ระยะนี้ไปไหนมาไหนก็ได้ยินแต่คนพูดถึงละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ จนผู้เขียนที่ปกติไม่ใช่แฟนละครไทยยังแพ้ต่อมความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง ไปควานหามาดูย้อนหลัง ซึ่งดูแล้วก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมคนติดละครเรื่องนี้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ลำพังแค่ติดตามหน้าตาผ้าผมของพี่หมื่นกับแม่การะเกด รวมถึงบทสนทนาที่เอาภาษาและไลฟ์สไตล์ของคนไทยตอนต้นศตวรรษที่ 21 ไปปะทะสังสรรค์กับชาวสยามสมัยอยุธยา (ยุคที่เชื่อกันผิดๆ ว่า ‘บ้านเมืองยังดี’ ) ก็สนุกแล้ว สุดท้ายเส้นเรื่องนั้นจะเหนือจริงหรือพาเราเข้ารกเข้าพงก็นัยว่าเป็นเรื่องรอง
ความดังของละครเรื่องนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไปหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาต่อ หลายคนเฝ้าจับผิดรายละเอียดต่างๆ ในละคร ตั้งแต่พันธุ์พืชไปจนถึงอาหารการกิน ร้อนถึงแฟนละครจำนวนมากต้องออกมาท้วงว่า โอ๊ย นี่มันละครที่ผลิตเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่สื่อการสอนวิชาประวัติศาสตร์อยุธยาเสียหน่อย!
‘ความบันเทิง’ กับ ‘ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์’ ไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป
ในฐานะคนชอบประวัติศาสตร์ ผู้เขียนเองคิดว่าละครหรือสื่ออะไรก็ตามที่กระตุกต่อมความอยากรู้ของผู้คนให้สนใจประวัติศาสตร์มากขึ้นก็ ‘ดี’ ทั้งนั้น เมื่อค้นแล้วจะได้เอามาถกเถียงกันว่าละครเรื่องนี้ถ่ายทอดอดีตอย่างเที่ยงตรงมากน้อยขนาดไหน ดีไม่ดีหลายคนอาจมองเห็นว่า ‘ความจริงทางประวัติศาสตร์’ นั้นก็ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีมากมายหลายแง่มุมและหลายฉบับ เราสามารถตีความไปได้หลายทิศทาง และมีมุมมองใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอหากนักประวัติศาสตร์ค้นพบหลักฐานใหม่
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่านักสร้างละครและสื่ออื่นๆ ทุกชนิดในยุคนี้ก็ควรจะท้าทายตัวเอง พร้อมทั้งพัฒนาวงการให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยการสร้างสื่อที่ให้ทั้ง ‘ความบันเทิง’ และ ‘ความสมจริงทางประวัติศาสตร์’ พูดอีกอย่างคือ ไม่จำเป็นจะต้อง ‘เที่ยงตรง’ (accurate) ทางประวัติศาสตร์ทุกกระเบียดนิ้ว เพราะถ้าถึงขั้นนั้นอาจจะไม่สนุกก็ได้ แต่ควรจะ ‘สมจริง’ (authentic) ด้วยการทำให้คนเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และอาจรวมถึงวิธีคิดของคนสมัยก่อนด้วย
Assassin’s Creed: Origins ภาคล่าสุดของซีรีส์เกมดัง Assassin’s Creed เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมของสื่อที่ให้ทั้ง ‘ความบันเทิง’ และ ‘ความสมจริงทางประวัติศาสตร์’ อย่างครบเครื่อง และทำทั้งสองอย่างนี้ให้สอดรับสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยความสนุกของเกมนี้ส่วนหนึ่งมาจากความสมจริงของโลกในเกม เมื่อเกมยิ่งสนุก คนเล่นก็ยิ่งอยากเล่น แถมยังได้ทึ่งไปกับความสมจริงที่เต็มไปด้วยรายละเอียดแสนประณีต
Assassin’s Creed: Origins เป็นเกมแอคชั่นแบบ ‘โลกเปิด’ (open world) เกมแรกที่หลังจากเอาชนะเกมผู้เขียนยังกลับเข้าไปท่องโลก เพื่อจะขี่ม้าหรืออูฐชมเมือง เดินดูข้าวของต่างๆ ที่วางขายในตลาด ปีนขึ้นสู่ยอดมหาปิระมิดแห่งกิซาเพื่อดูตะวันลับฟ้า หรือมองโลกจากฟากฟ้าผ่านสายตาของเหยี่ยวคู่ใจ
