่อใดที่เดินเซไปทางซ้าย หรือทางขวาก็ต้องรีบโยกตัวกลับมาอีกทางเพื่อสร้างสมดุล
เราต้องเลือกว่าจะแบกของอะไรไปบ้างตั้งแต่ก่อนออกจากฐาน และระหว่างทางก็จะเจอสัมภาระอีกมากมายที่ล่อตาล่อใจให้เก็บขึ้นมา ภารกิจหลังๆ จะเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้นด้วยการให้เราใช้อุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้นและเพิ่มความหลากหลายของภารกิจ แต่ความท้าทายหลักก็ยังคงเดิมตลอดทั้งเกม นั่นคือ เดินทางอย่างระมัดระวังไม่ให้ของเสียหาย ก้าวพลาดหนึ่งก้าวอาจหัวคะมำตกเหว ของหล่นกระจายเสียหาย ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระแวดระวัง กลั้นหายใจย่องผ่านเหล่า ‘ผี’ บีที และหาทางอ้อมจุดมั่วสุมของพวกผู้ก่อการร้าย (ซึ่งจริงๆ ถ้าอยากสู้เราก็พอสู้ได้ แต่เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการย่องเบาและหลบหนีไปเงียบๆ และเราก็จะอยากทำเวลาส่งของให้ได้เร็วที่สุด แทนที่จะเสียเวลาต่อกรกับศัตรู เพราะนั่นหมายถึงคะแนนที่สูงขึ้นและการได้ ‘ไลก์’ จากคนอื่นมากขึ้น)
อุปกรณ์ใน Death Stranding เป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์การเล่น ไม่ต่างจากในซีรีส์ Metal Gear Solid แต่เกมนี้ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ที่ไม่ใช่อาวุธ เราสามารถแบกบันไดพับได้รวมถึงเชือกโรยตัวเพื่อช่วยข้ามภูมิประเทศทุรกันดาร และสุดท้ายเราก็จะได้ขับยานพาหนะอย่างมอเตอร์ไซค์กับรถปิ๊กอัพ แต่อัพเกรดเหล่านี้มาอย่างเชื่องช้าและค่อยเป็นค่อยไป กว่าจะได้มาครั้งหนึ่งซาบซึ้งเหลือประมาณ กระบวนการทั้งหมดนี้แปลว่าเราต้องใช้ความอดทนสูงมากระหว่างเล่น ซึ่งก็สอดคล้องกับความโหดหินและเป็นเหตุเป็นผลในโลกของเกม แต่อาจทำให้คอเกมแนวเกมยิงบางคนรู้สึกหงุดหงิดไม่อยากเล่นจนจบ โชคดีที่กราฟิกใน Death Stranding สวยงามน่าประทับใจ หลายจุดทำให้เราร้องว้าวและหยุดชื่นชมกับภูมิประเทศ (ในเกมมีโหมดถ่ายภาพให้บันทึกอย่างละเอียด) แถมดนตรีประกอบก็ไพเราะ ทำให้การดั้นด้นส่งของไม่น่าเบื่อเท่าที่คิด
‘ชีวิต’ และ ‘ความตาย’ คือสองธีมหลักของ Death Stranding ที่เด่นชัดตั้งแต่เริ่มเกม อุปกรณ์สำคัญในเกมนี้ที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดจากบีทีคือ ‘บีบี’ (BB) ตัวอ่อนทารกก่อนคลอดในขวดใสติดหน้าอกเรา บีบีมีสัมผัสพิเศษที่ช่วยให้เรา ‘มองเห็น’ เหล่าผีบีที ถ้าเราบาดเจ็บ หรือล้มลุกคลุกคลาน บีบีจะตกใจกลัวและร้องไห้จ้า เราต้องหยุดพักชั่วคราว ถอดขวดใสออกมา ‘กล่อม’ บีบีให้สบายใจด้วยการโยกเขาไปมา แซมและเราคนเล่นจะรู้สึกผูกพันกับบีบีอย่างรวดเร็ว ก่อนนอนในฐานจะคอยเช็กเจ้าหนูน้อยว่าอยู่ดีไหม และเมื่อใดที่พรากจากกัน ก็จะรู้สึกว่ามีอะไรขาดหายไปในชีวิต