ใครที่เคยเล่นเกมอื่นๆ ในซีรีส์ Assassin’s Creed มาก่อนจะคุ้นเคยดีกับพล็อตเรื่องแนวโม้หลุดโลก ทุกเกมส่งเราย้อนอดีตจากปัจจุบันเข้าไป ‘สิง’ ร่างของมือสังหารในอดีตคนไหนสักคน ที่เป็นสมาชิกสมาคมลับชื่อ ‘ภาคีมือสังหาร’ หรือ Brotherhood of Assassins ต่อกรกับอัศวินเทมพลาร์ (Knights Templars) ผู้ประสงค์จะสร้างระเบียบโลกใหม่ด้วยของวิเศษจากมนุษย์ปริศนานาม อิสุ (Isu) สมญา ‘ผู้มาก่อนกาล’ ผู้สร้างมนุษย์เผ่าโฮโมเซเปียนส์หรือเราในปัจจุบัน
แม้จะมีพล็อตเรื่องโม้หลุดโลกตลอดมา แต่จุดเด่นของซีรีส์นี้กลับอยู่ที่การเนรมิตโลกในอดีตยุคต่างๆ ขึ้นมาอย่างอลังการและสมจริง อาทิ เมืองฟลอเรนซ์ยุคเรอเนซองส์, ชายฝั่งคาริบเบียนช่วงโจรสลัดชุม, ปารีสยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ฯลฯ แถมพกบุคคลสำคัญจากประวัติศาสตร์จริงในช่วงเวลานั้นๆ มาสนทนากับเรา มอบเควสต์ให้ทำ หรือบ่อยครั้งก็เป็นเป้าให้สังหารด้วย
Assassin’s Creed: Origins พาย้อนอดีตกลับไปไกลกว่าที่เคย เป็นช่วงเวลานานก่อนที่จะมีภาคีมือสังหารและอัศวินเทมพลาร์ โดยย้อนไปไกลสองพันปีสู่แดนไอยคุปต์โบราณสมัยพระนางคลีโอพัตราเรืองอำนาจ อียิปต์ตกเป็นเวทีการแก่งแย่งชิงอำนาจครั้งใหญ่ในช่วงปลายสาธารณรัฐโรมันอันเกรียงไกร กองทัพของ จูเลียส ซีซาร์ นายพลเรืองนามชาวโรมัน เคลื่อนเข้ามาประชิดติดชายแดน สงครามและความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นจากนั้นไม่นานจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล
เกมนี้ให้เราเล่นเป็น บาเยค (Bayek) ทหารพลเรือนหรือ เมดเจย์ (medjay) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตำรวจผู้พิทักษ์ประชาชนในสมัยนั้น (กลุ่มเมดเจย์ตัวจริงหายสาบสูญไปจากอียิปต์เมื่อสามพันปีที่แล้ว หรือนับพันปีก่อนที่บาเยคเกิด จุดนี้ทีมออกแบบบิดประวัติศาสตร์เพื่อความต่อเนื่องของพล็อตเรื่องในเกม) ชีวิตของเขาถูกขับดันด้วยความแค้นหลังจากที่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด เขาออกตามล่าตัวการที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งนั่นทำให้บาเยคและภรรยาต้องมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติและภูมิภาคในสมัยนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก่อนที่ภรรยาของเขาจะมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งภาคีมือสังหาร
ระบบเกมของภาคนี้คล้ายกับภาคก่อนๆ แต่ทีมออกแบบรื้อทำใหม่หมดให้สมกับที่ซีรีส์นี้เดินทางมาครบทศวรรษ โดยเพิ่มการอัพเลเวลและเลือกทักษะ (สกิล) สายต่างๆ คล้ายกับเกมแนวอาร์พีจี และผลลัพธ์ก็คือ Assassin’s Creed สนุกกว่าเดิมมากในความเห็นของผู้เขียน (แม้ว่าโดยรวมยังง่ายเกินไปอยู่ดี ไม่นับตอนสู้ช้างศึกตัวเขื่อง) ด้วยความหลากหลายของอาวุธ (ดาบชนิดต่างๆ ธนู ระเบิด ฯลฯ) และวิธีสังหารศัตรู แถมชุดของบาเยคยังสวยงามน่าสะสมทุกชุด
Ubisoft Montreal สตูดิโอเกมขนาดใหญ่ (พนักงานกว่า 3,000 ชีวิต) ผู้พัฒนาซีรีส์ Assassin’s Creed มาตั้งแต่ปี 2007 ตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะเนรมิตแดนไอยคุปต์โบราณอย่างสมจริงที่สุดในทุกมิติเท่าที่ทำได้ โดยในภาคล่าสุด พันธุ์พืช สิงสาราสัตว์ ดินฟ้าอากาศ สถาปัตยกรรมของวัด วัง บ้านเรือน ตลาด อาหารการกิน การแต่งตัว พิธีกรรมทางศาสนา อาชีพของผู้คน ฯลฯ นั้นสมจริงไม่เว้นแม้แต่ภาษาพูดและภาษาเขียน!