บีบีเป็นจุดเริ่มต้นและสัญญาณของชีวิตฉันใด บีทีและเรื่องราวของตัวละครก็เป็นสัญญาณบอกถึงความตายฉันนั้น เหล่าผีบีทีพยายามลากตัวเราลงไปในโลกแห่งความตาย แต่เราก็จะฟื้นคืนชีพได้เสมอเพราะสถานะพิเศษ ‘ผู้คืนถิ่น’ ที่ทำให้เหมาะมากกับงานส่งของ-สร้างเครือข่าย ฮาร์ทแมน (Heartman) นักวิทยาศาสตร์ในเกม จงใจหยุดการเต้นของหัวใจตัวเองทุกๆ 21 นาที เพราะอยากสำรวจโลกแห่งความตายเพื่อควานหาครอบครัวที่เขาสูญเสีย ชัดเจนว่าในมุมมองของโคจิมะ ความตายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกเมื่อเชื่อวัน และคนตายก็ไม่เคยจากเราไปไหนไกล อย่างน้อยก็ในทรงจำอันแจ่มชัด
ระบบเกมและเรื่องราวใน Death Stranding สอดคล้องอย่างเหมาะเจาะกับแนวคิดเรื่อง ‘สังสารวัฏ’ การแสวงหาและสลัดทิ้งตัวตนในศาสนาพุทธ ดินแดนอเมริกาอันอ้างว้างที่แซมเดินทางท่องไปนั้นเปรียบได้กับการเดินทางภายในจิตวิญญาณของตัวเขาเอง จักรวาลในตัวตนของเขาเชื่อมโยงกับโลกทางวัตถุภายนอก แลกเปลี่ยนพลังงานและประสบการณ์กับคนอื่นๆ ที่ต่างก็ต้อง ‘เดินทางภายใน’ เราเกิดมาบนโลกเพื่อสร้างโลกภายในของตัวเราเอง ทำให้มันแข็งแรงมั่นคง และเพื่อแบ่งปันประสบการณ์กับคนอื่น คนอื่นที่เหมือนกับเราในแง่ที่เป็นมนุษย์ ทว่าแต่ละคนก็แตกต่างและมีเอกลักษณ์
ประเด็นนี้สะท้อนผ่านระบบเล่นหลายคนหรือ ‘สื่อโซเชียล’ ใน Death Stranding ที่ให้เราสามารถใช้วัตถุดิบ (ที่แบกมาจากฐาน) ปริ๊นต์ 3D สร้างอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเป็นตัวช่วยนักเดินทาง หรือ ‘แซม’ คนอื่นๆ ที่เล่นเกมนี้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหอสังเกตการณ์ที่ช่วยติดป้ายระบุตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ไปรษณีย์เคลื่อนที่สำหรับใส่อุปกรณ์เตรียมไว้ให้นักเดินทางคนอื่นๆ และฝากของเผื่อจะมีคนรับไปส่งยังเป้าหมาย นอกจากนี้เรายังสามารถทิ้งบันไดและเชือกโรยตัวที่ใช้แล้วให้นักเดินทางคนอื่นๆ ได้ใช้ต่อ และขึ้นป้ายที่เป็นประโยชน์ เช่น ระวัง! ตรงนี้มีบีที หรือสัญลักษณ์เชียร์ให้สู้สู้ และข้อความอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ที่เราทำให้คนอื่นจะทำให้พวกเขามากด ‘ไลก์’ และเราก็กดไลก์คืนให้ได้ ไลก์เหล่านี้เป็นส่วนเสริมจากไลก์ที่เราได้จากการบรรลุภารกิจในเกม ยิ่งได้ไลก์มาก เรายิ่งสามารถอัพเลเวลได้มากขึ้น