ด้วยความใส่ใจเกินร้อยของทีมออกแบบ โลกใน Assassin’s Creed: Origins จึงไม่เพียงแต่เป็นโลกเปิดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ซีรีส์นี้เคยทำมาเท่านั้น แต่ยังเป็นการจำลองดินแดนกว่าค่อนประเทศของอียิปต์เมื่อสองพันปีก่อนที่ดีที่สุด สมจริงที่สุดเท่าที่สื่อชนิดไหนเคยทำได้ ถนนหนทางทุกเมืองในเกมนี้คลาคล่ำไปด้วยชาวอียิปต์ กรีก ทหารโรมัน และชนชาติอื่นๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในสมัยนั้นจริงๆ
เมืองสำคัญทุกเมืองในเกมมี ‘บุคลิก’ โดดเด่นเป็นของตัวเองและตรงตามประวัติศาสตร์ ตั้งแต่วิถีชีวิตแบบพื้นบ้านของชาวอียิปต์ในเมมฟิส (Memphis) เมืองหลวงเก่าแก่ วัดวาประดามีและปิระมิดจากยุคโบราณ(กว่ายุคในเกมเสียอีก) สถาปัตยกรรมแบบกรีกโบราณสุดอลังการของหอสมุด สนามกีฬา โรงละครกลางแจ้ง และประภาคารในเมืองอเล็กซานเดรีย ไปจนถึงสถาปัตยกรรมอันขรึมขลังที่เป็นการประกาศศักดาของชาวโรมันโบราณในเมือง Cyrene (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลิเบีย) และค่ายทหารแบบโรมัน อันเป็นเป้าหลักของเควสต์รองนับร้อยในเกม
นานหลายสิบชั่วโมงก่อนที่ผู้เขียนจะมองเห็นประภาคารฟารอส (Pharos) หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณของโลกที่พังทลายหายไปในแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อนานนับพันปีแล้ว โผล่พ้นเมฆยามเย็นออกมาเมื่อตอนที่ขี่อูฐเข้าเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ผู้เขียนก็ประจักษ์แล้วว่า ‘โลก’ ในเกมนี้คือพระเอกที่แท้จริง หาใช่คลีโอพัตรา จูเลียส ซีซาร์ หรือพล็อตเรื่องโม้หลุดโลก (ซึ่งภาคนี้ก็ดีที่โม้น้อยลงเยอะ) แต่อย่างใด
อัชราฟ อิสมาอิล (Ashraf Ismail) ผู้อำนวยการสร้างเกมนี้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายวาระว่า การเนรมิตแดนไอยคุปต์เมื่อสองปีที่แล้วขึ้นมานั้นเป็นความท้าทายมากสำหรับทีมงาน เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากพอที่จะมั่นใจได้ในทุกรายละเอียด แต่ความไม่แน่นอนนี้เองก็เป็นโอกาสให้ทีมงานได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และตีความ ‘บนรากฐานของงานวิจัยและประวัติศาสตร์เท่าที่เราคิดว่าน่าเชื่อถือ’ เขาบอกว่าทีมงานใช้เวลาค้นคว้าวิจัยนานหลายปีในกระบวนการออกแบบ Assassin’s Creed: Origins รวมถึงว่าจ้างนักอียิปต์วิทยาและนักประวัติศาสตร์หลายคนให้มาร่วมทีมออกแบบด้วย ไม่นับที่ปรึกษาอีกนับสิบคน เพื่อให้มั่นใจว่ารายละเอียดต่างๆ ในเกมจะออกมาอย่างสมจริงที่สุด
ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเอาจริงเอาจัง คือ ในเกมเราจะได้สำรวจ ‘ห้องลับ’ ห้องหนึ่งในมหาปิระมิดแห่งกิซา เพราะหลังจากที่ทีมออกแบบศึกษาแผนผังปิระมิดแล้ว ก็รู้สึกคล้อยตามกับทฤษฎีหนึ่งที่ว่าน่าจะมีห้องลับอยู่ไม่ไกลจากห้องเก็บศพฟาโรห์ หลายปีต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2017 หลังจากที่เกมออกวางขายแล้วหลายเดือน ทีมนักวิทยาศาสตร์กับนักโบราณคดีก็พบว่ามีห้องลับอยู่ตรงจุดนั้นจริงๆ!
อีกประเด็นที่น่าทึ่งมากคือวิธีสร้างและสื่อภาษาพูดของตัวละครในเกม โดยเฉพาะชาวบ้าน (ที่ชอบจับกลุ่มกันต่อว่าหรือประท้วงทหารโรมันที่เข้ามารุกรานอียิปต์) อิสมาอิลอธิบายในบทสัมภาษณ์ว่า “ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าภาษาอียิปต์โบราณเป็นอย่างไร …เราก็เลยจ้างนักภาษาศาสตร์ให้มาพัฒนาภาษาบนพื้นฐานของงานวิจัยที่มีอยู่ โดยปรึกษานักอียิปต์วิทยาและโค้ชสอนการพูดว่าสำเนียงควรเป็นอย่างไร จากนั้นก็จ้างนักแสดงที่พื้นเพเป็นชาวอาหรับ ฮีบรู (ยิว) และแอฟริกัน เพื่อให้ภาษาออกมาดูมีชีวิตที่สุด”
แม้แต่บรรยากาศและองค์ประกอบของประชากรในเมืองต่างๆ ก็ผ่านการค้นคว้ามาอย่างเข้มข้น แม็กซีน ดูแรนด์ (Maxine Durand) นักประวัติศาสตร์ประจำทีมออกแบบ ให้สัมภาษณ์ว่า “เราศึกษาสัดส่วนของประชากรในสมัยนั้น ทั้งอายุและเพศ …ตอนนั้นมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะว่าเกิดสงครามเป็นประจำ (และผู้ชายล้มตายในสงคราม) …เราตัดสินใจว่าจะนำเสนอความหลากหลายในเกมนี้มากกว่าที่เป็นจริงตามประวัติศาสตร์ [ยกตัวอย่างเช่น] ถ้าคุณไปเยือนสถานที่ต่างๆ ในเกม เราไม่ได้ให้ผู้ชายกับผู้หญิงทำงานตามธรรมเนียม (stereotypical jobs) จริงๆ ในประวัติศาสตร์ เราใจกว้างมากกว่านั้น”
หลายเดือนหลังจากที่เกมออกวางขาย Ubisoft Montreal ก็ปล่อยภาคเสริมชื่อ Discovery Tour ออกมาให้โหลดฟรี (จะซื้อโหมดนี้แยกโดยไม่ซื้อตัวเกมก็ได้ แต่ผู้เขียนไม่แนะนำ เพราะทำไมจะไม่เล่นเกมไปด้วยล่ะ!) โหมดนี้ให้เราท่องโลกอียิปต์โบราณในเกมได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทหารฟันคอตายระหว่างที่เดินชมตลาด (แต่เราก็ฆ่าใครไม่ได้แล้วเช่นกัน) แถมด้วย ‘ทัวร์’ หลายสิบทัวร์พร้อมเสียงไกด์นำทาง ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ มากมายตั้งแต่การสำรวจปิระมิด ธรรมเนียมการทำมัมมี่ เกษตรกรรมอียิปต์โบราณ การทำเหล้าองุ่น สัตว์เลี้ยงยอดนิยม ประวัติพระนางคลีโอพัตรา ฯลฯ
นอกจาก Discovery Tour จะเพิ่มคุณค่าในแง่ของการเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับ Assassin’s Creed: Origins แล้ว โหมดนี้ยังโชว์ความละเอียดของโลกในเกมที่เราอาจมองข้ามไป โดยสื่อระดับความ ‘เทพ’ ของการค้นคว้าวิจัยเพื่อจะสร้างโลกในเกม เช่น ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่าทีมออกแบบจงใจให้ชาวบ้านในเกมหลายคนยืนเคี้ยวฟัน และถือไม้กวาดกวาดทราย