ระบบเกมและบรรยากาศใน Death Stranding จึงสร้างแรงจูงใจให้เราอยากช่วย ‘แซม’ คนอื่นๆ ที่เล่นเกมเดียวกัน ใช้ ‘สื่อโซเชียล’ ในทางที่เป็นมิตรและสร้างมิตรภาพมากกว่าสื่อโซเชียลในโลกจริง ซึ่งเราก็จะได้รับการช่วยเหลือจากพวกเขาผ่านสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และป้ายต่างๆ ที่พวกเขาสร้างไว้ให้เราในเกม ถึงแม้ไม่อาจมาพบปะกันจริงๆ ร่องรอยเหล่านั้นก็ทำให้อุ่นใจและรับรู้ได้ถึงสายสัมพันธ์ เราสามารถกดปุ่ม ‘ตะโกน’ ในเกมได้ ถ้าผู้เล่นคนอื่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เขาหรือเธอก็สามารถตะโกนทักเรากลับมา
พูดง่ายๆ คือ Death Stranding เป็นเกมที่โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย แซมจะเผชิญหน้าความเจ็บปวดและความท้าทายหลายรูปแบบ แต่เมื่อใดที่พบเจอร่องรอยและรูปธรรมความช่วยเหลือจากคนอื่น นั่นก็สร้างแรงบันดาลใจให้เขา (และเราคนเล่น) มีแรงฮึดสู้ต่อไปได้
ในยุคที่การเมืองทั่วโลกปั่นป่วน ผู้มีอำนาจหลายประเทศดูไม่ยี่หระกับความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน นักออกแบบเกมจำนวนไม่น้อยยังลังเลที่จะพูดถึงการเมือง แต่โคจิมะไม่อ้อมค้อมในเรื่องนี้ Death Stranding เป็นเกมที่สื่อสารแนวคิดเรื่องสันตินิยม มนุษย์นิยมของเขา และประกาศก้องถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
โคจิมะให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ศิลปะทุกแขนงรวมถึงเกมด้วยนั้นย่อม ‘เป็นการเมือง’ ในตัวของมันเอง ไม่ว่าผู้สร้างจะประกาศหรือจงใจหรือไม่ เพราะความสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาดระหว่างเรากับโลก เขาประกาศว่า “ผมไม่สามารถสร้างสรรค์ศิลปะ…โดยตาบอดต่อการเมืองได้” และเขาก็ยอมรับว่า Death Stranding ถามคำถามใหญ่ๆ หลายข้อ แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามส่วนใหญ่ สิ่งที่เขาหวังก็คือ คนเล่นเกมนี้จะได้รับประสบการณ์ที่กระตุกให้ครุ่นคิดถึงคำถามเดียวกัน ได้รู้สึกว่ามีพลังที่จะใช้ชีวิตต่อไป
ชีวิตและความตายใน Death Stranding ไม่ใช่สองสิ่งที่อยู่ห่างอย่างเป็นเอกเทศจากกัน แต่สัมพันธ์กันแนบแน่นเป็นวัฏจักร เป็น ‘สังสารวัฏ’ ที่เราหลีกหนีไม่พ้น สิ่งเดียวที่ทำได้คือการเติบโตทางจิตวิญญาณ การตระหนักรู้ในปัญหาต่างๆ รอบตัว และการออกค้นหาว่าเราคือใคร เราอยากอยู่บนโลกใบนี้อย่างไร และเราควรสานสัมพันธ์กับคนอื่น ช่วยเป็น ‘ลมใต้ปีก’ ให้กับพวกเขาอย่างไร เพื่อให้พวกเขาสามารถเติบโตได้เช่นกัน