เพราะ ‘ทราย’ นั้นอยู่ในทุกอณูของชีวิต ในเกมให้เด็กผู้หญิงกับผู้ชายนั่งเรียนหนังสือร่วมกัน แต่ในประวัติศาสตร์จริงๆ เด็กผู้ชายเท่านั้นที่จะได้รู้หนังสือ (ไม่ต่างจากอารยธรรมอื่นในยุคก่อนการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ) ได้รู้วิธีเก็บเกี่ยวของคนอียิปต์โบราณ และความรู้สนุกๆ อีกมากมายที่ทำให้ชอบเกมนี้มากขึ้นเยอะ
ดูแรนด์ให้สัมภาษณ์ว่า “เราเก็บสภาพแวดล้อมและสถานที่ต่างๆ ไว้ดังเดิม แต่คุณจะไปไหนมาไหนก็ได้อย่างอิสระ โดยไม่เจอขีดจำกัดในแง่การต่อสู้หรือการเล่าเรื่อง เราออกแบบทัวร์นี้ให้คนเข้าถึงอียิปต์โบราณได้ง่ายขึ้น เราไม่ได้จะทดแทนการสอนหรือการอ่านหนังสือนะคะ ฉันคิดว่ามันเป็นวิธีถ่อมตัวที่เราจะกระตุ้นให้คนหวนกลับไปเยือนพิพิธภัณฑ์ หรือไปเข้าหาสื่อเก่าอื่นๆ”
ในขณะเดียวกัน Ubisoft ก็ไม่ได้อาศัยองค์ความรู้ของชุมชนวิชาการเพื่อการพัฒนาเกมเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังตอบแทนด้วยการก้าวเข้าไปช่วยการทำงานของนักประวัติศาสตร์ด้วย เมื่อไม่นานมานี้บริษัทประกาศก่อตั้งโครงการ Hieroglyphics Initiative ร่วมกับกูเกิล โดยโครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (machine learning) เพื่อช่วยให้การแปล hieroglyphics (อักขระอียิปต์โบราณ) ทำได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ถ้าไม่นับพล็อตหลุดโลกแล้ว Assassin’s Creed: Origins ก็มีหลายจุดที่ไม่ถูกต้องตรงเป๊ะตามประวัติศาสตร์ เช่น ในเกมวางอนุสาวรีย์และรูปปั้นไว้มากมายกว่าความเป็นจริง แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้การเล่นลื่นไหลหรือสนุกขึ้น (รูปปั้นต่างๆ ช่วยให้คนเล่นหาพิกัดของตัวเองและสิ่งต่างๆ ในเกมได้ง่ายขึ้น) แต่ความไม่เที่ยงตรงเหล่านั้นก็เป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับ ‘ความสมจริง’ อันน่าพิศวงของโลกในเกม
ผู้เขียนเชื่อว่า ความสมจริงของ Assassin’s Creed: Origins จะสร้างแรงบันดาลใจไม่รู้จบให้เด็กจำนวนนับไม่ถ้วนอยากโตขึ้นเป็นนักประวัติศาสตร์ และผู้ใหญ่อีกนับไม่ถ้วนหวนกลับมาสนใจประวัติศาสตร์
อีกทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญว่า ‘เกม’ ที่ถูกออกแบบมาอย่างเคารพในประวัติศาสตร์ สามารถนำทางเราให้เข้าใกล้อดีตได้มากกว่าที่เราเคยคาดคิด และสร้างอารมณ์ร่วมชนิดที่ลำพังการอ่านหนังสือหรือท่องพิพิธภัณฑ์ไม่อาจทำได้ดีเท่า